“ความลับจักรวาล” สำหรับการทำให้ได้มาซึ่ง “เสียงดี” (*)

เสียงที่เราได้ยินจากชุดเครื่องเสียง เป็น ผลรวมจากการทำงานผสานกันระหว่างอุปกรณ์เครื่องเสียง 3 ส่วนหลัก นั่นคือ SOURCE + AMP + SPEAKER

เสียงที่ดี” (Good Sound) เกิดจากความแม็ทชิ่งในการทำงานผสานกันอย่างลงตัวของอุปกรณ์เครื่องเสียง 3 ส่วนหลัก (SOURCE + AMP + SPEAKER) ซึ่งอุปกรณ์เครื่องเสียง 3 ส่วนหลัก (SOURCE + AMP + SPEAKER) ที่มีความแม็ทชิ่งกันอย่างเต็มที่ จะทำให้เกิด เสียงดี” ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของ “เสียงดีในอุดมคติ” ถือว่าความแม็ทชิ่งระหว่างอุปกรณ์หลักทั้งสามนี้เป็นเสมือน core หรือนิวเคลียส หรือแกนกลาง หรือเนื้อใน ของคำว่าเสียงดี ซึ่งจะมีความหนาแน่น มั่นคง นิ่ง และไม่วูบวาบง่ายๆ การจัดการให้อุปกรณ์เครื่องเสียง 3 ส่วนหลัก (SOURCE + AMP + SPEAKER) มีความแม็ทชิ่งกันให้มากที่สุดเป็นภารกิจแรกที่นักเซ็ตอัพระบบเสียงต้องทำให้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ 70% ของเสียงดีในอุดมคติอยู่ปลายทาง (*** เคล็ดลับในการเซ็ตอัพระยะแรกนี้คือ ละเว้นการใช้อุปกรณ์ประเภท accessories ใดๆ และให้ใช้สายสัญญาณ + สายลำโพงระดับพื้นๆ สำหรับการเซ็ตอัพในระยะแรกนี้ไปก่อน อย่าเพิ่งใช้สายที่แพงมากๆ ในช่วงนี้)

ขาตั้งลำโพง(Speaker Stand) ถือว่าเป็นอุปกรณ์หลักในระบบเครื่องเสียงสำหรับลำโพงเล็กที่ต้องวางบนขาตั้ง ทำให้ขาตั้งมีผลต่อคุณภาพเสียงโดยรวมอย่างมาก เนื่องจากผู้ผลิตลำโพงเล็กส่วนมากจะไม่ได้มีขาตั้งมาให้ ยกเว้นลำโพงในระดับไฮเอ็นด์บางรุ่นที่ผู้ผลิตได้ออกแบบขาตั้งสำหรับลำโพงของพวกเขามาให้ใช้ด้วยกัน การเลือกขาตั้งลำโพงมาใช้กับลำโพงขนาดเล็กจึงมีความสำคัญกับคุณภาพเสียงโดยรวมอย่างมาก ต้องพิจารณาทางด้านแม็ทชิ่งระหว่างขาตั้งกับตัวลำโพงด้วย โดยเฉพาะทางด้านความสูงกับมวลของขาตั้ง

สายสัญญาณ” (Interconnect Cable) กับ สายลำโพง” (Speaker Cable) มีความสำคัญลำดับที่สองรองลงมาจากอุปกรณ์เครื่องเสียง 3 ส่วนหลัก (SOURCE + AMP + SPEAKER) ในการพิจารณาในแง่ของการแม็ทชิ่ง ซึ่งทั้ง สายสัญญาณและ สายลำโพงถือว่าเป็น ตัวช่วยที่สนับสนุนให้อุปกรณ์เครื่องเสียง 3 ส่วนหลัก นั่นคือ SOURCE + AMP + SPEAKER ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเพิ่มขยายผลของเสียงดีจาก 70% ขึ้นไป

สายไฟเอซี” (AC Cable) มีอิทธิพลกับเสียงของซิสเต็มอยู่ในลำดับที่สาม ซึ่งหน้าที่หลักของสายไฟเอซีก็คือทำให้กระแสไฟจากเต้ารับบนผนังไหลผ่านไปที่ชุดเครื่องเสียงได้ตรงตามความต้องการของอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชิ้นทุกขณะเวลา ทั้งทางด้าน ปริมาณและ ความเร็วในยุคหลังๆ เริ่มมีการออกแบบสายไฟเอซีที่มีผลทางด้านลดสัญญาณรบกวน (noise) รูปแบบต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าสายไฟเอซีถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานตามหน้าที่ของมันได้ตรงตามอุดมคติมากที่สุด สายไฟเอซีเส้นนั้นจะไม่มีเสียงของมันเอง แต่จะทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็น AMP และ SOURCE สามารถแสดงศักยภาพของมันออกมาได้เต็มที่ตามที่อุปกรณ์เหล่านั้นถูกออกแบบมา ซึ่งจะส่งผลออกไปที่คุณภาพเสียงโดยรวมของซิสเต็มที่ดีขึ้น แต่ถ้าสายไฟเอซีเส้นนั้นถูกออกแบบมาไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ นอกจากมันจะไม่ได้เข้าไปส่งเสริม คุณภาพเสียงของซิสเต็มให้ดีขึ้นแล้ว มันยังเข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง บุคลิกเสียงของซิสเต็มด้วย

ปลั๊กพ่วง” (Power Distribution) หรือปลั๊กราง เป็น accessories หรืออุปกรณ์เสริมที่ส่งผลกับเสียงของซิสเต็มเป็นลำดับที่สี่ ผ่านเข้ามาทางสายไฟเอซีที่เสียบผ่านปลั๊กพ่วงตัวนั้น ซึ่งหน้าที่หลักของปลั๊กพ่วงก็คือช่วยแก้ไขความจำกัดของเต้ารับบนผนังเพื่อให้สามารถรองรับการเสียบสายไฟเอซีได้จำนวนมากขึ้น คุณภาพของปลั๊กพ่วงในอุดมคติก็คือสามารถจ่ายกระแสไฟให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค ทุกชิ้นที่เสียบอยู่บนปลั๊กพ่วงตัวนั้นอย่างไม่อั้น คือไม่ทำให้เกิดปัญหา คอขวดเมื่อกระแสไฟไหลผ่านในขณะที่มีอุปกรณ์เครื่องเสียงจำนวนมากเสียบใช้งานอยู่บนตัวปลั๊กพ่วงตัวนั้น

***************
* หมายเหตุ : ละไว้ฐานเข้าใจว่าผู้เซ็ตอัพมีทักษะในการเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงและการปรับสภาพอะคูสติกที่ดีอยู่แล้ว

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า