Dolby Labs เพิ่มขยายแชนเนลให้กับระบบเสียง Dolby Atmos ในโฮมเธียเตอร์ขึ้นไปสูงสุดถึงระดับ 11.1.8 แล้ว

บริษัท Dolby Laboratories ผู้ได้รับมอบหมายให้ออกแบบมาตรฐานของระบบเสียงเซอร์ราวนด์รูปแบบใหม่ Immersive Sound นั่นคือฟอร์แม็ต Dolby Atmos ซึ่งกำหนดจำนวนแชนเนลสำหรับติดตั้งในโรงภาพยนตร์ไว้มากถึง 128 แชนเนล พร้อมสัญญาณ metadata ที่กำหนดลักษณะการ pan ตำแหน่งเสียงของวัตถุในสนามเสียงให้ออกมาดีที่สุดแม็ทชิ่งกับจำนวนลำโพงที่ติดตั้งอยู่ในโรงภาพยนตร์แต่ละโรง ซึ่งสัญญาณเสียงทั้งหมดจากจำนวน 218 แชนเนลที่ว่านั้น สามารถกำหนดให้แสดงตำแหน่งเสียงและทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุลงบนรูปแบบการติดตั้งลำโพงที่เป็นฐานเดิม (bed channel) แบบ 7.1.2 ได้ โดยเพิ่มลำโพงอีก 118 แชนเนลขึ้นมาสำหรับแอมเบี้ยนต์

Dolby Atmos ในโฮมเธียเตอร์

ระบบเสียง Dolby Atmos เวอร์ชั่นที่ใช้กับ Home Theater มีความแตกต่างกับเวอร์ชั่นที่ใช้ในโรงภาพยนตร์ เนื่องจาก ในบ้านพักอาศัยยังมีข้อจำกัดทางด้าน bandwidth ของการรับส่งสัญญาณ รวมถึงความสามารถของโปรเซสเซอร์ในระดับคอนซูเมอร์ยังไม่แรงพอเหมือนในโรงภาพยนตร์ ข้อมูล (metadata) ส่วนที่กำหนด ตำแหน่งและ ทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุในภาพ ได้ถูกเพิ่มเข้าไปกับสัญญาณ Dolby TrueHD หรือ Dolby Digital Plus ซึ่งจะถูกดึงขึ้นมาใช้ก็ต่อเมื่อตัว AVR หรือ Pre-Processor มีภาคดีโค๊ดเดอร์สำหรับฟอร์แม็ต Dolby Atmos และภาคดีโค๊ดเดอร์ในตัว AVR หรือ Pre-Processor ตัวนั้นได้ตรวจพบข้อมูล metadata ที่มากับสัญญาณเสียงดิจิตัลที่บันทึกมากับแผ่น 4K UHD ที่เล่นอยู่ ในกรณีที่คุณเล่นแผ่น 4K UHD ที่บันทึกระบบเสียง Dolby Atmos กับ AVR หรือ Pre-Processor ที่ไม่มีภาคถอดรหัส Dolby Atmos สัญญาณเสียงที่ใช้ได้ก็จะออกมาแค่ Dolby TrueHD 7.1 แชนเนลเท่านั้น

ยุคแรกของ Dolby Atmos ในโฮมเธียเตอร์

ทาง Dolby Laboratories เริ่มปล่อยระบบเสียง Dolby Atmos เข้าสู่โฮมเธียเตอร์เมื่อ ปี 2014 โดยกำหนดจำนวนแชนเนลสูงสุดที่จะใช้ในการ render สัญญาณเสียงออกมาทั้งหมดอยู่ที่ 24.1.10 หรือรวม 34 แชนเนล บวกกับอีกหนึ่งช่อง LFE

รูปแบบการวางลำโพง 24.1.10

แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านแบนด์วิธและความสามารถของโปรเซสเซอร์ในระดับคอนซูเมอร์ที่ยังไม่แรงพอ ในระยะเริ่มต้น ทาง Dolby Labs. จึงกำหนดรูปแบบการติดตั้งลำโพงในระบบโฮมเธียเตอร์เอาไว้สูงสุดที่ 11.1 แชนเนล ก่อน โดยที่ข้อมูล metadata ที่มากับระบบเสียง Dolby Atmos นั้นจะสามารถ mapping สัญญาณเสียงที่มิกซ์มาจากสตูดิโอลงบนรูปแบบการเซ็ตอัพลำโพงมาตรฐานเดิมทั้งที่เป็นแบบ 5.1 ch และแบบ 7.1 ch ได้ ซึ่งทาง Dolby Labs ได้นำเสนอลักษณะการติดตั้งลำโพงทั้ง 11.1 แชนเนล ไว้ 3 กลุ่ม แยกตามระดับขั้น ดังนี้

