มีคนพูดกันว่า เทคโนโลยีดิจิตัลที่พัฒนาขึ้นมาถึงยุคนี้ มันมีประสิทธิภาพสูงมากจน “แทบจะ” สามารถใช้แก้ปัญหาอะไรได้ทุกเรื่องแล้ว ที่มีประสิทธิผลมากที่สุดก็คือใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่นในวงการเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์จะใช้เทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาจัดการเยอะมาก โดยเฉพาะในยุคที่เราใช้มาตรฐานของสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลอย่างทุกวันนี้
เทคโนโลยีดิจิตัลยุคใหม่ๆ ยิ่งมีความจำเป็นมากสำหรับวงการโฮมเธียเตอร์ที่ใช้ระบบเสียงเซอร์ราวนด์ เพราะระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่มีจำนวนแชนเนลเยอะๆ จำเป็นต้องอาศัยการคำนวนที่รวดเร็ว แม่นยำ ของวงจรอิเล็กทรอนิคประเภท DSP (Digital Sound Peocessing) เข้ามาช่วยในการประมวลผลเพื่อให้ได้เสียงที่ออกมาดี มีความถูกต้องและแม่นยำ
Devialet รุ่น Dione
ตัวอย่างที่เห็นชัด.!
Devialet เป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงยุคใหม่สัญชาติฝรั่งเศสที่ดำเนินกิจการโดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิตัลนำทาง ที่ผ่านมาพวกเขาได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ออกมาในตลาดหลายรุ่นหลายประเภทแล้ว มีทั้ง all-in-one amplifier, ear phone และลำโพงออล–อิน–วันที่กำลังโด่งดังอย่างมากตอนนี้นั่นคือรุ่น ‘Phantom’
ลำโพงซาวนด์บาร์รุ่น Dione (ดิออง) ของ Devialet ตัวนี้เปิดตัวออกมาครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 ได้รางวัล Best Product 2022-2023 ของ EISA Award ในสาขา “High-End Soundbar” ด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเมื่อทราบข้อมูลจากผู้ผลิต เพราะซาวนด์บาร์ตัวนี้มันอัดแน่นมาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพียบ.! มีทั้งเทคโนโลยีใหม่ 2 อย่างที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับซาวนด์บาร์ Dione ตัวนี้โดยเฉพาะนั่นคือ ORB กับ ADE
ORB คือเทคโนโลยีที่ออกแบบมาสำหรับแชนเนลเซ็นเตอร์ของระบบเซอร์ราวนด์ที่ประกอบด้วยไดเวอร์ฟูลเร้นจ์ขนาด 41 ม.ม. (1.64 นิ้ว) ที่บรรจุอยู่ในบอดี้รูปทรงกลม ขนาบข้างซ้าย–ขวาด้วยพาสซีฟ เรดิเอเตอร์ ทำให้สามารถกระจายคลื่นเสียงออกไปได้ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง (ลักษณะเดียวกับลำโพงรุ่น Phantom) นอกจากนั้น ตัวเซ็นเตอร์ ORB ที่ว่านี้ยังสามารถหมุนปรับมุมกระจายเสียงไปตามลักษณะการติดตั้งใช้งานได้ด้วย ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการติดตั้ง ไม่ว่าคุณจะวางตัวลำโพงแบนราบลงบนโต๊ะหน้าทีวี หรือจะยึดติดกับผนังห้องอยู่ใต้ทีวี (กรณีที่คุณยึดตัวทีวีไว้บนผนังห้อง) ก็สามารถหมุนปรับตัว ORB ให้กระจายเสียงออกมาที่ตำแหน่งนั่งฟังได้
