รีวิวเครื่องเสียง Ediscreation รุ่น Silent Switch OCXO เน็ทเวิร์ค สวิทช์ระดับไฮเอ็นด์ฯ

นี่คืออุปกรณ์เสริมที่คนเล่นมิวสิค สตรีมมิ่ง ต้องมีครับ..! เป็นอุปกรณ์เสริมตัวแรกที่ผมกล้าฟันธงแบบนี้ เพราะหลังจากได้มีโอกาสทดสอบเน็ทเวิร์ค สวิทช์ไปแล้วหลายตัว และยังได้ทดลองใช้งานในซิสเต็มของตัวเองมานานนับปี ผมจึงมั่นใจที่จะฟันธงไปแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่หยิบตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์เข้าไปเสริมในซิสเต็มหลังจากแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพเสร็จ ผมพบว่าตัว Network Switch เข้าไปทำให้คุณภาพเสียงโดยรวมของซิสเต็มนั้นๆ ดีขึ้นเสมอ มากน้อยไปตามระดับราคาของตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนั้น

เน็ทเวิร์ค สวิทช์ที่ผมเคยทดสอบไปแล้วก็มีของ Clef Audio รุ่น StreamBRIDGE ราคาอยู่ที่หกพันกว่าบาท (REVIEW), ส่วน Silent Angel รุ่น Boon N8 (REVIEW) กับ NuPrime รุ่น Omnia SW-8 (REVIEW) สองตัวนี้ราคาหมื่นต้นๆ กับเฉียดสองหมื่น ซึ่งประสิทธิภาพที่ผมพบ มันแสดงออกมาให้เห็นความแตกต่างไปตามระดับราคา ทว่า ผลที่มีต่อเสียงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Ediscreation รุ่น Silent Switch OCXO
อีกระดับขั้นของเน็ทเวิร์ค สวิทช์สำหรับงานออดิโอ

Network Switch ไม่ใช่ของใหม่ มันถูกใช้งานอยู่ในวงการ IT และวงการคอมพิวเตอร์มานานมากแล้ว เพิ่งจะถูกนำมาใช้ในวงการเครื่องเสียงก็ในยุคที่วงการเครื่องเสียงเริ่มใช้ระบบสตรีมมิ่งเข้ามาเป็นแหล่งต้นทางสัญญาณของซิสเต็มนี่แหละ

ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ที่อยู่ในระดับราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาทที่พบเห็นอยู่ในตลาดทุกวันนี้ทั้งหมดจะใช้วิธีแกะเอาไส้ในของตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ที่ออกแบบมาใช้กับวงการไอทีและคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ทำการโมดิฟายด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นที่มีคุณภาพสูงกว่าลงไปแทน เปลี่ยนตัวถังจากพลาสติกเป็นโลหะ มีการออกแบบภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์เข้ามาเสริม ในขณะที่ตัว Silent Switch OCXO ของแบรนด์ Ediscreation ตัวนี้ได้ฉีกกฏเกณฑ์มาตรฐานขึ้นไปอีกระดับ โดยใช้วิธีสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ใช้วิธีโมดิฟายจากไส้ในของตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ที่ใช้ในวงการไอที/คอมพิวเตอร์เหมือนกับตัวที่มีราคาต่ำกว่า และแน่นอนว่า รูปร่างหน้าตาและขนาดตัวเครื่องก็ถูกออกแบบมาให้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไปดูกับว่ามันต่างมากแค่ไหน…

ทางขวามือคือรุ่น Bonn N8 ของ Silent Angel ส่วนทางซ้ายมือนั่นคือ Silent Switch OCXO ของ Ediscreation

หน้าตาของเน็ทเวิร์ค สวิทช์ของแบรนด์ Ediscreation ตัวนี้เรียบง่ายมากๆ บนแผงหน้ามีแค่ปุ่ม power อยู่แค่ปุ่มเดียว ตอนกดเปิดเครื่อง ตัวปุ่มจะบุ๋มลงไปในเบ้าเล็กน้อยแล้วมีไฟสีฟ้าสว่างขึ้นมารอบๆ ตัวปุ่ม ดูคลาสสิกดี ตอนจะปิดเครื่องก็แค่กดปุ่มนี้ซ้ำลงไปเท่านั้น ตัวถังเครื่องทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม มิติสัดส่วนของตัวถังอยู่ในขนาดปานกลาง ความกว้างของแผงหน้าประมาณเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของตัวถังเครื่องปกติ ส่วนความสูงอยู่ที่ 8.5 .. ใกล้เคียงกับความสูงของอุปกรณ์ประเภทปรีแอมป์ หรือเครื่องเล่นซีดีโดยทั่วไป เนื้องานหน้าปัดทำออกมาได้ดีพอสมควร ปัดผิวและลงดำ ดูขรึมดี

