รีวิวเครื่องเสียง NAD รุ่น M33 BluOS Streaming DAC Amplifier

คำว่า “High Endยุคใหม่สมัยนี้มันมีความหมายที่ซับซ้อนมากกว่าในอดีต สมัยก่อนโน้น อุปกรณ์เครื่องเสียงที่เรียกว่าไฮเอ็นด์ฯ ก็คือรุ่นใหญ่สุดที่มีราคาสูงสุด ความหมายตรงตัวของคำว่า High End หรือสูงสุดจริงๆ ทว่าในปัจจุบันนี้ คำว่าไฮเอ็นด์ฯ ได้ถูกขยายมุมมองออกไปจากเดิม ไม่ได้เพ่งเล็งไปที่ ราคากับ ประสิทธิภาพเสียงเท่านั้น แต่ได้เฉลี่ยความสำคัญไปที่ “ฟังท์ชั่นใช้งานด้วย

ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไปข้างต้น ทำให้มีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับ ความเป็นไฮเอ็นด์ในอดีตเกิดขึ้น นั่นคือ การผนวกเอาฮาร์ดแวร์ที่มีฟังท์ชั่นหลายๆ อย่างเข้ามารวมอยู่ในตัวถังเดียวกัน เป็นที่มาของอุปกรณ์เครื่องเสียงแคตากอรี่ใหม่ที่เรียกว่า all-in-one ซึ่งขัดแย้งกับในอดีตที่นิยมแยกแต่ละหน้าที่ออกมาเป็นอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ซะมากกว่า คือถ้าเอาหลายๆ ฟังท์ชั่นมารวมไว้ในตัวถังเดียวกัน ยุคก่อนจะเรียกว่า คอมโป้ฯไม่เรียกว่า ไฮเอ็นด์

NAD สำหรับ อดีตวันนี้และอนาคต

NAD เป็นแบรนด์แรกๆ ของวงการเครื่องเสียงที่กระโจนเข้าตลาด all-in-one พวกเขาโชว์วิสัยทัศน์ในการมองตลอดเครื่องเสียงได้ก่อนแบรนด์อื่น และสามารถนำเอา อนาคตที่พวกเขาเห็นมาออกแบบเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงนานาชนิดที่ตรงกับวิถีของโลกปัจจุบันได้อย่างกลมกลืนและทันการ

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ NAD แตกลูกแตกหลานออกมามากมายหลากหลายลักษณะ บางผลิตภัณฑ์ก็ยังคงรักษาความเป็นไฮไฟดั้งเดิมเอาไว้ ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ทำผลิตภัณฑ์ที่รองรับเทคโนโลยีดิจิตัลสมัยใหม่ออกมาให้เลือกใช้ไปพร้อมกันด้วย พูดง่ายๆ คือตอบสนองความต้องการของนักเล่นฯ ยุคอะนาลอกดั้งเดิมและนักเล่นฯ ยุคดิจิตัลสมัยใหม่ไปพร้อมกันนั่นเอง

NAD มีทั้งผลิตภัณฑ์ทางฝั่ง Home Audio และ Home Theater เฉพาะฝั่ง Home Audio พวกเขาแบ่งแยกผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 ซีรี่ย์ หลักๆ คือ ซีรี่ย์ M (Masters Series), ซีรี่ย์ D (Digital Series) และ ซีรี่ย์ C (Classic Series) ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวผลิตภัณฑ์ของแต่ละซีรี่ย์จะเห็นว่า ทางแบรนด์ NAD ได้ชี้ชัดถึง อนาคตที่แบรนด์กำลังก้าวไปผ่านออกมาทางซีรี่ย์ท็อปสุด MASTERS Series ซึ่งก็คือเส้นทางสาย digital และ music streaming นั่นเอง

M33
all-in-one ระดับไฮเอ็นด์จาก NAD

ตัวถังของ M33 มาในรูปลักษณ์ทูโทนตามมาตรฐานของซีรี่ย์มาสเตอร์ โครงสร้างหลักของตัวถังทำมาจากอะลูมิเนียมที่ผ่านการกลัดเกลาด้วยเครื่อง CNC ที่มีความแม่นยำสูง เนื้องานออกมาเนียนและเนี้ยบทุกตารางเซ็นต์ ตรงแผงหน้าปัดมีเล่นระดับทำเป็นสองชั้น ส่วนฐานทำมาจากแผ่นอะลูมิเนียมหนาที่ปัดขอบจนโค้งลดความเป็นเหลี่ยมคม ส่วนชั้นที่ลอยสูงขึ้นมาอีกระดับก็ทำมาจากอะลูมิเนียมแต่อะโนไดซ์เป็นสีดำ ตรงกลางเจาะใส่จอสี LCD แบบทัชสกรีนขนาดใหญ่ถึง 7 นิ้ว สัดส่วนตัวถังมาในฟอร์มมาตรฐานเครื่องเข้าแร็กทั่วไปคือหน้ากว้างเท่ากับ 43.5 .. (17.4 นิ้ว) x ลึก 39.6 .. (15.84 นิ้ว) x สูง 13.3 .. (5.32 นิ้ว)

บนแผงหน้าของ M33 มีเฟอร์นิเจอร์แค่ไม่กี่ชิ้น เพราะดีไซน์เขาเน้นความเรียบหรู ที่มองเห็นด้วยสายตาก็มีโลโก้แบรนด์ NAD (2) ที่ติดอยู่บนแผ่นบนของแผงหน้าทางด้านซ้ายสุด (มองตรงเข้าไปที่แผงหน้าปัด) ซึ่งใต้แผ่นโลโก้นี้มีไฟ LED ซ่อนอยู่ เมื่ออยู่ในสถานะ standby ไฟ LED ที่ว่านี้จะสว่างเป็นสีส้ม พอกดปุ่ม power on เพื่อเปิดเครื่องขึ้นมา ไฟ LED นี้จะสว่างขึ้นเป็นเส้นขาวล้อมรอบแผ่นโลโก้ ดูเท่ห์มาก แต่ผมเชื่อว่าคนที่ยังไม่เคยสัมผัสแอมป์ในซีรี่ย์ MASTERS ของ NAD มาก่อนส่วนมากจะเข้าใจว่า ตรงแผงสี่เหลี่ยมที่เป็นโลโก้นั้นคือปุ่ม power on/standby ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ปุ่มเพาเวอร์ตัวจริงถูกซ่อนไว้บนสันตรงขอบด้านบนของแผ่นอะลูมิเนียมที่เป็นฐานของหน้าปัด (1)

พื้นที่ส่วนใหญ่บนแผงหน้าปัดถูกอุทิศให้กับจอแสดงผลขนาดใหญ่ถึง 7 นิ้ว (4) เป็นจอ LCD แบบทัชสกรีน สามารถสั่งงานด้วยการสัมผัสได้ ซึ่งขนาดที่ใหญ่มากของมันทำให้เหมาะกับการสั่งงานโดยใช้ปลายนิ้วสัมผัสบนหน้าจอโดยตรง และตอนใช้งานจริงนั้น จอนี้ยังช่วยทำให้เครื่องเล่นตัวนี้ดูเตะตามากเป็นพิเศษ ที่เหลืออีกสองอย่างบนหน้าปัดของ M33 ก็คือรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาดมาตรฐาน 6.3 mm (3) ที่หลบอยู่ด้านล่างของแผงหน้าปัดส่วนที่เป็นฐานอะลูมิเนียม กับชิ้นส่วนสุดท้ายบนหน้าปัดคือปุ่มมัลติฟังท์ชั่น (5) ขนาดใหญ่ที่มีหลายหน้าที่อยู่ในปุ่มเดียว