ไดเวอร์ 17 ตัว กับเทคโนโลยี ADE
สำหรับระบบ เซอร์ราวนด์ 5.1.2 ch
เพราะลำโพงซาวนด์บาร์รวมเอาไดเวอร์ทุกตัวเข้ามาติดตั้งอยู่บนตัวถังเดียวกัน จึงมีข้อจำกัดทางด้านสรีระที่เป็นอุปสรรคในการกระจายคลื่นเสียง ไม่เหมือนระบบเซอร์ราวนด์แบบที่แยกลำโพงแต่ละแชนเนลออกไปติดตั้งตามตำแหน่งต่างๆ ในห้อง การที่จะทำให้ลำโพงซาวนด์บาร์สามารถสร้างสนามเสียงเซอร์ราวนด์ออกมาได้ดีจึงต้องอาศัยเทคโนโลยี DSP (Digital Sound Processing) เข้ามาช่วย
วิศวกรของ Devialet ออกแบบเทคโนโลยีที่ชื่อว่า ADE (Advanced Dimensional Experience) ขึ้นมาเพื่อใช้ในการควบคุมการกระจายคลื่นเสียงของตัว Dione โดยเฉพาะ ซึ่ง ADE จะอยู่ในรูปของซอฟท์แวร์ที่ฝังอยู่บน DSP ทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ คือไดเวอร์ทั้ง 17 ตัว ที่ผนึกอยู่บนตัวตู้ของ Dione เพื่อสร้างสนามเสียงเซอร์ราวด์ 5.1.2 ch
จากภาพประกอบด้านบนจะเห็นตำแหน่งการติดตั้งไดเวอร์ทั้งหมดที่ใช้กระจายคลื่นสียงในแต่ละแชนเนล ซึ่งประกอบด้วยไดเวอร์ฟูลเร้นจ์ขนาด 41 ม.ม. จำนวน 9 ตัว ทำหน้าที่กระจายคลื่นเสียงสำหรับเซ็นเตอร์ (C)(x 1 ตัว), แชนเนลซ้าย–ขวา (L/R)(x 2 ตัว), แชนเนลเซอร์ราวนด์ซ้าย–ขวา (Ls/Rs)(2 ตัว), แชนเนลเอ็ฟเฟ็กต์ (LFE)(x 8 ตัว) และแชนเนลที่ใช้ยิงคลื่นเสียงขึ้นไปด้านบนที่เป็นสัญญาณ above channel (Le/Re)(x 4 ตัว) ซึ่งแชนเนลที่ใช้ยิงเสียงขึ้นด้านบนสำหรับระบบเสียง Dolby Atmos กับแชนเนลที่เป็นคู่หน้า L/R จะถูกสลับใช้ไปตามลักษณะการติดตั้ง คือถ้าคุณวางลำโพง Dione ไว้บนโต๊ะในแนวราบหน้าทีวี กรณีที่เป็นสัญญาณเสียง Dolby Atmos เสียงที่ยิงเสียงขึ้นด้านบนจะมาจากไดเวอร์ที่ติดอยู่บนตัวลำโพงข้างละ 2 ตัว แต่ถ้าคุณเอาลำโพงยึดติดไว้บนผนัง ไดเวอร์ที่เป็นคู่หน้าจะถูกเปลี่ยนไปทำหน้าที่ยิงเสียงเอ็ฟเฟ็กต์ขึ้นด้านบนสำหรับระบบเสียง Dolby Atmos ส่วนไดเวอร์ที่เป็นแชนเนล L/R จะถูกเปลี่ยนมาใช้ไดเวอร์ที่ติดตั้งอยู่บนตัวลำโพง สลับกันแบบนี้
วิธีสลับการทำงานของไดเวอร์ที่ว่านี้จะเป็นตัวเลือกอยู่ในแอพลิเคชั่น จากภาพด้านบน สลับง่ายๆ แค่คลิ๊กเลือกเท่านั้น
ภาคขยาย ADH กับ SAM