The Essential Dolby Atmos Layouts

คือระบบเสียง Dolby Atmos ที่เล่นบนเลย์เอ๊าต์ของลำโพงที่ติดตั้งไว้เป็นแบบ 5.1.2 กับ 7.1.2 ซึ่งเป็นรูปแบบของการอะแด๊ปที่ง่ายที่สุดในกรณีที่มีเพาเวอร์แอมป์จำกัดแค่ 7 หรือ 9 แชนเนล

5.1.2

7.1.2

คือเพิ่มเติม ลำโพงด้านบน (overhead channel หรือ ceiling speaker) ขึ้นมาเพียงแค่ 2 ตัว จากการติดตั้งลำโพงเซอร์ราวนด์แบบเดิมที่ 5.1 ch หรือ 7.1 ch เมื่อเล่นแผ่น 4K UHD ที่ใช้ระบบเสียง Dolby Atmos ผ่านแอมป์ที่มีดีโค๊ดเดอร์ Dolby Atmos คุณก็จะได้มิติเสียงจากด้านบนเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม ทำให้รับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของเสียงจากด้านบนลงมาด้านล่าง และจากด้านล่างพุ่งขึ้นด้านบนที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างเช่น เสียงฝนตกลงมาจากฟ้า กับเสียงจรวดที่พุ่งจากฐานปล่อยบนพื้นดินขึ้นไปบนฟ้า เป็นต้น

The Reference Dolby Atmos Experience

เป็นรูปแบบการติดตั้งลำโพงที่ให้ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่ให้สนามเสียงรอบตัวที่สูงขึ้นไปอีกระดับ ด้วยการเพิ่มเติม ลำโพงด้านบน (overhead channel หรือ ceiling speaker) ขึ้นมา 4 ตัว จากการติดตั้งลำโพงเซอร์ราวนด์แบบเดิมที่ 5.1 ch ก็เป็น 5.1.4 หรือเดิม 7.1 ch ก็เป็น 7.1.4 โดยใช้เพาเวอร์แอมป์ทั้งหมด 9 และ 11 แชนเนลตามลำดับ

5.1.4

7.1.4

เมื่อเล่นแผ่น 4K UHD ที่ใช้ระบบเสียง Dolby Atmos ผ่านแอมป์ที่มีดีโค๊ดเดอร์ Dolby Atmos คุณก็จะได้มิติเสียงด้านบนที่ดีขึ้นมาก ทั้งเสียงที่เคลื่อนจากด้านบนลงมาด้านล่างกับด้านล่างขึ้นด้านบน และเสียงที่เคลื่อนที่จากด้านหน้าไปด้านหลังกับด้านหลังมาทางด้านหน้า ในระดับความสูงเหนือศีรษะของผู้ชมขึ้นไป

Enhanced Effects Particularly Suited for Larger Rooms

เป็นการขยายขอบเขตของสนามเสียงด้านหน้าของการติดตั้งลำโพงแบบ 7.1.2 ให้แผ่กว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สนามเสียงโดยรอบตัวในแนวระนาบมีความเชื่อมต่อที่ดีขึ้น สามารถครอบคลุมพื้นที่ในห้องขนาดใหญ่ได้ทั้งหมด ด้วยการเพิ่ม ลำโพงด้านหน้า (Front Wide Speaker) ขึ้นมาอีก 2 ตัว

9.1.2

ออกมาเป็น 9.1.2 ซึ่งรูปแบบนี้ใช้เพาเวอร์แอมป์ทั้งหมด 11 แชนเนล เป็นรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับสนามเสียงแนวระนาบมากกว่าแนวตั้ง

มาถึงปี 2019 Dolby Labs ขยายจำนวนแชนเนลให้มากขึ้นอีก 2 ระดับ

จากความจริงที่ว่า จำนวนแชนเนลในระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่มิกซ์ด้วยวิธี object-based นี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเฉพาะ ขนาดของห้องอย่างเดียว คือถ้าเป็นระบบเดิมที่มิกซ์ด้วยวิธี channel-based นั้น ถ้าขนาดห้องใหญ่ จะทำให้ช่องว่างระหว่างแชนเนลเปิดกว้างขึ้น อาจส่งผลให้การเชื่อมโยงสัญญาณระหว่างแชนเนลไม่ต่อเนื่องกัน ความเป็นสนามเสียงก็จะขาดความสมบูรณ์ การเพิ่มจำนวนแชนเนลให้มากขึ้นกับมาตรฐาน channel-based ก็เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเดียว

