R-1 เป็น R-2R Resistor Ladders DAC รุ่นเล็กสุดของ Audio-gd ซึ่งหลังจากผมปล่อยรีวิวของ Audio-gd รุ่น R-1 ออกไปเมื่อกลางเดือนกันยายนปีที่แล้ว (REVIEW) เป็นต้นมา ผมก็ได้รับคำถามเกี่ยวกับ R-2R Resistor Ladder DAC เข้ามาเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่น่าสงสัย เป็นไปตามที่คาด เพราะผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ถือว่าเป็นผลิตผลใหม่ของวงการเครื่องเสียง จึงไม่แปลกที่นักเล่นฯ จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ R-8 เป็น DAC ที่ออกแบบด้วยเทคนิคใหม่ ใช้ดีไซน์วงจรแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอกแบบ “แยกชิ้น” โดยเอาตัวต้านทาน (Resistor) มาต่อพ่วงกันทำหน้าที่ในการแปลงค่าทางไฟฟ้าของสัญญาณดิจิตัลให้ออกมาเป็นค่าทางไฟฟ้าของสัญญาณอะนาลอก ไม่ได้ใช้ชิปสำเร็จรูปของแบรนด์ใดๆ ที่มีอยู่ในตลาด
การแปลงสัญญาณดิจิตัล–เป็นอะนาลอกโดยใช้ resistor มาต่อพ่วงกันเป็นขั้นบันไดมีทั้งผลดีและผลด้อยเมื่อเทียบกับใช้ชิปสำเร็จ ผลดีคือทำให้ได้สัญญาณที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่า เพราะตัดขั้นตอนการแปลงสลับไปสลับมาบนชิปสำเร็จในขั้นตอน delta-sigma ลงไป ส่วนข้อด้อยคือมีโอกาสที่จะเกิดความไม่แม่นยำในการแปลงสัญญาณได้ง่ายถ้า resistor ที่เอามาใช้ในการออกแบบซึ่งเป็นจำนวนเยอะถูกคัดสรรมาไม่ดีพอ
รูปร่างหน้าตาของ R-8
จริงๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Audio-gd ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับผู้ผลิต R-2R Resistor Ladders DAC ทั้งหมดที่มีอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ ราคาของแบรนด์ Audio-gd จึงอยู่ในระดับต่ำกว่าแบรนด์อื่นเมื่อพิจารณาที่สเปคฯ ใกล้เคียงกัน ส่วนที่ทำให้ Audio-gd สามารถทำราคาอยู่ในระดับนี้ได้ก็คือไม่ได้ทุ่มต้นทุนลงไปมากกับรูปร่างหน้าตา ซึ่ง Audio-gd ไม่เน้นรูปลักษณ์สวยงาม ตัวถังภายนอกดูธรรมดาๆ มากเหมือนงาน DIY ไม่ได้ดูโอ่อ่าอลังการ เมลืองมลังเหมือนสินค้าระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ทั่วไป
ตัวถังของ R-8 ทำด้วยอะลูมิเนียมชุบสีดำ มีจุดที่น่าสังเกตสำหรับ R-8 อยู่จุดหนึ่ง คือมันมีขนาดตัวถังที่ค่อนข้างใหญ่ สวนทางกับอุปกรณ์ประเภท DAC ตัวอื่นๆ ที่แข่งกันเล็กลงเรื่อยๆ แม้ว่าความสูงของ R-8 จะอยู่แค่ 8 ซ.ม. (3.2 ซ.ม.) แต่ด้านกว้างนั้นมากถึง 43 ซ.ม. (17.2 นิ้ว) และลึกมากถึง 44.5 ซ.ม. (17.8 นิ้ว) นั่นเป็นเพราะอิทธิพลของภาค DAC แบบแยกชิ้นนั่นเอง (น้ำหนักของ R-8 อยู่ที่ 12 กิโลกรัมพร้อมกล่อง)
