ทั้งผู้ก่อตั้งและทีมวิศวกรของ dCS มีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า บทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของชุดเครื่องเสียงก็คือ นำเสนอรายละเอียดแต่ละด้านในเพลงที่มีความละเอียดอ่อนซึ่งเก็บมาได้จากการบันทึกเสียง ออกมาให้ผู้ฟังได้สัมผัส “ทั้งหมด” โดยไม่มีตกหล่น แม้ในรายละเอียดที่ยิบย่อยที่สุด!
และแน่นอนว่า “แหล่งต้นทาง” ของสัญญาณถือเป็นด่านแรกที่มีความสำคัญสูงสุดของชุดเครื่องเสียงซึ่ง dCS มองว่า DAC หรือ Digital-to-Analog converter คือหัวใจสำคัญของระบบเพลย์แบ็คสำหรับ digital source ทุกซิสเต็ม เพราะหน้าที่หลักของ DAC ก็คือแปลงสัญญาณดิจิตัลให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกก่อนจะส่งไปขยายผ่านแอมป์และแปลงเป็นสัญญาณเสียงออกมาทางลำโพงให้เราฟัง ถ้าภาค DAC ไม่มีประสิทธิภาพสูงพอ สัญญาณอะนาลอกที่ได้ออกมาก็จะมีแต่ความผิดเพี้ยน ส่งผลให้อารมณ์ของเพลงเสียหายไป แม้ว่าในซิสเต็มจะใช้แอมปลิฟายและลำโพงที่ดีก็ไร้ความหมาย กลายเป็นฟ้องความไม่สมบูรณ์ของภาค DAC ที่อยู่ต้นทางซะอีก
ด้วยเหตุนี้ ทาง dCS จึงได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบภาค DAC มาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อเกือบสามสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ระบบการทำงานที่ร่วมกับภาค DAC ก็คือ ภาค transport, ภาค master clock และภาค digital-to-digital converter (D2D) หรืออัพแซมปลิ้ง เทคโนโลยีก็ได้รับการพัฒนาอย่างลงลึกไปด้วย
dCS เป็นใคร.? มาจากไหน.?
แบรนด์ dCS สร้างชื่อขึ้นมาในวงการเครื่องเสียงอย่างรวดเร็ว เป็นแบรนด์ที่ใช้เวลาสั้นมากในการผงาดขึ้นมาในวงการ มูลเหตุสนับสนุนนั้นชัดเจน เพราะว่าบริษัท dCS หรือ Data Conversion Systems ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเมืองแคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการแปลงสัญญาณ Analog-to-Digital และ Digital-to-Analog เป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว เพราะพวกเขารับหน้าที่ในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์แปลงสัญญาณ ADC/DAC ให้กับบริษัทโทรคมนาคม และหน่วยงานทหารของสหราชอาณาจักรมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่า อุปกรณ์เหล่านั้นต้องการเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบและผลิตที่มีความแม่นยำสูงสุด มีความคงที่ และต้องมีความเสถียรสูงด้วย
David J Steven เอ็ม.ดี. ของบริษัท
ด้วยพื้นฐานที่แน่นเปรี๊ยะอย่างนั้น เมื่อวงการเพลง, วงการสตูดิโอบันทึกเสียง และวงการเครื่องเสียงขยับเปลี่ยนแพลทฟอร์มจากมาตรฐานอะนาลอกเข้าสู่แพลทฟอร์มดิจิตัลเต็มรูปแบบตอนปลายยุค ’80 ทำให้ dCS มองเห็นโอกาสและตัดสินใจกระโดดเข้าสู่วงการเครื่องเสียงและสตูดิโอทันที หลังจากนั้นไม่นาน ชื่อของ dCS ก็ผงาดขึ้นมายืนอยู่ในระดับแนวหน้าของผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงดิจิตัลเต็มตัว
Andy McHarg ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชื่อแบรนด์ dCS ขยับขึ้นมาเป็นเสาหลักของวงการเครื่องเสียงอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง นั่นคือความเข้าใจในพื้นฐานของตัวเองที่ว่า แม้พวกเขาจะเก่งกาจทางด้านเทคโนโลยีดิจิตัล คอนเวิร์สชั่นก็จริง แต่พวกเขาก็ไม่ได้เติบโตขึ้นมาทางด้านเพลงมาตั้งแต่แรก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสามารถสะท้อนความเป็นดนตรีของบทเพลงออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาเหมือนอย่างที่ผู้ให้กำเนิดบทเพลงต้องการนำเสนอ ด้วยเหตุนี้ dCS จึงพยายามเข้าไปสุงสิงกับวงการสตูดิโอบันทึกเสียงโดยออกแบบ A-to-D converter ออกมาใช้ในสตูดิโอ คู่ขนานไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อป้อนให้กับวงการนักเล่นเครื่องเสียงไปในเวลาเดียวกัน
