รีวิวเครื่องเสียง KEF รุ่น T205 ชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ 5.1 แชนเนล

นับวัน คนในเมืองใหญ่จะถูกบีบให้ใช้ชีวิตอยู่ภายในพื้นที่แคบๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นความจำยอมที่ตั้งอยู่บนเหตุและผล เพื่องานและความสะดวกในการเดินทางคือเหตุผลหลักที่ทำให้หลายๆ ชีวิตยินดีที่จะใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดที่มีพื้นที่จำกัดมากกว่าที่จะแยกตัวออกไปอยู่ในหมู่บ้านตามชานเมือง ซึ่งอาจจะมีพื้นที่กว้างขวางกว่าก็จริง แต่ก็ต้องแลกกับ เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการเดินทางไกล

คอนโดสมัยนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย โดยเฉพาะคอนโดที่ตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าได้โดยตรงก็ยิ่งสะดวกมากยิ่งขึ้น

ชุดลำโพงเซอร์ราวนด์ 5.1 แชนเนล
ของ KEF สำหรับชุดโฮมเธียเตอร์ในพื้นที่จำกัด

ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัด แต่ทุกบ้านก็ต้องมีมุมเอนเตอร์เทนเม้นต์พื่อความสุขของสมาชิกทุกคนในบ้าน ชุดลำโพงสำหรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 แชนเนลของ KEF รุ่น T205 ชุดนี้ถูกรังสรรขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ไม่ใช่ KEF เป็นเจ้าแรกที่ตั้งใจสร้างสรรผลงานเพื่อตอบโจทย์ให้กับคนที่พักอาศัยอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ก่อนหน้านี้มีผู้ผลิตชุดเครื่องเสียงและลำโพงมากมายหลายแบรนด์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ป้อนให้กับผู้บริโภคในเซคเม้นต์นี้ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่รูปทรงเล็กกระทัดรัดเพื่อตอบโจทย์ในแง่ความสะดวกในการติดตั้งใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะทุ่มไปกับการพัฒนาระบบเครื่องเสียงที่แพ็คเอาภาคขยายและลำโพงเข้าไปไว้ในตัวถังเดียวกันที่เรียกว่า Soundbar ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า Soundbar เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในแง่ของพื้นที่จำกัดและเพื่อความสะดวกได้ตรงจุดมากที่สุด อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณของผู้ใช้อีกด้วย แต่ทว่า.. สิ่งที่ขาดหายไปคือ คุณภาพเสียงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชุดโฮมเธียเตอร์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการ แต่หลายๆ แบรนด์เริ่มจะหลงลืมกันไปแล้ว หลังจากมุ่งหน้าไปที่ขนาดกระทัดรัดกับความประหยัดกันมาตลอด

T205 กับดีไซน์ที่ได้ทั้งรูปลักษณ์และคุณภาพเสียง

จะมีประโยชน์อะไร ถ้าประหยัดพื้นที่ได้จริง แต่เสียงไม่ดี โจทย์ที่ทีมวิศวกรของ KEF ตั้งไว้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาชุดลำโพง T Series ก็คือต้องมีรูปลักษณ์ที่ตอบโจทย์ของคนที่มีพื้นที่จำกัดและในขณะเดียวกัน ต้อง เสียงดีด้วย.!

ชุดลำโพงเซอร์ราวนด์ตระกูล T Series มีอยู่ทั้งหมด 3 ชุด คือ T305, T205 และ T105 ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นชุดลำโพงสำหรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 แชนเนล แต่ถ้าคุณต้องการนำไปใช้กับระบบเสียงที่ให้สัญญาณเอ๊าต์พุตออกมามากกว่า 5.1 แชนเนล ก็สามารถเพิ่มแชนเนลเข้าไปอีกได้ อาทิเช่น ระบบเซอร์ราวนด์ Dolby Atmos 7.1 ch

จริงๆ แล้ว KEF ออกแบบลำโพงในอนุกรม T Series ขึ้นมาทั้งหมด 3 รูปแบบ รูปแบบแรกคือลำโพงเซ็นเตอร์ 2 รุ่นคือ T301c ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่ กับรุ่น T101c ที่เป็นรุ่นเล็ก รูปแบบที่สองเรียกว่าลำโพง sattellite มีอยู่ 2 รุ่น คือรุ่น T301 ที่เป็นรุ่นใหญ่กับรุ่น T101 ที่เป็นรุ่นเล็ก รูปแบบที่สามคือลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบแอ็คทีฟซึ่งมีอยู่รุ่นเดียวคือ T2 จากนั้นพวกเขาก็แค่เอาลำโพงทั้งสามรูปแบบข้างต้นนี้มาผสมรวมกันออกมาเป็นชุดลำโพงเซอร์ราวนด์ทั้ง 3 ชุดนั่นเอง