อินพุต / เอ๊าต์พุต

ความยุ่งเหยิงทั้งหมดได้ถูกนำไปอัดแน่นไว้ที่แผงหลังของตัวเครื่อง เริ่มจากอินพุตที่ให้มาครบถ้วนทั้ง analog และ digital โดยที่ทางฝั่งอะนาลอกมีให้เลือกใช้งานครบทั้งอินพุตแบบบาลานซ์ที่ติดขั้วต่อ XLR (13) และอินพุตแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ที่ติดขั้วต่อ RCA (15) อย่างละชุด แถมยังมีภาคขยายสำหรับหัวเข็ม MM และ MC มาให้ด้วย (14)

ทุกช่องอะนาลอก อินพุตของ M33 จะมีวงจร ADC (analog-to-digital converter) ดักอยู่ เพื่อทำหน้าที่แปลงสัญญาณอะนาลอก อินพุตนั้นให้กลายเป็นสัญญาณดิจิตัลเพื่อใช้กับการสตรีมด้วย BluOS ไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นที่รองรับ BluOS และอยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกัน ซึ่งในเมนูของเครื่องมีอ๊อปชั่นให้ผู้ใช้สามารถเลือกระดับ sampling rate ของฟังท์ชั่น ADC ได้ 3 ระดับ คือ 48, 96 และ 192kHz ขึ้นอยู่กับความสามารถของอุปกรณ์ตัวอื่นที่จะรองรับสัญญาณนั้น

ส่วนอินพุตของฝั่งดิจิตัลก็ให้มาครบเครื่องไม่แพ้กัน คือมีทั้งอินพุตแบบใช้สายและแบบไร้สาย เริ่มจากกลุ่มของอินพุตดิจิตัลแบบใช้สายคือ Coaxial กับ Optical (11) มีให้อย่างละ 2 ชุด บวกกับ AES/EBU (12) อีกหนึ่งชุด ซึ่งอินพุตทั้งสามชุดนี้มีความสามารถรองรับสัญญาณดิจิตัลที่มีแซมปลิ้งฯ สูงถึง 192kHz นอกจากนั้น M33 ยังให้อินพุตดิจิตัลแบบใช้สายมาอีก 2 ช่อง คือ LAN (1) ที่รองรับการเชื่อมต่อกับระบบเน็ทเวิร์คแบบไฮสปีดที่มีความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูลสูงถึงระดับ gigabit กับช่องอินพุต HDMI (2) ที่รองรับการส่ง/ผ่านสัญญาณเสียงดิจิตัลด้วยฟังท์ชั่น eARC กับทีวีที่รองรับฟังท์ชั่นนี้ ซึ่งถือว่าช่อง HDMI นี้ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไล้ท์ เพราะเป็นอินพุตที่ทำให้ M33 มีสถานะเป็น all-in-one ที่มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ในแง่ที่ครอบคลุมการใช้งานได้กว้างมากทั้งดูหนังและฟังเพลง

ที่ใต้ช่องอินพุต LAN จะมีรู USB-A ไว้ให้เสียบแท่งแฟรชไดร้ (1) ที่เก็บไฟล์เพลง ซึ่งเป็นอินพุตหนึ่งที่ เล่นง่ายสำหรับคนที่ยังไม่มี NAS ไว้เก็บไฟล์เพลง หรือมีไฟล์เพลงไม่เยอะมากและไม่ได้มีการแชร์ไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คไปใช้ที่จุดอื่นในบ้าน ต้องบอกเลยว่าเหมาะที่จะเลือกใช้วิธีเก็บไฟล์เพลงไว้บนแฟรชไดร้ หรือฮาร์ดดิสพกพา แล้วนำมาเสียบเข้าที่ช่อง USB-A ของ M33 เพื่อดึงเข้ามาเล่น ซึ่งเป็นวิธีเก็บไฟล์เพลงที่ประหยัดกว่าเก็บบน NAS และ เข้าถึงได้ง่ายอย่างที่บอก

ช่อง USB-A ของ M33 รองรับแฟรชไดร้ หรือฮาร์ดดิสพกพาที่ฟอร์แม็ตได้หลากหลายรูปแบบทั้ง FAT32, NTFS หรือ Linux ext4 และรองรับความจุได้เยอะ ผมทดลองใช้โซลิดสเตทฮาร์ดดิสพกพาของ Samsung รุ่น T5 ที่มีความจุ 1TB ใส่เพลงเกือบเต็ม มีทั้งไฟล์ DSD, PCM และ MQA เสียบเข้ากับช่อง USB-A ของ M33 แล้วใช้แอพฯ BluOS ทำหน้าที่ดึงไฟล์เพลงมาเล่น ปรากฏว่าครั้งแรกที่เสียบฮาร์ดดิสเข้าไปต้องให้เวลา M33 ในการรวบรวมข้อมูลเพลง (ชื่อเพลง, ศิลปิน, อัลบั้ม, สเปคฯ ของสัญญาณ, ภาพปก ฯลฯ) อยู่ 4 – 5 นาทีจึงจะสามารถดึงไฟล์เพลงออกมาเล่นได้ หลังจากนั้นแล้ว ครั้งต่อไปที่เปิดเครื่องจะใช้เวลาสแกนข้อมูลเพื่อหาเพลงใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ถ้าไม่มีอะไรใหม่ก็แค่แป็บเดียวพร้อมใช้งาน ส่วนเวลาที่ใช้ดึงข้อมูลของเพลงจากแฟรชไดร้หรือฮาร์ดดิสจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของไฟล์เพลงในฮาร์ดดิส มีน้อยก็แป็บเดียวพร้อมเล่นได้เลย ถ้าเยอะหลายๆ สิบกิ๊กหรือเป็นร้อยกิ๊กก็ให้เวลามันหน่อย

ส่วนอินพุตดิจิตัลที่เป็นแบบไร้สายก็ให้มาทั้ง Wi-Fi และ Bluetooth (3) โดยให้เสาอากาศมาสองต้น แยกรับคลื่น Wi-Fi กับ Bluetooth อย่างละต้น ส่วนมาตรฐานของ Wi-Fi ที่ทาง NAD แนะนำให้ใช้สำหรับการเชื่อมต่อเพื่อรับ/ส่งข้อมูลเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ Wi-Fi 5 GHz ส่วนความสามารถในการรองรับสัญญาณของ Bluetooth ก็ไปได้ถึงระดับ aptX HD

ทางด้านเอ๊าต์พุตของ M33 มีมาให้ 2 ชุด คือ Sub-Out (4) สองช่องที่แยกสำหรับแชนเนล Left (ซ้าย) กับ Right (ขวา) เด็ดขาด เพื่อให้เชื่อมต่อกับลำโพงแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์ซึ่งสัญญาณเสียงที่ส่งออกจาก M33 ทางช่องนี้จะมีความถี่ตั้งแต่ 80Hz ลงไป กับช่องสัญญาณขาออก Pre-Out หนึ่งชุดที่ส่งสัญญาณผ่านออกไปทางขั้วต่อ RCA (16) ในกรณีที่ต้องการดึงสัญญาณปรีแอมป์ไปจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ภายนอก

