ลำโพงทุกตัวในโลกนี้ต้องมี ‘Tranducer’ หรือ “ไดเวอร์” เป็นส่วนประกอบหลัก เพราะไดเวอร์คือ “หัวใจหลัก” ของลำโพงทุกตัว หน้าที่ของไดเวอร์คือทำหน้าที่ผลักอากาศเพื่อสร้างให้เกิดคลื่นเสียงที่แผ่จากตัวลำโพงออกไปถึงผู้ฟัง
ลำโพงจำเป็นต้องมี “ตู้” หรือไม่.? ขึ้นอยู่กับ “ลักษณะการออกแบบ” เป็นสำคัญ ไดเวอร์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นไดเวอร์แบบแผ่น ที่ใช้ไดอะแฟรมที่ทำมาจากแผ่นไมล่าร์บางๆ หรือไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกที่ใช้ไดอะแฟรมทำมาจากวัสดุหลากหลายประเภท อย่างเช่นกระดาษ, แผ่นอะลูมิเนียม, ไฟเบอร์ชุบเคลือบด้วยผงเซรามิก ฯลฯ สามารถทำงานสร้างคลื่นเสียงออกมาได้โดยไม่ต้องอาศัยตู้มาช่วย..
แล้วเหตุใด ลำโพงส่วนใหญ่ต้องมีตู้.? กรณีที่ต้องการ “ความดัง” แผ่นไดอะแฟรมของไดเวอร์จะถูก “ผลัก” และ “ดึง” อย่างรุนแรงเมื่อถูกขับด้วยระดับวอลลุ่มสูงๆ ทำให้คลื่นเสียงที่เกิดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังของไดเวอร์มีความดังมากขึ้น ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มีเฟสตรงข้ามกัน ถ้าเป็นดีไซน์ที่ต้องการใช้คลื่นเสียงที่แผ่ไปด้านหลังของไดเวอร์เข้ามาช่วยเสริม ตู้ก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าผู้ออกแบบไม่ต้องการให้คลื่นเสียงที่แผ่ไปทางด้านหลังของไดเวอร์วกกลับมาผสมกับคลื่นเสียงที่แผ่จากหน้าไดเวอร์ ตู้ลำโพงแบบปิด (closed cabinet) จะถูกนำมาใช้เพื่อเก็บกักคลื่นเสียง “ทั้งหมด” ที่แผ่ไปด้านหลังของไดเวอร์เอาไว้ แต่ถ้าคนออกแบบต้องการอาศัยคลื่นเสียงที่แผ่ไปด้านหลังไดเวอร์ “บางส่วน” เข้ามาเสริมกับคลื่นเสียงที่แผ่ออกไปทางด้านหน้าของไดเวอร์ เขาจะเลือกใช้ตู้แบบเปิด (open port cabinet) ที่มีรูระบายเล็กๆ เข้ามาจัดการกับคลื่นเสียงที่แผ่ออกไปทางด้านหลังของไดเวอร์
ข้อดีของ “ตู้ลำโพง” คือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ออกแบบที่ช่วยทำให้ไดเวอร์ทำงานสร้างความถี่ออกมาได้อย่างมีคุณภาพตามที่ผู้ออกแบบต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าออกแบบไม่ดีพอ ตู้ลำโพงเองก็จะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณภาพเสียงจากไดเวอร์ด้อยลงได้เหมือนกัน..!!
บทบาทของ “ตู้ลำโพง” ที่ส่งผลกับ “เสียง“
แม้ว่า “ตู้ลำโพง” จะไม่ได้มีหน้าที่หลักในการสร้างความถี่เสียง แต่เถียงไม่ได้เลยว่า ตู้ลำโพงมีผลต่อคุณภาพเสียงของลำโพงมาก.. ไม่น้อยไปกว่าคุณภาพของไดเวอร์เองก็ว่าได้ แต่การที่จะทำให้ตู้ลำโพงทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่มี “ผลข้างเคียง” ออกมารบกวนคุณภาพเสียงของไดเวอร์ฯ
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากตู้ลำโพงมีต้นเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ อย่างแรกคือ “รูปทรง+สัดส่วน” ของตัวตู้ ซึ่งตัวตู้ที่มีรูปทรงและสัดส่วนไม่ดีจะทำให้เกิดการก้องสะท้อนของคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นด้านหลังของไดเวอร์แล้วไปตกกระทกลงบนผนังตู้ภายในตัวตู้ เด้งไปเด้งมาจนกลายเป็น “คลื่นสั่นค้าง” (resonant) ที่ไม่สลายตัวไป ซึ่งปัญหาก็คือ เจ้าคลื่นสั่นค้างที่ว่านี้มันจะไป “ขัดขวาง” ต้านทานการขยับเคลื่อนที่ของไดอะแฟรมของไดเวอร์
ปัญหาอีกอย่างที่เกิดจากตู้ลำโพงก็คือ คลื่นเสียงไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจาก “การสั่นของผนังตู้” อันนี้จะเกี่ยวข้องกับ “วัสดุ” ที่ใช้ทำผนังตู้ลำโพง เนื่องจากวัสดุแต่ละชนิดมันจะมี natural frequency ของมันเองตามธรรมชาติอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไม้, เหล็ก, กระจก, อะลูมิเนียม, ทองเหลือง, ซีเมนต์ ฯลฯ เมื่อไดอะแฟรมของไดเวอร์สร้างความถี่ที่ตรงกับ natural frequency ของวัสดุชนิดนั้นๆ ออกมา พลังงานของความถี่นั้นจะไปกระตุ้นให้ผนังตู้เกิดการสั่นขึ้นมา กลายเป็น “คลื่นเสียงส่วนเกิน” ที่แทรกซ้อนเข้าไปรบกวนคลื่นเสียงหลักที่สร้างขึ้นโดยไดอะแฟรมของไดเวอร์ ส่งผลให้เสียงจากไดเวอร์มีคุณภาพที่แย่ลง
วัสดุที่เหมาะสมในการใช้ทำผนังตู้ลำโพงควรจะเป็นวัสดุที่มี natural frequency อยู่ “นอก” ช่วงความถี่ที่ไดเวอร์ทำงาน คือ “สูงกว่า” หรือ “ต่ำกว่า” ย่านความถี่ที่ไดเวอร์ถูกกำหนดให้สร้างออกมา อย่างเช่น ลำโพงที่กำหนดย่านความถี่ตอบสนองอยู่ระหว่าง 40Hz – 20kHz วัสดุที่ใช้ทำตู้ควรจะมี natural frequency ตามธรรมชาติอยู่ในระดับที่ ต่ำกว่า 40Hz ลงไป และ สูงกว่า 20kHz ขึ้นไป นอกจากนั้น วัสดุที่เหมาะสมนำมาใช้ทำตู้ลำโพงควรจะเป็นวัสดุที่มี “ความหนา” และ “ความแน่น” มากพอ เพื่อให้ยากต่อการถูกกระตุ้นโดยความถี่ที่สร้างจากไดเวอร์และถูกกระตุ้นโดยพลังงานความสั่นสะเทือนจากภายนอกด้วย
ตู้แบบไหน ที่ไดเวอร์ต้องการ.?
แนวทางในการออกแบบลำโพงมีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ เอาตัวตู้มา “เสริม” การทำงานของไดเวอร์ กับแนวทางที่สองคือ ตัดอิทธิพลของตัวตู้ออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของไดเวอร์ ซึ่งแนวคิดทั้งสองแนวทางนี้ นำมาซึ่งข้อสรุปในการเลือกใช้วัสดุที่นำมาทำตัวตู้
แนวคิดแบบไหนถูก.? ถ้าพิจารณาจากลำโพงที่ผลิตกันออกมาในตลาดทุกวันนี้แบบผิวเผิน เราอาจจะคิดว่าไม่มีแนวคิดไหนถูกหรือผิด เพราะเราพบว่า ลำโพงที่มีการผลิตออกมาในตลาดปัจจุบันก็ยังมีทั้งลำโพงที่ใช้วัสดุประเภทที่มีคุณสมบัติเรโซแนนซ์ที่ “เสริม” กับการทำงานของไดเวอร์ (อย่างเช่นไม้ MDF) กับลำโพงที่ใช้วัสดุที่ไม่มีเรโซแนนซ์ในย่านเสียงที่ตรงกับการทำงานของไดเวอร์ (อย่างเช่น อะลูมิเนียม และวัสดุสังเคราะห์) มาใช้ทำตู้ลำโพง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีกหน่อย จับลำโพงทั้งหมดในตลาดมาแยกตามระดับราคา เราจะพบว่า ลำโพงที่มีราคาสูงๆ มักจะใช้วัสดุประเภทที่มีเรโซแนนซ์เฉพาะตัว (natural frequency) เกิดขึ้น “นอก” ระดับความถี่ของเสียงดนตรี (20Hz – 20kHz) ทั้งนั้น บ้างก็ใช้โลหะ (Magico), บ้างก็ใช้วัสดุผสม (Estelon, Wilson Audio) ส่วนลำโพงที่ใช้ไม้ทำตู้ส่วนใหญ่จะมีราคาต่ำกว่า เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องต้นทุนด้วย แต่ถ้ามองตามแนวทางที่ลำโพงแพงๆ นำมาใช้ ก็ต้องยอมรับว่า การเลือกวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดเรโซแนนซ์มาทำตู้ลำโพงน่าจะเป็นแนวทางที่มุ่งหวัง “คุณภาพเสียง” ได้มากกว่าวิธีที่ใช้เรโซแนนซ์ของตู้เข้ามาเสริม
Fischer&Fischer
มีดีตรงที่ใช้ “หินชนวน” ทำเป็นตัวตู้ลำโพง.!!
เห็นชื่อของแบรนด์ Fischer&Fischer ครั้งแรกทำให้ผมนึกไปถึงแบรนด์ Fischer ที่ผลิตแอมป์หลอดวินเทจ แต่จริงแล้วเป็นคนละแบรนด์กัน Fischer&Fischer ผู้ผลิตลำโพงที่กำลังพูดถึงในรีวิวนี้เป็นผู้ผลิตสัญชาติเยอรมัน ก่อตั้งเมื่อ ปี 1981 นี้เอง โดย Thomas Fischer กับ Heinz Fischer เป็นเจ้าของผู้ก่อตั้งและดำเนินการออกแบบ+ดูแลการผลิต จุดเด่นของลำโพงของแบรนด์นี้ก็คือใช้ “หินฉนวน” (slate) มาทำเป็นตู้ลำโพง
หินชนวน..!? ใช่แล้วครับ.. เป็นหินธรรมชาติชนิดหนึ่ง
ทำไม Fischer&Fischer ถึงเอาหินฉนวนมาทำผนังตู้ลำโพง.? มันมีดีอย่างไร..?? หรือแค่ต้องการสร้างความแปลกแตกต่างกับคนอื่น.?
ถ้าเข้าไปอ่านข้อมูลในเว็บไซต์ของ Fischer&Fischer เอง () จะรู้ถึงเหตุผลที่พวกเขาเลือกใช้หินฉนวนมาทำตู้ลำโพงซึ่งไม่ใช่เพื่อความแปลก แต่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ จากข้อมูลที่ระบุไว้ในเว็บไซต์นั้นเขาอ้างว่า “Building loudspeakers with natural slate cabinets is most logical.” ประมาณว่า การใช้หินชนวนทำตู้ลำโพงเป็นอะไรที่มีเหตุผลรองรับอย่างมาก
คือยังไง.? ทางผู้ผลิตอธิบายว่า “.. Due to its flaky, layered structure, its negligible re-sounding or re-echoing qualities and its extremely high mass, the material boasts extraordinary acoustic properties.” ประมาณว่าเพราะเนื้อที่ร่วนของหินฉนวน กับโครงสร้างภายในที่แยกเป็นชั้นๆ ซ้อนกัน ทำให้มันมีคุณสมบัติในการดูดซับเรโซแนนซ์ไปในตัว ประกอบกับมวลที่เยอะ มันจึงไม่สร้างเสียง (เรโซแนนซ์) ของมันเองออกมารบกวนการสร้างความถี่เสียงของไดเวอร์ โอ้วว… นี่คือวัสดุสำหรับตู้ลำโพงในอุดมคติเลยนะเนี่ย.??
