รีวิวเครื่องเสียง Cary Audio Design รุ่น SLI-80HE อินติเกรตแอมป์หลอดสุญญากาศ

พอพูดถึง แอมปลิฟายเรามักจะไปพะวงกันอยู่ที่ ตัวเลขกำลังขับมากกว่าคุณสมบัติด้านอื่น คือนักออกแบบส่วนใหญ่จะมองว่าต้องทำให้กำลังขับของแอมป์สูงๆ เข้าไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา clipping ของเสียง แต่วิศวกรของ Cary Audio Design กลับมองว่า ความสามารถในการ ปรับตัวจากสภาวะโอเวอร์โหลดกลับสู่ภาวะปกติ” (overload recovery) มีความสำคัญกว่า ทางวิศวกรของแครี่ฯ ให้เหตุผลว่า โดยความเป็นจริงแล้ว ช่วงเวลาที่เพลงกำลังเล่นอยู่นั้น กำลังขับของแอมป์ที่ถูกใช้ไปจะอยู่ที่ประมาณ 3 วัตต์เท่านั้น เมื่อมีจังหวะที่สัญญาณทรานเชี้ยนต์ความถี่ต่ำที่ดังมากๆ เกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีปริมาณโวลเตจค่ามหาศาลดันเข้ามาที่อินพุตของแอมป์ ซึ่งเป็นสถานะการณ์ที่ทำให้เกิด overload ขึ้น และเป็นจังหวะเวลาที่ใช้ตรวจวัดความสามารถในการปรับตัวกลับสู่สภาวะปกติของแอมปลิฟายตัวนั้น

คือในมุมของวิศวกรของ Cary Audio Design มองว่า ขณะที่เพลงดำเนินไปตามปกติ แอมป์ที่มีกำลังขับมากหรือน้อยกว่า 3 วัตต์ก็สามารถให้เสียงเพลงออกมาได้ดีพอกัน แต่พอมีสัญญาณทรานเชี้ยนต์ที่ความถี่ต่ำซึ่งดังมากๆ เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่สัญญาณทรานเชี้ยนต์กระชากเข้ามานั้น เป็นจังหวะสั้นๆ ที่แอมปลิฟายจะต้องจ่ายกำลังออกไปมหาศาล ซึ่งอาจจะถึงจุด clip ได้ ทีนี้ก็มาวัดกันว่า แอมป์ตัวไหนสามารถ ปรับตัว” (recovery) กลับมาทำงานตามปกติได้เร็วกว่ากัน ซึ่งแอมป์ที่ recover ช้ากว่าจะให้เสียงที่มีอาการแกว่ง, วูบวาบ และแปรปรวนออกมานานกว่าจะกลับเข้าที่ได้ สวนแอมป์ที่ recover ได้เร็วกว่าก็จะผ่านจุด clip ของสัญญาณได้เร็วกว่า เราจึงได้ยิน distortion ที่เกิดจากการ clip และอาการแกว่งของเสียงน้อยกว่านั่นเอง

SLI-80 หนึ่งในตำนาน!

ในโลกนี้มีอินติเกรตแอมป์หลอดตัวย่อมๆ ที่ได้รับความนิยมสูงอยู่หลายตัว อาทิเช่น Manley รุ่น Stingray, Jadis รุ่น Orchestra, Leak รุ่น Stereo 20, Jolida รุ่น JD801A, Conrad-Johnson รุ่น CAV50, EAR รุ่น Yoshino V12, Rogers รุ่น E40A และอีกตัวหนึ่งที่ยืนอยู่แถวหน้าก็คือ Cary Audio Design รุ่น SLI-80 ที่ออกมาประมาณปี 1996 1997 นี่เอง

ปัจจุบัน SLI-80 ได้ถูกปรับปรุงออกมาอีกครั้งในเวอร์ชั่น “Heritage Seriesจึงกลายเป็นรุ่น SLI-80HS ตัวที่ผมกำลังจะทำรีวิวตัวนี้ ตัว SLI-80HS ต่างจากเวอร์ชั่น SLI-80 ตรงไหน.? จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ caryaudio.com เองให้ข้อมูลไว้ว่า ตัว SLI-80HS ต่างจากเวอร์ชั่นออริจินัลไม่มาก จุดแรกคือตัว ‘HSจะถูกลดปริมาณกระแสฟีดแบ็คให้น้อยลงกว่าเดิมนิดหน่อย เพื่อให้ได้ความใสของพื้นเสียงที่ดีขึ้น ทำให้รายละเอียดของดนตรีที่มีความดังต่ำๆ ถูกเปิดเผยออกมาได้มากขึ้น ส่วนจุดที่สองคือในเวอร์ชั่นใหม่ได้มีการเพิ่มวงจรเรติฟายเออร์ที่ทำงานด้วยโซลิดสเตทเข้าไปเพื่อให้ได้ไดนามิกและแจกแจงรายละเอียดของเสียงเบสได้ดีขึ้น.. หลักๆ ของการปรับปรุงก็ประมาณนี้ ส่วนอื่นๆ เหมือนเดิมรวมไปถึงรูปร่างหน้าตา

ดีไซน์ตามแบบพิมพ์นิยม..