แต่ในกรณีของการมิกซ์เสียงด้วยวิธี object-based นั้น จำนวนของลำโพงที่มากกว่า (แม้ในขนาดพื้นที่ห้องเท่าๆ กัน) จะมีส่วนทำให้ผู้ชมรับรู้ถึง ตำแหน่งและ ทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดเล็กลงไปได้ชัดเจนกว่าการเซ็ตอัพที่ใช้จำนวนลำโพงน้อยกว่า นั่นก็หมายความว่า ในขนาดห้องเดียวกัน การเพิ่มจำนวนลำโพงเข้าไปในระบบมากขึ้น จะทำให้ได้คุณภาพเสียงโดยรวมที่ดีขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อปัจจัยพื้นฐานพร้อม ทั้งในแง่ของ bandwidth และพลังความสามารถในการประมวลผลของโปรเซสเซอร์เพิ่มสูงขึ้น ทาง Dolby Laboratories จึงปล่อยรูปแบบการติดตั้งลำโพงที่มีจำนวนแชนเนลสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อรองรับกับการถอดรหัสที่ให้ตำแหน่งเสียงและแสดงทิศทางของวัตถุที่ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น โดยรูปแบบการติดตั้งลำโพงแบบใหม่ที่ Dolby Labs. นำเสนอออกมาครั้งนี้มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ Dolby Atmos 9.1.6 กับ Dolby Atmos 11.1.8

9.1.2 vs. 9.1.6

รูปแบบการติดตั้งลำโพง 9.1.6 ที่โดลบี้เพิ่งจะนำเสนอมาใหม่ ซึ่งก็คือการอัพเกรดขึ้นมาจากรูปแบบการติดตั้งลำโพง 9.1.2 ในขั้น Enhanced Effects Particularly Suited for Larger Rooms ที่ออกแบบมาให้ใช้กับห้องขนาดใหญ่นั่นเอง มาลองดูความแตกต่างกัน

9.1.2

9.1.6

ความแตกต่างระหว่าง 9.1.2 แบบเดิมกับ 9.1.6 แบบที่เพิ่งแนะนำใหม่จะอยู่ที่ลำโพงด้านบน (overhead channel หรือ ceiling speaker) ศรชี้ในภาพ ซึ่งจะเห็นว่า ในรูปแบบ 9.1.6 ได้เพิ่มลำโพงด้านบนขึ้นมาอีก 4 ตัว ทว่า ตำแหน่งที่ติดตั้งจะไม่ตรงกับตำแหน่งที่ติดตั้งในรูปแบบ 9.1.2 แสดงว่า ถ้าเดิมคุณติดตั้งลำโพงไว้เป็นแบบ 9.1.2 ถ้าต้องการอัพเกรดขึ้นมาเป็น 9.1.6 นอกจากจะต้องเพิ่มลำโพงด้านบนขึ้นมาอีก 4 ตัว บวกกับเพาเวอร์แอมป์อีก 4 แชนเนลแล้ว คุณยังต้องย้ายตำแหน่งลำโพงด้านบนทั้งสองตัวที่ติดไว้เดิมอีกด้วย ส่วนลำโพงในตำแหน่งอื่นๆ อยู่ที่เดิม

7.1.4 vs. 9.1.6

7.1.4

9.1.6

ถ้าเดิมคุณติดตั้งลำโพงรูปแบบ 7.1.4 อยู่ และต้องการอัพเกรดขึ้นมาเป็นรูปแบบใหม่ 9.1.6 สิ่งที่คุณต้องทำมีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ เพิ่มลำโพงด้านบนที่เป็น ceiling speaker ขึ้นมาอีก 2 ตัว ในตำแหน่งที่อยู่ตรงกับแนวติดตั้งลำโพงด้านข้าง (ในวงกลมสีเขียว) ส่วนลำโพงด้านบนเดิมทั้งสองตัวไว้ตามเดิมแบบนั้น ไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเพราะมันลงตัวตามองศาที่กำหนดมาให้สำหรับ 9.1.6 พอดี อย่างที่สองที่คุณต้องทำก็คือ เพิ่มลำโพงแชนเนล Front Wide R/L (ในวงกลมสีแดง) เข้ามาอีก 2 ตัว และอย่างที่สามก็คือ หาเพาเวอร์แอมป์มาเพิ่มอีก 4 แชนเนล

11.1.8 ก้าวกระโดด!

