Dali มีอายุแบรนด์ครบ 40 ปี ไปเมื่อ ปี 2023 ที่ผ่านมานี้เอง ถ้าเป็นคนก็ถือว่าอยู่ในวัยกลางคน แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเก่าแก่มากเมื่อเทียบกับแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงที่เรียกว่าอยู่ใน “ระดับตำนาน” ของวงการซึ่งแต่ละแบรนด์ก็เฉียดร้อยปีกันทั้งนั้น แต่แม้ว่าอายุขัยทางธุรกิจของ Dali จะยังไม่มากนัก ทว่า เมื่อมองในแง่ของพัฒนาการที่พวกเขาทุ่มเทลงไปให้กับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาทำออกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์มาจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่ามีความก้าวหน้ามาโดยตลอด ซึ่งจะไม่น่าแปลกใจเลยถ้าคุณรู้ว่า บุคคลที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังแบรนด์ Dali ก็คือ Peter Lyngdorf ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดอิเล็กทรอนิคส์แห่งสแกนดิเนเวี้ยน (*เขาสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Room Correction มาโดยตลอด)
Peter Lyngdorf
‘Epicon Series’ ถึงพร้อมทั้ง “รูปลักษณ์” และ “เทคโนโลยี“
เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ ปี 1983 เป็นต้นมา Dali ปล่อยตัวลำโพงออกมาเยอะมาก.! ที่โดดเด่นมากๆ มีอยู่หลายรุ่น ไล่มาตั้งแต่ Dali 40 และ Dali 40 SE ที่ออกมาเมื่อ ปี 1987, รุ่น Megaline ซึ่งเป็นลำโพงระดับ ‘State of the Art’ ที่ออกมาเมื่อ ปี 1996, ออกซีรี่ย์ Dali Grand เมื่อ ปี 1997, เปิดตัวลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ซีรี่ย์ Euphonia ซึ่งแต่ละรุ่นที่ Dali ปล่อยออกมาในตลาดล้วนมีส่วนสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ Dali ให้เป็นที่ยอมรับในวงการไฮเอ็นด์ฯ มากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึง ปี 2012 Dali ก็เปิดตัวลำโพงซีรี่ย์ Epicon ออกมาสู่ตลาด ด้วยแนวคิดในการทำลำโพงที่ถึงพร้อมในองค์ประกอบสำคัญสองส่วนอยู่ในตัว นั่นคือ “รูปลักษณ์ดีไซน์” ที่ดูสวยงาม เลิศหรูระดับเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี และทางด้าน “เทคโนโลยี” ทันสมัยที่ส่งผลกับคุณภาพเสียงโดยตรง (*รุ่น Epicon 8 ได้รับรางวัล EISA Award ในสาขา Best Product HIGH-END AUDIO 2012-2013) หลังจากนั้น Dali ก็เปิดตัวลำโพงระดับรองๆ ลงมาออกมาอีกสองซีรี่ย์คือ Rubicon กับซีรี่ย์ Oberon ที่นำเอาไดเวอร์ประเภทเดียวกับที่ใช้ในซีรี่ย์ Epicon มาใช้ (*เป็นไดเวอร์ที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษที่ชื่อว่า SMC Technology ในการผลิตระบบแม่เหล็ก)
ในอนุกรม Epicon มีลำโพงอยู่ทั้งหมด 4 รุ่น ประกอบด้วยลำโพงตั้งพื้น 2 รุ่น ได้แก่ Epicon 8 กับ Epicon 6, วางขาตั้ง 1 รุ่น คือ Epicon 2 และลำโพงเซ็นเตอร์อีก 1 รุ่น ชื่อว่า Epicon Vokal สำหรับคนที่ต้องการนำไปเซ็ตอัพเพื่อรองรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์มัลติแชนเนลก็สามารถทำได้ด้วยการเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์มาผสมเข้าไป (Dali ก็มีทำลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วย)
‘Epicon 6’ สวยงาม ขนาดกำลังดี.!
รุ่นที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้คือรุ่น Epicon 6 ซึ่งเป็นลำโพงตั้งพื้นรุ่นเล็ก รองจากรุ่นใหญ่สุดในอนุกรมนี้คือรุ่น Epicon 8
ด้วยสัดส่วนความสูง 1 เมตรกับ 25 ซ.ม. บวกกับพิกัดน้ำหนักอยู่ที่ 29.8 กิโลกรัมต่อข้าง ก็ต้องบอกว่า Epicon 6 มีขนาดที่พอเหมาะสำหรับคนที่เล่นเครื่องเสียงอยู่คนเดียว และมีนิสัยชอบเซ็ตอัพขุดคุ้ยรายละเอียดเสียง เพราะสเปคฯ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบ Epicon 6 คู่นี้ฟ้องให้เห็นเลยว่า มันแอบซ่อนรายละเอียดเสียงไว้ในตัวมากมาย และด้วยน้ำหนักกับขนาดตัวที่ไม่ถึงกับใหญ่เกินไป พอจะขยับเคลื่อนได้ด้วยตัวคนเดียว หลังจากผมได้ทำการทดสอบลำโพงคู่นี้ไปแล้ว บอกได้เลยว่า Epicon 6 เป็นลำโพงที่ “เล่นสนุก” มาก.! คุณยิ่งใส่ความละเอียดในการแม็ทชิ่ง, เซ็ตอัพ และปรับจูนลงไปมากแค่ไหน ลำโพงคู่นี้ก็จะสนองตอบกลับมาด้วยรายละเอียดเสียงที่ดีขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะอัพเกรดส่วนไหนเข้าไปในระบบ Epicon 6 คู่นี้ก็ตอบสนองออกมาให้เห็นถึงคุณภาพของเสียงที่ขยับขึ้นไปได้ตลอด จนบางครั้งผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สุดท้ายปลายทางของความสามารถของลำโพงคู่นี้มันไปสุดอยู่ที่ไหนกันแน่.? หรือว่ามันจะไม่มีจุดสิ้นสุด.??
เนื้องานสร้างสรรของลำโพงคู่นี้เป็นอะไรที่ “สะกดตา” อย่างมาก.!! ทุกอณูและทุกมิลลิเมตรบนตัวตู้แสดงให้เห็นถึงความปราณีตบรรจงในการออกแบบและผลิตระดับที่เฟอร์นิเจอร์ชั้นหรูยังอาย..
