รีวิวโฮมเธียเตอร์ Onkyo รุ่น TX-RZ840 เน็ทเวิร์ค เอวี รีซีฟเวอร์รุ่นล่าสุดที่มาพร้อมความครบเครื่องทั้งดูหนังและฟังเพลง!

แอมป์เซอร์ราวนด์รุ่นใหญ่ๆ เป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่ต้องการประสบการณ์ในการดูหนังและฟังเพลงที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าเทียมกัน 50/50 ซึ่งนอกจากจะต้องมีนวัตกรรมในการออกแบบวงจรภาคขยายที่เน้นคุณภาพเสียงที่ดีพอแล้ว แอมป์เซอร์ราวนด์ตัวนั้นจะต้องมีฟังท์ชั่นที่รองรับเทคโนโลยีที่ใช้ในการดูหนังและฟังเพลง ในยุคปัจจุบันที่ครบถ้วนด้วย

Onkyo รุ่น TX-RZ840
เน็ทเวิร์ค รีซีฟเวอร์ที่พร้อมสรรพสำหรับการดูหนัง+ฟังเพลงสำหรับวันนี้

TX-RZ840 เป็นเน็ทเวิร์ค เอวี รีซีฟเวอร์รุ่นใหญ่สุด ล่าสุดของ Onkyo ซึ่งถูกออกแบบมาให้ตอบสนองการดูหนังและฟังเพลงครบในหนึ่งเดียว ด้วยคุณสมบัติทางด้าน ภาคขยายที่ให้มามากถึง 9 แชนเนล และในแต่ละแชนเนลให้กำลังขับสูงถึง 215 วัตต์/แชนเนล วงจรขยายออกแบบด้วยเทคโนโลยี DAA (Dynamic Audio Amplification) แบบไฮ เคอเร้นท์ที่ใช้เพาเวอร์ซัพพลายพลังสูง สามารถขับลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ลงได้ต่ำถึง 4 โอห์ม และเพื่อเน้นคุณภาพเสียงอย่างถึงที่สุด วงจรของภาคขยายของแอมป์ออกแบบโดยใช้คอมโพเน้นต์แยกชิ้นไม่ได้ใช้ Opamp จึงไม่มีปัญหาเฟสเคลื่อน (phase shift) ส่งผลดีต่อคุณภาพเสียง ภาคขยายของ TX-RZ840 ตอบสนองความถี่ได้กว้างตั้งแต่ 5Hz – 100kHz เท่ากันทุกแชนเนล จึงสามารถถ่ายทอดรายละเอียดเสียงของฟอร์แม็ตที่เป็น High Resolution ออกมาได้ครบถ้วนทั้งหมด

รูปร่างหน้าตา

Onkyo มีแอมป์เซอร์ราวนด์หลักๆ อยู่ 4 ซีรี่ย์ คือ TX-RZ ซีรี่ย์ใหญ่สุด, TX-NR ซีรี่ย์กลาง, TX-RS ซีรี่ย์เล็ก และซีรี่ย์ Envision Series ซึ่งเป็นรุ่นจิ๋ว ตัวรุ่นกลางกับรุ่นเล็กคือ TX-NR กับ TX-RS หน้าตาคล้ายกัน ส่วนรุ่น TX-RZ หน้าตาจะดูเรียบหรูดูไฮเอ็นด์มาก เพราะบนหน้าปัดมีฝาปิดช่วยบดบังพวกปุ่มกดต่างๆ ไว้

A = ปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง
B = ปุ่มกดใช้งานฟังท์ชั่น Pure Audio
C, E = ปุ่มกด/ปุ่มหมุน เลือกโหมดการรับฟัง (Listening Mode)
D, F = ปุ่มกด/ปุ่มหมุน เลือกปรับเสียงทุ้มกลางแหลม
G = ฝาปิด
H = จอแสดงผล
I = ปุ่มกดเลือกอินพุต / เลือกโซน
J = ปุ่มวอลลุ่ม

ปุ่มควบคุมสั่งงานที่อยู่ใต้ฝาปิด

บนแผงหน้าของ TX-RZ840 ปรากฏอยู่เฉพาะปุ่มควบคุมสั่งงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนปุ่มสั่งงานอื่นๆ ถูกซ่อนอยู่ใต้ฝาปิดทั้งหมด อาทิเช่น ปุ่มกดเข้าเมนูและปุ่มลูกศรสี่ทิศสำหรับเลือกหัวข้อเมนู, ปุ่ม Dimmer ปรับความสว่าง/มืดของหน้าจอ, ปุ่มเก็บค่าที่บันทึกไว้ (memory), ปุ่มปรับตั้งโหมด Music Optimizer ฯลฯ รวมถึงรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3mm กับช่องอินพุต AUX (HDMI) สำหรับเชื่อมต่อสัญญาณภาพ+เสียงจากกล้องวิดีโอหรืออุปกรณ์อื่นๆ จากภายนอก และสุดท้ายคือรูเสียบไมโครโฟน (Setup Mic) ที่ใช้สำหรับปรับตั้งเสียงแบบออโต้ AccuEQ Room Calibration

อินพุต

ช่องต่อสัญญาณทุกรูปแบบถูกติดตั้งไว้ที่แผงด้านหลังเกือบทั้งหมด โดยจัดตำแหน่งของขั้วต่อเอาไว้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการเสียบใช้งาน

