Bi-amp น่าเล่นมั้ย.?

Bi-amp เป็นเทคนิคการเล่นเครื่องเสียงที่มีมานานแล้ว เรียกว่ามีมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการเล่นเครื่องเสียงก็ว่าได้ เข้าใจว่า นักเล่นฯ รุ่นเก่าๆ ที่เล่นเครื่องเสียงมานาน เกิน 40 ปีขึ้นไป น่าจะเคยผ่านช่วงเวลาของการเล่นเครื่องเสียงด้วยเทคนิคนี้มาบ้าง

การเล่นระบบ Bi-amp ตามแบบฉบับดั้งเดิมมีรายละเอียดเยอะพอสมควร ทว่า ในปัจจุบัน ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงได้ทำการปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีความเรียบง่ายมากขึ้น ลดความซับซ้อนของระบบลงไปได้เยอะ แต่คนที่ยังไม่เคยเล่นมาก่อน ก็ยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ ซึ่งผมได้นำข้อมูลทางเทคนิคของการเล่น Bi-amp มารวบรวมสรุปย่อไว้ให้อ่านกันในบทความนี้แล้ว โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ 3 หัวข้อ ดังนี้

1. Bi-amp คืออะไร.?
2. Bi-amp มีกี่แบบ.?
3. ข้อควรรู้ ถ้าจะเล่น Bi-amp

เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มกันเลย..

1. Bi-amp คืออะไร.?

จะอธิบายคำว่า “Bi-ampให้เห็นภาพชัดๆ คงต้องเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องของ “Active Speaker vs. Passive Speakerกันก่อน

Active Speaker vs. Passive Speaker

Active Speakerหรือมักจะเรียกสั้นๆ ว่า ลำโพงแอ๊คทีฟก็คือรูปแบบของลำโพงที่มีแอมป์ฝังอยู่ในตัว ในขณะที่ “Passive Speakerเป็นรูปแบบของลำโพงที่ไม่มีแอมป์ในตัว ด้วยเหตุนี้ “Active Speakerจึงเป็นรูปแบบของลำโพงที่ให้ความสะดวกในการใช้งานมากกว่าลำโพงแบบพาสซีฟที่ไม่มีแอมป์ในตัว เพราะแอมป์ที่ฝังมาในตัวลำโพงแอ๊คทีฟ ได้ถูกปรับจูนโดยผู้ผลิตมาจากโรงงานให้ทำงานแม็ทชิ่งกับไดเวอร์ของลำโพงคู่นั้นมากที่สุด ลำโพงแอ๊คทีฟจึงเหมาะกับคนที่ต้องการเสียงที่ดีระดับหนึ่ง (ตามที่ผู้ผลิตลำโพงแอ๊คทีฟยี่ห้อนั้นเข้าใจ) โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้และเสียเวลาทดลองแม็ทชิ่งด้วยตัวเอง ซื้อไปก็แกะกล่องใช้งานได้เลย เสียงโดยรวมที่ได้ออกมาก็มีค่าเฉลี่ยที่ดีระดับหนึ่ง

ส่วน ลำโพงพาสซีฟ(Passive Speaker) คือรูปแบบของลำโพงที่ไม่มีแอมป์ในตัว ผู้ใช้ต้องหาแอมป์มาขับลำโพงคู่นั้นด้วยตัวเอง เป็นรูปแบบของลำโพงที่เหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการลักษณะเสียงที่ตัวเองต้องการ เพราะการใช้แอมป์ต่างยี่ห้อ ต่างรุ่นมาขับลำโพง จะทำให้เสียงของลำโพงคู่นั้นเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใช้สามารถปรับจูนเสียงของลำโพงพาสซีฟได้หลากหลายตามต้องการ ลำโพงพาสซีฟจึงเป็นที่นิยมของนักเล่นเครื่องเสียงมากกว่าลำโพงแอ๊คทีฟ ในขณะที่ลำโพงแอ๊คทีฟจะถูกใจคนชอบฟังเพลงมากกว่าคนเล่นเครื่องเสียง

ลักษณะการเชื่อมต่อระหว่าง
แอมป์ + ลำโพง

ไม่ว่าจะเป็นลำโพงแอ๊คทีฟ หรือพาสซีฟ ถ้าคุณต้องการฟังเพลงด้วยระบบเสียง Stereo คุณต้องใช้ลำโพงทำงานร่วมกัน 2 ตัว แยกสำหรับถ่ายทอด สัญญาณซีกซ้าย (Left Channel) และ สัญญาณซีกขวา (Right Channel) กรณีลำโพงแอ๊คทีฟจะจบง่ายเพราะลำโพงแอ๊คทีฟมีแอมป์มาให้ในตัวเสร็จสรรพ แต่ถ้าคุณสร้างระบบเพลย์แบ็คโดยตั้งต้นด้วยลำโพงพาสซีฟ คุณต้องหาแอมป์มาขับลำโพงทั้งสองข้างเอง ซึ่งคุณมีตัวเลือกอยู่ 2 อ๊อปชั่น แบบแรกคือ ใช้แอมป์สเตริโอที่มีภาคขยายสำหรับสัญญาณซีกซ้ายกับซีกขวาอยู่ในตัวจำนวน 1 ตัว, แบบที่สองคือ ใช้แอมป์โมโน บล็อกที่ออกแบบเป็นแอมป์โมโนที่แยกสองตัวสำหรับขยายสัญญาณซีกซ้าย กับขยายซีกขวาคนละตัว..