หน้าตาของแอมป์หลอดเป็นอะไรที่เฉพาะตัวมาก มันต่างจากดีไซน์ของแอมป์โซลิดสเตทอย่างชัดเจน แค่เหลือบตามองก็รู้ SLI-80HS ของแครี่ฯ ตัวนี้ก็เช่นกัน ต่อให้คุณไม่ใช่นักเล่นเครื่องเสียง เห็นหน้าตาของมันก็ต้องรู้ว่านี่คือแอมป์หลอด เพราะมีหลอดสุญญากาศทั้งขนาดใหญ่และเล็กโชว์หราอยู่บนตัวเครื่องนับรวมกันได้ทั้งหมด 8 หลอด หลอดใหญ่ 4 หลอดที่อยู่หน้ากล่องโลหะสี่เหลี่ยมสีดำๆ ที่เรียกว่า Output Transformer นั้นคือหลอดเพาเวอร์เบอร์ KT88

ซึ่งถ้าสังเกตจากรูปด้านบน ด้วยลักษณะการจัดวางอุปกรณ์จะเห็นว่ามีการแยกวางหลอด, เอ๊าต์พุตทรานส์ฟอเมอร์ และคาปาซิเตอร์ที่ใช้สำหรับขยายสัญญาณซีกซ้าย (L = กรอบสีน้ำเงิน) และซีกขวา (R = กรอบสีแดง) ออกเป็น 2 ชุดโดยใช้ Power Transformer ตัวเดียวกันแต่พันขดลวดเอ๊าต์พุตแยกให้กับซีกซ้ายและซีกขวาข้างละขด

ส่วนของแผงวงจรทั้งหมดจะถูกบรรจุอยู่ในตัวถังโลหะที่ดูเหมือนลักษณะของฐานของเครื่อง มีความกว้างอยู่ที่ 17 นิ้ว มาตรฐานเครื่องเสียงทั่วไป ลึก 16 นิ้ว และสูงแค่ 7 นิ้ว

แผงหน้าและฟังท์ชั่นใช้งาน

แผงหน้าปัดที่มีพื้นที่แค่ 17 x 7 ตารางนิ้ว เป็นที่ติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมสั่งงานที่จำเป็น ได้แก่ ปุ่มปรับหมุน 3 ปุ่ม, สวิทช์โยก 2 อัน และรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 .. อีกหนึ่งรู ทั้งหมดมีแค่นี้

ปุ่มเลือกอินพุต (Input Selector)(C) อยู่ชิดไปทางซ้ายของหน้าปัด ใช้หมุนเลือกอินพุตที่มีมาให้แค่ 3 อินพุตคือ LINE 1, LINE 2 และ LINE 3 ไม่มีอินพุต Phono แสดงว่าในตัว SLI-80HS ไม่มีภาคขยายหัวเข็มมาให้ ปุ่มถัดไปมีขนาดใหญ่กว่า ติดตั้งอยู่เกือบตรงกลางของแผงหน้าปัดเป็นปุ่มวอลลุ่มสำหรับปรับระดับความดัง (D) ถัดไปทางขวาอีกนิดเป็นปุ่มปรับบาลานซ์ซ้าย/ขวา (E)

สวิทช์โยกอันแรก (A) อยู่ชิดไปทางซ้ายมือของแผงหน้าปัด อยู่เกือบตกขอบคือสวิทช์ Power เมื่อสับขึ้นด้านบนเป็นการเปิดเครื่อง ไฟ LED ที่อยู่เหนือสวิทช์โยก (B) จะสว่างเป็นสีฟ้า ถ้าสับสวิชท์ลงไฟ LED จะดับ แสดงสภาวะปิดการทำงาน ส่วนสวิทช์อีกอันจะอยู่เลยไปทางขวาของแผงหน้าปัด เป็นสวิทช์ที่มีไว้ให้เลือกเอ๊าต์พุต (G) คือถ้าดันสวิทช์โยกขึ้นด้านบนไปที่ตำแหน่ง Headphone สัญญาณเสียงจากภาคเอ๊าต์พุตจะไปออกทางช่องรูเสียบหูฟัง (H) ที่อยู่ถัดไป แต่ถ้าสับสวิทช์ลงด้านล่าง ตรงกับตำแหน่ง Speaker สัญญาณเสียงจากภาคเอ๊าต์พุตจะไปออกทางขั้วต่อสายลำโพงด้านหลัง นอกจากนั้น บนหน้าปัดของเครื่องก็ยังมีช่องรับคลื่นรีโมทไร้สาย (F) สำหรับควบคุมวอลลุ่มและเปิดใช้ฟังท์ชั่นหยุดเสียงชั่วคราว (mute) อีกแค่หนึ่งจุดเท่านั้น