มองด้วยตา คุณอาจจะเห็นว่าไดเวอร์แต่ละตัวมีขนาดเล็กกระทัดรัด ในใจอาจจะสงสัยว่ามันจะให้เสียงออกมาดีได้อย่างไร.? แต่ถ้าเป็นแฟนของแบรนด์นี้มาก่อนคุณจะสิ้นสงสัย ผมเคยทดสอบ all-in-one ของแบรนด์นี้มาแล้ว คือรุ่น EXPERT Pro 220 (REVIEW) ซึ่งเป็นแอมป์ที่มีลักษณะตัวถังแบนๆ บางๆ ดูไม่น่าจะมีกำลัง แต่พอได้ลองฟังเสียงจริงแล้วถึงกับอึ้ง แรงมันดีมาก.!! ต้นเหตุก็มาจากดีไซน์ภาคขยายแบบไฮบริดจ์ analog+digital ที่ค่ายนี้คิดค้นขึ้นมาโดยใช้ชื่อเรียกว่า ADH (Analog Digital Hybrid) ซึ่งเป็นภาคขยายที่ดึงเอาความลื่นไหลของวงจรขยายสัญญาณอินพุตแบบ class-A มาผสมกับภาคจ่ายกำลังขาออกที่ฉับไวของ class-D ทำให้ได้พลังเสียงที่ตึงตังเกินตัว
ภาคแอมปลิฟายในตัว Dione ก็ใช้เทคโนโลยี ADH ที่ว่านี้กับทุกไดเวอร์ ซึ่งให้พลังขับรวมกันทุกไดเวอร์มากถึง 950 วัตต์ RMS สร้างความดังรวมกันได้สูงถึง 101dB (SPL) ตลอดย่านความถี่ตอบสนองที่เปิดกว้างมากตั้งแต่ 24Hz – 21kHz
การเชื่อมต่อสัญญาณ
ทั้งสำหรับดูหนังและฟังเพลง
ช่องเสียบต่อสัญญาณถูกซ่อนไว้ใต้ตัวเครื่องเยื้องไปทางด้านหลัง มีมาให้ใช้ทั้งหมด 3 ช่อง (สำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณแบบใช้สาย)
ได้แก่อินพุต HDMI eARC/ARC (x1), อินพุต Ethernet (x1) และอินพุต Optical (TOSLINK)(x1) กับอีกช่องสำหรับปลั๊กไฟเอซีแบบสองขา สำหรับคนที่ใช้งาน Dione ร่วมกับทีวีจะมีช่องทางเชื่อมต่อสัญญาณจากทีวีมาที่ Dione ให้เลือกใช้ 2 ช่องทาง ถ้าเป็นทีวีรุ่นใหม่ๆ ที่มีเอ๊าต์พุต HDMI ก็ใช้สาย HDMI v.2.1 เชื่อมโยงสัญญาณจากช่องเอ๊าต์พุต HDMI eARC หรือ HDMI ARC ของทีวีไปเข้าที่ช่องอินพุต HDMI ของ Dione แต่ถ้าเป็นทีวียุคเก่าที่ไม่มีเอ๊าต์พุต HDMI ก็สามารถใช้เอ๊าต์พุต Optical (TOSLINK) แทนได้ แต่ถ้าเป็นทีวียุคเก่ามากๆ ที่มีแต่เอ๊าต์พุต analog อย่างเดียวจะเชื่อมต่อไม่ได้เพราะ Dione ไม่มีอินพุตอะนาลอกมาให้ (*ปัจจุบันแทบจะไม่มีทีวียุคเก่าขนาดนั้นแล้ว)
Dione ไม่ได้เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่ออกแบบมาให้ใช้กับทีวีอย่างเดียว คุณสามารถใช้ Dione เป็นลำโพงฟังเพลงได้ และฟังดีด้วย เพราะ Dione ให้อินพุต Ethernet สำหรับรองรับการสตรีมไฟล์เพลงผ่านทางเน็ทเวิร์คมาให้, มีอินพุตไร้สายที่รองรับการสตรีมไฟล์เพลงโดยตรงจากอุปกรณ์เล่นไฟล์เพลงผ่านเข้าทางอินพุต Bluetooth ได้ หรือแม้แต่อินพุต Optical ที่ให้มาก็สามารถรองรับสัญญาณดิจิตัลจากเครื่องเล่นแผ่นซีดี หรือเครื่องเล่นแผ่นดีวีดี/บลูเรย์ได้อีกทางหนึ่ง (กรณีที่คุณใช้ช่อง HDMI เชื่อมต่อกับทีวี)
การควบคุมสั่งงานบนตัวเครื่อง