แต่ถ้าลำโพงที่คุณเลือกมาใช้มีการแยกขั้วต่อสายลำโพงมาให้ข้างละ 2 ชุด (ซ้าย+ขวา = 4 ชุด) กรณีนี้ คุณจะมีทางเลือกในการหาแอมป์ขับลำโพงเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแบบ เป็นแบบที่สาม คือ ใช้แอมป์สเตริโอ 2 ตัว หรือแอมป์โมโน บล็อก 4 ตัว แยกกันจ่ายกำลังขับให้กับขั้วต่อสายลำโพงทั้ง 4 ชุด ที่ลำโพงทั้งสองข้างให้มา ซึ่งรูปแบบการจัดแอมป์ขับลำโพงแบบที่สามนี่แหละที่เรียกว่า “Bi-amp

2. Bi-amp มีกี่แบบ.?

Active Bi-amp & Passive Bi-amp

ถ้าแบ่งตาม ลักษณะของลำโพง จะมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ “Active Bi-ampสำหรับใช้กับลำโพงที่ ไม่มีวงจรครอสโอเวอร์ภายใน กับอีกแบบคือ Passive Bi-amp สำหรับใช้กับลำโพงที่ มีวงจรพาสซีฟครอสโอเว่อร์ภายใน

Vertical Bi-amp & Horizontal Bi-amp

ถ้าแบ่งตาม “ลักษณะของเพาเวอร์แอมป์” ที่เอามาใช้ในการต่อระบบ Bi-amp (ไม่ว่าจะเป็นการต่อระบบแบบ Active Bi-amp หรือ Passive Bi-amp) จะแยกออกได้เป็น 2 รูปแบบ แบบแรกคือ “Vertical Bi-ampคือ ใช้เพาเวอร์แอมป์สเตริโอตัวที่ 1 ขับทั้งกลาง/แหลม + และทุ้มของลำโพงข้างนึง ส่วนเพาเวอร์แอมป์อีกตัวใช้ขับทั้งกลาง/แหลม + และทุ้มของลำโพงอีกข้างนึง ซึ่งรูปแบบการต่อ Bi-amp ลักษณะนี้จะใช้ได้ในกรณีของเพาเวอร์แอมป์ทั้งสองตัวที่เอามาใช้ทำ Bi-amp มีลักษณะที่ เหมือนกัน” 100%

แต่ถ้าเพาเวอร์แอมป์ที่นำมาใช้ต่อระบบ Bi-amp ทั้งสองตัวมีลักษณะที่ ไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นต่างยี่ห้อกัน หรือยี่ห้อเดียวกันแต่คนละรุ่นที่มีสเปคฯ ต่างกัน ต้องใช้วิธีการต่อระบบแบบที่สอง เรียกว่าแบบ “Horizontal Bi-ampคือใช้แอมป์ตัวที่หนึ่งขับเฉพาะกลาง/แหลมของลำโพงซ้ายและขวา ส่วนแอมป์อีกตัวใช้ขับเฉพาะทุ้มของลำโพงซ้ายและขวา

3. ข้อควรรู้ ถ้าจะเล่น Bi-amp

I – เล่นไบแอมป์ใช้ต้นทุนสูง

การเล่น Active Bi-amp ในระบบเครื่องเสียงบ้าน ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจะหาซื้อ Active Crossover ในตลาดคอมเมอร์เชี่ยลยากมาก เนื่องจากวงการเครื่องเสียงบ้านในปัจจุบันไม่ค่อยมีความนิยมการเล่น Active Bi-amp กันแล้ว (ในระบบเครื่องเสียงรถยนต์, วงการโปรเฟสชั่นแนล และพีเอยังใช้กันอยู่) ในอดีตนั้นเป็นที่นิยมสำหรับนักเล่นฯ ที่ต้องการคุณภาพเสียงแบบสุดลิ่มจริงๆ เนื่องจากระบบลำโพงในอดีตเป็นระบบใหญ่ ขับยาก จะหาแอมป์สเตริโอที่ให้กำลังขับเยอะๆ ก็ไม่มี จำเป็นต้องอาศัยการต่อระบบแบบ Bi-amp เข้ามาช่วย (บางระบบไปถึง Tri-amp ก็มี) และด้วยความต้องการความเป็นที่สุดของเสียง ทำให้นักเล่นฯ ยุคโน้นนิยมใช้ Active Crossover เข้ามาช่วยในการปรับจูนเสียง จึงเป็นที่มาของ Active Bi-amp