อินพุต + เอ๊าต์พุต

ขั้วต่ออินพุตและเอ๊าต์พุตที่ด้านหลังของตัวเครื่องก็ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ มีช่องเสียบสายไฟเอซี (M) อยู่ตรงกลาง คั่นอยู่ระหว่างขั้วต่อ I/O สำหรับซีกซ้ายและซีกขวาที่แยกข้างกันชัดเจน เริ่มจากขั้วต่อสายลำโพงซ้ายขวา (I, Q) ที่ให้มาแค่ชุดเดียว ไม่ได้แยกตามอิมพีแดนซ์ของลำโพงเหมือนแอมป์หลอดส่วนใหญ่ แต่แครี่ฯ ใช้วิธีให้ผู้ใช้เลือกปรับอิมพีแดนซ์ด้วยสวิทช์โยก (J, P) แทน เนื่องด้วยแอมป์ตัวนี้แยกซ้ายขวากันเด็ดขาด (ยกเว้นใช้เพาเวอร์ทรานฟอร์เมอร์ร่วมกัน) นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีสวิทช์โยกปรับอิมพีแดนซ์มาให้สองตัว เวลาปรับใช้งาน คุณก็ดูว่าลำโพงของคุณมีอิมพีแดนซ์เท่าไหร่ก็เลือกโอห์มที่แอมป์ให้ตรงกัน แต่ผู้ผลิตแนะนำให้ลองฟังดูทั้ง 8 และ 4 โอห์ม ชอบเสียงของเอ๊าต์พุตไหนก็ใช้เอ๊าต์พุตนั้นได้เลย ไม่มีปัญหาในการทำงานแต่อย่างใด เพราะประเด็นของอิมพีแดนซ์จากการทำงานของแอมป์มันจะสวิงขึ้นๆ ลงๆ และสวิงไปตามระดับวอลลุ่มที่เราใช้ด้วย จึงเป็นไปได้ว่าระหว่างลำโพงที่คุณใช้+ระดับวอลลุ่มเฉลี่ยที่คุณใช้อาจจะลงตัวกับแอมป์ตัวนี้ที่เอ๊าต์พุต 4 หรือ 8 โอห์มได้ทั้งนั้นแม้ว่าจะไม่ตรงกับอิมพีแดนซ์ที่ลำโพงระบุก็ใช้ได้หมด

ผมชอบวิธีติดตั้งขั้วต่อสัญญาณอินพุต/เอ๊าต์พุตของแอมป์ตัวนี้ เขาแยกขั้วต่อสำหรับซ้ายและขวาไว้คนละด้าน ห่างกันมาก แบบนี้เสียบสายสัญญาณง่ายดี ไม่เบียดกัน ซึ่ง SLI-80HS มีเฉพาะขั้วต่อสายสัญญาณแบบอันบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ RCA จำนวน 3 ชุด (K, O) ไม่มีอินพุตบาลานซ์มาให้ และทั้งสามชุดนั้นเป็นอินพุตไลน์สเตจทั้งหมด ไม่มีภาคขยายหัวเข็มมาให้ด้วย ใครต้องการเล่นแผ่นเสียงก็ต้องหาภาคโฟโนแบบแยกชิ้นมาเสริม ส่วนขั้วต่อ RCA อีกสองช่อง (R, S) ที่อยู่ใกล้ๆ กับขั้วต่ออินพุตของแต่ละข้างเป็นเอ๊าต์พุตสำหรับต่อเข้าแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ นั่นคือ อินติเกรตแอมป์ตัวนี้สนับสนุนการเล่นระบบลำโพงแบบ 2 main + 2 subwoofer ซึ่งสัญญาณที่ป้อนออกมาทางช่องเอ๊าต์พุตนี้เป็นสัญญาณแบบฟูลเร้นจ์ เต็มย่านความถี่ตอบสนองของแอมป์ ดังนั้น ซับวูฟเฟอร์ที่จะเอามาเชื่อมต่อกับช่องเอ๊าต์พุตนี้จึงต้องเป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีวงจรครอสโอเวอร์ไว้ปรับจูนด้วย นอกจากนั้น ทางผู้ผลิตยังแนะนำการใช้งานเอ๊าต์พุตสองช่องนี้ไว้อีกอ๊อปชั่น คือคุณสามารถใช้เอ๊าต์พุตช่อง Subwoofer Out นี้ป้อนให้กับเพาเวอร์แอมป์สเตริโออีกชุดเพื่อเสริมกับภาคขยายในตัว SLI-80HS ขับลำโพงในลักษณะไบแอมป์ได้ด้วย เพราะสัญญาณเอ๊าต์พุตจากช่อง Subwoofer Out สองช่องนี้วิ่งผ่านวอลลุ่ม จึงสามารถใช้วอลลุ่มของตัว SLI-80HS ควบคุมความดังของแอมป์ที่เสริมเข้ามาได้ ส่วนตำแหน่ง L, M ในภาพเป็นจุดติดตั้งฟิวส์ที่แยกสำหรับแชนเนลซ้ายและขวา

ดีไซน์

ซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส เอ เป็นดีไซน์ของวงจรขยายที่ให้ผลลัพธ์ของเสียงออกมาดีที่สุด แต่นั่นคืออุดมคติ เพราะซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส เอ ก็มีข้อด้อยในตัวเองเหมือนกัน คือมันให้กำลังขับต่ำ ไม่เหมาะกับอินติเกรตแอมป์ขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่อินติเกรตแอมป์หลอดที่มีชื่อเสียงก็จะเป็นดีไซน์แบบ push-pull เกือบทั้งหมด