คุณสามารถควบคุมสั่งงาน Dione ได้ 2 ทาง ทางแรกคือควบคุมผ่านฟังท์ชั่นบนตัวเครื่องโดยตรง ซึ่งปุ่มปรับสั่งงานทั้งหมดถูกติดตั้งไว้ทางด้านซ้ายของตัวถัง ฟังท์ชั่นการทำงานของแต่ละปุ่มกดแสดงความหมายด้วยสัญลักษณ์ ไล่จากปุ่มบนสุดรูปไมโครโฟนนั้นมีไว้ให้ใช้เปิด/ปิดไมโครโฟนตอนปรับจูนเสียงของตัวซาวนด์บาร์ด้วยวงจร room calibration ที่มากับตัวเครื่อง (สั่งผ่านแอพลิเคชั่น), ปุ่มถัดลงมาคือปุ่มกดเพื่อเชื่อมต่อ (pairing) Dione กับอุปกรณ์พกพาของคุณด้วยคลื่น Bluetooth, ถัดลงมาที่เป็นสัญลักษณ์ + มีไว้สำหรับกดเพิ่มความดัง, ถัดลงมาคือปุ่มที่ใช้กดหยุดเล่นเพลงและกดซ้ำเพื่อเล่นต่อ และถ้ากดปุ่มนี้ค้างไว้ 6 วินาทีเป็นการ reset ตัว Dione เข้าสู่โหมดที่ปรับตั้งมาจากโรงงาน, ถัดลงมาอีกที่มีสัญลักษณ์ – สำหรับใช้กดเพื่อลดความดังของเสียง และล่าสุดคือปุ่มกดเพื่อสลับอินพุตระหว่าง HDMI กับ Optical และถ้ากดปุ่มนี้ค้างไว้ 7 วินาที เป็นการเข้าสู่โหมดสแตนด์บาย
การควบคุมสั่งงานผ่านแอพลิเคชั่น
รีโมทไร้สายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วสำหรับ Devialet พวกเขาพัฒนาแอพลิเคชั่นออกมาให้ใช้ในการควบคุมสั่งงานตัว Dione ซึ่งมันทำอะไรๆ ได้มากกว่ารีโมทไร้สายเยอะ และที่สำคัญคือสะดวกกว่ามาก..!! คุณไม่ต้องเจอกับปัญหาการควบคุมสั่งงานที่จำกัดองศาการยิงคลื่นจากรีโมท และปัญหารีโมทหายอีกต่อไป แค่ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ‘Devialet’ มาติดตั้งลงบนอุปกรณ์พกพาของคุณเท่านั้น รีโมทที่มีประสิทธิภาพสูงก็จะอยู่ในกำมือของคุณทันที และพร้อมรับใช้คุณตลอดเวลา
แอพ Devialet เป็นแอพฯ ฟรีที่มีทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android บนนั้นมีทั้งฟังท์ชั่นใช้งานครบทุกด้าน ทั้งที่ใช้ในการปรับตั้งค่าต่างๆ ของตัว Dione, ใช้เลือกแหล่งอินพุต และใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงด้วย
ส่วนที่ใช้ปรับตั้งการทำงานของตัวเครื่องจะอยู่ในหัวข้อ ‘SETTINGS’ ซึ่งภายในนั้นมีหัวข้อเมนูหลักๆ ให้ดูและปรับตั้งอยู่ทั้งหมด 3 หมวด ด้วยกัน นั่นคือ A = AUDIO SETTINGS, B = ADVANCED SETTINGS และ C = PRODUCT INFORMATION
ในหัวข้อ AUDIO SETTINGS มี 3 เมนูย่อย คือ ปรับเลือกโหมดเสียงที่ใช้กับแหล่งต้นทางต่างๆ (Per source settings), เปิดใช้ฟังท์ชั่น Room calibration และใช้/ไม่ใช้ฟังท์ชั่น Night mode ส่วนหัวข้อ ADVANCED SETTINGS ก็มีอยู่ 3 เมนูย่อย คือ เลือกลักษณะการติดตั้งตัว Dione ในการใช้งานจริง, เปิด/ปิดการใช้งานไมโครโฟนที่ใช้ปรับจูนเสียง และปรับตั้งสถานะของไฟ LED บนตัว Dione (Auto – Always On – Always Off) สุดท้ายหัวข้อ PRODUCT INFORMATION เป็นที่แสดงข้อมูลจำเพาะ และข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับตัว Dione