ในส่วนของการรับส่งสัญญาณภาพวิดีโอ+สัญญาณเสียงผ่านช่องเดียวกัน TX-RZ840 ให้ช่องอินพุต HDMI มาให้ใช้สำหรับการนี้มากถึง 7 ช่องด้วยกัน ตั้งชื่อเรียกว่า HDMI IN (A = กรอบสีเขียว) อยู่ที่ด้านหลัง 6 ช่อง บวกกับด้านหน้าอีกหนึ่งช่อง ทั้งหมดนั้นให้มาเพื่อรองรับสัญญาณภาพวิดีโอได้สูงถึงระดับ 4K/60Hz, 4K HDR มาตรฐานสี BT.2020 และมาตรฐานป้องกันการก็อปปี้ HDCP 2.2 พร้อมระบบเสียงเซอร์ราวนด์มัลติแชนเนล ส่วนด้านเอ๊าต์พุตที่ปล่อยสัญญาณภาพวิดีโอและสัญญาณเสียงออกไปพร้อมกัน ก็ให้ช่อง HDMI OUT (B = กรอบส้ม) มา 2 ช่อง คือช่อง MAIN (รองรับ ARC) กับช่อง SUB (ZONE 2) นอกจากนั้น TX-RZ840 ยังมีช่องอินพุตสำหรับรองรับสัญญาณอะนาลอก วิดีโอมาให้อีก 3 ช่อง คือช่อง VIDEO IN (C = กรอบสีฟ้า) ในภาพข้างบน เพื่อรับสัญญาณ Component Video หนึ่งช่อง กับ Composite Video อีกสองช่อง เป็นคุณสมบัติที่ให้มาเพื่อรองรับระบบภาพสำหรับเครื่องเล่นยุคเก่านั่นเอง

ส่วนช่องอินพุตสำหรับสัญญาณเสียงมีมาให้ครบทั้งดิจิตัลและอะนาลอก โดยให้ช่อง DIGITAL IN (D = กรอบส้ม) มา 2 ช่องคือ Coaxial กับ Optical อย่างละช่อง ส่วนสัญญาณอะนาลอกจะเข้าทางช่อง AUDIO IN (E = กรอบสีเขียว) ซึ่งมีมาให้ใช้ทั้งหมด 6 ช่องรวมทั้งอินพุต PHONO สำหรับใช้กับแผ่นเสียงอีกหนึ่งช่อง ซึ่งภายในมีภาคขยายหัวเข็ม MM มาให้, มีช่องอินพุต TUNER (F = กรอบสีฟ้า) เพื่อรับสัญญาณวิทยุ AM/FM ด้วย นอกจากนั้น TX-RZ840 ยังถูกออกแบบให้รองรับการฟังเพลงยุคใหม่ที่ใช้การสตรีมไฟล์เพลงผ่านทางเน็ทเวิร์ค ด้วยการติดตั้งช่องต่อเชื่อมสัญญาณเน็ทเวิร์ค Ethernet (G = กรอบสีม่วง) มาให้ด้วย

นั่นทำให้คุณสามารถสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการเจ้าต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตผ่านเข้ามาที่ TX-RZ840 ได้ อาทิเช่น DeeZer, TIDAL, TuneIn และ Spotify ซึ่งเป็นเทรนด์ของการฟังเพลงยุคใหม่ที่กำลังนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน

เอ๊าต์พุต และอื่นๆ

TX-RZ840 มีภาคขยายอยู่ในตัวจำนวน 9 แชนเนล โดยมีกำลังขับอยู่ที่ 215W (วัดทีละแชนเนล ที่อิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม ด้วยความถี่ 1kHz) และให้ขั้วต่อสำหรับเชื่อมกับลำโพงมาทั้งหมด 9 คู่ (H = กรอบสีเขียว) สำหรับแชนเนล Front (R, L), Center, Surround (R, L), Height (R, L), Surround Back (R, L) นอกจากนั้น TX-RZ840 ยังให้เอ๊าต์พุตในรูปของสัญญาณเสียงระดับ Line Level มาอีก 15 ช่อง (I = กรอบสีเหลือง) เป็นช่อง Line Out ของสัญญาณแชนเนลเซอร์ราวนด์ทั้งหมด รวมกับช่อง Line Out ของสัญญาณเสียงสำหรับป้อนให้กับ Zone 2 และ Zone 3 ซึ่งมีมาให้ใช้ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการอัพเกรดระบบเซอร์ราวนด์ไปใช้ระบบที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่น 7.2.4 บวกกับขยายโซนเพิ่มเติมครบทั้ง 2 โซน หรือแม้แต่ต้องการเพิ่มเติมกำลังขับของแต่ละแชนเนลให้สูงขึ้น เพื่อคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นเมื่อขยับไปใช้ลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่ต้องการประสิทธิภาพของแอมปลิฟายที่สูงขึ้นไปอีกขั้น

นอกจากช่องสัญญาณเอ๊าต์พุตแล้ว ที่แผงหลังของ TX-RZ840 ยังมีช่องที่ใช้เชื่อมต่อกับสัญญาณคำสั่งที่คอนโทรลผ่านระบบ home automation จากภายนอก (J = กรอบสีแดง) มาให้ 2 ลักษณะ คือช่อง RS232 กับลูป I/O ของสัญญาณกระตุ้น (trigger 12V) มาให้อีกหนึ่งชุด, ช่องเสียบสายไฟเอซี (L) ที่ให้ก็เป็นแบบถอดสายเปลี่ยนได้ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้อัพเกรดคุณภาพขอสายไฟเอซีได้ และสุดท้ายคือเสารับ/ส่งสัญญาณไร้สาย Bluetooth และ Wi-Fi (K)