SLI-80HS ใช้หลอดเพาเวอร์เบอร์ KT88 จำนวนสองหลอดต่อข้าง และในคู่มือระบุไว้ว่า วงจรขยายของ SLI-80HS เป็นแบบ Push-Pull Ultra-Linear Pure Class AB1 แต่ทว่า ที่ตัวแอมป์กลับมีสวิทช์ให้โยกเลือกระหว่างโหมด Triode กับโหมด Ultra-Linear ด้วย นั่นแสดงว่า อินติเกรตแอมป์ตัวนี้สามารถแปลงตัวเองเป็นแอมป์ Class A ได้เมื่อคุณเลือกไปที่ Triode ซึ่งจะได้กำลังขับออกมาเท่ากับ 40 วัตต์ต่อข้าง แต่ถ้าคุณสับสวิทช์เลือกไปที่โหมด Ultra-Linear กำลังขับจะเพิ่มขึ้นเป็น 80 วัตต์ต่อแชนเนล ทันที คุณสมบัติข้อนี้ถือว่าเป็นไฮไล้ท์ของแอมป์ตัวนี้ เพราะการทำงานของวงจรขยายทั้งสองโหมดนี้ให้เสียงออกมาต่างกัน จากการทดลองฟังของผมพบว่า ในโหมด Triode จะได้รายละเอียดเสียงออกมามากกว่า เนื้อจะเนียน ในขณะที่โหมด Ultra-Linear จะให้เวทีเสียงที่แผ่กว้าง โฟกัสคม ช่องไฟเปิดโล่งและสะอาด ไดนามิกสวิงได้เต็มกว่า เป็นอ๊อปชั่นที่ให้ความยืดหยุ่น ทั้งในแง่ของการแม็ทชิ่งกับลำโพง และแม็ทกับแนวเพลงที่ชอบฟัง

ใช้หลอดเบอร์ 6922 ข้างละหลอด ทำหน้าที่เป็นอินพุตบัฟเฟอร์สำหรับภาคปรีแอมป์ และใช้หลอดเบอร์ 6SN7 ข้างละหลอด ทำหน้าที่ขยายสัญญาณและสลับเฟสสัญญาณของภาคปรีฯ เพื่อป้อนให้กับหลอดเพาเวอร์ KT88 (ข้างละ 2 หลอด) ทำการขยายออกไปขับโหลดของลำโพง ซึ่งผู้ผลิตได้เปิดอ๊อปชั่นพิเศษให้กับคนที่ชอบเล่นซน โดยเปิดโอกาสให้คุณสามารถเปลี่ยนหลอดเพาเวอร์ไปใช้เบอร์อื่นๆ แทนได้ อาทิ 6550, EL34, 6CA7 กับหลอดตระกูล KT เบอร์อื่นๆ อาทิ KT77, KT90 หรือ KT120 ได้หมด ซึ่งหลอดเพาเวอร์เอ๊าต์พุตจะมีอายุใช้งานประมาณ 2-3 ปีต่อการใช้งานทุกวัน ส่วนหลอดอินพุตกับหลอดปรีฯ ใช้ได้นานหลายปี หลอดที่ต้องเปลี่ยนทุกๆ รอบ 2-3 ปีก็คือหลอดเอ๊าต์พุต เวลาเปลี่ยนหลอดก็ควรจะเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 หลอด จะยังคงใช้เบอร์ KT88 เหมือนเดิม หรือจะเปลี่ยนเบอร์ไปเลยตามที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ก็ได้ แต่ควรจะใช้หลอดที่เป็นยี่ห้อเดียวกันและแกะกล่องมาพร้อมกัน เพื่อให้เสียงทั้งสองข้างออกไปทางเดียวกันทั้ง gain และบุคลิกเสียง

หลังจากเปลี่ยนหลอดแล้ว ต้องทำการปรับไบอัสไฟเลี้ยงหลอดเพาเวอร์ด้วย ในกรณีที่ซื้อตัวใหม่แกะกล่อง ผู้ผลิตจะทำการปรับไบอัสมาให้จากโรงงาน แต่ถ้าคุณต้องการจะทำการปรับจูนไบอัสเองก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องใช้ DC current meter มาวัดค่าด้วย บนตัวเครื่องจะมีสกรูกับรูเสียบแจ๊คสำหรับเครื่องวัดไว้ให้ แยกมาข้างละชุด ผู้ออกแบบกำหนดแรงดันสำหรับไบอัสหลอดเอ๊าต์พุตอยู่ที่ 75 – 85mA วิธีตั้งไบอัสต้องทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ๆ หลังจากนั้นทิ้งให้เครื่องวอร์มอัพประมาณ 15 นาที แล้วทำการปรับตั้งอีกครั้ง

แม็ทชิ่งเตรียมทดสอบ

ไม่มีแอมป์ตัวไหนเพอร์เฟ็กต์ แต่แอมป์ที่ออกแบบมาดี ทุกตัวสามารถสร้างเสียงที่เพอร์เฟ็กต์ได้ วิธีทำให้แอมป์สร้างเสียงที่เพอร์เฟ็กต์ก็คือ ค้นหาขอบเขตความสามารถของแอมป์ตัวนั้นให้เจอด้วยการวิเคราะห์จากสเปคฯ แล้วหาลำโพงที่เหมาะสมกับมันมากที่สุดมาจับคู่กัน