ขยับเข้าไปดูรูปร่างหน้าตาใกล้ๆ กัน เริ่มที่หน้าปัดของ R-8 ซึ่งดูเรียบง่ายมาก มีแค่ปุ่มกดสีเงินขนาดปานกลางอยู่หนึ่งปุ่มทางซ้ายมือสุดนั้น (A) เป็นปุ่มกดเพื่อเปิด/ปิดการทำงานของตัวเครื่อง เมื่อกดปุ่มให้จมลงไป ตัวเครื่องจะเข้าสู่ภาวะเปิดใช้งาน ตัวเลขบนจอแสดงผล (B) จะสว่างขึ้นเป็นสีฟ้า ซึ่งตัวเลข 5 หลักนี้จะแสดงสถานะการปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ ของตัวเครื่อง แยกออกเป็น 5 หัวข้อ ปรับตั้งค่าผ่านการกดปุ่มสีเงิน 3 ปุ่ม (C) ที่อยู่ด้านล่างของจอแสดงผล คือปุ่ม “Setting” กับปุ่ม “Selector” อีก 2 ปุ่ม
ที่แผงหลังของ R-8 เป็นที่ติดตั้งขั้วต่อสำหรับอินพุตและเอ๊าต์พุตทั้งหมด รวมถึงขั้วต่อปลั๊กไฟเอซีที่ให้มาเป็นมาตรฐาน IEC สามขาแยกกราวนด์ สามารถถอดสายไฟเปลี่ยนได้ ขั้วต่อสำหรับสัญญาณอินพุตและเอ๊าต์พุตถูกแยกออกเป็นสัดส่วน โดยที่ขั้วต่อสำหรับสัญญาณอินพุตทั้งหมดจำนวน 5 ช่องคือ AES/EBU, Coaxial, Optical, HDMI และ USB ถูกจัดเรียงกันไว้บนพื้นที่ตรงกลางของแผงหลัง ในขณะที่ขั้วต่อสำหรับสัญญาณเอ๊าต์พุตที่ให้มา 3 รูปแบบคือ บาลานซ์ XLR, ซิงเกิ้ลเอ็นด์ RCA และขั้วต่อบาลานซ์ ACSS สำหรับใช้กับหูฟัง ถูกแยกออกไปติดตั้งชิดไปทางริมซ้ายและขวาของแผงหลัง โดยเอาแชนเนลซ้าย (L) ไปไว้ทางขวา (หันหน้าเข้าหาแผงหลัง) และแชนเนลขวา (R) ไปไว้ทางซ้าย ทำให้การเสียบสายสัญญาณทำได้สะดวกมาก นอกจากนั้น ที่ข้างๆ ขั้วต่ออินพุต AES/EBU ยังมีขั้วต่อที่เป็น port 10 pin ที่มีมาให้สำหรับการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของ FPGA และอินพุต USB อยู่ด้วย
ช่องดิจิตัล อินพุตแต่ละช่องที่ให้มามีความสามารถรองรับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน ช่อง USB กับ HDMI รองรับสัญญาณ PCM ได้ตั้งแต่ 44.1kHz ไปจนถึง 384kHz และรองรับสัญญาณ DSD ได้ตั้งแต่ DSD64 ไปจนถึง DSD512 ในขณะที่ช่อง Coaxial รองรับสัญญาณ PCM ได้ตั้งแต่ 44.1kHz ไปจนถึง 192kHz และช่อง Optical รองรับสัญญาณ PCM ตั้งแต่ 44.1kHz ไปจนถึง 96kHz
ดีไซน์ภายใน
หัวใจของ R-8 คือโมดูล DA-7 V2 ซึ่งเป็นโมดูล R-2R สำหรับภาค DAC ที่พัฒนาขึ้นมาล่าสุดเมื่อปี 2019 (ใช้ใน R-8 เวอร์ชั่น 2021) ผู้ผลิตใช้โมดูล DA-7 V2 ถึง 4 บอร์ดในการออกแบบ R-8 โดยจัดวงจรการทำงานไว้ในโหมด fully balanced ใช้วงจร DSP ที่เขียนบน FPGA ในการควบคุมฟังท์ชั่นต่างๆ ทางด้านอินพุตก่อนส่งให้ภาค DAC และภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตก็ออกแบบให้ทำงานในโหมดบาลานซ์เต็มสูบ (fully balance)
ทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคภายในเลือกใช้ของดีพอสมควร สายสัญญาณที่ใช้เชื่อมต่อวงจรภายในเป็นสายที่ใช้ตัวนำ OCC
ทดสอบ R-8
