รีวิวเครื่องเสียง Moonriver Audio รุ่น Model 404 Reference เพียวอะนาลอก อินติเกรตแอมป์

คุณคิดว่า กำลังขับ 50W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม ถือว่า มากหรือ น้อย” .? ผมเอาคำถามนี้ไปโพสต์สอบถามความคิดเห็นของเพื่อนๆ ใน เพจของผม พบว่า คำตอบที่ได้ออกมามีทั้งคนที่คิดว่ามากแล้ว, มีทั้งคนที่มองว่าน้อยไป และมีทั้งคนที่ให้ความเห็นว่า ไม่มากไม่น้อย ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เข้ามาอ่านคำตอบที่แฟนเพจของผมแสดงความเห็นไว้ทั้งหมดแล้วอาจจะรู้สึกแปลกใจว่า ทำไม.. จึงมีความเห็นที่แตกต่างกันไปแบบนั้น.?

จะว่าไปแล้ว กำลังขับที่ระบุในสเปคฯ ของแอมป์แต่ละตัวเป็นแค่ ตัวเลขที่ได้มาจากเกณฑ์การวัดค่าที่มาตรฐานต่างๆ กำหนดเอาไว้ นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเปลี่ยนมาตรฐานในการวัดค่า ตัวเลขกำลังขับของแอมป์ตัวนั้นก็จะเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวัดด้วยมาตรฐาน PMPO (Peak Music Power Output) คุณจะได้ตัวเลขกำลังขับของแอมป์ตัวเดิมเพิ่มสูงขึ้นไปอีกมหาศาล ขนาดที่ว่า แอมป์ตัวเล็กๆ บางตัวเมื่อวัดด้วยมาตรฐาน PMPO อาจจะได้กำลังขับพุ่งขึ้นไปเป็นพันวัตต์ก็มี..!

หมายความว่า ตัวเลขกำลังขับที่ระบุอยู่ในสเปคฯ ของแอมป์ใช้วิเคราะห์อะไรไม่ได้.? ก็ไม่เชิง.. ถ้าใช้เป็นไกด์นำทางตอนแม็ทชิ่งด้วยตัวเลขก็พอได้ แต่ถ้าจะให้รู้ลึกถึง สมรรถนะที่แท้จริงของแอมป์ตัวนั้น ต้องพิจารณาจาก พฤติกรรมและ ผลลัพธ์ของเสียงที่ได้ตอนขับลำโพงจริงๆ เท่านั้น.!!

Model 404 Reference
เมื่อ Model 404 ถูก ดันไปสู่จุดสูงสุด.!

ผมได้ทำการทดสอบอินติเกรตแอมป์ของ Moonriver Audio รุ่น Model 404 ไปเมื่อต้นปีที่แล้ว (เดือนกุมภาพันธ์ 2022) (REVIEW) ซึ่งผมอยากจะแนะนำให้คุณคลิ๊กที่ลิ้งค์เข้าไปอ่านบททดสอบของรุ่น Model 404 ก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านต่อที่นี่ เพราะผมจะขอข้ามการพูดถึงรูปร่างหน้าตาและฟังท์ชั่นทั่วๆ ไปของแอมป์ตัวนี้ไป เนื่องจากว่าองค์ประกอบโดยรวมของตัว Model 404 Reference กับรุ่น Model 404 เวอร์ชั่นธรรมดา แทบจะเหมือนกันทุกอย่าง

หน้าตาของรุ่น Model 404 กับ Model 404 Reference โดยรวมๆ เหมือนกัน ความแตกต่างบนหน้าปัดจะมีแค่ชื่อรุ่น กับสีของตัวหนังสือที่ช่วยกำกับในแต่ละจุด โดยที่รุ่น Model 404 ใช้สีขาว ในขณะที่รุ่น Model 404 Reference ใช้สีทอง

