จริงๆ แล้ว ST5 ของ Arcam ตัวนี้ออกมาวางตลาดสักพักนึงแล้ว ผมมีโอกาสได้ทดลองฟังเสียงของมันมาตลอดแต่เหตุผลที่เพิ่งจะนำมาเขียนรีวิวก็เพราะว่า ตอนได้รับ ST5 ตัวนี้มาใหม่ๆ เห็นว่ามันมีฟังท์ชั่น Roon Ready ด้วยแต่ตอนนั้นยังใช้งานไม่ได้ ประมาณว่ายังไม่ได้รับการรับรอง (certify) จาก Roon ผมเลยรอจนทาง Roon อัพเดตให้ ST5 สามารถใช้งานฟังท์ชั่น Roon Ready ร่วมกับระบบทรานสปอร์ตของ Roon ได้
หน้าตาเท่มาก.!!
บอดี้ของ ST5 ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะแบนบาง ความหนาวัดจากขอบบนของตัวเครื่องลงไปถึงพื้นรวมขาตั้งที่รองรับใต้ฐานเครื่องอยู่ที่ 5.7 ซ.ม. เท่านั้น ส่วนความกว้างอยู่ที่ 43.1 ซ.ม. เท่ากับเครื่องมาตรฐานทั่วไป ความลึกของตัวเครื่องก็เท่าๆ กับเครื่องเสียงมาตรฐานทั่วไปคือ 32.8 ซ.ม. น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 3.5 กิโลกรัม
ตัวเครื่องหลักๆ ทำด้วยอะลูมิเนียมสองแผ่น ตีโค้งที่ขอบทั้งสองข้างเป็นรูปตัวยู ชิ้นบนคว่ำลงในขณะที่ชิ้นล่างหงายขึ้นประกบกัน โดยชิ้นบนมีการพิมพ์เป็นลอนเพิ่มความแกร่งและทำให้ดูมีดีไซน์เท่ๆ ผิวนอกพ่นเคลือบด้วยสีดำ โดยรวมต้องยอมรับว่า คุณภาพของชิ้นส่วนและการประกอบอยู่ในระดับที่เนี้ยบมาก
แผงหน้าและแผงหลัง
พวกเขาดีไซน์แผงหน้าของ ST5 ออกมาได้เก๋มาก ตอนปิดเครื่องจะไม่มีอะไรปรากฏอยู่บนแผงหน้าเลย มันราบเรียบเป็นแผ่นกระดานเพราะไม่มีแม้แต่ปุ่มกดหรือปุ่มหมุนใดๆ อยู่เลย ตอนเปิดเครื่องใช้งานจึงได้รู้ว่าภายใต้ความราบเรียบนั้น พวกเขาได้ฝังจอแสดงผลไว้บนพื้นที่บริเวณตรงกลางของแผงหน้าเพื่อใช้แสดงข้อความตัวอักษรให้รู้ถึงสถานะการทำงานของตัวเครื่อง และที่มุมขวาบนจะมีไฟ LED ดวงเล็กๆ ซึ่งจะสุกสว่างขึ้นเมื่อเครื่องถูกเปิดใช้งาน และจะมืดดับลงเมื่อปิดเครื่อง
1. เต้ารับสายไฟเอซี
2. สวิทช์เมน
3. ช่อง micro-USB สำหรับตรวจเช็คเครื่อง (งานซ่อม)
4. ช่องเสียบสายคอนโทรลที่ใช้สั่งงานร่วมกับแอมปลิฟายของ Arcam ตระกูล Radia
5. ช่อง LAN (บน) สำหรับเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค, และช่อง USB-A สำหรับเสียบแฟรชไดร้ที่เก็บไฟล์เพลง
6. ช่อง IR OUT และ TRIGGER OUT สำหรับเชื่อมต่อกับระบบควบคุมสั่งงานจากภายนอก
7. ช่อง Digital Out / Optical สำหรับส่งออกสัญญาณดิจิตัล
8. ช่อง Digital Out / Coaxial สำหรับส่งออกสัญญาณดิจิตัล
9. ช่อง Analog Out สำหรับส่งออกสัญญาณอะนาลอก
ST5 มีสวิทช์เมนสำหรับควบคุมไฟเอซีเข้าเครื่องอยู่ที่ด้านหลัง ข้างๆ จุดเชื่อมต่อสายไฟเอซี เมื่อกดสวิทช์ตัวนี้ไปที่ตำแหน่งเปิดเครื่อง หน้าจอแสดงผลจะสว่างขึ้นและขั้นตอนเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คจะเรื่มต้นทำงานโดยอัตโนมัติ จังหวะนี้ไฟ LED ตรงมุมบนด้านขวาของหน้าปัดจะสว่างค้างอยู่ตลอด เมื่อ ST5 เชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คสำเร็จ บนหน้าจอของ ST5 จะแสดงคำว่า ‘READY’ ขึ้นมาและพร้อมใช้งาน