T305 ซึ่งเป็นชุดใหญ่สุดในจำนวนสามชุดนั้นประกอบด้วยลำโพงรุ่น T301 ทำหน้าที่เป็นคู่หน้า (Front Left & Front Right) ร่วมกับลำโพงเซ็นเตอร์รุ่น T301c และรุ่น T101 ทำหน้าที่เป็นลำโพงเซอร์ราวนด์ ส่วนลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความถี่ต่ำที่เป็น LFE (Low Frequency Effect) ของทั้งสามชุดจะเป็นรุ่นเดียวกันทั้งหมด นั่นคือรุ่น T2 ที่มีลักษณะเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบ active คือมีแอมป์ขยายเสียงอยู่ในตัว พร้อมฟังท์ชั่นการปรับตั้งใช้งานอีกจำนวนหนึ่ง

ในชุดที่สองคือ T205 ที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยคู่หน้าคือรุ่น T301 กับเซนเตอร์รุ่น T301c ส่วนคู่หลังคือ T101 และซับวูฟเฟอร์รุ่น T2 ส่วนชุดเล็กสุดคือ T105 ซึ่งใช้ลำโพงแซทเทิ้ลไล้ท์รุ่น T101 สองคู่ทำหน้าที่เป็นคู่หน้าและเซอร์ราวนด์ ร่วมกับลำโพงเซนเตอร์รุ่น T101c กับซับวูฟเฟอร์รุ่น T2

คู่หน้ารุ่น T301

ลำโพงรุ่น T301 ที่ทำหน้าที่เป็นลำโพงคู่หน้าเป็นลำโพงตู้ปิดที่ใช้ไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5  นิ้ว จำนวน 2 ตัว ช่วยกันสร้างความถี่ในย่านกลางลงไปถึงทุ้ม ทำงานร่วมกับทวีตเตอร์ทรงโดมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว อีกหนึ่งตัวในการสร้างความถี่เสียงตั้งแต่ 80Hz ขึ้นไปจนถึง 30kHz โดยที่ไดเวอร์ 4.5 นิ้ว ทั้งสองตัวรับหน้าที่สร้างความถี่เสียงตั้งแต่ 1.7kHz ลงไปถึง 80Hz ส่วนความถี่ในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงแหลมคือตั้งแต่ 1.7kHz ไปจนถึง 30kHz เป็นหน้าที่ของทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียม

ลำโพงเซ็นเตอร์รุ่น T301c

ลำโพงเซ็นเตอร์รุ่น T301c ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้แม็ทชิ่งกับลำโพงคู่หน้ารุ่น T301 ในชุดนี้ ทำงานในระบบตู้ปิดที่มีไดเวอร์ 3 ตัว ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความถี่เสียงในย่าน 80Hz – 30kHz โดยมีไดเวอร์ขับกลางทุ้มขนาด 4.5 นิ้ว สองตัวกับทวีตเตอร์ขับเสียงแหลมทรงโดมขนาด 1 นิ้วอีกหนึ่งตัว รองรับกำลังขับของแอมป์ได้สูงถึง 150 วัตต์ ความต้านทาน 8 โอห์ม เปิดได้ดังสูงสุด 110 ดีบี

ลำโพงเซอร์ราวนด์รุ่น T101

นอกจากจะใช้เป็นลำโพงเซอร์ราวนด์แล้ว ลำโพงรุ่น T101 คู่นี้ยังใช้เป็นลำโพงคู่หน้าเพื่อจัดเข้าชุดเซอร์ราวนด์สำหรับห้องที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากได้ด้วย ระบบไดเวอร์เป็นแบบ 2 ทาง โดยใช้ไดเวอร์ขับกลางทุ้มขนาด 4.5 นิ้ว หนึ่งตัวทำงานร่วมกับทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว อีกหนึ่งตัวในตัวตู้ที่ปิดมิดชิด ให้ความถี่ตอบสนองอยู่ในย่าน 80Hz – 30kHz ทนกำลังขับได้สูงสุดอยู่ที่ 100 วัตต์ ความต้านทาน 8 โอห์ม เปิดได้ดังสุด 100 ดีบี

Ultra Slim Bass Driver
วูฟเฟอร์ชับเสียงทุ้มที่บางเฉียบ.!