ครอบครัวของ Fischer&Fischer
แบรนด์นี้ทำลำโพงอย่างเดียว (ณ เวลานี้!) ทั้งตระกูลมีอยู่มากถึง 10 รุ่น แบ่งเป็นลำโพง 2 ทาง, 2.5 ทาง, 3 ทาง, 3 ทางโมดูล่าร์ และ 4 ทางโมดูล่าร์ ทั้งหมดเป็นลำโพงแบบพาสซีฟที่ไม่มีแอมป์ในตัว
2 ทาง = มีอยู่ 3 รุ่น เริ่มจากรุ่นเล็กสุดที่เป็นลำโพงวางบนขาตั้ง ชื่อรุ่นว่า SN/SL 70 กับอีกสองรุ่นเป็นแบบตั้งพื้นคือ SN/SL 170 กับ SN/SL 270
2.5 ทาง = มีรุ่นเดียวคือ SN/SL 370AMT เป็นลำโพงตั้งพื้น
3 ทาง = มีอยู่ 3 รุ่นคือ SN/SL 470, SN/SL 470M และ SN/SL 570 เป็นแบบตั้งพื้นทั้งหมด
4 ทาง = มีอยู่ 2 รุ่นคือ SN/SL 770.1AMT และรุ่น SN/SL 1000.1AMT
รุ่น SN/SL 1000.1AMT เป็นรุ่นใหญ่สุดของแบรนด์นี้ ตัวอักษร ‘AMT’ ที่ห้อยท้ายชื่อรุ่นเป็นสัญลักษณ์ที่กำกับไว้ให้รู้ว่ารุ่นนั้นใช้ทวีตเตอร์ AMT (Air Motion Transformer) ซึ่งถือว่าเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นมาจากเวอร์ชั่นแรกที่ใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดม ถ้าสังเกตจะพบว่า ทั้ง 10 รุ่นจะมีรุ่นที่ใช้ทวีตเตอร์ AMT อยู่แค่ 3 รุ่น คือ SN/SL 370AMT, SN/SL 770.1AMT และรุ่น SN/SL 1000.1AMT เท่านั้น ซึ่งรุ่นล่าสุดที่เปลี่ยนมาใช้ทวีตเตอร์ AMT ก็คือรุ่น SN/SL 270AMT ที่กำลังทำรีวิวตัวนี้นี่เอง ถือว่าเป็นรุ่นเล็กสุดของแบรนด์นี้ที่ใช้ทวีตเตอร์ AMT.!
ทรงทาวเวอร์ Dark, Tall, Slim & Handsome
ก่อนจะลงลึกไปถึงเทคนิคการออกแบบลำโพง Fischer&Fischer SN/SL 270AMT คู่นี้ เรามาพิจารณารูปร่างภายนอกของมันก่อนดีกว่า..
SN/SL 270AMT มาในรูปทรงผอมสูง หน้าแคบวัดได้แค่ 18.4 ซ.ม. เท่านั้น ใครที่ชอบมิติเสียงหลุดตู้ก็น่าจะคาดหวังได้ ความสูงอยู่ที่ 104 ซ.ม. เทียบความสูงของตู้ก็ประมาณเอวของมาตรฐานชายไทย พิกัดรูปทรงก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางลงมาเล็ก เหมาะสมกับการใช้งานภายในห้องที่มีพื้นที่ระหว่าง 3.5 x 5 ตรม. ขึ้นไปจนถึง 4 x 6 ตรม. กำลังสวย
ผนังตู้ของ SN/SL 270AMT คู่นี้ประกบขึ้นด้วยแผ่นหินฉนวนแท้ๆ ทุกด้าน ที่มาของโค๊ด SN = natural slate surface ซึ่งผิวนอกของผนังตู้ด้านซ้ายและขวานั้น ผู้ออกแบบได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สัมผัสกับความขรุขระของหินธรรมชาติ ในขณะที่ด้านหน้าและหลัง รวมถึงด้านในตัดผิวเรียบเพื่อผลทางเสียง ผิวนอกของคู่ที่ผมได้รับมาทดสอบทำสีดำทั้งตัว (ที่มาของโค๊ด SL = polished & lacquered) ตรงมุมฉากแต่ละด้านที่แผ่นหินมาประกบกันถูกปาดตัดมุม 45 องศา ทำให้ดูแล้วไม่แข็งต่อสายตา
ที่ด้านล่างของลำโพงคู่นี้มีทำเป็นฐานล่างไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยใช้ เสากลม 3 เสา รองรับระหว่างตัวตู้ลำโพงกับส่วนฐาน (หน้า 2, หลัง 1) เว้นให้มีช่องว่างระหว่างพื้นตู้ด้านล่างกับแผ่นฐานรองอยู่ประมาณ 4 ซ.ม. ไว้เป็นช่องทางระบายมวลอากาศจากภายในตู้ เพราะเขาเจารูระบายอากาศที่พื้นล่างของตัวตู้ (ศรชี้ในภาพข้างบน) ให้ยิงมวลอากาศจากตัวตู้ลงมากระทบกับแผ่นฐานด้านล่างแล้วกระจายออกไปรอบตัว นี่เป็นเทคนิคการระบายอากาศแบบ down-firing คือยิงลงพื้น ไม่ได้เป็นแบบ back firing คือยิงไปทางด้านหลังเหมือนลำโพงที่เจาะท่อระบายเบสไว้บนแผงหลัง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบเสียงเบสที่ได้จากลำโพงที่เจาะท่อยิงลงพื้นมากกว่า เพราะเซ็ตอัพง่ายกว่า และถ้าผู้ออกแบบลำโพงจูนเสียงเบสที่ระบายออกมาจากท่อที่ยิงลงพื้นให้อยู่ในระดับความถี่ที่ต่ำลงมามากกว่าเสียงเบสที่วูฟเฟอร์ทำงาน จะทำให้เสียงเบสจากท่อระบายเบสไม่ไปรบกวนหัวเบสที่ออกมาจากวูฟเฟอร์ ทำให้ได้หัวเบสที่คมชัดในขณะที่เสียงเบสที่ออกมาจากท่อระบายอากาศจะทำตัวเป็นหางเสียงของเบสที่แผ่ตัวออกไปกว้างๆ กลายเป็นแอมเบี้ยนต์ ฟังแล้วมีบรรยากาศฉ่ำๆ ไม่แห้งแล้ง
ไดเวอร์
