ในฐานะของนักเล่นเครื่องเสียง หลังจากได้ศึกษาแนวทางการออกแบบของแบรนด์ LOG Audio แล้ว ผมยอมรับว่ามีความสนใจผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้มากเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นระบบเครื่องเสียงที่มี “ความเป็นไปได้สูง” ที่จะทำให้ได้เสียงจากไฟล์เพลงออกมา “เหมือนต้นฉบับ” ให้มากที่สุด.!!
พื้นฐานการออกแบบระบบ
ผมอยากจะเรียกผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้เป็น “ระบบ” มากกว่า เพราะว่ามันไม่ได้เป็นแค่ลำโพงอย่างที่เห็นในภาพ แต่จริงๆ คนออกแบบพยายามที่จะนำเอา “เครื่องเล่นไฟล์เพลง” กับ “แอมปลิฟาย” และ “ลำโพง” เข้ามาผนึกรวมเป็นระบบเดียวกัน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดความสูญเสียและขจัดความผิดเพี้ยนที่เกิดจากการเชื่อมต่อ และขจัดปัญหาเรื่องแม็ทชิ่งออกไปให้หมด ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ได้เสียงออกมาใกล้เคียงกับต้นฉบับของสัญญาณเสียงที่อยู่ในไฟล์เพลงนั้นให้มากที่สุดนั่นเอง
กรอบสีขาวในภาพด้านบนคือระบบการทำงานของ LOG Audio ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์หนึ่งตัวชื่อว่า Prolog 2 กับลำโพงอีกหนึ่งคู่ ตัวเครื่อง Prolog 2 นั้นทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ เป็น Network Player/DAC กับเป็นปรีแอมป์ในตัว ส่วนลำโพงในภาพคือรุ่น VIVANT นั้นเป็นลำโพงแอ๊คทีฟที่มีภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว
จากภาพจะเห็นว่า LOG Audio เป็นระบบที่ใช้เล่นเพลงได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง คุณแค่มีไฟล์เพลงอยู่กับตัวก็สามารถเล่นเพลงได้ วิธีปฏิบัติก็ง่ายๆ แค่เสียบสาย LAN (Ethernet) จาก router ของคุณเข้าไปที่อินพุต Ethernet ของตัว Prolog 2 จากนั้นก็เอาไฟล์เพลงของคุณไปใส่ไว้ใน NAS ที่เชื่อมต่ออยู่ที่ router ตัวเดียวกัน หรือถ้าไม่มีไฟล์เพลงอยู่กับตัว ก็ยังสามารถสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตอย่างเช่น Spotify, TIDAL หรือ อินเตอร์เน็ต เรดิโอ ลงมาฟังผ่านระบบของ LOG Audio ได้เหมือนกัน นอกจากนั้น ตัว Prolog 2 ยังรองรับสัญญาณเสียงผ่านทางระบบไร้สายได้ด้วย ทั้งระบบไร้สายบน WiFi อย่าง AirPlay ของแอ็ปเปิ้ลและระบบไร้สายบน Bluetooth ซึ่งรับได้ถึงระดับ aptX
ทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้แอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า AirLino* ในการควบคุมการเลือกแหล่งอินพุตและควบคุมการเล่นไฟล์เพลง และยังใช้สั่งงานการทำงานของ Prolog 2 ได้ด้วย อย่างเช่น ปรับวอลลุ่ม (มีวอลลุ่มของ apple แถมมาให้เพื่อความสะดวกในการสั่งงานมากขึ้น) แอพฯ AirLino ตัวนี้มีทั้งเวอร์ชั่น Android และ iOS ซึ่งเวอร์ชั่น iOS ทำงานได้ทั้งบน iPhone และ iPad
* Wisa ที่ใช้ในตัว Prolog 2 รองรับมาตรฐาน UPnP หรือ DLNA น่าจะใช้ร่วมกับแอพฯ อื่นที่รองรับมาตรฐาน UPnP ได้ด้วย
ไม่ต้องใช้สายลำโพง.!!!
เนื่องจากในตัว Prolog 2 และตัวลำโพง VIVANT ติดตั้งระบบรับ/ส่งสัญญาณเสียงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (wireless transmission) ของ Wisa อยู่ในตัว ดังนั้น ระหว่างตัว Prolog 2 กับตัวลำโพงจึงไม่ต้องมีสายลำโพงเชื่อมต่อระหว่างกัน และระหว่างลำโพง VIVANT ทั้งสองข้างก็ไม่ต้องใช้สาย LAN โยงระหว่างกันด้วย ถือว่าการเชื่อมต่อรับ/ส่งสัญญาณระหว่างตัวลำโพง VIVANT กับตัวเครื่อง Prolog 2 เป็นแบบ True Wireless อย่างแท้จริง.!