Chris Hales ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์
Ray Wing หัวหน้าฝ่ายออกแบบ
ปัจจุบัน ทาง dCS ก็ยังคงคลุกคลีอยู่กับวงการสตูดิโออย่างต่อเนื่อง กิจกรรมล่าสุดที่พวกเขาทำคือ จัดทำ “The dCS Legends Award” (dcslegends.com) เพื่อสนับสนุนซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำให้เกิดความพัฒนาขึ้นในวงการบันทึกเสียง แต่ละคนล้วนเป็นบุคลากรที่มีดีกรีของความเป็นตำนานในวงการบันทึกเสียงและมาสเตอริ่งของอุตสาหกรรมเพลงทั้งสิ้น dCS ก่อตั้งกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกเสียงในสตูดิโอให้มีความก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ และสอดคล้องกับการทำงานของซาวนด์เอนจิเนียร์ระดับโลกไปในขณะเดียวกันด้วย
เทคโนโลยีของ dCS
Ring DAC – นี่คือหัวใจของ dCS ที่ซึ่งวิศวกรของ dCS ร่วมกันออกแบบมาตั้งแต่เริ่มต้น เป็นระบบการทำงานของภาค DAC ที่ใช้พื้นฐานของการทำงานด้วยระบบแยกชิ้น (discrete) เป็นเทคโนโลยี R2R รูปแบบแรกสุดในวงการที่ให้ความแม่นยำสูง, ให้ความเป็นเชิงเส้นเป็นเลิศเพราะควบคุมความผิดเพี้ยนในการทำงานด้วย DSP ที่มีประสิทธิภาพสูง และให้รายละเอียดในระดับ Low Level ที่ชิป DAC ส่วนใหญ่มักจะทำได้ไม่ถึง
Digital Processing Platform – เป็นชุดคำสั่งเชิงโลจิกที่วิศวกรโปรแกรมเมอร์ของ dCS เขียนขึ้นมาและถูกบรรจุลงใน FPGA (Field Programmable Gate Arrays) และชิป DSP ซึ่งใช้ในการประมวลผลร่วมกับฮาร์ดแวร์ที่เรียบง่าย ประโยชน์ในการออกแบบการทำงานให้มีส่วนร่วมระหว่างซอฟท์แวร์ + ฮาร์ดแวร์ลักษณะนี้ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการอัพเกรดประสิทธิภาพในการทำงานแบบต่อเนื่องนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะอัพเกรดทางด้านประสิทธิภาพของภาค DAC และส่วนอื่นๆ แล้ว ยังสามารถอัพเกรดฟังท์ชั่นใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาได้โดยไม่จำกัดอีกด้วย
Digital Processing – เป็นเรื่องปกติของภาค DAC ที่ต้องการวงจร digital filter ที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษ รวมถึงวงจรเสริมจำพวก signal processing รูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้การ “ประกอบร่าง” (reconstructions) ข้อมูลดิจิตัลให้ออกมาเป็นคลื่นเสียงอะนาลอกที่มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด
Clock Precision – เมื่อพูดถึง jitter ศัตรูร้ายของกระบวนการแปลงดิจิตัลให้เป็นอะนาลอก ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึง Clock System เพราะว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการนี้ที่จะเข้ามาช่วยขจัดปัญหาจิตเตอร์ของระบบให้สิ้นไป ด้วยเหตุนี้ วิศวกรของ dCS จึงให้ความสำคัญกับระบบ Clock มากเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความแม่นยำถูกต้องในการแปลงสัญญาณให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยปราศจากผลข้างเคียง อย่างเช่นปัญหา phase noise และได้ออกแบบให้ภาคเพาเวอร์ซัพพลาย, ไฮสปีด ซิกเนล โปรเซสซิ่ง และมอดูเลชั่นที่ใช้ในระบบ มีลักษณะที่ซิ้งค์ไปในทิศทางเดียวกันกับสัญญาณ Clock ที่ภาค DAC ใช้เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน
Audio Microscope – ทีมออกแบบของ dCS ได้ทำการพัฒนาระบบตรวจสอบความแม่นยำถูกต้อง (test systems) ของผลงานที่พวกเขาออกแบบขึ้นมาใช้เอง โดยตั้งชื่อเรียกว่า FFT หรือ Fast Fourier Transform ซึ่งให้ความถูกต้องแม่นยำในการวัดผลสูงมาก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของ dCS มีความถูกต้องแม่นยำสูง และให้ความเที่ยงตรงสูงมากเช่นกัน