ถ้าต้องการเล่นไฟล์เพลงที่มีแซมปลิ้งฯ สูงเกิน 192kHz แนะนำให้ใช้อินพุต USB (5) ซึ่งช่องอินพุต USB ของ R-8 ตัวนี้รองรับทั้งคอมพิวเตอร์และสตรีมเมอร์ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการณ์ Windows, OSX และ Linux ครบหมด (ถ้าใช้กับระบบปฏิบัติการณ์ Windows ต้องลงไดเวอร์) ผมเลือกลองฟังอินพุต USB ก่อนโดยใช้ roon รุ่น nucleus+ เป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลง ใส่ไฟล์เพลงไว้ใน SSD ฮาร์ดดิส Samsung รุ่น T5 แล้วเสียบเข้าที่ช่อง USB ของ nucleus+ และควบคุมการเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพฯ roon remote บน iPad mini 2 แล้วต่อเชื่อมสาย USB ของ Nordost รุ่น Valhalla 2 จาก nucleus+ ไปที่อินพุต USB ของ R-8
ตอนท้ายผมใช้เครื่องเล่นแผ่นซีดีทรานสปอร์ตของ Cambridge Audio รุ่น CXC v2 เล่นแผ่นซีดีส่งสัญญาณดิจิตัลผ่านสายโคแอ็กฯ ของ Kimber Kable รุ่น Illuminati DV-70 เข้าช่องอินพุต coaxial (2) ของ R-8 ด้วย
ส่วนแอมป์ผมใช้อินติเกรตแอมป์ 2 ตัว เป็นหลอดตัวหนึ่งยี่ห้อ Line Magnetic รุ่น LM-805iA (48W@4/8/16โอห์ม) ขับลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One สลับกับโซลิดสเตทของเดนมาร์กยี่ห้อ Gryphon Audio รุ่น Diablo 120 (120W@8โอห์ม) ขับลำโพงสองคู่สลับกัน นั่นคือ Wharfedale รุ่น Elysian 2 กับ Audiovector รุ่น R 3 Arrete ส่วนสายเชื่อมต่อไฟเอซี, สัญญาณ และลำโพง ผมใช้ของ Purist Audio Design รุ่น Musaeus ผสมกับสายสัญญาณบาลานซ์ของ Life Audio รุ่น Gold MK II
ผมใช้โปรแกรม roon ผ่าน nucleus+ เป็น source transport ในการเล่นไฟล์เพลงทั้งจาก external SSD และสตรีมจาก TIDAL แล้วส่งสัญญาณ PCM และ DSD มาที่ R-8 จากการลองเล่นไฟล์รูปแบบต่างๆ ผมพบว่า R-8 ไม่ได้รองรับไฟล์ MQA แบบตรงไปตรงมา คือเมื่อเล่นไฟล์ MQA ทั้งจากฮาร์ดดิสและสตรีมจากไทดัล roon จะถอดรหัส MQA ออกมาเป็นสัญญาณ PCM เท่าต้นฉบับส่งไปให้ R-8 แต่ไม่ได้ถอดโค๊ด MQA แบบ Full Decoder ไปให้ ส่วนการเล่นไฟล์ฟอร์แม็ตต่างๆ ทั้ง FLAC, WAV, ALAC และ AIFF นั้น R-8 รองรับได้ถึง 384kHz ส่วนไฟล์ฟอร์แม็ต DSF และ DIFF ก็รองรับได้ถึง DSD256
การปรับตั้งการทำงานของ R-8 กับผลทางเสียง
R-8 เป็น DAC ที่ต้องทำการปรับตั้งโหมดการทำงานของมันไว้ก่อน ซึ่งทางผู้ผลิตเปิดอ๊อปชั่นในการปรับตั้งค่าต่างๆ ของ R-8 ไว้หลายอ๊อปชั่น อย่างเช่น ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้มีการทำ oversampling สัญญาณอินพุตก่อนส่งเข้าภาค DAC หรือไม่ คือเลือกได้ระหว่างโหมด OS (Oversampling) และโหมด NOS (Non-Oversampling) คือส่งสัญญาณเข้าไปที่ภาค DAC ตามต้นฉบับโดยไม่ทำโอเว่อร์แซมปลิ้ง นอกจากนั้น เมื่อเลือกเป็นโหมด OS แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเลือกได้อีกว่า จะให้ทำโอเว่อร์แซมปลิ้งกี่เท่า โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 2, 4 และ 8 เท่า คือถ้าเล่นไฟล์ที่เป็นแซมปลิ้งฯ 44.1kHz ถ้าเลือกให้ R-8 ทำงานในโหมด OS คุณสามารถเลือกให้ทำโอเว่อร์แซมปลิ้งไปที่ 88.2kHz (2 เท่า), 176.4kHz (4 เท่า) หรือ 352.8kHz (8 เท่า) ก็ได้ ซึ่งแต่ละตัวเลือกจะให้เสียงออกมาต่างกัน นอกจากนั้น R-8 ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกว่าจะให้สัญญาณอินพุตดิจิตัลไปผ่านวงจร digital filter ก่อนส่งเข้าภาค DAC รึเปล่า.? หรือว่าตรงเข้าภาค DAC เลย
