“Dirac Live” เป็นเทคโนโลยี Room Correction ที่ใช้ในการปรับเสียงของซิสเต็มเครื่องเสียง (ลำโพง+แอมป์+แหล่งต้นทางสัญญาณ) ให้แม็ทชิ่งกับสภาพอะคูสติกของห้อง Dirac Live อยู่ในรูปของซอฟท์แวร์ ทำงานด้วยการวิเคราะห์เสียงของซิสเต็ม+ลำโพงไปพร้อมกับ roommode ของห้องฟัง แล้วทำการขจัดสิ่งที่เป็น “ส่วนเกิน” ที่เกิดขึ้นจาก “ซิสเต็ม+ห้อง” สร้างขึ้น ทำให้ลำโพงกับชุดเครื่องเสียงทำงานได้อย่างลงตัวในสภาพห้องนั้นๆ เป้าหมายเพื่อให้ได้เสียงโดยรวมที่สมบูรณ์แบบ ผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับจูนซิสเต็ม (ลำโพง+เครื่องเสียง) กับห้องฟังด้วย Dirac Live มีอยู่ 3 ประเด็น ที่เด่นชัด นั่นคือ 1) ทำให้ได้เวทีเสียงที่ดีขึ้น, 2) ทำให้ได้ความชัดเจนในการแยกแยะเสียงต่างๆ ได้ดีขึ้น และ 3) ทำให้ได้เสียงทุ้มที่ลงลึกและกระชับมากขึ้น
Dirac Live for Arcam
โปรแกรม Dirac Live ไม่ใช่โปรแกรมฟรี ยูสเซอร์ต้องมี Licence จึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ ซึ่งโดยปกติผู้ใช้จะต้องเสียเงินลงทะเบียนกับทาง Dirac Research ซึ่งเป็นเจ้าของผู้คิดค้นโปรแกรมนี้เพื่อรับ Licence มาใช้งานกับโปรแกรม Dirac Live แต่ทว่า มีผู้ผลิตเครื่องเสียงจำนวนมากที่ลงทุนซื้อ Licence ของ Dirac Live เอามาติดตั้งไว้ในอุปกรณ์เครื่องเสียงของตน เพื่อสร้าง value added ให้กับเครื่องเสียงของตน มีผลให้คนที่ซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงของแบรนด์นั้นๆ ไปใช้สามารถเข้าไปใช้งานโปรแกรม Dirac Live ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (ผู้ผลิตจ่ายค่า Licence แทนให้) นับรวมๆ ถึงตอนนี้ก็มีผู้ผลิตมากถึง 20 แบรนด์แล้วที่ติดตั้งโปรแกรม Dirac Live ไว้ในอุปกรณ์เครื่องเสียงของตน ซึ่ง Arcam ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์เหล่านั้น และอินติเกรตแอมป์รุ่น SA30 ตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีซอฟท์แวร์ Dirac Live ติดตั้งมาจากโรงงาน พร้อมให้ผู้ที่เป็นเจ้าของอินติเกรตแอมป์ SA30 สามารถเข้าใช้งานโปรแกรม Dirac Live ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
คอลัมน์ HOW-TO ครั้งนี้จะพาไปดูวิธีการติดตั้ง+ใช้งานโปรแกรม Dirac Live บนอินติเกรตแอมป์ Arcam รุ่น SA30 กัน
ขั้นตอนการใช้งานโปรแกรม Dirac Live บน Arcam SA30
เข้าไปที่เว็บไซต์ dirac.com/live/ เพื่อ Download โปรแกรม Dirac Live มาติดตั้งบนคอมพิวเตอร์กันก่อน เริ่มโดยคลิ๊กที่มุมขวาบนตรงศรชี้
มาถึงหน้านี้ ให้คลิ๊กที่หัวข้อ “Download Software” (ศรชี้)