ในคู่มือของรุ่น Model 404 Reference แจ้งไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่เกิดขึ้นกับ Model 404 เพื่อให้ออกมาเป็นรุ่น Model 404 Reference อยู่ที่ ภาคเพาเวอร์ซัพพลายเกือบทั้งหมด หัวใจหลักก็คือการอัพเกรดส่วนของ capacitor หรือตัวเก็บประจุ ด้วยการเพิ่มความจุของคาปาซิเตอร์ขึ้นไปเป็น 107000 ไมโครฟารัด เต็มพิกัด.! โดยแยกออกมาใช้กับภาคปรีแอมป์มากถึง 21000 ไมโครฟารัด ซึ่งส่งผลดีกับเสียงในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น ทำให้สัญญาณจากภาคปรีแอมป์สามารถสวิงไดนามิกได้กว้างขึ้น ทำให้รายละเอียดของเสียงถูกเปิดเผยออกมามากขึ้น โดยเฉพาะรายละเอียดในระดับความดังต่ำๆ (Low Level Resolution) ทำให้เวทีเสียงที่เปิดออกทางด้านกว้างและแผ่กระจายลงด้านลึกมากขึ้น, ขยายช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีให้เปิดกว้างออกไปมากขึ้น และทำให้เสียงทุ้มเป็นตัวเป็นตนมากขึ้นด้วย

ภายในตัวเครื่อง

George Polychronidis ผู้ก่อตั้งแบรนด์และหัวหน้าทีมออกแบบของ Moonriver Audio มีความเข้าใจในการออกแบบเป็นอย่างดี เขาใช้เวลานานถึง 3 ปี ในการออกแบบแอมป์ตัวนี้ ด้วยพื้นฐานที่คลุกคลีและหลงไหลในการออกแบบมานาน ทำให้เขารู้ว่า ภาคเพาเวอร์ซัพพลายคือหัวใจสำคัญสำหรับแอมปลิฟายทุกตัว

“.. The power supply is the heart of any serious design. We use separate supplies for each section of the amplifier..” นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Model 404 Reference มีน้ำหนักมากกว่ารุ่น Model 404 เวอร์ชั่นธรรมดาอยู่ 1 กิโลกรัม..!!!

ทดลองฟังเสียงของ Model 404 Reference

บอกเลยว่า.. การมาถึงของอินติเกรตแอมป์ Moonriver Audio สองตัวนี้ (Model 404 กับ Model 404 Reference) ทำให้หลักการแม็ทชิ่งระหว่างแอมป์กับลำโพงปั่นป่วน.! คือไม่ว่าจะทดลองขับลำโพงคู่ไหน ถ้าฟังแต่เสียงที่ออกมาโดยไม่ไปเปิดสเปคฯ ลำโพงเอามาประกบเทียบกับตัวเลขกำลังขับของแอมป์ ทุกคนจะพูดเหมือนกันหมดว่า ขับออกสบาย.!

จับคู่ #1
PSB รุ่น Synchrony T600
ตอบสนองความถี่ = 24-23kHz
ความไว = 91dB
อิมพีแดนซ์ = 4 โอห์ม
แนะนำกำลังขับ = 20-300W

Model 404 Reference เดินทางเข้ามาถึงห้องฟังตอนที่ผมกำลังทดสอบลำโพงตั้งพื้นของ PSB รุ่น Synchrony T600 ช่วงท้ายๆ พอดี ผมจึงได้มีโอกาสใช้ Model 404 Reference ทดลองจับคู่กับ T600 ซึ่งถ้าพิจารณาแบบ ซื่อๆ ไม่คิดเยอะโดยดูจากตัวเลข ‘Input Power Recommendedหรือตัวเลขกำลังขับของแอมป์ที่ผู้ผลิตลำโพงแนะนำไว้ว่าอยู่ระหว่าง 20-300W ก็ต้องบอกว่าสเปคฯ ของ Model 404 Reference ก็อยู่ในข่ายที่ลำโพงแนะนำไว้ คือไม่ได้ต่ำกว่า 20W แต่ถ้าพิจารณาแบบ คนมีประสบการณ์ก็ต้องบอกว่ามีแอบกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะตัวเลขกำลังขับ 50W ของ Model 404 Reference มันสูงกว่าตัวเลข ต่ำสุดของกำลังขับที่ลำโพงแนะนำไว้แค่ 30W เท่านั้น.. จะไหวเหรอ.??