การปรับตั้งค่าทั้งหมดกระทำผ่านปุ่ม Setting กับปุ่ม Selector ทั้งสองปุ่มที่อยู่บนหน้าปัดนั่นเอง แต่ก่อนจะเริ่มกดใช้งานปุ่ม “Setting” ทางผู้ผลิตแนะนำให้ลดวอลลุ่มและกดหยุดเล่นเพลงก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันเสียงรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกดใช้ฟังท์ชั่น Setting เนื่องจากผู้ผลิต R-8 ตัวนี้เลือกใช้วิธีตัดวงจร mute เสียงที่เอ๊าต์พุตออกไปเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด มีความบริสุทธิ์สูงสุดนั่นเอง และหลังจากทำการปรับตั้งค่าแล้ว ตัวเลขในตำแหน่งที่ถูกปรับตั้งจะกระพริบ ให้รอจนกว่าจะหยุดกระพริบจึงเริ่มเล่นเพลงและเร่งวอลลุ่มขึ้นมา
เมื่อกดปุ่ม Setting ลงไปหนึ่งครั้ง ตัวเลขหลักลำดับที่หนึ่ง (จากซ้ายมือ) จะเริ่มกระพริบแสดงสถานะพร้อมให้ทำการปรับตั้ง คุณสามารถเลือกอ๊อปชั่นการปรับตั้งฟังท์ชั่นนี้ได้ด้วยการกดปุ่ม Selector ซ้าย/ขวา เมื่อปรับตั้งเสร็จแล้ว ให้กด Setting ซ้ำ ตัวเลขหลักแรกจะหยุดกระพริบ และตัวเลขหลักที่สองจะกระพริบขึ้นมาแทน เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการปรับตั้งที่ฟังท์ชั่นที่สองนี้ให้กดปุ่ม Selector ซ้าย/ขวา หลังจากปรับตั้งเสร็จเมื่อกดปุ่ม Setting ลงไปอีกทีตัวเลขหลักต่อไปก็จะกระพริบ.. เป็นอย่างนี้ไปจนถึงหลักที่ 5 ซึ่งความหมายของตัวเลขแต่ละหลักก็คือ
หลักที่ 1: (ซ้ายมือสุด) = เฟิร์มแวร์ที่ออกมาก่อนวันที่ 20 มีนาคม 2019 ใช้ปรับตั้ง Sync สำหรับอินพุต HDMI ซึ่งค่าจากโรงงานจะตั้งไว้ที่ “0” คือปิด ถ้าคุณใช้อินพุต HDMI แล้วพบว่ามีเสียงผิดปกติ ให้ทดลองปรับตั้งที่หัวข้อนี้ไว้ที่ “1” ส่วนเฟิร์มแวร์ใหม่ในเครื่องที่ออกมาหลังจากนั้นเป็นการเลือกว่าจะให้ใส่สัญญาณ dither ให้เลือกที่ “1” (active) หรือไม่ใส่ dither ก็เลือกไปที่ “0” (disable)
หลักที่ 2: (จากซ้าย) อันนี้เป็นหนึ่งในไฮไล้ท์ของ DAC ตัวนี้ คือมันเป็นการจำลองเสียงของวงจรดิจิตัลฟิลเตอร์แบบ Linear-Phase FIR (Finite Impulse Response) บนชิปเบอร์ SAA7220 ที่ทำงานร่วมกับภาค DAC 16bit บนชิป DAC ของฟิลลิปส์รุ่น TDA1541A ที่ออกแบบมาเมื่อปี 1991 โดยบรรจุอยู่ในเครื่องเล่นซีดีของ Marantz รุ่น CD-94 ซึ่งเป็นเครื่องเล่นซีดีที่โด่งดังมากในอดีต เหล่านักเล่นฯ หูทองในต่างประเทศต่างก็ให้ความชื่นชมเครื่องเล่นซีดีตัวนี้กันอย่างล้นหลาม
ชิปดิจิตัล ฟิลเตอร์เบอร์ SAA7220
ชิป DAC เบอร์ TDA1541A