ไดเวอร์ที่ใช้ขับความถี่กลางลงมาต่ำ (mid-bass) ซึ่งถูกใช้ในลำโพงแซทเทิ้ลไล้ท์รุ่น T301 และรุ่น T101 นั้นเป็นไดเวอร์แบบไดนามิกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว และเป็นไดเวอร์ที่วิศวกรของ KEF ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษ

เพื่อให้สามารถบรรจุลงไปในตัวตู้ที่มีความหนาเพียงแต่ 1.5 นิ้ว ได้ แต่ยังคงรักษาประสิทธิภาพในการผลักดันมวลอากาศเพื่อสร้างความถี่เสียงกลางและทุ้มที่มีความอิ่มแน่น วิศวกรของ KEF จึงเลือกใช้ไดเวอร์ไดนามิกที่ได้ชื่อว่าเป็นรูปแบบของไดเวอร์ที่ขับความถี่ย่านกลางทุ้มได้ดีที่สุด ซึ่งขนาดที่ต้องการคือ 4.5 นิ้ว แต่เนื่องจากไดเวอร์ที่มีขนาดหน้าตัด (เส้นผ่าศูนย์กลาง) 4.5 นิ้วโดยทั่วไปจะมีความลึกของโครงสร้างมากกว่าที่จะสามารถใส่ลงไปในตัวตู้ที่มีความหนาไม่ถึงสองนิ้ว พวกเขาจึงต้องใช้วิธีออกแบบไดเวอร์ตัวนี้ขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น มีการย่นย่อส่วนของโครงสร้าง (basket) ของตัวไดเวอร์ให้มีลักษณะแบนราบจนสามารถใส่ลงไปในตัวตู้ของลำโพงทั้งสองรุ่นนั้นได้ (เหลือความหนาเพียงแค่ 27 .. เท่านั้น!) ในขณะเดียวกัน เพื่อให้ยังคงมีประสิทธิภาพในการผลักดันมวลอากาศที่มากพอ พวกเขาจึงได้ทำการออกแบบส่วนประกอบที่สำคัญของไดเวอร์ตัวนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ

Twin Layered Radiating Diaphragm
แผ่นไดอะแฟรมแบบ 2 ชั่นคู่

ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่ใช้ในลำโพง T-Series ทั้งหมดใช้ไดอะแฟรมแบบพิเศษที่ชื่อว่า Twin Layered MF Driver คือเป็นไดอะแฟรมที่มีโครงสร้างบางๆ แต่มีความแกร่งสูงซ้อนอยู่ด้านหลังไดอะแฟรมตัวหลักอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างที่ว่านี้จะช่วยเพิ่มความแรก่งให้กับไดอะแฟรมของไดเวอร์ตัวนี้ ทำให้มีแรงต้านทานอากาศมากขึ้น สามารถปั๊มอากาศสร้างความถี่เสียงได้แรงขึ้นโดยที่แผ่นไดอะแฟรมหลักไม่เกิดอาการเสียทรง

นอกจากนั้น บริเวณขอบยางที่ยึดแผ่นไดอะแฟรมเข้ากับโครงของไดเวอร์ (พวกเขาเรียกมันว่า Z-Flex Surround) ก็ได้ถูกออกแบบให้มีมวลต่ำ แต่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ไดอะแฟรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Large New Vented Tweeter
ทวีตเตอร์ขนาดใหญ่ กับการระบายอากาศหลังโดมทวีตเตอร์!

ปกติแล้ว ลำโพงที่มีตัวตู้เล็กๆ ขนาดนี้จะใช้ทวีตเตอร์ที่มีขนาดแค่ 19 .. ก็เพียงพอ แต่เพื่อให้ได้ส่วนผสมที่ดีระหว่างความถี่สูงกับความดังของเสียงในย่านสูง ทำให้วิศวกรของ KEF เลือกที่จะใช้ทวีตเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือ 25 .. ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับทวีตเตอร์ที่ใช้ในลำโพงรุ่น Muon และลำโพงในอนุกรม Reference Series ซึ่งเป็นลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ของแบรนด์ KEF นี้

นอกจากนั้น พวกเขายังได้เปิดช่องระบายอากาศที่ด้านหลังของตัวทวีตเตอร์ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการช่วยลดแรงกดดัน (compress) ของมวลอากาศหลังโดมที่เกิดจากการขยับตัวของโดมทวีตเตอร์ช่วงที่ถอยหลัง เพราะโดยทั่วไปของทวีตเตอร์ที่มีช่องด้านหลังแบบปิดทึบจะทำให้มวลอากาศหลังโดมถูกอัดช่วงที่โดมถอยหลัง ทำให้เกิดแรงต้านของมวลอากาศที่ถูกอัดอยู่หลังโดม จึงทำให้โดมทวีตเตอร์ขยับตัวถอยหลังได้ไม่เต็มที่ ส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียงในย่านสูง