ฟังท์ชั่น Room Calibration
เป็นฟังท์ชั่นที่ใช้ปรับจูนลักษณะเสียงของ Dione ที่ชดเชยเข้ากับสภาพอะคูสติกโดยรอบตำแหน่งที่ติดตั้งลำโพงเซอร์ราวนด์ตัวนี้ ซึ่งเป็นฟังท์ชั่นที่ควรจะทำการปรับจูนหลังจากติดตั้งลำโพงเสร็จก่อนใช้งาน เพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมนั้นๆ ส่วนขั้นตอนในการปรับจูนก็ง่ายมาก แค่เข้าไปกดเลือกในหัวข้อ AUDIO SETTINGS แล้วกดเลือก ‘Start’ หลังจากนั้นจะมีเสียงวี้ดดังขึ้นมาแค่ไม่กี่วินาทีก็เสร็จ… ง่ายและเร็วกว่าที่คิดเยอะเลย.!!!
Dione มีโหมดเสียงสำเร็จรูปไว้ให้คุณเลือกใช้กับแหล่งต้นทางต่างๆ จำนวน 3 โหมด ได้แก่
1. Movie = ทำการอัพมิกซ์สัญญาณอินพุตดิจิตัลทั้งโมโนและสเตริโอให้ออกมาเป็นระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1.2 แชนเนล ซึ่งโหมดนี้เหมาะกับการใช้ดูหนังหรือฟังเพลงจากคอนเสิร์ต
2. Music = ใช้ฟังเพลงที่สัญญาณอินพุตเข้ามาเป็น stereo 2 ch ด้วยระบบเสียงสเตริโอตามต้นฉบับ
3. Voice = ปรับเสียงพูดให้ชัดเจน เหมาะกับฟังข่าวหรือรายการสัมภาษณ์, สนทนา
คุณสามารถเลือกตั้งโหมดเสียงให้กับอินพุตแต่ละช่องได้โดยอิสระ นอกจากนั้น คุณยังสามารถเปลี่ยนชื่อ Dione ให้ตรงกับสถานที่ติดตั้งใช้งานได้ด้วย เพื่อให้รู้ว่ากำลังใช้งานอุปกรณ์ตัวไหน ป้องกันความสับสนกรณีที่คุณมีผลิตภัณฑ์ของ Devialet มากกว่าหนึ่งตัวใช้งานร่วมกันในเน็ทเวิร์คเดียวกัน แต่คนละโซน
ใช้แอพ Devialet ในการฟังเพลง
ไม่ว่าคุณจะต้องการฟังเพลงจากแหล่งไหน จะเป็นสตรีมจากออนไลน์ TIDAL, Spotify หรือดึงไฟล์จาก NAS server หรือจะยิงตรงจากสมาร์ทโฟนด้วย Bluetooth หรือจากการเล่นแผ่นซีดีผ่านเครื่องเล่นซีดีเข้าทางช่อง Optical เมื่อคุณเข้าไปที่หัวข้อ ‘SOURCES’ บนแอพฯ คุณจะพบกับตัวเลือกทั้งหมดอยู่บนนั้น เป็นการออกแบบที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ทำให้แอพฯ ตัวนี้ใช้งานง่ายมาก ให้เวลาทดลองแค่ไม่กี่นาทีก็เริ่มจับทางมันได้
ที่หน้าเมนู SOURCES บนแอพฯ Devialet จะแยกอินพุตเอาไว้เป็น 3 กลุ่มคือ ONLINE, AUX และ BLUETOOTH ซึ่งกลุ่ม ONLINE จะรวมเอาการสตรีมไฟล์เพลงจากแหล่งต่างๆ เข้ามา เป็นการสตรีมโดยผ่านทาง Wi-Fi / Ethernet ไม่ว่าจะเป็นสตรีมจาก TIDAL, Spotify ฯลฯ รวมถึงยิงตรงจากอุปกรณ์พกพาของคุณผ่านทาง Airplay ด้วย ส่วนอินพุต AUX ก็คือ HDMI กับ Optical นั่นเอง