ความเก๋ไก๋ในดีไซน์มันเริ่มเตะตาตั้งแต่รูปทรงของตัวตู้ที่ไม่ได้มาในรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมเหมือนลำโพงตั้งพื้นส่วนใหญ่ที่พบเห็นดาษดื่นอยู่ในท้องตลาดทั่วไป ผนังตู้ด้านข้างถูกออกแบบให้มีลักษณะลู่เรียวสอบเข้าไปทางด้านหลัง ซึ่งคนที่มีประสบการณ์มานานพอจะรู้ว่า นี่ไม่ใช่การออกแบบเพื่อความสวยงามแปลกตาแค่นั้น แต่เป็นความตั้งใจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา resonant หรือคลื่นเสียงสั่นค้างเกิดขึ้นภายในตัวตู้ ซึ่งเป็นผลมาจาก reaction force ที่ไดเวอร์กระทำต่อมวลอากาศภายในตัวตู้
ถ้าสายตาของคุณสามารถมองทะลุเข้าไปถึงโครงสร้างภายในตัวตู้ของ Epicon 6 ได้ คุณจะเห็นว่าพวกเขาใช้เทคนิคในการแบ่งกั้นพื้นที่อากาศที่อยู่ภายในตัวตู้ออกเป็นส่วนๆ โดยคำนวนแต่ละส่วนให้เหมาะสมกับไดเวอร์แต่ละตัว ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ไดอะแฟรมของไดเวอร์.. โดยเฉพาะไอะแฟรมของตัววูฟเฟอร์เคลื่อนตัวเดินหน้า–ถอยหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่มีมวลอากาศภายในบล็อก (chamber) ที่กั้นไว้หลังไดเวอร์ทำหน้าที่เป็นเสมือน “สปริง” ที่คอยร่นรับแรงกดอากาศตอนแผ่นไดอะแฟรมถอยหลังดันเข้ามาในตู้ และปลดปล่อยพลังงานศักย์ที่สะสมไว้นั้นออกไปเป็นพลังงานจลช่วยผลักดันไดอะแฟรมของไดเวอร์ในจังหวะที่เดินหน้าให้ผลักอากาศออกไปได้อย่างเต็มกำลัง ในขณะเดียวกัน โครงสร้างที่ใช้แบ่งพื้นที่อากาศภายในตัวตู้เหล่านั้นยังทำหน้าที่ “ดาม” ผนังตัวตู้แต่ละด้านเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีผลช่วยสกัดไม่ให้ผนังตู้สั่น เป็นการลดปัญหา resonant ภายในตัวตู้ลงได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น ที่ด้านบนของตัวตู้ก็ถูกทำให้ไม่เป็นแผ่นเรียบ แต่ค่อยๆ ยกสูงขึ้นจากด้านหน้าไปด้านหลัง ทำให้แผ่นด้านบนของตัวตู้กับแผ่นฐานล่างของตัวตู้ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันไม่อยู่ในแนวที่ขนานกัน อันนี้ก็มีส่วนช่วยลดปัญหาคลื่นสั่นค้างภายในตัวตู้ให้น้อยลงเช่นกัน
แต่ละด้านของผนังตู้ทำมาจากแผ่นไม้ MDF ที่ซ้อนกันทั้งหมด 6 ชั้น ภายนอกผนึกผิวด้วยวีเนียร์ไม้วอลนัทของจริง ลายสวยมาก เคลือบแลคเกอร์หนาจนเงาวับ ซึ่งผนังตู้แต่ละด้านจถูกยึดตรึงอยู่กับแผ่นโครงหลักที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง (backbone) ที่อยู่ด้านในตัวตู้ ซึ่งทำด้วยไม้ MDF หลายชั้นที่มีความหนาถึง 53 ม.ม. ส่วนแผ่นปิดบนแผงหน้าที่ใช้ติดตั้งไดเวอร์ทั้งหมดก็มีความหนาถึง 33 ม.ม. เป็นแผ่น MDF ที่ประกบกันอยู่สองชั้น บนผิวนอกด้านหน้าทำให้มีลักษณะโค้งจึงมีส่วนช่วยลดเรโซแนนซ์ในตัว ด้วยความหนาและแน่นของแผงหน้านี้จึงทำให้แรงสั่นจากตัวไดเวอร์ขณะทำงานไม่ถูกส่งผ่านเข้าไปในตัวตู้
แบ่งพื้นที่ แยกตู้สำหรับวูฟเฟอร์
นอกจากจะแบ่งพื้นที่อากาศภายในตัวตู้แยกให้สำหรับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวที่ใช้อยู่ในรุ่น Epicon 6 แล้ว ทีมออกแบบลำโพงคู่นี้ยังให้ความสำคัญกับการติดตั้งท่อระบายอากาศสำหรับวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวอีกด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความหน่วงช้าในการทำงานร่วมกันระหว่างไดเวอร์กับท่อระบายอากาศ พวกเขาจึงทำการติดตั้งส่วนปลายด้านในของท่อระบายอากาศให้เข้าไปอยู่ใกล้กับด้านหลังของวูฟเฟอร์ให้มากที่สุด เพื่อให้มวลอากาศที่ถูกดันจากไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์ที่ถอยหลังถูกส่งป่านออกไปทางท่อระบายอากาศได้อย่างทันทีทันใด ไม่เกิดความหน่วงช้าขึ้น ซึ่งจะมีผลดีกับการตอบสนองต่อสัญญาณทรานเชี้ยนต์ (ฉับพลัน) ของวูฟเฟอร์ ซึ่งจะสะท้อนไปสู่คุณสมบัติในการตอบสนองต่อไทมิ่งที่แม่นยำ และได้ทรานเชี้ยนต์ อิมแพ็คที่ฉับไวและหนักหน่วงตามมา
ตู้ว่าสุดแล้ว.. ไดเวอร์แต่ละตัวก็สุดได้อีก..!!!
จุดแข็งอีกข้อหนึ่งของแบรนด์ Dali ก็คือ “ไดเวอร์” ที่พวกเขาออกแบบละผลิตขึ้นมาเองทั้งหมด นั่นทำให้สามารถควบคุมให้ไดเวอร์ทั้งหมดนั้นทำงานออกมาได้ผลลัพธ์ตามที่พวกเขาต้องการทุกอย่าง และทำให้ง่ายต่อการปรับปรุงในจุดที่เป็นส่วนยิบย่อยให้มีความลงตัวมากที่สุด สามารถปรับแต่งชดเชยได้ตลอดเวลา
Hybrid Tweeter Module
ไดเวอร์เสียงแหลมแบบลูกผสม..!!
