เพิ่ม “ลำโพงซับวูฟเฟอร์” เข้ามาใน “ชุดฟังเพลง สเตริโอ 2 แชนเนล” ตอนที่ 1 : แนวคิด

คิดว่าคงเคยผ่านตาของคุณมาบ้างกับการที่มีนักเล่นเครื่องเสียงบางคนนำเอาลำโพงซับวูฟเฟอร์กับลำโพงซุปเปอร์ทวีตเตอร์เข้ามาใช้งานร่วมกับชุดเครื่องเสียงที่ใช้ฟังเพลงด้วยระบบเสียง stereo 2 ch สำหรับคนที่ไม่ได้ขุดลึกลงไปถึงพัฒนาการของระบบเสียงมาก่อน อาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมเขาต้องเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์ และซุปเปอร์ทวีตเตอร์ เข้ามาในระบบฟังเพลง 2 แชนเนล .??

เพิ่มเข้าไปเพื่อประโยชน์อะไร.???

เพื่อตอบคำถามนี้ คงต้องขอย้อนกลับไปที่พื้นฐานของ เสียงในธรรมชาติกันก่อน เนื่องจากพื้นฐานของ เสียงมีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ความถี่” (frequency range) กับ ความดัง” (dynamic range) สำหรับ เสียงในธรรมชาติเราถือว่า ทั้ง ความถี่และ ความดังมีค่าเป็นอนันต์ (infinity) คือไปสิ้นสุดตรงไหนไม่มีใครบอกได้ ในขณะที่มนุษย์เรามีความสามารถในการฟังเสียงที่จำกัด ประสาทหูของมนุษย์เราไม่ได้ยินความถี่เสียงทั้งหมดที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ และไม่อาจจะรองรับไดนามิกเร้นจ์ของเสียงที่สูงเกิน 120dB ได้โดยที่ระบบการรับฟังไม่เสียหาย

การบันทึกเสียงคือจุดเริ่มต้น

การบันทึกเสียง” (recording) เป็นความพยายามที่จะเก็บ รายละเอียดทั้งหมดของคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติเข้ามาไว้ในสื่อกลางที่ใช้บันทึกเก็บสัญญาณเสียงนั้นเอาไว้ จุดประสงค์เพื่อให้สามารถนำสื่อบันทึกนั้นไปเล่น (playback) ผ่านชุดเครื่องเสียง เพื่อทำให้สัญญาณที่บันทึกไว้กลายสภาพกลับออกมาเป็น คลื่นเสียงแบบเดียวกับที่เราได้ยินในธรรมชาติตอนที่บันทึกเข้าไปนั่นเอง

เป็นที่ยอมรับกันว่า การที่จะบันทึกเก็บเสียงเพลงที่นักดนตรีบรรเลงกันสดๆ ในธรรมชาติเอาไว้ให้ได้รายละเอียดครบๆ เหมือนที่เราได้ยินจากการบรรเลงสดๆ นั้น ผู้บันทึกเสียงจะต้องทำการเก็บ ความถี่กับ ความดังรวมถึงคุณสมบัติทางด้าน เฟสของคลื่นเสียงที่เกิดจากการบรรเลงนั้นเอาไว้ให้ได้ครบทั้งหมด คือต้องบันทึกเก็บ ความถี่ที่สวิงตั้งแต่ทุ้มขึ้นไปถึงแหลม (frequency range) ที่เกิดขึ้นจริงเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ระบบบันทึกจะทำได้ และต้องบันทึกเก็บ ความดังที่สวิงระหว่างเบาดัง (dynamic range) ตามที่เกิดขึ้นจริงเอาไว้ให้ได้มากที่สุดด้วย

Hi-Res Audioคือมาตรฐานใหม่ที่ทำให้เราเข้าใกล้ความเป็น Hi-Fidelity มากขึ้น.!!

Hi-Res Audioคือมาตรฐานของระบบเสียงที่มีสเปคฯ สูงกว่ามาตรฐานอะนาลอกเดิม (และสูงกว่ามาตรฐานดิจิตัล ออดิโอยุคเริ่มต้น) ซึ่งกระบวนการบันทึก (recording) เสียงเพลงด้วยมาตรฐานดิจิตัล ออดิโอได้พัฒนามาถึงยุค Hi-Res Audio ตั้งแต่ปลายทศวรรต ’70 แล้ว ทำให้เราสามารถเก็บบันทึกเสียงเพลงที่มีทั้ง ความถี่และ ความดังที่ขยายออกไปได้กว้างกว่าในยุคอะนาลอกเดิมๆ มาก ในขณะที่กระบวนการเล่นกลับ (playback) เพิ่งจะย่างเข้าสู่ยุค Hi-Res Audio อย่างเป็นทางการจริงๆ เมื่อ ปี 2014 เป็นต้นมานี้เอง (*เริ่มตั้งแต่ JEITA ประกาศมาตรฐาน Hi-Res Audio ออกมาอย่างเป็นทางการ)

