ทุกครั้งที่ทดสอบแอมป์หลอด ผมจะต้อง “เปลี่ยน” วิธีการประเมินผลเสมอ เป็นแบบนี้มาตลอดจนผมยอมรับว่าบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า หรือว่าการ “ประเมินประสิทธิภาพ” ของแอมป์โซลิดสเตทกับแอมป์หลอดมันใช้มาตรวัดแบบเดียวกันไม่ได้.? เพราะทุกครั้งที่เอามาตรฐานการประเมินประสิทธิภาพที่ใช้กับแอมป์โซลิดสเตทมาใช้กับแอมป์หลอด โดยดูจากค่าต่างๆ ที่วัดด้วยเครื่องวัดออกมา ผลมันมักจะฟ้องให้เห็นว่า ค่าของสเปคฯ ของแอมป์หลอดที่วัด (ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ใช้วัดแอมป์โซลิดสเตท) ออกมามัน (มักจะ) ดูแย่มากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของแอมป์โซลิดสเตท.. เสมอ.!!!
“จบด้วยสเปคฯ” หรือ “จบด้วยหู”..??
สำหรับผม สเปคฯ จะเป็นเหมือนเข็มทิศนำทาง เมื่อทฤษฎีระบุไว้แบบนั้น เครื่องเสียงที่ใช้ทฤษฎีนั้นในการออกแบบก็ควรจะให้บุคลิกเสียงออกมาตามที่ทฤษฎีนั้นชี้นำไว้ แต่การประเมินผล ณ จุดหมายปลายท้ายสุดท้ายของการทดสอบ ผมจะปิดจบลงด้วย “การฟัง” เสมอ.! ซึ่งยอมรับเลยว่า บ่อยครั้งที่เสียงที่ได้ยินออกมาจากชุดที่ทดสอบมันไม่ได้สะท้อนไปตามที่ทฤษฎีของคนทำเครื่องเสียงแต่ละชิ้นทำนายไว้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันนี้ผมก็ไม่ได้ติดใจสงสัยกับผลลัพธ์ลักษณะนี้อีกแล้ว ความเข้าใจของผมมันทะลุผ่านปรากฏการณ์นี้ไปแล้ว เพราะเสียงที่เราได้ยินได้ฟังจากชุดเครื่องเสียงมันไม่ได้มาจากอุปกรณ์เครื่องเสียงชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่มาจากอุปกรณ์ “ทุกชิ้น” ในซิสเต็มรวมกัน บวกกับสภาพแวดล้อมรอบๆ เครื่องเสียงชุดนั้น ด้วยเหตุนี้ เครื่องเสียงแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นด้วยทฤษฎีที่ต่างกัน เมื่อจับมาเข้าชุด (แม็ทชิ่ง) ให้ทำงานร่วมกัน เสียงที่ออกมามันก็กลายเป็นส่วนผสมของทฤษฎีที่ต่างกัน เกิด reaction ซึ่งกันและกัน ผสมผสานกันออกมาเป็นลักษณะเสียงอีกรูปแบบหนึ่งที่คนทำเครื่องเสียงแต่ละชิ้นก็อาจจะนึกไม่ถึง.!
NAT Audio เป็นใคร.?
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสทดสอบผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้ ก่อนจะลงไปพูดถึงอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ ขออนุญาตค้นข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์นี้ดูหน่อยก่อน..
NAT Audio มีเว็บไซต์อ๊อฟฟิเชี่ยลอยู่บนอินเตอร์เน็ตและมีแพลทฟอร์มเฟซบุ๊คอยู่บนโซเชี่ยล ในสื่อเหล่านั้นพวกเขาพูดถึงแต่ผลิตภัณฑ์ อย่างในเว็บไซต์ก็ไม่ได้เอ่ยถึงบุคคลที่เป็นดีไซเนอร์ที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ บนเฟซบุ๊คก็มีข้อมูลน้อยมากและแทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2022 ดูเหมือนคนออกแบบและผู้อยู่เบื้องหลังแอมป์แบรนด์นี้จะขี้อาย ไม่ชอบสังคม
ผมทดลองคลิ๊กๆ ค้นๆ เข้าไปในโซเชี่ยลและออนไลน์จนพบว่า แบรนด์นี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่ประเทศเซอร์เบียร์ สำนักงานตั้งอยู่ที่เมือง Kragujevac ผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้มีชื่อว่า Dejan Nikic รู้แค่นั้น.!!
Single HPS เจนเนอเรชั่นที่ 3
อินติเกรตแอมป์หนึ่งเดียวของ NAT Audio
ผลิตภัณฑ์ของ NAT Audio มีทั้งอินติเกรตแอมป์, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ก็มีทั้งสเตอริโอและโมโนบล็อก มีทั้งหลอดและไฮบริดจ์ฯ, โฟโนสเตจก็มี ครบเครื่องมาก.!
คำว่า “Single” ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีความหมายถึงการใช้หลอดสุญญากาศในภาพขยายแค่ข้างละหลอดเดียว และคำนี้อาจจะบอกเป็นนัยไปถึงรูปแบบของการจัดวงจรขยายของหลอดเอ๊าต์พุตที่เป็นแบบ Single Ended ไปด้วยในตัว ส่วนตัวอักษรอีกสามตัวคือ “HPS” ที่ต่อท้ายมานั้นมาจากคำเต็มๆ ว่า Hybrid Power Supply ซึ่งเป็นภาคจ่ายไฟที่ออกแบบโดยใช้หลอดทำงานร่วมกับสวิทชิ่ง ซึ่งในเวอร์ชั่นแรกใช้ภาคจ่ายไฟที่เป็นหลอดล้วน หลังจากนั้นทางผู้ออกแบบค้นพบว่า การเปลี่ยนมาใช้ภาคจ่ายไฟลูกผสมที่มีสวิทชิ่งเข้ามาช่วยทำให้สปีดในการจ่ายไฟเร็วขึ้น ทันกับสัญญาณทรานเชี้ยนต์มากขึ้น ส่งผลดีกับเสียงโดยรวมในแง่ “ไทมิ่ง” ที่ถูกต้องตามต้นฉบับมากขึ้น และยังได้ความสะอาดของเสียงเพิ่มขึ้นด้วย
ลักษณะขั้วต่อที่มาจากกล่องเพาเวอร์ซัพพพลาย
ลักษณะของขั้วต่อ (ศรชี้) ทางฝั่งตัวเครื่องหลัก
การทำงานทั้งหมดของภาคจ่ายไฟที่ว่านี้ถูกแยกตัวออกไปจากตัวเครื่องหลัก (วางอยู่ข้างซ้ายในภาพข้างบน) เพื่อลดการรบกวนภายในวงจรหลัก ใช้การเชื่อมต่อกับตัวเครื่องหลักด้วยสายไฟที่มากับขั้วต่อขนาดใหญ่แบบ heavy duty ระดับที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีที่ล็อคเพิ่มเติมแน่นหนามาเต็มพิกัด ไม่ต้องกลัวหลุดกันเลย.!