ทดลองสตรีมไฟล์เพลงผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
ต้องการฟังเพลงจากการสตรีมผ่านแหล่งไหน เมื่อจิ้มลงไปที่หัวข้อนั้น จะปรากฏคำแนะนำในการสตรีมขึ้นมา ผมทดลองจิ้มลงไปที่หัวข้อ UPnP แอพฯ Devialet แนะนำให้เปิดแอพฯ > เล่นเพลงบนแอพฯ นั้น > เลือกเอ๊าต์พุตของแอพฯ นั้นมาที่ ‘TV Room’ ซึ่งเป็นชื่อที่ผมตั้งไว้ให้กับ Dione ตัวนี้
บน iPhone 12 ของผมมีแอพฯ 8Player Pro ที่ใช้เล่นไฟล์เพลงอยู่ ผมทดลองใช้แอพฯ 8Player Pro ดึงไฟล์เพลงของผมที่อยู่ใน NAS มาเล่นแล้วส่งสัญญาณ PCM ไปให้ Dione (ที่ผมตั้งชื่อไว้ว่า TV Room) ในห้องรับแขก ปรากฏว่าสามารถเล่นได้อย่างลื่นไหล ไม่มีปัญหาใดๆ สามารถควบคุมการเล่นเพลงและควบคุมความดังผ่านแอพฯ 8Player Pro ได้เลย
นอกจากแอพฯ 8Player Pro แล้ว บน iPhone 12 ของผมยังมีแอพฯ Mconnect อยู่อีกหนึ่งตัว ซึ่งเป็นแอพฯ เพลเยอร์ที่รองรับมาตรฐาน UPnP เหมือนกัน เมื่อทดลองเล่นไฟล์เพลงมาที่ Dione จึงทำงานได้ปกติเหมือนแอพฯ 8Player Pro ทุกประการ ซึ่งน่าจะสรุปได้ว่า Dione รองรับสัญญาณจากการเล่นไฟล์เพลงผ่านแอพลิเคชั่นเล่นไฟล์เพลงที่รองรับมาตรฐาน UPnP ได้หมด
สตรีมไฟล์เพลงจากสมาร์ทโฟน iOS มาที่ Dione โดยตรงผ่าน AirPlay
สำหรับคนที่ใช้อุปกรณ์พกพา (สมาร์ทโฟน/แท็ปเล็ต) ของค่ายแอ็ปเปิ้ล คุณสามารถสตรีมไฟล์เพลงที่เล่นด้วยแอพฯ เล่นไฟล์เพลงบนตัวอุปกรณ์แล้วส่งตรงมาที่ Dione ได้ผ่านทาง AirPlay
ผมทดลองใช้แอพฯ Onkyo HF Player ที่ผมใช้ฟังเพลงบน iPhone 12 ของผมเป็นประจำทดลองเล่นเพลงแล้วสตรีม (render) สัญญาณไปที่ Dione ปรากฏว่าทุกอย่างดำเนินไปด้วยความราบลื่น ขณะเล่นเพลงแล้วสตรีมมาที่ Dione คุณจะสามารถเลือกรูปแบบเสียงที่ฟังได้ 3 แบบผ่านแอพฯ Devialet (ในวงกลมสีแดงรูปล่างสุด) ระหว่างระบบเสียง stereo มาตรฐานที่เป็นรูปตัวโน๊ต, ระบบเสียงที่เน้นเสียงกลางให้เด่นขึ้นมาเป็นพิเศษที่เป็นจุดสามจุดอยู่ในเครื่องหมายคำพูด และระบบเสียงเซอร์ราวนด์ Dolby Atmos 5.1 ch แบบ ‘immersive sound’ ที่ให้สนามเสียงแผ่กว้างและอบอวล สามารถเลือกรูปแบบเสียงได้ตามใจชอบ
สตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL
Dione รองรับ TIDAL connect ผมทดลองเล่นไฟล์เพลงจาก TIDAL ด้วยแอพฯ ของ TIDAL เองยิงมาที่ Dione โดยตรง ทุกอย่างก็ไหลลื่น ลองเลือกไฟล์เพลงที่มีความละเอียดระดับ Master ก็เล่นได้และเสียงออกมานวลเนียนดีมาก
สตรีมไฟล์เพลง Dolby Atmos จาก Apple Music