ปัจจุบัน เนื่องจากเพาเวอร์แอมป์สเตริโอที่มีกำลังขับเยอะๆ หาได้ง่ายขึ้นมาก ราคาก็ต่ำลงด้วย เทียบกันวัตต์ต่อวัตต์ จะต่ำกว่าสมัยก่อนเยอะ ประจวบกับการออกแบบลำโพงในปัจจุบันนิยมที่จะแยกขั้วต่อสายลำโพงมาให้ 2 ชุดบ้าง 3 ชุดบ้าง ซึ่งแม้แต่ลำโพงระดับกลางๆ ที่มีราคาไม่สูงก็ยังแยกขั้วต่อมาให้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ Active Crossover เข้ามาจัดการกับความถี่ให้ยุ่งยาก เหล่านี้ช่วยหนุนส่งให้การเล่นไบแอมป์แบบ Passive มีหนทางที่แจ่มใส น่าลองมาก (*ใครมีโอกาสเจอคนออกแบบลำโพงแบรนด์นอกยุคนี้ ลองถามเขาดูซิว่า เขาคิดอะไรในใจถึงได้ให้ขั้วต่อสายลำโพงมาสองชุด.?)

แต่กระนั้น การเล่น “Passive Bi-ampต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าการใช้เพาเวอร์แอมป์สเตริโอตัวเดียวขับลำโพงทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นรูปแบบสามัญธรรมดาอยู่พอสมควร ต้นทุนที่เห็นอย่างแรกก็คือ เพาเวอร์แอมป์สเตริโอที่ต้องเพิ่มเข้ามาในระบบอีก 1 ตัว + สายสัญญาณสำหรับเชื่อมต่อจากปรีแอมป์ไปเพาเวอร์ตัวที่สอง 1 ชุด + สายลำโพงซิงเกิ้ลที่เหมือนกับเส้นเดิมอีก 1 ชุด

II – มีตัวแปรให้ต้องทำการปรับจูนมากกว่าซิงเกิ้ลแอมป์เยอะ.!

นอกเหนือจากอุปกรณ์ในระบบที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ความซับซ้อนในการ แม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูนเพื่อทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งหมดในระบบทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ามรรคผลในอุดมติของการเล่น Bi-amp จะปรากฏชัดอยู่ในหลักการทางไฟฟ้าที่เอื้อต่อการที่จะทำให้ได้ คุณภาพเสียงที่ดีกว่าใช้แอมป์สเตริโอตัวเดียวขับลำโพงที่แยกขั้วต่อมาให้สองชุดก็ตาม แต่เนื่องจากความซับซ้อนของระบบที่เพิ่มมากขึ้น มีผลทำให้ห่วงโซ่รอยต่อของระบบที่มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความไม่เข้ากัน หรือเลวร้ายถึงขนาดที่เป็นคอขวดของระบบ เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย คนที่คิดจะเล่น Bi-amp จึงควรจะรับรู้ความยากในข้อนี้ไว้ก่อน ถ้าคุณสามารถรับมือได้และมีความเชี่ยวชาญมากพอในการปรับจูนระบบ รางวัลที่คุณจะได้รับก็คือคุณภาพเสียงที่ดีในระดับที่ เข้าใกล้จุดสูงสุดของลำโพงที่คุณใช้อยู่ขึ้นไปอีกระดับ แต่ถ้าคุณไม่สามารถจัดการกับปัญหาคอขวด (ความไม่แม็ทชิ่ง) ที่เกิดขึ้นบริเวณ ห่วงโซ่ รอยต่อต่างๆ ในระบบ Bi-amp ของคุณได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผลลัพธ์ของเสียงที่ออกมาอาจจะแย่ซะยิ่งกว่าการขับด้วยแอมป์สเตริโอตัวเดียวซะด้วยซ้ำไป.!!

อะไรที่เคยได้ยินมา ทำนองว่า สายสัญญาณและสายลำโพงที่ใช้ในแต่ละห่วงโซ่ ควรจะหรืออาจจะถึงขั้น จำเป็นต้องเหมือนกัน 100% อาจจะเป็นความจริง หรือเป็นแค่คำขู่ให้กลัวก็ได้ ไม่มีใครตอบได้ชัด ถ้าตกลงใจที่จะเล่น Bi-amp แล้ว คุณจะต้องพิสูจน์คำกล่าวเหล่านี้ด้วยตัวของคุณเองเท่านั้น…

อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว คิดว่าคุณพร้อมจะไปผจญภัยแล้วยัง..??? /

********************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า