ที่ด้านหน้าของโดมมีการติดตั้ง waveguide ที่ทำเป็นรูปทรงเหมือนส้มผ่าเป็นเสี้ยว 7 เสี้ยว ล้อมรอบอยู่เหนือโดมทวีตเตอร์ ซึ่ง waveguide ตัวนี้จะช่วยจัดมุมกระจายเสียงของความถี่สูงที่เกิดจากการผลักดันของโดมทวีตเตอร์ให้แผ่ออกไปได้กว้างขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพเสียง โดยเฉพาะในย่านเสียงแหลมที่มีลักษณะเปิดโล่งแต่ไม่จัดจ้าน

ลำโพงซับวูฟเฟอร์ รุ่น T2

ลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่น T2 ที่ใช้ร่วมกับลำโพงแซทเทิ้ลไล้ท์ชุดนี้เป็นลำโพงตู้ปิด ทำงานด้วยระบบแอ๊คทีฟคือมีแอมป์ class-D กำลังขับ 250 วัตต์ อยู่ในตัว ให้ความดังสูงสุด 110 ดีบี ส่วนไดเวอร์ที่ใช้เป็นแบบกรวยไดนามิกขนาด 10 นิ้ว ใช้วงจร Low-pass filter ตัดความถี่ต่ำตั้งแต่ 250Hz ลงไปจนถึง 30Hz โดยใช้อัตราลาดลงของความดังอยู่ที่ออเดอร์ที่ 2 (อ็อกเตรปละ 12dB)

ลักษณของ T2 มาในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดกว้างxสูงใกล้เคียงกับทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ดูเผินๆ จะคล้ายกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั่วไป แต่ที่แตกต่างกันมากที่สุดก็คือความลึก ซึ่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF ตัวนี้มีความลึกไม่ถึงยี่สิบเซนติเมตรเท่านั้นเอง แสดงว่าไดเวอร์ 10 นิ้ว ที่ใช้ในลำโพงซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ต้องมีโครงสร้างที่แบนและบางกว่าไดเวอร์ 10 นิ้วทั่วไปอย่างแน่นอน นี่คือความพิเศษของซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ นั่นคือมีตัวตู้ที่แบนและบาง ไม่เกะกะพื้นที่ติดตั้ง แต่ยังคงให้ประสิทธิภาพสูงเพราะใช้ไดเวอร์ขนาดใหญ่ถึง 10 นิ้วเป็นตัวสร้างความถี่เสียงพร้อมทั้งกำลังขับที่สูงถึง 250 วัตต์

ปรับแต่งเสียงได้

เครื่องมือที่ใช้ในการปรับตั้งใช้งาน T2 ถูกเก็บไว้ด้านล่างของตัวตู้ ถ้าจะทำการปรับตั้งคุณต้องหงายตัวตู้ของ T2 ขึ้นมา หรือจับตัวตู้นอนหงายลงกับพื้น ซึ่งคุณจะเห็นเครื่องมือการใช้งานของ T2 ที่แบ่งเป็น 3 ส่วน เรียงลำดับตามขั้นตอนการทำงาน คือ

1. จุดที่ใช้เชื่อมต่อปลั๊กไฟเอซีกับเชื่อมต่อสัญญาณอินพุตที่มาจากสัญญาณ Line out ของแอมป์เซอร์ราวนด์

2. สวิทช์เปิด/ปิดไฟเข้าเครื่องโดยมีฟิวส์ 2.5A/250V สำหรับป้องกันความปลอดภัยจากไฟฟ้า

3. ตรงนี้มีสวิทช์โยกที่ใช้สำหรับปรับตั้งเสียงอยู่ 3 ตัว คือ

> BASS BOOST = ใช้สำหรับบู๊สความดังของเสียงทุ้มจากตัวซับวูฟเฟอร์ ซึ่งมีให้เลือกปรับอยู่ 3 ระดับ คือ 0dB เป็นความดังปกติ, +6dB และ +12dB เป็นการเพิ่มความดังขึ้นมาจากปกติ 6 ดีบี และ 12 ดีบี

> PHASE = ใช้สำหรับปรับเฟสของสัญญาณความถี่ต่ำจากตัวซับวูฟเฟอร์ ระหว่าง 0 กับ 180 องศา เพื่อทำให้กลืนกับเสียงกลางและแหลมที่ออกมาจากลำโพงแซทเทิ้ลไล้ท์

> POWER = ใช้เลือกวิธีเปิดใช้งานระหว่าง AUTO คือให้ตัวซับวูฟเฟอร์เปิดขึ้นพร้อมทำงานเมื่อมีสัญญาณอินพุตเข้ามา กับ MANUAL คือเปิด/ปิดการทำงานของตัวซับวูฟเฟอร์ด้วยวิธีแมนน่วล ซึ่งโดยมากนิยมตั้งไว้ที่ AUTO ในกรณีของการใช้งานประจำวัน แต่ควรจะเปลี่ยนเป็น MANUAL กรณีที่คุณไม่อยู่บ้านนานๆ หลายวัน