สเปคฯ ที่สำคัญที่สุดก็คือ กำลังขับที่แท้จริงของแอมป์ตัวนั้น จากสเปคฯ ของ SLI-80HS แจ้งไว้ว่า ถ้าเลือกโหมด Triode คุณจะได้กำลังขับจากมันเท่ากับ 40 วัตต์ต่อข้าง แต่ถ้าเลือกโหมด Ultra-Linear จะได้กำลังขับเพิ่มขึ้นสองเท่าคือ 80 วัตต์ต่อข้าง ซึ่งถ้าคุณเข้าไปอ่านข้อมูลในเว็บไซต์เกี่ยวกับแอมป์ตัวนี้มาจากหลายๆ แหล่ง คุณจะพบว่ามีข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่า ผู้ผลิตอ้างว่าที่โหมด Triode ให้เสียงออกมาดีกว่าโหมด Ultra-Linear แต่จากการทดลองจับ SLI-80HS ลองขับลำโพง 3-5 คู่ที่ผมมีอยู่ในห้องขณะทดสอบแอมป์ตัวนี้ ผมพบว่า ส่วนใหญ่แล้วโหมด Ultra-Linear ให้ผลลัพธ์ของเสียงออกมาดีกว่าโหมด Triode โดยเฉพาะลำโพงที่อยู่ในระดับมิดไฮฯ คือ Totem Acoustics รุ่น Sky, รุ่น The One, รุ่น Element ‘Ember’ และลำโพง ATC รุ่น SCM7 ลำโพงที่โหมด Triode ของ SLI-80HS พอจะเอาอยู่ก็มีแต่ TAGA Harmony รุ่น B-40 v.3 (REVIEW) ราคาคู่ละสองหมื่นกว่าเท่านั้น

เรามักจะเจอกับคำโฆษณาประเภทที่ว่า แอมป์ Triode Class-A หรือ Single-End Class-A จะให้เสียงที่นวลเนียน เต็มไปด้วยรายละเอียดระดับอินเนอร์ดีเทล ให้อิมเมจที่มีชีวิตเหมือนจริง และให้โทนเสียงที่ถูกต้อง ซึ่งดูเพอร์เฟ็กต์ไปหมด ในขณะเดียวกัน มักจะดูแคลนว่าแอมป์ที่ดีไซน์ภาคขยายแบบ Push-Pull Class-AB มีดีแค่กำลังเยอะ กับให้ไดนามิกที่ตูมตามมากกว่าเท่านั้น ซึ่งเป็นคำโฆษณาที่จริงในแง่ทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ คุณต้องทำความเข้าใจเรื่อง กำลังขับกับอิทธิฤทธิ์ของ แม็ทชิ่งด้วยถึงจะได้ลิ้มรสความเยี่ยมยอดของแอมป์หลอดประเภท Triode Class-A หรือแอมป์โซลิดฯ ประเภท Single-End Class-A

ในทางทฤษฎีแล้ว เมื่อดีไซน์แอมป์หลอดออกมาตัวหนึ่งแล้วจัดวงจรขยายให้มันด้วยโหมด Triode เราจะได้ตัวเลขทางสเปคฯ อย่างเช่น frequency response กับ THD ที่ออกมาสวยกว่า ดูหรูกว่าการจัดวงจรขยายด้วยโหมด Ultra-Linear ซึ่งมีเฉพาะตัวเลขกำลังขับเท่านั้นที่ดูดี ส่วนสเปคฯ อื่นด้อยกว่า Triode ทั้งนั้น แต่ด้วยตัวเลขที่น้อยนิด ทำให้โหมด Triode ต้องการลำโพงที่ขับง่ายความไวสูงจึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาตามอุดมคติ ผู้ผลิต SLI-80HS ตัวนี้แจ้งว่ามันแม็ทชิ่งกับลำโพงของ Klipsch รุ่น Klipschorns (ความไว = 105dB) ลงมาจนถึงรุ่น Heresy III (ความไว = 99dB) มากเป็นพิเศษ เพราะทาง Klipsch ใช้แอมป์ของ Cary Audio Design ตัวนี้เป็นแอมป์อ้างอิงในการปรับจูนเสียงนั่นเอง

จากการทดลองแม็ทชิ่งของผมพบว่า ตัวเลข 40 วัตต์ ของโหมด Triode ของแอมป์ตัวนี้ไม่มากพอสำหรับลำโพงไฮเอ็นด์ฯ ในยุคปัจจุบัน มันไม่มากพอที่จะสามารถผลักดันเสียงให้หลุดออกมาจากตู้ได้สำเร็จ ไม่มากพอที่จะสามารถ ดันรายละเอียดจากลำโพงไฮเอ็นด์ยุคใหม่ออกมาประกอบร่างให้เป็นตัวเสียงที่เข้มข้นได้ และนั่นคือเหตุผลที่ SLI-80HS ต้องมีเอ๊าต์พุตที่รันด้วยโหมด Ultra-Linear มาให้

กำลังขับ 80 วัตต์ต่อข้าง ของ SLI-80HS มากพอสำหรับ Totem Acoustics รุ่น Sky, รุ่น The One และรุ่น Element ‘Ember’ เมื่อเซ็ตอัพฟังแบบ nearfield ในพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก มันสามารถสร้างตัวเสียงที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติที่หลุดตู้ออกมาจากลำโพงเหล่านั้นได้ มันให้สนามเสียงที่เปิดกว้าง สวิงไดนามิกได้กว้างและหนักหน่วง ให้โทนเสียงที่สด กระจ่าง มีพลังอัดฉีดและมีแรงกระทุ้งที่สมจริง พูดได้เต็มปากว่า ขับออก!