เทคโนโลยีเด่นของ TX-RZ840

ภายในตัว TX-RZ840 บรรจุด้วยเทคโนโลยีพิเศษหลายอย่าง ให้การครอบคลุมครบทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบภาพ ที่เป็นไฮไล้ท์ก็อย่างเช่น IMAX Enhanced, THX Certified Select และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบเสียง อย่างเช่น Dolby Atmos, DTS:X, Dolby Atmos Height Virtualizer และ Vocal Enhancer รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อสัญญาณที่มาพร้อมทั้งการเชื่อมต่อแบบใช้สายและไร้สาย อย่างเช่น AirPlay, Google Assistant, IP control และยังมี AccuEQ Advance ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับจูนเสียงของ TX-RZ840 เมื่อใช้งานร่วมกับชุดลำโพงที่เซ็ตอัพเป็นระบบเซอร์ราวนด์มัลติแชนเนลด้วย

* ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IMAX Enhanced
* ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ THX Certified Select
* ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Dolby Atmos

เทคโนโลยีส่วนใหญ่ข้างต้นนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ Onkyo ซื้อลิขสิทธิ์จากภายนอกเข้ามาใช้ ยกเว้นเทคโนโลยี Dynamic Audio Amplification หรือ DAA กับเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Vector Linear Shaping Circuitry (VLSC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับภาคขยายของแอมปลิฟาย และเทคโนโลยี Vocal Enhancer เหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยทีมวิศวกรของ Onkyo เอง

Dynamic Audio Amplification (DAA) + Vector Linear Shaping Circuitry (VLSC)

สัญญาณเสียงในภาพยนตร์มีความรุนแรงกว่าสัญญาณดนตรีมาก โดยเฉพาะเสียงเอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณทรานเชี้ยนต์ไดนามิกที่ทำให้ไดอะแฟรมของไดเวอร์ของลำโพงขยับตัวเดินหน้าถอยหลังอย่างรุ่นแรงเพื่อสร้างสัญญาณเอ็ฟเฟ็กต์เหล่านั้นออกมาให้ได้ความสมจริง ในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์จึงต้องการเพาเวอร์แอมป์ที่สามารถจ่ายกำลังได้สูงและต่อเนื่อง

เทคโนโลยี DAA หรือ Dynamic Audio Amplification ที่อยู่ใน TX-RZ840 เป็นระบบขยายสัญญาณที่สามารถจ่ายกำลังขับในการควบคุมไดนามิกของเสียงที่นิ่ง สม่ำเสมอ ประกอบด้วยทรานฟอเมอร์แบบ High-Current ที่จ่ายกระแสได้สูง และมีสัญญาณรบกวนต่ำ (Low-Noise) ทำงานร่วมกับแคปาซิเตอร์แบบไฮเคอเร้นต์ที่ออกแบพิเศษขนาดความจุ 15,000 ไมโครฟารัด จึงสามารถจ่ายกำลังให้เพาเวอร์แอมป์ได้สูงสุดเท่าที่ภาคขยายของแอมป์ต้องการใช้ในการผลักดันไดอะแฟรมของไดเวอร์ลำโพงให้ขยับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าเพาเวอร์แอมป์แบบที่จ่ายกระแสต่ำ และแน่นอนว่า เมื่อไดอะแฟรมของไดเวอร์สามารถขยับตัวดันออกดูดเข้าได้ระยะทางที่ยาวขึ้น ก็ย่อมทำให้ได้เสียงที่มีความหนักแน่นมากขึ้น และการที่ภาคขยาย DAA จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพออกมาเต็มที่ตามอุดมคติมากที่สุด สัญญาณอะนาลอกต้นทางที่ออกมาจากภาค DAC ก่อนถูกขยายด้วยภาคขยาย DAA จะต้องมีความบริสุทธิ์สูง

แต่โดยปกติแล้ว สัญญาณอะนาลอกที่ได้ออกมาจากขั้นตอนแปลงสัญญาณดิจิตัลด้วยภาค DAC มักจะมี ขยะหรือ pulse noise ที่เกิดจาก digital pulse ที่ใช้ในขั้นตอนแปลงสัญญาณดิจิตัลให้เป็นอะนาลอกปะปนออกมาด้วย ซึ่ง digital pulse ที่ว่านี้มีลักษณะเป็น noise หรือสัญญาณรบกวนประเภทหนึ่งที่เกาะติดมากับสัญญาณอะนาลอกที่มาจากเอ๊าต์พุตของ DAC ถ้านำไปขยายด้วยเพาเวอร์แอมป์โดยตรงก็จะทำให้ ขยะที่ว่านี้ถูกขยายออกลำโพงไปด้วย ซึ่งนั่นคือที่มาของเสียงที่หยาบ กระด้าง บาดหู

เพื่อขจัด ขยะที่มาจาก digital pulse ที่ว่านี้ ทีมวิศวกรของ Onkyo จึงได้คิดค้นและออกแบบวงจรพิเศษขึ้นมาเสริมเข้าไปในขั้นตอนแปลงสัญญาณของภาค DAC นั่นคือวงจร VLSC หรือ Vector Linear Shaping Circuitry