อัลบั้ม : Bridge Over Troubled Water (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Willie Nelson
สังกัด : Columbia

หลังจากต่อระบบเสร็จ.. ผมก็เลือกเพลงแล้วเปิดฟังโดยเริ่มจากเพลงที่ใช้บ่อยในช่วงนี้คือเพลง Bridge Over Troubled Water ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงคอมเมอร์เชี่ยล ไม่ได้อยู่ในสังกัดไฮเอ็นด์ฯ จึงมีอยู่หลายๆ จุดที่ไม่ได้มีคุณภาพสูงถึงระดับมาตรฐานไฮเอ็นด์ฯ ทว่า ภายใต้ความไม่สมบูรณ์แบบนี้ ถ้าชุดเครื่องเสียงของคุณมีคุณภาพดีพอ, กระบวนการแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพมีความลงตัว และสามารถตอบสนองคุณสมบัติทางด้าน โฟกัสและ ไทมิ่งได้อย่างถูกต้อง สิ่งที่ได้ออกมาจากเพลงนี้ก็คือ ความเป็นดนตรีที่ลื่นไหล ต่อเนื่อง และจมลึกถึงอารมณ์แบบง่ายๆ

แหล่งต้นทางสัญญาณที่ผมใช้ทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยสตรีมเมอร์ Roon nucleus+ ทำงานร่วมกับ Streamer/DAC ของ Mola-Mola รุ่น Tambaqui ผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณด้วย USB (* อินพุต USB ของ Tambaqui ดีมาก.!) โดยใช้สาย USB A>B ของ Kimber Kable รุ่น Copper

ผมควบคุมการเล่นเพลงผ่านแอพฯ รีโมทของ Roon บน iPad ขณะเล่นเพลงนี้ผมก็เปิดเนื้อเพลงจากแอพฯ Roon Remote ขึ้นมาดูและร้องฮัมไปพร้อมกันด้วย และเนื่องจากเพลงนี้เป็นเพลงยอดนิยม ได้ยินบ่อยมากจนแทบจะร้องตามได้ ผมพบว่า วิธีฟังไปและดูเนื้อร้องฮัมตามเพลงไปด้วยแบบนี้ เป็นวิธีทดสอบที่ดีในการประเมินคุณสมบัติทางด้าน คอนทราสน์ ไดนามิกของเสียงร้อง เพราะตอนที่เราฮัมไปตามเพลงที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วนั้น เราจะรู้ได้เลยว่า ถ้าเราเป็นวิลลี่ เนลสันแล้วกำลังร้องเพลงนี้ เราจะต้องออกกำลังควบคุมเนื้อร้องแต่ละวรรคแบบไหน นั่นทำให้เรารู้ว่า แต่ละท่อนของคำร้องนั้น เสียงร้องของวิลลี่ เนลสันควรจะออกมาลักษณะใด ท่อนไหนที่เขาร้องเบาๆ แล้วหลบเสียงลงต่ำ เสียงของเขาจะออกมาแบบไหน ท่อนไหนที่เขาดันเสียงขึ้นมาสูงๆ และแผดออกมาดังๆ โทนเสียงของเขาจะเปลี่ยนไปยังไง เมื่อฮัมเพลงตามไป เราจะรับรู้ได้ถึงรายละเอียดทางเทคนิคที่เขาดึงออกมาใช้ในการร้อง อาทิเช่น การทอดลูกคอเป็นหางเสียงที่ขยายออกไปเป็นชั้นๆ … ถ้าแอมป์ตัวไหนทำให้เสียงร้องของวิลลี่ เนลสันมีมูพเม้นต์และรายละเอียดออกมาตามนี้ ก็แสดงว่า แอมปลิฟายตัวนั้นควบคุมการขยับตัวของดอกลำโพงได้อย่างถูกต้อง แม่นยำดีแล้ว