ซอฟท์แวร์ Dirac Live มีหลายเวอร์ชั่น มีเวอร์ชั่นที่ออกแบบมาให้ซาวนด์เอ็นจิเนียร์เอาไปใช้ในการบันทึกเสียงด้วย ส่วนเวอร์ชั่นที่เราต้องดาวน์โหลดมาใช้คือเวอร์ชั่น Dirac Live ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ออกแบบมาให้ใช้กับแบรนด์สินค้าเครื่องเสียงโดยเฉพาะ มีให้เลือกสองเวอร์ชั่นคือ Windows PC กับเวอร์ชั่น Mac OS ให้เลือกโหลดมาตามรูปแบบของคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้ ตอนแรกผมตั้งใจใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค MacBook Air จึงโหลดตัว Mac OS มาใช้ แต่พอถึงขั้นตอนใช้งานจริงมันเกิดปัญหาขึ้นระหว่างขั้นตอนการใช้ไมโครโฟนวัดเสียง ไปต่อไม่ได้ ผมเลยเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะซึ่งเป็น Windows PC แบบ all-in-one แทน และดาวน์โหลดเวอร์ชั่น Windows PC มาใช้บน Windows 10 และใช้งานได้จนจบขั้นตอน
หลังจากดาวน์โหลดโปรแกรมมาแล้ว ให้คลิ๊กที่ตัวโปรแกรมเพื่อติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์ บนจอคอมพิวเตอร์จะแสดงโลโก้ “Dirac Live 3” สีเขียวๆ ขณะติดตั้ง ซึ่งโปรแกรม Dirac Live มีขั้นตอนการทำงานทั้งหมด 7 ขั้นตอน เริ่มจาก Select Device > Select Recording Device > Volume Calibration > Select Arrangment > Measure > Filter Design และ Filter Export เป็นขั้นตอนสุดท้าย
หลังจากติดตั้งเสร็จแล้วก็เริ่มเปิดใช้งานด้วยการคลิ๊กไปที่โลโก้ Dirac Live ตัวโปรแกรมจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอน “Select Device” โดยอัตโนมัติ คือค้นหาอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีโปรแกรม Dirac Live ติดตั้งอยู่ ซึ่งอุปกรณ์ที่คุณต้องการทำการปรับตั้งตัวนั้นจะต้องเชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกับคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้ติดตั้งโปรแกรม Dirac Live ด้วย เมื่อโปรแกรมค้นพบ SA30 มันจะโชว์ชื่อของอุปกรณ์ตัวนั้นขึ้นมาบนหน้าแอพ ถ้ามีมากกว่าหนึ่งตัวบนเน็ทเวิร์คเดียวกัน อุปกรณ์เหล่านั้นจะถูกโชว์ขึ้นมาทั้งหมด คุณต้องการปรับตั้งตัวไหนก็ให้คลิ๊กเลือกไปที่ตัวนั้น ในที่นี้ผมมีแค่ Arcam SA30 ตัวเดียว
หลังจากคลิ๊กเลือกที่อุปกรณ์ตัวที่ต้องการจะทำการวัดค่าแล้ว ตัวโปรแกรมจะทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวนั้นทางระบบเน็ทเวิร์ค เมื่อเชื่อมต่อสำเร็จ สังเกตบนหน้าจอของอุปกรณ์ตัวนั้น (ในที่นี้ของผมคือ Arcam SA30) จะปรากฏคำว่า “Dirac Calibrating” บ่งบอกให้รู้ว่าตัว SA30 ได้เข้าเชื่อมต่อกับโปรแกรม Dirac และพร้อมสำหรับการวัดค่าแล้ว
หลังจากผ่านขั้นตอนแรกคือ Select Device ไปแล้ว โปรแกรมจะเลื่อนมาที่ขั้นตอนที่สองคือ “Select Recording Device” ความหมายของขั้นตอนนี้ก็คือเลือกไมโครโฟนที่จะใช้วัดเก็บเสียงขณะคาลิเบตนั่นเอง โดยมีอ๊อปชั่นให้เลือก 2 อ๊อปชั่น ระหว่าง 1) ใช้ไมโครโฟนในตัวคอมพิวเตอร์ กับ 2) ใช้ไมโครโฟนภายนอกที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ณ ขั้นตอนนี้ถ้าปรากฏหน้าต่างเหมือนในภาพข้างบนโชว์ขึ้นมาบนหน้าแอพ ให้คลิ๊กเลือกที่ “Allow access” (ศรชี้) เพื่อยอมให้โปรแกรม Dirac Live เข้าถึงคุณสมบัติบางอย่างบนคอมพิวเตอร์ของคุณขณะใช้งาน