VIVANT รุ่นรองท็อปของ LOG Audio
จนถึงปัจจุบัน LOG Audio มีผลิตภัณฑ์อยู่ทั้งหมด 7 รุ่นด้วยกัน ซึ่งตัวลำโพงที่ใช้อยู่ในทุกรุ่นเป็นลำโพง Active ทั้งหมด สิ่งที่ต่างกันระหว่างรุ่นเล็กกับรุ่นที่ใหญ่ขึ้นมาก็คือจำนวนไดเวอร์ที่ใช้ในลำโพงนั่นเอง
รุ่นใหญ่สุดมีชื่อว่า VERVE เป็นลำโพงตั้งพื้น ส่วนรุ่น VIVANT ที่ผมกำลังพูดถึงตัวนี้ก็เป็นลำโพงตั้งพื้นเหมือนกัน แต่เป็นรุ่นรองลงมาระดับหนึ่ง กระนั้น แม้จะไม่ใช่รุ่นท็อปสุดแต่ VIVANT คู่นี้ก็มีดีอยู่หลายจุด ตัวตู้ลำโพงเป็นระบบตู้เปิดที่มีท่อระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำการกระจายความถี่เสียงผ่านไดเวอร์ที่มากถึง 6 ตัวต่อข้าง อันนี้คือจุดเด่นแรกของลำโพงคู่นี้ ประกอบด้วยซับเบสขนาด 12 นิ้ว หนึ่งตัวอยู่ที่ด้านหลัง, กรวยวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว สองตัวอยู่ที่แผงหน้า แยกติดตั้งด้านบนและด้านล่าง, มิดเร้นจ์ทรงโดมขนาด 3 นิ้ว หนึ่งตัว, ทวีตเตอร์ซอฟท์โดมและซุปเปอร์ทวีตเตอร์ทรงฮอร์นอีกอย่างละตัว ทั้งหมดนั้นครอบคลุมความถี่ระหว่าง 25Hz ขึ้นไปจนถึง 25,000Hz
ความเจ๋งของลำโพงคู่นี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเป็นลำโพงแอ๊คทีฟนะครับ เพราะลำโพงแอ๊คทีฟมีมานานแล้ว ที่ดีๆ ก็มากที่แย่ๆ ก็เยอะ ความเจ๋งคูลของ VIVANT คู่นี้อยู่ที่นอกจากจะใช้ไดเวอร์หลายตัวช่วยกันสร้างความถี่เสียงแล้ว วงจรครอสโอเวอร์ เน็ทเวิร์คที่ใช้ในการตัดแบ่งความถี่ให้กับไดเวอร์ทั้ง 6 ตัว ก็คืออีกหนึ่งความเจ๋งของมัน เพราะเป็นวงจร active crossover ที่ทำงานในโดเมนดิจิตัลทั้งกระบวน จึงไม่เปิดโอกาสให้มีการสูญเสียหรือบิดเบือนของสัญญาณเสียงเกิดขึ้นในขั้นตอนการทำงานของวงจรครอสโอเวอร์ฯ เหมือนลำโพงทั่วไปที่ใช้วงจรครอสโอเวอร์แบบพาสซีฟ..
ว้าวว… เริ่มเห็นภาพของความน่าสนใจขึ้นมาลางๆ แล้วใช่มั้ยครับ.? ลองนึกดูซิว่า สัญญาณเสียงที่เป็นต้นทางก็อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัล กระบวนการ playback ก็อยู่ในโหมดดิจิตัล สัญญาณเอ๊าต์พุตจากเพลเยอร์ที่ส่งเข้าสู่วงจรครอสโอเวอร์ฯ ของลำโพงก็เป็นสัญญาณดิจิตัล ระบบวอลลุ่มที่ใช้ควบคุมความดังในภาคปรีแอมป์บนตัว Prolog 2 ก็เป็นดิจิตัล วอลลุ่ม จะเห็นว่า ตลอดเส้นทางตั้งแต่ไฟล์เพลงต้นฉบับผ่านเพลเยอร์มาจนถึงภาคเพาเวอร์แอมป์ที่เชื่อมต่อตรงเข้ากับตัวไดเวอร์ล้วนอยู่ในโดเมนดิจิตัลทั้งหมด นั่นคือเหตุผลที่ทาง LOG Audio มั่นใจว่าระบบของเขาเป็นระบบเพลย์แบ็คแบบ Lossless อย่างแท้จริง.!