ใหญ่โต + บึกบึน.!
รูปร่างหน้าตาของ Single HPS ตัวนี้มาในภาพลักษณ์ของแอทป์หลอดแบบดั้งเดิม คือติดตั้งหลอดไว้ด้านหน้า ตัวหลอดทั้งหมดชูชันตั้งฉากขึ้นมาส่องสว่างเพื่อระบายความร้อนขึ้นด้านบนที่ไม่มีตะแกรงครอบใดๆ ตามแบบฉบับของแอมป์หลอดสำหรับนักเล่นรุ่นใหญ่มากประสบการณ์
ตัวถังทำด้วยโลหะ มีขนาดใหญ่ เข้าไปเล็งใกล้ๆ จะเห็นว่าเนื้องานประกอบตัวถังค่อนข้างแปลกตา ไม่เหมือนเครื่องเสียงส่วนใหญ่ที่มักจะใช้แผ่นโลหะแผ่นใหญ่มาพับขึ้นรูปเป็นตัวยู 2 ชิ้นครอบทับกันแล้วขันยึดด้วยน็อต แต่ตัวถังของแอมป์ตัวนี้ประกอบขึ้นด้วยเทคนิคที่ผู้ผลิตใช้คำเรียกว่า ‘all modulated hand asembled chassis’ คือเป็นงานแฮนด์เมดที่เอาแผ่นโลหะหนาๆ มายึดเข้าด้วยกันจนเป็นโครงตัวถัง โดยทิ้งให้มีช่องว่างเล็กน้อยในจุดที่แต่ละแผ่นมาเจอกัน ซึ่งน่าจะด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการให้ความสั่นที่เกิดขึ้นบนแผ่นโครงสร้างของตัวถังแต่ละแผ่นมีโอกาสส่งผ่านถึงกัน (หลักการ mechanical damping) บางจุดอย่างเช่นที่ด้านข้างของตัวถังจะเห็นว่ามีการประกบแผ่นโลหะหนาๆ ทับเข้าไปบนแผ่นที่เป็นตัวโครงหลักด้วย อีกทั้งแผ่นที่ประกบเข้าไปก็ประกอบด้วยโลหะ 2 ประเภทแปะติดกันอีก.. โอ้วว.! ล้ำลึกมาก ส่วนแผงหน้าปัดก็ทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียมที่มีความหนามากถึง 1.5 ซ.ม.
ใครที่คุ้นเคยกับการออกแบบแอมป์หลอดจะรู้ว่า vibration ที่เกิดขึ้นภายในตัวเครื่องจะส่งผลกับเสียง ยิ่งสั่นมากเสียงยิ่งแย่ นักออกแบบแอมป์หลอดระดับตำนานอย่าง David Manley ถึงกับเคยตัดแผงวงจรที่ติดตั้งขั้วต่อหลอดออกมาจากแผงวงจรหลักแล้วใช้วงแหวนยางโยงแผงวงจรทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งวงแหวนยางที่ว่านั่นแหละที่เป็นตัวช่วยสลายความสั่นสะเทือนไม่ให้แผ่ไปถึงตัวหลอด
น้ำหนักตัวเครื่องหลักอยู่ที่ 33.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเพาเวอร์ซัพพลายที่แยกออกมามีน้ำหนักอยู่ที่ 7.5 กิโลกรัม รวมกันคือ 41 กิโลกรัม
เพราะภาคเอ๊าต์พุตของแอมป์ตัวนี้ถูกออกแบบให้ทำงานในโหมด single-ended โดยเน้นการเดินสัญญาณที่สั้นที่สุด (short signal path) หลอดที่ใช้ในแอมป์ตัวนี้จึงมีแค่ 2 หลอดต่อข้าง หลอดเล็กที่อยู่ด้านหน้าคือหลอดไดร้เบอร์ 6N23P (เบอร์เทียบคือ E88CC หรือ ECC88) เป็นหลอด ‘ใหม่–แต่เก่าเก็บ‘ (N.O.S = New Old Stock) ทำหน้าที่ขยายสัญญาณอินพุตสเตจแรก
ส่วนหลอดขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลังนั้นคือหลอดเพาเวอร์แบบ ไดเร็ก ฮีท ไตรโอด เบอร์ GM70 ซึ่งเป็นเบอร์ที่ไม่คุ้นตา บอดี้จะคล้าย KT88 แต่ใหญ่กว่า บางคนบอกว่า GM70 มีสถานะเป็นเหมือนพี่เบิ้มของหลอดเพาเวอร์เบอร์ 845 กับ 211 ซึ่งอยู่ในกลุ่มของหลอดไฮเพาเวอร์ที่ใช้ไฟเลี้ยงแพลตสูงเกินพันโวลต์ เมื่อนำมาจัดวงจรขยายแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์หลอดเดี่ยว หลอดเพาเวอร์เหล่านั้นจะได้กำลังขับอยู่ระหว่าง 18 – 25W ในขณะที่หลอดเบอร์ GM70 ที่ใช้ในอินติเกรตแอมป์ของเซอร์เบียรุ่น Single HPS ตัวนี้ก็ใช้ไฟเลี้ยงแพลตสูงเกินพันโวลต์เหมือนกัน แต่สามารถให้กำลังขับสูงถึง 50W ในโหมดซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส เอ
ส่วนพื้นที่ส่วนหลังของเครื่องเป็นที่ตั้งของทรานสฟอร์เมอร์เอ๊าต์พุตของสัญญาณซีกซ้ายและขวาข้างละลูก มีกล่องสีดำครอบอยู่ ซึ่งเอ๊าต์พุตทรานฟอร์เมอร์ทั้งสองลูกนี้ทางแบรนด์ NAT Audio เขาสั่งพันขดลวดด้วยมือ ทำพิเศษมาใช้สำหรับแอมป์รุ่นนี้โดยเฉพาะ
ฟังท์ชั่นการทำงานบนแผงหน้า
1. ปุ่มกดสำหรับสั่งเปิด/ปิดการทำงานของตัวเครื่อง > และยังใช้เป็นปุ่ม mute ด้วย จากการทดลองสั่งงานผ่านปุ่มนี้ ผมพบว่ามันไม่ค่อยลื่นไหล ต้องกดค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ถึงจะทำงานตามสั่ง เลยทำให้ไม่แน่ใจว่าเครื่องรับรู้คำสั่งแล้วยัง พอไปกดซ้ำก็เป็นการสั่งปิดอีก ทางออกที่ดีที่สุดคือใช้รีโมทไร้สายที่แถมมาให้ทำหน้าที่แทนครับ