SN/SL 270AMT ใช้ไดเวอร์ทำงานร่วมกันทั้งหมด 3 ตัวต่อข้าง เป็นทวีตเตอร์ AMT ขนาด 3.5 x 7.0 ซ.ม. หนึ่งตัว กับไดเวอร์ Mid/Woofer ขนาด 6.5 นิ้ว ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนบนของแผงหน้า ในลักษณะที่เรียกว่า M – T – M (Midrange – Tweeter – Midrange configuration) มิดเร้นจ์ขนาบทั้งบนและล่างของตัวทวีตเตอร์
ตัวทวีตเตอร์ AMT ที่ใช้ในลำโพงรุ่นนี้ไม่ใช่ไดเวอร์เกรดธรรมดาทั่วไปนะ เขาสั่งให้ Mundorf ทำให้เป็นพิเศษ ส่วนตัวไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ทั้งสองตัวนั้นก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน ดูจากรูปก็จะเห็นว่ามันมีความพิเศษอยู่หลายจุด อย่างแรกคือไดอะแฟรมทรงกรวยที่ทอขึ้นรูปด้วยเส้นใยโพลีโพรไพลีนนั้นก็ทั้งแกร่งและเบา ส่วนโครงของไดเวอร์และเฟสปลั๊กรูปทรงกระสุนปืนที่ช่วยควบคุมการขยับตัวเดินหน้า–ถอยหลังของแผ่นไดอะแฟรมให้มีความมั่นคงก็ทำมาจากอะลูมิเนียมกลึงขึ้นรูป ที่มีทั้งความเป๊ะและแข็งแรง นอกจากนั้น ทางผู้ผลิตยังเคลมว่า คอมโพเน้นต์ทุกชิ้นที่ใช้บนวงจรเน็ทเวิร์คก็ผ่านการคัดสรรมาด้วยความพิถีพิถัน เลือกใช้เฉพาะชิ้นส่วนที่มีคุณภาพจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นคาปาซิเตอร์และขดลวดก็ใช้ของ Mundorf จากประเทศเยอรมัน บ้านเดียวกัน..
ถัดจากไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ตัวล่างลงมา จะมีแผ่นพลาสติกสีดำสลักโลโก้กับชื่อแบรนด์ Fischer&Fischer ด้วยตัวอักษรสีเงินติดอยู่ตรงนั้นทั้งสองข้าง ช่วยเพิ่มความสวยคลาสสิกได้อีก
ขั้วต่อสายลำโพง
ขั้วต่อสายลำโพงติดตั้งอยู่บนแผงหลังถัดลงมาทางด้านล่างของตัวตู้ ให้มาคู่เดียวสำหรับใช้กับสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลฯ ซึ่งถูกใจผมมาก.! สามารถลงทุนกับสายลำโพงคุณภาพดีๆ ได้ง่ายหน่อย ไม่ต้องวุ่นวายกับการควานหาจั๊มเปอร์ดีๆ มาใช้ ตัวนำของขั้วต่อชุบด้วยโรเดี้ยม ส่วนตัวขันยึดเป็นพลาสติก มีขนาดใหญ่ ออกแบบรูปทรงรับกับปลายนิ้วทำให้ขันยึดสายได้ง่ายกรณีที่คุณติดตั้งขั้วต่อแบบหางปลาไว้ที่ปลายสายลำโพง แต่ถ้าใครใช้ขั้วต่อแบบแท่งบานาน่า เขาก็ทำช่องเสียบที่อยู่ตรงแกนกลางของขั้วต่อไว้ให้ด้วย ใช้งานง่ายมากและให้การจับยึดที่แน่นหนาดี
แม็ทชิ่ง และลองฟังเสียง
ในสเปคฯ ของ SN/SL 270AMT มีตัวเลขอยู่แค่ 3 – 4 ตัว ที่พอให้เอามาวิเคาะห์หาแนวทางการแม็ทชิ่งกับแอมป์ได้บ้าง หลักๆ ก็มี Impedance หรือ “ความต้านทาน” ซึ่งระบุไว้ที่ 4 โอห์ม แสดงว่าเปิดอัดได้ ซึ่งก็โยงไปถึง “กำลังสำรอง” ของแอมป์ที่ต้องมีอยู่พอสมควรในการที่จะเปิดอัดลำโพงคู่นี้แล้วให้ได้เสียงออกมาในเกณฑ์ที่ดี เมื่อพิจารณาตัวเลข “ความไว” (Sensitivity) เข้ามาร่วมประเมินไปกับความต้านทานก็พบว่า ผู้ผลิตวัดค่าออกมาได้เท่ากับ 89dB (ป้อนด้วยกำลัง 1วัตต์ / วัดด้วยไมโครโฟนที่วางห่างหน้าลำโพงออกไปเท่ากับ 1 เมตร) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลางที่ค่อนไปทางไว (ปานกลางคือช่วง 88 – 90dB) แสดงว่าลำโพงคู่นี้ไม่ต้องการกำลังขับเยอะ.? พิจารณาตามตัวเลขสเปคฯ ทั้งสองตัวข้างต้นก็น่าจะเป็นแบบนั้น แต่ไม่สามารถระบุประมาณการตัวเลขกำลังขับที่เหมาะสมกับลำโพงคู่นี้ได้ เนื่องจากผู้ผลิตไม่ได้ให้ตัวเลขของช่วงกำลังขับ min – max เอาไว้ เลยคำนวนต่อไม่ได้
ตัวเลขความถี่ตอบสนอง (Frequency Reponse) กับ Max. acoustic pressure นั้นพอจะเอาไปใช้เป็นไกด์ไลน์ตอนเซ็ตอัพได้ คือความดังสูงสุดที่ลำโพงคู่นี้รองรับได้อยู่ที่ 112dB ซึ่งปกติก็จะไม่ได้เปิดดังมากถึงขนาดนั้นอยู่แล้ว เป็นการมั่นใจได้ว่า ที่ระดับความดังในการฟังปกติในห้องฟังซึ่งอยู่ระหว่าง 75-80dB โดยเฉลี่ยนั้นไม่ทำให้ลำโพงถูกดันขึ้นไปถึงจุดที่จะเกิดความเพี้ยนเนื่องจากการถูกขับเกินกำลังแน่ๆ
อัลบั้ม : Ballads With LUV (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Salena Jones