LOG AudioEngine
ก่อนจะข้ามไปถึงขั้นตอนการทดลองเล่นทดลองฟังลำโพง VIVANT คู่นี้ ผมขออนุญาตแวะไปคุยถึงเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังความมหัศจรรย์เหล่านี้อีกสักเล็กน้อย ซึ่งทางผู้ผลิตตั้งชื่อเรียกไม้เด็ดของพวกเขาไว้ว่า “LOG AudioEngine”
ภาพด้านบนนี้แสดงให้เห็นถึงขอบเขตหน้าที่ของตัว Prolog 2 กับขอบเขตหน้าที่ของวงจร DSP ในตัวลำโพง VIVANT ที่ทำงานผสานกันด้วยคอนเซ็ปต์ “Lossless” ตามที่ผู้ออกแบบตั้งใจทำออกมา ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือ “LOG AudioEngine” ในความหมายของผู้ออกแบบ โดยที่ตัว Prolog 2 จะทำหน้าที่เหมือน “ปรีแอมป์” คือเป็นศูนย์กลางของอินพุตที่รองรับสัญญาณเสียงจากแหล่งต้นทางภายนอกเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณดิจิตัลที่เข้ามาทางระบบสายผ่านขั้วต่อ Optical และ AES/EBU และสัญญาณดิจิตัลที่ผ่านระบบไร้สายอย่าง Wi-Fi (AirPlay) และ Bluetooth รวมถึงมีอินพุตสำหรับรองรับสัญญาณอะนาลอกมาให้ด้วย
สัญญาณดิจิตัลที่เข้ามาทางช่อง Digital In และทางระบบไร้สาย Wi-Fi กับ Bluetooth จะถูกจัดส่งต่อเข้าสู่กระบวนการ DSP ที่ตัวลำโพง ส่วนสัญญาณอินพุตอะนาลอกจะถูกแปลงเป็นดิจิตัลด้วย A-to-D converter ที่ระดับ 192kHz/24bit ในตัว Prolog 2 ก่อนส่งเข้ากระบวนการ DSP ที่ตัวลำโพง ซึ่งส่วนที่ DSP ดูแลก็คือตัดแบ่งความถี่ให้กับไดเวอร์แต่ละตัวด้วยวงจร digital crossover network ที่ใช้ฟิลเตอร์แบบ FIR (Finite Impulse Response) ซึ่งเป็นรูปแบบของฟิลเตอร์ที่ไม่ทำให้เฟสสัญญาณเสียหาย และยังได้ใช้การเขียนซอฟท์แวร์บน DSP ในการแก้ไขความไม่สมบูรณ์ในการสร้างความถี่เสียงของไดเวอร์แต่ละตัวไปด้วย จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Linear-Phase Technology เข้ามาจัดการแก้ไขเรื่องความเหลื่อมเวลาของความถี่ที่ออกมาจากไดเวอร์แต่ละตัว เพื่อให้ความถี่ที่ออกมาจากไดเวอร์ทั้งหมดมีเฟสที่ผสานกลืนกัน
เมื่อสัญญาณเสียงถูกจัดการด้วย DSP จนเรียบร้อยแล้ว สัญญาณนั้นจะถูกส่งเข้าสู่ภาค DAC ที่เชื่อมต่ออยู่กับเพาเวอร์แอมป์ class-A/B ซึ่งแยกเป็นชุดคู่กับไดเวอร์แต่ละตัว ของใครของมัน ในภาพตัวอย่างนั้นเอามาจากรุ่น CUBE ซึ่งเป็นลำโพงสามทางวางขาตั้ง แต่ในรุ่น VIVANT ใช้ไดเวอร์ 6 ตัวในแต่ละข้าง ในภาพจึงต้องแยกเป็น 6 ชุด กำลังขับของเพาเวอร์แอมป์รวมกันเท่ากับ 600W
ทดลองเล่น ทดลองฟัง