ผมใช้ลำโพง Totem Acoustics รุ่น Sky กับ The One เป็นตัวอ้างอิงหลักๆ ในการทดสอบเก็บข้อมูลเสียงในการทดสอบ SLI-80HS แต่ในช่วงท้ายๆ ของการทดสอบ ผมได้ทดลองให้ SLI-80HS ชกข้ามรุ่นไปจับกับลำโพงวางขาตั้งรุ่น Precision P1.0 ของ Wilson Benesch (REVIEW) ด้วย โดยเลือกเอ๊าต์พุตโหมด Ultra-Linear (เพราะโหมด Triode เสียงออกมาป้อแป้) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ต้องบอกว่าเกินคาด! เสียงที่ออกมาดีกว่าที่ผมคิด SLI-80HS สามารถสลัดตัวเสียงให้หลุดออกมาจากตู้ของ P1.0 ไปลอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศได้อย่างน่าทึ่ง ช่วงสวิงไดนามิกครึ่งล่าง (light-to-moderate) แอมป์ตัวนี้ทำได้ดีทีเดียว ส่งผลให้เพลงช้าๆ ที่เด่นทางด้านไดนามิกคอนทราสน์สอบผ่านทางด้านอารมณ์เพลงที่น่าฟัง ในขณะที่อัตราสวิงไดนามิกครึ่งบน (moderate-to-rich) ที่เด่นทางไดนามิกทรานเชี้ยนต์ยังสวิงออกมาได้ไม่เต็มสเกล โดยรวมๆ ถือว่าฟังได้ ซึ่งก็นับว่าเกินคาดแล้วสำหรับแอมป์หลอดตัวเล็กๆ แบบนี้

ช่วงท้ายสุดของการทดสอบผมยกลำโพง JBL รุ่น Model4318 (50-40kHz / 6 โอห์ม / 92dB) ของผมมาทดลองจับคู่กับ SLI-80HS ด้วยความตั้งใจทดสอบเอ๊าต์พุตที่โหมด Triode ของแอมป์หลอดตัวนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเสียงที่ออกมาก็ไปแนววินเทจตามสไตล์ของลำโพง คือกลางแหลมเปิดกระจ่างโดยมีเนื้อมวลของความถี่ในย่านต่ำเอ่อขึ้นมาหนุนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เสียงโน๊ตในย่านต่ำๆ จะมีอาการหนาและขุ่นนิดๆ ซึ่งผมไม่แปลกใจเพราะมันเป็นบุคลิกของลำโพงคู่นี้อยู่แล้ว

เสียงของ SLI-80HS

ตอนลองขับลำโพงโทเท็ม Sky แบบ nearfield แม้ว่าที่โหมด Triode จะสวิงไดนามิกได้ไม่เต็ม แต่ก็ยังมีข้อดีออกมาให้ได้ยิน นั่นคือรายละเอียดกับความลื่นไหลของเสียงที่ดีกว่าโหมด Ultra-Linear อย่างชัดเจน ฟังเพลงร้องช้าๆ ประเภทแจ๊สจะพอได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นอัลตร้าลิเนียร์จะได้ไดนามิกที่สวิงได้กว้างกว่า ทรานเชี้ยนต์มีน้ำหนักและสปีดที่เร็วกว่า ฟังเพลงทั่วๆ ไปได้อรรถรสดี เมื่อลองฟังเพลงหลากหลายรูปแบบ ผมพบว่า กรณีจับคู่กับลำโพง Totem Acoustics รุ่น Sky, The One และ Element ‘Ember’ ผมพอใจเสียงที่ได้จากการปรับตั้งไว้ที่โหมด Ultra-Linear มากกว่า มันให้ค่าเฉลี่ยของคุณภาพเสียงออกมาสูงกว่าที่โหมด Triode เทียบเป็นสัดส่วนก็ประมาณ 65/35 (Ultra-Linear/Triode)

อัลบั้ม : Beauty Within (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Edward Simon Group
สังกัด : Audioquest