2. ไฟแสดงตำแหน่งอินพุตที่เลือกใช้ > ซึ่งมีให้เลือกใช้ทั้งหมด 6 อินพุต ไล่เรียงลำดับไปด้วยตัวอักษร ‘a’ ถึง ‘f’ ส่วนคำว่า ‘low’ ที่อยู่ตอนท้ายนั้นจะมีไฟอีกดวงตรงนั้นทำหน้าที่ระบุโหมดการทำงานของตัวเครื่อง ถ้าไฟดวงนี้สว่างขึ้นมา แสดงว่าคุณกำลังเลือกโหมดการทำงานของแอมป์อยู่ที่ Low Power Mode (จะพูดถึงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกที)
3. ไฟแสดงสถานะการทำงานของแอมป์ > หลังกดปุ่มเปิดเครื่อง เมื่อเครื่องเข้าสู่โหมดการทำงาน (operate) ไฟดวงนี้จะสว่างขึ้นเป็นสีฟ้าค้างอยู่ตลอด จะดับลงตอนสั่งปิดเครื่อง
4. ปุ่มปรับวอลลุ่มขึ้น/ลง > แยกกันคนละปุ่ม กดแช่ไม่ได้ ต้องกดแล้วยกแล้วกดซ้ำ ซึ่งไม่ค่อยสะดวกในการปรับวอลลุ่มทีละเยอะๆ และตอนเริ่มเปิดเครื่องทุกครั้ง วอลลุ่มจะกลับไปอยู่ที่จุดเริ่มต้น (วอลลุ่ม = 0) ทุกครั้ง วิธีปรับที่สะดวกคือปรับผ่านรีโมทไร้สายซึ่งจะสามารถกดแช่ได้
5. ไฟแสดงสถานะ mute > จะสว่างขึ้นตอนคุณสั่ง mute เพื่อลดความดัง ยกเลือกฟังท์ชั่นนี้ด้วยการกดซ้ำ
6. ไฟแสดงระดับของวอลลุ่ม > เป็นดวงไฟ LED สีฟ้าที่เรียงกันอยู่ทั้งหมด 16 ดวง แต่ละดวงถูกแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ต้องกดปุ่มวอลลุ่ม 6 ครั้งไฟถึงจะเปลี่ยนตำแหน่ง นับระดับวอลลุ่มทั้งหมดได้เป็น 16×6 = 96 ขั้นของระดับความดัง
ดูใกล้ๆ ชัดๆ จะเห็นเม็ดไฟ LED ที่ใช้แสดงระดับของวอลลุ่มเรียงกันเป็นแถว
7. ปุ่มกดเลือกแหล่งอินพุต > ใช้กดเลือกแหล่งอินพุตที่มีให้เลือกอยู่ 6 อินพุต เรียงจาก a, b, c, d, e และ f สามารถกดปุ่มบนหรือปุ่มล่างก็ได้ ผลก็แค่การเรียงลำดับอินพุตจะสลับกันเท่านั้นระหว่าง a ไปถึง f และจาก f ย้อนกลับไปถึง a ซึ่งการกดปุ่มนี้จะสัมพันธ์กับการแสดงผลที่ไฟ LED (ข้อ 2)
8. ปุ่มกดเลือกโหมดการทำงานของภาคขยาย > มีให้เลือก 2 โหมด คือ ‘low power mode’ กับ ‘high power mode’ ซึ่งการปรับใช้งานปุ่มนี้ จะสัมพันธ์กับการแสดงผลของไฟ LED ที่อยู่ด้านหลังของไฟแสดงแหล่งอินพุต (ข้อ 2) กรณีที่คุณเลือกใช้งานโหมด low power mode ตรงตำแหน่งที่มีตัวอักษรคำว่า ‘low’ ตรงนั้นจะมีไฟ LED สีฟ้าสว่างขึ้นมาหนึ่งดวง ถ้าคุณกดปุ่ม Mode ซ้ำไฟดวงนี้จะดับลง เป็นการแสดงให้รู้ว่า ภาคขยายของแอมป์ตัวนี้กำลังทำงานในโหมด ‘high power mode’ นั่นเอง
การเชื่อมต่อต่างๆ อยู่ที่แผงหลังทั้งหมด
ตรงศรชี้นั้นเป็นขั้วต่อที่รับไฟเลี้ยงจากกล่องเพาเวอร์ซัพพลายเข้ามาเลี้ยงวงจรภายในตัวเครื่องที่แยกจ่ายไฟให้แต่ละภาคออกจากกัน (สังเกตว่ามีขาต่อหลายชุด) ซึ่งการแยกภาคจ่ายไฟให้แต่ละวงจรการทำงานมีข้อดีคือป้องกันการรบกวนซึ่งกันและกันได้
ในกรอบสีแดงทางซ้ายและขวานั้นคือชุดขั้วต่อสำหรับเชื่อมต่อกับสายลำโพงที่จะจัดส่งกำลังขับไปที่ลำโพง ซึ่งของแอมป์ตัวนี้มีขั้วต่อสายลำโพงให้เลือก 2 ชุด ที่มีค่าอิมพีแดนซ์ 4 กับ 8 โอห์ม อย่างละชุด ตัวขั้วต่อรองรับขั้วต่อสายลำโพงครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลอกเปลือกหุ้มแล้วเอาเส้นตัวนำทองแดงแยงรูแล้วขันยึดดื้อๆ ก็ทำได้, หรือจะใช้ขั้วต่อแบบหางปลา หรือขั้วต่อแบบแกนบานาน่า ก็สามารถใช้งานกับขั้วต่อสายลำโพงของแอมป์ตัวนี้ได้ทั้งหมด
อินติเกรตแอมป์ NAT Audio ตัวนี้มีอินพุตมาให้ใช้ทั้งหมด 6 อินพุต แต่ละช่องจะถูกกำกับด้วยตัวอักษร a ถึง f ซึ่งดูจากภาพจะเห็นว่า ที่อินพุต a นั้นจะมีขั้วต่ออยู่ 2 แบบให้เลือกใช้ คือขั้วต่อ XLR สำหรับรองรับสัญญาณบาลานซ์แยกกราวนด์ กับขั้วต่อ RCA สำหรับรองรับสัญญาณอันบาลานซ์ (ซิงเกิ้ลเอ็นด์) และที่ช่องอินพุต c จะมีลู๊ป c in/c out ซึ่งทำมาให้ใช้สำหรับการบันทึกเสียงจากแหล่งหนึ่งไปลงอีกแหล่งหนึ่งโดยผ่านทางอินพุต/เอ๊าต์พุตนี้
อินติเกรตแอมป์ตัวนี้ให้ช่องทางที่สามารถเชื่อมต่อกับปรีแอมป์หรือเพาเวอร์แอมป์จากภายนอกมาให้ด้วย (อยู่ในกรอบสีฟ้า) โดยอาศัยการโยกสวิทช์โลหะที่อยู่ใต้ขั้วต่อชุดนี้ ซึ่งมีอ๊อปชั่นให้โยกอยู่ 2 สถานะ คือ ‘Pre In’ (โยกสวิทช์ไปทางซ้าย) กรณีนี้ภาคปรีแอมป์ในตัว Single HPS จะถูกปิดการทำงาน เปิดโอกาสให้คุณต่อเชื่อมสัญญาณเอ๊าต์พุตจากปรีแอมป์ภายนอกเข้ามาทำงานแทนปรีแอมป์ในตัว แต่ถ้าคุณโยกสวิทชืไปทางขวา คืออ๊อปชั่น ‘Pre Out’ ก็เท่ากับว่าแอมป์ตัวนี้ทำงานในรูปของอินติเกรตแอมป์ที่ควบคุมการทำงานโดยภาคปรีแอมป์ในตัว พร้อมกับส่งสัญญาณปรีเอ๊าต์ออกมาทางขั้วต่อชุดนี้ด้วย ซึ่งคุณสามารถนำสัญญาณปรีเอ๊าต์ชุดนี้ไปเสียบเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกเพื่อเล่นเป็นระบบไบแอมป์ก็ได้ หรือจะต่อไปเข้าที่ลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ก็ได้