ปีเตอร์ ลินดอร์ฟ ก่อตั้ง Dali ขึ้นมาเมื่อ ปี 1983 ซึ่งเป็นยุคที่ระบบเสียง digital audio เข้ามาเป็นแกนหลักของวงการไฮไฟฯ แล้ว (ฟอร์แม็ต CD เข้าสู่ตลาดคอนซูเมอร์เมื่อ ปี 1981) แต่ในยุคนั้นยังไม่ได้มีวี่แววของ Hi-Res Audio ออกมาให้เห็น ซึ่งกว่า JEITA จะประกาศมาตรฐาน Hi-Res Audio ออกมาก็ ปี 2014 แต่ถ้าย้อนกลับไปดูสเปคฯ Frequency Response ของลำโพงรุ่นใหญ่ๆ ของ Dali ที่ทำออกมาในยุคแรกๆ อย่างเช่นรุ่น Megaline ใน ปี 1996 กับรุ่น Euphonia ใน ปี 2002 จะเห็นว่า ลำโพงเหล่านั้นล้วนแต่มีความสามารถในการตอบสนองความถี่ย่านสูงขึ้นไปได้มากกว่า 20kHz ทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า Peter Lyngdorf เขาก็มีความเชื่อว่า การขยายแบนด์วิธของลำโพงให้สามารถตอบสนองความถี่ได้ “กว้างกว่า” มาตรฐานของระบบเสียงที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น (คือ 20Hz – 20kHz) จะทำให้ได้คลื่นเสียงที่มีคุณภาพสูงสุด ประมาณว่า ทำให้ลำโพงสามารถตอบสนองความถี่ได้ “กว้างกว่า” มาตรฐานของระบบเสียงที่บันทึกมาไว้ก่อน จะทำให้มีโอกาสที่ลำโพงนั้นจะถ่ายทอดคลื่นเสียงออกมาได้ “เต็ม” ตามมาตรฐานของสัญญาณเสียงที่บันทึกมาได้มากกว่าที่จะทำให้ลำโพงตอบสนองได้เท่ากับมาตรฐานของสัญญาณเสียงที่บันทึกมา ซึ่งความเชื่อนั้นได้ถูกถ่ายทอดมากับลำโพง Dali ในเจนเนอเรชั่นต่อๆ มาด้วย
ประจักษ์พยานที่ชัดเจนแสดงให้เห็นผ่านทางไดเวอร์ที่ใช้ในการถ่ายทอดความถี่สูงของ Dali ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาด้วยการนำเอาทวีตเตอร์ซอฟท์โดมมาทำงานร่วมกับไดเวอร์ริบบ้อน แล้วตั้งชื่อเรียกมันว่า ‘Hybrid Tweeter Module’
ส่วนประกอบหลักของ Hybrid Tweeter Module ก็คือโดมทวีตเตอร์ขนาด 29 ม.ม. กับริบบ้อนทวีตเตอร์ขนาด 10 x 55 ม.ม. ซึ่งไดเวอร์ทั้งสองตัวได้ถูกปรับจูนให้ทำงานร่วมกันในลักษณะที่ “เสมือน” เป็นตัวเดียวกัน เพื่อให้ได้จุดเด่นของทวีตเตอร์ทั้งสองชนิดออกมาพร้อมกัน
วอยซ์คอยของโดมทวีตเตอร์ถูกจุ่มอยู่ในของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำที่มีฟลักซ์แม่เหล็กแรงสูงหล่อเลี้ยงอยู่ จึงช่วยลดความร้อนและช่วยแด้มปิ้งขณะที่วอยซ์คอยเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ทำให้โดมทวีตเตอร์สามารถทนรับกับกำลังขับสูงๆ ได้อย่างมีเสถียรภาพ สามารถขยับตัวสร้างความถี่เสียงแหลมที่มีความดังออกมาได้มากโดยไม่มีอาการผิดเพี้ยนของรูปทรงเกิดขึ้น สามารถตอบสนองต่อเสียงแหลมได้เร็วโดยปราศจากเรโซแนนซ์ของโดมเข้ามารบกวน
โดมทวีตเตอร์เริ่มเปิดรับความถี่ตั้งแต่ 2.5 – 3.1kHz ขึ้นไปจนเลย 20kHz ขึ้นไปนิดๆ โดยไม่มีการควบคุมในการ roll-off ของปลายเสียงแหลมจากวงจรเน็ทเวิร์คเข้ามายุ่ง ทำให้ปลายเสียงแหลมที่สร้างขึ้นมาโดยโดมทวีตเตอร์มีลักษณะการผ่อนคลายปลายเสียง (roll-off) ลงไปตามธรรมชาติ ในขณะที่ไดเวอร์ริบบ้อนจะเข้ามารับช่วงความถี่ตั้งแต่ 10kHz ขึ้นไปจนถึงประมาณ 30kHz ซึ่งเป็นการ “ต่อยอด” ให้กับความถี่สูงที่สร้างขึ้นโดยโดมทวีตเตอร์ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งถ้ามองจากมุมนี้ จะเห็นว่า ตัวไดเวอร์ริบบ้อนก็ทำหน้าที่เป็นเสมือน “ซุปเปอร์ทวีตเตอร์” ให้กับลำโพง Epicon 6 คู่นี้นี่เอง หรือจะพูดสรุปว่า Epicon 6 แถมซุปเปอร์ทวีตเตอร์มาให้ในตัว.. แบบนั้นก็ได้.!!
SMC Woofer!
วูฟเฟอร์ที่มีความสูญเสียต่ำ.!