ภาคขยาย + ขั้วต่อสายลำโพง 2 ชุด + บริดจ์โมโน

ภาคขยายในตัว M33 เป็นภาคขยายสัญญาณแบบดิจิตัลที่ออกแบบโดย Purifi Audio ซึ่ง Bruno Putzeys กับทีมงานของเขาที่เพียวริไฟ ออดิโอค้นพบวิธีกำจัดสัญญาณรบกวน (noise) และความเพี้ยน (distortion) ทั้งในส่วนที่เป็น harmonic distortion และ intermodulation distortion ออกจากภาคขยาย Class-D ได้แบบถอนรากถอนโคน โดยตั้งชื่อเรียกเทคโนโลยีของพวกเขาว่า “Purifi Eigentakt Amplifierเมื่อวิศวกรของ NAD นำเอา Purifi Eigentakt Amplifier มาใช้ในการออกแบบและทำการปรับจูนจนสำเร็จและได้ตั้งชื่อภาคขยายในตัว M33 ไว้ว่า “HybridDigital Purifi Eigentakt Amplifierซึ่งมีประสิทธิภาพในการจ่ายกำลังขับได้สูงถึง 200 วัตต์ต่อข้างที่ 8 และ 4 โอห์ม สวิงสั้นๆ ขึ้นไปได้ถึง 300 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม และ 550 วัตต์ที่ 4 โอห์ม

M33 มีระบบจัดการกับสัญญาณเอ๊าต์พุตของภาคเพาเวอร์แอมป์อยู่ 2 อย่าง ที่พิเศษกว่าทั่วไป อย่างแรกคือให้ขั้วต่อสายลำโพงมา 2 ชุด ซึ่งขั้วต่อสายลำโพงทั้งสองชุดนี้เชื่อมต่ออยู่กับภาคเพาเวอร์แอมป์ด้วยวิธีขนานกัน แต่ไม่ได้มีฟังท์ชั่น Speaker A/B ถ้าใช้กับลำโพงที่แยกขั้วต่อ 2 ชุดและมีอิมพีแดนซ์อยู่ที่ 8 โอห์ม แนะนำให้ใช้สายลำโพงซิงเกิ้ลจำนวน 8 เส้น แยกกันเชื่อมต่อลำโพงข้างละ 4 เส้น เส้นละขั้วต่อออกไปเลย แต่ถ้าเป็นลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์เท่ากับ 4 โอห์ม แนะนำให้เชื่อมต่อเข้าที่ชุดบนหรือชุดล่างแค่ชุดเดียว

ความพิเศษที่ M33 เตรียมมาให้ใช้ก็คือฟังท์ชั่น Bridge Mode ซึ่งเป็นโหมดที่เปลี่ยนการทำงานของภาคขยายในตัว M33 จากปกติที่เป็น Stereo Mode ซึ่งให้กำลังขับออกมา 2 แชนเนลๆ ละ 200 วัตต์ที่ 8 โอห์ม และแชนเนลละ 380 วัตต์ที่โหลด 4 โอห์ม ให้เปลี่ยนไปทำงานเป็นระบบเสียงโมโน (mono) ที่ให้กำลังขับสูงถึง 640 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม เมื่อคุณปรับไปที่ Bridge Mode

กรณีปรับการทำงานของ M33 ให้เป็น Bridge Mode คุณต้องทำการสลับสวิทช์ “BRIDGEที่อยู่บนแผงหลัง (วงกลม ศรชี้ ภาพบน) ให้ไปอยู่ที่ตำแหน่ง “ONและต้องทำการเชื่อมต่อสายลำโพงให้ถูกต้องด้วย ซึ่งไม่เหมือนกับการเชื่อมต่อตามปกติ คือใช้เฉพาะขั้วต่อ + ของข้างซ้ายทั้งสองข้าง กับขั้วต่อ – ของข้างขวาทั้งสองข้าง (ในกรอบสีแดง) นอกจากนั้น ทางผู้ผลิตยังแนะนำให้ใช้ฟังท์ชั่น Bridge Mode กับลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม เท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้กับลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ต่ำๆ อย่างเช่น 4 โอห์ม เนื่องจากพอทำการบริดจ์เป็นโมโนแล้ว ภาคเอ๊าต์พุตของ M33 จะมองเห็นอิมพีแดนซ์ของลำโพงเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว คือจาก 8 เหลือแค่ 4 โอห์ม เพียงเรียกกระแสจากวงจรขยายเพิ่มขึ้น ถ้าขับลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ต่ำๆ แล้วเปิดดังๆ อาจทำให้ภาคขยายทำงานหนักเกินไปจนเกิดความเสียหายได้

ดีไซน์ภายใน

พิจารณาจากสโลแกนที่ NAD เอามาใช้แนะนำตัว M33 ด้วยประโยคที่ว่า “Just add Speakersก็พอมองเห็นเจตนารมย์ในการสร้าง M33 ออกมาคือต้องการให้ M33 มีสถานภาพเป็น all-in-one ระดับพรีเมี่ยมอย่างแท้จริงนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ นอกจากภายนอกจะดูเท่ห์หรูด้วยดีไซน์ชั้นเยี่ยมแล้ว ภายในตัว M33 ก็ยังอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีเด็ดๆ อีกมาก และเพื่อทำให้ M33 มีอายุยืนยาวไปเรื่อยๆ พวกเขาจึงเลือกวิธีออกแบบโครงสร้างของ M33 ตัวนี้ออกมาในลักษณะที่เรียกว่า Modular Design Construction (MDC) คือแยกวงจรการทำงานของส่วนที่ต้องมีการอัพเดตบ่อยๆ ออกมาเป็นโมดูล ที่แผงด้านหลังของ M33 จะมีช่องสล็อตสำหรับเสียบแผงโมดูลอยู่ 2 ช่อง เผื่อไว้สำหรับการอัพเกรดเพิ่มเติมในอนาคต

ถ้าเข้าไปดู features ในโบร์ชัวของ M33 คุณจะเห็นว่าในตัวมันมีคุณสมบัติเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าเอาคุณสมบัติเหล่านั้นมาแยกข้อที่เกี่ยวข้องกันและแพ็ครวมเข้าด้วยกันจะได้ออกมาเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ BluOS Streaming, Dirac Live Room Correction และ Purifi ‘Eigentakt’ Amplifier Technolog ซึ่งเป็นภาคขยาย Class-D ที่ผมกล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น

BluOS Streaming Technology

BluOS เป็นระบบปฏิบัติการณ์ที่พัฒนาขึ้นมาบน Linux และถูกใช้เป็นพื้นฐานสำหรับ M33 ในการสตรีมไฟล์เพลงทั้งจากอินเตอร์เน็ต (TIDAL, Spotify, Internet Radio) และโลคอล มีเดีย (NAS, USB Flash Drive) โดยมีอินพุต LAN กับ Wi-Fi เป็นช่องทางรับสัญญาณ/ส่งคำสั่ง และมีแอพลิเคชั่น BlueOS ให้ใช้แทนรีโมทสำหรับควบคุมการเล่นไฟล์เพลง

ซอฟท์แวร์ของระบบปฏิบัติการณ์ BluOS ถูกฝังมาให้รันบนฮาร์ดแวร์โปรเซสเซอร์ ARM NXP 1 GHz ที่มีประสิทธิภาพสูง ผนวกกับชิป DAC 32bit ของ ESS Technology เบอร์ ES9028 และถูกกำหนดให้รองรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดที่ระดับ 24/192 ครอบคลุมไฟล์ฟอร์แม็ตยอดนิยมได้ครบทั้ง FLAC, WAV, AAC, MP3 รวมถึงมีดีโค๊ดเดอร์ MQA ที่ถอดรหัสได้เต็มสูบทั้งจากไฟล์ MQA ที่ริปมาจากแผ่น MQA-CD และไฟล์ MQA ที่สตรีมมาจาก TIDAL ด้วย