เหลือบมาดูที่บั้นท้ายแล้วอยากจะหันออกมาโชว์แทนด้านหน้าจริงๆ มันดูพิเศษไฮโซฯโปรเฟสชั่นแนลมาก ไล่ตั้งแต่ตัวขั้วต่อแจ็คของสาย LAN ที่ไม่เหมือนกับขั้วต่อสาย LAN ที่ใช้ในเน็ทเวิร์ค สวิทช์ระดับสองหมื่นลงไป ซึ่งตัวที่ใช้ใน Silent Switch OCXO ตัวนี้ดูไฮโซฯ กว่ามาก มีระบบกลไกที่ใช้ล็อคหัวแจ็คของสาย LAN ด้วย กลไกที่ใช้กดล็อคดูคล้ายกับกลไกที่ใช้กับขั้วต่อสายสัญญาณบาลานซ์ XLR ซึ่งมันช่วยให้หัวแจ็คของสาย LAN ตรึงแน่นอยู่กับช่องเสียบอย่างมั่นคง ไม่ต้องกลัวหลุดเลย อันนี้ตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า น่าจะส่งผลดีกับเสียงด้วย เพราะกรณีที่หัวแจ็คตรึงแน่นอยู่กับขั้วต่อได้สนิทแนบแบบนี้ น่าจะทำให้หน้าสัมผัสระหว่างตัวนำของหัวแจ็คกับตัวนำที่ช่องรับของตัวSilent Switch OCXO เบียดชิดกันตลอดเวลา มีผลกับอิมพีแดนซ์ (ความต้านทาน) ระหว่างตัวนำทั้งสองมีค่าคงที่ตลอดเวลา ส่งผลดีต่อการรับส่งข้อมูลระหว่างต้นทางของสาย LAN กับตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ที่ไหลลื่น ต่อเนื่อง ตัดปัญหาอาการวูบวาบไปตามอิมพีแดนซ์บนหน้าสัมผัสของตัวนำที่ไม่แนบแน่นออกไปได้สนิท

ไฮไล้ท์ของตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนี้อยู่สวิทช์โยก (ศรชี้ในภาพ) ที่ให้มาเพื่อใช้เลือกอ๊อปชั่นระหว่าง เชื่อมต่อ” (connect) กราวนด์จากสาย LAN เข้ากับขั้วต่อที่ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ กับ แยกกันเด็ดขาด” (isolate) คือไม่ต่อสัญญาณกราวนด์จากสาย LAN มาที่ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ ซึ่งเป็นฟังท์ชั่นพิเศษของตัว Silent Switch OCXO ที่มีมาให้ใช้แก้ปัญหากราวนด์ลูปที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุดเครื่องเสียง เพราะการเอาระบบเน็ทเวิร์คที่ปกติใช้งานอยู่ในวงการไอที/คอมพิวเตอร์มาใช้กับชุดเครื่องเสียงโดยมากมักจะพบกับปัญหาของสัญญาณรบกวน (noise) ที่เกิดจากอุปกรณ์ในระบบเน็ทเวิร์คฯ อย่างเช่น router และ modem ซึ่งสร้าง noise ในระดับความถี่สูงแทรกเข้ามาได้ ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนี้เล็งเห็นปัญหานี้ จึงได้ออกแบบฟังท์ชั่นที่ใช้ในการควบคุมการเชื่อมต่อระบบกราวนด์ที่ว่านี้ขึ้นมา

สาเหตุที่ทาง Ediscreation ออกแบบระบบต่อ/ตัดกราวนด์จากระบบเน็ทเวิร์คมาไว้ที่ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนี้ก็เพราะว่า ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์เป็นอุปกรณ์ที่ อยู่ใกล้กับชุดเครื่องเสียงมากที่สุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ในระบบเน็ทเวิร์ค ดังนั้น ถ้าอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ในระบบเน็ทเวิร์คมีกราวนด์รั่วอยู่ในระบบปริมาณ มากกว่าปริมาณกราวนด์รั่วที่เกิดขึ้นในชุดเครื่องเสียง ผู้ใช้ก็ควรสับสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง ‘isolateเพื่อตัดเส้นทางของกราวนด์จากระบบเน็ทเวิร์คไม่ให้แพร่กระจาย (ผ่านทางสาย LAN) มาถึงชุดเครื่องเสียงได้ แต่ในทางกลับกัน กรณีที่เกิดกราวนด์รั่วในชุดเครื่องเสียงจำนวนมากกว่าปริมาณกราวนด์ที่เกิดขึ้นในระบบเน็ทเวิร์ค ผู้ใช้ก็ควรจะสับสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง ‘connectเพื่อเปิดทางให้ปริมาณไฟรั่ว (กราวนด์) ในชุดเครื่องเสียงไหลถ่ายเทออกไปทางระบบกราวนด์ของชุดเน็ทเวิร์ค