ในขณะที่ แหล่งต้นทางคือสัญญาณเสียงได้ถูกบันทึกเป็นสัญญาณเสียงระดับ Hi-Res Audio มานานนับสิบปีแล้ว และสัญญาณเสียงเพลงระดับ Hi-Res Audio ก็ได้ถูกปล่อยออกมาถึงผู้บริโภคอย่างแพร่หลายมากขึ้นแล้ว ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันคุณสามารถเข้าถึงไฟล์เพลงระดับ Hi-Res Audio ได้ง่ายมาก โดยเฉพาะช่องทางที่เผยแพร่ผ่านทางสตรีมมิ่งจากผู้ให้บริการหลายๆ เจ้า ทั้ง TIDAL, Qobuz, Amazon Music, Apple Music ฯลฯ ซึ่งไฟล์เพลงที่ปล่อยออกมาก็เป็นไฟล์ Hi-Res Audio ของแท้ที่มีมาตรฐาน เพราะส่งมาจากสตูดิโอโดยตรง แต่ทว่า การนำไฟล์เพลง Hi-Res Audio เหล่านั้นมาเล่นกลับ (playback) ให้ได้เสียงออกมาในระดับที่สูงถึงมาตรฐาน Hi-Res Audio จริงๆ นั้นยังมีน้อย

เพราะอะไร.? ติดขัดตรงไหน.? ทั้งๆ ที่เราสามารถเข้าถึงไฟล์เพลงระดับ Hi-Res Audio ได้ง่ายๆ แต่เพราะอะไรเราถึงยังไม่สามารถดึงเอาความพิเศษของไฟล์เพลง Hi-Res Audio เหล่านั้นออกมาได้อย่างเต็มที่.?

ปัจจุบัน เรามีเครื่องเล่นไฟล์เพลงที่สามารถเล่นไฟล์เพลง Hi-Res Audio ออกมาเยอะมาก มีทุกระดับราคาให้เลือก เรามี DAC ที่สามารถรองรับสัญญาณดิจิตัลระดับ Hi-Res Audio เข้ามาแปลงให้เป็นสัญญาณอะนาลอกที่มีประสิทธิภาพสูงออกมาให้เลือกเยอะแยะ มีทุกระดับราคาให้เลือก แต่ส่วนที่ยังคงเป็น คอขวดของระบบเพลย์แบ็ค ที่สกัดกั้นความพิเศษของเสียงระดับ Hi-Res Audio ให้ไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้เต็มที่ตามมาตรฐาน Hi-Res Audio ที่ควรจะเป็นก็คือ แอมปลิฟายกับ ลำโพงนั่นเอง

จริงๆ แล้ว ส่วนของ แอมปลิฟายก็กำลังจะไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคแล้ว เพราะปัจจุบันก็เริ่มมีแอมปลิฟายที่สามารถปล่อยผ่านสัญญาณเสียงที่มีทั้ง ความถี่” (frequency response) และ ความดัง” (SPL) ที่เปิดกว้างมากขึ้นไปถึงระดับมาตรฐานของระบบเสียง Hi-Res Audio ออกมามากขึ้นแล้ว ส่วนที่ยังเป็นอุปสรรคหลักๆ ตอนนี้ก็เหลือแค่ส่วนของ ลำโพงนี่เอง คือลำโพงส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปล่อยผ่านคลื่นเสียงอะนาลอกที่มีสเปคฯ สูงถึงระดับ Hi-Res Audio ออกมาได้อย่างเต็มที่จริงๆ

เหตุผลที่ ลำโพงเป็นคอขวด..