ช่องทางหลักในการใช้เชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คสำหรับ ST5 ก็คือช่อง ‘Network’ โดยใช้สาย LAN ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ใช้ประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางรองรับคำสั่งที่ใช้ปรับตั้งการทำงานของตัวเครื่องผ่านทางแอลพิเคชั่น Arcam Radia และเป็นช่องทางดึงไฟล์เพลงจาก NAS เข้ามาเล่น และรองรับสัญญาณเสียงในรูปของสัญญาณดิจิตัลที่มาจากอุปกรณ์ภายนอก ผ่านเข้ามาด้วยเทคโนโลยี Apple AirPlay, Chromcast, Spotify Connect และ TIDAL Connect
นอกจากนั้น ST5 ยังมีช่องเสียบแฟรชไดร้ USB มาให้ด้วย ซึ่งคุณสามารถใช้ประโยชน์ได้กรณีที่เก็บไฟล์เพลงไว้ในแฟรชไดร้ก็สามารถนำมาเสียบที่ช่องนี้เพื่อให้แอพลิเคชั่น Arcam Radia ดึงไฟล์เพลงในแฟรชไดร้มาเล่นได้ ซึ่ง ST5 นับช่องเสียบ USB เป็นหนึ่งอินพุตของมัน
ST5 ให้ช่องทางเอ๊าต์พุตของสัญญาณไว้ให้เลือกใช้ 3 ช่องทาง เป็นช่องทางขาออกสำหรับสัญญาณดิจิตัล (digital out) จำนวน 2 ช่อง คือ coaxial กับ optical อย่างละหนึ่งช่อง ส่วนช่องทางที่สามเป็นช่องทางขาออกสำหรับสัญญาณอะนาลอก (analog out) ซึ่งให้การเชื่อมต่อสัญญาณผ่านทางขั้วต่อ RCA
ทั้งช่องอินพุต Network และอินพุต USB รวมถึงช่องเอ๊าต์พุต coaxial และ optical ต่างก็รองรับสัญญาณดิจิตัลเฉพาะฟอร์แม็ต PCM ได้สูงสุดถึงระดับ 24/192 ขึ้นอยู่กับรูปแบบของไฟล์ฟอร์แม็ตที่ห่อหุ้มสัญญาณ PCM เอาไว้ ซึ่ง ST5 สามารถรองรับไฟล์ฟอร์แม็ตได้มากถึง 8 ฟอร์แม็ตมาตรฐานที่ใช้กันอยู่อย่างกว้างขวางในขณะนี้ รวมถึงฟอร์แม็ต WAV และ AIFF ที่เป็นไฟล์แบบ uncompress ด้วย
แม้ว่า ST5 จะมีแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Arcam Radia มาให้ใช้ก็ตาม แต่ฟังท์ชั่นบนแอพฯ มีแค่ใช้ในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงและแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเน็ทเวิร์คเท่านั้น ส่วนการปรับตั้งค่าการทำงานฟังท์ชั่นต่างๆ ของตัวเครื่อง ยังต้องสั่งงานผ่านทางรีโมทไร้สายขนาดเล็กที่แถมมาให้
การเชื่อมต่อกับชุดเครื่องเสียง
ST5 เป็น Network Streamer เต็มตัว.!! คือคุณต้องเชื่อมต่อมันเข้ากับ home network ที่บ้านของคุณก่อนจึงจะสามารถใช้งานมันได้ ซึ่งหลังจากคุณเชื่อมต่อสาย LAN (Ethernet) ที่ดึงจาก Router มาที่อินพุต NETWORK ที่อยู่ตรงแผงหลังของ ST5 แล้วกดปุ่มเมนสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง ON ระบบการทำงานของ ST5 จะทำการเชื่อมต่อเข้ากับเน็ทเวิร์คโดยอัตโนมัติ ซึ่งจากการทดลองใช้งานของผมพบว่า หลังจากดปุ่มเมนสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง ON แล้ว ST5 ใช้เวลาแค่ไม่หกี่วินาทีก็สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเน็ทเวิร์คที่บ้านผมได้แล้ว หน้าจอโชว์คำว่า “Ready” แสดงถึงสภาพวะพร้อมทำงาน (*Router ที่บ้านผมตั้งวิธีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกไว้เป็นแบบ DHCP คือแจก IP อัตโนมัติ)