แต่ในกรณีที่ต้องการใช้ตัว Silent Switch OCXO เป็น สะพานถ่ายเทกราวนด์ของชุดเครื่องเสียงให้ไหลไปลงดิน (earth) คุณต้องหาสายกราวนด์มาเชื่อมต่อตรงจุดที่ Silent Switch OCXO ทำไว้ให้ (ศรชี้ด้านบน) แล้วโยงสายกราวนด์ (เส้นสีแดงในภาพด้านบน) ไปที่จุดถ่ายกราวนด์บนตัวกรองไฟ หรือจุดต่อกราวนด์ที่อยู่ใกล้กับจุดต่อแท่งกราวนด์ลงดินให้มากที่สุด กรณีที่บ้านผมใช้ระบบกราวนด์ที่ไปอ้างอิงกับระบบกราวนด์ของการไฟฟ้าที่เดินลงเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน ซึ่งผมโยงสายกราวนด์จากตู้เมนหลักชั้นสองลงมาที่ตู้เมนย่อยในห้องฟังแล้วกระจายไปที่เต้ารับบนผนังห้องฟังทุกตัว เมื่อเอาสายไฟเอซีแบบ IEC สามขาแยกกราวนด์เสียบจากเต้ารับบนผนังไปที่ตัวกรองไฟ PowerBRIDGE 6 ของ Clef Audio นั่นก็เท่ากับว่า ขั้วต่อสายกราวนด์ของ PowerBRIDGE 6 ทำตัวเป็นสะพานที่ใช้ถ่ายเทสัญญาณกราวนด์ของชุดเครื่องเสียง+อุปกรณ์ในระบบเน็ทเวิร์คออกไปจากระบบนั่นเอง ในกรณีนี้ ผมพบว่า การสับสวิทช์ Ground ของ Silent Switch OCXO ไปที่ตำแหน่ง Isolate เพื่อแยกกราวนด์ของเน็ทเวิร์คฯ ไม่ให้แพร่มาถึงชุดเครื่องเสียงให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีกว่า

ดีไซน์ภายใน

ตัว Silent Switch OCXO ตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานกับเครื่องเสียงโดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ มันจึงได้รับการออกแบบในบางจุดที่เน้นเป็นพิเศษมากกว่าเน็ทเวิร์ค สวิทชิ่งที่ใช้ในงานไอที/คอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งความแตกต่างที่ส่งผลกับคุณภาพเสียงอย่างมากก็เช่นการเลือกใช้ภาคจ่ายไฟเลี้ยงแบบ Linear Power Supply ในการจ่ายไฟเลี้ยงการทำงานของวงจรหลักๆ ของตัวเครื่อง และใช้ DC regurator แบบ LDO (Low-dropout regurator) กับภาคจ่ายไฟสำหรับการทำงานของ clock oscillator ชนิด OCXO (Oven Controlled Oscillator ซึ่งเป็นระบบ clock ที่ให้ความแม่นยำสูงกว่าชนิด TCXO) เพื่อให้ระบบ clock OCXO ทำงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ให้ความผิดพลาดทางด้านไทมิ่งที่ต่ำมาก อยู่ในพิกัดแค่ 0.25 – 0.35 พิโคเซคกัล เท่านั้น.!!!