วิศวกรในทีมออกแบบของ Dali มีความเชื่อที่แตกต่างจากนักออกแบบลำโพงอื่นๆ ที่มักจะใช้วิธี “ควบคุม” การเคลื่อนที่ของไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์เพื่อให้ได้ความถี่เสียงออกมาตามที่พวกเขาต้องการ โดยอาศัยเทคนิคหลายๆ อย่าง อาทิเช่น ติดตั้งวัสดุบางอย่างลงไปบนไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์ นัยว่าเพื่อช่วยแด้มฯ (mechanicle damping) ให้แผ่นไดอะแฟรมหยุดตัวเร็วขึ้น หรือบางทีก็ใช้วิธีออกแบบวงแหวนยางที่ยึดไดอะแฟรมเข้ากับเฟรมให้มีลักษณะทางกลไกที่ช่วยหยุดการขยับตัวของไดอะแฟรมไปด้วย ซึ่งวิศวกรในทีมออกแบบของ Dali กลับมองว่า การใช้เทคนิค “แด้มปิ้งทางกลไก” (mechanicle damping) ลักษณะเหล่านั้นเป็นการควบคุมการทำงานของไดอะแฟรมที่ไม่ลิเนียร์ ซึ่งจะส่งผลเสียทำให้เกิดความเพี้ยนขึ้นกับเสียงได้
คนที่มีความรู้ในการออกแบบลำโพงอยู่บ้าง อ่านมาถึงตรงนี้คงจะอยากแย้งออกมาว่า เฮ้ยย.. ถ้าไม่จัดการอะไรกับการขยับตัวของไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์เลย แล้วจะควบคุมให้วูฟเฟอร์ทำงานออกมาได้ตามที่เราต้องการได้ยังไง.? วิศวกรในทีมออกแบบของ Dali เขาก็เข้าใจว่าจะต้องควบคุมการขยับตัวเคลื่อนที่ของไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์ด้วยถ้าต้องการให้วูฟเฟอร์ทำงานสร้างความถี่และหยุดสร้างความถี่ออกมาตอนไหนตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ทว่า พวกเขาไม่ได้มองว่าการใช้เทคนิค mechanicle damping แบบที่คนอื่นทำเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่จุดที่พวกเขามองและเน้นมากๆ นั่นก็คือ “ระบบแม่เหล็ก” ที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนที่ของกระบอกวอยซ์คอยนั่นเอง
ที่มาของ
Soft Magnetic Compound (SMC)
วิศวกรของ Dali ตั้งชื่อเรียกระบบแม่เหล็กที่พวกเขาคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาใช้กับไดเวอร์ของพวกเขาว่า ‘Linear Drive Magnet System’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความผิดเพี้ยน (distortion) ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของระบบแม่เหล็กรูปแบบเดิมๆ ซึ่งระบบแม่เหล็กแบบใหม่นี้ต้องใช้ทั้งวัตถุดิบใหม่ ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ละใช้เวลาในการปรับปรุงนานนับร้อยๆ ชั่วโมง
หัวใจสำคัญในการพัฒนาก็คือ R&D ซึ่งเป็นสิ่งที่ Dali ทุ่มเทและทุ่มทุนมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าไม่สามารถวิเคราะห์ที่มาของตนตอปัญหาออกมาได้ชัดเจน การแก้ปัญหาแบบเดาสุ่มจะไม่สามารถขจัดปัญหาให้ลุล่วงออกไปได้อย่างที่ต้องการ มิหนำซ้ำ วิธีการแก้ที่ผิด จะนำพาปัญหาใหม่มาซ้ำเติมวนเวียนไปไม่สิ้นสุด..!!
นอกจากจะใช้เครื่องมือวัดที่จำลองการทำงานของแม่เหล็กที่สัมพันธ์กับการขยับตัวของวอยซ์คอย รวมถึงโปรแกรมขั้นเทพอย่าง COMSOL ซึ่งใช้กันอยู่เป็นมาตรฐานทั่วไปสำหรับการออกแบบระบบแม่เหล็กแล้ว พวกเขายังได้ออกแบบซอฟท์แวร์ที่ใช้วัดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับไฟ DC ในระบบแม่เหล็กที่แสดงออกมาขณะกำลังตอบสนองต่อสัญญาณทรานเชี้ยนต์ขึ้นมาใช้เองด้วย ซึ่งช่วยทำให้พวกเขามีความเข้าใจมากขึ้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อย่างเช่น ความหนาแน่นของ flux แม่เหล็กที่เกิดขึ้นอยู่บริเวณช่องว่างระหว่างแม่เหล็กกับวอยซ์คอย และทำให้เข้าใจถึงตัวแปรที่มีผลต่อ “กำลัง” ที่แม่เหล็กใช้ในการควบคุมไม่ให้เกิดความเบี่ยงเบนของวอยซ์คอยขณะกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในช่องว่างของแม่เหล็ก ข้อมูลละเอียดๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้พวกเขาเข้าใจลึกลงไปถึง “พฤติกรรม” ที่เกิดขึ้นจริง และนำมาใช้ประกอบในการออกแบบระบบแม่เหล็กที่พวกเขาเรียกมันว่า Linear Drive Magnet System ที่ว่านี้ (*ระบบแม่เหล็กรูปแบบใหม่ที่ว่านี้ถูกนำมาใช้ในลำโพงตระกูล Epicon ทั้งหมด)
หลังจากศึกษาเรียนรู้ถึงผลกระทบจากการทำงานของวอยซ์คอยกับระบบแม่เหล็กแล้ว ทำให้เข้าใจถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนขึ้นในการทำงานของไดอะแฟรม นั่นคือการควบคุมความหนาแน่นของ flux แม่เหล็กในช่องว่างของแม่เหล็กที่วอยซ์คอยต้องลอยตัวอยู่ในนั้น คือจะต้องควบคุมความหนาแน่นของ flux แม่เหล็กยังไง เพื่อให้กระบอกวอยซ์คอยสามารถขยับตัวอยู่ในช่องแม่เหล็กได้อย่างมีเสถียรภาพ และไวพอต่อการตอบสนองกับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
หน้าตาของผง SMC ที่เป็นวัตถุดิบในการสร้างแม่เหล็กที่ใช้ในระบบแม่เหล็กของไดเวอร์ที่ใช้ในลำโพงอนุกรม Epicon
เมื่อปัญหาทางโครงสร้างถูกแก้ไขไปแล้ว สุดท้ายพวกเขาก็มาค้นพบเพิ่มเติมว่า ต้นตอที่ลึกลงไปอีกชั้นของปัญหานั้นอยู่ที่ตัวแม่เหล็กที่ทำมาจากโลหะที่มีส่วนผสมบางอย่างที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เพื่อขจัดปัญหาให้สิ้นซาก วิศวกรของ Dali จึงร่วมมือกับบริษัทในยุโรปแห่งหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ทำการวิจัยวัสดุชนิดใหม่ที่นำมาใช้ทำระบบแม่เหล็ก จนสำเร็จออกมาเป็นวัสดุที่ชื่อว่า Soft Magnetic Compound (SMC) ที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวแม่เหล็กแบบเดิมที่ทำมาจากโลหะที่มีส่วนผสมที่ไม่ถูกต้องได้อย่างเด็ดขาด
(*ถ้าสนใจศึกษาข้อมูลทางเทคนิคเพิ่มเติม คุณสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้จากลิ้งค์นี้ https://bit.ly/4bIKRMb)
ขั้วต่อสายลำโพง
แม้แต่ขั้วต่อสายลำโพงยังพบว่ามีความปราณีตบรรจงในการออกแบบและสรรสร้างเป็นพิเศษ ทุกจุดดูหรู เมลืองมลังอย่างมาก ตัวขั้วต่อให้มา 2 ชุด สามารถเชื่อมต่อกับแอมปลิฟายได้ทั้งโหมด bi-wire และ bi-amp ซึ่งตัวขั้วต่อก็ถูกดีไซน์ให้มีความพิเศษมากกว่าที่พบเห็นทั่วไป คือมีระบบล็อคที่ง่ายต่อการบิดยึดและให้การตรึงขั้วต่อของสายลำโพงได้แน่นหนาดี ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อผ่านขั้วต่อแบบบานาน่าหรือหางปลา ผิวสัมผัสของตัวนำชุบทองอย่างดี ซึ่งมองดูด้วยตาก็รู้ว่าเนื้อทองที่เคลือบมาบนโลหะตัวนำนันเป็น “ของดี” เพราะสีสันมันฟ้อง.!