ความเห็นส่วนตัวของผม จากการฟังเพลง ‘Bridge Over Troubled Waterเวอร์ชั่นของวิลลี่ เนลสันครั้งนี้ ผมยอมรับว่า Model 404 Reference ทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ผลลัพธ์ที่เด่นชัดที่สุดคือ ความเป็นดนตรีที่มันถ่ายทอดออกมา ซึ่งส่งผ่านมากับ ลีลาของนักร้องและนักดนตรีแต่ละคนที่รับส่งกันไป-มาได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่มีอาการเร่งหรือเฉื่อยช้า การเคลื่อนที่ของเพลงเป็นไปตามธรรมชาติ ช่วงผ่อนช้าก็ช้าเพราะความเจาะจงของศิลปิน ช่วงกระชั้่นและเน้นหนักก็เป็นพลังที่เกิดจากน้ำหนักมือของศิลปิน ผมไม่ได้มีความรู้สึกว่ามีเสียงใดในเพลงนี้ถูก ผลักดันออกมาโดยกำลังของแอมป์ตัวนี้ แต่รู้สึกว่า เสียงร้องและเสียงดนตรีทั้งหมดมัน ก่อตัวขึ้นมาในอากาศด้วยพลังของนักร้องและนักดนตรีแต่ละคนมากกว่า นั่นก็หมายความว่า Model 404 Reference สามารถควบคุมลำโพง PSB คู่นี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จจนไร้ซึ่งบุคลิกของทั้งแอมป์และลำโพงเข้ามาปนกับทุกเสียงที่ประกอบอยู่ในเพลงที่ฟัง..

ช่วงท้ายของเพลงนี้ ประมาณนาทีที่ 3:01 เป็นช่วงที่เริ่มมีเสียงกลองเข้ามา ซึ่งจากจุดนี้ไปจนถึงจบเพลงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ใช้ทดสอบสมรรถนะทางด้าน กำลังขับของแอมป์ตัวนี้ เนื่องจากเสียงกระเดื่องของกลองในช่วงท้ายๆ ของเพลงนี้บันทึกมาได้หนักหน่วงมาก.! ซึ่งแอมป์ตัวนี้ก็ถ่ายทอดออกมาได้ดี มีทั้งน้ำหนักเน้นย้ำของหัวโน๊ตกลองที่แน่นและฉับไว ก่อนจะตามด้วยอาการยั้งเก็บตัวของความถี่ต่ำที่ให้ความรู้สึกเป็นก้อนมวลที่มีพลังแฝงอยู่ในนั้น ความหนัก ความเร็ว และความแน่นของมวลเสียงกระเดื่องกลองในเพลงนี้ที่แอมป์ตัวนี้ให้ออกมามันลบล้างความสงสัยเกี่ยวกับตัวเลข 50W ของแอมป์ตัวนี้ออกไปได้อย่างสิ้นเชิง..!!

จับคู่ #2
Totem Acoustic รุ่น The One
ตอบสนองความถี่ = 50-20kHz (+/-3dB)
ความไว = 87dB
อิมพีแดนซ์ = 4 โอห์ม
รองรับกำลังขับ = 120W

จับคู่ #3
Mission รุ่น 770
ตอบสนองความถี่ = 42-20kHz
ความไว = 88dB
อิมพีแดนซ์ = 8 โอห์ม
แนะนำกำลังขับ = 25-200W