ลักษณะของไมโครโฟนกับสายไมค์ USB ที่แถมมาในกล่อง SA30
แนะนำให้ใช้ไมโครโฟนที่แถมมาในกล่องของ SA30 ที่มาพร้อมสาย USB สำหรับเชื่อมต่อตัวไมโครโฟนเข้ากับช่อง USB ของคอมพิวเตอร์
หน้าต่างนี้โผล่ขึ้นมาเพื่อแนะนำให้คุณเลือกไมโครโฟนที่จะใช้ในการบันทึกเสียงที่จะใช้ในการคำนวนสภาพอะคูสติก แนะนำให้ใช้ไมโครโฟนที่ให้มาในกล่อง SA30 เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ทางช่อง USB ของคอมพิวเตอร์ คลิ๊กที่ศรชี้เพื่อปิดหน้าต่างนี้ลง
เนื่องจากไมโครโฟนทุกตัวมีความเบี่ยงเบน รวมถึงไมโครโฟนที่ Dirac แถมมาให้กับ SA30 ด้วย ดังนั้น ทาง Dirac ได้ทำการชดเชยความเบี่ยงเบนนั้นเอาไว้และทำเป็นไฟล์สคริปเก็บไว้ในเว็บไซต์ของ Arcam ซึ่งคุณต้องเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์สคริปตัวนี้ (ศรชี้) มาเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ของคุณก่อน จากนั้นให้คลิ๊กขวาที่แถบสีดำๆ ที่อยู่ด้านล่างของ Microphone Calibration Mic (ตำแหน่ง A ในภาพ) จะปรากฏหน้าต่างเล็กๆ สีเทาขึ้นมา จากนั้นให้คลิ๊กซ้ายตรงประโยคที่เขียนว่า “Load from file” เพื่อไปเอาไฟล์สคริปที่ดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ของ Arcam SA30 มาใส่ลงใน Microphone Calibration Mic ที่จะใช้เก็บสัญญาณเสียงในการปรับตั้งซะก่อนที่จะเริ่มใช้งาน ถ้าไม่ใส่ไฟล์สคริปตัวนี้ลงไป ค่าที่ไมโครโฟนวัดออกมาจะเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงมาก เมื่อโปรแกรม Dirac Live นำไปคำนวนเพื่อสร้างฟิลเตอร์ขึ้นมาชดเชยสภาพอะคูสติกของห้องก็จะผิดเพี้ยนไป ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง
มาถึงจุดนี้ก็เท่ากับว่า คุณได้ผ่านขั้นตอนที่สองของโปรแกรม Dirac Live แล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนของการเลือกไมโครโฟนที่จะใช้ในการวัดและเก็บสัญญาณเสียง หลังจากนี้ ให้คุณทำการยึดตัวไมโครโฟนเข้ากับขาตั้งไมโครโฟน หรือใช้ขาตั้งกล้องก็ได้
ทาง Dirac แนะนำให้ติดตั้งไมโครโฟนให้มีลักษณะที่เชิดปลายด้านที่รับสัญญาณให้ทำเป็นมุมเงยขึ้นด้านบนเล็กน้อย ประมาณ 15-20 องศา
หลังจากยึดไมโครโฟนเข้ากับขาตั้งเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็เป็นการกำหนดตำแหน่งวางไมโครโฟน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ส่งผลกับเสียงที่จะได้ออกมาอย่างมาก เพราะตำแหน่งของไมโครโฟนจะเป็นตัวระบุ “ความดัง” (level) และ เฟส (phase) ของคลื่นเสียงที่ออกมาจากลำโพงโดยตรง ในขณะที่โปรแกรมปล่อยสัญญาณ sweep ของความถี่ตลอดย่านออกมาจากลำโพง ตัวไมโครโฟน “ต้อง” ตรึงนิ่งอยู่บนขาตั้งให้มากที่สุด และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางระหว่างซิสเต็มกับไมโครโฟน