ทาง NAD มีแอพลิเคชั่น BluOS ไว้ให้โหลดใช้ในการสตรีมไฟล์เพลงเพื่อเล่นผ่าน M33 แบบฟรีออฟชาร์จ ไม่ต้องจ่ายสักบาท มีทั้งเวอร์ชั่นที่ใช้ได้บนอุปกรณ์พกพา iOS ของ Apple และ Android ของกลูเกิ้ล นอกจากนั้น M33 ตัวนี้ยังได้รับการรับรองเป็น Roon Ready ที่ทำงานร่วมกับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงของ Roon ได้อย่างลงตัวอีกด้วย

ถ้าเชื่อมต่อ M33 ผ่านเน็ทเวิร์ค มันจะสามารถรองรับสัญญาณเสียงที่ส่งผ่านมาทางอากาศด้วย AirPlay2 ได้ นอกจากนั้น ในตัว M33 ยังมีดีโคดเดอร์ aptX HD ไว้รองรับการถอดรหัสสัญญาณที่ส่งทางอากาศมากับคลื่น Bluetooth ได้อีกทางหนึ่งในกรณีที่คุณไม่มีระบบเน็ทเวิร์คอยู่ที่บ้าน ซึ่ง aptX HD ที่อยู่ในตัว M33 เป็นดีโค๊ดเดอร์บลูทูธระดับไฮเรซฯ เพราะสามารถให้ความละเอียดสูงถึงระดับ 24bit เลยทีเดียว.!!

Dirac Live Room Correction

ไฮไล้ท์อีกอย่างของ M33 ที่ฉีกหนีคู่แข่งรายอื่นๆ ในวงการก็คือมันมีเทคโนโลยี Room Correction ของ “Dirac Live Room Correctionอยู่ในตัว ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า ‘Dirac Liveตัวนี้เป็น Room Correction ที่ให้ผลลัพธ์ทางเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้มากที่สุดสำหรับนักฟังเพลงที่ต้องการเสียงที่ดี แต่ไม่มีห้องฟังที่ได้มาตรฐานทางด้านอะคูสติก คุณสามารถอาศัย Dirac Live ช่วย ลดผลกระทบจากปัญหานั้นได้โดยไม่ต้องลงทุนไปกับการปรับสภาพอะคูสติก

ลิ้งค์ Dirac Live

การใช้งาน Dirac Live นอกจากโปรแกรมไลเซนต์ที่ NAD ซื้อไลเซนต์ไว้ให้แล้ว คุณยังต้องมีคอมพิวเตอร์กับไมโครโฟนด้วย ซึ่งตัวไมโครโฟนมีแถมมาในกล่อง ส่วนคอมพิวเตอร์ที่จะต้องใช้ลงโปรแกรมคุณต้องหามาเอง ส่วนวิธีการทั้งหมด ผมเคยทำเป็นบทความการเซ็ตอัพเพื่อใช้งาน Dirac Live ไว้ โดยบอกขั้นตอนพร้อมภาพประกอบอย่างละเอียด แม้ว่าเครื่องเสียงที่ใช้เป็นตัวอย่างในบทความจะเป็นของ Arcam รุ่น SA30 แต่วิธีการต่างๆ ก็เหมือนกับ M33 ตัวนี้ทุกอย่าง อยากแนะนำให้ลองเข้าไปศึกษาจากบทความนั้นก่อนจะทำให้เข้าใจขั้นตอนการใช้งานและการปรับจูน Dirac Live ได้มากขึ้น คลิ๊กที่รูปด้านบนได้เลย ผมแปะลิ้งค์ไว้ให้แล้ว

เมื่อใช้ฟังท์ชั่น Dirac Live ในห้องรับแขก ผมพบว่า Dirac Live มันเข้าไปขจัดอาการขุ่นๆ มัวๆ ที่เกิดขึ้นในย่านกลางและทุ้มให้มีความกระจ่างชัดมากขึ้น มันเข้าไปทำให้เสียงหัวโน๊ตของเพลงได้ยินชัดขึ้นโดยเฉพาะในย่านตั้งแต่กลางต่ำลงไปถึงทุ้ม รายละเอียดของเสียงตลอดทั้งย่านจะฟังชัดขึ้น เคลียร์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้มวลเนื้อในย่านความถี่ต่ำมีปริมาณลดลงเล็กน้อย ซึ่งส่วนที่ถูกกรองออกไปนั่นแหละที่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการขุ่น ซึ่งตอนที่ยังไม่ได้ใช้ Dirac Live มันจะทำให้รู้สึกว่าเสียงในย่านทุ้มมีความหนาแน่น แต่แยกหัวโน๊ตกับบอดี้ออกจากกันได้ไม่ชัด พอใช้ Dirac Live แล้วอาการขุ่นลดลง ได้ยินหัวโน๊ตที่แยกออกมาจากบอดี้ได้ชัดขึ้น แม้ว่าเนื้อมวลโดยรวมจะดูบางลงไปนิดนึง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เพราะมันทำให้รับรู้รายละเอียดของเพลงได้ชัดขึ้น และดีกว่าที่จะใช้วิธีปรับสภาพอะคูสติกด้วยอุปกรณ์ปรับอะคูสติกซึ่งจะทำให้สภาพของห้องรับแขกกลายสภาพเป็นห้องแล็ปทางเสียงที่ไม่น่ามอง

แต่สำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียงมากๆ และมีห้องฟังส่วนตัวอาจจะไม่เหมาะที่จะเอา Dirac Live ไปใช้ในห้องฟังที่ว่านั้น เพราะจากทดลองฟังเทียบกันแล้ว สำหรับผม ผมพบว่า ผมพอใจผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับสภาพอะคูสติกด้วยวิธีแมนน่วลมากกว่าเพราะมันปรับจูนได้ละเอียดกว่า ส่วนตัวผมจึงเลี่ยงที่จะใช้ Dirac Live ในห้องฟังหลักของผม

การปรับตั้งเมนูในตัวเครื่อง

คุณสามารถปรับตั้งคุณสมบัติ, ฟังท์ชั่น และเลือกอินพุต ของ M33 ได้ผ่านการสัมผัสทางหน้าจอของเครื่อง ซึ่ง M33 อนุญาติให้คุณเข้าถึงเมนูโดยผ่านทางหน้าจอเครื่องเท่านั้น จากการทดลองปรับตั้งผมพบว่า จอสัมผัสของ M33 ช่วยให้การปรับตั้งเมนูทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นมาก แค่ใช้ปลายนิ้วเลื่อนสไลด์ไปบนหน้าจอซ้ายๆ ขวาๆ, ขึ้นๆ ลงๆ แล้วก็จิ้มเลือก แค่นี้เอง.!