จากภาพประกอบด้านบน อธิบายการทำงานของวงจร VLSC คือเริ่มจากสัญญาณดิจิตัลอินพุตเมื่อผ่านเข้าไปที่ DAC (1) และได้กลับออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก (2) จะมี pulse noise ลักษณะขยุกขยิกเกาะติดมากับตัวสัญญาณ ตรงนี้เองที่วงจร VLSC เข้ามาทำงาน (3) ด้วยการปรับรูปทรงของสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตซะใหม่ โดยการสร้างรูปคลื่นสัญญาณออกมาโดยยึดแนวทรงเดิมของสัญญาณเอ๊าต์พุตนั้นไว้ จากนั้นก็นำรูปแบบของสัญญาณที่วิเคราะห์ขึ้นมาไปเทียบกับสัญญาณเอ๊าต์พุตที่ออกมาจากภาค DAC ซึ่งมี pulse noise อยู่ด้วย แล้วใช้วงจร filter ทำการขจัดส่วนเกินที่เป็น pulse noise ออกไปจากสัญญาณเอ๊าต์พุตนั้น ทำให้สัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตที่ได้ออกมาจากภาค DAC ที่มีวงจร VLSC กำกับอยู่มีลักษณะใกล้เคียงกับสัญญาณอะนาลอกต้นฉบับมากที่สุด (4) ซึ่งเทคโนโลยี VLSC นี้ถือว่าเป็น ไม้เด็ดของ Onkyo ที่ทำให้เสียงของเอวี รีซีฟเวอร์แบรนด์นี้มีความนุ่มนวลน่าฟัง หลุดพ้นจากความแห้งหยาบในอดีต (ในซีรี่ย์ TX-RZ นี้ วงจร VLSC ถูกใช้มาตั้งแต่รุ่น TX-RZ820)

TX-RZ840 ใช้ชิป DAC คุณภาพสูงของ AKM เบอร์ AK4458 ในภาคดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์ที่สามารถแปลงสัญญาณดิจิตัลได้สูงถึงระดับ 384Hz/32bit สำหรับระบบเสียงมัลติแชนเนล

* ข้อมูลเพิ่มเติม DAA (Dynamic Audio Amplification)

ควบคุมสั่งงาน

Onkyo ให้รีโมทไร้สายอันเล็กๆ มาหนึ่งอันสำหรับควบคุมสั่งงาน TX-RZ840

บนตัวรีโมทมีการจัดวางปุ่มกดบังคับสั่งงานเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีการจัดหมวดหมู่เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีทุกคำสั่งพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ เปิด/ปิดเครื่อง (1), ปรับความสว่างของจอ (9), หยุดเสียงชั่วคราว (15) โดยเฉพาะกลุ่มคำสั่งที่ใช้ในการเลือกคอนเท็นต์ (2) และคำสั่งในการควบคุมการเล่นคอนเท็นต์ (3) รวมถึงกลุ่มของคำสั่งในการปรับแต่งเสียง (7, 8, 19) ส่วนคำสั่งที่ใช้ในการปรับตั้งค่าต่างๆ ของ TX-RZ840 ที่อยู่ในเมนูของเครื่อง (4, 5, 6, 13, 14, 15) ต้องอาศัยมอนิเตอร์ที่ต่อออกจากตัว TX-RZ840 ไปที่ทีวี โดยใช้ช่อง HDMI OUT MAIN ด้านหลัง

นอกจากนั้น คุณยังสามารถเชื่อมต่อคำสั่งที่กระทำผ่านระบบ Automation จากภายนอกเข้ามาควบคุมการทำงานของ TX-RZ840 ได้โดยใช้ช่องทาง RS232 ที่ด้านหลัง

เซ็ตอัพ TX-RZ840 สำหรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ มัลติแชนเนล

คุณสมบัติเด่นของเอวี รีซีฟเวอร์ก็คือ ความยืดหยุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกวิธีการเซ็ตอัพใช้งานมันได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเน้นดูหนังเป็นหลักฟังเพลงเป็นรอง หรือจะ 50/50 ก็สามารถเลือกได้ โดยเฉพาะเอวี รีซีฟเวอร์รุ่นสูงๆ อย่าง TX-RZ840 ตัวนี้ นอกจากจะให้ความยืดหยุ่นสูงแล้ว มันยังให้คุณภาพเสียงที่ดีมากด้วยทั้งดูหนังและฟังเพลง