ผมแวะไปที่โชว์รูมของร้านอัศวโสภณ สาขาสยามพารากอน ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ไปทดลองสัมผัส ผมเตรียมไฟล์เพลงใส่ทั้ง iPhone 7 และเตรียมใส่ฮาร์ดดิสพกพาไปด้วย เพราะจากการศึกษาข้อมูลในเว็ฐไซต์ของ LOG Audio ผมเข้าใจว่า ไม่ว่าคุณจะเล่นเพลงจากแหล่งต้นทางแบบไหนก็ตาม คุณต้องต่อสัญญาณเอ๊าต์พุตจากอุปกรณ์ของคุณ “ผ่าน” เข้าทางตัว Prolog 2 ทั้งหมด ตัวลำโพง VIVANT ไม่รับสัญญาณจากภายนอกตรงเข้าที่ตัวมัน ซึ่งวันแรกนั้น ผมก็สามารถใช้งานและฟังเสียงของ VIVANT ได้ตามที่ผมเข้าใจ คือจะใช้วิธีเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพ Onkyo HF Player บน iPhone 7 ของผมแล้วสตรีมสัญญาณเอ๊าต์พุตไปที่ Prolog 2 ผ่านทาง Bluetooth ก็ได้ ลองเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพฯ TIDAL บน iPhone 7 ของผมแล้วสตรีมไปที่ Prolog 2 ผ่านเข้าทาง AirPlay ก็ได้ (ใช้ช่องทาง Wi-Fi) และได้ลองใช้แอพ AirLino ดึงไฟล์เพลงจากฮาร์ดดิสที่ผมไปเสียบไว้กับ NAS ของทางร้านออกมาฟังด้วย จากการลองใช้งานผมว่าตัวแอพฯ AirLino ยังออกแบบอินเตอร์เฟซไม่ดี ใช้งานครั้งแรกจะรู้สึกงงๆ หน่อย แต่พอเรียนรู้แล้วก็ใช้งานได้ปกติ วันนั้นผมก็ลืมทดลองใช้แอพตัวอื่นดูด้วย (ใครไปลองฟังแนะนำให้ลองใช้แอพฯ อื่นดูว่าจะใช้ด้วยกันได้หรือไม่ อย่างเช่นแอพ M-connect หรือ M-control ซึ่งมีอินเตอร์เฟซที่ดูง่ายและใช้ง่ายกว่า)
เมื่อได้ลองขยับตำแหน่งลำโพงให้เข้าที่เข้าทางมากที่สุดที่ทำได้ (ห้องมีขนาดเล็ก และค่อนข้าง Live มากไป) เสียงที่ได้ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากๆ เมื่อเทียบกับมาตรฐานของลำโพง Active ที่ผมเคยฟังมาก รายละเอียดและไดนามิกของ VIVANT คู่นี้มีความโดดเด่น รับรู้ได้ถึงความเข้มข้นของเนื้อสัญญาณอย่างชัดเจน ไม่มีอาการว่าเนื้อจะบางหรือไดนามิกป้อแป้ให้รู้สึกเลย โทนเสียงเต็มไปด้วยความสด เปิดกระจ่าง มีชีวิตชีวา รายละเอียดพรั่งพรูแทบจะได้ยินไปทุกอณู ตอนแรกๆ ที่เริ่มฟังจะรู้สึกเหมือนถูกรุกเร้ามากเกินไป ซึ่งคิดว่าเป็นเพราะขนาดห้องที่เล็กไปและสภาพอะคูสติกที่ Live มากไป กับระยะเซ็ตอัพที่ยังไม่ลงตัวเป๊ะๆ นั่นเอง แต่เมื่อได้ระยะที่ให้ค่าเฉลี่ยลงตัวที่สุดในสภาพนั้นแล้วจะฟังได้มันมาก เพราะความเข้มข้นของเสียงกับไดนามิกที่กระชับสด ทำให้ซึมซับอรรถรสของเพลงได้อย่างไม่ตกหล่น ถ้าลำโพงชุดนี้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จัดการอะไรๆ ได้ลงตัวกว่านี้ เสียงมันน่าจะอะเมธซิ่งมาก.!!