ช่วงแรกๆ ที่ได้รับ Model 404 Reference ตัวนี้เข้ามาทดสอบ มีเพื่อนๆ ที่มีประสบการณ์กับแอมป์ตัวนี้ส่งเสียงมาให้ข้อมูลว่า แอมป์ตัวนี้ขับลำโพงแบรนด์ Totem Acoustic ออกมาได้ดีมาก.! ยืนยันที่จะให้ผมทดลองฟังให้ได้ ผมจึงยก The One ที่ผมใช้อ้างอิงส่วนตัวขึ้นมาจับคู่กับ Model 404 Reference ตัวนี้เพื่อพิสูจน์สิ่งที่เพื่อนๆ บอกมา..

อัลบั้ม : Acoustic Live! (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Neils Lofgren
สังกัด : Cattle Track Road Records

อือมม.. The One + Model 404 Reference มันไปด้วยกันได้ดีอย่างที่เขาว่าจริงๆ .! คงจะเป็นเพราะว่า คุณสมบัติเฉพาะตัวหรือนิสัยใจคอของลำโพงกับแอมป์คู่นี้มันไปทางเดียวกันนั่นเอง คือทั้งสองตัวนี้เก่งทางด้าน โฟกัสที่ให้ตำแหน่งเสียงออกมาคมและแม่นยำ กับ “ไดนามิก” ที่สวิงกว้างและฉับไว จึงทำให้ได้เสียงโน๊ตจากโซโล่กีต้าร์โปร่งจากปลายนิ้วของ Neils Lofgren ในเพลง Keith Don’t Goแทรคที่ 5 กระเด็นออกมาลอยอยู่ในอากาศแบบตัวเป็นๆ ทั้งดีดและเด้งอย่างกับมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโน๊ตที่เกิดจากการดีดสายเส้นล่างหรือเส้นบน ผมก็ได้ยินชัดพอกัน ที่น่าขนลุกก็คือมันชัดตั้งแต่หัวโน๊ตตอนปลายนิ้วสะกิดสาย ต่อด้วยสายสั่นเป็นบอดี้ และหางเสียงที่กังวานต่อเนื่องตามติดออกมาเป็นลำดับ นั่นแสดงว่า Model 404 Reference ตัวนี้สามารถจ่ายกำลังขับออกมาได้ เร็วทันกับลำดับเวลา (timing) ของสัญญาณที่ไล่เรียงต่อเนื่องเข้ามาทางอินพุตแบบ เรียลไทม์นั่นเอง

นั่นก็ต้องนำไปสู่คุณสมบัติทางด้าน Transient response ที่รวดเร็ว ทำให้ หัวเสียงหรืออิมแพ็คของโน๊ตมีความคม ชัด ไม่เบลอ ไม่หน่วง ผลลัพธ์คือ ความสดของเสียงที่ให้ความรู้สึกเหมือนฟังคนเล่นจริงมากกว่าเป็นเสียงที่ถูกรีโปรดักชั่นขึ้นมาจากสัญญาณบนแผ่นซีดี จากการทดลองฟังอัลบั้มนี้ทำให้สรุปได้ว่า Model 404 Reference ตัวนี้มีความสามารถในการตอบสนองกับ ไทมิ่งของเพลงได้ยอดเยี่ยมมาก หัวเสียง (โน๊ต) คมมาก สามารถตามติดได้ทุกอิริยาบทของนักดนตรีตั้งแต่ต้นไปจนจบเพลง นั่นคือ ความเป็นดนตรีล้วนๆ ที่แอมป์ตัวนี้แสดงออกมา ในฐานะของคนชอบฟังเพลงต้องบอกว่า ฟังแล้วชอบมาก..!!