แม้แต่แท่งโลหะที่ทำมาเป็นจั๊มเปอร์ หรือสพานที่ใช้เชื่อมโยงสัญญาณระหว่างขั้วต่อทั้งสองชุดก็ออกแบบมาเป็นพิเศษ พวกเขาทำกันเอง ไม่ได้ใช้แบบที่ทำขายสำเร็จรูปทั่วไป จึงสามารถควบคุมคุณภาพได้ตามต้องการ ที่ตัวจั๊มเปอร์มีสลักชื่อแบรนด์แบบเต็มยศไว้ด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้งานได้ดีแล้ว ยังช่วยส่งให้ตัวลำโพงรุ่นนี้ดูทรงคุณค่ามากขึ้นเยอะเลย.!
ฐานล่าง
Epicon เวอร์ชั่นล่าสุดมีแผ่นไม้ที่ใช้เป็นฐานรองด้านล่างของตัวลำโพงมาให้ด้วย (ไม่มั่นใจว่าเวอร์ชั่นแรกๆ อาจจะมีฐานรองนี้หรือเปล่า.?) และผู้ผลิตยังให้เดือยแหลมโลหะไว้รองใต้แผ่นฐานรองเพื่อยกให้ตัวลำโพงลอยเหนือพื้นขึ้นมา พร้อมกันนั้น เขายังให้จานรองเดือยแหลมตัวเล็กๆ มาด้วย ผมทดลองเปลี่ยนไปใช้จานรองเดือยแหลมของ Audio Bastion รุ่น X-PAD Plus II (REVIEW) ที่ผมใช้ประจำเข้าไปแทนแล้วลองฟังดู พบว่าสามารถปรับปรุงเสียงโดยรวมให้ดีขึ้นได้มากพอสมควร (*ตอนสรุปทดลองฟังเสียง ผมจะรองด้วยจานรองของ Audio Bastion ด้วย ใครซื้อลำโพงรุ่นนี้ไปใช้แนะนำให้หาจานรองประเภทนี้ไปทดลองใช้ ปัจจุบันมีอยู่หลายยี่ห้อ)
วิเคราะห์แม็ทชิ่ง
ความถี่ตอบสนองของ Epicon 6 คู่นี้ครอบคลุมย่านเสียงได้กว้างมาก ทางด้านสูงนั้นถือว่าสุดเสียงสังข์ไปเลย เพราะทะยานขึ้นไปได้ถึง “สามหมื่นเฮิร์ต!” ทะลุเพดานขึ้นไปเกือบถึงระดับสูงสุดของมาตรฐาน Hi-Res Audio ที่ JEITA กำหนดไว้ ส่วนทางด้านความถี่ต่ำก็ “ขุด” ลงไปได้ถึง 35Hz แทบจะหมดทุกความถี่หัวเสียง (fundamental) ของโน๊ตจากเครื่องดนตรีทุกประเภทแล้ว เหลือแค่โน๊ตต่ำสุดของเปียโนแและซินธิไซเซอร์เท่านั้น ซึ่งสเปคฯ แบบนี้ บอกเลย.! ถ้าแม็ทชิ่งแอมป์ดีๆ จัดสภาพอะคูสติกดีๆ เซ็ตอัพลำโพงให้ลงตัว เล่นไฟล์เพลงที่บันทึกมากว้างๆ เปิดดังสักนิด น่าจะได้เสียงที่เปิดโล่งและให้รายละเอียดที่พร่างพรายอย่างแน่นอน.!!
ลำโพงคู่นี้แนะนำกำลังขับสูงสุดไปได้สูงถึง 300W โดยอ้างอิงที่อิมพีแดนซ์ 5 โอห์ม เมื่อเหลียวไปดูที่ความไว (sensitivity) อยู่ที่ 88dB ถือว่าอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางต่ำ (ระดับกลางอยู่ระหว่าง 88 – 90dB) ถ้าจะให้ได้ผลลัพธ์ของเสียงในระดับที่ดีที่สุดสำหรับลำโพงคู่นี้ ให้เลือกแอมป์ที่มีกำลังขับอยู่ระหว่าง 225W ขึ้นไปจนถึง 300W (75 – 100% ของกำลังขับสูงสุดที่แนะนำ) แต่ถ้าห้องฟังไม่ใหญ่มาก ใช้แอมป์ที่มีกำลังขับระหว่าง 150W ขึ้นไปจนถึง 225W (50 – 75% ของกำลังขับสูงสุดที่แนะนำ) ก็เพียงพอ และเนื่องจากตัวเลขกำลังขับที่ลำโพงคู่นี้แจ้งไว้ในสเปคฯ อ้างอิงกับอิมพีแดนซ์ปกติที่ 5 โอห์ม ดังนั้น ถ้าเทียบบัญญัติไตรยางค์ของตัวเลขกำลังขับที่แนะนำออกมาโดยอ้างอิงไปที่อิมพีแดนซ์มาตรฐาน 8 โอห์ม ตัวเลขกำลังขับที่คำนวนไว้ข้างต้นก็จะ “ต่ำลง” กว่านั้นอีกนิดหน่อย และเนื่องจากลำโพงคู่นี้มีความไวค่อนไปทางต่ำ ถ้าได้แอมป์ที่มีกำลังสำรองถึงๆ หน่อยก็จะยิ่งดี
เสียงของ Epicon 6 จากการทดลองฟังจริง
การสลับแอมป์ขับลำโพง Dali คู่นี้เป็นอะไรที่สนุกมาก มัน (Epicon 6) แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่เขามักจะพูดๆ กันว่า ถ้าลำโพงดี ฟังเพลงอะไรก็ได้หมด เลือกแอมป์มาขับให้ตรงกับแนวเพลง/สไตล์เสียงที่ชอบได้เลย ซึ่งจากที่ผมทดลองสลับแอมป์ขับก็ได้ยินอะไรแบบนั้น
ช่วงแรกของการทดลองแม็ทชิ่ง Epicon 6 กับอินติเกรตแอมป์ที่ผมมีอยู่ในห้องฟังตอนนั้น 2-3 ตัว ปรากฏว่า ตัวที่ให้เสียงออกมาดีที่สุดในกลุ่มของอินติเกรตแอมป์ที่เอามทดลองขับลำโพงคู่นี้ก็คืออินติเกรตแอมป์ของ Rega รุ่น Aethos ซึ่งให้กำลังขับข้างละ 156W ที่ 6 โอห์ม ถ้าเทียบไปที่ 5 โอห์ม ก็น่าจะได้ตัวเลขสูงอีกนิดหน่อย ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์มากเกินพอสำหรับลำโพงคู่นี้
อัลบั้ม : A World Of Love (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Ayako Hosokawa
สังกัด : FIM Records
อัลบั้ม : Ballads With LUV (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Salena Jones
สังกัด : JVC
