การกำเนิดขึ้นมาของลำโพงแคตากอรี่ “Soundbar” ก็เพื่อตอบสนองกับผู้ใช้ทีวีที่ต้องการอัพเกรดคุณภาพเสียงของทีวี แต่มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ไม่สะดวกกับการติดตั้งชุดลำโพงเซอร์ราวนด์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้ ในหมวดหมู่ของลำโพงซาวนด์บาร์เอง ได้มีการแบ่งแยกกลุ่มย่อยออกมาหลายกลุ่ม จุดประสงค์ของการแยกแต่ละกลุ่มออกมาก็เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่มีวัตถุประสงค์หลากหลายให้ได้ตรงกลุ่มมากที่สุดนั่นเอง
“วัตถุประสงค์” ของผู้ใช้งานลำโพง Soundbar กับทีวีในพื้นที่ของบ้านที่ใช้เป็นห้องรับแขก ถูกแยกออกตามเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
(1) ผู้ใช้งานที่ต้องการรับชมรายการต่างๆ จากสถานีโทรทัศน์ปกติเป็นหลัก อย่างเช่นข่าว, เกมส์โชว์, ละคร และใช้รับชมภาพยนตร์บ้าง
(2) ผู้ใช้งานที่ชื่นชอบกับการรับชมภาพยนตร์เป็นพิเศษ และต้องการใช้ทีวีในการรับชมภาพยนตร์จากผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตอย่างเช่น Netflix, Google Movie หรือ จากเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ 4K ส่วนการรับชมรายการต่างๆ จากสถานีโทรทัศน์ถือเป็นของแถม
นอกจาก “วัตถุประสงค์” ของผู้ใช้งานเองแล้ว ผู้ผลิตลำโพง Soundbar ยังได้นำเอาปัจจัยทางด้าน “ขนาดของพื้นที่” กับ “ความสะดวกในการติดตั้ง” มาพิจารณาในการออกแบบอีกด้วย จนได้ออกมาเป็นชุดลำโพง Soundbar ที่มีรูปแบบต่างๆ กัน 3 รูปแบบ ให้ผู้ใช้เลือกซื้อ ได้แก่
(1) Soundbar + Subwoofer + Surround
(2) Soundbar + Subwoofer
(3) Single Soundbar
(1)
Soundbar + Subwoofer + Surround
ตัวอย่าง ลำโพงSoundbar ของ Sony รุ่น HT-S700RF
(ลิ้งค์รีวิว Sony รุ่น HT-S700RF)
ชุดลำโพง Soundbar + Subwoofer + Surround ถือว่าเป็นชุดลำโพงซาวนด์บาร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการให้สนามเสียงเซอร์ราวนด์ เนื่องจากมีลำโพงเซอร์ราวนด์ที่แยกสัญญาณด้านหลังของตำแหน่งนั่งชมมาให้ด้วย แต่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่เปิดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ อย่างเช่น ในห้องรับแขกตั้งแต่ 4 x 6 ตร.ม. ขึ้นไป
ชุดลำโพง Soundbar ประเภท Soundbar + Subwoofer + Surround เหมาะกับผู้ใช้กลุ่มที่ 2 มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ได้อรรถรสในการรับชมภาพยนตร์มากเป็นพิเศษ เพราะให้เสียงเซอร์ราวนด์ที่ล้อมรอบตัวไปถึงพื้นที่ด้านหลังของจุดนั่งชมจริงๆ แต่เนื่องจากในชุดจะประกอบด้วยลำโพงเซอร์ราวนด์ ซึ่งต้องการพื้นที่ด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังในการติดตั้งใช้งาน ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะกับการใช้งานชุดลำโพง Soundbar + Subwoofer + Surround ควรจะเป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้าง และยังต้องการความละเอียดซับซ้อนในการเซ็ตอัพมากหน่อย ทำให้ชุดลำโพง Soundbar ประเภท Soundbar + Subwoofer + Surround จะไม่ตอบโจทย์ในแง่ของ “พื้นที่ใช้งาน” ที่มีขนาดเล็ก และไม่ตอบโจทย์ในแง่ของ “ความสะดวกในการติดตั้ง” เท่ากับอีกสองประเภทที่เหลือ
(2)
Soundbar + Subwoofer
ตัวอย่าง ลำโพง Soundbar ของ Sony รุ่น HT-Z9F
(ลิ้งค์รีวิว Sony รุ่น HT-Z9F)
ชุดลำโพง Soundbar แบบ Soundbar + Subwoofer เป็นรูปแบบของลำโพงซาวนด์บาร์ที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความเหมาะสมในการใช้งานในพื้นที่เปิดขนาดปานกลาง อย่างเช่น ในห้องรับแขกที่มีสัดส่วนพื้นที่อยู่ระหว่าง 3.5 x 5 ตร.ม. ถึง 4 x 5 ตร.ม.