สังกัด : JVC
อัลบั้ม : Begin To Hope (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Regina Spektor
สังกัด : Sire Records
ผมทดลองใช้อินติเกรตแอมป์ NAD รุ่น C 399 ขับลำโพงคู่นี้ พบประเด็นน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง คือช่วงแรกผมที่ใช้ภาคสตรีมมิ่งในตัว C 399 เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณอินพุต โดยควบคุมด้วยแอพลิเคชั่น Bluesound ผลของเสียงที่ออกมาพบว่าโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอสมควร ฟังเพลงร้องช้าๆ ที่ใช้เครื่องดนตรีไม่มากชิ้น จังหวะบีทไม่รุกเร้ารุนแรงมาก อย่างอัลบั้มชุด Ballad With Luv ของ Salena Jones ประมาณนี้จะออกมาน่าฟัง ถือว่าสอบผ่านสำหรับการแม็ทชิ่งของแอมป์+ลำโพงคู่นี้ แต่พอสลับมาลองฟังเพลงยุคใหม่ที่มีบีทหนักๆ อย่างงานเพลงของ Regina Spektor ชุด Begin To Hope พบว่าอินพุตในตัว+พลังของ C 399 เพียวๆ ยังคุมวูฟเฟอร์ของลำโพง Fischer&Fischer คู่นี้ได้ไม่เด็ดขาด เบสจะหลวมๆ หน่อย ผมทดลองเปลี่ยนมาใช้ roon nucleus+ สตรีมไฟล์เพลงคู่กับ external DAC ของ Ayre Acoustics รุ่น QB-9 DSD Twenty ที่ผมใช้อ้างอิงส่วนตัวอยู่เข้าไปแทนที่อินพุต Bluesound ของ C 399 โดยป้อนเอ๊าต์พุตของ QB-9 DSD Twenty เข้าทางอินพุต LINE 1 ของ C 399 แล้วลองเล่นไฟล์เพลง ‘On The Radio’ ของ Regina Spektor ที่มีเสียงเบสหนักๆ ปรากฏว่า เสียงออกมาดีขึ้นมาก.! เบสกระชับขึ้นเยอะ ดีดเด้งออกมาเป็นลูกๆ ชิ้นดนตรีและเสียงร้องแยกถ่างออกจากกันมากขึ้น เว้นช่องไฟมากขึ้น ทุกเสียงมีพลังในการขยับเคลื่อนมากขึ้น ฟังแล้วได้อารมณ์เพลงมากขึ้นเยอะเลย นี่แสดงว่า กำลังขับ 180W ที่ 8/4 โอห์ม ของ C 399 ก็สามารถขับดันเสียงของ SN/SL 270AMT ออกมาได้น่าพอใจมากแล้ว ช่วยยืนยันได้ว่าลำโพงคู่นี้ขับไม่ยาก (*เนื่องจากราคาของลำโพงคู่นี้อยู่ในระดับที่ “สูงกว่า” ราคาของ C 399 ประมาณ 4 เท่า.!)
ตอนคุณโจ้ เข้ามาส่งลำโพง SN/SL 270AMT ที่ห้องฟังของผม เขายืนยันว่า อินติเกรตแอมป์ LFD รุ่น NCSE HR ที่ผมเคยรีวิวไป (REVIEW) ซึ่งมีกำลังขับแจ้งไว้ที่ 70W ก็สามารถขับลำโพงฟิชเชอร์แอนด์ฟิชเชอร์คู่นี้ออกมาได้ “หมดจด” เหมือนกัน และเพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นจริงตามที่กล่าวอ้างมา คุณโจ้เลยขอนัดเข้ามาส่งลำโพงด้วยตัวเองและขออนุญาตเซ็ตอัพ LFD NCSE HR + Fischer&Fischer SN/SL 270AMT คู่นี้ให้ผมลองฟังด้วยตัวเองด้วย (*คุณโจ้ จากสำนัก Soundbox คนนี้ก็เป็น “นักปั้นเสียง” ที่มีฝีมือจัดจ้านคนหนึ่งในวงการเครื่องเสียงเมืองไทย)
เนื่องจาก LFD NCSE HR เป็นอินติเกรตแอมป์แบบ pure analog ไม่มีอินพุตดิจิตัลในตัวเหมือนอินติเกรตแอมป์ยุคใหม่ตัวอื่น จึงปราศจากการรบกวนจากการทำงานของวงจรดิจิตัลโดยสิ้นเชิง ในขณะเดียวกัน คุณภาพของแหล่งต้นทางสัญญาณที่ป้อนเข้าไปให้แอมป์ตัวนี้จึงมีผลกับภาพรวมของคุณภาพเสียงที่ได้ออกมาค่อนข้างมาก ตอนคุณโจ้เซ็ตอัพผมป้อนสัญญาณให้ NCSE HR ด้วยสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตที่ได้จากชุดสตรีมมิ่ง roon nucleus+ บวกกับ Ayre Acoustics QB-9 DSD Twenty ผ่านเข้าทางอินพุต AUX 1 ของ NCSE HR ซึ่งเสียงที่ออกมาอยู่ในระดับที่บอกเลยว่า “อะเมธซิ่งมาก!” เมื่อลองฟังงานเพลงของ Salena Jones และ Regina Spektor ซึ่งเป็นสองอัลบั้มที่ใช้ฟังทดสอบแม็ทชิ่งก่อนหน้านี้ ผมพบว่า อย่างแรกเลยที่น่าทึ่งมากคือ “เวทีเสียง” ที่หลุดตู้ลอยออกไปอยู่ในเวิ้งอากาศที่แผ่เต็มไปทั้งห้อง โดยที่เวทีของวงลอยอยู่โดยรอบลำโพง ในขณะที่มีมวลของบรรยากาศแผ่ออกมาจากวงครอบคลุมมาถึงตำแหน่งนั่งฟังด้วย ทำให้ฟังแล้วเกิด “ความรู้สึก” เหมือนเข้าไปนั่งฟังการเล่นสดมากกว่าฟังจากเครื่องเสียง.. ว้าวว! เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น.!!