11.1.8

พิจารณาจากจำนวนลำโพงที่เพิ่มขึ้น กับรูปแบบการติดตั้งลำโพงแล้ว การขยับขึ้มาเป็น 11.1.8 ครั้งนี้ถือว่าเป็นการก้าวกระโดดเลยทีเดียว เพราะดูจากตำแหน่งการติดตั้งลำโพงด้านบนทั้ง 8 ตัวนั้น มันครอบคลุมพื้นที่อากาศด้านบนตั้งแต่ผนังด้านหน้าของตำแหน่งนั่งฟังเลยมาจนถึงผนังด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตีวงแผ่ออกไปกว้างกว่าสนามเสียงด้านล่างที่เป็น bed channel ซะอีก

จาก 7.1.4 มาที่ 11.1.8

11.1.8

ใครที่ตอนนี้ติดตั้งลำโพง Dolby Atmos อยู่แล้วด้วยรูปแบบ 7.1.4 ถ้าจะกระโดดมาที่ 11.1.8 คุณต้องเพิ่มลำโพงเข้ามาในระบบมากถึง 8 ตัว คือ สี่ตัวสำหรับ bed channel ตรงตำแหน่งที่วงกลมสีเขียว กับอีกสี่ตัวสำหรับด้านบนที่วงกลมสีแดงเอาไว้ พร้อมทั้งต้องจัดหาเพาเวอร์แอมป์มาเพิ่มอีก 8 แชนเนลตามจำนวนลำโพงที่เพิ่มเข้ามา

จาก 9.1.2 มาสู่ 11.1.8

11.1.8

สำหรับคนที่ติดตั้งลำโพงแบบ 9.1.2 อยู่แล้ว ถ้าจะอัพเกรดขึ้นมาเป็น 11.1.8 คุณต้องเพิ่มลำโพงทั้งหมด 8 ตัวเหมือนกัน โดยเพิ่มแชนเนลหลังด้านข้าง (ในวงกลมสีเขียว) ขึ้นมาสองแชนเนล ส่วนอีก 6 แชนเนลไปเพิ่มที่ด้านบน และต้องหาเพาเวอร์แอมป์มาเพิ่มอีก 8 แชนเนลด้วย

Overhead channel
หรือ ceiling speaker

ถ้าต้องการอัพเกรดไม่ว่าจะเริ่มจาก 7.1.4, 9.1.2 หรือแม้แต่ 9.1.6 มาเป็น 11.1.8 สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาอย่างมากก็คือลำโพงด้านบน ที่บางทีก็เรียกว่า ceiling speaker บ้างก็เรียก overhead channel ซึ่งการอัพเกรดจากรูปแบบที่เล็กกว่าขึ้นมาเป็น 11.1.8 นั้น ไม่ใช่จะพิจารณาเฉพาะแค่เรื่องของ จำนวนของลำโพงด้านบนเท่านั้น แต่ต้องดูที่ ตำแหน่งการติดตั้งด้วย

7.1.4 overhead

9.1.2 overhead

9.1.6 overhead

11.1.8 overhead

ใครที่เริ่มจาก 7.1.4 มาเป็น 11.1.8 คุณโชคดีที่ไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งลำโพงด้านบน แค่เพิ่มเข้าไปอีก 4 ตัว ส่วนใครที่เริ่มจาก 9.1.2 มาที่ 11.1.8 ถือว่างานเข้า เพราะนอกจากจะต้องเพิ่มจำนวนลำโพงเข้าไปอีก 6 ตัวแล้ว ลำโพงด้านบนทั้งสองตัวที่ติดอยู่เดิมก็ต้องถอดออกเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งด้วย ส่วนคนที่คิดจะขยับทีละขั้น คือใช้รูปแบบ 9.1.6 ไปก่อน และอนาคตค่อยขยับมาเป็น 11.1.8 คุณก็ต้องถอดลำโพงด้านบนตัวที่อยู่ตรงศีรษะออกมาเปลี่ยนตำแหน่ง แล้วหามาเพิ่มอีก 2 ตัว ยุ่งยากพอสมควร

สรุปแล้ว ผมเองก็ยังไม่เคยทดลองฟังรูปแบบ 11.1.8 คงไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ในตอนนี้ แต่พอจะคาดเดาได้ว่า เสียงมันน่าจะดีมาก และควรจะดีกว่าทุกๆ รูปแบบอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุผลอย่างที่เกริ่นมาตั้งแต่แรกว่า จำนวนแชนเนลที่เพิ่มขึ้นของฟอร์แม็ต Dolby Atmos นั้น จะทำให้การ mapping ตำแหน่งและทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุในภาพมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกับวัตถุที่มีขนาดเล็ก

และจากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปมาข้อหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังคิดจะเริ่มเปลี่ยนจาก 5.1 หรือ 7.1 แชนเนลมาเป็น Dolby Atmos และกำลังลังเลว่า จะขยับเป็นแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่าง 7.1.2 กับ 7.1.4 ซึ่งผมขอฟันธงให้เลยว่า มองไปทาง 7.1.4 คุ้มค่ากว่าด้วยประการท้ั้งปวง โดยเฉพาะในแง่ของการอัพเกรดในอนาคตที่ไม่ต้องคอยเปลี่ยนตำแหน่งลำโพงด้านบน /

************************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า