สำหรับคนที่เน้นดูหนังเป็นหลัก คุณสามารถใช้ภาคขยายในตัว TX-RZ840 เซ็ตอัพระบบเสียงเซอร์ราวนด์หลักๆ ออกมาได้ 4 รูปแบบ นั้นคือ 5.1(2).2 กับ 5.1(2).4 สำหรับห้องแนวแคบ หรือเป็น 7.1(2) กับ 7.1(2).2 ในห้องที่มีลักษณะไปทางกว้างหรือจัตุรัส โดยใช้ภาคขยายในตัว 9 แชนเนล + กับสัญญาณไลน์เอ๊าต์ซับวูฟเฟอร์อีก 2 ช่อง ซึ่งกำลังขับที่สูงถึง 215W ต่อแชนเนล ทำให้ค่อนข้างจะมั่นใจได้ในแง่ของคุณภาพเสียงเมื่อเลือกใช้ลำโพงที่ไม่เกินความสามารถของแอมป์ในตัวของ TX-RZ840 ซึ่งหากพิจารณาตามมาตรฐาน “Selectที่ THX กำนดให้กับ TX-RZ840 จะเห็นว่า ขนาดห้องที่เหมาะกับกำลังขับของ TX-RZ840 อยู่ที่ความจุ ไม่เกิน 2,000 ลบ.ฟุต หรือประมาณหกสิบกว่าลูกบาศน์เมตร เฉลี่ยก็ราวๆ 4 x 6 x 2.5 ลบ.. ซึ่งเป็นขนาดกลางๆ สำหรับห้องโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ในบ้านของคนไทย หากคุณเน้นดูหนังด้วยระบบเสียง Dolby Atmos เป็นหลักและชอบให้สนามเสียงครอบคลุมด้านบน แนะนำให้เซ็ตอัพแอมป์ตัวนี้เป็น 5.2.4 แต่ถ้าชอบให้เสียงเซอร์ราวนด์วนเวียนอยู่รอบตัวชัดๆ แนะนำให้เซ็ตอัพเป็น 7.2.2 นี่คือทางเลือกในการเซ็ตอัพแบบที่ไม่ต้องเพิ่มแอมป์จากภายนอก

สำหรับคนที่ไม่มีห้องปิดทึบที่สามารถเซ็ตอัพเป็นโฮมเธียเตอร์ ก็สามารถนำ TX-RZ840 ไปเซ็ตอัพใช้งานกับทีวีในห้องรับแขกได้เช่นกัน ในกรณีที่ไม่สามารถติดลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านหลัง TX-RZ840 ตัวนี้ก็มีอ๊อปชั่นให้คุณเลือกปรับเซ็ตอัพเป็น 2.1 หรือ 3.1 แชนเนลได้ เป็นการยกระดับเสียงจากทีวีให้ดีขึ้นมากที่สุดเท่าที่พื้นที่ในบ้านจะอำนวย

ผมได้ทดลองเซ็ตอัพ TX-RZ840 ทำงานร่วมกับทีวี OLED ขนาด 65 นิ้วในห้องรับแขกโดยไม่มีลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านหลัง เมื่อเข้าไปในเมนู Speaker > Configuration ผมพบว่า TX-RZ840 มีโหมดการเซ็ตอัพ 2.1, 3.1 และโหมด 2.1.2 กับ 3.1.2 ให้เลือกใช้งาน แถมยังสามารถดึงเพาเวอร์แอมป์สำหรับลำโพงด้านบน (Height 1) มาขับไบแอมป์ให้กับลำโพงคู่หน้าได้อีกด้วย ถูกใจคนที่ชอบดูหนัง+ฟังเพลงด้วยลำโพง 2 แชนเนลระดับไฮเอ็นด์มาก.. เจ๋งจริง!!

สองรูปบนเป็นลักษณะการติดตั้งลำโพงเพื่อใช้งาน TX-RZ840 ในโหมด 5.1 กับ 7.1 แชนเนล ส่วนรูปที่สามด้านล่าง เป็นลักษณะการติดตั้งลำโพง Height Channel ซึ่งหากคุณต้องการเซ็ตอัพลำโพงเพื่อใช้งาน TX-RZ840 ด้วยโหมด 5.2.2 หรือ 7.2.2 เพื่อรองรับระบบเสียง Dolby Atmos กับ DTS:X ก็สามารถเพิ่มเติมลำโพงด้านบนคู่ใดคู่หนึ่งระหว่าง a, b, หรือ c หรือถ้าต้องการเน้นมิติเสียงด้านบนมากหน่อย ก็ใช้โหมด 5.2.4 โดยเซ็ตอัพลำโพงด้านล่างเป็นโหมด 5.2 แชนเนล แล้วติดตั้งลำโพงด้านบนสองชุด คือชุด a กับชุด c

แต่ถ้าคุณต้องการความสมบูรณ์แบบทั้งมิติเสียงรอบตัวและมิติด้านบน คุณต้องโหมด 7.2.4 ซึ่งต้องเพิ่มเพาเวอร์แอมป์ 2 แชนเนลจากภายนอกเข้ามาในระบบอีกหนึ่งตัว + สายสัญญาณสเตริโอหนึ่งชุด เพื่อใช้ขับลำโพงแชนเนลเซอร์ราวนด์ด้านหลัง (ดูไดอะแกรมด้านบน)

หลังจากเชื่อมต่อเสร็จแล้ว ก็ทำการเซ็ตอัพเสียงด้วยโปรแกรม AccuEQ Advance โดยใช้ไมค์ฯ Setup  ที่แถมมาให้

* ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรม AccuEQ Advance

ฟังเพลงกับ TX-RZ840 ด้วยวิธีสตรีมผ่าน Bluetooth

TX-RZ840 เปิดโอกาสให้คุณฟังเพลงผ่านตัวมันได้หลากหลายช่องทาง ถ้าเป็นแนวเบสิครูปแบบเดิมๆ คือเล่นแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดีหรือเครื่องเล่นดีวีดี/บลูเรย์ แล้วส่งสัญญาณอะนาลอกเข้าไปที่อินพุต AUDIO IN ตรงช่อง CD หรือจะส่งสัญญาณดิจิตัลเข้าไปที่อินพุต DIGITAL IN (Coaxial หรือ Optical) หรือช่อง HDMI ก็ได้ หรือจะออกไปแนววินเทจก็เล่นแผ่นเสียงแล้วส่งสัญญาณอะนาลอกเข้าไปที่อินพุต PHONO ก็ได้ อยากฟังรายการวิทยุก็สามารถทำได้เพราะ TX-RZ840 มีภาครับวิทยุ AM/FM มาให้