รีโมทไร้สาย
บอดี้ของตัวรีโมทไร้สายที่ให้มาทำด้วยโลหะ น้ำหนักกระชับมือดี บนตัวรีโมทใช้งานไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอต่อการใช้งานในสภาวะปกติ ที่สำคัญผมว่าสะดวกกว่าไปกดปุ่มกดบนหน้าเครื่องมาก.!
การออกแบบเด่นๆ
ไฮไล้ท์ของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ปรากฏอยู่ตรงคีย์เวิร์ดที่ผู้ผลิตใช้คำประชาสัมพันธ์ว่า ‘single ended, pure class-A & zero global feedback’ ซึ่งหมายถึงว่าแอมป์ตัวนี้ใช้หลอดขยายสัญญาณแชนเนลละ 1 หลอด ซึ่งเป็นหลอดเพาเวอร์แบบ ‘Direct Heated Triode’ (D.H.T.) เบอร์ GM70 โดยจัดวงจรขยายแบบ pure class-A ที่ไม่ใช้การป้อนกลับสัญญาณทางเอ๊าต์พุต ใช้แต่ local feedback ในจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคการทำงานภายในที่จำเป็น
ผู้ออกแบบแอมป์ตัวนี้ให้ความสำคัญกับภาคจ่ายไฟมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่แยกภาคจ่ายไฟออกไปนอกตัวเครื่องเพื่อตัดปัญหาการรบกวนจากภาคจ่ายไฟที่ใช้โวลต์สูงออกไปจากการทำงานของวงจรหลักเท่านั้น แต่พวกเขายังได้ปรับเปลี่ยนการออกแบบจากเดิมที่ใช้หลอดล้วนมาเป็น Hybrid โดยใช้หลอดทำงานร่วมกับ JFET ซึ่งมีผลให้ภาคจ่ายไฟสามารถตอบสนองสัญญาณได้เร็วขึ้น
หลอดเพาเวอร์ GM70 ที่ใช้ในภาคขยายของแอมป์ตัวนี้ถูกออกแบบให้มีอัตราไบอัส 2 ระดับ คือ high power mode ซึ่งเป็นการไบอัสด้วยกระแสสูง ทำให้ได้กำลังขับเท่ากับ 50W ต่อข้าง กับอีกโหมดคือ low power mode เป็นการกำหนดให้หลอดเพาเวอร์ทำงานภายใต้กระแสไบอัสที่ต่ำลงมา ทำให้ได้กำลังขับอยู่ที่ 30W ต่อข้าง ซึ่งการทำแบบนี้จะมีข้อดีคือถ้าคุณเอาแอมป์ตัวนี้ไปใช้ขับลำโพงที่มีความไวค่อนข้างสูง ไม่ได้ต้องการกำลังขับเยอะ การเลือกใช้โหมด low power ที่ระดับ 30W จะได้เนื้อเสียงที่สะอาดและเนียนกว่าโหมด high power
มีฟังท์ชั่น ปรี–เอ๊าต์ / เมน–อิน มาให้สำหรับการขยับขยายการทำงานของแอมป์ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเพาเวอร์แอมป์ภายนอกเข้ามาเสริมสำหรับการทำงานด้วยระบบ bi-amp หรือจะใช้สัญญาณช่องปรี–เอ๊าต์ไปขับแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ก็ได้ หรือจะบายพาสภาคปรีฯ ในตัวแอมป์เพื่ออัพเกรดไปใช้ปรีแอมป์จากภายนอกที่มีคุณภาพสูงกว่าก็ได้
ผลการทดลองแม็ทชิ่งกับลำโพง
กำลังขับของ Single HPS มีอยู่ 2 โหมดให้เลือกใช้คือ 30W (low power mode) กับ 50W ต่อข้าง (high power mode) ที่โหลด 8 โอห์ม และ 4 โอห์ม ความถี่ของภาคขยายวัดได้ตั้งแต่ 10Hz – 70kHz ด้วยระดับความเบี่ยงเบนอยู่ที่ -3dB ถ้าวัดที่ระดับความถี่ตั้งแต่ 20Hz – 20kHz จะมีความเบี่ยงเบนที่ต่ำลงเหลือแค่ +/-0.25dB เท่านั้น ความหมายก็คือ จะยิ่งได้ความเป็นเชิงเส้นมากขึ้นถ้าต้องรับมือกับโหลดเอ๊าต์พุตที่มีแบนด์วิธแคบๆ
ถามว่า ตัวเลขกำลังขับ 30W หรือ 50W ของแอมป์หลอดมีความหมายแค่ไหนในแง่ของสมรรถนะในการควบคุมลำโพง.? บอกเลยว่า ไม่สามารถประเมินออกมาได้อย่างแม่นยำ ขึ้นอยู่กับ “พฤติกรรม” ทางด้านโหลดอิมพีแดนซ์ของลำโพง คือถ้าจับกับลำโพงที่มีโหลดอิมพีแดนซ์ที่ “นิ่ง” คือสวิงไม่เยอะ อย่างเช่น ปกติ 8 โอห์ม จะเปิดดังหรือเปิดเบา หรือเจอกับสัญญาณอินพุตที่ดังมากๆ สลับกับเบามากๆ ก็ไม่ทำให้อิมพีแดนซ์สวิงลงไป “ต่ำกว่า” ระดับปกติถึงครึ่งนึงคือ 4 โอห์ม ลำโพงแบบนี้แอมป์หลอดจะชอบ แต่ถ้าจะให้ชัวร์จริงๆ แล้ว ถ้ามีโอกาสทดลองจับคู่กับลำโพงที่คุณหมายตาไว้แล้วลองฟังเสียงของมันจะดีที่สุด เพราะเรื่องของการขับลำโพง “ออก – แต่ไม่เต็มที่” สำหรับแอมป์หลอดแล้ว ผลลัพธ์ทางเสียงที่ออกมามันไม่ได้เลวร้ายเหมือนกับการขับด้วยแอมป์โซลิดสเตท แต่สิ่งที่จะทำให้คุณยอมรับเสียงของแอมป์หลอดโดยไม่สนใจที่ตัวเลขกำลังขับของมันก็คือ “บุคลิกเสียง” ของแอมป์หลอดที่มี “ลักษณะเฉพาะตัว” ที่หาได้ยากจากแอมป์โซลิดสเตท ซึ่งหลายคนได้ยินแล้วเกิดอาการหลงไหลจนถึงกับถอนตัวไม่ขึ้น.!!