เนื่องจาก ลำโพงเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ทำงานด้วยพื้นฐานทางฟิสิกส์และอะคูสติกเป็นหลัก โดยอาศัยการขยับตัวของดอกลำโพงในการผลักอากาศเพื่อถ่ายทอดความถี่เสียงออกไป ซึ่งก็เป็นไปตามหลักฟิสิกส์ คือถ้าต้องการให้ได้คลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำๆ ออกมาจากลำโพง ประมาณว่าให้ลงไปใกล้กับความถี่ 20Hz ให้มากที่สุด ก็ต้องใช้ดอกลำโพงขนาดใหญ่ ซึ่งดอกลำโพงที่มีขนาดใหญ่จะให้ความถี่ที่ลงลึกและได้ความดังออกมามากกว่าดอกลำโพงที่มีขนาดเล็ก ในลักษณะเดียวกัน ถ้าต้องการขยายความถี่เสียงในย่านแหลมให้เปิดกว้างขึ้นไปมากขึ้น ให้สูงกว่ามาตรฐาน 20kHz แบบเดิมขึ้นไปอีกเพื่อให้ไปใกล้ถึงระดับ 40kHz ตามมาตรฐานของระบบเสียง Hi-Res Audio ที่ JEITA กำหนดไว้ให้มากที่สุด ก็ต้องหาดอกลำโพงที่สามารถรีดความถี่ตอบสนองขึ้นไปได้สูงๆ เกินกว่าระดับ 20kHz มาใช้ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มหาง่ายขึ้น เพราะสังเกตได้ว่า มีผู้ผลิตลำโพงยุคใหม่หลายแบรนด์เริ่มทำลำโพงที่ตอบสนองเสียงแหลมขึ้นไปสูงกว่า 20kHz ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ลำโพงของใครเก่าหน่อย เสียงแหลมไปได้สูงสุดแค่ 20kHz ก็สามารถหาลำโพงซุปเปอร์ทวีตเตอร์เข้ามาเสริมได้อีกทางหนึ่ง

ไม่ใช่เรื่องใหม่..

ในอดีตก็มีความพยายามที่จะขยาย ความถี่และ ความดังของเสียงที่ได้จากการเล่นกลับผ่านชุดเครื่องเสียงมานานแล้ว ด้วยการเพิ่มลำโพงขับเบสขนาดใหญ่กับซุปเปอร์ทวีตเตอร์เข้ามาในระบบ เพียงแต่ว่าในยุคก่อนนั้นเรายังใช้มาตรฐานการบันทึกเสียงที่จำกัดทั้งทางด้าน ความถี่และ ความดังกันอยู่ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเรื่องของการปรับจูนก็ยังไม่มีความละเอียดมากพอ ผลลัพธ์ที่ออกมาเลยยังไม่ถึงกับว้าว

ที่ผมยกเอาเรื่องนี้มาคุยก็เพราะว่า นับจากนี้เป็นต้นไป จะเริ่มมีเทรนด์ของความพยายามที่จะอัพเกรดส่วนของ ระบบลำโพงที่ใช้ในการฟังเพลงระดับ Hi-Res Audio ให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเต็มที่ตามมาตรฐาน Hi-Res Audio ที่ควรจะเป็นกันมากขึ้น เริ่มมีผู้ผลิตลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีระดับสูงออกมามากขึ้น เพื่อใช้ขยายความถี่เสียงในย่านทุ้มของลำโพงสองแชนเนลขนาดเล็กให้ได้คุณสมบัติของ ความถี่ที่เปิดกว้างมากขึ้น จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงเข้าใกล้มาตรฐานของระบบเสียง Hi-Res Audio มากขึ้นนั่นเอง ส่วนซุปเปอร์ทวีตเตอร์ที่จะใช้ขยายความถี่ทางด้านสูงนั้นก็เริ่มมีออกมามากขึ้นเช่นกัน

เมื่อมีของมาให้เล่นแล้ว… ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญก็คือ แนวทางในการเลือกซับวูฟเฟอร์กับซุปเปอร์ทวีตเตอร์มาใช้ร่วมกับลำโพงหลักเดิมให้ได้ผลรวมที่ดีที่สุด กับ เทคนิคในการปรับจูนลำโพงซับวูฟเฟอร์กับซุปเปอร์ทวีตเตอร์เหล่านั้นให้สร้างความถี่เสียงออกมากลมกลืนไปกับเสียงของลำโพงหลักที่คุณใช้อยู่ให้ได้มากที่สุด แต่ก็อยากจะเตือนว่าต้องเตรียมตั้งรับไว้ก่อนนะ เพราะเรื่องของการปรับจูนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและหาประสบการณ์กันไปเรื่อยๆ เพราะมีปัจจัยในเรื่องนี้ให้ต้องคำนึงถึงและวิเคราะห์จัดการอีกเยอะ แต่ถ้าเราเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์มาใช้ได้เหมาะสมกับลำโพงหลักของเราแล้ว การปรับตั้งก็จะง่ายขึ้นและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจตามมา..

——————–
ตอนที่ 2 : แนวทางการเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมกับลำโพงหลัก
——————–
ตอนที่ 3 : เทคนิคการเซ็ตอัพและปรับจูนลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้กลมกลืนไปกับเสียงของลำโพงหลัก (coming soon!)

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า