ลักษณะการเชื่อมต่อระบบตามชาร์ตด้านบนนั้นถือว่าเป็นการใช้งานระดับพื้นฐานสำหรับ ST5 ตัวนี้ และเนื่องจากสตรีมเมอร์ตัวนี้มี DAC ในตัวและมีทั้งช่อง digital out และช่อง analog out มาให้ ทำให้คุณมีอ๊อปชั่นในการเลือกใช้งานเอ๊าต์พุตของ ST5 ได้หลายรูปแบบ อย่างเช่น แบบพื้นฐานที่สุดคือใช้ภาค DAC ในตัว ST5 ในการแปลงสัญญาณดิจิตัลที่รับเข้ามาจากทุกอินพุตให้เป็นสัญญาณอะนาลอกก่อนจะปล่อยออกมาทางช่อง analog out (ลูกศรสีแดง) ไปเข้าที่ช่องอะนาลอก อินพุตของแอมป์ กับอีกวิธี ถ้าคุณต้องการอัพเกรดไปใช้ภาค DAC ภายนอกที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าภาค DAC ในตัว ST5 ก็สามารถทำได้ด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตัลจากช่อง coaxial out หรือ optical out (ลูกศรทีเขียว) ไปที่อินพุตของภาค DAC ภายนอก จากนั้นก็เชื่อมต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์ของ DAC ภายนอกไปที่ช่องอะนาลอก อินพุตของแอมป์ (*คำว่า “DAC ภายนอก” อาจจะหมายถึง DAC ในตัว all-in-one หรือแบบแยกชิ้นอิสระที่เรียกว่า external DAC ก็ได้)
อย่าลืมอัพเฟิร์มแวร์.!!
ST5 ถูกประกอบร่างครั้งแรกด้วยเฟิร์มแวร์ V00.20 และก่อนจะออกสู่ตลาดได้ถูกอัพฯ ขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่น V00.34 ปัจจุบันเฟิร์มแวร์ตัวล่าสุดเป็นเวอร์ชั่น V03.11 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เริ่มมีการปรับปรุงการทำงานในบางส่วนขึ้นมา และที่สำคัญคือเป็นเวอร์ชั่นที่ได้รับการรับรองจาก Roon Labs ให้มีสถานะเป็น Roon Ready คือเมื่อนำ ST5 เข้าไปอยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกันกับเน็ทเวิร์คที่มี Roon Core ทำงานอยู่จะทำให้ ST5 มีคุณสมบัติเป็น endpoint ของโปรแกรมเล่นไฟล์ Roon ทันที
แอพลิเคชั่น ‘Arcam Radia’
หลังจากอัพเดตเฟิร์มแวร์เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว สิ่งที่ต้องทำขั้นต่อไปก็คือดาวนด์โหลดแอพฯ ที่ชื่อว่า ‘Arcam Radia’ (มีทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android) มาติดตั้งลงบนสมาร์ทโฟนเพื่อควบคุมการทำงานของ ST5 ต่อไป
หลังจากติดตั้งแอพฯ Arcam Radia แล้ว ST5 จะมีช่องทาง “รองรับ” สัญญาณจากภายนอกได้ถึง 5 แหล่ง ด้วยกัน ได้แก่ Spotify Connect, Tidal Connect, Apple Airplay 2, Chromcast และ Roon คือถ้าคุณใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตเปิดแอพฯ Spotify หรือ TIDAL เแล้วเลือกเล่นไฟล์เพลง คุณสามารถ “ส่งสัญญาณเสียง” จากอุปกรณ์พกพาที่คุณใช้เปิดเล่นเพลงจากแอพฯ เหล่านั้นมาที่ Arcam ‘ST5’ ตัวนี้ได้ผ่านทางอินพุต Airplay หรือ Chromcast ได้ (อุปกรณ์ Android) และถ้าคุณติดตั้งระบบเล่นไฟล์เพลงของ Roon เข้ากับเน็ทเวิร์ค คุณก็สามารถใช้ Roon เล่นไฟล์เพลงแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลมาที่ ST5 ผ่านทางอินพุต Network ของ ST5 เพื่ออาศัยภาค DAC ในตัว ST5 ช่วยแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกให้ก็ได้ (*ST5 จะไปปรากฏเป็นหนึ่งใน Zone Output ให้เลือกอยู่ในแอพฯ รีโมทของ Roon ในกลุ่ม ‘Roon Ready’ ในหัวข้อ Setting>Audio ของ Roon)