อัลบั้ม : Same Girl (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Youn Sun Nah
สังกัด : ACT Records

ผมชอบเพลง My Name is Carnivalของนักร้องเกาหลีคนนี้มาก เธอร้องได้ถึงอารมณ์ แถมสำเนียงไม่มีทองแดงซะด้วย การบันทึกเสียงก็ทำได้ดี เก็บเสียงร้องของเธอมาได้ชัดถ้อยชัดคำ รายละเอียดของการควบคุมคำร้องและลักษณะการลงน้ำหนักแต่ละพยางค์ถูก Model 4040 Reference ถ่ายทอดออกมาจนเกลี้ยงเกลา หลับตาฟังจะรู้สึกเหมือนเธอมายืนร้องอยู่ในห้อง ความต่อเนื่องและแปรผันของอารมณ์ที่ดำเนินไปตามเพลงปรากฏออกมาอย่างชัดเจน จากผ่อนเบาในตอนเริ่มต้นไปจนถึงช่วงโหมกระหน่ำในช่วงท้าย ทั้งเสียงร้องและเสียงสั่นกังวานของสายกีต้าร์ที่เกิดจากแรงสะบัดข้อมือ มันประเดประดังออกมาจากลำโพง แต่ด้วยแรงส่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ Model 404 Reference แม้ว่าลีลาของเพลงจะโหมกระหน่ำหนักหนาขนาดไหน แต่เสียงโดยรวมที่พุ่งผ่านลำโพงออกมาก็ยังเต็มไปด้วยอรรถรสของความตื่นต้วที่เกาะติดไปตามลีลาของเพลงตลอดเวลา ไม่มีอาการวูบวาบหรือหลุดคอนโทรล ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกสนเท่กับตัวเลข 50W ของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้มาก และยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกว่า ความกังวลที่เคยมีกับแอมป์ตัวนี้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งฟังเพลงแล้วได้อรรถรสชวนฟังแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้ลืมแอมป์ไปเลยเพราะใจมัวแต่ไปมุ่งอยู่ที่เพลงมากกว่า มาถึงเวลานี้ คิดได้แค่ จะสนใจไปทำไมว่าแอมป์จะมีกำลังกี่วัตต์.? ถ้ามันทำให้เพลงน่าฟังได้ขนาดนี้ก็พอแล้ว..!!

อัลบั้ม : Concert For Jazz Drummer & Carmen Suite (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Harold Farberman: conduct Bournemouth & Helsingborg Symphony Orchestra, Kroumata: percussion ensemble & Louie Bellson: drum
สังกัด : BIS / AudioNautes Recordings

อัลบั้มที่ฟังกับ Model 404 Reference แล้วหมดกังวลเรื่องตัวเลขกำลังขับของมันก็คือชุดนี้ โดยเฉพาะงานเพลง 3-4 แทรคแรกของผลงานชุด ‘Concert For Jazz Drummerซึ่งเป็นงานเพลงที่ให้ไดนามิกเร้นจ์สวิงกว้างมาก ผมลองเปิดวอลลุ่มค่อนข้างดัง ซึ่งแน่นอน ว่าแนวเพลงคลาสสิกที่มีเสียงกลองร่วมประชันกันลักษณะนี้มันจะโหดกับแอมป์มากเป็นพิเศษ เพราะแอมป์ที่เล่นเพลงแบแบนี้ได้ดีจะต้องสามารถจ่ายกำลังขับได้ทั้ง เร็วและ เยอะพร้อมๆ กัน จึงจะทำให้ทั้งเสียงกลองและเสียงเครื่องสายในวงออเคสตร้าสามารถรักษาตัวตนของมันอยู่ร่วมกันไปได้ตลอดเพลง เสียงเครื่องสายที่มีพลังน้อยกว่าจะต้องไม่ถูกเสียงกลอง ดูดกลืนให้กลบหายไป ซึ่งจากการทดลองฟังครั้งนี้ ผมก็ยังคงได้ยินทั้งเสียงเครื่องสายและเสียงกลองอยู่ครบ แถมเสียงกลองยังมีพลังอัดฉีดซะด้วย.!