ขณะที่ T2 ถูกเปิดขึ้นมาใช้งาน จะมีไฟ LED สีฟ้า (ลูกศรสีแดง) ที่อยู่ด้านหน้าส่วนล่างของตัวตู้สว่างขึ้น เมื่อตัวเครื่องปิดตัวหยุดทำงานลงไฟส่วนนี้จะดับลงไปด้วย

แนวทางการเชื่อมต่อและติดตั้งระบบ

KEF รุ่น T205 มีลำโพงแซทเทิ้ลไล้ท์ 4 ตัว + เซ็นเตอร์ 1 ตัว + ซับวูฟเฟอร์ 1 ตัว จึงสามารถใช้กับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ได้ทุกฟอร์แม็ต ไม่ว่าจะเป็นระบบเสียง Dolby Digital 5.1 Ch, DTS Surround ไปจนถึงระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS-X ซึ่งเป็นระบบเสียง 7.1 แชนเนล เนื่องจาก 5.1 แชนเนล เป็นพื้นฐานของระบบเสียงเซอร์ราวนด์ทุกฟอร์แม็ตนั่นเอง* ส่วนรูปแบบการติดตั้งลำโพงทั้งหมดนั้น ทางผู้ลิตมีชาร์ตแนะนำการติดตั้งมาให้เลือกใช้ถึง 4 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะการตกแต่งพื้นที่ภายในห้อง แต่ถ้าสามารถทำได้ แนะนำให้ทำการติดตั้งลำโพงทั้งหมดตาม 2 รูปแบบด้านบน (A, B) จะให้ผลรวมของเสียงที่ดีกว่าสองแบบด้านล่าง (C, D) ซึ่งมีไว้สำหรับกรณีที่สถานที่ไม่อำนวยจริงๆ เท่านั้น

* หมายเหตุ : ถ้าต้องการเซ็ตอัพให้เป็นระบบเสียง 7.1 แชนเนล เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของระบบเสียง Dolby Atmos กับ DTS-X อย่างเต็มที่ คุณก็สามารถทำได้ แค่ซื้อลำโพงรุ่น T101 มาเพิ่มอีกหนึ่งคู่ แต่แอมป์เซอร์ราวนด์ที่คุณใช้จะต้องมีดีโค๊ดเดอร์ของระบบเสียง 7.1 แชนเนลทั้งสองฟอร์แม็ตข้างต้นด้วย และต้องมีภาคขยายของแอมป์ครบทั้ง 7 แชนเนลด้วย

ติดตั้งและเซ็ตอัพเพื่อการทดสอบใช้งานจริง

ในการทดสอบครั้งนี้ ผมทดลองเซ็ตอัพลำโพงชุดนี้เอาไว้ 2 แบบ ตอนแรกเซ็ตอัพลำโพงทั้ง 6 ตัว (T301 หนึ่งคู่ + T101 หนึ่งคู่ + T2 หนึ่งตัว) ไว้ในตำแหน่งมาตรฐานของระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 แชนเนลตามสูตรที่ Dolby Labs. แนะนำไว้ หลังจากนั้นผมยังได้เซ็ตอัพเป็นระบบเสียง 2.1 แชนเนล ลองฟังดูด้วยโดยใช้คู่หน้า T301 ร่วมกับซับวูฟเฟอร์ T2

สำหรับการลองฟังช่วงแรกด้วยระบบเสียง 5.1 แชนเนล ผมเซ็ตอัพชุดลำโพง T205 ไว้ในห้องรับแขกร่วมกับ OLED ทีวีขนาด 65 นิ้วของ Sony รุ่น A8F โดยใช้เอวี รีซีฟเวอร์ เซอร์ราวนด์ของ Marantz รุ่น SR7005 ทำหน้าที่ถอดรหัสและขยายสัญญาณ 5.1 แชนเนลให้กับลำโพงชุดนี้ ส่วนสัญญาณเสียงก็รับมาจากเอ๊าต์พุต HDMI (ARC) และจากช่องเอ๊าต์พุต Optical ของทีวี ซึ่งมีทั้งสัญญาณเสียงสเตริโอ 2 แชนเนลจากรายการทีวี และสัญญาณเซอร์ราวนด์ 5.1 แชนเนลจาก Netflix กับ Disney+