และที่สำคัญมากๆ ก่อนจะเริ่มต้นปล่อยสัญญาณทดสอบเสียงออกไปจากตัวโปรแกรม คุณต้องจัดการให้ภายในห้องและนอกห้องปลอดจากเสียงรบกวนให้มากที่สุด ต้องปิดแอร์, พัดลม รวมถึงทุกสิ่งที่อาจจะเป็นแหล่งกำเนิดเสียงให้หมด ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นต้องหยุดส่งเสียงด้วย เพื่อให้ได้สภาพแวดล้อมที่เงียบสงัดที่สุดขณะที่โปรแกรมทำการคาลิเบต ยิ่งเงียบสงัดมากแค่ไหน ผลลัพธ์ของการคาลิเบตก็จะยิ่งแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น
โปรแกรม Dirac Live มีลักษณะการวัดค่าให้เลือก 3 ลักษณะ (ในโปรแกรมใช้คำเรียกว่า Listening Arrangment) ลักษณะแรกคือ “Tightly focused imaging” = เป็นการวัดค่าเพื่อการฟังที่ดีที่สุดเพียงตำแหน่งเดียว ถ้าคุณใช้ห้องฟังคนเดียว นั่งฟังบนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ในตำแหน่ง sweet spot ให้เลือกการวัดค่ารูปแบบนี้ แต่ถ้าคุณนั่งฟังบนโซฟาที่มีคนฟัง 2 คน ให้เลือกรูปแบบการวัดค่าแบบที่สองคือ “Focused imaging” = จุด sweet spot ที่ให้เสียงดีจะถูกแผ่ขยายให้กว้างออกไป ครอบคลุมพื้นที่กว้างมากขึ้น ทั้งสองคนที่นั่งฟังอยู่บนโซฟาจะได้ยินเสียงที่มีคุณภาพเท่ากัน แต่คุณภาพโดยรวม (ในแง่ของโฟกัส) จะด้อยกว่าการวัดค่าแบบ Tightly focused imaging ซึ่งให้เสียงที่มีโฟกัสคมกว่า แต่ก็มีโอกาสจะหลุดโฟกัสได้ง่ายเพราะพื้นที่โฟกัสแคบกว่า กรณีที่มีคนนั่งฟังมากกว่าสองคน (สามหรือสี่) บนโซฟาขนาดใหญ่ ให้ใช้วิธีวัดค่าแบบที่สามคือ “Wide imaging” ซึ่งรูปแบบการวัดค่าทั้งสามแบบนั้นจะให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ผกผันกันระหว่าง “ความคม” ของโฟกัสตำแหน่งเสียง กับ “ขนาดพื้นที่” ที่ครอบคลุมการฟังที่ให้คุณภาพเฉลี่ยของเสียงที่ใกล้เคียงกัน
ในทางปฏิบัติ เมื่อเลือกรูปแบบการวัดค่าแบบแรกคือ Tightly focused imaging ตัวโปรแกรมจะกำหนดตำแหน่งไมโครโฟนในการวัดเสียงเอาไว้ 9 ตำแหน่ง ตามภาพตัวอย่างด้านบนคือจุดที่เป็นรูปวงกลมที่อยู่ล้อมรอบศีรษะของผู้ฟังโดยมีตำแหน่ง “main position” อยู่กลางศีรษะ (จุดสีฟ้าในภาพ) เป็นศูนย์กลาง และตำแหน่งวางไมโครโฟนในการวัดเสียงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเลือกรูปแบบที่สอง และจะเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเลือกรูปแบบที่สาม
ตำแหน่ง main position จะอยู่ตรงกับตำแหน่ง sweet spot โดยที่ส่วนปลายของไมโครโฟนจะอยู่ในระดับเดียวกับความสูงของหูของผู้ฟังที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นั่งฟัง โดยวัดจากพื้นห้องขึ้นมาถึงรูหู