ถ้าคุณเล่นไฟล์ที่แพ็คสัญญาณ PCM 16/44.1 กับ R-8 และอยากได้ยินเสียงออกมาเหมือนเล่นผ่านเครื่องเล่นซีดี Marantz CD-94 ให้ปรับตั้งตัวเลขหลักที่สองของ R-8 ไปที่ “1” และเลือกตั้งตัวเลขหลักที่สี่ไว้ที่ “4” ผมลองดูแล้ว เสียงดีเลย ออกมาสไตล์หนาๆ ข้นๆ บอดี้ใหญ่ แม้ว่าปลายเสียงแหลมจะกุดนิดๆ แต่ก็ไม่ถึงกับผิดปกติ ขึ้นอยู่กับซิสเต็มและลำโพงของคุณด้วย เมื่อลองเปลี่ยนโอเว่อร์แซมปลิ้งฯ ไปที่ 8x (352.8kHz) พบว่า ได้ความลื่นไหลของเสียงเพิ่มขึ้น เนื้อเสียงเนียนขึ้น แต่ความเข้มและความเป็นสามมิติของบอดี้ลดลงนิดนึง ปลายเสียงทอดได้ยาวขึ้น ช่องไฟสู้ 4x (176.4kHz) ไม่ได้ ถ้ามองในแง่ transparency ตั้งโอเว่อร์แซมปลิ้ง (ตัวเลขหลักที่ 4) ไว้ที่ 4x จะได้ช่องไฟที่โปร่งใสกว่า
หลักที่ 3: ใช้เลือกโหมดการทำงานระหว่าง ‘O’ = Oversampling กับ ‘N’ = Non-Oversampling ถ้าเลือกเป็น ‘N’ สัญญาณอินพุตจะถูกป้อนเข้าสู่ภาค DAC ตามรูปแบบที่เข้ามาทางอินพุตโดยไม่ผ่านกระบวนการโอเว่อร์แซมปลิ้ง เมื่อปรับตั้งตัวเลขหลักนี้ไว้ที่ ‘O’ มันจะเชื่อมโยงกับการปรับตั้งตัวเลขหลักที่ 4 ด้วย
หลักที่ 4 : ตัวเลขหลักนี้จะสัมพันธ์กับตัวเลขหลักที่ 3 คือถ้าคุณป้อนสัญญาณ PCM 16/44.1 เข้าไปที่ R-8 แล้วปรับตั้งตัวเลขหลักที่สามไว้เป็น ‘O’ เพื่อตั้งให้ R-8 ทำงานในโหมดโอเว่อร์แซมปลิ้ง คุณสามารถเลือกระดับการทำโอเว่อร์แซมปลิ้งได้ด้วยการปรับตั้งตัวเลขหลักที่สี่นี้ ซึ่งเลือกได้ 4 อ๊อปชั่น คือ ‘0’ = ให้ผลเหมือนกับโหมด NOS (Non-Oversampling), ‘2’ = โอเว่อร์แซมปลิ้ง 2 เท่า (2×44.1 = 88.2kHz), ‘4’ = โอเว่อร์แซมปลิ้ง 4 เท่า (4×44.1 =176.4kHz), ‘8’ = โอเว่อร์แซมปลิ้ง 8 เท่า (8×44.1 = 352.8kHz)
กรณีที่คุณเลือกตัวเลขหลัก 3 ไว้ที่ตำแหน่ง ‘N’ คือให้ R-8 ทำงานในโหมด Non-Oversampling (NOS) คุณสามารถเลือกรูปแบบการทำงานของ R-8 สำหรับโหมด NOS ได้ 3 รูปแบบ คือ ‘1’ = Simplest Data Process คือใช้วิธีแปลงสัญญาณแบบเรียบง่าย, ‘2’ = Data FIFO คือประมวลผลแบบเรียลไทม์ และ ‘3’ = Fastest Data Process เป็นการประมวลผลด้วยประสิทธิภาพของ DSP ระดับสูงสุด ซึ่งผมทดลองแล้ว ผมชอบโหมด N/3 คือให้ R-8 ทำงานในโหมด Non-Oversampling รูปแบบที่สาม เสียงที่ออกมามีบอดี้ที่มีมวลเข้มข้น ไดนามิกปานกลาง เบสและแหลมปานกลาง โฟกัสดีมาก ไทมิ่งดี ซึ่งลักษณะของซิสเต็มอาจจะมีผลด้วย คุณควรทดลองฟังแล้วเลือกรูปแบบที่คุณพอใจมากที่สุด
หลักที่ 5 : แสดงอินพุตที่เลือกใช้ โดยกดเลือกจากปุ่ม Selector ทั้งสองปุ่มโดยตรง ไม่ต้องกดปุ่ม Setting ซึ่ง R-8 มีอินพุตให้เลือกทั้งหมด 5 อินพุต คือ AES/EBU, Coaxial, Optical, HDMI และ USB เรียงตามลำดับ
หลักที่ 6 : ใช้ควบคุมการแสดงผลของจอ ซึ่งเลือกได้ 2 อ๊อปชั่น คือ ‘1’ = เปิดใช้ฟังท์ชั่น auto dark คือหลังจากไม่มีการกดปุ่มใดๆ หน้าจอจะปิดมืดลงเหลือแต่ขีดสั้นๆ สีน้ำเงินแค่ขีดเดียว และ ‘0’ = ปิดฟังท์ชั่น auto dark ซึ่งจอจะสว่างตลอด (ตอนปรับตั้งเสร็จแล้ว เลขหลักที่ 6 จะไม่แสดงโชว์บนจอ)
