ประสิทธิภาพในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณเสียงของสาย Ethernet ที่ใช้ในการเชื่อมต่อเพื่อรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณสำหรับระบบเน็ทเวิร์คมีอยู่หลายระดับ ขึ้นอยู่กับมาตรฐาน หรือ CATEGORY โดยเริ่มจาก CAT5, CAT5e, CAT6, CAT6a, CAT7 และล่าสุดคือ CAT8 ซึ่งประสิทธิภาพของสาย Ethernet แต่ละ CATEGORY จะมีความแตกต่างในประเด็นสำคัญๆ อยู่ 2 ประการ คือ “ปริมาณในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณ” กับ “ระยะทำการ”
จากภาพด้านบนซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสาย Ethernet CAT6, CAT7 และ CAT8 ล่าสุด จะเห็นว่า “สปีดในการรับ/ส่งข้อมูล” (และสัญญาณ) จะสูงขึ้นเมื่อ CAT สูงขึ้น ซึ่งน่าสังเกตว่า จาก CAT6 มาถึง CAT7 ประสิทธิภาพในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณไม่ได้เพิ่มเติมขึ้น คือจาก CAT6 ที่รับ/ส่งได้สูงสุดเท่ากับ 10Gbps ที่ระยะทำการ “ไม่เกิน” 37-55 เมตร ซึ่งใน CAT7 แค่ปรับปรุงให้สปีดในการรับ/ส่งฯ ได้เต็ม 10Gbps ตลอดระยะทำการ 100 เมตร เท่านั้น ในขณะที่ CAT6 ถ้าเดินสายยาว 100 เมตร สปีดในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณจะตกลงมาเหลือแค่ 1Gbps แค่นั้นเอง
สเปคฯ ของสาย LAN หรือสาย Ethernet (จริงๆ แล้วต้องเรียกชื่อเต็มๆ ว่า “Gigabit Ethernet”) CAT8 เป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุด จะเห็นว่ามันมีประสิทธิภาพในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณได้ “สูงกว่า” CAT6 และ CAT7 มาก คือถ้าวัดกันที่ระยะทำการ (ความยาวของสาย) อยู่ที่ 30 เมตร สาย CAT8 จะสามารถรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณได้มากกว่า CAT7 ถึง 2 เท่าครึ่ง.!! คือ 25Gbps (Class I ต่อด้วยหัว RJ45)
เปรียบเทียบลักษณะสาย CAT6a (สีขาว) กับ CAT8 (สีเหลือง)
ต้องยอมรับว่า การติดตั้งระบบเน็ทเวิร์คในบ้านเป็นงานที่ควรจะอาศัยผู้ชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งระบบที่บ้านผมนับว่าโชคดีที่ได้คุณอึ่ง เพื่อนนักเล่นฯ และมีอาชีพเป็นผู้ติดตั้งระบบเน็ทเวิร์คให้กับโรงงานอุตสาหกรรมมาช่วยดูแลให้ คุณอึ่งเลือกใช้สาย Ethernet CAT6a เดินแยกจาก Router ของผู้ให้บริการ AIS ที่รับมาจากสายไฟเบอร์ภายนอกเข้ามาที่ห้องฟังโดยตรง ซึ่งความยาวระหว่าง router เข้าไปที่ห้องฟังอยู่ราวๆ 40 – 50 เมตร ประเมินว่าน่าจะได้สปีดในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณอยู่ที่แถวๆ 10Gbps เหตุผลที่ไม่ไปถึง CAT8 ในตอนนั้น (ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา) เนื่องจากในขณะนั้นสาย CAT8 ยังไม่แพร่หลาย และที่มีอยู่ในขณะนั้นก็มีราคาสูงมากๆ ยังไม่คุ้มกับการลงทุน นอกจากเดินสาย CAT6a ในผนังแล้ว คุณอึ่งยังทำสาย Ethernet CAT6a สำหรับเชื่อมต่อระหว่างเต้ารับสาย LAN บนผนังกับเครื่องเสียงมาให้ผมใช้คู่กันด้วย
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คุณอึ่งแจ้งผมว่า ทางแบรนด์ LINK ผู้ผลิตสาย Ethernet รายใหญ่ของโลกเริ่มมีสาย CAT8 ออกมาขายสำหรับงานติดตั้งระบบเน็ทเวิร์คแล้ว และคุณอึ่งได้ประกอบสายมาให้ผมทดลองฟังด้วย..