ราคาของแอมป์ LFD ตัวนี้อยู่ที่ 329,000 บาท เทียบกับราคาของลำโพงคู่นี้ที่ตัวแทนแจ้งไว้คือ 460,000 บาทต่อคู่ ก็ถือว่าแอมป์กับลำโพงอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกัน ฟังจากเสียงที่ออกมาแล้วต้องยอมรับว่า แอมป์กับลำโพงคู่นี้มันมีความแม็ทชิ่งกันมากโดยเฉพาะในแง่ของโทนเสียงที่มีความนวลเนียนเป็นพิเศษ ซึ่งคุณโจ้ เรียกโทนเสียงแบบนี้ว่าเป็น “โทนเสียงอะนาลอก” ทำให้เห็นว่า คุณภาพเสียงของลำโพง Fischer&Fischer คู่นี้มันสามารถขยับเปลี่ยนไปตามคุณภาพของแอมป์+แหล่งต้นทางสัญญาณได้อย่างที่คาดเดาไม่ถูก แต่หลังจากได้ยินเสียงของแอมป์ LFD กับลำโพง Fischer&Ficher คู่นี้แล้ว เชื่อเลยว่า ถ้าได้จับกับแหล่งต้นทางและแอมป์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นไปกว่านี้อีก คุณภาพเสียงโดยรวมของลำโพงคู่นี้ก็น่าจะขยับตามขึ้นไปได้อีกไกลแน่ๆ เพราะพื้นฐานมันดีมาก..!!
โชคดีที่ผมได้รับเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกของ QUAD รุ่น Artera Mono ที่มีกำลังขับสูงถึง 300W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม (คู่ละแสนต้นๆ) ซึ่งเป็นแอมป์ที่มีสเปคฯ สูงกว่าระดับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำไว้ ผมจับ Artera Mono เข้ามาทดลองขับ SN/SL 270AMT เพราะอยากจะรู้ว่า ลำโพงคู่นี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเจอแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ อัดเข้าไป
อัลบั้ม : Best Always (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Crystal Gayle
สังกัด : Brainson Entertainment
ในการทดลองฟัง ผมเปิดวอลลุ่มที่ระดับความดังที่ทำให้เสียงแผ่กระจายออกมาเต็มห้อง แต่ตอนแรกก็แอบหวั่นๆ กลัวว่ามันจะทำให้ลำโพงตื้อ แต่เอาเข้าจริงกลับฟังดีแฮะ.! รายละเอียดเสียงถูกดีดหลุดออกไปจากตัวตู้มากยิ่งขึ้น กระจายตัวออกไปแบบเริงร่าซะด้วย ที่ชัดเจนมากก็คือเสียงทุ้มที่มีบอดี้เล็กลง แต่ขมวดตัวเข้มข้นมากขึ้น มูพเม้นต์ของเสียงทุ้มก็มีความกระชับเร็วมากขึ้น ช่วงถ่างระหว่างหัวเบส–บอดี้–หางเบสมีระยะห่างมากขึ้น ทำให้ฟังเพลงช้าๆ แล้วรู้สึกถึงอาการผ่อนคลายมากขึ้น นักร้องลากเสียงยาวขึ้นกว่าเดิม หางเสียงเครื่องเคาะกังวานและทอดปลายออกไปยาวขึ้น รับรู้ได้ถึงหางเสียงสุดท้ายก่อนที่จะหมดแรงหายไป ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้สังเกตถึงจุดนี้เลย สรุปแล้ว กับแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ ลำโพงคู่นี้ก็ให้เสียงออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง กับดนตรีที่มีบีทกระชับๆ เหมือนจะน่าฟังมากกว่าตอนขับกับแอมป์ตัวอื่นๆ ที่เอามาทดลองขับครั้งนี้ อย่างเช่นเพลง Ready For The Times To Get Better ของ Crystal Gayle นั้น ความกระชับของจังหวะจะรู้สึกถึงความเด็ดขาดมากกว่าตอนฟังด้วยการขับด้วยแอมป์ LFD NCSE HR ฟังแล้วได้ความคึกคักมากกว่า แต่ความหวานและลื่นไหลเหมือนจะเป็นลองตอนขับด้วย LFD หน่อยๆ รู้สึกได้
ใครที่มองลำโพงคู่นี้ไว้และอยากจะใช้ฟังหลายแนว คาดหวังคุณภาพเสียงที่ให้ค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกันทุกแนว โดยไม่ดีเด่นไปแนวใดแนวหนึ่งแบบโดดๆ แนะนำให้มองแอมป์ที่มีกำลังขับสูงหน่อยกับลำโพงคู่นี้
เซ็ตอัพตำแหน่ง และลองฟังเสียง
เมื่อจับลำโพง SN/SL 270AMT ทั้งสองข้างตั้งลงในห้องด้วยพิกัด “ความลึกหาร 3 + ระยะห่างซ้าย–ขวา เท่ากับ 180 ซ.ม.” ที่ผมทำมาร์คกิ้งเอาไว้ เมื่อลองเปิดเพลงฟัง พบว่า ณ จุดนั้น ลำโพงคู่นี้ก็ให้เสียงโดยรวมออกมาในเกณฑ์เฉลี่ยที่น่าพอใจสำหรับการฟังเพลงทั่วๆ ไปแล้ว แสดงว่าคนออกแบบเขาจูนเสียงของลำโพงคู่นี้มาได้เป็นกลางพอสมควร