เสียงของ R-8
อย่างที่เกริ่นมาตั้งแต่ตอนต้น คือเสียงของ R-8 จะขึ้นอยู่กับลักษณะการปรับตั้งค่าในเมนู Setting ด้วย ซึ่งจากที่ผมทดลองปรับและลองฟังมา ผมพบว่า การปรับตั้งแต่ละรูปแบบจะให้เสียงที่มีบุคลิกชัดเจนและค่อนข้างจะมีความ “นิ่ง” พอสมควร คือสามารถแปรเปลี่ยนไปได้บ้างตามสภาพของซิสเต็ม, การเซ็ตอัพ และสัดส่วนกับสภาพห้อง แต่อย่างไรก็ตาม บุคลิกหลักๆ ก็ยังคงปรากฏอยู่ อย่างเช่น การปรับตั้งโดยเลือกอ๊อปชั่นที่ให้เสียงของ R-8 ออกมาเหมือนเสียงของเครื่องเล่นซีดี Marantz CD-94 ที่ออกแบบมาใช้กับสัญญาณ PCM 16/44.1 จากแผ่นซีดี (01045) โหมดนั้นจะให้แบนด์วิธของเสียงที่ไม่เปิดกว้างมากเหมือนโหมดที่ใช้ oversampling ที่ 8 เท่า จึงเหมาะกับลำโพงที่ตอบสนองความถี่ย่านต่ำลงไปได้ไม่ลึกมาก หรือในห้องที่มีขนาดค่อนข้างเล็กโหมดนี้จะฟังดี เมื่อผมทดลองปรับตั้งโหมดนี้ในห้องขนาดใหญ่ เสียงทุ้มจะมีลักษณะหลวมๆ นิดนึง ปลายเสียงเบสจะลอยๆ หน่อย แต่โดยรวมก็ยังคงให้เสียงที่เข้มข้นโดยเฉพาะในย่านกลาง คอนทราสต์ดี ในขณะที่แหลมเป็นตัวและเก็บรวบหางเสียงได้เร็ว (ข้อดีคือแหลมไม่ฟุ้งมาก เซ็ตอัพง่าย)
เมื่อเทียบกัน การปรับตั้งไว้ที่รูปแบบโอเว่อร์แซมปลิ้ง 8 เท่า และไม่ผ่านฟิลเตอร์ใดๆ (00085) จะรู้สึกได้ว่าเสียงโดยรวมมีลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้น คอนทราสต์กว้างขึ้น เวทีเปิดโล่งมากขึ้น แต่บอดี้เสียงจะบางลง ได้อย่าง–เสียอย่าง แต่ไม่ได้ถึงกับแย่ น่าฟังไปคนละแบบ
บุคลิกที่แท้จริงของ R-8
แม้ว่าบุคลิกเสียงของ R-8 จะเหวี่ยงไปตามลักษณะการปรับตั้งค่าในเมนู Setting แต่โดยพื้นฐานแล้ว เสียงของ R-8 ก็ยังคงแสดงลักษณะเฉพาะออกมาให้รับรู้ได้ ซึ่งจุดเด่นมากๆ ของ R-8 มีอยู่ 3-4 ประเด็นที่เห็นชัดๆ นั่นคือ “ความเข้มข้นของเนื้อเสียง“, “ความต่อเนื่อง“, “ความแม่นยำของท่วงจังหวะ” และ “ความนิ่ง” ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ
อัลบั้ม : Gentle Jug – The Gene Ammons Story (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Gene Ammons
ค่าย : Analogue Productions
เมื่อเทียบกับ DAC ที่ใช้ชิปสำเร็จในราคาใกล้เคียงกัน R-8 จะเด่นมากในแง่ของการถ่ายทอดมวลเนื้อเสียงที่มีความเข้มข้น ไปจนถึงรูปทรงของตัวเสียง (อิมเมจ) ที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติ ซึ่ง R-8 ทำให้ผมรู้สึกทึ่งกับเสียงแซ็กโซโฟนของ Gene Ammons ในอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งที่ผ่านๆ มาผมเคยรู้สึกว่าเสียงแซ็กฯ ในอัลบั้มนี้มีลักษณะที่บาง พาลคิดไปว่าน่าจะเป็นเพราะการทำมาสเตอร์ของค่าย Analog Productions แต่เมื่อได้ฟังผ่าน R-8 ตัวนี้ทำให้ผมต้องคิดใหม่ เพราะมันทำให้ผมได้ยินเสียงของมวลลมที่ผ่านปล่อง (bell) ซึ่งเป็นเสียงที่อมทุ้ม ช่วยเสริมให้เสียงโน๊ตของแซ็กฯ ในอัลบั้มนี้มีมวลที่นุ่มและหนา ทำให้ทรวดทรงของเสียงแซ็กฯ มีลักษณะกลมกลึงเป็นสามมิติมากขึ้น