ส่วนนักฟังเพลงยุคใหม่ที่คุ้นเคยกับการสตรีมไฟล์เพลงจากอุปกรณ์พกพาหรือสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้วิธีที่คุ้นเคยกับ TX-RZ840 ได้เลยไม่ว่าจะเป็นการสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ต หรือจะสตรีมไฟล์เพลงของตัวเองที่อยู่บนสมาร์ทโฟนผ่านออกไปทาง Bluetooth, Chromecast หรือ AirPlay ก็ได้หมด ง่ายที่สุดคือสตรีมไฟล์เพลงจากอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนมาที่ TX-RZ840 ผ่านทาง Bluetooth

ซึ่งวิธีการนั้นทำได้ง่ายมากๆ เริ่มด้วยการกดปุ่ม Bluetooth ที่รีโมทไร้สาย (ภาพบน = A ส่วนปุ่ม B นั้นใช้เมื่อต้องการเพิ่มอุปกรณ์ใหม่) ที่หน้าจอของ TX-RZ840 จะมีคำว่า Now Pairing… ปรากฏขึ้นมา จากนั้นก็ให้เข้าไปที่เมนู Bluetooth ของสมาร์ทโฟนของคุณ ซึ่งจะปรากฏโค๊ด “Onkyo TX-RZ840 xxxxขึ้นมา ให้จิ้มลงไปที่โค๊ดนั้น

เมื่อสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับ TX-RZ840 ด้วย Bluetooth ได้แล้ว คุณก็แค่เล่นไฟล์เพลงบนสมาร์ทโฟนด้วยแอพลิเคชั่นที่รองรับการส่งสัญญาณผ่านทางบลูทูธ ถ้าคุณยังไม่มีแอพฯ แบบนั้น ผมแนะนำแอพฯ Onkyo HF Player ซึ่งใช้งานง่ายและให้เสียงที่ดี

* ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอพเล่นไฟล์เพลง Onkyo HF Player

ฟังเพลงกับ TX-RZ840 ด้วยวิธีสตรีมผ่าน Network

คุณสามารถทำให้ TX-RZ840 เป็นศูนย์กลางสำหรับการฟังเพลงภายในบ้านได้เลย ด้วยเหตุที่ว่า TX-RZ840 รองรับการเชื่อมต่อกับระบบโฮมเน็ทเวิร์คได้ทั้งทางช่อง Ethernet ด้วยสาย LAN และทางเสาอากาศ Wi-Fi ด้วยวิธีไร้สาย และเนื่องจาก TX-RZ840 มีระบบ Zone ที่สามารถส่งผ่านสัญญาณเสียงไปยังพื้นที่อื่นได้ถึง 2 โซนนั่นเอง

การสตรีมไฟล์เพลงจากอุปกรณ์พกพา หรือสมาร์ทโฟนของคุณเองไปเล่นที่ TX-RZ840 ด้วย AirPlay กับ Chromcast หรือแม้แต่การเล่นไฟล์เพลงบนฮาร์ดดิสที่เสียบผ่านเข้าทางช่อง USB-A ที่อยู่ข้างๆ ช่อง Ethernet หรือจะดึงไฟล์เพลงจาก NAS บนเน็ทเวิร์ค ทั้งหมดนี้ต้องส่งผ่านทาง Network Wi-Fi เท่านั้น ซึ่งเบื้องต้นก็คือคุณต้องทำการเชื่อมต่อ TX-RZ840 เข้ากับโฮมเน็ทเวิร์คที่บ้านคุณซะก่อน

วิธีง่ายที่สุดในการเชื่อมต่อ TX-RZ840 เข้ากับโฮมเน็ทเวิร์คคือใช้สาย LAN (RJ45) เชื่อมต่อเข้าที่ช่อง Ethernet ของ TX-RZ840 แล้วปรับตั้งที่ Router ของคุณให้ตอบรับกับอุปกรณ์ใหม่ด้วยวิธีอัตโนมัติ (DHCP) คือให้ Router แจกโค๊ดให้กับอุปกรณ์อัตโนมัติ ด้วยวิธีนี้เพียงแค่ไม่กี่วินาที TX-RZ840 ก็สามารถเชื่อมต่อกับโฮมเน็ทเวิร์คที่บ้านคุณได้แล้ว

ช่อง USB-A ที่อยู่ข้างๆ ช่อง Ethernet ใช้เสียบฮาร์ดดิสที่มีไฟล์เพลงเพื่อเล่นผ่านอินพุต USB ของ TX-RZ840 ได้ ในภาพผมลองใช้ฮาร์ดดิสพกพาแบบ SSD ขนาด 500GB ปรากฏว่า TX-RZ840 สามารถอ่านไฟล์ในฮาร์ดดิส SSD ตัวนี้และดึงออกมาเล่นได้

หลังจาก TX-RZ840 เชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คได้แล้ว คุณมีวิธีควบคุมการสั่งงานและเล่นไฟล์เพลงผ่านทางเน็ทเวิร์คบน TX-RZ840 ได้ 2 ทาง ทางแรกคือใช้วิธีกดปุ่มอินพุต “NETบนรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ ซึ่งกณรีนี้คุณต้องเปิดทีวีที่ต่อกับ HDMI MAIN ของ TX-RZ840 ไว้เป็นมอนิเตอร์ด้วยจึงจะสามารถควบคุมสั่งงานและเล่นไฟล์เพลงได้ ..