ขั้วต่อ RJ45 ที่คุณอึ่งใช้กับสาย CAT8 ที่ต่อมาให้ลองฟัง
ตัวสาย CAT8 ที่คุณอึ่งทำมาให้ลองฟัง
ผมสังเกตว่า สาย CAT8 ที่คุณอึ่งทำมาให้ลองฟังนี้มีขนาดภายนอกไม่ต่างจากสาย CAT6a ที่ผมใช้อยู่เดิม ส่วนขั้วต่อ RJ45 ก็มีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวที่ติดมากับสาย CAT8 ตัวบอดี้ทำด้วยโลหะในขณะที่ตัวที่ติดมากับสาย CAT6a ที่ผมใช้อยู่เดิมตัวบอดี้ทำด้วยพลาสติก ซึ่งคุณอึ่งบอกว่า ขั้วต่อที่มากับ CAT8 คุณภาพดีกว่าแบบที่มากับ CAT6a เส้นเดิม
ทดลองฟัง
คุณอึ่งทำสาย Ethernet CAT8 มาให้ผมทดลองฟังทั้งหมด 3 เส้น ยาว 2 เมตร x 1 เส้น, ยาว 1 เมตร x 2 เส้น ผมใช้เส้นที่ยาว 2 เมตรเชื่อมต่อจากเต้ารับบนผนังด้านข้างที่อยู่ใกล้กับชั้นวางเครื่องเสียงไปเข้าที่ network switch ยี่ห้อ Silent Angel รุ่น Bonn N8 (REVIEW) จากนั้นก็ใช้เส้นที่ยาว 1 เมตรเชื่อมต่อจากตัวเน็ทเวิร์คสวิชท์ Bonn N8 ไปเข้าที่ roon รุ่น nucleus+ (REVIEW) ที่ผมใช้งานเป็นเน็ทเวิร์ค ทรานสปอร์ตประจำอยู่ในระบบ
ส่วนอีกเส้นที่ยาว 1 เมตร ผมเอาไว้เชื่อมต่อระหว่างเต้ารับบนผนังด้านหลังลำโพงไปที่อุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีอินพุต network streaming ในตัวอย่างพวก all-in-one หรือ network DAC
ผมทดลองฟังสาย CAT8 ทั้งสามเส้นมานานหลายเดือนแล้ว นับเวลาก็เกิน 200 ชั่วโมง ไปนานแล้ว ซึ่งในตอนแรกที่เปลี่ยนเข้าไปขณะที่ยังไม่เบิร์นก็พบว่าเสียงโดยรวมเปิดโปร่งมากขึ้น แต่ทางด้านสมดุลเสียงยังไม่ดีเท่ากับสาย CAT6a เดิมที่ผมใช้มานานแรมปี ต้องเบิร์นฯ ไปประมาณ 40-50 ชั่วโมง เสียงก็ดีขึ้นหลายๆ จุด อย่างแรกคือ สมดุลเสียงดีขึ้น ได้ความถี่ในย่านกลางลงไปต่ำที่อิ่มหนาและมีปริมาณมากขึ้นใกล้เคียงกับความถี่ในย่านสูง ได้อัตราสวิงของไดนามิกเร้นจ์ที่กว้างขึ้น และได้การไล่ระดับของไดนามิกคอนทราสน์ที่ราบเรียบต่อเนื่องมากขึ้น ได้การตอบสนองความถี่ของระบบที่เปิดกว้างขึ้นทั้งทางด้านล่าง (เบสลึกๆ) และทางด้านบน (ปลายเสียงแหลม) และพบว่า เสียงในย่านแหลมมีลักษณะการเก็บตัวดีขึ้น อาการฟุ้งๆ ที่ได้ยินตอนแรกลดน้อยลงไปจนเกือบหมด (เมื่อใช้งานต่อเนื่องมาอีกระยะ จนเข้าใกล้ 100 ชั่วโมงอาการฟุ้งๆ ที่ปลายเสียงแหลมก็แทบจะไม่มีเหลือ)
หลังจากสาย CAT8 ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องมานานเกิน 100 ชั่วโมง ใกล้ๆ 200 ชั่วโมงผมก็เริ่มทดลองฟังเทียบกับสาย CAT6a เดิม พบว่า สาย CAT8 ให้เสียงที่ดีกว่าใน “ทุกด้าน” แม้ว่าในช่วงแรกที่เปลี่ยนสาย CAT6a ลงไปแทน CAT8 ผมได้ยินว่าเสียงโดยรวมมีลักษณะที่นุ่มลง แต่จริงๆ แล้ว เสียงในย่านแหลมมันถูกฟิลเตอร์หายไป ไม่เปิดกระจ่างออกมา ทำให้เสียงโดยรวมมีลักษณะที่อึมครึม และสาย CAT6a ก็ให้อัตราสวิงของไดนามิกเร้นจ์แคบกว่า ทำให้ความสดของเสียงไม่แสดงตัวออกมาอย่างเต็มที่ เมื่อเปลี่ยนเอา CAT8 ลงไปแทน อาการอึมครึมที่ปกคลุมเสียงทั้งหมดหายไป ความถี่ด้านบนเปิดกระจ่างขึ้น ส่งผลให้รายละเอียดของโน๊ตในย่านสูงเผยตัวออกมาได้อย่างเต็มที่ ไดนามิกเร้นจ์และไดนามิกคอนทราสน์ดีขึ้นมาก สวิงตัวได้เต็มสเกลมากขึ้น “โดยไม่มี” อาการแสบหู
จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่เสียงแหลมที่เปิดกระจ่างมากขึ้น เสียงกลางกับเสียงทุ้มก็เปิดกระจ่างออกมามากขึ้นเช่นกัน แต่เนื่องจากเปอร์เซ็นต์ที่เกิดกับเสียงแหลมมันเยอะกว่าและหูของเราก็ไวกับเสียงแหลมมากกว่าความถี่อื่น จึงรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า สรุปแล้ว สาย Ethernet CAT8 ที่คุณอึ่งเอามาให้ผมทดลองฟังมันมีผลช่วยอัพเกรดเสียงของซิสเต็มที่ผมใช้ทดสอบมากเกิน 20% รับรู้ได้ชัดเจนถึงลักษณะของเสียงที่เปิดและโล่งมากขึ้น เป็นความเปิดโล่งที่เกิดจากพื้นเสียงที่ทีความโปร่งใส (transparent) มากขึ้น เมื่อเทียบกับใช้สาย Ethernet CAT6a ตัวเดิม
ความโปร่งใสที่ได้มาทำให้ผมได้ยินเสียงแต่ละเสียงที่มีความชัดเจน เจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดยิบย่อยได้มากขึ้น โดยเฉพาะรายละเอียดที่ระดับความดังต่ำๆ ก็ไม่จมหายไป ส่วนรายละเอียดที่ระดับสวิงสูงสุดของไดนามิก (ระดับพีค) ก็เปิดตัวออกมาได้เต็มเหนี่ยว ไม่มีอั้น และไม่มีอาการแตกปลาย (clip) ด้วย ความรู้สึกโดยรวมเหมือนเอาน้ำยาเช็ดกระจกไปเช็คกระจกหน้าต่างยังไงยังงั้น.. และความชัดเจนที่ได้มาก็ไม่ได้มีลักษณะของการ push หรือดันเสียงเหล่านั้นให้เด้งเด่นออกมาข้างหน้าอย่างผิดธรรมชาติเหมือนการใช้ EQ ปรับแต่ง หากแต่สาย Ethernet CAT8 ชุดนี้มันยังคงรักษาความเป็นสามมิติของรูปวงเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ผมยังคงรับรู้ได้ถึงการจัดวางตำแหน่งของชิ้นดนตรีที่มีเลเยอร์ตื้น–ลึกเป็นชั้นๆ ยังคงรับรู้ได้ถึงลักษณะของโถงฮอลล์ที่ใช้ในการบันทึกเสียงเพลงคลาสสิกหลายๆ อัลบั้มที่เอามาลองฟังกับสาย Ethernet CAT8 ชุดนี้ สุดท้ายคือผมไม่พบผลข้างเคียงในแง่ลบใดๆ จากสาย Ethernet CAT8 ชุดนี้เลย
สรุป
ปัจจุบัน ผมได้เปลี่ยนเอาสาย Ethernet CAT8 สีเหลืองที่คุณอึ่งทำมาให้ลองเข้ามาประจำการในซิสเต็มทดสอบแทนสาย Ethernet CAT6a ชุดเดิมที่เคยใช้อยู่เป็นที่เรียบร้อย
เนื่องจากผมเห็นว่า ในท้องตลาดยังมีสาย Ethernet CAT8 ให้เลือกน้อย ผมยุให้คุณอึ่งทำสาย Ethernet CAT8 แบบนี้ออกมาขาย ซึ่งคุณอึ่งก็แบ่งรับเแบ่งสู้ ไม่ได้รับปากเต็มคำ เหตุผลก็เพราะว่ามีงานประจำทำอยู่แล้ว เกรงว่าจะไม่สามารถรับออเดอร์ได้เต็มที่ แต่ถ้าเพื่อนๆ อยากได้ไปลองใช้ก็ลองติดต่อสอบถามคุณอึ่งเอาเอง จากการที่ผมพยายามคะยั้นคะยอถามถึงราคาของสาย Ethernet CAT8 ถ้ามีคนอยากได้จริงๆ คุณอึ่งบอกผมว่า น่าจะอยู่ที่ เส้นละ 1,650 บาท ต่อความยาว 1 เมตร ซึ่งผมว่าเป็นราคาที่ไม่ใช่การค้าแน่นอน เหมือนเพื่อนทำให้เพื่อนใช้มากกว่า แต่คุณต้องโทรฯ ไปติดต่อสอบถามอีกทีที่ เบอร์ 065-636-1529 (คุณอึ่ง)
จากการทดลองครั้งนี้ ด้วยสาย Ethernet CAT8 ของแบรนด์ Link ผมสรุปยืนยันได้ว่า สาย Ethernet CAT8 มีผลดีต่อเสียงมากกว่า CAT ที่ต่ำกว่าเยอะจนรับรู้ได้ง่ายๆ มันทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยากรู้ว่า ถ้าเป็นสาย Ethernet CAT8 ของแบรนด์ไฮเอ็นด์ที่ออกแบบโดยเน้นคุณภาพเสียงมากขึ้นไปอีกระดับ เสียงที่ออกมาจะไปได้ไกลอีกแค่ไหน.? /
********************