นอกจากระบบป้องกันกราวนด์ลูปจากอุปกรณ์เน็ทเวิร์คไม่ให้แทรกเข้าไปถึงชุดเครื่องเสียงแล้ว ก็ยังมีระบบ clock OCXO ที่มีความแม่นยำสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่โดดเด่นของเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนี้

การเชื่อมต่อ Silent Switch OCXO ในระบบเครื่องเสียง
สำหรับการสตรีมไฟล์เพลง

ลักษณะจุดต่อสาย LAN บนผนัง

ที่ห้องฟังของผมติดตั้งจุดต่อสาย LAN เอาไว้บนผนังทั้งหมด 3 จุด จุดแรกอยู่บนผนังบริเวณด้านหลังตำแหน่งวางลำโพง (ดูภาพประกอบข้างบน) ตรงนี้สำหรับใช้กับอุปกรณ์ประเภท all-in-one หรือ Streamer DAC ที่มีภาคแอมปลิฟายในตัว ส่วนจุดที่สองอยู่บนผนังด้านข้างขวามือของตำแหน่งนั่งฟัง ใกล้กับชั้นวางเครื่องเสียง จุดนี้ไว้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ประเภท Streamer+DAC+Pre อย่างเช่น Audiolab รุ่น Omnia หรือใช้กับตัว Streamer Transport อย่างเช่น Roon รุ่น Nucleus หรือ Primare รุ่น NP5 Prisma MK II (REVIEW)

ส่วนจุดเชื่อมต่อสาย LAN จุดที่สามอยู่ที่ผนังด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง ตรงมุมด้านซ้าย ซึ่งตรงนั้นผมมีโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ริปแผ่นซีดีและติดตั้ง NAS ที่ใช้เก็บไฟล์เพลงไว้ตรงนั้น จุดเชื่อมสาย LAN ตรงจุดนี้ก็ทำไว้เพื่อใช้เชื่อมต่อ NAS เข้ากับระบบเน็ทเวิร์คนั่นเอง ซึ่งจุดเชื่อมต่อสาย LAN ทั้งสามจุดนี้ผมใช้วิธีลากสาย LAN เดินยาวมาจากตัว router/modem ของ AIS โดยตรง เรื่องสัญญาณรบกวนจึงเจอเต็มๆ ทั้ง noiseในระบบที่มาจาก router และ noiseนอกระบบที่มาจากคลื่นขยะต่างๆ ในอากาศ ต้องหาตัว network switch เข้ามาต่อพ่วงระหว่างจุดรับสาย LAN บนผนังห้องก่อนจะไปเข้าที่ตัวอุปกรณ์เครื่องเสียง ซึ่งจุดที่ผมใช้งานประจำก็คือจุดที่ 2 ตรงด้านข้างชั้นวางเครื่องเสียง กับจุดที่ 3 ใกล้โต๊ะคอมฯ ตรงมุมห้องด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง ส่วนตำแหน่งที่ 1 บนผนังด้านหลังตำแหน่งวางลำโพงนั้นจะใช้กับตัว all-in-one ที่มีสตรีมเมอร์ในตัวเท่านั้น

เริ่มทดลองฟังเสียง

ซิสเต็มที่ผมใช้ทดสอบประสิทธิภาพของตัว Silent Switch OCXO ประกอบด้วยตัวออลอินวันรุ่น Omnia ของ Audiolab (REVIEW) ซึ่งผมให้มันทำหน้าที่เป็น USB-DAC + Preamp โดยรับสัญญาณดิจิตัลมาจาก Roon : nucleus+ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเน็ทเวิร์ค สตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ต ผ่านทางเอ๊าต์พุต USB ของ nucleus+ โดยใช้สาย USB ของ Kimber Kable รุ่น Copper เป็นสะพานเชื่อม จากนั้นก็ดึงสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจากช่อง Pre-Out ของ Omnia ผ่านสายสัญญาณยาว 6 เมตรรุ่น Gold MK II ของ Life Audio ไปเข้าที่อินพุตของเพาเวอร์แอมป์ Quad รุ่น Artera Stereo Poweramp เพื่อขับลำโพง Monitor Audio รุ่น Silver 100 Limited Edition (REVIEW) โดยมีสายลำโพงของ Kimber Kable รุ่น 12TC เป็นสะพานถ่ายทอดพลังจากเพาเวอร์แอมป์ไปที่ลำโพง