เริ่มด้วยการใช้ปลายนิ้วแตะลงบนหน้าจอเบาๆ ตรงไหนก็ได้ คุณจะพบว่าที่มุมซ้ายด้านบนของจอมีขีดขาวๆ 3 ขีดปรากฏขึ้นมา (ศรชี้) ใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปที่ขีดสามขีดนั้นเป็นการเปิดเข้าสู่เมนูของเครื่องเพื่อการปรับตั้งค่า

เมนูของ M33 มีหัวข้อให้ปรับตั้งอยู่ทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ Sources (สัญลักษณ์สายสัญญาณ), Preset (สัญลักษณ์สี่เหลี่ยม) และ Settings (สัญลักษณ์ฟันเฟือง) ซึ่งหัวข้อการปรับตั้งทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ใน Settings (ศรชี้) ให้ใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปที่รูปเฟืองเบาๆ จะปรากฏแถบหัวข้อปรับตั้งขึ้นมาสองแถวแนวตั้ง จากซ้ายไปขวาคือ ‘Settingsซึ่งมีหัวข้อย่อยให้ปรับตั้งอยู่ 5 หัวข้อ คือ Player, Source Setup, Music Library, Other และ System Info คุณต้องการปรับตั้งหัวข้อไหนก็จิ้มลงไปที่หัวข้อนั้น รายละเอียดในหัวข้อนั้นที่เปิดให้ปรับตั้งได้จะปรากฏขึ้นมาในแถบข้างๆ ต้องการปรับตั้งหัวข้อย่อยอันไหนก็จิ้มลงไปได้เลย ยกตัวอย่างตามภาพข้างบนนี้ ผมทดลองปรับตั้งเมนูที่หัวข้อ ‘Playerซึ่งในนั้นมีหัวข้อให้ปรับทั้งหมด 18 หัวข้อ เยอะมาก..!! (รายละเอียดในการปรับตั้งแต่ละหัวข้อย่อยมีอยู่ในคู่มือ)

รีโมทไร้สายที่แถมมากับ M33 เป็นรีโมทครอบจักรวาลที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์ได้หลายชนิด 

การใช้งานแอพลิเคชั่น BluOS กับ M33

แอพลิเคชั่น BluOS ที่ผู้ผลิตออกแบบมาให้ใช้กับ M33 เป็นทั้งแอพฯ ‘Playerที่ใช้เลือกและควบคุมการเล่นไฟล์เพลง และแอพฯ ‘Controlที่รวบรวมการปรับตั้งค่าของฟังท์ชั่นต่างๆ ของตัวเครื่อง M33 อยู่ในแอพฯ เดียวกัน ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ของความสะดวกของผู้ใช้ที่ไม่ต้องเปิดแอพฯ สองตัว แต่ในแง่วิศวกรรมก็ทำให้ออกแบบยาก ใครที่ไม่เคยใช้แอพฯ BluOS มาก่อนก็มีสิทธิ์ที่จะงงได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ผมเคยเขียนถึงการใช้งานแอพฯ BluOS ไว้ในรีวิว NAD รุ่น M10 (REVIEW) ซึ่งมีรายละเอียดมากพอสมควร อยากจะแนะนำให้ลองเข้าไปอ่านได้จากที่นั่น จะช่วยทำให้เข้าใจการใช้งานแอพฯ ตัวนี้ได้ง่ายขึ้น จากการทดลองใช้งานแอพฯ BluOS บนตัว M33 ผมพบว่า ส่วนใหญ่ก็ยังคงเหมือน BluOS ที่ใช้กับรุ่น M10 นั่นเอง เพื่อไม่ให้เสียเวลามาก ในรีวิว M33 ผมจะขอพูดถึงการใช้งานแอพฯ BluOS แค่เพียงสังเขป

นี่คือหน้าโฮมของแอพฯ BluOS ทางซ้ายมือ ตั้งแต่บนลงมาล่างจะรวมหัวข้อให้เลือกใช้งานและปรับตั้งค่าเอาไว้ เริ่มต้นด้วยการปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ ของตัวเครื่องซึ่งรวมอยู่ในหัวข้อ ‘Settingsที่อยู่ด้านล่างทางซ้ายมือของหน้าโฮม (ศรชี้สีฟ้า)

ที่หัวข้อ ‘Settingsมีหัวข้อย่อยให้เลือกปรับตั้งทั้งหมด 6 หัวข้อ ตามภาพด้านบน ซึ่งการปรับตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกับ เสียงของ M33 จะอยู่ในหัวข้อย่อย ‘Audio’ (ศรชี้สีฟ้า)

ในนั้นมีฟังท์ชั่นให้ปรับตั้งอยู่ 8 ฟังท์ชั่น หลักๆ ก็มีเลือกเปิดใช้/ไม่ใช้ Dirac Live, เลือกใช้/ไม่ใช้การปรับทุ้ม/แหลม, เลือกลักษณะของสัญญาณเอ๊าต์พุตระหว่าง stereo/left/right/mono, ปรับบาลานซ์ซ้าย/ขวา, ตั้งระดับวอลลุ่มสูงสุด แต่ที่พิเศษสำหรับ M33 ก็คือฟังท์ชั่น ‘Selected attached speakers’ (ศรชี้สีแดง) ซึ่งเป็นการปรับตั้งเอ๊าต์พุตของ M33 ซึ่งมีอ๊อปชั่นให้เลือกเล่นแบบมี/ไม่มีลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริม และถ้ามีลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริม M33 ยังเปิดโอกาสให้คุณเลือกได้อีกว่าจะใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์หนึ่งตัว หรือสองตัว พูดง่ายๆ ก็คือ คุณสามารถเลือกรูปแบบของสัญญาณเอ๊าต์พุตของซับวูฟเฟอร์ที่ช่อง ‘Sub-Outทั้งสองช่องของ M33 ได้ระหว่าง Mono (L+R)(1 subwoofer) กับ Stereo (L&R)(2 Subwoofers) และยังมีวงจร crossover ที่สามารถเลือกกำหนดจุดตัดความถี่ให้กับซับวูฟเฟอร์ได้อีกด้วย ใครที่กำลังเล็งจะเล่นระบบเสียง stereo แบบ 2.1 หรือ 2.2 แชนเนล จะแฮ๊ปปี้กับฟังท์ชั่นนี้แน่ๆ ผมทดลองใช้กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ Q Acoustics รุ่น Q B12 ได้ผลดีน่าพอใจ (จูนด้วยการปรับ phase และ level ที่ซับวูฟเฟอร์เข้าช่วย)

สำหรับคนที่เก็บไฟล์เพลงไว้ใน NAS ถ้าจะ add ไฟล์เพลงใน NAS เข้าไปใน Library ของแอพ BluOS ให้เข้าไปที่ Settings > Music Library > Network shares แล้วใส่ลิ้งค์ของ NAS พร้อม ยูสเซอร์เนมกับ พาสเวิร์ดสำหรับ NAS ลงไป หลังจากเสร็จขั้นตอน ให้ย้อนกลับไปที่หน้า Home ของแอพ BluOS สังเกตทางซีกซ้ายมือจะมีหัวข้อ ‘Libraryปรากฏขึ้นมา (ศรชี้สีฟ้า) ให้จิ้มปลายนิ้วลงไปที่หัวข้อ ‘Libraryจะปรากฏหน้าต่าง ‘Libraryซ้อนขึ้นมาทางขวามือ ให้จิ้มปลายนิ้วลงไปที่ขีดขาวๆ สามขีดที่มุมซ้ายบน (ศรชี้สีแดง)

หน้าต่างด้านขวาจะเลื่อนออกมาทับบนหน้าต่างทางซ้ายจนเต็มจอ โดยมีอ๊อปชั่นให้เลือกสำหรับการแสดงงานเพลงทั้งหมดขึ้นมาให้ดู ผมแนะนำให้จิ้มเลือกไปที่หัวข้อ ‘Albums’ (ศรชี้สีฟ้า) ใน Library จะแสดงเป็นปกอัลบั้มขึ้นมาให้ดูโดยลำดับตามตัวอักษรที่ขึ้นต้นด้วยตัวเลขและต่อด้วยตัวอักษร A > Z

แอพฯ จะดึงภาพปกอัลบั้มที่อยู่ใน NAS ขึ้นมาโชว์ โดยมี ชื่ออัลบั้มและ ชื่อศิลปินปรากฏอยู่ด้านล่างของภาพปก ต้องการฟังอัลบั้มไหนก็แค่จิ้มปลายนิ้วลงไปที่หน้าปกอัลบั้มนั้น ผมทดลองเลือกอัลบั้ม Anita Sings The Most ของ Anita O’Day (ศรชี้) ขึ้นมาฟัง..