โหมด Ultra-Linear ของ SLI-80HS ขับลำโพง Totem รุ่น Sky ออกมาได้เสียงที่ดีน่าแปลกใจ เป็นคู่ที่ให้ค่าเฉลี่ยของเสียงออกมาน่าพอใจในหลายๆ ด้าน คงเป็นเพราะสเปคฯ ของลำโพง Sky มันไม่เป็นภาระกับ SLI-80HS ผลจึงออกมาดี (Sky อิมพีแดนซ์ = 8 โอห์ม / แนะนำกำลังขับ 30 – 125 วัตต์) คือตอนแรกผมคิดว่าพอปรับ SLI-80HS เป็น Ultra-Linear แล้วเสียงจะแห้งและแข็ง แต่เปล่าเลย.. เสียงกลับเปิดเผย โปร่งโล่ง และมีไดนามิกมากกว่าตอนขับด้วยโหมด Triode อย่างชัดเจน เหตุผลมันน่าจะเป็นเพราะลักษณะการออกแบบของลำโพง Sky แบรนด์นี้มันต้องการแอมป์ที่มีความสามารถในการจ่ายกำลังขับได้สูงๆ มากกว่าแอมป์ที่จ่ายกำลังได้ต่อเนื่อง เมื่อเจอกับเพลงที่เน้นรายละเอียดย่านต่ำเยอะๆ อย่างอัลบั้มชุดนี้โหมด Ultra-Linear สามารถเปิดเผยรายละเอียดของเสียงเบสหกสายของ Anthony Jackson ออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากแทรคเพลง “Mastery of All Situationsหัวเสียงโน๊ตเบสออกมาคม กระชับ สปีดฉับไว ในขณะที่โหมด Triode ให้เสียงในย่านเดียวกันออกมาไม่ชัดเท่า มีลักษณะเบลอและมัวกว่า

เพลง “In Search of Powerแทรคที่ 4 ในอัลบั้มนี้ก็เป็นอีกแทรคที่โหมด Ultra-Linear ของ SLI-80HS ทำหน้าที่ของมันได้อย่างหมดจดมาก มีจุดสังเกตอยู่ 2 จุด จุดแรกคือฮาร์มอนิกของเสียงเปียโนที่เกิดขึ้นหลังจาก Edward Simon พรมนิ้วมือข้างซ้ายของเขาลงบนคีย์ซึ่งเป็นฮาร์มอนิกด้านต่ำที่กระเพื่อมเป็นชั้นๆ ต่อจากเสียงหัวโน๊ตหลักลงไป กับอีกจุดซึ่งเป็นเสียงโซโล่กลองของ Horacio ‘El Negro’ Hernandez ที่ออกมากระชับ เร็ว และมีไดนามิกที่รุนแรง ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกทึ่ง เพราะเสียงที่ออกมามันห่างจากสไตล์ของแอมป์หลอดไปพอสมควร นอกจากพละกำลังแล้ว ผมยังรับรู้ได้ถึงสปีดที่ฉับไว กับรายละเอียดในย่านต่ำๆ ที่เคลียร์ชัดกว่าแอมป์หลอดทั่วไป กลับไปอ่านดูรายละเอียดในการออกแบบมาสะดุดตรงข้อความที่ว่า “.. Negative feedback is derived from the 8 ohm tap on the output transformer secondary. This feedback circuitry is used to reduce the noise floor and improve the speaker damping characteristics..” อ๋อ.. พวกเขาใช้การป้อนเนกาทีฟ ฟีดแบ็คเข้ามาช่วยทำให้แอมป์มีคุณสมบัติในการหยุดยั้งไดอะแฟรมของไดเวอร์ลำโพงได้ดีขึ้นนี่เอง

อัลบั้ม : Light House (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Billy Barber
สังกัด : DMP Records

ลองฟังอัลบั้มนี้ก็ยืนยันความสามารถของกำลังขับ 80 วัตต์ ในโหมด Ultra-Linear ที่แอมป์หลอดตัวนี้แสดงออกมา มันสามารถผลักดันทุกเสียงในแต่ละเพลงของอัลบั้มนี้ให้หลุดพ้นตัวตู้ของ Sky ออกไปล่องลอยอยู่ในอากาศแบบ หลุดตู้ร้อยเปอร์เซ็นต์.! และด้วยพื้นเสียงที่ใสและสะอาด แบ็คกราวนด์ที่ดำมืดและจมลึก (ต้องไม่ลืมว่าแอมป์ตัวนี้ตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ถึง 19Hz!) ทำให้ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเสียงเครื่องดนตรีเหล่านั้นล่องลอยเคว้างคว้างอยู่ในอวกาศ เวทีเสียงเปิดโล่งออกไปทุกด้าน ไม่รู้สึกถึงขอบเขตเข้ามาควบคุม เวทีเสียงด้านลึกดีมากๆ ในบางแทรคผมได้ยินเสียงคีย์บอร์ดลอยออกมาเลยหน้าระนาบลำโพงอย่างชัดเจน ในขณะที่เสียงกลองอยู่ในตำแหน่งที่จมลึกลงไปด้านหลังของระนาบลำโพง โดยมีเสียงซินธ์ฯ แทรกอยู่ระหว่างกลาง รู้สึกได้ถึงลักษณะความลึกที่แยกชั้นลดหลั่นกันออกมาเป็นเลเยอร์เหมือนขนมชั้น แม้ว่าบางชิ้นจะมีส่วนที่ซ้อนกันเมื่อมองจากตำแหน่งที่นั่งฟังเข้าไป แต่ด้วยการแยกชั้นความลึกที่เป็นเลเยอร์อย่างที่ว่า ทำให้ชิ้นดนตรีที่ซ้อนกันไม่เกิดการผสมรวมกัน ยังคงแยกรายละเอียดของใครของมันออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน และรู้สึกได้ว่าระหว่างชั้นของเสียงแต่ละชั้นมีมวลอากาศแทรกซึมอยู่ สัมผัสได้จากความฉ่ำของฮาร์มอนิกบางๆ ที่แผ่ออกมาจากแต่ละตัวเสียง