ก่อนจะนำตัว Ediscreation เข้าไปเชื่อมต่อในระบบเพื่อทดสอบ ผมทดลองฟังเสียงของชุดสตรีมเมอร์ที่ไม่มีตัว network switch เข้าไปอยู่ในระบบก่อน ปลดออกหมดทุกจุด ต่อสาย LAN จาก nucleus+ และจาก NAS ตรงเข้าที่ router ผ่านทางจุดรับสาย LAN บนผนังห้องตามภาพด้านบน ซึ่งบอกเลยว่า ไม่ต้องฟังนาน เพราะที่ผ่านมาผมฟังแบบมีตัว network switch คั่นอยู่ทุกช่วงระหว่างจุดรับสาย LAN บนผนังกับอุปกรณ์เน็ทเวิร์คมานานเป็นปีแล้ว พอปลดตัว network switch ออกไปจากระบบ เสียงโดยรวมแย่ลงมากกว่า 20% น้ำหนักเสียงบางเบาลงไป ฐานเสียงไม่แน่น ฟังแล้วเสียงมีลักษณะลอยๆ การย้ำเน้นน้ำหนักกระแทกของหัวเสียงหายไปเยอะ โฟกัสก็เหมือนจะมีอาการเบลอมัวลงไป รสชาติของเพลงจืดชืดลงไปเลย

ทดลองเอา roon: nucleus ต่อผ่าน Silent Switch OCXO อย่างเดียว

ผมแยกการทดลองฟังเสียงของ Silent Switch OCXO ออกเป็น 2 แบบ แบบแรกตามภาพด้านบน คือให้ตัว Silent Switch OCXO ช่วยกรอง noise และปรับ clock ให้กับตัว roon: nucleus+ อย่างเดียว ส่วนตัว NAS ผมยังต่อตรงเข้าที่ router เหมือนเงื่อนไขที่ลองฟังทีแรก ผลที่เกิดขึ้นกับเสียงผมพบว่า น้ำเสียงโดยรวมดีขึ้นมากในทุกด้าน อย่างแรกที่สัมผัสได้ชัดมากคือ ลักษณะความเปิดโล่งของสนามเสียง ซึ่งน่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากปริมาณ noise ในระบบเน็ทเวิร์คที่ลดลงนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกัน หลังจากเอาตัว Silent Switch OCXO ตัวนี้เข้าไปคั่นระหว่าง router กับ Roon nucleus+ ผมพบว่าเสียงของซิสเต็มมันเปลี่ยนไปในลักษณะที่มี น้ำหนักเสียงดีขึ้น ฟังโดยรวมจะคล้ายๆ กับเสียงมีพลังมากขึ้น คือมันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าทุกเสียงตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้มทั้งหมดได้รับ พลังงานจากแอมป์มากขึ้น ซึ่งน่าแปลกมาก.. เพราะตัว Silent Switch OCXO ไม่ได้เข้าไปอยู่ในช่วงการทำงานของภาคแอมป์ฯ สักหน่อย แต่ทำไมมันถึงให้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกับการเปลี่ยนแอมป์ฯ ที่มีคุณภาพดีขึ้น.?

จริงๆ แล้วตอนทดลองฟังเพื่อเก็บรายละเอียดผลการทำงานของตัว Silent Switch OCXO ผมใช้เพลงหลากหลายรูปแบบจำนวนเยอะมาก แต่ตอนฟังเพื่อสรุปผลทางด้านประสิทธิภาพของตัว Silent Switch OCXO ผมเจาะจงเลือกเพลงคอมเมอร์เชี่ยล 2 เพลงมาใช้ฟังเปรียบเทียบอย่างเข้มข้น เพลงแรกคือเพลง ‘The Power Of Loveของ Celine Dion กับเพลง ‘I’ll Will Alway Love Youของ Whitney Houston เหตุผลที่ผมเลือกสองเพลงนี้มาใช้ตัดสินประสิทธิภาพของตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนี้ก็เพราะว่าเพลงคอมเมอร์เชี่ยลสองเพลงนี้มีช่วงการสวิงไดนามิกที่เปิดกว้างมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นแนวทางของ David Foster ที่ทำหน้าที่โปรดิวซ์สองเพลงนี้ และเนื่องจากเพลงแนวคอมเมอร์เชี่ยลที่ใช้วิธีบันทึก/มิกซ์เสียงผ่านการขยายสัญญาณด้วยวงจรอิเล็กทรอนิคมาค่อนข้างแรง เกนสัญญาณจึงค่อนข้างสูง สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการแผดจ้าได้ง่ายเมื่อเปิดฟังที่ระดับความดังสูงๆ กับซิสเต็มเครื่องเสียงที่มีปริมาณ nosie ในระบบเยอะๆ ถ้าตัว Silent Switch OCXO มีส่วนช่วยลด noise ในระบบเพลย์แบ็คได้จริง เสียงที่ได้จากเพลงทั้งสองเพลงนี้ควรจะออกมาแบบมีพลังแต่สะอาดหู (ตอนทดสอบผมเปิดฟังค่อนข้างดัง)