หลังจากทดลองฟังเพลงที่ผมทำเพลย์ลิสเพื่อตรวจเช็คคุณสมบัติแต่ละด้านของเสียงดูแล้ว ผมพบว่า ณ ตำแหน่งนั้่น ช่วงตั้งแต่เสียงกลางลงไปถึงทุ้มของลำโพงคู่นี้มีลักษณะที่อวบหนา มีเนื้อมวลที่อัดแน่นพอประมาณ ซึ่งคิดว่าเป็นบุคลิกเฉพาะของลำโพงคู่นี้ ใครที่เกรงว่าเสียงจะบางสบายใจได้เลยว่าคุณจะไม่เจอเสียงแบบนั้นจากลำโพงคู่นี้แน่ๆ
เสียงแหลมคืออะไรที่แปลกหูไปจากลำโพงที่ใช้โดมทวีตเตอร์ทั่วไป คือเมื่อผมทดลองเร่งวอลลุ่มขึ้นไปทีละนิดเพื่อให้สนามเสียงลอยและแผ่เต็มห้อง ผมรู้สึกได้เลยว่า เสียงแหลมของลำโพงคู่นี้มันแทบจะไม่มีอาการว่าจะ “เปลี่ยนวรรณะ” ออกไปทางเจิดจ้าง่ายเหมือนกับเสียงแหลมของทวีตเตอร์ทรงโดมทั้งหลายเมื่อถูกเร่งวอลลุ่มขึ้นไปสูงๆ ซึ่งอาการนี้ทำให้นึกถึงตอนที่ผมทดสอบลำโพง Wharfedale รุ่น AURA 4 (REVIEW) คือตอนผมค่อยๆ เร่งวอลลุ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงแหลมที่ออกมาก็จะมีลักษณะเดียวกันคือคงวรรณะไว้ได้ค่อนข้างมั่นคง ไม่เกิดอาการจ้าโพลนง่ายๆ จนกว่าจะเร่งขึ้นไปถึงจุดหนึ่งเสียงแหลมจากทวีตเตอร์ AMT ก็จะเริ่มสว่างจ้าขึ้นมา ซึ่งวอลลุ่ม ณ จุดนั้นก็ทำให้เสียงโดยรวมมีความดังมากเกินไป ฟังไม่ได้ ยังไงก็ต้องลดวอลลุ่มลงมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของทวีตเตอร์ AMT ที่สามารถรักษาโทนเสียงของมันไว้ได้อย่างมั่นคง “แทบจะในทุกระดับความดัง” ที่เราใช้
อย่างไรก็ตาม หลังจากผมทดลองฟังเสียงแหลมของ SN/SL 270AMT อยู่พักใหญ่ ผมพบว่า ถ้าใช้วอลลุ่ม “ต่ำเกินไป” เสียงแหลมจากทวีตเตอร์ AMT จะสวิงไดนามิกได้ไม่กว้าง โทนเสียงแหลมจะออกไปทางนุ่ม ใส ซึ่งเป็นนิสัยของไดเวอร์ประเภทนี้ ถ้าคุณต้องการ “ความสด” ของเสียงแหลมจากไดเวอร์แบบนี้ คุณต้องป้อน “กำลังขับดัน” ให้มันมากนิดนึง มันถึงจะสามารถดีดรายละเอียดของเสียงแหลมให้หลุดกระจายออกมาในลักษณะที่ “หลุดตู้” และ “ดีดเด้ง” ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นบุคลิกเสียงที่ผมชอบ คือสด สมจริง เหมือนนั่งชมการบรรเลงที่เกิดขึ้นจริงต่อหน้าต่อตา
อัลบั้ม : Japanese Melodies (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Yo-Yo Ma
สังกัด : CBS/Analog Quality CD
หลังจากผมทดลองหมุนหาระดับวอลลุ่มที่อินติเกรตแอมป์ LFD NCSE HR จนได้ตำแหน่งที่ทำให้เสียงแหลมจากไดเวอร์ AMT ของ SN/SL 270AMT แผ่กระจายหลุดตู้และดีดเด้งจนพอใจแล้ว (โดยใช้เพลง Kojo-No-Tsuki ของ Yo-Yo Ma จากอัลบั้มชุด Japanese Melodies อ้างอิงในการจูน) ผมพบว่า ณ ตำแหน่งเริ่มต้นที่วางลำโพงห่างกัน 180 ซ.ม. มันยังไม่ใช่จุดที่ทำให้ความถี่จากลำโพงทั้งสองข้างซ้อนทับกันสนิทจริงๆ เพราะจุดนั้นผมได้ยินเสียงพิณญี่ปุ่นในเพลงนี้ดังออกมาในลักษณะที่มีเงาซ้อนกัน คือฟังแล้วรู้สึกเหมือนมีพิณสองตัวเล่นเหลื่อมกันนิดๆ โฟกัสของหัวเสียงจังหวะแรกตอนที่สายพิณถูกดีดลงไปมันยังไม่ซ้อนทับจนเป็นเสียงเดียวกัน ผมทดลองขยับลำโพงซ้าย–ขวาให้ชิดกันทีละนิด จนถึงระยะห่างซ้าย–ขวาอยู่ที่ 176 ซ.ม. (เท่ากับหุบลำโพงทั้งสองข้างเข้าหากันข้างละ 2 ซ.ม.) อาการเหลื่อมซ้อนของเสียงพิณญี่ปุ่นก็หายไป หลายเป็นพิณตัวเดียวกันแล้ว ซึ่งบอกเลยว่า ทวีตเตอร์แบบนี้เซ็ตอัพหาระยะโฟกัสง่ายกว่าทวีตเตอร์ทรงโดมมาก
หลังจากได้โฟกัสของเสียงในย่านแหลมแล้ว ณ จุดนั้น ผมรับรู้ได้ว่า เสียงกลางขึ้นมาสูงก็ดีขึ้นมาก เสียงเชลโลโน๊ตสูงๆ ให้โฟกัสตำแหน่งที่คมขึ้น ไดนามิกสวิงได้กว้างขึ้น แต่เมื่อพิจารณาที่เสียงเชลโลพบว่าบอดี้มันยังไม่แน่นอย่างที่เคยฟัง ทำให้เสียงเชลโลมันฟังดูลอยๆ น่าจะเป็นเพราะความถี่ต่ำมีมวลน้อยไป ผมจึงทดลองดันลำโพงทั้งสองข้างให้ลงไปชิดกับผนังด้านหลังทีละนิด มีผลให้โน๊ตต่ำๆ ของเชลโลมีมวลที่อวบหนามากขึ้น และผมยังรับรู้ได้ว่า เสียงพิณญี่ปุ่มก็ฟังดีขึ้นด้วย นอกจากหัวโน๊ตเด้งๆ แล้ว ณ ตำแหน่งใหม่นี้ ผมได้ยินความกังวานของบอดี้ตามออกมาด้วย หลังจากทดลองดันลำโพงลงไปชิดผนังหลังและทดลองดึงกลับขึ้นมาอยู่พักใหญ่ ผมก็ได้จุดที่ให้ค่าเฉลี่ยที่ผมพอใจอยู่ที่ระยะห่างผนังหลังเท่ากับ 173 ซ.ม. (วัดจากผนังหลังขึ้นมาถึงแผงหน้าของตัวตู้ลำโพง) คือ ณ จุดนี้ผมได้เสียงบอดี้ของเชลโลที่มีมวลอวบหนากำลังดี ปลายเสียงเบสมีอาการเด้งนิดๆ ไปตามแรงสีของคันชัก ไม่ทึบด้าน (ถ้าดันลำโพงลงไปมากกว่านี้ จะได้เนื้อมวลเชลโลที่หนาขึ้นแต่จะติดอาการทึบๆ ตามมา คือทำให้คอนทราสน์ไดนามิกของเสียงเชลโลหดแคบลง)