น้ำเสียงที่ได้อยู่ในระดับที่ดีน่าพอใจ เสียงกลางและแหลมมีลักษณะที่อิ่มและเนียนนวลเป็นพิเศษ มวลเนื้อก็สะอาดเนียนหู เหมาะมากกับคนที่ชอบฟังเสียงร้องมากเป็นพิเศษ เพลงร้องแนวสแตนดาร์ดอย่าง 2 อัลบั้มข้างบนนั้นคือฟังแล้วโดนเลย รวมถึงดนตรีบรรเลงประเภทแชมเบอร์มิวสิค หรือไล้ท์มิวสิคก็เข้าทางลำโพง+แอมป์คู่นี้มาก ปิดจ๊อบสำหรับนักฟังสายหวานได้เลย รายละเอียดเสียงในย่านกลาง–แหลมอยู่ในระดับที่น่าหลงไหล แยกแยะได้ชัดเจน ที่ชอบมากคือเสียงไม่มีอาการหยาบกระด้างแม้ว่าจะเร่งวอลลุ่มขึ้นไปสูงๆ จนสวิงไดนามิกได้เต็มสเกลและแผ่กระจายสนามเสียงออกไปได้เต็มทั้งห้องแล้ว เสียงที่ออกมาก็ยังนุ่มเนียนน่าฟัง
ดีขนาดนั้น ไม่มีข้อด้อยเลยเหรอ.? มีครับ เพราะกำลังสำรองของ Aethos ยังไม่ถึงกับเต็มที่ตามที่ Epicon 6 ต้องการ ถ้าคุณเป็นนักฟังสายแข็ง ชอบเพลงที่โชว์เสียงทุ้มหนักๆ ลึกๆ แน่นๆ Aethos + Epicon 6 จะยังไม่ใช่สิ่งที่คุณจะปิดจ๊อบได้ ต้องหาแอมป์ตัวอื่นมาจับคู่ใหม่ เพราะเสียงทุ้มที่ได้จาก Aethos + Epicon 6 ถือว่ามีปริมาณที่มากพอ มวลแน่นพอสมสมควร กับเพลงทั่วไปถือว่าผ่าน แต่กับเพลงที่ตั้งใจโชว์เสียงทุ้มหนักๆ เร็วๆ แน่นๆ จะติดนุ่มไปนิดเท่านั้น จะไม่สะใจนักฟังสายแข็ง
หลังจากนั้น ผมก็เปลี่ยนมาใช้ชุดใหญ่ ปรี+เพาเวอร์แอมป์ลองขับ Epicon 6 คู่นี้ ซึ่งตัวเพาเวอร์แอมป์ผมใช้สองชุดสลับกันโดยที่ชุดแรกเป็นเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตทของ QUAD รุ่น Artera Mono เป็นเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก กำลังขับข้างละ 300W ที่ 8 โอห์ม ถือว่า “มากเกินพอ” สำหรับลำโพง Dali คู่นี้ ส่วนเพาเวอร์แอมป์ชุดที่สองเป็นเพาเวอร์แอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ class-A โมโนบล็อกเหมือนกัน ของยี่ห้อ NAT Audio รุ่น Transmitter HPS (REVIEW) ข้างละ 40W ที่ Low Mode (เทียบกับโซลิดสเตทประมาณ 120W) และ 80W ที่ High Mode (เทียบกับโซลิดสเตทได้ประมาณ 240W)
ส่วนปรีแอมป์ที่ใช้จับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ทั้งสองชุดนี้มีอยู่ 3 ตัว คือ Ayre Acoustic รุ่น K-5 (โซลิดสเตท), VTL รุ่น TL-2.5 (หลอด) และ NAT Audio รุ่น Magnetic (หลอด) ในขณะที่ภาคต้นทางสัญญาณผมใช้ Innuos รุ่น PULSE เป็นสตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ตสำหรับเล่นไฟล์เพลง และใช้ external DAC ของ Ayre Acoustic รุ่น QB-9 DSD Twenty ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตัลให้เป็นสัญญาณอะนาลอก โดยมีตัว USB Isolator รุ่น USB 3.0 SuperSpeed Isolator ของ Intona คั่นกลางช่วยลด noise ระหว่างเอ๊าต์พุต USB ของ PULSE กับอินพุต USB ของ QB-9 DSD Twenty และใช้สาย USB A>B ของ Nordost รุ่น Blue Heaven จำนวน 2 เส้นในการเชื่อมต่อ ส่วนช่วงระหว่างสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตจาก QB-9 DSD Twenty ไปที่อินพุตของปรีแอมป์ผมใช้สายสัญญาณ Nordost รุ่น Frey 2 (ขั้วต่อ RCA) ในการเชื่อมต่อ และช่วงระหว่างปรีแอมป์ไปที่เพาเวอร์แอมป์ผมใช้สายสัญญาณของ Life Audio รุ่น Gold MK II ยาว 7 เมตรเป็นตัวเชื่อมต่อ สายไฟใช้ผสมกันหลายยี่ห้อ ส่วนตัวปรีแอมป์กับ QB-9 DSD Twenty ผมเสียบผ่านตัวกรองไฟของ Pulito รุ่น µ0.6hr (REVIEW) ในขณะที่อุปกรณ์ต้นทางที่เป็นดิจิตัลทั้งหมดผมแยกไปเสียบผ่านตัวกรองไฟของ Clef Audio รุ่น PowerBridge 6 และใช้ Network Switch ของ Silent Angel รุ่น Bonn N.8 (REVIEW) ช่วยกรอง noise ในระบบเน็ทเวิร์ค ส่วนสาย LAN ทั้งหมดเป็น CAT8 ของ Link สีเหลืองที่คุณอึ่ง ทำมาให้
เพาเวอร์แอมป์ของ QUAD ‘Artera Mono’ กับ NAT Audio ‘Transmitter HPS’ ช่วยทำให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของ Dali ‘Epicon 6‘ คู่นี้ออกมาชัดขึ้น มัน (เพาเวอร์แอมป์ทั้งสองชุดนั้น) ทำให้คุณภาพเสียงที่ออกมาจาก Epicon 6 พุ่งสูงขึ้นไปอีกหลายขั้น
อัลบั้ม : Bamboo (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : John Kaisan Neptune & The Arakawa Band
สังกัด : Toshiba
อัลบั้ม : Asian Roots (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : TaKeDaKe with Neptune
สังกัด : Denon
อัลบั้ม : Master Of Chinese Percussion (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Yim Hok-Man
สงกัด : LIM (K2HD Mastering)