อัลบั้มชุด ‘The Best Of Celine Dion & David Foster

หลังจากเอาตัว Silent Switch OCXO เข้าไปเชื่อมต่อในระบบ เสียงโดยรวมก็มีลักษณะที่ เปิดโล่งมากขึ้นทันที พื้นเสียงใสขึ้น จากนั้นก็ส่งผลต่อเนื่องมาที่ ความกระจ่างชัดของแต่ละเสียงที่เด้งตัวออกมาให้ได้ยินมากขึ้น อาการเบลอๆ มัวๆ ของโฟกัสก็ทุเลาลงไป ทำให้รับรู้ถึงตำแหน่งของตัวเสียงได้ชัดขึ้น ที่ผมรู้สึกพอใจมากก็คือ อารมณ์ของเพลงที่ผมสัมผัสได้ดีกว่าตอนไม่มี Silent Switch OCXO เยอะมาก เสียงร้องของ Celine Dion ในเพลง ‘The Power Of Loveจากอัลบั้มชุด The Best Of Celine Dion & David Foster ลอยออกมาจากกลุ่มของเสียงดนตรีแบ็คอัพมากขึ้นและมีพลังอัดฉีดออกมามากกว่าตอนไม่มีตัว Silent Switch OCXO อย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้ดีขึ้นมากๆ โดยเฉพาะความลื่นไหลของช่วงสวิงไดนามิกจากจุดที่แผ่วเบาค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปถึงจุดพีคที่พุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด

ผมทดลองสลับไปมาอยู่ 3-4 รอบ ระหว่าง ใส่กับ ไม่ใส่ตัว Silent Switch OCXO เข้าไปในระบบ โดยใช้เพลง The Power Of Love เพลงนี้เพลงเดียวในการฟังตัดสินก็เพียงพอที่จะสรุปผลได้เลยว่า ถ้าไม่มีตัว Silent Switch OCXO เข้ามาอยู่ในซิสเต็มนี้ ผมต้องสูญเสียคุณภาพเสียงของชุดนี้ไปไม่ต่ำกว่า 20% ที่แย่ที่สุดก็คือ อารมณ์ของเพลงซึ่งตอนมี Silent Switch OCXO ติดตั้งอยู่ในระบบเน็ทเวิร์ค ยิ่งฟังนานยิ่งได้อารมณ์ที่ซึมลึกลงไปเรื่อยๆ แต่พอปลดเอาตัว Silent Switch OCXO ออกไปจากระบบ ผมพบว่า อารมณ์เพลงมันจะชืดลงไปทันที พอฟังไปนานๆ จะเริ่มรู้สึกเบื่อ เป็นผลมาจากไดนามิกคอนทราสน์ที่แย่ลงตอนไม่มีตัว Silent Switch OCXO อยู่ในระบบนั่นเอง (***ไดนามิกคอนทราสน์นี่แหละคือหัวใจของความเป็นดนตรี!)

อัลบั้มชุด ‘I Will Always Love You – The Best Of Whitney Houston

เพื่อให้ชัวร์จริงๆ ผมทำการสลับใช้/ไม่ใช้ตัว Silent Switch OCXO กับการทดลองฟังด้วยเพลง ‘I Will Always Love Youอีกเพลง เพลงนี้เป็นเพลงโชว์พลังเสียงของนักร้องผิวสีคนสวย Whitney Houston ซึ่งเป็นผลงานการโปรดิวซ์ของ David Foster ที่ได้ชื่อว่าเป็น นักปั้นจอมซาดิสม์ ที่ชอบใช้วิธีดึงศักยภาพของนักร้องที่เขาโปรดิวซ์ออกมาให้ถึงจุดสูงสุดของความสามารถเท่าที่ศักยภาพของนักร้องคนนั้นมีอยู่ด้วยการเรียบเรียงดนตรีโหดๆ ดันเร้นจ์ของเสียงร้องให้พุ่งขึ้นไปถึงระดับสูงสุด แม้จะดูว่าโหด แต่ก็เป็นวิธีที่เดวิด ฟรอสเตอร์ทำให้นักร้องหลายคนประสบความสำเร็จในอาชีพของการเป็นศิลปินนักร้องระดับโลกมาแล้วหลายคน บางคนนั้นแทบจะเรียกได้ว่า ชีวิตพลิกผันกันเลยทีเดียวหลังจากที่ได้เดวิด ฟรอสเตอร์มาโปรดิวซ์ให้ นักร้องดังๆ ที่ผ่านฝีมือการปั้นของเดวิดมาแล้วก็อย่างเช่น Peter Cetera, Celine Dion, Whitney Houston, Josh Groban, Michael Buble, Katharine McPhee ฯลฯ