อัลบั้ม : The Greatest Female Alto Vol-1 (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Shen Dan
ค่าย : Tuya Records
ปกติแล้ว เสียงของอัลบั้มนี้จะมีลักษณะเน้นๆ แข็งๆ ปนอยู่กับความชัดในระดับที่ทำให้รู้สึกอึดอัดตอนฟังดังๆ แย่กว่านั้น กับ DAC บางตัวจะได้ยินปลายเสียงแหลมที่มีลักษณะจัดจ้านเล็กๆ ปนออกมาซะด้วยซ้ำ แต่กับ R-8 ตัวนี้ อาการเน้นๆ แข็งๆ ที่ว่าน้อยลงไปมากจนแทบจะไม่เหลือ เสียงโดยรวมที่ได้ยินผ่าน R-8 ยังคงเป็นลักษณะเสียงที่มีความชัดเจน จะแจ้ง แต่คราวนี้มันเป็นความจะแจ้งที่ผสมมากับความกลมกล่อม สากเสี้ยนที่เคยรู้สึกรกหูลดน้อยลงไปเกือบหมด ทำให้ผมเปิดฟังได้ดังมากขึ้นโดยไม่รู้สึกอึดอัด สัมผัสกับพลังของเสียงได้เต็มที่มากขึ้น
แทรคที่ทำให้ผมนั่งอึ้งฟังนิ่งจนจบคือเพลง “Alilang” แทรคที่สอง ซึ่งเป็นแทรคที่โชว์ฝีมือการบันทึกและมิกซ์เสียงขั้นเทพ เมื่อฟังผ่าน R-8 มันทั้งแยกแยะและจัดวางชิ้นดนตรีในเพลงนี้ออกมาได้อย่างแม่นยำ ที่น่าทึ่งมากคือสามารถแยกตำแหน่งของเสียงทุ้มออกมาได้อย่างเด็ดขาด และสามารถแยกแยะรายละเอียดเสียงร้องและเสียงดนตรีประกอบออกมาเป็นเลเยอร์ที่เรียงซ้อนกันลงไปในแนวลึกของเวทีเสียงเหมือนขนมชั้น รู้สึกได้ชัดมากถึงระยะห่างของแต่ละชั้นจากหน้าลงไปถึงหลัง แม้ว่าจะมีการซ้อนทับกันบ้างในแนวลึก แต่ด้วยการแยกเลเยอร์ที่ชัดเจนทำให้ไม่มีการผสมปนเปกัน บอดี้ใครบอดี้มัน หางเสียงใครหางเสียงมัน แม้ว่าตำแหน่งเสียงในแนวลึกจะซ้อนทับกันบางส่วน แต่ก็ไม่ปนกัน ยังสามารถแยกแยะรายละเอียดของเสียงแต่ละชั้นออกมาได้เด็ดขาดจากกันได้ครบทุกองค์ประกอบ ยอดเยี่ยมมาก.! ต้องชื่นชมทั้งซาวนด์เอนจิเนียร์ที่บันทึกและมิกซ์เพลงนี้ และ R-8 ที่แจกแจงความยอดเยี่ยมนี้ออกมาให้สัมผัสได้อย่างครบถ้วน ชัดแจ้งทุกมุมโดยไม่มีความคลุมเครือ
อัลบั้ม : Ray Charles & Betty Carter (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Ray Charles & Betty Carter
สังกัด : ABC Paramount / DCC Classic Records
หลังจากฟังอัลบั้ม The Greatest Female Alto Vol-1 จบลง ผมรู้สึกว่า Shen Dan เธอเป็นนักร้องที่ขับร้องเพลงได้น่าฟัง เธอสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงออกมากับเสียงร้องได้ดี อาจจะยังไม่ถึงขั้นนักร้องฝรั่งที่มีดีกรีระดับโลก แต่ก็ถือว่าเธอสื่อสารอารมณ์ผ่านเสียงร้องออกมาได้ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เข้าใจภาษาที่เธอร้อง แต่ก็ทำให้คาดเดาได้ว่าเพลงนั้นกำลังนำเสนอเรื่องราวประมาณไหน เศร้า, สนุก หรือแค่เล่าเรื่อง (บัลลาด)