หลังจากจัดวางไมโครโฟนลงในตำแหน่ง main position เรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็คือขั้นตอน “Volume Calibration” ซึ่งเป็นขั้นตอนกำหนดความดังของซิสเต็มให้แม็ทชิ่งพอดีกับความไวของไมโครโฟน เพื่อให้การวัดค่าของไมโครโฟนได้ผลลัพธ์ออกมาดี ตัวแปรที่คุณต้องทำการกำหนดมีอยู่ 2 ตัว ดูจากภาพด้านบน ตัวแรกจากซ้ายมือคือ “Master Output” (A) เป็นการกำหนดความดังของเสียงสัญญาณสวิป (sweep tone) ที่ดังออกมาจากลำโพง ซึ่งสเกลความดังสูงสุดตั้งได้ถึง 120dB วิธีการปรับคือดันแถบสีดำๆ ที่ศรชี้ (C) ขึ้นไปด้านบนคือเพิ่มความดัง ถ้าดึงลงล่างคือลดความดัง แนะนำให้เริ่มที่ระดับกลางๆ คือ -60dB ก่อน ส่วนอีกตัวแปรที่สัมพันธ์กันก็คือ “Mic Gain” (B) ซึ่งคุณสามารถปรับระดับได้สูงสุดเท่ากับ +20dB
ถ้าปรับตั้ง Master Output ต่ำเกินไป เสียง sweep tone จากลำโพงจะออกมาเบา ทำให้สัญญาณ sweep tone ที่ไมโครโฟนบันทึกมาจะมีเกนต่ำ คือได้ S/N ratio ที่ต่ำเกินไป ตัวโปรแกรมจะโชว์หน้าต่างแบบภาพข้างบนขึ้นมาเตือน ซึ่งในกรณีนี้คุณต้องปรับตั้งค่าและบันทึกใหม่ ซึ่งมีทางแก้ไขให้ 2 ทาง ทางแรกคือ เพิ่มความแรงของ Master Output ขึ้นไปอีก ซึ่งตามเกนที่โปรแกรมแนะนำไว้ไม่ควรสูงเกิน 80dB สำหรับมาสเตอร์ เอ๊าต์พุต ถ้าสมมุติว่า คุณปรับ Master Output ไว้สูงมากแล้วคือเฉียดๆ 80dB แล้ว ให้ลองปรับแก้อีกทางคือเพิ่มความไวของไมโครโฟนขึ้นมาอีกถ้าเดิมคุณตั้ง Mic Gain ไว้ต่ำกว่าระดับ 100% (หรือต่ำกว่า +13.3dB) ก็สามารถเพิ่มเกนไมโครโฟนขึ้นมาชดเชยได้อีกทางหนึ่ง หลังจากปรับตั้งตัวแปรทั้งสองแล้ว ให้ทดลองฟังเสียงได้โดยกดที่ปุ่มลูกศรด้านล่างลำโพง left และ right ที่อยู่ถัดมาทางขวา เสียงที่ออกมาจากลำโพงคือปริมาณความดังที่เกิดจากการปรับตั้งตัว Master Output + Mic Gain ที่คุณตั้งไว้นั่นเอง
ขั้นตอนต่อไปคือ “Select Arrangment” เป็นการเลือกรูปแบบของการวัดค่าที่ตรงกับลักษณะการฟังของคุณ ซึ่งตัวโปรแกรมได้ทำการแยกประเภทลักษณะการฟังเอาไว้ 3 ลักษณะ คือ ฟังคนเดียวบนเก้าอี้เดี่ยว (1 = Tightly focused imaging), ฟังสองคนบนโซฟาขนาดเล็ก (2 = Focused imaging) หรือฟังเป็นกลุ่มหลายคน (3 = Wide imaging)
ถ้าต้องการฟังแบบซีเรียสสุดขีด เอาโฟกัสของเสียงให้ตกที่จุด sweet spot จุดเดียวให้เลือกวิธีจูนเสียงแบบแรกคือ “Tightly focused imaging” ซึ่งตัวโปรแกรมจะกำหนดตำแหน่งของไมโครโฟนที่ใช้ในการวัดค่าไว้ให้ 9 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่ง Main Position (ศรชี้) เป็นเซ็นเตอร์ และมีอีก 8 จุดอยู่รอบๆ อีก 2 วงๆ ละ 4 ตำแหน่ง หลังจากวางไมโครโฟนตรงตำแหน่ง Main Position เสร็จแล้ว ก็ให้คลิ๊กที่ปุ่มคำสั่ง “Measure Selected Position” (ศรชี้สีฟ้า) ที่อยู่ด้านล่างเพื่อเริ่มต้นวัดค่า
สัญญาณ sweep tone จะดังขึ้น 3 ครั้ง เริ่มจากลำโพงซ้าย ครั้งที่สองย้ายไปที่ลำโพงขวา และกลับมาดังที่ลำโพงซ้ายอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม หลังจากนั้น ค่าที่ไมโครโฟนวัดได้จะถูกแสดงออกมาเป็นกราฟสองสี สีฟ้าเป็นของข้างซ้าย (Left) สีแดงเป็นของข้างขวา (Right) หลังจากนั้นก็ย้ายตำแหน่งไมโครโฟนเพื่อวัดค่าตำแหน่งที่สองคือ “Front Top Right” (ศรชี้สีฟ้า) หลังจากกดวัดค่าเสร็จแล้วก็ย้ายไมโครโฟนไปสู่ตำแหน่งที่สาม, สี่, ห้า.. จนถึงตำแหน่งที่ 9