บนแอพฯ Arcam Radia แทบจะไม่มีฟังท์ชั่นอะไรให้ทำการปรับตั้ง ที่สำคัญจริงๆ ก็คือ ‘Internet Update’ ซึ่งมีไว้เช็คเฟิร์มแวร์ใหม่ๆ ที่จะมีออกมาให้อัพเดต ส่วนหัวข้ออื่นๆ ก็เป็นแค่ข้อมูลที่แจ้งให้ทราบเกือบทั้งหมด
ทดลองใช้แอพฯ Arcam Radia ฟังเพลง
กรณีที่ใช้แอพฯ Arcam Radia ค้นหาเพลงฟัง คุณจะมีแหล่งที่เข้าไปดึงไฟล์เพลงมาฟังได้อยู่ 4 แหล่ง ด้วยกัน นั่นคือ สถานีวิทยุบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีให้เลือกฟังมากมายจากทั่วโลก หรือ Internet Radio และ Podcast ส่วนอีกสองแหล่งที่ดึงมาเล่นได้ก็มีจาก แฟรชไดร้ USB ที่คุณเก็บไฟล์เพลงไว้ในนั้น ซึ่งคุณต้องนำแฟรชไดร้ของคุณไปเสียบเข้าที่ช่อง USB ที่ด้านหลัง (อยู่ใต้ช่อง Network) และอีกแหล่งคือดึงมาจากฮาร์ดดิส NAS ที่เชื่อมต่ออยู่บนเน็ทเวิร์คเดียวกับ ST5
หลังจากติดตั้งแอพฯ Arcam Radia ลงบน iPhone 12 ของผมเสร็จแล้ว ผมก็ทดลองใช้แอพฯ ตัวนี้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงด้วยการเลือกไฟล์เพลงจาก NAS (ศรชี้ในภาพ) ที่เชื่อมต่ออยู่บนเน็ทเวิร์คเดียวกับตัว ST5 ซึ่งมีทั้งไฟล์เพลง WAV ที่ผมริปจากแผ่น CD และไฟล์เพลง DSF ที่ผมริปจากแผ่น SACD อยู่ในนั้น ซึ่ง ST5 ใช้โปรโตคอล UPnP (Universal Plug and Play) ในการค้นหาและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกันแบบอัตโนมัติ ซึ่ง NAS ที่ผมใช้เก็บไฟล์เพลงลงโปรแกรม MinimServer ซึ่งสามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้มาตรฐาน UPnP ได้ จึงทำให้ ST5 มองเห็นและสามารถดึงไฟล์เพลงจาก NAS ของผมมาเล่นได้
เมื่อผมจิ้มเลือกลงไปที่หัวข้อ UPnP บนหน้า Home ของแอพฯ Arcam Radia จะพบชื่อของ NAS ที่ผมตั้งไว้ปรากฏขึ้นมาตามภาพด้านบน ผมต้องจิ้มปลายนิ้วลงไปบนชื่อของ NAS เพื่อเจาะเข้าไปเลือกไฟล์เพลง
ขั้นตอนในการเข้าถึงไฟล์เพลงที่ ST5 เรียงลำดับออกมานั้นเป็นไปตามมาตรฐาน UPnP ซึ่งจะค่อยๆ เจาะเข้าไปทีละขั้น จากข้างต้นคือ “เครื่องมือที่ใช้ค้นหา” (Search menu) ที่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้แอพฯ Arcam Radia จัดเรียงไฟล์เพลงใน NAS นั้นออกมาในลักษณะใด ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบมาก อย่างเช่น ให้แสดงออกมาโดยเรียงลำดับตามชื่ออัลบั้มจาก A > Z หรือจะให้เรียงลำดับไปตามชื่อศิลปินก็ได้ ฯลฯ ส่วนตัวผมชอบให้มันเรียงออกมาตามชื่ออัลบั้ม.. (*ตัวเลขที่อยู่ด้านหน้าคือจำนวนของอัลบั้มทั้งหมดที่อยู่ใน NAS นั้น)
แอพฯ ของ Arcam ตัวนี้มีวิธีแสดงอัลบั้มอยู่แบบเดียว โดยเรียง “ลำดับ” จากบนลงล่าง (column) ส่วนทางด้าน “ข้อมูลอัลบั้ม” จะเรียงจากซ้ายไปขวา โดยเริ่มจากภาพปกแล้วตามด้วยชื่ออัลบั้ม (แอพฯ บางตัวมีวิธีแสดงอัลบั้มแบบ “ตาราง” หรือ grid ให้เลือกด้วย) กรณีที่ใน NAS มีอัลบั้มเพลงอยู่เยอะ ตัวแอพฯ จะเรียงชื่อของอัลบั้มทั้งหมดจากตัวอักษร A ลงไปด้านล่าง คุณสามารถค้นหาอัลบั้มทั้งหมดได้ด้วยการรูดหน้าจอลงไปเรื่อยๆ ผมทดลองจิ้มเลือกลงไปที่อัลบั้มชุด ‘A Time For Love’ (ศรชี้)