เนื่องจากตัว Dione ถูกออกแบบมาให้รองรับระบบเสียง Dolby Atmos 5.1.2 ch โดยธรรมชาติ เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพในข้อนี้ ผมจึงทดลองใช้ iPhone 12 ของผมสตรีมไฟล์เพลงจาก Apple Music แล้วเลือกไปที่หัวข้อเพลงที่เข้ารหัส Dolby Atmos มาลองฟังผ่าน Dione เปรียบเทียบกับฟังเป็นระบบเสียงสเตริโอ 2 ch ซึ่งสามารถจิ้มเลือกบนหน้าจอของแอพฯ Devialet โดยตรง ผลคือเสียงที่ได้ยินจากฟอร์แม็ต Dolby Atmos 5.1.2 ch ดีกว่าฟอร์แม็ต stereo 2 ch มาก เสียงโดยรวมออกมาเปิดกระจ่าง เบสลงลึกและมีน้ำหนัก กลาง–แหลมลอยไม่จม โดยรวมออกมาดีกว่าการสตรีมด้วยสัญญาณสเตริโอ 2 แชนเนลแล้วเลือกให้ Dione ทำอัพมิกซ์ (up mixing) ให้เป็นฟอร์แม็ต Dolby Atmos มากมาย
สรุปคือ ถ้าสตรีมเข้ามาเป็นสัญญาณ stereo 2 ch เลือกโหมดสเตริโอธรรมดาฟังดีที่สุด แต่ถ้าอยากฟังเสียงที่ออกมาดีเป็นพิเศษ ให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการฟังเพลง แนะนำให้เลือกฟังฟอร์แม็ต Doby Atmos บน Apple Music จะได้อารมณ์ที่หลุดไปอีกแบบ เชื่อว่าหลายคนจะชอบ.!
เสียงของ Dione
สิ่งที่ทำให้เกิดความประหลาดใจมากหลังจากที่ได้ทดลองฟังเสียงของลำโพงซาวนด์บาร์ตัวนี้ก็คือ “เสียงทุ้ม” ซึ่งเป็นเสียงทุ้มที่ลงลึกมาก เป็นพยานสำคัญว่าสเปคฯ ที่ระบุไว้ว่าลงได้ถึง 24Hz นั้นไม่ใช่ราคาคุยซะแล้ว นอกจากความลึกของเสียงทุ้มแล้ว ยังมี “ความแน่น” ของมวลเสียงทุ้มที่รู้สึกได้ชัดตามมาด้วย ซึ่งแหล่งที่มาของมวลเบสที่อิ่มและแน่นแบบนั้นได้มาจากไดเวอร์ขนาด 134 ม.ม. จำนวน 8 ตัวที่ออกแบบให้ทำงานแบบ push-push คือหันหลังชนกันแล้วดันออกพร้อมกันทั้งหน้า/หลัง ทำให้ได้มวลเสียงทุ้มที่อิ่มแน่น (*ระยะวางลำโพงห่างผนังหลังมีผลกับเสียงทุ้มด้วย) และเสียงทุ้มที่หนาแน่นของ Dione ยังช่วยโอบอุ้มสนามเสียงให้มีลักษณะฉ่ำและอิ่ม ไม่แห้งและไม่บาง
คุณสมบัติที่น่าประทับใจข้อที่สองคือสนามเสียงที่แผ่กว้างและหลุดลอย สามารถยกสนามเสียงขึ้นไปอยู่บนจอทีวีได้อย่างน่าทึ่ง ตลอดการรับฟังภาพยนตร์จาก Netflix เรื่อง extraction กับเรื่อง Okja ที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos ผมไม่รู้สึกเลยว่าเสียงออกมาจากตัวลำโพง เพราะลำโพงซาวนด์บาร์ตัวนี้สามารถสร้างสนามเสียงที่แผ่กว้างออกมาจนครอบคลุมพื้นที่ระหว่างทีวีกับโซฟาที่ผมนั่งชมไว้ได้หมด เสียงที่ได้ยินมีมิติ มีตื้น–ลึก ไม่แบน เสียงสนทนาลอยเด่นขึ้นมา ในขณะที่มีเสียงเอ็ฟเฟ็กต์ปูเป็นแบ็คกราวนด์อยู่ด้านหลัง พอผมทดลองสลับไปฟังเสียงจากทีวี ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นหายวับไปกับตา.! ความรู้สึกต่างกันราวฟ้ากับเหว..!!!