กำลังขับที่ 30W ของแอมป์หลอดแต่ละตัวมันแทบจะไม่มีตัวไหนเลยที่ให้ผลทางเสียงออกมา “เหมือนกัน” อยากรู้ต้องลองฟังสถานเดียว.!!!
ลองขับลำโพง PSB รุ่น Imagine T65 ความไว 90dB / อิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม (ต่ำสุด 4 โอห์ม) / แนะนำกำลังขับ 20 – 200W
ในการทดสอบประสิทธิภาพของอินติเกรตแอมป์ Single HPS ครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้ทดลองจับคู่แอมป์ตัวนี้กับลำโพง 3 คู่* จะขอพูดถึงผลการแม็ทชิ่งเรียงไปตามลำดับราคา คู่แรกเป็นลำโพงตั้งพื้นที่มีราคาคู่ละ 79,900 บาท ยี่ห้อ PSB รุ่น Imagine T65 ซึ่งสเปคฯ ของลำโพงคู่นี้ส่อให้เห็นเจตนาของผู้ออกแบบค่อนข้างชัดว่ามันถูกจูนเสียงมาให้ไปกับแอมป์ที่มีวัตต์ไม่สูงมาก โดยที่ผู้ผลิตกำหนดตัวเลขกำลังขับที่เหมาะสมมาให้ว่าอยู่ระหว่าง 20-200 วัตต์ต่อข้าง โดยที่ตัว Imagine T65 มีความไวสูงถึง 90dB กับอิมพีแดนซ์ปกติที่ 8 โอห์ม ระดับการสวิงลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 4 โอห์ม
(* ในการทดสอบครั้งนี้ แหล่งต้นทางผมใช้มิวสิค เซิร์ฟเวอร์ของ Pachanko Labs รุ่น Constellation Mini SE + ภาคจ่ายไฟรุ่น Stellar Linear Power Supply โดยเล่นผ่าน Diretta USB Bridge ของ Oliospec เพื่อแปลงสัญญาณที่ส่งมาจาก network ให้ออกมาเป็น USB ก่อนส่งไปที่ USB DAC รุ่น QB-9 DSD Twenty ของ Ayre Acoustic)
บอกตรงๆ ว่าผมไม่มั่นใจว่าจะพูดได้มั้ยว่า เสียงของลำโพง PSB คู่นี้ที่ขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Single HPS ตัวนี้ มันอยู่ในระดับที่ “ดีที่สุด” เท่าที่ลำโพงคู่นี้จะสามารทำได้แล้ว.! ผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ อาจจะยังมีแอมป์ตัวอื่นที่ขับลำโพง PSB คู่นี้ออกมาได้ดีกว่านี้ แต่เท่าที่ได้ฟัง Single HPS ขับ Imagine T65 คู่นี้ในแต่ละแง่มุมแล้ว ต้องบอกเลยว่า มันให้ค่าเฉลี่ยของคุณภาพเสียงแต่ละด้านอยู่ในระดับที่ผมพอใจมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโฟกัส, มิติ–เวทีเสียง, ไดนามิก และเนื้อมวลของเสียง ซึ่งบอกเลยว่า สิ่งที่ได้ยินมันทำให้รู้สึกทึ่งเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของลำโพง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ลำโพงในระดับราคาไม่ถึงแสนจะสามารถให้เสียงออกมาได้ดีขนาดนี้ แน่นอนว่า ผลของเสียงที่ได้ยินนี้ต้องให้เครดิตกับแอมป์ที่ใช้ขับด้วย ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า อินติเกรตแอมป์ NAT Audio ตัวนี้มีศักยภาพสูงพอในการควบคุมและขับดันลำโพง PSB คู่นี้ให้เปล่งเสียงออกมาได้อย่างเต็มที่เท่าที่ลำโพงสามารถทำได้
พูดได้มั้ยว่า อินติเกรตแอมป์ NAT Audio ตัวนี้ “แม็ทชิ่ง” ลงตัวกับลำโพง PSB คู่นี้.? สรุปแบบนั้นก็ได้ โดยเฉพาะเสียงแหลมที่ได้ยินมันคือความแม็ทชิ่งลงตัวระหว่างแอมป์กับลำโพงคู่นี้ที่ชัดเจนมาก เนื่องจาก PSB Imagine T65 คู่นี้ใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะไตตาเนี่ยม ซึ่งบางคนที่ประสาทหูค่อนข้างไวกับความถี่สูงของโดมโลหะอาจจะรู้สึกไม่สบายหูกับเสียงแหลมที่ขับด้วยแอมป์โซลิดสเตทที่มีเสียงเปิดๆ เมื่อจับคู่กับแอมป์หลอดอย่าง NAT Audio ตัวนี้ เสียงแหลมมันออกมาลงตัวมาก คือได้ทั้งลักษณะเสียงแหลมที่เปิดเผย เต็มไปด้วยรายละเอียด ในขณะที่โทนเสียงแหลมที่ออกมาก็ไม่จ้าจนเกินไป
ลองขับลำโพง Audio Physic รุ่น Classic 8 / ความไว 89dB / อิมพีแดนซ์ 4 โอห์ม / แนะนำกำลังขับ 25 – 150W
ลำโพง Audio Physic คู่นี้ผมใช้เป็นลำโพงอ้างอิงส่วนตัวอยู่ สำหรับกลุ่มของลำโพงที่มีราคาอยู่ในระดับ 100,000 +/-20% (REVIEW) และเผอิญว่าอิมพีแดนซ์ของลำโพงคู่นี้อยู่ที่ 4 โอ ห์ม ผมจึงถือโอกาสใช้ Audio Physic Classic-8 คู่นี้เป็นมอนิเตอร์ในการทดสอบประสิทธิภาพของเอ๊าต์พุต 4 โอห์มของแอมป์หลอดเซอร์เบียตัวนี้ซะเลย