ความพิเศษของลำโพงคู่นี้ถูกเปิดเผยออกมาให้ได้ยินชนิดที่ต้องใช้คำว่า “พรั่งพรู” ออกมาแบบไม่ยั้ง น้ำเสียงที่ดีอยู่แล้วจากตอนที่ฟังกับอินติเกรตแอมป์ Rega ‘Aethos’ ได้ถูกขยายเพิ่มขึ้นไปอีกหลายขั้น เมื่อเจอกับแอมป์ที่กำลังถึงๆ อย่างหนึ่งที่สังเกตได้ชัดก็คือ เมื่อจับกับแอมป์ที่มีสมรรถนะสูงๆ ในระดับที่ทัดเทียมกัน มันช่วยปรับให้ “บุคลิกเสียง” ของลำโพงคู่นี้มีความเป็น “มอนิเตอร์” มากขึ้น มันถ่ายทอดความแตกต่างของเสียงที่ได้จากเพลงที่ฟังในแต่ละอัลบั้มออกมาได้ชัดขึ้น พอได้กำลังขับจากแอมป์ที่มากพออย่าง QUAD ‘Artera Mono’ คู่นี้ (จับกับปรีแอมป์โซลิด K-5) ทำให้เร้นจ์เสียงของลำโพงคู่นี้ถูกขยายออกไปได้กว้างขึ้น สังเกตได้จากรายละเอียดของเสียงที่พร่างพรายออกมามากขึ้นทั้งในย่านทุ้มและแหลม รวมถึงอัตราสวิงของไดนามิกที่เปิดกว้างขึ้นอย่างมาก ส่งผลทำให้ลำโพงคู่นี้สามารถ “ตีแผ่” ความสดของเสียงเพอร์คัสชั่นที่บันทึกมาใน 3 อัลบั้มข้างบนนั้นออกมาให้ได้ยินและรับรู้ถึงความเสมือนจริงที่น่าตกใจ เสียงเครื่องเคราะที่ทำด้วยไม้ไผ่ในอัลบั้มชุด Bamboo มันมีบุคลิกที่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อฟังเทียบกับเสียงตีกลองจีนในอัลบั้มชุด Master of chinese Percussion แสดงถึงความสามารถในการถ่ายทอดฮาร์มอนิกของเสียงตลอดทั้งย่านออกมาได้ “ตรงมาก“.!!
และเมื่อลองย้อนกลับไปลองฟังเพลงร้องของ Salena Jones และ Ayako Hosokawa ทั้งสองอัลบั้มข้างต้น ผมพบว่าน้ำเสียงโดยรวมเปลี่ยนไปในลักษณะที่ชี้ชัดลงไปในรายละเอียดหยุมหยิมมากขึ้น เหมือนเปิดไฟให้สว่างขึ้น ทุกอย่างจึงได้ยินชัดขึ้น ทั้งนักร้องและนักดนตรี “เอาจริง เอาจัง” กับการร้อง+บรรเลงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โทนเสียงที่ให้ความรู้สึกนัวๆ ซอฟท์ๆ แนวโรแมนติคอย่างที่ได้ยินตอนขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Aethos ของ Rega ลดน้อยลง แอบเสียดายอยู่เหมือนกัน.. สรุปคือถ้าจับ Epicon 6 กับแอมป์โซลิดที่มีกำลังถึงๆ น่าจะเข้าทางนักฟังสายแข็งที่ชอบพลังเสียงและความสดเอาจริง (เวลากลุ่มนี้ฟังเพลงร้องก็ชอบสไตล์เสียงสด ไม่ค่อยชอบเสียงนัว)
อัลบั้ม : Mussorgsky – Pictures at an Exhibition (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : The Cleveland Orchestra; Lorin Maazel
สังกัด : Telarc/Soundstream
อัลบั้ม : Now The Green Blade Riseth (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : The Stockholm Cathedral Choir
สังกัด : FIM (Proprius K2 HD Mastering CD)
อัลบั้ม : Plays Bizet, Beethoven, Pachelbel And Berlioz (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : The All Star Percussion Ensemble
สังกัด : FIM (GS DXD 002)
ลำโพงที่ออกแบบมาละเอียดและแม่นยำมากๆ มันสามารถสะท้อน “บุคลิกเฉพาะ” ของแอมป์หลอดและแอมป์โซลิดสเตทออกมาให้รับรู้ได้ชัดมาก.!! อันนี้คือยอมรับเลยว่าน่าประทับใจ เพราะตอนขับด้วยแอมป์โซลิดสเตทข้างละ 300W เสียงที่ออกมามันดีมาก ฟังอะไรก็ดีไปหมด ดีซะจนผมแอบสงสัยว่า ถ้าเปลี่ยนไปขับด้วยแอมป์หลอดที่มีกำลังขับแค่ 40W ต่อข้างเสียงจะมันแย่ลงไปเลยหรือเปล่า.? แต่พอเปลี่ยนแอมป์เป็น Transmitter HPS (จับคู่กับปรีแอมป์รุ่น Magnetic ของ NAT Audio เอง) ผมพบว่า เสียงของมัน (Epicon 6) ไม่ได้แย่ลงไปอย่างที่คิด มันกลับฟังดีซะด้วยซ้ำ.! บางด้านออกมาดีกว่าตอนขับด้วยโซลิดสเตท 300W ซะอีก ที่น่าทึ่งมากๆ ก็คือ “เวทีเสียง” ที่ถ่างขยายออกไปกว้างขวางมาก ทั้งแนวกว้าง, แนวลึก และแนวสูง มาครบทั้งสามมิติ กับงานเพลงของวง The All Star Percussion Ensemble ชุดที่เล่นเพลงของ Bizet, Beethoven, Pchelbel และ Berlioz ที่บันทึกบรรยากาศมาได้ครบๆ กับอีกอัลบั้มคือ Now The Green Blade Riseth เอามาฟังกับซิสเต็ม Epicon 6 + Transmitter HPS (จับกับปรีฯ Magnetic) แล้วเหมือนนั่งอยู่กลางวง แวดล้อมไปด้วยนักดนตรีและมวลแอมเบี้ยนต์ที่แผ่คลุมตั้งแต่ด้านหลังระนาบลำโพงขึ้นมาจนเลยจุดนั่งฟังไปอีก โอ้วว..!! ไม่รู้จะชื่นชมแอมป์หรือลำโพงดี.?? แสดงว่าประสิทธิภาพของมันต้อง “ถึง” ทั้งคู่ จึงได้ให้เสียงออกมาน่าตื่นตะลึงขนาดนี้..!!!