ด้วยการนำเอาสัญญาณเสียงเซอร์ราวนด์ไปรวมไว้ที่ลำโพง Soundbar ที่อยู่ด้านหน้า ทำให้ลำโพงซาวนด์บาร์แบบ Soundbar + Subwoofer ติดตั้งใช้งานง่าย แต่ได้ประสิทธิภาพสูง เพราะมีลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่แยกมาให้สำหรับสร้างความถี่ต่ำที่สามารถแผ่กระจายไปได้ทั่วทั้งพื้นที่ สร้างอรรถรสให้กับผู้ชมที่ชื่นชอบการรับชมภาพยนตร์เป็นพิเศษ
(3)
Single Soundbar
ตัวอย่าง ลำโพง Soundbar ของ Sony รุ่น HT-X8500
(ลิ้งค์รีวิว Sony รุ่น HT-X8500)
ชุดลำโพง Soundbar แบบ Single Soundbar เป็นรูปแบบของลำโพงซาวนด์บาร์ที่ออกแบบมาให้มีความเหมาะสมใช้งานในพื้นที่ปิดขนาดเล็ก อย่างเช่น ในห้องนอน หรือห้องรับแขกที่มีสัดส่วนพื้นที่อยู่ระหว่าง 3.5 x 5 ตร.ม. ถึง 4 x 5 ตร.ม. และต้องการควบคุมปริมาณของเสียงทุ้มไม่ให้แพร่กระจายไปนอกบริเวณมาก
ชุดลำโพงที่มี Subwoofer แยกออกมาต่างหาก จะให้ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นสำหรับการรับชมภาพยนตร์มากเป็นพิเศษใน 2 คุณสมบัติด้วยกัน อย่างแรกคือ ทำให้ผู้ชมได้ยินรายละเอียดในย่านเสียงต่ำๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างเช่นเสียงบรรยากาศรายรอบ, เสียงครางต่ำๆ ของเครื่องยนต์, เสียงฟ้าคำราม ฯลฯ ส่วนอย่างที่สองก็คือ ทำให้ผู้ชมสัมผัสกับมวลคลื่นความถี่ต่ำที่ผลักดันมากับมวลอากาศที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์สร้างขึ้นมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยเสริมความสมจริงในการรับชมภาพยนตร์
แต่ในทางเทคนิคแล้ว ในพื้นที่ขนาดเล็ก ความถี่ต่ำในระดับที่ไม่ลึกมาก สามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก ซึ่งลำโพงซาวนด์บาร์ประเภท Single Soundbar จะติดตั้งวูฟเฟอร์สำหรับสร้างความถี่ต่ำไว้ในแท่งซาวนด์บาร์ ทำให้ผู้ชมยังคงได้ยินรายละเอียดของเสียงในย่านต่ำๆ ที่ชัดเจน แต่มวลคลื่นความถี่ต่ำจะไม่มากเท่ากับตู้ Subwoofer ที่แยกมาต่างหาก ซึ่งมีข้อดีคือทำให้พลังงานของเสียงทุ้มไม่เล็ดลอดออกไปรบกวนพื้นที่ข้างๆ
ในแง่คุณภาพเสียงนั้น ลำโพง Single Soundbar ในปัจจุบันที่เป็นรุ่นใหญ่ๆ จะใช้วงจร digital DSP เข้ามาช่วยในการสร้างสัญญาณเสียงเซอร์ราวนด์เทียมที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก ทำให้ผู้ใช้รู้สึกได้ถึงความโอบล้อมของเสียงที่ชัดเจน
สรุปหลักการเลือกซื้อ
แนวทางการเลือกซื้อลำโพง Soundbar ในปัจจุบันก็คือ ให้พิจารณาผสมผสานกันไประหว่าง “คุณภาพเสียงที่ต้องการ + ขนาดพื้นที่ + ความสะดวกในการติดตั้ง”
สำหรับคนที่ต้องการระบบลำโพง Soundbar ที่ตอบสนองการดูหนังมากเป็นพิเศษ ให้เลือกแบบ “Soundbar + Subwoofer + Surround” ซึ่งจะให้ความโอบล้อมของสนามเสียงจากการรับชมภาพยนตร์ที่ครอบคลุมได้มากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับกับการติดตั้งที่ต้องการพื้นที่ค่อนข้างกว้าง และต้องการความละเอียดในการปรับตั้งเสียงมากกว่าชุดลำโพง Soundbar แบบอื่น
ลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทที่สองที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าประเภทแรกคือ “Soundbar + Subwoofer” คือมีลำโพงคู่หน้า + เซ็นเตอร์ บรรจุอยู่ในแท่งเดียวกัน และมีลำโพงซับวูฟเฟอร์แยกมาอีกหนึ่งตัว ซึ่งลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทที่สองนี้จะให้สนามเสียงด้านหน้าที่ดีพอๆ กับแบบแรก แต่ด้านหลังสู้แบบแรกไม่ได้ ในการเซ็ตอัพก็ยุ่งยากน้อยกว่า เสียงกระหึ่มไม่ต่างกันเพราะมีตู้ซับวูฟเฟอร์แยกมาให้ เหมาะกับพื้นที่ขนาดปานกลาง ความยากในการติดตั้งและปรับตั้งเสียงก็คือการหาตำแหน่งวางลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ให้เสียงทุ้มกลืนกับกลาง–แหลมของตัวซาวนด์บาร์
ส่วนลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทที่ให้ความเรียบง่ายในการเซ็ตอัพใช้งานมากที่สุด มีความเหมาะกับการใช้งานภายในพื้นที่เล็กๆ ก็คือลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทที่เรียกว่า “Single Soundbar” (ซิงเกิ้ล ซาวนด์บาร์) คือเป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่รวมเอาลำโพงคู่หน้า กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ไว้ในแท่งเดียวกัน ซึ่งในยุคแรกนั้น ลำโพงซาวนด์บาร์ประเภท Single Soundbar จะให้คุณภาพความเป็นเซอร์ราวนด์ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากมีไดเวอร์จำนวนไม่กี่ตัวในการสร้างความถี่เสียงและใช้วิธียิงเสียงสะท้อนผนังห้องเพื่อสร้างสัญญาณเซอร์ราวนด์ แต่ในยุคปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยี DSP (Digital Sound Processing) ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นมาก มีประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงขึ้น ทำให้สามารถออกแบบให้ลำโพงซาวนด์บาร์ประเภท Single Soundbar ให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก สามารถถ่ายทอดสนามเสียงเซอร์ราวนด์ที่ให้บรรยากาศได้สมจริงมากขึ้น และลำโพงซาวนด์บาร์ประเภท Single Soundbar รุ่นใหญ่ๆ ที่ติดตั้งลำโพงซับวูฟเฟอร์ไว้ในตัวก็สามารถเติมเต็มรายละเอียดเสียงในย่านต่ำออกมาได้ดีขึ้น ใกล้เคียงกับลำโพงตู้ซับวูฟเฟอร์ที่แยกต่างหากออกมา
สุดท้ายนี้ แนะนำให้พิจารณาจาก “ระดับความต้องการคุณภาพเสียง + ขนาดพื้นที่ + ความสะดวกในการติดตั้ง” และเอาไปเทียบเคียงกับรูปแบบของลำโพง Soundbar ทั้ง 3 ลักษณะข้างต้น ให้ได้บทสรุปที่ชัดเจนซะก่อน หลังจากนั้น ค่อยมาพิจารณาสุดท้ายที่ “ราคา” ขายที่อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ /
*********************