แต่วิธีที่ดีกว่าและแนะนำให้ทำคือควบคุมผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตครับ ซึ่งทาง Onkyo มีแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “Onkyo Controllerไว้ให้ใช้ฟรีอยู่แล้ว ทั้งเวอร์ชั่น iOS (บน Apple Store) และ Android (google play) ซึ่งผมทดลองดูแล้วพบว่าเวอร์ชั่น iOS มีทั้งบน iPhone และ iPad

นี่เป็นหน้าเปิดของแอพ Onkyo Controller บนหน้าจอ iPad Mini 2 ตรงลูกศรชี้สีเขียวเป็นทางเข้าเมนูของแอพฯ ส่วนลูกศรชี้สีแดงสำหรับเข้าไปปรับตั้งค่าต่างๆ ในเมนูเครื่อง

เมื่อจิ้มลงไปตรงเมนูของแอพฯ จะพบหัวข้อย่อยให้เข้าไปดูและปรับตั้งหลายหัวข้อในนั้น

เมื่อต้องการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์ค เริ่มต้นให้เข้าไปที่ INPUT ของ TX-RZ840 บนหน้าจอแอพฯ จะเห็นอินพุตทั้งหมดปรากฏขึ้นมาให้เลือกเล่น ให้ใช้อินพุต “NETสำหรับการสตรีมไฟล์เพลงจากเน็ทเวิร์ค

ในอินพุต NET จะเห็นว่ามีแหล่งต้นทางสัญญาณให้เลือกเล่นอีกเพียบ บางแหล่งนั้นคุณสามารถจิ้มเข้าไปเล่นได้เลย อย่างเช่น USB (ถ้ามีฮาร์ดดิส USB ที่ช่อง USB-A ของ TX-RZ840) ส่วน Spotify, Deezer และ TIDAL คุณต้องลงทะเบียนสมัครขอใช้บริการก่อน และต้องทำการลงทะเบียน (register) อุปกรณ์พกพาของคุณเข้ากับ TX-RZ840 ก่อน คือถ้าอุปกรณ์พกพาของคุณใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Android คุณต้องลงทะเบียนบน Chromcast built-in ก่อน (ลงทะเบียนด้วยแอพฯ google home) ถ้าอุปกรณ์พกพาของคุณใช้ระบบปฏิบัติการณ์ iOS คุณสามารถเล่นไฟล์เพลงบนแอพฯ เล่นไฟล์เพลงที่รองรับและส่งสัญญาณผ่าน AirPlay ไปที่ TX-RZ840 ได้ เนื่องจากทั้ง Chromcast และ AirPlay เป็น ระบบจัดการที่จะเชื่อมการรับส่งสัญญาณเสียงระหว่างแอพฯ เล่นไฟล์เพลงบนอุปกรณ์พกพาของคุณกับ TX-RZ840 ผ่านทาง Wi-Fi นั่นเอง

ผมทดลองเล่นไฟล์เพลงที่อยู่ในฮาร์ดดิสผ่านทางอินพุต USB ของ TX-RZ840 โดยจิ้มลงไปที่อินพุต USB ซึ่งตัว TX-RZ840 มองเห็นฮาร์ดดิส Samsung T5 (ลูกศรสีเขียว) ที่ผมเสียบเข้าไปด้วย

พบว่า TX-RZ840 รองรับการเล่นไฟล์เพลงได้ทุกฟอร์แม็ตที่ผมมีอยู่ในฮาร์ดดิสนั้น รวมถึงฟอร์แม็ต DSF ที่ใส่สัญญาณ DSD64 ด้วย และสามารถดึงภาพปกออกมาโชว์ได้ด้วย (ภาพด้านบนจากหน้าจอ iPad mini 2)

ผมทดลองจิ้มเข้าไปเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพ TIDAL ที่ฝังอยู่ในอินพุตของ TX-RZ840 ซึ่งต้องกรอก username/passwork ลงไปก่อนจึงจะเล่นได้ ถ้าคุณยังไม่ได้สมัครใช้งาน TIDAL คุณต้องเข้าไปสมัครก่อนที่เว็บไซต์ของ TIDAL เมื่อได้พาสเวิร์ดกับยูสเซอร์เนมมาแล้วค่อยนำมากรอกลงในแอพฯ TIDAL บนตัว TX-RZ840

เมื่อเล่นไฟล์จาก TIDAL จะโชว์ปกอัลบั้มและมีระบุความละเอียดของไฟล์ให้ทราบ กรณีเล่นไฟล์ Master จะได้แค่ 24/44.1 หรือ 24/48 เท่านั้น (ดูที่ศรชี้) ได้ไม่เต็มเพราะภาค DAC ในตัว TX-RZ840 ไม่มีดีโค๊ดเดอร์ MQA