นี่เป็นหน้าจอที่แสดงรายละเอียดของเพลงที่กำลังเล่น ต้องการฟังเพลงไหนก็จิ้มเลือกไปที่เพลงนั้นโดยตรงได้เลย หรือถ้าต้องการเล่นต่อเนื่องทั้งอัลบั้มก็จิ้มเลือกไปที่ ‘Play All’ (ศรชี้)

นี่เป็นหน้าจอแสดงรายละเอียดแทรคที่กำลังฟัง ซึ่งพื้นที่ด้านล่างของหน้าปก (กรอบ+ศรชี้สีเหลือง) จะมีฟังท์ชั่นที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงกับสไลเดอร์ปรับวอลลุ่มที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถปรับความดังเบาผ่านทางหน้าแอพฯ ได้ ถ้าต้องการย้อนกลับไปหน้าเมนูก่อนหน้าก็จิ้มลงไปที่หัวลูกศรชี้ลง (ศรชี้สีฟ้า)

การใช้งานแอพลิเคชั่น Roon กับ M33

M33 รองรับการทำงานร่วมกับ Roon ด้วยคุณสมบัติ Roon Ready ซึ่งจากการทดลองใช้แอพฯ ทำงานร่วมกับ M33 ผมพบว่า Roon เข้ามาเสริมในสิ่งที่แอพฯ BluOS ทำไม่ได้ 2 อย่าง นั่นคือ รองรับการ แสดงภาษาไทย กับเล่นไฟล์ DSD และ DXD

Roon มองเห็น M33 และแจ้งว่าเป็น Roon Ready เมื่อเข้าไปดูที่ ‘Device Setupปรากฏว่า Roon แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับ M33 ไว้แค่หัวข้อ ‘MQA capabilitiesซึ่งแสดงถึงความสามารถในการจัดการกับไฟล์เพลงฟอร์แม็ต MQA ของ M33 ที่ทำได้ทั้ง Decoder และ Renderer แต่ไม่มีหัวข้อที่แสดงถึงความสามารถในการจัดการกับสัญญาณ DSD โชว์ขึ้นมาให้เห็น ???

ผมทดลองสตรีมไฟล์ MQA FLAC 24/48 (1) จาก TIDAL ผ่าน Roon แล้วส่งไปที่ M33 ปรากฏว่า M33 รับไฟล์ MQA นี้ไป Render & Decode แบบ ‘full decoder’ (2) คือหมดเปลือก และที่หัวข้อ ‘Signal Pathแสดงออกมาเป็น ‘Enhanced’ (3) ซะด้วย แสดงว่า M33 ถอดรหัส MQA จาก TIDAL ออกมาได้สุดซอยจริงๆ เสียงที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ภาพรวมออกมาเปิดโล่งและเต็มไปด้วยรายละเอียดระยิบระยับ

ลำดับต่อมา ผมลองดึงไฟล์ MQA ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD ที่เก็บอยู่ใน NAS ออกมาลองเล่นผ่าน Roon แล้วส่งสัญญาณไปที่ M33 ซึ่งไฟล์ MQA ที่ว่านี้มันแพ็คสัญญาณ PCM ที่มีอัตราแซมปลิ้งสูงถึง 352.8kHz อยู่ข้างใน (1) ซึ่งผลคือ M33 สามารถ Render & Decode ไฟล์ MQA นั้นออกมาได้สุดซอย (full decoder (2) + signal path = Enhanced (3)) คือไปถึงระดับ 352.8kHz โดยไม่มีการลดทอนลงมา ทั้งๆ ที่ในสเปคฯ ของ M33 แจ้งไว้ว่ารองรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดแค่ 24bit/192kHz เท่านั้น ?? น่าแปลก สรุปคือไม่รู้ว่า M33 ยอมเปิดเส้นทางพิเศษให้สัญญาณ 352.8kHz วิ่งทะลุไปถึงภาค DAC หรือว่า M33 แอบทำ downsampling 352.8kHz > 176.4kHz ก่อนส่งให้ภาค DAC กันแน่.? (*** จริงๆ แล้วชิป DAC ของ ESS Technology เบอร์ ES9028 ที่ใช้อยู่ในภาค DAC ของ M33 มีความสามารถรองรับอัตราแซมปลิ้งของสัญญาณดิจิตัล PCM ได้สูงถึง 384kHz อยู่แล้ว ถ้าจะรองรับ 352.8kHz โดยตรง ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของชิป ES9028 ตัวนี้)

แต่จะรองรับ 352.8kHz โดยตรง หรือลดทอนลงมาอยู่ที่ 176.4kHz ก่อนส่งเข้าภาค DAC ก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเสียงที่ออกมาก็รับรู้ได้ถึงความพิเศษในแง่ของ ความโปร่งใสของเสียงกับ รายละเอียดที่พร่างพรายที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ มีบุคลิกเสียงแบบ Hi-Res ออกมาอย่างชัดเจน

เมื่อผมทดลองเล่นไฟล์เพลงที่เป็นฟอร์แม็ต DXD ที่ผมดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่างมาจากเว็บไซต์ 2L สเปคฯ FLAC 24/352.8 (1) กับ M33 ผ่าน Roon ผลกลับเป็นว่า Roon ต้องทำการลดรูป (down sampling) จาก 352.8kHz ลงมาอยู่ที่ 176.4kHz (2) ก่อนส่งให้ M33 และ Signal Path แสดงเป็น ‘High Qualityซึ่งอาการแบบนี้แสดงว่า M33 ไม่รองรับสัญญาณ PCM ที่มีอัตราแซมปลิ้งสูงกว่า 192kHz แบบ native หรือโดยตรง ซึ่งน่าแปลก.. เพราะถ้าเป็นสัญญาณ PCM 352.8kHz ที่แพ็คมาใน MQA กลับรับได้.?

การเล่นไฟล์ DSD กับ M33

Bluesound เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อดึงคุณภาพสูงสุดออกมาจากฟอร์แม็ต PCM ตั้งแต่แรก มันให้เสียงจากฟอร์แม็ต PCM ออกมาได้ที่ดีมากตั้งแต่ระดับ CD quality คือ 16/44.1 ขึ้นไปจนถึงระดับไฮเรซฯ 24/192 หลังจากมีฟอร์แม็ต DSD เข้ามาในวงการ วิศวกรของ Bluesound เลือกที่จะใช้วิธีแปลง DSD-to-PCM จัดการกับไฟล์ DSF และไฟล์ DFF นั่นคือเหตุผลที่แอพฯ BluOSมองไม่เห็นไฟล์ DSF และ DFF ที่อยู่ในไลบรารี่

ทำไมไม่ทำให้ Bluesound รองรับกับสัญญาณ DSD แบบ native? ผมเดาว่า วิศวกรของ Bluesound คงมองว่า ฟังท์ชั่นใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต อาทิเช่น room correction จะทำงานกับสัญญาณ PCM เป็นหลัก ไม่ทำงานกับสัญญาณ DSD โดยตรง พวกเขาจึงปล่อยให้ Bluesound ทำงานกับฟอร์แม็ต PCM อย่างเดียว แล้วไปพัฒนาซอฟท์แวร์ BluOS บนคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการแปลงสัญญาณ DSD ให้เป็น PCM ไว้ให้ยูสเซอร์ที่มีไฟล์ DSF ทำการแปลงให้ออกมาเป็นสัญญาณ PCM ในรูปแบบของไฟล์ FLAC ก่อนจะนำมาใช้กับแอพ BluOS

* (ดูเพิ่มเติม Playing DSD Files in BluOS)