สรุปเสียงของ SN/SL 270AMT
เมื่อได้ตำแหน่งลงตัว ผมทดลองฟังเพลงกับลำโพงคู่นี้ติดต่อกันทุกวันนานเกือบอาทิตย์ หลังจากทดลองฟังเพลงหลากหลายประเภทผ่านไป ทำให้ผมรับรู้ได้ถึงความสามารถในการถ่ายทอด “รายละเอียด” ของเสียงซึ่งผมถือว่าเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นพิเศษสำหรับลำโพงคู่นี้ ซึ่งผมคิดว่า คุณสมบัติพิเศษนี้น่าจะได้มาจากปัจจัย 2 ประการประกอบกัน
ปัจจัยแรกคือ “ตัวตู้” ที่ทั้งแน่นหนาและนิ่งมากๆ จนแทบจะไม่มีโอกาสร้างเรโซแนนซ์ขึ้นมารบกวนเสียงจากไดเวอร์ได้เลย.! ซึ่งทำให้ได้เสียงที่สะอาดปราศจากเรโซแนนซ์ของตัวตู้เข้ามาปะปน รายละเอียดยิบย่อยแค่ไหนก็สามารถแสดงตัวออกมาให้ได้ยินครบ ส่วนอีกปัจจัยก็คือ “ทวีตเตอร์ AMT” ด้วยความสามารถทนรับกับกำลังขับของแอมป์ (ผ่านวอลลุ่ม) ได้สูงโดยไม่ทำให้เกิดปัญหาโอเว่อร์โหลดจนเสียงสว่างโพลน มีผลให้ผมสามารถเร่งเสียงของลำโพงคู่นี้ขึ้นมาให้ดังได้มากจนทำให้รายละเอียดในย่านทุ้มขึ้นมาถึงกลางถูกเปิดเผยออกมาให้ได้ยินจนครบถ้วน ในขณะที่เสียงแหลมจากทวีตเตอร์ AMT ก็ยังคงรักษารายละเอียดและโทนเสียงในย่านแหลมเอาไว้ได้ เมื่อเทียบกับลำโพงส่วนใหญ่ที่ใช้ทวีตเตอร์ทรงโดม ถ้าออกแบบเน็ทเวิร์คให้โชว์รายละเอียดในย่านแหลมออกมาเยอะๆ พอเร่งวอลลุ่มเพื่อหวังดึงรายละเอียดในย่านทุ้มถึงกลางออกมาให้ได้มากที่สุด ก็มักจะไปเจอกับระดับวอลลุ่มที่ทำให้เสียงแหลมจากทวีตเตอร์ทรงโดมเกิดอาการโอเว่อร์โหลด พอลดวอลลุ่มลงมาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโอเว่อร์โหลดที่เสียงแหลม รายละเอียดในย่านกลางลงไปถึงทุ้มก็จะจมหายไปบางส่วน คนออกแบบลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์ทรงโดมขนาดเล็ก จึงต้องใช้วิธี “รอมชอม” คือถ้าต้องการโชว์รายละเอียดย่านกลางลงไปทุ้ม ก็จำเป็นต้องตัดรายละเอียดในย่านแหลมลงไปบางส่วน และในทางกลับกัน ถ้าต้องการโชว์รายละเอียดในย่านเสียงแหลมเยอะๆ ก็ต้องยอมลดรายละเอียดในย่านกลางกับทุ้มลงไปบางส่วน ซึ่ง SN/SL 270AMT สามารถหลบหลีกออกมาจากสถานการณ์แบบนั้นได้อย่างสวยงาม สามารถโชว์รายละเอียดทั้งในย่านแหลม, กลาง และทุ้ม ออกมาได้อย่างครบถ้วน ในระดับคุณภาพที่น่าพอใจด้วย
เมื่อทำความเข้าใจนิสัยกับคุณสมบัติเฉพาะตัวของ SN/SL 270AMT ได้แล้ว ผมก็สามารถแม็ทชิ่งและเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้ให้ถ่ายทอดเสียงออกมาแผ่เต็มห้องได้อย่างสบายๆ และจุดที่โดดเด่นมากๆ สำหรับลำโพงคู่นี้ก็คือ “สนามเสียง” ที่เปิดเผยและแผ่กว้างจนเต็มห้องของลำโพงคู่นี้ ซึ่งมาพร้อมกับลักษณะของเสียงที่ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเสียงแหลมของไดเวอร์ AMT ที่โชว์รายละเอียดที่พร่างพรายมาพร้อมกับความละเอียดเนียนของเสียงแหลมที่ปราศจากอาการระคายหูโดยสิ้นเชิงแม้ในขณะที่เปิดดังมากๆ นี่คือบุคลิกของเสียงแหลมที่หลายๆ คนต้องการและค้นหามานาน..!!!
************************
ราคา : 460,000 บาท / คู่
************************
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– SoundBox โทร. 089-920-8297
– HiFi House by MSound โทร. 096-978-6424
– HiFi House Hatyai โทร. 083-636-4447
– TSV Top Sound & Vision โทร. 081-657-3397
– HiFi 99 โทร. 081-999-1699
– Turntable One โทร. 084-814-9011
– Mas Hi-Fi โทร. 081-982-0282
– AudioMate โทร. 082-946-6950
– Audi Home HiFi โทร. 089-028-7117
– Intr-Hifi โทร. 094-124-2732