ผมทดลองฟังเพลงจากแอพ Spotify ที่อยู่ในอินพุตของ TX-RZ840 ซึ่งต้องเปิดแอพของ Spotify ขึ้นมาเล่นเพลงแล้วเลือกว่าจะให้เสียงไปออกที่ปลายทาง (เอ๊าต์พุต) ไหน เนื่องจากแอพฯ Spotify ใช้กลไกในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทางที่เป็นเทคโนโลยีของเขาเองชื่อว่า “Spotify Connectและมองเห็น TX-RZ840 ในชื่อว่า “Family Room speaker” (ลูกศรชี้)

ผมทดลองเล่นไฟล์เพลงที่อยู่บน iPhone 7 ของผมด้วยแอพ Onkyo HF Player แล้วเลือกส่งสัญญาณไปที่ TX-RZ840 ผ่านทาง AirPlay ซึ่งสามารถควบคุมการเล่นไฟล์เพลงผ่านหน้าจอของแอพ Onkyo Controller ได้เลย

สรุป

เป็นเรื่องยากที่จะให้คำจำกัดความลักษณะเสียงและคุณภาพเสียงของอุปกรณ์ประเภทเอวี รีซีฟเวอร์ที่ชัดเจน เนื่องจากมันมีเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่างมากที่ทำให้เสียงของเอวี รีซีฟเวอร์สามารถเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการเซ็ตอัพใช้งานกับระบบเสียงเซอร์ราวนด์มัลติแชนเนล ซึ่งมีเรื่องของจำนวนแชนเนลที่ใช้, สภาพอะคูสติกของห้อง, ลักษณะของลำโพงที่ใช้ ตลอดไปจนถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างเช่นสายลำโพง, สาย HDMI ฯลฯ

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเสียงของเอวี รีซีฟเวอร์นอกเหนือจากจำนวนลำโพงที่ใช้ ก็คือ ตำแหน่งของลำโพงทั้งหมด ซึ่งหากว่าติดตั้งไม่ตรงกับมาตรฐานที่ Dolby Labs. กำหนดไว้ให้ จะต้องอาศัยความสามารถในการปรับจูนของตัวเอวี รีซีฟเวอร์ช่วยแก้ไขชดเชยความผิดพลาดในการติดตั้งนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า การปรับจูนระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่มีลำโพงจำนวนหลายตัวทำงานพร้อมกันนั้นเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ออกมาดี ถ้าไม่มีเครื่องมือช่วย จากการทดลองเซ็ตอัพในห้องรับแขกที่ไม่ได้ปรับอะคูสติกใดๆ โดยใช้ไมโครโฟนที่แถมมากับโปรแกรม AccuEQ Avance ที่ให้มากับ TX-RZ840 แค่นั้นโดยไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาช่วย ผมพบว่า เสียงที่ออกมาจากการปรับตั้งแบบอัตโนมัติ 100% ให้ผลทางเสียงที่ดีพอสมควร ทางด้านตำแหน่งและทิศทางการเคลื่อนตัวของเสียงมีความชัดเจนพอสมควร สมดุลเสียงอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ประทับมากที่สุดคือ เนื้อเสียงกับ ไดนามิกที่รู้สึกได้ชัดว่าดีกว่าเอวี รีซีฟเวอร์รุ่นรองอย่าง TX-NR696 พอสมควร ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะกำลังขับที่สูงกว่า จึงควบคุมการขยับตัวของไดอะแฟรมได้ดีกว่า ความผิดเพี้ยนของเสียงจึงน้อยกว่าเมื่อเจอกับสัญญาณเสียงที่มีความดังสูงๆ แต่จากประสบการณ์ของผมที่เคยไปฟังเอวี รีซีฟเวอร์ระดับนี้ในห้องที่ผ่านการปรับจูนโดยนักเซ็ตอัพที่มีความเชี่ยวชาญและใช้เครื่องมือคือไมโครโฟนกับซอฟท์แวร์ที่ดีกว่าที่ให้มากับตัวเอวี รีซีฟเวอร์นั้นๆ มาแล้ว เสียงมันดีกว่าใช้ไมโครโฟนแถมมาให้มากทีเดียว ถ้าคุณต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดจาก TX-RZ840 ผมแนะนำให้เรียกใช้บริการของนักติดตั้งมืออาชีพดีกว่าครับ

ส่วนตัวของผมคิดว่า ไฮไล้ท์ที่โดดเด่นมากๆ ของ TX-RZ840 นอกเหนือจากการดูหนังแล้ว ความสามารถในการฟังเพลงผ่านระบบเน็ทเวิร์คของ TZ-RZ840 ก็ถือว่าดีมากๆ มันทำงานได้อย่างลื่นไหลทุกเทคโนโลยีที่รองรับ เสียงที่ออกมาก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก คนที่ไม่เคยเล่นเครื่องเสียง stereo 2 ch มาก่อนจะแฮ้ปปี้มากกับเสียงที่ได้ หรือแม้แต่คนที่เล่นเครื่องเสียงแต่ไม่ได้ใช้ชุดเครื่องเสียงระดับแพงมากๆ ก็แฮ้ปปี้กับการฟังเพลงผ่าน TX-RZ840 ได้สบายๆ เลย

สุดท้าย เมื่อเทียบกับราคาห้าหมื่นกว่าๆ แล้ว บอกได้คำเดียวว่า คุ้มมาก.!!!” /

*****************************
ราคา : 65,900 บาท / เครื่อง
*****************************
ข้อมูลเพิ่มเติม: Powerbuy

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า