เพลง I’ll Always Love You เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่วิทนี่ย์ ฮุสตันกำลังอยู่ในช่วงพีค และเดวิด ฟรอสเตอร์ใช้เพลงนี้เป็นเครื่องมือรีดประสิทธิภาพเสียงร้องของวิทนี่ย์ออกมาได้อย่างหมดจดมาก ช่วงโหนเสียงในเฟสท้ายๆ ของเพลงเธอทำออกมาได้ดีเยี่ยมไม่มีที่ติ ปลายเสียงร้องที่วิทนี่ย์ส่งทะยานไปจนสุดเพดานมันขึ้นไปเปล่งประกายค้างเติ่งอยู่นาน เหมือนกับพลุที่ค่อยๆ พุ่งทะยานขึ้นไปบนฟ้าแล้วไประเบิดกระจายตัวอยู่บนนั้น แก้วเสียงของเธอสุกสกาวเหมือนดาวเหนือที่สดใสและเปี่ยมไปด้วยพลัง… ที่บรรยายมาข้างต้นนี้คือสิ่งที่ผมสัมผัสได้หลังจากเอาตัว Silent Switch OCXO เข้าไปคั่นระหว่าง router กับตัว Roon nucleus+ ตอนฟังเพลง I’ll Alway Love You แทรคนี้.!!

ทดลองเอาทั้ง roon: nucleus และ NAS ต่อผ่าน Silent Switch OCXO

การทดลองฟังแบบที่ 2 ผมย้ายสาย LAN จาก NAS ที่เคยต่อตรงเข้าไปที่ router มาเสียบผ่านตัว Silent Switch OCXO ในขณะที่ Roon nucleus+ ก็ยังคงเสียบสาย LAN อยู่ที่ตัว Silent Switch OCXO เหมือนเดิม นั่นก็เท่ากับว่าตัว Silent Switch OCXO รับภาระในการสื่อสารและรับ/ส่งสัญญาณของอุปกรณ์เน็ทเวิร์คฯ สองเครื่องพร้อมกัน

หลังจากเชื่อมต่อสาย LAN เสร็จ ผมก็เริ่มทดลองฟังเพลง ‘The Power Of Love’ กับเพลง ‘I’ll Alway Love Youซ้ำอีกที ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก นั่นคือเสียงที่ออกมาดูจะ แย่ลงกว่าตอนที่เสียบเฉพาะ Roon nucleus+ ผ่านตัว Silent Switch OCXO แค่ตัวเดียวอยู่นิดหน่อย แม้ว่าผลจะไม่ชัดมาก ตอนแรกเหมือนเสียงจะไม่ต่างกัน แต่พอฟังต่อเนื่องไปสักพัก จะรู้สึกว่า ความเปิดโล่งของสนามเสียงไม่ดีเท่ากับตอนที่ใช้ตัว Silent Switch OCXO กับ Roon nucleus+ อย่างเดียวแปลกมาก..???