มีจังหวะหนึ่งที่ผมเข้าไปพิจารณาที่ตัวลำโพงใกล้ๆ ผมพบว่า ที่ด้านหลังของตัวลำโพงมีขั้วต่อสัญญาณอยู่ 3 ช่อง เป็นขั้วต่อแบบ DIN หนึ่งช่อง ส่วนอีกสองช่องเป็นขั้วต่อ XLR (ภาพด้านบน) ที่ใต้ขั้วต่อ XLR มีพิมพ์กำกับไว้ด้วยว่า Digital IN กับ Analog IN ส่วนที่ขั้วต่อ DIN พิมพ์กำกับไว้ว่า Service ส่วนด้านบนเหนือขั้วต่อขึ้นไปมี dip switch เล็กๆ อยู่ 8 อัน เห็นแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า เขามีไว้ให้ทำอะไร.? หรือจะให้ไว้สำหรับเชื่อมต่อตัวลำโพง VIVANT เข้ากับอุปกรณ์เพลเยอร์โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัว Prolog 2 .?
เพื่อให้คลายสงสัย ผมจึงหาเวลากลับไปทดลองอีกครั้ง คราวนี้ผมหิ้วเครื่องเล่นไฟล์เพลงของ Cambridge Audio รุ่น CXN v2 ไปด้วยพร้อมสายสัญญาณบาลานซ์ XLR ยาวเมตรครึ่งอีกหนึ่งคู่ เพราะผมคิดเองว่า ช่องอินพุต XLR ที่แจ้งว่าเป็นช่อง “Analog In” ของตัว VIVANT น่าจะสามารถป้อนสัญญาณอะนาลอกที่ผ่านวอลลุ่มคอนโทรลเข้าไปได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่าน Prolog 2 ซึ่งถ้าเป็นจริงตามที่คิด ผมก็สามารถใช้ Network Player ตัวไหนก็ได้ที่มีภาคปรีแอมป์ในตัว ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงและควบคุมวอลลุ่มโดยต่อสัญญาณเอ๊าต์พุตตรงเข้าที่ VIVANT เลย หรือจะเอา VIVANT ไปอัพเกรดในซิสเต็มทั่วไปก็สามารถทำได้ ด้วยการเข้าไปแทนที่เพาเวอร์แอมป์+ลำโพงในชุดนั้นๆ โดยใช้สัญญาณเอ๊าต์พุตจากปรีแอมป์ (ที่มีช่องเอ๊าต์พุตบาลานซ์ XLR) ในชุดเดิมในการควบคุมความดัง
หลังจากจัดแจงเชื่อมต่อสัญญาณตามที่คิด คือเอาสายบาลานซ์ XLR เชื่อมต่อที่ช่อง Analog Out XLR ของ CXN v2 ไปเข้าที่ช่อง Analog In ของ VIVANT เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ผมก็เริ่มเล่นเพลงที่ตัว CXN v2 แล้วค่อยๆ เร่งวอลลุ่มที่ตัว CXN v2 ขึ้นมาทีละนิด.. เงียบฉี่.!!! ไม่มีเสียงออกที่ลำโพง VIVANT ผมและเจ้าหน้าที่ของร้านอัศวโสภณช่วยกันพิจารณาดูโดยถี่ถ้วนแล้วในตอนนั้น พบว่าลำโพงทำงานได้ปกติเมื่อรับสัญญาณผ่าน Prolog 2 ทาง Wi-Fi (Wisa) แสดงว่าเราต้องทำอะไรยังไม่ถูกสักอย่างหนึ่ง เมื่อลองพิจารณาที่อินพุตอีกช่องของ VIVANT ที่ระบุว่าเป็น “Digital In” ซึ่งใช้ขั้วต่อ XLR อยู่ที่ลำโพงทั้งสองข้าง ซึ่งช่องนี้ไม่น่าจะรองรับสัญญาณดิจิตัลจากเครื่องเล่นภายนอกทั่วๆ ไป เพราะเครื่องเล่นภายนอกเหล่านั้นให้ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับสัญญาณดิจิตัลแค่รูปแบบละช่องเดียว ไม่มีเพลเยอร์ตัวไหนให้มาสองช่อง เมื่อกลับไปดูที่ด้านหลังของ Prolog 2 พบว่ามีช่องเอ๊าต์พุตดิจิตัลมาให้แยกสำหรับซ้ายและขวาด้วย แสดงว่า ช่องอินพุต Digital In ที่ตัว VIVANT มีไว้ให้เชื่อมต่อกับเอ๊าต์พุตของ Prolog 2 นี่เอง ผมทดลองเชื่อมต่อด้วยสาย XLR คุณภาพธรรมดาๆ ที่ร้านมีอยู่ (น่าจะเอาไว้ใช้ต่อกับเครื่องดนตรีหรืองานโปรฯ) ปรากฏว่าใช้งานได้ ส่วนเครื่องเล่น CXN v2 ผมก็ใช้วิธีเชื่อมต่อจากช่อง Optical ของ CXN v2 ไปที่อินพุต Optical ของตัว Prolog 2 (สาย Optic เกรดธรรมดาๆ) เสียงที่ได้ออกมาโฟกัสนิ่งและให้ไดนามิกดีกว่าตอนฟังผ่านไร้สายพอรู้สึกได้ โดยเฉพาะตอนเล่นไฟล์ไฮเรซฯ 24/96 และ 24/192 แสดงว่าการเชื่อมต่อจากตัว Prolog 2 ไปที่ลำโพง VIVANT ผ่านสายดิจิตัลให้คุณภาพเสียงดีกว่าต่อแบบไร้สาย (เสียดายที่วันนั้นไม่มีสาย digital XLR เลยไม่ได้ลองเชื่อมต่อระหว่าง Prolog 2 กับ VIVANT ผ่านทาง AES/EBU เสียงน่าจะดีขึ้นไปอีกพอสมควร โดยเฉพาะตอนเล่นไฟล์ 24/192)
หลังจากกลับมานั่งทำบทความนี้ ตรวจดูรูปที่ถ่ายมาแล้ว ผมคิดว่า สาเหตุที่ทำให้ตอนต่อเชื่อมสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจาก CXN v2 ไปที่ VIVANT แล้วไม่มีเสียงนั้น น่าจะเกี่ยวกับการปรับตั้งตัว dip-switch ที่ด้านหลังของลำโพง VIVANT ก็เป็นได้ ผมเข้าใจว่าถ้าโยกสวิทช์หมายเลข 1 ขึ้นไปที่ตำแหน่ง “On” เพื่อ active อินพุต Analog In ก็น่าจะได้ยินเสียง.. น่าเสียดายที่วันนั้นไม่ได้สังเกตตรงนี้ให้ดี ถ้ามีโอกาสไปลองอีกครั้งจะเอาผลการลองมารายงานให้ทราบ
สรุป
ระบบลำโพงรุ่น VIVANT ของ LOG Audio ชุดนี้ไม่ได้เป็นแค่ลำโพงไล้ฟ์สไตล์อย่างที่บางคนมอง โอเคว่าโดยเป้าหมายการออกแบบ พวกเขาต้องการให้มองว่า VIVANT เป็นลำโพงที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่แห่งยุคปัจจุบัน ซึ่งผมมองว่านั่นคือเป้าหมายเชิงพานิชย์ แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำออกมาแล้ว มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าตั้งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่ที่อยากได้ลำโพงไปฟังเพลงในแนวไล้ฟ์สไตล์ ทำไมถึงต้องทำกันออกมาถึงขนาดนี้.? ทำไมต้องใช้เทคนิคการออกแบบที่ลึกซึ้งและจริงจังระดับนี้.? ที่สำคัญคือราคาขายก็ไม่ได้ถูกๆ ซะด้วย
ผมบอกเลยว่า แนวทางในการออกแบบลำโพงของแบรนด์นี้มันคือจุดหมายปลายทางของคำว่า “เสียงดี” ในอุดมคติที่อุปกรณ์เครื่องเสียงจะสามารถให้ได้ มันทำลายข้อจำกัดทางด้าน “แม็ทชิ่ง” ที่เป็นอุปสรรคของเสียงที่ดีลงได้อย่างเด็ดขาด สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงที่มุ่งหวังเสียงที่ดีจริงๆ เสียงที่เข้าใกล้ต้นฉบับของไฟล์เพลงที่เล่น คุณควรไปหาโอกาสทดลองฟังเสียงของลำโพง VIVANT ตัวนี้ดู ถ้ามีแค่ไฟล์เพลงดีๆ + เครื่องเล่น Network Player ที่มีระดับและที่มีภาคปรีฯ ในตัว บวกกับฝีมือการเซ็ตอัพลำโพง แค่นี้คุณก็มีโอกาสได้พบกับความหมายของคำว่า “เสียงดี” ในอุดมคติแล้ว.!! /
********************
ราคา : แยกชิ้น
ลำโพง VIVANT = 1,150,000 บาท / คู่
Prolog 2 = 94,900 บาท / ตัว
ราคา : จัดชุด
VIVANT + Prolog 2 = 1,244,900 บาท / ชุด
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Asavasopon Co.Ltd.
โทร. 02-234-6467