แอพลิเคชั่น Devialet ทำงานได้อย่างราบลื่น สามารถรองรับการทำงานร่วมกับแอพฯ UPnP ได้หลากหลายโดยไม่มีปัญหา จุดนี้ถือว่าเยี่ยมยอดมาก เพราะมันทำให้ผมสามารถฟังเพลงได้จากหลายแหล่ง เสียงที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เด่นตรงที่มีฐานของเสียงทุ้มค่อยหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด ฟังแล้วไม่รู้สึกแห้งบาง โดยเฉพาะเมื่อฟังเพลงที่เข้ารหัส Dolby Atmos ใน Apple Music มันให้อรรถรสของเพลงที่น่าฟัง เสียงเปิดและลอยขึ้นมา รายละเอียดเด่นชัดมากขึ้นโดยเฉพาะในย่านทุ้มและแหลม เปิดดังๆ แล้วมันมาก..!!
สรุป
ลำโพงซาวนด์บาร์ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ 2 อย่าง อย่างแรกคือต้องการอัพเกรดคุณภาพเสียงของทีวีให้เข้าใกล้กับการฟังผ่านระบบเสียงเซอร์ราวนด์แบบ discrete แยกแชนเนลอิสระ ส่วนอีกจุดประสงค์ก็เพื่อทำให้ชุดเครื่องเสียงที่เป็นระบบเสียงเซอร์ราวนด์มีรูปลักษณ์ที่เล็กกระทัดรัด ลดจำนวนลำโพงให้เหลือแค่ตัวเดียว ติดตั้งง่ายไม่รกรุงรัง
หลังจากได้ทดสอบใช้งานจริงมานานแรมเดือน ผมยอมรับว่า Devialet รุ่น Dione ตัวนี้เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่ตอบโจทย์ทั้งสองข้อข้างต้นได้อย่างครบถ้วน คือมันไม่แค่ลดรูปแบบความยุ่งเหยิงของชุดเซอร์ราวนด์ 5.1 ch แบบเดิมๆ ให้เหลือแค่เพียงลำโพงชิ้นเดียว แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ใช้ในการออกแบบ Dione ตัวนี้ ผนวกกับซอฟท์แวร์ DSP ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ Dione ตัวนี้เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่ให้ผลลัพธ์ทางเสียงเกินล้ำไปกว่าจุดประสงค์เดิมที่ผู้ให้กำเนิดลำโพงซาวนด์บาร์คิดไว้ซะอีก..!!!
ใครที่กำลังมองหาลำโพงซาวนด์บาร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในทุกด้าน ทั้งดูหนังและฟังเพลง ผมแนะนำให้หาโอกาสไปทดลองสัมผัส Dione ก่อนตัดสินใจ แล้คุณจะเข้าใจว่าเพราะอะไรลำโพงซาวนด์บาร์รุ่นนี้ถึงได้รับคำชมไปทั่ว.. /
**********************
ราคา : 95,990 บาท / ตัว
**********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บ. Deco2000 โทร. 089-870-8987
facebook: @DECO2000Thailand