อัลบั้ม : Cantate Domino (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Oscar’s Motet Choir, Torsten Nilsson: conductor, Alf Linder: organ & Marianne Mellnas: soprano
สังกัด : Proprius/AudioNautes Recordings

ผมเพิ่งได้อัลบั้ม Cantate Domino เวอร์ชั่นนี้มาจากงาน AV Show 2023 ที่ฮ่องกงนี้เอง ซึ่งเดิมผมมีเป็นเวอร์ชั่นของค่าย Proprius อยู่แล้ว แต่มาอ่านเจอรีวิวในออนไลน์ว่าเวอร์ชั่นของค่าย AudioNautes Recordings ทำออกมาเสียงดีมาก เลยไปล่าซื้อมาจากงานฮ่องกง

ลองฟังแล้ว ปรากฏว่าเสียงดีจริง ที่ชัดมากคือ บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกโอบล้อมและโอ่อ่า กว้างลึก ซึ่งเวอร์ชั่นของ AudioNautes Recordings ให้มาครบทุกมิติ เมื่อเอามาลองฟังผ่าน Mode 404 Reference ตัวนี้ มันให้เสียงประสานที่ลอยและแผ่พลิ้วน่าฟังมาก บรรยากาศของความเป็นโถงปรากฏออกมาชัดมาก มีความกังวานที่ทอดลึกเข้าไปด้านหลังปรากฏออกมาตลอด โดยเฉพาะเสียงออร์แกนท่อที่ครางต่ำๆ แผ่มวลกะจายออกไปรอบห้อง เมื่อเปิดดังๆ ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในโบสถ์ จมอยู่ภายใต้ความครอบคลุมของสนามเสียงและมวลบรรยากาศที่อบอวล มีความรู้สึกสงบและล่องลอยเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แสดงว่า Model 404 Reference ให้เสียงที่มีความละเมียดละมัยสูง มัน (Mode 404 Reference) ดึงดูดความรู้สึกของเราให้ออกห่างจากคำว่า ความถี่ไปสู่อารมณ์ของ ดนตรีได้อย่างรวดเร็ว และสะกดเราให้ตรึงอยู่ตรงนั้นตลอดเวลาที่นั่งฟัง เพลงแล้วเพลงเล่า ไม่รู้สึกเบื่อ มีแต่นึกอยากจะเอาเพลงโน้นเพลงนี้มาลองฟังไปเรื่อยๆ

สรุป

นี่ไม่ใช่เหรอ.. สิ่งที่เราต้องการจากเครื่องเสียง.? คือ เสียงดนตรีที่สะกดให้เราดื่มด่ำไปกับเสียงเพลงที่เครื่องเสียงชิ้นนั้นๆ สร้างขึ้นมา ถ้าจุดประสงค์ของคุณในการซื้อแอมป์สักตัวก็คือ เสียงดนตรีที่สามารถดึงดูดจิตใจของคุณให้หล่อหลอมเข้ากับอารมณ์ของเพลงที่ฟังได้อย่างแนบเนียนแล้วล่ะก้อ.. ต้องถือว่า Model 404 Reference ตัวนี้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แล้ว.!

หลังจากทดสอบมานานร่วมเดือน ผมพบกับข้อสรุปว่า ตัวเลข 50W ไม่ใช่ปัญหาของแอมป์ตัวนี้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า คุณจะจับคู่มันเข้ากับ ลำโพงคู่ไหนมากกว่า จากการทดสอบพบว่า แอมป์ตัวนี้สามารถรับมือกับลำโพงที่มีความไวตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปได้เป็นอย่างดี ต่อให้เป็นลำโพงที่มีราคาสูงกว่าราคาของแอมป์ตัวนี้ มันก็สามารถผลักดันคุณภาพเสียงของลำโพงคู่นั้นออกมาให้คุณเสพได้อย่างเต็มที่ ขอแค่สเปคฯ ลำโพงอยู่ในเกณฑ์ที่มันสู้ไหวคือความไวตั้งแต่ 87dB ขึ้นไป ส่วนอิมพีแดนซ์จะ 4 หรือ 8 โอห์ม ไม่ใช่ปัญหา