หลังจากฟังเพลงหลากหลายแนวผ่านชุด Single HPS + Class-8 ผมก็พอจะได้แนวทางเสียงที่อ้างอิงกับอิมพีแดนซ์เอ๊าต์พุตที่ 4 โอห์มของแอมป์หลอดตัวนี้ คือโทนเสียงของมันจะออกมาทางกระฉับกระเฉง แรงดี ซึ่งที่ผ่านๆ มาตอนที่ผมทดลองขับลำโพง Audio Physic คู่นี้กับแอมป์ตัวเล็กๆ ผมมักจะพบว่า เสียงที่ออกมามันมีวรรณะของความนุ่มเกาะติดมาด้วยตลอด ปลายแหลมก็มีลักษณะที่โรลออฟค่อนข้างเร็ว จึงมีผลให้โทนเสียงโดยรวมของลำโพงคู่นี้มักจะออกไปทาง dark นิดๆ อยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาก็วิเคราะห์ไปว่าเพราะมันใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดม แต่ลืมไปว่า ประตูของความถี่ตอบสนองของลำโพง Audio Physic คู่นี้มันเปิดกว้างออกไปมาก คือไล่ตั้งแต่ 34Hz ขึ้นไปถึงสามหมื่นเฮิร์ต.! (30kHz) ซึ่งพอยกมาลองจับคู่กับแอมป์หลอดจากเซอร์เบียตัวนี้แล้ว อาการ dark ของมันถูกเลื่อนขึ้นไปทางสว่างมากขึ้นจนเข้าไปเฉียดอยู่ใกล้ๆ กับระดับ neutral มากขึ้น โดยรวมเปิดกระจ่างมากขึ้น ที่ต่างไปแบบน่าตกใจก็คือ “แอมเบี้ยนต์” ในย่านเสียงสูงที่รู้สึกได้ว่ามีมวลบรรยากาศครอบคลุมสนามเสียงออกมาด้วย ซึ่งในอดีตนั้นน้อยครั้งที่จะได้ยินอะไรแบบนี้จากลำโพงคู่นี้
ผลการทดลองจับคู่กับลำโพง Audio Physic Class-8 ครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของแอมป์หลอดตัวนี้อีกแง่หนึ่ง นั่นคือ คุณสมบัติของ “ความเป็นกลางในโทนเสียง” ของมัน..!
ลองขับลำโพง Diptyque Audio รุ่น DP-140 MK II / ความไว 87dB / อิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม / แนะนำกำลังขับ >60 – 180W
นี่คือลำโพงที่เหมาะสมกับแอมป์หลอด NAT Audio Single HPS ตัวนี้มากที่สุด.! แม้ว่าตัวเลขในสเปคฯ ของลำโพงคู่นี้แต่ละตัวดูจะ “ไม่ค่อยเป็นมิตร” กับแอมป์ตัวนี้เลย โดยเฉพาะตัวเลขกำลังขับที่ผู้ผลิตลำโพงคู่นี้แนะนำไว้ว่าเหมาะกับแอมป์ที่มีกำลังขับ “มากกว่า 60W ขึ้นไป” จนถึง 180W ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดที่ลำโพงรองรับได้ (ตามตัวเลขในสเปคฯ) ทว่า พอจับคู่เข้าด้วยกัน เสียงที่ออกมามันไปได้มีอะไรที่ส่อว่าแอมป์จะขับลำโพงไม่ไหว ผมเชื่อว่าทั้ง Gilles Douziech และ Eric Poix สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ Diptyque Audio คงจะไม่เคยเอาแอมป์ตัวนี้ไปลองขับลำโพงของพวกเขา.! และเชื่อว่า ถ้ามาได้ยินเสียงคู่นี้ในห้องฟังของผม พวกเขาจะต้องกลับไปเขียนสเปคฯ ของลำโพงคู่นี้ใหม่อย่างแน่นอน.!!!
เสียงกลองจีนในอัลบั้มปกแดงของ Yim Hok-Man สามารถใช้เป็นบทสรุปได้ว่า เสียงทุ้มที่ลำโพงแผ่นของ Diptyque Audio และแอมป์หลอดของ NAT Audio ตัวนี้ให้ออกมา มันเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่ “เหนือ” อุปนิสัยเดิมๆ ของลำโพงแผ่นและแอมป์หลอดในอดีตที่เคยมีข้อจำกัดในการถ่ายทอดเสียงทุ้มที่ให้สปีดเร็ว, ให้มวลที่หนักแน่น, และที่สำคัญคือ ให้มิติเสียงที่ “หลุดตู้” ซึ่งการจับคู่ระหว่างลำโพงของ Diptyque Audio และแอมป์หลอดของ NAT Audio ตัวนี้ ได้ฉีกข้อจำกัดที่ว่านั้นลงไปได้อย่างราบคาบ.!
ส่วนเสียงกลางและเสียงแหลมที่ได้จากการจับคู่ลำโพงกับแอมป์คู่นี้ก็เป็นอะไรที่เลิศมาก เสียงกลางดีกว่าตอนจับคู่กับลำโพง PSB และ Audio Physic ขึ้นไปอีกหลายเท่า เสียงร้องของนักร้องในแต่ละเพลงมันให้ความรู้สึกที่เหมือนกับกำลังฟังนักร้องคนนั้นร้องสดๆ ให้ฟังมาก ทุกอากัปกิริยาของนักร้องตั้งแต่ก่อนจะเปล่งคำร้อง–ช่วงที่เปล่งคำร้องออกมา–ช่วงที่ยืดระยะเอื้อนของคำร้องนั้น ไปจนถึงตอนปิดจบคำร้องนั้น คุณเชื่อมั้ยว่า แอมป์หลอดตัวนี้มันสามารถ “เจียรนัย” (render) แต่ละช่วงเวลาเหล่านั้นออกมาให้ได้ยินแบบเป็นขั้นเป็นตอนอย่างครบถ้วน ต่อเนื่องลื่นไหลเป็นเนื้อเดียวกันไปตลอด ฟังแล้วก็อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้ว่า ตอนฟังเพลงนี้เมื่อก่อนทำไม (ตู) ไม่ได้ยินอะไรแบบนี้ (วะ) .!!