และเมื่อลองเลือกเพลงฟังมาเรื่อยๆ R-8 ก็ทำให้ผมสตั้นกับเสียงร้องของศิลปินผิวสีคู่นี้เข้าให้ ซึ่งเพลงที่ผมชอบที่สุดในอับั้มนี้คือ Baby, It’s Cold Outside ซึ่งเป็นเพลงที่ฝ่ายชาย (Ray Charles) ออดอ้อนฝ่ายหญิง (Betty Carter) ให้อยู่ต่อ ไม่อยากให้ลาจากไป ซึ่ง R-8 ทำให้รู้สึกสัมผัสได้ถึงความอาลัยอาวรณ์ที่แสดงออกมากับน้ำเสียงของเรย์ ชาร์ลได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นท่วงลีลา ไทมิ่ง และคอนทราสน์ของเสียงร้องที่ปรับเปลี่ยนความดังได้อย่างละเอียด ลากเอื้อนไปอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ บิวท์อารมณ์ของเพลงให้ปรากฏออกมาชัดเจนมากขึ้น ซึ่งความต่อเนื่องของเสียงนับว่าเป็นจุดเด่นของ R-8 ที่ทำให้ฟังแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังฟังแหล่งสัญญาณที่ผ่านกระบวนการแปลงสัญญาณจากต้นตอดิจิตัล
อัลบั้ม : Rachmaninoff – Symphonic Dances & Vocalise (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Dallas Symphony Orchestra, David Johanos, Donald Johanos
สังกัด : Analogue Productions
แล้วคุณสมบัติของความต่อเนื่องที่เยี่ยมยอดของ R-8 ก็ถูกตอกย้ำด้วยการลองฟังเพลงคลาสสิก มันสามารถถ่ายทอดความต่อเนื่องออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน ทั้งจากเสียงเครื่องสายและเครื่องเป่าในอัลบั้มนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ดนตรีบรรเลงอย่างแผ่วเบา ประมาณนาทีที่ 5-6 ของท่อนแรก Non Allegro เป็นต้นไป ผมได้ยินทั้งเสียงเครื่องเป่าและเครื่องสายที่ลอยหลุดขึ้นมาจากแบ็คกราวนด์มืดๆ ของเวทีเสียงได้อย่างชัดเจน ไกล แต่เปล่งปลั่ง ลอยแบบไม่เน้นพุ่ง แสดงว่าพื้นเสียงที่ R-8 ถ่ายทอดออกมามันมีความสงัดสูง ทำให้สัญญาณเสียงเบาๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดระดับ Low-Level สามารถลอยออกมาให้ได้ยิน และเมื่อลีลาของเพลงเคลื่อนคล้อยมาถึงนาทีที่ 8-9 ของแทรคเดียวกัน ผมก็ได้ยินพลังที่ฉีดออกมาจากลำโพงแบบไม่มีอั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดไดนามิกเร้นจ์ของ R-8 ที่ให้เสียงเปิดกว้าง สวิงได้สุดโดยไม่มีอาการยอดด้วน.!
สรุป
หลังจากทดสอบเสร็จแล้ว ผมอยากจะบอกว่า เสียงของ R-8 เข้าขั้นมาตรฐานไฮเอ็นด์ฯ ครับ.! ก่อนจะสรุปรีวิวนี้ ผมได้สอบถามราคาจากตัวแทนจำหน่าย พอได้ยินราคาขายแล้วแทบหงายหลังเมื่อพบว่า R-8 ตั้งราคาขายอยู่แค่หกหมื่นบาทเท่านั้นเอง.! บ้าไปแล้ว..!!!
ผมจำได้ว่า R-1 ขายอยู่ที่สามหมื่นกว่า เมื่อได้ฟังเสียงของ R-8 แล้ว ผมคิดว่า R-8 ให้เสียงดีกว่า R-1 “มากกว่า” เงินอีกเกือบเท่าตัวที่เพิ่มขึ้นไปอย่างแน่นอน.. บอกเลยใครตั้งงบสำหรับ external DAC อยู่ในเร้นจ์หกหมื่นบาท +/- คุณต้องไปลองฟังเสียงของ Audio-gd รุ่น R-8 ตัวนี้ให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไป /
***********************
ราคา : 60,000 บาท / ตัว
***********************
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่
HiFi House by M Sound