เอาไปใช้กับ source ระดับไฮเอ็นด์ได้มั้ย.? ทำไมจะไม่ได้ล่ะ… นั่นคือทางมันเลยแหละ จากการทดลองจับคู่กับ source หรือแหล่งต้นทางระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ อย่าง external DAC ของ Mola-Mola รุ่น Tambaqui กับ dCS รุ่น LINA ที่มีราคาอยู่ระหว่าง 4-8 แสนบาท ผมพบว่า แอมป์ตัวนี้ไปกับ external DAC ทั้งสองตัวนี้ได้เป็นอย่างดี แถมยังพูดได้เลยว่า แหล่งต้นทางสัญญาณที่มีคุณภาพสูงๆ มีส่วนช่วย ส่งเสริมให้ Model 404 Reference ตัวนี้สามารถเปล่งศักยภาพของมันออกมาได้อย่างเต็มที่มากขึ้น.. มากจนบางครั้งผมก็อดประหลาดใจกับสิ่งที่แอมป์ตัวนี้ให้ออกมาไม่ได้.!!

ประเด็นสำคัญที่ทำให้แหล่งต้นทางหรือ source ระดับไฮเอ็นด์ฯ ส่งผลดีกับอินติเกรตแอมป์ตัวนี้อยู่ที่ เกนเอ๊าต์พุตของ external DAC ทั้งสองตัวนั้นนั่นเอง ซึ่งทั้ง Tambaqui และ LINA ต่างก็มีเกนเอ๊าต์พุตที่สูงถึง 6.0V ให้เลือกใช้ และด้วยความสามารถในการรองรับสัญญาณอินพุตที่มีความแรงระดับ 6.0V ได้โดยไม่มีอาการอั้นหรือแตกซ่าน จึงทำให้ Model 404 Reference สามารถใช้ประโยชน์จากสัญญาณเอ๊าต์พุตสูงๆ จาก DAC ทั้งสองตัวนั้นได้ และด้วยระบบวอลลุ่มที่ให้พื้นเสียงสะอาดมาก (S/N ratio สูง) สามารถเร่งวอลลุ่มขึ้นไปได้สูงๆ โดยไม่มี noise ตามขึ้นมา ทำให้ Model 404 Reference สามารถทำงานร่วมกับเอ๊าต์พุตระดับ 2.0V ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ไม่ว่าหัวท้ายของซิสเต็มของคุณจะเป็นแบบไหนระหว่าง หัวเกนแรง + ท้ายความไวต่ำหรือ หัวเกนเบา + ท้ายความไวสูงคุณก็สามารถเอา Model 404 Reference เข้าไปแทรกกลางได้หมด.!

Moonriver Audio รุ่น Model 404 Reference เป็นอินติเกรตแอมป์ มหัศจรรย์ถ้าตั้งงบไว้ไม่เกินสองแสนบาท คุณควรจะต้องหาโอกาสทดลองฟังแอมป์ตัวนี้ให้ได้ อย่าเพิ่งสนใจกับตัวเลข 50W ของมัน ลองติดต่อตัวแทนจำหน่ายที่มีความเข้าใจในการแม็ทชิ่งให้ฟัง ฟังเสียงของมัน แล้วคุณจะทึ่งกับสิ่งที่แอมป์ตัวนี้ให้ออกมา..!!! /

***********************
ราคา : 190,000 บาท / คู่
***********************
สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่
MSound โทร. 096-978-7424
เต่า ออดิโอ กทม. โทร. 088-005-5156
MAS Hi-Fi ชลบุรี โทร. 081-982-0282
ศราวุธ กทม. โทร. 091-718-8716
ยุธ หาดใหญ่ โทร. 083-636-4447

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า