เพลงทั้งหมดในอัลบั้มที่เลือกจะแสดงออกมาในหน้าถัดไปโดยเรียงลำดับจากบนลงล่างตามลำดับแทรค 1, 2, 3 … ตามที่กำหนดมาในอัลบั้มนั้นๆ คุณต้องการฟังเพลงไหนก็ใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปที่ชื่อเพลงนั้นได้เลย ในภาพคือผมทดลองเลือกฟังเพลงแรก ‘I Don’t Wanna Talk About It’
ภาพนี้คือหน้าแอพฯ ที่ปรากฏขึ้นมาขณะเล่นไฟล์เพลงที่เราเลือก ซึ่งสิ่งที่โชว์ขึ้นมาก็จะมีภาพปก, ชื่อเพลง, ชื่อศิลปิน, ชื่ออัลบั้ม, ความยาวของเพลงและเวลาที่เพลงกำลังเล่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ, ตรงศรชี้ในภาพข้างบนนี้คือตำแแหน่งที่แอพฯ โชว์ให้เรารู้ว่ากำลังเล่นไฟล์เพลงที่อยู่ในรูปแบบของ “ไฟล์ฟอร์แม็ต” แบบไหน ซึ่งในภาพนี่ก็คือไฟล์ฟอร์แม็ต WAV ตามด้วยแซมปิ้งเรตของสัญญาณที่กำลังเล่น (ในที่นี้คือ 44.1kHz) และบิตข้อมูลของไฟล์ที่กำลังเล่น (ในที่นี้คือ 16bits) ถัดลงไปด้านล่างในกรอบสีแดงก็คือสัญลักษณ์ของคำสั่งจำนวน 5 คำสั่ง ที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลง จากซ้ายไปขวาคือ คำสั่งให้เล่นวน (repeat), คำสั่งให้ถอยหลับไปเล่นเพลงก่อนหน้า (previous track), คำสั่งให้เล่น (play) สลับกับคำสั่งให้หยุดเล่นค้างไว้ตรงตำแหน่งนั้น (pause), คำสั่งให้ข้ามไปเล่นเพลงถัดไป (next track) และขวามือสุดคือคำสั่งให้สลับเล่นแบบสุ่มโดยไม่ต้องเรียงลำดับ (shuffle)
ST5 เล่นไฟล์ DSF (DSD) ได้ด้วย.!!!
เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนที่มีไฟล์เพลงฟอร์แม็ต DSF ที่เก็บสัญญาณเสียง DSD อยู่และต้องการนำมาเล่นผ่านเน็ทเวิร์ค เพราะในท้องตลาดทุกวันนี้จะหาสตรีมเมอร์แบบที่มี DAC ในตัวในระดับราคาไม่ถึง 4 หมื่นบาทที่สามารถรองรับการเล่นไฟล์ DSF ได้มีไม่เยอะ.! และถ้าเล่นออกมาให้ได้เสียงที่ดีด้วยก็ยิ่งหายาก
ผมทดลองเลือกไฟล์ DSF64 ขึ้นมาเล่นผ่าน ST5 ด้วยแอพฯ Arcam ‘ST5’ พบว่า สามารถเล่นได้.! โดยที่หน้าจอของแอพฯ จะขึ้นโชว์ให้ดูด้วยว่าเขาเล่นด้วยวิธีแปลงสัญญาณ DSD 2.8MHz หรือ DSD64 ให้เป็นฟอร์แม็ต PCM ที่ระดับ 352.8kHz / 32 bits (ศรชี้ รูปบน) ก่อนจะส่งเข้าไปที่ชิป DAC ของ ESS Technology เบอร์ ES9018 สอดคล้องกับตัวเลขของรูปแบบสัญญาณอินพุตที่ปรากฏบนหน้าจอของ ST5 ส่วนเสียงที่ผ่านลำโพงออกมาจะให้ระดับความดังเฉลี่ยที่ “เบากว่า” เมื่อเทียบกับตอนเล่นไฟล์ที่เป็นสัญญาณ PCM พอสมควร ซึ่งคุณต้องเร่งวอลลุ่มจากแอมป์ขึ้นมาเสริม
ลองใช้แอพฯ mconnect กับ Arcam ST5
หลังจากทดลองเล่น ST5 กับแอพฯ Arcam Radia แล้ว ผมพบว่า ST5 มันรองรับการใช้งานร่วมกับแอพฯ Arcam Radia ซึ่งเป็นแอพฯ ที่ใช้มาตรฐาน UPnP ได้อย่างลื่นไหลมาก ถ้าเป็นแบบนี้ ST5 ก็น่าจะไปกับแอพฯ เล่นไฟล์เพลงตัวอื่นที่ใช้มาตรฐาน UPnP ได้เหมือนกัน ว่าแล้วผมก็ทดลองเปิดแอพฯ mconnect บน iPhone12 ขึ้นมาลองควบคุม ST5 ทันที..