ตำแหน่งของลำโพงสามแชนเนลหน้า + ซับวูฟเฟอร์ (ศรชี้) หลังจากทดลองขยับหาตำแหน่งและระยะจัดวางลำโพงทั้ง 6 ตัวแค่ชั่วครู่ และใช้ฟังท์ชั่นปรับจูนเสียงอัตโนมัติ (auto room calibration) ที่ตัวแอมป์เซอร์ราวนด์ (ผ่านไมโครโฟนที่แอมป์แถมมาให้) ผมก็ได้ตำแหน่งที่ทำให้ลำโพงแต่ละตัวของ T205 ทำงานกลมกลืนเป็นสนามเสียงเดียวกัน โดยที่คู่หน้ามีระยะห่างซ้ายขวาอยู่ที่ 190 .. ห่างจากผนังหลังออกมาเท่ากับ 67 .. มากกว่าระนาบของจอนิดหน่อยเพราะผมมีโต๊ะตั้งขนาบข้างทีวีจึงเอาลำโพงคู่หน้าเข้าไปอยู่ในระนาบเดียวกับหน้าจอทีวีไม่ได้ ตำแหน่งลำโพงคู่หน้าทั้งสองจึงดูเหลื่อมล้ำออกมาอยู่หน้าระนาบจอทีวีนิดหน่อย แต่หลังจากปรับจูนเสียงแล้วพบว่าไม่มีปัญหาใดๆ เสียงพูดของตัวละครออกมาตรงกับตำแหน่งปากของตัวละครตามภาพที่ปรากฏบนจอ แสดงว่าลำโพง KEF รุ่น T301 ที่ใช้เป็นคู่หน้าตัวนี้ให้เฟสของสัญญาณที่แม่นยำมาก และการที่ต้องวางลำโพงห่างออกมาจากผนังหลังแบบนี้ก็ไม่พบปัญหาเสียงบาง เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะแต่ละตัวของ T301 มันใช้ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ขนาด 4.5 นิ้ว ถึง 2 ตัวช่วยกันสร้างเสียง เสียงที่ออกมาจึงมีความหนาแน่นของมวลอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เหนือกว่าเสียงจากลำโพงของทีวีหลายเท่า

ส่วนลำโพงซับวูฟเฟอร์นั้นผมได้ระยะวางระหว่างลำโพงคู่หน้า เยื้องมาทางข้างขวานิดหน่อย เป็นตำแหน่งที่อลุ้มอล่วยระหว่างความจำกัดของพื้นที่กับคุณภาพเสียง หลังจากปรับจูนด้วยฟังท์ชั่น Auto Room Calibration ของแอมป์แล้ว ผมทดลองใช้ฟังท์ชั่น Bass Boost ของตัวซับฯ ปรับเพิ่มปริมาณเสียงของซับวูฟเฟอร์ขึ้นมาอีก 6 ดีบี โดยที่ยังคงใช้เฟสอยู่ที่ 0 องศา ซึ่งตัวซับวูฟเฟอร์ตั้งจุดความถี่ที่ส่งผลกับการเพิ่มความดังของมันไว้ที่ 40Hz รู้สึกถึงความแน่นของเสียงได้ตั้งแต่ทุ้มต้นๆ ขึ้นไปจนถึงกลางตอนล่าง ซึ่งจากการทดลองปรับใช้ฟังท์ชั่น Bass Boost นี้ผมคิดว่า ถ้าเป็นห้องที่มีขนาดใหญ่กว่าห้องรับแขกของผมขึ้นไปอีกเล็กน้อย มีพื้นที่กว้างพอให้วางลำโพงซับวูฟเฟอร์ออกไปให้อยู่ในระยะที่ไกลกว่าลำโพงคู่หน้าออกไปอีกหน่อยก็น่าจะได้เสียงที่กว้างและได้สนามเสียงที่ใหญ่โตมากขึ้นโดยที่เสียงเบสไม่หายเพราะยังมีให้ปรับเพิ่มเสียงทุ้มไว้ชดเชยได้อีกสเต็ปหนึ่งคือ 12dB ถือว่าเป็นฟังท์ชั่นที่ใช้งานได้จริง ถ้าชอบเสียงทุ้มหนาๆ แน่นๆ แนะนำให้ปรับเพิ่มเพราะเสียงทุ้มที่ได้มามันเป็นทุ้มที่มีคุณภาพ เนื่องจากถูกสร้างออกมาทางแมคคานิดด้วยไดเวอร์ขนาดใหญ่ ไม่ใช่ทุ้มที่เกิดจากการสร้างด้วยเทคนิคพิเศษทางด้านอิเล็กทรอนิค (DSP)