และพอเปลี่ยนไปฟังคลาสสิกวงใหญ่ The Cleveland Orchestra พบว่า เวทีเสียงถูกเปิดขยายใหญ่ขึ้นไปอีก ฉีกออกไปโดยรอบ เหมือนจากลูกโป่งเปลี่ยนเป็นบอลลูน และทำให้เห็นว่า ความสามารถของ Epicon 6 ที่ไต่ระดับเสียงแหลมไปได้ไกลถึง 30kHz นั้นไม่ใช่อะไรที่ไร้สาระ จริงอยู่ว่าหูเราไม่สามารถได้ยินความถี่ที่เกินจาก 15-16kHz ไปจนถึง 30kHz ได้ แต่ผมก็รับรู้ได้ว่า ความถี่ในเร้นจ์ประมาณ 30Hz – 16kHz ที่หูของผมรับได้นั้น เมื่อฟังผ่าน Epicon 6 ที่ตอบสนองแบนด์วิธกว้างไปถึง 30kHz มันออกมาไม่เหมือนกับตอนฟังผ่านลำโพงที่ไปได้แค่ 20kHz ต่างกันเยอะมากซึ่ง Epion 6 แสดงให้เห็นและเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “เปิดโล่ง” ที่แตกต่างได้อย่างชัดเจน ผมรู้สึกได้เลยว่า ปลายเสียงแหลมที่เกิดขึ้นจากลำโพงที่ตอบสนองความถี่ด้านสูงไปได้ไกลๆ อย่าง Epicon 6 คู่นี้ มันมีลักษณะเหมือนพลุที่พุ่งขึ้นไปบนฟ้าจนสุดพลังก่อนจะแตกตัวออกเป็นละอองเสียงกระจายออกไปเป็นฝอยโดยรอบ ซึ่งต่างจากปลายเสียงแหลมของลำโพงที่ไปได้แค่ 20kHz ที่มักจะ roll-off เก็บรวบปลายเสียงแหลมให้วูบหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการระเบิดแตกตัว จึงไม่มีละอองของ atmosphere ให้สัมผัส (*ตัวเพาเวอร์ Transmitter HPS ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 8Hz ขึ้นไปจนถึง 110kHz จากนั้นถึงจะค่อยๆ ลดระดับความดังลงอ็อกเตรปละ -3dB)
สรุป
ฟังลำโพงคู่นี้แล้ว ไม่รู้จะติตรงไหนเลย.! เมื่อลองไล่ฟังไปแต่ละกลุ่มของความถี่ ตั้งแต่แหลม–กลาง–ทุ้ม ผมจึงเข้าใจเลยว่า เสียงแต่ละกลุ่มความถี่ที่อออกมานั้นมันเป็นผลจากการปรับจูนในแต่ละจุดที่สอดคล้องกัน ทวีตเตอร์แบบไฮบริดจ์โดม+ริบบ้อนของ Epicon 6 คู่นี้สะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ที่ได้จากรายละเอียดในย่านแหลมที่ไม่เคยได้สัมผัสจากลำโพงจำนวนมากมายในท้องตลาด วูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ทั้งสองตัวที่ใช้ก็ไม่ได้ตั้งใจให้มีเสียงเบสออกมาเยอะๆ แต่พวกเขาทำให้ไดเวอร์ทั้งสองตัวนี้แบ่งความถี่ในย่านทุ้มกันทำงาน (ที่มาของวงจรเน็ทเวิร์คแบบ 2 ทางครึ่ง) ผลคือเสียงทุ้มที่สามารถแยกแยะรายละเอียดออกมาได้ชัดเจน เป็นเสียงของโน๊ตย่านต่ำ ไม่ใช่เสียงของความถี่ต่ำที่ครางฮือๆ แบบไร้ความหมาย แต่เสียงทุ้มที่ลำโพงคู่นี้ให้ออกมามันคือโน๊ตในย่านต่ำที่วิ่งไล่กันไปตามที่มือเบสตั้งใจบรรเลงมันออกมา ตัวตู้ที่หนา แน่น และหนัก ช่วยทำให้เสียงทุ้มที่วูฟเฟอร์ทั้งสองตัวช่วยกันสร้างออกมาเป็นเสียงทุ้มที่มีคุณภาพ มีความหมายที่โลดแล่นไปตามเสียงเพลง
ขนาดตัวตู้ของ Epicon 6 อยู่ในพิกัดกำลังดีสำหรับห้องฟังขนาดหน้ากว้างไม่เกิน 4 เมตร เมื่อจับกับแอมป์ที่มีสมรรถนะคู่ควรกัน และใช้ความละเอียดในการเซ็ตอัพที่ลงตัว (*เซ็ตอัพง่ายมาก เพราะเสียงทุกความถี่ที่มันถ่ายทอดออกมามีความบริสุทธิ์สูง ความเพี้ยนต่ำมาก จึงฟังออกง่าย) เสียงจึงหลุดตู้ออกมาแบบง่ายๆ เป็นลำโพงที่คนชอบจูนเสียงหลงไหล เพราะนอกจากความครบเครื่องแล้ว มันยังไปกับแอมป์และแหล่งต้นทางได้ไกลมากด้วย..
Dali ‘Epicon 6’ เป็นลำโพงที่ “ครบเครื่อง” มากที่สุดคู่หนึ่งที่ผมเคยทดสอบมา.!!!
********************
ราคา : 480,000 บาท / คู่
(ราคาโปรโมชั่น จากราคาเต็ม 592,600 บาท / คู่)
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 02-276-9644
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.conice.co.th/product/25982/dali-epicon-6