แอพ mconnect เล่นไฟล์ PCM กับ ST5 ได้ครบตั้งแต่ระดับ CD quality ไปจนถึงระดับไฮเรซฯ ส่วนไฟล์ DSF ก็เล่นได้ตั้งแต่ระดับ DSD64 ไปจนถึงระดับ DSD512 ซึ่งตอนเล่นไฟล์ DSF64 บนหน้าแอพ mconnect (กรอบเขียว ศรชี้) และบนหน้าจอ ST5 จะโชว์ให้เห็นว่าแปลงเป็น PCM ที่ระดับ 352.8kHz ก่อนส่งเข้าชิป DAC ในตัว ST5
แต่พอเล่นไฟล์ DSF128 (5.6MHz) และ DSF256 (11.2MHz) จะถูกแปลงเป็น PCM ที่ระดับ 384kHz ก่อนป้อนเข้าชิป DAC ในตัว ST5
จบจากไฟล์ DSF แล้ว ผมได้ลองเล่นไฟล์เพลง MQA ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD เป็นไฟล์ WAV 16/44.1 พบว่า ST5 สามารถถอดรหัสสัญญาณ MQA ออกมาได้สุดซอยคือไปได้ถึง 352.8kHz ตามสัญญาณต้นฉบับเป๊ะๆ (ภาพบน กรอบสีเขียว ศรชี้) และผมลองสตรีมไฟล์ MQA จาก TIDAL ส่งไปที่ ST5 มันก็ถอดรหัส MQA ได้ตามต้นฉบับเหมือนกัน
ลองเล่น ST5 ในฐานะของ Roon Ready.!
สำหรับคนที่ใช้โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงของ Roon ไม่ว่าจะบน Roon nucleus, Roon Rock บนคอมพิวเตอร์จิ๋วที่เป็น Linux หรือลงโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์พีซี และคอมพิวเตอร์แมคฯ ถ้าคุณเอา ST5 ไปเชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกับเครื่องเล่นไฟล์เพลง Roon ของคุณ โปรแกรม Roon จะมองเห็น ST5 เข้าไปเป็นเอ๊าต์พุตหนึ่งอยู่ในกลุ่มของ ‘Roon Ready’
เมื่อเลือก ST5 เป็นเอ๊าต์พุตของโปรแกรม Roon แล้ว ตอนเล่นไฟล์เพลงบน Roon ที่หน้าจอของ ST5 จะโชว์ขึ้นมาให้รู้ว่ากำลังรับสัญญาณจาก Roon เข้ามาทางอินพุต ‘Roon Ready’
และเช่นเดียวกับแอพ Arcam Radia และ mconnect เมื่อเล่นไฟล์ PCM ตั้งแต่ระดับ CD Quality ไปจนถึงระดับไฮเรซฯ 24/192 โปรแกรม Roon ก็เล่นแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปให้ ST5 ได้ตรงตามความละเอียดของสัญญาณต้นฉบับทุกประการ แต่เมื่อผมทดลองเล่นไฟล์ DSF ทุกระดับตั้งแต่ DSD64 ไปจนถึง DSD256 พบว่า บนหน้าจอของ ST5 โชว์ว่ามันทำการแปลงเป็นสัญญาณ PCM ที่ระดับ 192kHz เหมือนกันหมด แต่น่าแปลกที่ signal path บนแอพ Roon กลับไม่แจ้งว่ามีการแปลงเป็น PCM.!! เหมือนกับว่า ทาง Roon ไม่ได้เป็นคนแปลงให้ แค่ส่งสัญญาณ DSD ไปให้ ST5 โดยที่ทาง ST5 ทำการแปลงเป็น PCM 192kHz เอง ก่อนที่จะส่งไปให้ชิป DAC ในตัวมัน..??