ตำแหน่งของลำโพงคู่หลัง ขนาบอยู่ข้างๆ โซฟา (ศรชี้) ซึ่งผมได้ระยะลงตัวอยู่ที่ 210 .. หลังจากปรับจูนทั้งระบบร่วมกับลำโพงคู่หน้าและซับวูฟเฟอร์แล้ว ผมพบว่าลำโพงคู่หลัง T101 คู่นี้มันช่วยทำให้รู้สึกถึงเสียงที่ตีโอบออกไปด้านข้างซ้ายขวาและเสียงที่ดังอยู่ด้านหลังได้ดีพอสมควร

หลังจากลองฟังด้วยระบบเสียง 5.1 แชนเนลเสร็จแล้ว ผมได้ทดลองเซ็ตอัพลำโพงของ KEF รุ่นนี้ฟังเป็นระบบเสียง 2.1 แชนเนลด้วย สำหรับคนที่ต้องการลำโพง 2.1 แชนเนล (คู่หน้า + ซับวูฟเฟอร์) ไปอัพเกรดเสียงของทีวี และใช้ฟังเพลงจากสตรีมิ่งไปด้วย ผมเลยเปลี่ยนจากแอมป์เซอร์ราวนด์ Marantz SR7005 มาเป็น all-in-one สตรีมเมอร์+แอมป์ ของ Cambridge Audio รุ่น EVO150 ซึ่ง EVO150 ตัวนี้มีช่อง Sub-Out ด้วยจึงลงตัวมากกับการใช้งานร่วมกับลำโพง 2.1 แชนเนล ซึ่งผมใช้ลำโพงรุ่น T301 เป็นคู่หน้า + ลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่น T2 (ตำแหน่งลำโพงตามศรชี้ในภาพด้านบน)

เสียงของชุดลำโพง KEF T205

ถ้าคุณเห็นตัวตู้ของ T301 แล้วอาจจะรู้สึกกลัวว่าเสียงจะออกมาบางเหมือนตัวตู้รึเปล่า.? ผมบอกตามตรงว่าแอบคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่หลังจากที่ได้ลองฟังแล้วต้องบอกเลยว่าผิดคาดครับ.! เมื่อเทียบกับเสียงจากตัวทีวี ผมพบว่า เสียงจากลำโพง KEF ชุดนี้ให้เสียงที่มีทรวดทรงมากกว่าเยอะเลย ผมลองฟังเสียงพูดของผู้ประกาศข่าวของช่องอัมรินทร์และช่องไทยรัฐจะเห็นได้ชัดเลยว่า เสียงที่ได้จากลำโพงของ KEF ชุดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนฟังเสียงของคนจริงๆ มากกว่า เสียงของผู้ประกาศชายกับหญิงจะออกมาต่างกันมากกว่าตอนฟังจากลำโพงของทีวีมาก คือฟังจากลำโพงของ KEF ผมพบว่าเสียงของผู้ประกาศชายมีโทนทุ้มในขณะที่เสียงของผู้ประกาศหญิงจะมีโทนแหลมสูง ไปอีกด้านหนึ่งเลย ซึ่งตอนฟังผ่านลำโพงของทีวีจะไม่รู้สึกต่างกันมากเท่ากับตอนฟังผ่านลำโพงของ KEF อีกประเด็นที่ผมพบว่ามีความแตกต่างกันชัดเจน นั่นคือเสียงที่ได้จากลำโพง KEF จะเป็นลักษณะของเสียงที่ หลุดลอยออกมามากกว่า ไม่ฝังติดอยู่กับตัวทีวีเหมือนตอนฟังจากลำโพงของทีวีเอง

พอมาถึงการทดลองฟังด้วยระบบเสียง 5.1 แชนเนล ปรากฏว่าลำโพง 5.1 แชนเนลของ KEF ชุดนี้ให้เสียงที่หนีห่างลำโพงของทีวีไปหลายโยชน์.!! เสียงจากลำโพงของทีวีแทบจะไม่มีอะไรสู้ได้เลย แพ้ขาด.. โดยเฉพาะทางด้านการแยกแยะของมิติเสียงที่ชุดลำโพงของ KEF ทำได้เหนือกว่ามาก มันให้สนามเสียงที่เปิดกว้างออกไปรอบด้าน มีทั้งซ้ายขวา และโอบมาข้างๆ ทั้งสองด้านด้วย และเมื่อมีเสียงเอ็ฟเฟ็กต์ที่รุนแรงออกมา ผมแทบจะตกเก้าอี้..! เสียงทุ้มที่ชุดลำโพงของ KEF ชุดนี้ให้ออกมามันเหนือกว่าเสียงจากทีวีมากมหาศาล ทั้งๆ ที่ทีวี OLED ของ Sony ตัวนี้มีแยกซับวูฟเฟอร์มาให้แล้วนะ ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ฟังดีพอสมควรเมื่อเทียบกับทีวีตัวอื่นๆ แต่พอเสริมด้วยชุดลำโพงของ KEF ชุดนี้กับแอมป์เซอร์ราวนด์ขนาดกลางๆ อีกตัว ผมพบว่าเสียงที่ออกมามันหนีห่างกันไปไกลมาก พูดง่ายๆ คือ พอได้ฟังเสียงจากลำโพงของ KEF ชุดนี้แล้ว ผมกลับไปฟังเสียงจากทีวีไม่ได้อีกเลย.!!!