หลังจากทดลองฟังสลับไปสลับมาอยู่หลายรอบ ผมก็มั่นใจว่าที่ได้ยินไม่ผิดแน่ แต่ถ้าถามถึงเหตุผลผมก็ตอบให้ไม่ได้ ณ ตอนนี้ว่ามันเป็นเพราะอะไร.? ถ้าให้เดา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อมีอุปกรณ์เน็ทเวิร์คฯ เข้าไปเชื่อมต่ออยู่บนตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์จำนวนหลายตัวพร้อมกัน ทำงานพร้อมกัน อาจจะทำให้โปรเซสเซอร์ในตัว network switch ตัวนั้นต้องรับภาระในการประมวลผลที่หนักกว่ามีอุปกรณ์เชื่อมต่ออยู่แค่ตัวเดียว อีกอย่าง พอมีอุปกรณ์เน็ทเวิร์คฯ หลายๆ ตัวเข้ามาต่อพ่วงกับตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวเดียวกัน ก็คงทำให้ระบบ clock ในตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ต้องรับภาระมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่ามีโอกาสที่จะทำให้เสียงโดยรวมแย่ลงได้.. แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่การคาดเดาของผมเท่านั้น ยังไม่ยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่ค่อนข้างมั่นใจกับผลลัพธ์ทางเสียงที่ได้ยินจากการทดลองสลับไปสลับมาหลายรอบ ซึ่งสาเหตุที่ต้องฟังสลับไปมาหลายรอบเป็นเพราะว่าความแตกต่างมันไม่ได้เยอะมาก เพียงแต่ผมพบว่า ทุกครั้งที่เชื่อมต่ออุปกรณ์เน็ทเวิร์คเพิ่มเข้าไปที่ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์จากหนึ่งตัวเป็นสองตัว มันทำให้เสียงโดยรวมมีลักษณะที่แย่ลงเสมอ แม้จะแย่ลงแค่เล็กน้อยแต่ผมก็ไม่ได้ยินส่วนที่ดีขึ้นอย่างที่คาดคิดว่าถ้าเอาอุปกรณ์เน็ทเวิร์คที่ทำงานร่วมกัน ทุกชิ้นมาเสียบผ่านตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ทั้งหมดแล้ว เสียงโดยรวมน่าจะดีขึ้น (ก็ตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์มีรูให้เสียงอุปกรณ์ตั้งเยอะ!) แต่จากการทดลองฟังแล้วพบว่ามันไม่ได้เป็นไปตามที่คาด เสียบรวมกันได้ แต่เสียงแย่ลง ซึ่งอาการนี้ผมพบกับ network switch ทุกเครื่อง ตัวอื่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ในซิสเต็มปัจจุบันผมใช้วิธีต่อคั่นด้วยตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์กับอุปกรณ์ทุกชิ้นที่เชื่อมต่อมาจากตัว router ซึ่งผมพบว่าเป็นวิธีที่ทำให้ได้เสียงโดยรวมออกมาดีที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณมากที่สุดเหมือนกัน ถ้าคุณไม่ซีเรียสมาก ใช้ network switch ที่มีคุณภาพดีหน่อยแล้วต่อพ่วงอุปกรณ์รวมกันก็ได้ อย่างตัว Silent Switch OCXO ของ Ediscreation ตัวนี้ ถ้าใช้แค่สตรีมเมอร์กับ NAS ต่อพ่วงกันจริงๆ เสียงก็ดีกว่าไม่มีตัว network switch อยู่ในระบบมากแล้ว แต่ถ้าต้องการอะไรที่มัน “สุดติ่ง” จริงๆ ดีขึ้นไปอีกประมาณ 5-10% ก็ต้องแยกชิ้นละตัวไปเลยครับ ส่วนเหตุผลทางเทคนิคก็ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องนำไปค้นหาคำตอบกันต่อไป ตอนนี้ยังตอบไม่ได้อย่างที่เกริ่นมานั่นแหละ

ในการทดลองฟังเสียงครั้งนี้ซึ่งเป็นกรณีสมมุติว่าใช้ตัว Silent Switch OCXO แค่ตัวเดียว ผมพบว่า เมื่อต่อใช้งานตัว Silent Switch OCXO คั่นไว้ระหว่างตัว router กับตัวสตรีมเมอร์คือ Roon nucleus+ ตัวเดียวมันให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีกว่า จึงใช้ลักษณะการเชื่อมต่อแบบนี้ในการประเมินผลทางเสียงของตัว EdiscreationSilent Switch OCXO ครั้งนี้

สรุป

หลังจากทดสอบตัว Silent Switch OCXO ตัวนี้ไปแล้ว ผมก็ยิ่งมั่นใจกับข้อสรุปที่ว่า อุปกรณ์ประเภท Network Switch เป็นอุปกรณ์เสริมที่ จำเป็นสำหรับชุดสตรีมมิ่งที่ต้องการ คุณภาพเสียงที่ดี และจากการทดลองฟังเปรียบเทียบระหว่างตัว Silent Switch OCXO กับ Bonn N8 ที่ผมใช้อยู่เดิม พบว่าตัว Silent Switch OCXO ทำให้เสียงของซิสเต็มออกมาดีกว่าตัว Bonn N8 ขึ้นไปอีกหลายเปอร์เซ็นต์ ทำให้พอจะได้แนวทางว่า อุปกรณ์ประเภทเน็ทเวิร์ค สวิทช์ก็มีระดับขั้นของคุณภาพที่ลดหลั่นกันไปตามระดับราคาลักษณะเดียวกับอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทอื่นๆ เหมือนกัน ใครมีงบถึงสามหมื่นกว่าก็มาที่ตัว Silent Switch OCXO ได้เลย /

***************
ราคา : 39,000 บาท / เครื่อง
***************
จำหน่ายโดย
Prestige HiFi
โทร. 063-638-4498
Line ID: TMY168-2

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า