เสียงที่ออกมาถ้าเทียบกับตอนเล่นด้วยแอพ Arcam Radia และแอพ mconnect ผ่านเข้าที่ ST5 ด้วยโปรโตคอล UPnP แล้ว ผลคือเสียงจากการเล่นด้วยแอพ Roon ผ่านเข้าที่ ST5 ด้วยโปรโตคอล Roon Ready ให้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่าพอสมควร ทั้งในแง่ของรายละเอียดที่ชัดเจนกว่า, มวลเสียงที่อิ่มแน่นกว่า และไทมิ่งที่สอดคล้องไปกับจังหวะเพลงมากกว่า
เล่นไฟล์เพลงจากแฟรชไดร้
กรณีที่คุณเก็บไฟล์เพลงไว้ในแฟรชไดร้ คุณสามารถนำไฟล์เพลงเหล่านั้นมาเล่นผ่าน ST5 ได้โดยนำแฟรชไดร้ไปเสียบเข้าที่ช่อง USB-A ซึ่งอยู่ใต้ช่อง Network ซึ่งในการดึงไฟล์ออกมาเล่นและควบคุมการเล่นไฟล์นั้น คุณต้องใช้แอพฯ เล่นไฟล์เพลง Arcam Radia ได้แค่แอพเดียว ผมทดลองใช้แอพฯ อื่นๆ ดูแล้วพบว่า แอพฯ เหล่านั้นจะ “มองไม่เห็น” อินพุต USB ที่เสียบอยู่บนตัว ST5
ผมทดลองบันทึกไฟล์เพลงลงบนแฟรชไดร้ 3 ฟอร์แม็ต คือ FLAC, WAV และ DSF (DSD) เพื่อเช็คดูว่าอินพุต USB ของ ST5 เล่นไฟล์ฟอร์แม็ตใดได้บ้าง.?
ปรากฏว่าช่องอินพุต USB ของ ST5 สามารถรองรับไฟล์เพลง FLAC, WAV และ DSF ได้ทั้งหมด แต่ตอนเล่นไฟล์ WAV และ DSF บนหน้าจอแอพฯ จะไม่มีภาพปกอัลบั้มขึ้นมาให้เห็น จะมีภาพปกปรากฏขึ้นมาให้เห็นเฉพาะตอนเล่นไฟล์ FLAC เท่านั้น
ขณะเล่นไฟล์จากอินพุต USB บนหน้าจอของ ST5 จะปรากฏคำว่า ‘USB’ ขึ้นมาให้รู้ว่าคุณกำลังใช้งานอินพุตช่องนี้อยู่ และคุณสามารถใช้รีโมทไร้สายควบคุมการล่นไฟล์เพลงได้ หรือจะใช้คำสั่งบนหน้าแอพฯ ก็ได้เหมือนกัน
เสียงของ Arcam ST5
ตัวแปรที่ส่งผลกับเสียงของ ST5 มีอยู่ 3 ตัว ตัวแรกก็คือแอพลิเคชั่นที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลง ซึ่งจากที่ทดลองเล่นและฟังเปรียบเทียบกัน ผมพบว่า เล่นด้วยแอพ mconnect ให้เสียงที่มีลักษณะอิ่มหนากว่าเล่นด้วยแอพ Arcam Radia อยู่นิดหน่อย ส่วนตัวถ้าต้องใช้แอพสองตัวนี้ผมจะเลือกใช้ mconnect เพราะนอกจากเสียงดีกว่านิดๆ แล้ว แอพ mconnect ยังใช้ง่าย และอินเตอร์เฟซสวยกว่าด้วย แต่ถ้าเน้นคุณภาพเสียงจาก ST5 ที่ดีที่สุด แนะนำให้หาระบบเล่นไฟล์เพลงของ Roon มาใช้เป็นทรานสปอร์ตและให้ ST5 ทำหน้าที่เป็น endpoint ‘Roon Ready’ จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ได้เสียงที่ดีที่สุดจาก ST5
ตัวแปรที่สองที่ส่งผลกับเสียงของ ST5 คือ “digital filter” อยู่ในเมนูของ ST5 (เข้าไปปรับเลือกโดยใช้รีโมท) ซึ่งมีให้เลือก 3 ตัว คือ Fast, Slow และ Min ซึ่งคุณต้องเข้าไปปรับเลือกถ้าจะใช้สัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ ST5 ไปเข้าที่แอมป์ จากการทดลองสลับฟังผมชอบเสียงของฟิลเตอร์ตัว ‘Fast’ มากที่สุด มันให้ค่าเฉลี่ยของเสียงในแต่ละด้านออกมาน่าพอใจมากที่สุดสำหรับผมซึ่งให้ความสำคัญกับโฟกัสและไทมิ่งของเสียงเป็นพิเศษ