เมื่อจับกับ all-in-one ของ Cambridge audio รุ่น EVO150 แล้วทดลองสตรีมไฟล์เพลงมาลองฟังกับลำโพง KEF ที่เซ็ตอัพไว้เป็น 2.1 แชนเนล (T301 + T2) ผมพบว่า เสียงยิ่งดีขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เหตุผลก็เพราะว่าภาคเสียงของ EVO150 มีคุณภาพสูงกว่าภาคขยายเสียงของแอมป์เซอร์ราวนด์นั่นเอง อีกทั้งภาคออดิโอ สตรีมมิ่งของ EVO150 ถูกออกแบบมาให้รองรับได้ถึงระดับไฮเรซฯ เมื่อเล่นไฟล์ที่มีสเปคฯ สูงๆ เสียงที่ออกมาจึงมีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกระดับอย่างที่ว่า และเมื่อลองเปลี่ยนมาชมภาพและฟังเสียงจาก YouTube ที่สตรีมจากแอพ YouTube บนทีวีโซนี่ตัวนี้ เสียงที่ออกมาก็ดีกว่าเสียงจากลำโพงของทีวีเยอะมากเช่นกัน เจอบางคลิปที่บันทึกเสียงไว้ดีๆ ฟังแล้วจะรู้สึกแฮ้ปปี้มาก ดูและฟังเพลินจนลืมตัวเพราะมันได้เห็นภาพและได้ยินเสียงไปพร้อมกัน

สรุป

ต้องยอมรับว่า KEF ทำลำโพงชุดนี้ออกมาได้ดีมาก.! พวกเขาสามารถผสมผสานระหว่างความเรียบง่ายของดีไซน์ตัวลำโพงให้เข้ากับคุณภาพเสียงในระดับที่คนเล่นเครื่องเสียงยอมรับออกมาได้ลงตัวมากๆ ได้ลองฟังแล้วจึงเข้าใจว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงทำลำโพงเซอร์ราวนด์ที่เป็นแบบ passive ออกมาในขณะที่ตลาดส่วนใหญ่หันไปทางแอ๊คทีฟและซาวนด์บาร์กันเกือบทั้งนั้น ได้ฟังเสียงลำโพง KEF ชุดนี้แล้วผมเข้าใจเลยว่า ถ้ากำหนดเป้าหมายไว้ที่ คุณภาพเสียงที่จับต้องได้จริง ไม่ใช่แค่คำโฆษณาชวนเชื่อ ก็ไม่มีทางที่จะทำลำโพงซาวนด์บาร์ให้ได้เสียงออกมาดีเท่าลำโพงที่แยกแชนเนลเด็ดขาดเหมือนกับลำโพงของ KEF ชุดนี้ เพราะการติดตั้งลำโพงแต่ละแชนเนลไว้ใกล้กันมาก แล้วอาศัยวงจร DSP เข้ามาช่วยฉีกขยายเสียงให้ฟังดูแผ่กว้างมันก็ทำได้แค่หลอกๆ ไม่แม่นเป๊ะเหมือนลำโพงที่แยกแชนเนลเด็ดขาดอย่างแน่นอน

ลำโพงซาวนด์บาร์ให้เสียงที่ดีกว่าลำโพงของตัวทีวีขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ถ้าคุณต้องการ คุณภาพเสียงที่เข้าใกล้คำว่า มาตรฐานสากลให้มากขึ้นไปอีกระดับ คุณต้องใช้ชุดลำโพงที่แยกแชนเนลเด็ดขาดเหมือน KEF T205 ชุดนี้..!! /

********************
ราคา : KEF รุ่น T205 = 109,900 บาท / ชุด
********************
ตัวแทนจำหน่าย
1Piyanas Electric
2SweetPig Audio
3Audiomate
4. Theater House
5บริษัท เอสพีเค ซาวด์ ซิสเต็มส์ จำกัด (Sound DD Shop)
6มั่นคง แกดเจ็ต
7Fullbright technology
8HD HiFi RAMA IX
9. ขอนแก่นไฮไฟ
10Bangkok Digital

 

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า