เป็นอีกครั้งที่เพลง Kojo No Tsuki ที่ผมชอบถูกถ่ายทอดออกมาได้สวยงามมาก เสียงเครื่องเคาะแต่ละชิ้นมีตัวตนที่เด่นชัด โฟกัสเป๊ะ หลุดตู้ลำโพงออกไปหมดทั้งตัว ให้หางเสียงที่ทอดกังวานออกไปได้จนสุดเสียง เสียง Koto กับเสียงฮาร์ฟซิคอร์ดมีความแตกต่างลงไปถึงระดับ inner detail ที่แสดง “ตัวตน” (texture) ของเครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้ออกมาให้รับรู้ได้ชัดมากๆ (ประเด็นนี้ทั้งลำโพงและแอมป์รับคะแนนไปคนละครึ่ง!) บรรยากาศก็เป็นอีกประเด็นที่แอมป์+ลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดออกได้ดีมาก ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมสังเกตได้ว่า แทบทุกอัลบั้มที่บันทึกมาดีมากๆ ก็จะมีมวลบรรยากาศแผ่ออกมาเสมอ มาก–น้อยต่างกันไป ถ้าเป็นอัลบั้มที่เก็บบรรยากาศมาได้เยอะๆ อย่างอัลบั้มนี้ก็จะยิ่งรับรู้ได้ง่าย ซึ่งบรรยากาศที่ได้จากแอมป์หลอดมันจะมี “ความฉ่ำ” คละคลุ้งออกมาด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่พิเศษมากๆ .!!
สรุปเสียงของ Single HPS
ตลอดการทดสอบแอมป์หลอด NAT Audio ตัวนี้ ผมได้ทดลองฟังเพลงไปเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไป เพราะผมพบว่า แอมป์หลอดตัวนี้มันทำให้เพลงธรรมดาๆ กลายเป็นเพลงที่น่าฟัง มันเข้าไปขุดเอาลีลาอารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในเพลงเหล่านั้นออกมาให้ฟังได้อย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน หลายๆ อัลบั้มที่ผมเก็บอยู่ใน NAS แบบลืมๆ เพราะก่อนหน้านี้ฟังแล้วเฉยๆ เมื่อเลือกมาลองฟังกับแอมป์ตัวนี้ดูอีกทีกลับกลายเป็นน่าฟังไปซะงั้น.!
โดยรวมแล้วแอมป์หลอดตัวนี้มันให้ “ความเป็นดนตรี” สูงมาก ไมว่าจะจับกับลำโพงคู่ไหนก็จะรับรู้ได้ถึงอรรถรสของเพลงที่คลุกเคล้าอยู่กับโทนเสียงของลำโพงแต่ละคู่ได้อย่างชัดเจน ข้างล่างนี้เป็นบางส่วนของผลการรับฟังกับเพลงที่ผมใช้อ้างอิงในการทดสอบกับแอมป์ตัวนี้ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่สังเกตได้ชัด
อัลบั้ม : Master Of Chinese Percussion (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Yim Hok-Man
สงกัด : LIM (K2HD Mastering)
เสียงทุ้มเป็นงานยากที่สุดสำหรับแอมป์หลอด ซึ่งอัลบั้มที่ผมใช้ทดสอบความสามารถทางด้านนี้ก็คืออัลบั้มปกแดงชุดนี้ เสียงตีกลองใหญ่ในแทรคแรกเพลง ‘Poem Of Chinese Drum’ จะบอกให้รู้เลยว่าขีดความสามารถในการถ่ายทอดกำลังขับของแอมป์อยู่ในระดับไหน ถ้าไม่สามารถดันเสียงตีกลองจีนช่วงขึ้นต้นของแทรคแรกนี้ให้ “หลุดตู้” ลำโพง และดันหัวเสียงไม้กลองกระแทกหนังกลองให้จมลึกลงไปออกไปอยู่หลังระนาบลำโพงได้ ก็แสดงว่าพลังของแอมป์ที่ใช้ในการควบคุมวูฟเฟอร์ของลำโพงยังมีไม่มากพอ แด้มปิ้งยังไม่มากพอ ซึ่ง Single HPS สอบผ่านด่านโหดที่สุดด่านนี้ไปได้อย่างน่าทึ่ง.!
แอมป์ตัวไหนสามารถแยกเสียงหัวไม้นวมที่กระแทกลงไปบนหนังกลองขนาดใหญ่ซึ่งแยกตัวจากเสียงกระพือของหนังกลองที่ตามติดออกมาได้ โดยไม่กลืนกันเป็นก้อนความถี่ทึบๆ ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว และที่ทำเอาถึงกับอ้าปากค้างก็คือพลังของเสียงที่ได้ยินแล้วทำให้นึกเห็นภาพของการ “หวด” ลงไปบนหนังกลองที่ชัดเจนมาก พลังเสียงที่กระแทกออกมานั้นบอกให้รู้เลยว่าไม่ใช่แค่ “ตี” แต่ Yim Hok-Man ใช้วิธีเหวี่ยงแขนแล้ว “หวด” ลงไปอย่างแน่นอน.!!
แอมป์หลอดตัวนี้สามารถสอบผ่านอัลบั้มนี้ไปได้อย่างสบาย แม้ว่ามันจะยังปรากฏเงาของความนุ่มฉาบทาบอยู่ในย่านเสียงทุ้มที่แอมป์ตัวนี้ถ่ายทออดออกมาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความนุ่มในระดับที่ผมยอมรับได้ เพราะมันไม่ได้มากถึงขนาดที่ดึงให้สปีดของหัวเสียงในย่านทุ้มเฉื่อยลงไป และไม่ได้แผ่หางเสียงออกมามากจนพื้นเสียงมีลักษณะขุ่นจนไปกลบรายละเอียดของความถี่ย่านอื่น
อัลบั้ม : O Brother, Where Art Thou? (Soundtrack) (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Various Artists
สังกัด : Mercury / Lost Highway
แทรคที่ 4 ในอัลบั้มซาวนด์แทรคเรื่องนี้จะเป็นเสียงร้องของ Allison Krauss เพียวๆ ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ จะมีก็แต่เสียงประสานของกลุ่มนักร้องในโบสถ์เข้ามาแจมในบางช่วง ซึ่งเป็นแทรคที่ใช้เป็นมาตรวัดประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความถี่ในย่านกลางได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะใช้ประเมินคุณภาพทางด้านโฟกัสและไดนามิก คอนทราสน์ของเสียงร้องแล้ว แทรคนี้ยังใช้ตรวจวัดความแม่นยำของการถ่ายทอด timbre หรือองค์ประกอบร่วมระหว่างหัวเสียงกับฮาร์มอนิกของเสียงร้องของอัลลิสัน คร้าวส์ได้ด้วย เพราะเสียงของเธอมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแปลกแยกออกมาจากเสียงของกลุ่มนักร้องประสานอย่างชัดเจน ถ้าฟังอัลบั้มนี้บ่อยๆ จะสามารถจดจำโทนเสียงที่เจืออาการแหบแห้งของเธอได้ ซึ่งอินติเกรตแอมป์ Single HPS ตัวนี้ก็ถ่ายทอดบุคลิกเสียงของเธอออกมาให้ได้ยินแบบเต็มสองหู.!