ต่อมาเมื่อมี ‘Roon Readyเกิดขึ้นมาในโลกเพื่อทำให้การเล่นไฟล์ DSD และ DXD กับผลิตภัณฑ์ของ Bluesound ทำได้ง่ายขึ้น ยูสเซอร์ไม่ต้องไปนั่งแปลงไฟล์ DSF (DSD) > FLAC (PCM) ด้วยตัวเองให้ยุ่งยาก นี่คือเหตุผลที่ M33 ถูกทำให้เป็น ‘Roon Readyโดยมีคุณสมบัติเป็น endpoint ของโปรแกรม Roon เพื่อรองรับสัญญาณ PCM ที่ Roon แปลงจาก DSD มาให้นั่นเอง

ผมทดลองเล่นไฟล์ DSF64 (1), DSF128 และ DSF256 กับ M33 ด้วย Roon ปรากฏว่า Roon ทำ format conversion ด้วยการแปลงจากฟอร์แม็ต DSD64 ให้เป็นฟอร์แม็ต PCM ที่อัตราแซมปลิ้งเท่ากับ 352.8kHz (2) ก่อน หลังจากนั้นก็ทำการ downsampling จาก 352.8kHz ให้ลงมา compatible กับอินพุตของภาค DAC ของ M33 ที่ 176.4kHz (3) เพราะ M33 รับได้สูงสุดที่ 192kHz ส่วน Signal Path แสดงออกมาเป็น ‘High Quaity

เสียงของไฟล์ DSF64 ออกมาดีทีเดียว ผมทดลองฟังอัลบั้มเดียวกันที่มีอยู่สองฟอร์แม็ตคือ PCM 16/44.1 กับ DSD64 ปรากฏว่า เสียงที่ได้จากไฟล์ DSD เนียนสะอาดกว่า เนื้อเสียงแน่นกว่า โดยรวมดีกว่าไฟล์ PCM 16/44.1 ประมาณ 10%

ทดสอบฟังเสียงของ M33

ผมทดลองนำ M33 ไปทดสอบใช้งานใน 2 สถานการณ์ ที่แรกคือในห้องรับแขกโดยใช้งานร่วมกับทีวีขนาด 65 นิ้ว ที่ผมใช้งานเป็นประจำอยู่ในห้องรับแขกที่บ้านผม

I: ทดลองใช้งาน M33 ในห้องรับแขก

ตอนทดลองใช้งานในห้องรับแขก ผมสลับใช้ลำโพงอยู่ 2 คู่ มีแบบวางขาตั้งของ Audio Physic รุ่น Classic 3 ราคาคู่ละห้าหมื่นกว่า (ภาพชาร์ตด้านบน) กับแบบตั้งพื้นของ Q Acoustic รุ่น Concept 50 (ภาพล่าง) ราคาไม่เกินแสน ปรากฏว่ากำลังขับของ M33 รับมือกับลำโพงทั้งสองคู่ได้สบายๆ เสียงที่ได้ออกมาดีกว่าเสียงจากลำโพงของทีวีมหาศาล.! ดีกว่าทุกด้าน น้ำหนักเสียงดีขึ้น เสียงคนฟังดูเป็นคนมากขึ้นเยอะเลย และสังเกตได้ว่าทุกเสียงมันฉีกลอยขึ้นมาในอากาศทั้งแผ่กว้างและขยายใหญ่ ฟังมันส์กว่าลำโพงทีวีเยอะ

จริงๆ แล้ว ผมกลับพบว่า การเอา M33 + ลำโพงดีๆ แล้วไปใช้กับทีวีลักษณะนี้มันให้ความพึงพอใจกับการฟังเพลงมากกว่าที่คาดเยอะเลย เพราะเมื่อลองฟังเพลงผ่านชุดนี้ ผมพบว่าเสียงที่ได้ก็ยิ่งฉีกหนีเสียงจากทีวีมากขึ้นไปอีก คุณภาพเสียงห่างกันเยอะมาก และเนื่องจากตัวทีวี 65 นิ้ว มีความกว้างอยู่ที่ 145 .. ผมสามารถตั้งลำโพงซ้ายขวาห่างกัน 180 .. ได้สบายๆ ไม่บังจอ ทำให้มีพื้นที่ปรับจูนตำแหน่งจนได้มิติเสียงกับโทนัลบาลานซ์จากลำโพงออกมาเต็มที่ (ห่างหลังประมาณ 60 ..) แถม M33 ต่อกับเน็ทเวิร์คดึงเพลงจาก NAS เข้ามาฟังได้ ถ้าที่บ้านคุณไม่มีเน็ทเวิร์คก็ใช้วิธียิง Bluetooth จากมือถือตรงเข้าที่ M33 ได้โดยตรงเลย เสียงดีด้วย หรือจะใช้วิธีเล่นแผ่นซีดีแล้วต่อดิจิตัล เอ๊าต์จากเครื่องเล่นซีดีไปเข้าที่อินพุต Coaxial หรือ Optical ของ M33 ก็ได้ ที่ผมชอบมากคือตอนลองฟังเพลงจาก YouTube ผ่าน M33 + ลำโพงดีๆ แบบนี้ เชื่อว่าคนที่ชอบฟังเพลงเน้นคุณภาพแต่ไม่มีห้องฟังเป็นเรื่องเป็นราวน่าจะแฮ้ปปี้สุดๆ กับอ๊อปชั่นนี้

II: ทดลองใช้งาน M33 ในห้องฟังเพลง

หลังจากเก็บข้อมูลการใช้งานในห้องรับแขกเสร็จแล้ว ผมก็อุ้ม M33 เข้าไปลองฟังในห้องฟังของผมต่อเลย ซึ่งตอนแรกผมลองใช้ลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One เพื่อนเก่าของผมจับคู่กับ M33 โดยวาง The One บนขาตั้ง Atacama รุ่น Moseco SL600 (REVIEW) เสียงที่ได้ออกมาน่าพอใจมาก หลังจากทดลองฟังเพลงหลากหลายแนวโดยเน้นที่ไดนามิกมากหน่อย ผมพบว่า กำลังขับของ M33 มากพอในการควบคุม The One ได้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้นผมก็ทดลองเปลี่ยนมาใช้ลำโพงตั้งพื้นของ Audio Physic รุ่น Avanti 35 ราคาคู่ละ 255,000 บาท เพื่อทดสอบสมรรถนะทางด้านกำลังขับของ M33 โดยเฉพาะ หลังจากเซ็ตอัพลำโพงเข้าที่และทดลองฟังเพลงหลากหลายรูปแบบผ่านไปหลายวัน ผมพบว่า กำลังขับที่มากกว่า 380 วัตต์ต่อข้างที่ 4 โอห์ม ของ M33 มากพอทั้งสำหรับ The One และ Avanti 35 ซึ่งทำให้ผมไม่ติดใจกับประสิทธิภาพของ M33 ในแง่นี้