ส่วนตัวแปรที่สามที่ส่งผลต่อเสียงที่ได้จาก ST5 ก็คือลักษณะการใช้งาน ST5 ในแง่ของ Network Bridge คือไม่ใช้สัญญาณเอ๊าต์พุตจากช่องอะนาลอก เอ๊าต์ของ ST5 แต่หันไปใช้ช่องดิจิตัล เอ๊าต์ของ ST5 แทน ซึ่งมีให้เลือก 2 ช่อง คือ coaxial กับ optical ใครที่ใช้ external DAC ที่มีคุณภาพสูงกว่าภาค DAC ในตัว ST5 ถ้า DAC ตัวนั้นมีช่อง coaxial input ก็สามารถดึงสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์จาก ST5 ไปใช้กับ ext.DAC ของคุณได้ อาศัยให้ ST5 ทำหน้าที่เป็นเน็ทเวิร์ค ทรานสปอร์ตคอยสตรีมไฟล์เพลงมาเล่นให้ ซึ่งกรณีนี้ คุณภาพเสียงที่ได้ออกมาก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของภาค DAC + สายดิจิตัลที่ใช้เชื่อมต่อเป็นหลัก
น้ำเสียงของภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ ST5 มีลักษณะที่จูนมาในสไตล์เครื่องเสียงฝั่งอังกฤษ คือเน้นความเป็นตัวเป็นตนของเสียง ให้ความสำคัญกับมวลเนื้อเสียงและไทมิ่งที่น่าฟัง แหลมไม่ฉูดฉาด แต่ก็ไม่ได้ขาดแคลน ถ้าจะให้ตัดสินว่าโทนเสียงของ ST5 เด่นไปทางไหนมากเป็นพิเศษ ก็ต้องยกให้ “เสียงกลาง” ที่เป็นจุดขายของสตรีมเมอร์ตัวนี้ เสียงกลางของ ST5 มีลักษณะที่เปิดเผย จะแจ้งแต่ไม่จัดจ้าน ไม่ได้พยายามทำให้รู้สึกนุ่มด้วยการจูนมาให้นัวๆ เมื่อลองฟังเพลงที่บันทึกเสียงร้องมาแบบโดดๆ ลอยๆ เด้งๆ ออกมาข้างหน้าแบบเด่นๆ เสียงที่ปรากฏผ่านลำโพงออกมาก็จะมีลักษณะเป็นไปตามนั้น ด้วยเหตุที่ ST5 ไม่ได้พยายามขับดันเสียงแหลมให้เด่นล้ำขึ้นมา จึงทำให้โทนเสียงในย่านกลางลงไปถึงทุ้มจะดูเด่นกว่าแหลมอยู่นิดหน่อย ซึ่งเป็นแนวเสียงที่ถูกจริตนักเล่นมากประสบการณ์เป็นพิเศษ กับคนที่ชื่นชอบกับการฟังเสียงร้องของนักร้องที่เข้าถึงอารมณ์เพลงแบบซึมลึก รับรองว่าจะไม่ผิดหวังกับสตรีมเมอร์ตัวนี้แน่
อ้อ.. ลืมบอกไปว่า สำหรับคนที่ชอบความง่ายในการสตรีมเพลงด้วยแอพฯ บนมือถือ ไม่ว่าจะเป็น Spotify, TIDAL หรือแม้แต่ YouTube คุณก็สามารถสตรีมไปที่ ST5 ผ่านทาง Bluetooth หรือ AirPlay ก็ได้ เสียงที่ออกมาก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว.!
สรุป
จากหน้าตาที่ดูเรียบง่ายมากๆ แต่พอได้ลองเล่นลองฟังเสียงของมันแล้ว ต้องยอมรับเลยว่า Arcam ไม่ได้ทำให้เสียชื่อ พวกเขาปรับจูนเสียงของ ST5 ออกมาได้ไม่หลุดออกไปนอกแนวทางเดิมของพวกเขา แม้ว่าราคาค่าตัวของ ST5 จะไม่ได้สูงโด่ง แต่อย่าได้ปรามาสมันเป็นอันขาด ถ้าชุดเครื่องเสียงของคุณอยู่ในระดับปานกลาง ราคาแอมป์ + ลำโพงไม่เกิน 1 แสนบาท Arcam Radia ตัวนี้คือสตรีมเมอร์ที่เหมาะสมกับชุดของคุณอย่างยิ่ง แนะนำให้ไปทดลองฟังเสียงของมันดูก่อน แล้วคุณจะประหลาดใจกับคุณภาพเสียงที่ได้ออกมาเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของมัน..!!!
********************
ราคา : 32,000 บาท / ตัว (พร้อมรีโมทไร้สาย)
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: @DECO2000Thailand