เมื่อวัดค่าจนครบทุกตำแหน่งตามรูปแบบที่คุณเลือกเอาไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนปรับแต่งฟิลเตอร์ (Filter Design) ให้คลิ๊กที่แถบคำสั่ง “Proceed To Filter Design” (ศรชี้สีม่วง)
เมื่อคุณคลิ๊กไปที่แถบคำสั่ง “Proceed To Filter Design” ตัวโปรแกรมจะจัดส่งข้อมูลการวัดค่าด้วยไมโครโฟนทั้ง 9 ตำแหน่งไปยังเซิฟเวอร์ของ Dirac เพื่อทำการคำนวนออกมาเป็นรูปแบบของฟิลเตอร์ที่ชดเชยแล้วออกมา
เส้นยึกๆ สีม่วงคือกราฟแสดงลักษณะการตอบสนองความถี่ของลำโพงแชนเนลซ้ายก่อนการใช้ฟิลเตอร์เข้าไปปรับแก้ ส่วนเส้นคู่ที่มีตุ่มวงกลมเล็กๆ อยู่บนเส้นนั้นเป็น target หรือเส้นกราฟเป้าหมายของการตอบสนองความถี่ของลำโพงข้างซ้ายหลังจากใช้ฟิลเตอร์ที่ Dirac คำนวนมาให้เข้าไปปรับแก้แล้ว
ที่เป็นเส้นยึกๆ สีเขียวคือกราฟแสดงลักษณะการตอบสนองความถี่ของลำโพงแชนเนลขวาก่อนการใช้ฟิลเตอร์เข้าไปปรับแก้ ส่วนเส้นคู่ที่มีตุ่มวงกลมเล็กๆ อยู่บนเส้นนั้นเป็น target หรือเส้นกราฟเป้าหมายของการตอบสนองความถี่ของลำโพงข้างขวาหลังจากใช้ฟิลเตอร์ที่ Dirac คำนวนมาให้เข้าไปปรับแก้แล้ว ซึ่งในขั้นตอนนี้ คุณสามารถปรับแก้ไขกราฟ Filter ที่โปรแกรมจัดทำได้ จะยกหรือกดบริเวณย่านความถี่ไหนเพิ่มเติมก็ใช้เคอเซอร์จิ้มลงไปที่วงกลมเล็กๆ ตรงเส้นเป้าหมายแล้วลากขึ้น–ลากลงได้ตามต้องการ
คุณสามารถเลือกดูคุณสมบัติทางด้าน impulse response ของลำโพงทั้งสองข้างได้ด้วยการคลิ๊กตรงตำแหน่งศรชี้สีม่วงในภาพด้านบนนี้ ซึ่งสามารถสลับดูได้ระหว่างแชนเนลขวา (เส้นกราฟสีเขียว/ฟ้า) และแชนเนลซ้าย (เส้นกราฟสีแดง/ม่วง)
หลังจากพิจารณาแล้ว ก็สั่งบันทึกเก็บฟิลเตอร์ตัวนั้นเอาไว้ ซึ่งทาง Dirac มีพื้นที่ให้คุณบันทึกค่าของฟิลเตอร์ที่ทำไว้ได้ทั้งหมด 3 เมมโมรี่ สามารถบันทึกทับได้เรื่อยๆ หลังจากนั้นก็สั่งบันทึกฟิลเตอร์นั้นไปที่ SA30 เพื่อเตรียมไว้ใช้งานโดยคลิ๊กลงไปที่ “Filter Export” (ศรชี้สีม่วง)
ฟิลเตอร์ตัวนั้นได้ถูกส่งไปที่ SA30 บันทึกลงเมมโมรี่ของ SA30 พร้อมสำหรับใช้งานแล้ว หลังจากเปิดโปรแกรม Dirac Room Correction แล้ว บนหน้าจอของ SA30 ก็จะเปลี่ยนไปแสดงอินพุต Network ขณะที่คุณเล่นเพลง
ถ้าต้องการใช้ฟิลเตอร์กับอินพุตนั้น ให้ชี้รีโมทไร้สายไปที่ตัว SA30 แล้วกดที่ปุ่ม AUDIO บนรีโมทไร้สาย โดยดูผลลัพธ์ที่หน้าจอของ SA30 จากภาพตัวอย่าง 2 ภาพข้างบนนี้ ภาพล่างที่แถวล่างของข้อมูล จะสังเกตเห็นโลโก้ตัว D ซึ่งเป็นโลโก้ของ Dirac (ศรชี้) ปรากฏขึ้นมาเพื่อแสดงให้รู้ว่าคุณกำลังเลือกใช้ฟิลเตอร์ปรับเสียงที่ Dirac ทำไว้ให้ ส่วนภาพบนไม่มีโลโก้แสดงว่าไม่ได้ใช้ฟิลเตอร์ Dirac /
********************
รีวิว Arcam รุ่น SA30