จนถึงทุกวันนี้ ทางทีมวิศวกรของ dCS ก็ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง และมีการออกแบบฟังท์ชั่นใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตามยุคสมัย อย่างเช่นฟังท์ชั่น PCM-to-DSD conversion, ฟังท์ชั่น Upsampling และ Oversampling จนถึงเทคโนโลยี Streaming ที่ทันยุคทันสมัยด้วย นอกจากนั้น ในส่วนของ Ring DAC และ Digital Processing ก็ได้ถูกปรับจูนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันตามมาตรฐานของไฟล์เสียงที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของเสียงของทุกไฟล์ฟอร์แม็ตออกมาดีที่สุดตามที่ไฟล์ฟอร์แม็ตเหล่านั้นจะให้ได้นั่นเอง
ผลิตภัณฑ์ของ dCS
เมื่อตั้งใจเจาะลึกลงไปถึงพื้นฐานของระบบ digital music reproduction อย่างจริงๆ จังๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นเหตุให้ dCS แยกแยะการพัฒนาระบบเพลย์แบ็คของฟอร์แม็ตดิจิตัล ออดิโอออกมาเป็น 4 ส่วนหลักๆ โดยยึดตามฟังท์ชั่นในระบบเพลย์แบ็ค ได้แก่
1. CD/SACD Transportor
2. Digital-to-Digital converter
3. Digital-to-Analog converter
4. Master Clock
ซึ่ง dCS ระบุว่า ผลที่เกิดจากการทำงานของฟังท์ชั่นหลักทั้ง 4 ส่วนนี้จะส่งผลกับคุณภาพเสียงออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน นั่นคือเหตุผลที่ dCS เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเล่นเพลงดิจิตัลเจ้าแรกที่ออกแบบและผลิต “Digital Playback System” สำหรับสัญญาณเพลงดิจิตัลที่มีอุปกรณ์แยกชิ้นมากถึง 4 ชิ้นในหนึ่งซิสเต็ม โดยที่ DAC หรือ Digital-to-Analog converter จะทำหน้าที่เป็นหัวใจของระบบ เป็นส่วนของการทำงานที่ส่งผลต่อเสียงมากที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ทาง dCS ออกแบบวงจร DAC ออกมาเป็นแบบดีสครีต ซึ่งมีข้อดีกว่าการใช้ชิป DAC เพราะนอกจากวงจร DAC แบบดีสครีตจะทำให้ได้ประสิทธิภาพในการแปลงสัญญาณเสียงที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามากแล้ว ภาค DAC ของ dCS ยังง่ายต่อการปรับจูนลงไปในรายละเอียดแต่ละจุดอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เปิดตลาดให้กับแบรนด์ dCS มีชื่อว่า “Elgar DAC” เป็น external DAC ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1996 ทันทีที่มันปรากฏโฉมออกมาในวงการเครื่องเสียง ทุกคนก็พูดถึง DAC ตัวนี้เพราะมันเป็น DAC ตัวแรกของวงการที่สามารถอัพคอนเวิร์ตสัญญาณจากแผ่นซีดีให้ขึ้นไปมีเรโซลูชั่นถึงระดับ 24/96 “จริงๆ” ซึ่งในยุคนั้นต้องถือว่าเป็นสเปคฯ ที่สูงมาก Elgar DAC เวอร์ชั่นแรกตัวนั้นเฉิดฉายเป็นดาวค้างฟ้าอยู่ในวงการเครื่องเสียงอยู่สี่–ห้าปี ก่อนจะถูกอัพเกรดขึ้นไปเป็น “Elgar DAC Plus” ในปี 2000 ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกขั้น คือภาคอินพุตสามารถรองรับการเล่นไฟล์ 24/96 ได้โดยตรง และในตอนหลังได้ถูกปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอินพุตขึ้นไปอีกขั้นให้เล่นไฟล์ได้สูงถึง 24/192 จนที่สุดในปี 2002 Elgar DAC Plus ก็ได้รับการปรับปรุงให้สามารถเล่นไฟล์ DSD ผ่านทางอินเตอร์เฟซ IEEE1394 ได้ด้วย
ต่อไปนี้เป็นรายชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ dCS ออกแบบและผลิตออกมาทั้งหมด เรียงลำดับตั้งแต่ยุคแรกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
Elgar
Scarletti
Paganini
Puccini
Debussy
********************
สนใจผลิตภัณฑ์ของ dCS สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ตัวแทนผู้นำเข้าในประเทศไทย
บ. Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: @DECO2000Thailand