อัลบั้ม : Visual Voice (WAV-16/4.1)
ศิลปิน : Bonnie Koloc
สังกัด : naim records

อัลบั้ม : อาร์เอส อันปลั๊ก (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : แหม่ม พัชริดา
สังกัด : อาร์เอส

พอเปลี่ยนมาฟังแนวเพลงร้องแบบนี้ ผมพบว่า หลังจากสลับฟังเทียบระหว่างโหมด Triode กับโหมด Ultra-Linear ของแอมป์ตัวนี้ดูแล้ว ผมกลับชอบเสียงของโหมด Triode มากกว่า โดยเฉพาะแทรคแรกเพลง “The Kittenซึ่งเป็นแทรคที่โชว์เสียงร้องเดี่ยวๆ แทรคนี้โหมด Triode ให้เสียงที่รู้สึกถึงความเป็นคนจริงๆ ที่มีชีวิตมากกว่าโหมดอัลตร้าฯ แม้ว่าโหมดอัลตร้าฯ จะให้เสียงร้องที่ลอยออกมามากกว่านิดนึง แต่ทางด้านน้ำเสียง การเอื้อนและลากหางเสียงร้อง ตลอดไปจนถึงรายละเอียดของลักษณะการสูดลมหายใจในการร้องนั้น โหมด Triode กินขาด.! มันให้เสียงร้องที่เหมือนจะจมลงไปด้านหลังเล็กน้อยแต่มีทรวดทรงกลมกลึงกว่า เนื้อเสียงละมุนกว่าด้วย อีกแทรคที่ทำให้ผมฟันธงว่าอัลบั้มนี้ฟังด้วยโหมด Triode ได้อารมณ์กว่าโดยเฉพาะเมื่อขับลำโพงที่มีความไวสูงถึง 92dB อย่าง JBL 4318 นั่นคือเพลง “Ballad for a Quiet Manแทรคที่ 9 ซึ่งโหมด Triode ให้เสียงแซ็กโซโฟนที่มีบอดี้โป่งพอง ไม่บี้แบน และให้เสียงเปียโนที่กังวานยาว แผ่ออกมาเป็นแอมเบี้ยนต์ได้อย่างอบอวล อิ่มฉ่ำ ในขณะที่โหมด Ultra-Linear ทำให้เพลงนี้ติดแห้งไปหน่อย ความผ่อนคลายของอารมณ์เพลงสู้โหมด Triode ไม่ได้

เสียงร้องของแหม่มในเพลง ขอคืนในอัลบั้ม อาร์เอส อันปลั๊ก ก็ได้ยืนยันุถึงความโดดเด่นของโหมด Triode ได้เป็นอย่างดี พูดเลยว่าถ้าเจอกับเสียงร้องที่เนิบช้าและเน้นอารมณ์ในแต่ละพยางค์แบบนี้ต้องยกให้โหมด Triode ได้เลย เสียงกีต้าร์ก็กังวานและโปร่งลอยน่าฟัง

สรุป

ตอนแรกผมก็กังวลกับกำลังขับของแอมป์ตัวนี้ เพราะใจไปคิดว่า คงจะเด่นทางด้านโหมด Triode เป็นหลัก คือนึกไปว่าโหมด Ultra-Linear คงให้มาเป็นของแถม แต่พอได้ลองฟังจริงๆ จังๆ แล้วต้องยอมรับว่า ทั้งสองโหมดนี้มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับ ลำโพงและ แนวเพลงเป็นหลัก พอได้ทดลองเล่นทดลองฟังจริงๆ แล้ว ผมกลับรู้สึกชอบ SLI-80HS ตัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเข้าใจว่าทำไมทางผู้ผลิตถึงได้ให้อ๊อปชั่นในการเลือกโหมดการทำงานของภาคขยายมาให้ 2 แบบ 2 ลักษณะที่ต่างกันแบบนี้ เมื่อจับคู่กับลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม และมีความไวอยู่ระหว่าง 89 – 92dB จะสนุกมากตรงที่ทำให้ผมสามารถสับสวิทช์เลือกโหมดของภาคขยายให้เหมาะสมกับเพลงที่ฟังได้ตลอด เหมือนมีแอมป์ 2 ตัว 2 สไตล์เสียง เป็นแอมป์หลอดที่ออกแบบมาได้ตรงกับลักษณะการใช้งานจริง

สำหรับคนที่อยากได้ความอ่อนหวานละมุนของแอมป์หลอดตอนฟังเพลงร้องหวานๆ แต่ตอนฟังเพลงสนุกๆ ก็อยากได้เสียงที่มีชีวิตชีวา ให้ไดนามิกที่สดใส ไม่นุ่มนิ่มจนน่าเบื่อ ผมแนะนำให้ไปลองฟังเสียงของ Cary Audio Design รุ่น SLI-80HS ตัวนี้… หาลำโพงความไวสูงๆ วูฟเฟอร์ใหญ่ๆ มาจับคู่สักตัว รับรองว่าเสียงออกมาถูกใจคุณแน่ๆ ..!! /

************************
ราคา : 175,000 บาท / ตัว
************************
สนใจติดต่อที่
AudioRevolution Thailand

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า