ลักษณะ + คุณภาพเสียงของ M33

ตอนขับลำโพง The One ผมมีสังเกตพบว่า เสียงทุ้มที่เคยได้ยินจาก The One มีลักษณะบางอย่างที่ต่างไปจากที่เคยได้ยิน คือมันลดมวลหนาๆ ลงไปนิดนึง แต่แลกมาด้วยความชัดเจนของหัวโน๊ตในย่านเบสที่คมขึ้น สปีดที่ฉับไวมากขึ้น เมื่อถอยออกมาฟังเพื่อจับโทนัลบาลานซ์ ผมพบว่า แม้เนื้อมวลของเสียงในย่านทุ้มจะลดลงไปบางส่วน แต่ก็ไม่ได้มากถึงกับทำให้เกิดความรู้สึกว่าเสียงบาง ยังให้เสียงทุ้มในเชิง ปริมาณที่มากพอสมควร ประเมินในแง่โทนัล บาลานซ์ก็ถือว่ายังรักษาสมดุลไว้ได้ ไม่ทำให้อรรถรสของเพลงเสียไป มิหนำซ้ำ ผมกลับพบว่า การที่ M33 ขัดกลึงเสียงในย่านทุ้มให้มีลักษณะที่สันทัดมากขึ้นจนได้หัวโน๊ตที่คมชัด เป็นตัว ลดอาการ smear ลงไปบางส่วน กลับทำให้ผมได้อรรถรสในการฟังมากขึ้น เพราะผมจับอารมณ์และลีลาของมือเบสได้ชัดขึ้นนั่นเอง

เมื่อเปลี่ยนเอา M33 มาลองขับ Avanti 35 ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดอะ วัน และออกแบบไดเวอร์กับโครงสร้างตัวตู้ที่มีคุณภาพสูงกว่า The One ผมพบว่าเสียงที่ได้ออกมามันยกระดับสูงขึ้นไปอีกขั้น พอมาถึงตรงนี้ เสียงที่ได้จาก M33 + Avanti 35 มันเริ่มหลุดพ้นคำว่า ความถี่ออกไปแล้ว คือแต่ละเสียงที่พุ่งผ่านลำโพงออกมามันเป็นลักษณะของเสียงที่ เข้าใกล้เสียงของเครื่องดนตรีที่ถูกกระทำโดยนักดนตรีมากกว่าเป็นกลุ่มของ ความถี่ทุ้มกลางแหลม นั่นทำให้ผมกล้าฟันธงได้มากขึ้นว่าเสียงโน๊ตดนตรีที่พุ่งหลุดจากลำโพงออกมาในวินาทีนั้นมันคือเสียงของเครื่องดนตรีประเภทไหน แต่ละโน๊ตมีความดังเบาต่างกัน กังวานสั้นยาวต่างกัน เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยแต่นิ่งและมั่นคง ซึ่งนี่คือลักษณะเสียงที่นักเล่นฯ ระดับไฮเอ็นด์ฯ ตามหากัน

ผมอยากจะพูดว่า M33สกัดโน๊ตเพลงออกมาจาก Avanti 35 ได้อย่างเป็นตัวเป็นตนมาก แต่ละโน๊ตต่างถูกดันให้หลุดพ้นพันธะ (inerd) ทางแมคคานิคที่ดึงรั้งของไดเวอร์ลำโพงออกมาในอากาศได้อย่างเป็นอิสระเต็มที่ ส่งผลให้ทุกโน๊ตต่างก็แสดงรายละเอียด (detail) ของตัวมันเองออกมา ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ความเด่นชัดปรากฏออกมาให้เห็นมากพอกันทั้งกับโน๊ตตัวที่ดังและโน๊ตตัวที่เบาโดยไม่มีการกลบทับซึ่งกันและกัน แสดงว่า M33 ให้ S/N ratio ที่กว้างมาก + ให้ noise floor ต่ำ และเกลี่ยไดนามิกคอนทราสน์ตั้งแต่ระดับ ppp ขึ้นไปถึงระดับ fff ได้ละเอียด จึงไม่ทำให้รายละเอียดในระดับความดังต่ำ (low level resolution) จมหายไป นั่นคือสาเหตที่ทำให้วรรณะเสียงของ M33 ออกไปทางกลางๆ ให้ปริมาณของความถี่ทุ้มกลางแหลมที่ใกล้เคียงกัน ต่างไปจากโทนเสียงของแอมป์ NAD ยุคเก่าๆ ที่มักจะออกหม่นๆ นุ่มๆ เพราะเอนเอียงไปทางกลางลงต่ำ

สตรีมสัญญาณเพลงผ่าน Bluetooth & AirPlay 2

ถ้าคุณใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPhone หรือ iPad ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกับ M33 เมื่อทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Apple ตัวนั้นเข้ากับ M33 ด้วย Bluetooth จะปรากฏการเชื่อมต่อด้วย AirPlay2 ขึ้นมาให้โดยอัตโนมัติ (ตัวล่างสุด M33-62BF) แต่ถ้าคุณใช้อุปกรณ์ Android ในการเชื่อมต่อ Bluetooth ระหว่างอุปกรณ์นั้นกับ M33 การเชื่อมก็จะเป็นไปตามมาตรฐานของ Bluetooth ซึ่งทาง M33 จะใช้การแปลงสัญญาณด้วยมาตรฐาน aptX HD กรณีที่อุปกรณ์ต้นทางรองรับกับมาตรฐานนี้

สรุป

เนื่องจาก M33 มีคุณสมบัติเป็น all-in-one ผมจึงแยกพิจารณาคุณภาพของ M33 ออกเป็นสองแง่ แง่แรกคือพิจารณาทางด้าน กำลังขับซึ่งผมพบว่า ตัวเลข 200 วัตต์ที่ 8 โอห์ม กับ >380 วัตต์ต่อแชนเนลที่ 4 โอห์ม ของ M33 มันมีประสิทธิภาพสูงมาก.! มันสอบผ่านในการขับดันลำโพงระดับมิดเอ็นด์ได้อย่างสบายๆ และยังมีประสิทธิภาพ มากพอในการขับดันคุณภาพเสียงออกมาจากลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่มีราคาสูงกว่าตัวมันอย่าง Audio Physic รุ่น Avanti 35 ด้วย

แง่ที่สองที่ผมใช้พิจารณา M33 ก็คือความสามารถของความเป็น source หรือแหล่งต้นทางสัญญาณ ซึ่ง M33 มีมาให้ครบเครื่องมาก มันรองรับได้สมบูรณ์แบบทั้ง analog และ digital (น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ทดสอบอินพุต Phono ของ M33 เนื่องจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงของผมไม่สมบูรณ์)

ทางด้านความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงก็ทำได้สมบูรณ์ ถ้าคุณมีไฟล์เพลงฟอร์แม็ต PCM ตั้งแต่ 16/44.1 ไปจนถึง 24/192 และเน้นสตรีมจาก TIDAL เป็นหลัก M33 มีแอพ BluOS ไว้ให้ใช้ ซึ่งมันให้เสียงออกมาดีน่าพอใจ แต่ถ้าคุณอยากเล่นไฟล์ DSD หรือ DXD และอยากเอามาเปิดฟังกับ M33 ตัวนี้ คุณก็สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มเติมระบบเพลย์แบ็คของ Roon (ฮาร์ดแวร์ + ซอฟท์แวร์) เข้าไปเท่านั้นเพื่อเปิดฟังท์ชั่น Roon Ready ของ M33 ขึ้นมาใช้เท่านั้นเอง

หลังจากได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ M33 ผ่านไปเดือนกว่าๆ ผมไม่แปลกเลยที่ NAD เป็นแบรนด์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานเกือบทศวรรต พวกเขารู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ NAD แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเขามีพัฒนาการออกมากับผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา และทำให้มันมีชีวิตเดินไปกับยุคสมัยได้อย่างลงตัว ผมกล้าพูดเลยว่า M33 จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ชื่อของ NAD ถูกจดจำไปได้อีกนาน.. นับจากนี้ไป!!! /

********************
ราคา : 179,000 บาท / เครื่อง
(โปรโมชั่นพิเศษจาก ราคาเต็ม 216,000 บาท)
********************
นำเข้า/จัดจำหน่ายโดย : บริษัท โคไน้ซ์ อิเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 02-276-9644

website: conice.co.th
facebook: @coniceelectronic

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า