ผมนั่งฟังเสียงร้องของ Allison Krauss เพลงนี้หลายรอบมาก เพราะคราวนี้รู้สึกได้เลยว่า ภายใต้ความแหบในน้ำเสียงของเธอมันมี “ความฉ่ำ” เจือปนอยู่ ซึ่งนี่คือบุคลิกเฉพาะของแอมป์หลอด ที่มักจะหยอดความฉ่ำกังวานลงไปในเสียงร้อง ทำให้ฟังแล้วมีความรู้สึก “ถูกดูด” ให้เข้าไปสยบอยู่ภายใต้อารมณ์ของเสียงร้องนั้น ซึ่งนอกเหนือจาก “ความฉ่ำ” ที่ว่าแล้ว “รายละเอียด” ของการขับเคลื่อนริมฝีปาก การควบคุมลมหายใจ และลักษณะการเน้นย้ำที่ปล่อยออกมากับแต่ละคำร้องของเธอก็ถูกถ่ายทอดออกมาให้ได้ยินด้วย ซึ่งนั่นคือ “อารมณ์” ของเพลงที่ดึงดูดให้ผมเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงร้องของเธอแบบเกาะติดทุกอากัปกิริยา มันเป็นการ “เชื่อมโยง” ที่แนบแน่นและต่อเนื่องระหว่างประสาทการรับฟังของผมกับเพลงที่แอมป์ตัวนี้สร้างสรรออกมา เป็นระดับของการฟังที่ให้ความรู้สึกลึกซึ้งไปกับอารมณ์เพลงอย่างมาก ประเด็นนี้ผมเทคะแนนให้กับแอมป์ตัวนี้แบบหมดหน้าตักไปเลย..!!!
อัลบั้ม : Japanese Melodies (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Yo-Yo Ma
สังกัด : CBS/Analog Quality CD
อัลบั้มนี้บันทึกเสียงใน Niiza-Shimin-Kaikan ฮอลล์ ประเทศญี่ปุ่น เก็บเสียงมาได้ดีมาก โดยเฉพาะเสียงของเครื่องดนตรีที่มีโทนเสียงอยู่ในย่านแหลมอย่างฮาร์ฟซิคอร์ดกับเพอร์คัสชั่นที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่แอมป์หลอดชอบเช่นกัน เมื่อนำอัลบั้มนี้มาฟังผ่านแอมป์หลอด Single HPS ตัวนี้ เสียงที่ออกมาก็เป็นไปตามโผ เสียงฮาร์ฟซิคอร์ดใสและลอย หัวเสียงอิมแพ็คแรกลอยหลุดจากลำโพงออกมาเป็นเม็ด ตามมาด้วยปลายเสียงที่แผ่กังวานออกมาจากหัวเสียงแรกเป็นรัศมีที่กระจายตัวออกไปเป็นวง อุปมาเปรียบเทียบก็คล้ายวงแสงที่แผ่เป็นรัศมีรอบๆ เปลวเทียนนั่นเอง
แอมป์หลอด NAT Audio ตัวนี้จัดการกับฮาร์มอนิกส่วนที่ขยายแผ่ออกไปจากตัวเสียงได้เฉียบขาดมาก.! คือเมื่อผมฟังอัลบั้มนี้ผ่านแอมป์หลอดตัวเล็กๆ อย่าง Dared รุ่น Saturn Signature (REVIEW) ที่ผมใช้อ้างอิงอยู่พบว่า ความเข้มและน้ำหนักของหัวเสียงจะออกมาเบาบางกว่าที่ได้ยินจาก Single PHS ตัวนี้ แน่นอนว่าราคามันต่างกันประมาณ 10 เท่า แต่ที่ยกมาเทียบเพราะต้องการรู้ว่า Single HPS มันไปได้ไกลแค่ไหน (*ถ้าไม่เทียบกัน เสียงของ Saturn Signature ก็ถือว่าทำได้น่าพอใจมากแล้วสำหรับระดับราคาที่มันเป็นอยู่) สรุปคือเสียงแหลมถือว่าเป็นขนมของแอมป์หลอดตัวนี้..!!
ปัจฉิม..
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับแอมป์หลอดที่ใช้หลอดเพาเวอร์ขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดและมีเวลานานพอ (อยากให้อยู่นานกว่านี้ไปอีกนานๆ เลย!) ซึ่งหลังจากผ่านช่วงเวลาของการทดสอบมาแล้ว ผมก็ได้ข้อสรุปที่จะฝังเข้าสู่ความทรงจำของตัวเองเกี่ยวกับ “เสียงของแอมป์หลอด” ที่มีแง่มุมต่างไปจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
ความเข้าใจและประสบการณ์เดิมที่มีอยู่บอกไว้ว่า แอมป์หลอดให้ “เสียงเบส” ที่มีลักษณะ “หนานุ่ม” แต่ “ไม่ค่อยกระชับ” ซึ่งหลังจากมีประสบการณ์ฟังจากแอมป์หลอด NAT Audio ตัวนี้แล้ว ผมต้องเข้าไปแก้ไขข้อมูลใหม่ คือเสียงเบสที่ได้ยินจากแอมป์หลอดของ NAT Audio รุ่น Single HPS ก็ยังคงมีเค้าของความนุ่มหนาอยู่ แต่ในแง่ที่ว่า “ไม่ค่อยกระชับ” นั้นคงต้องหมายเหตุว่า ถ้าเป็นหลอดเพาเวอร์ขนาดใหญ่ ความกระชับไม่ใช่ปัญหาเลย ถ้าลำโพงไม่ได้อยู่ในระดับที่โหดสุดขีด ขับดันยากมากๆ ต้องใช้แอมป์ที่มีโวลต์สูงๆ ไปกระทุ้ง แต่ถ้าลำโพงชอบกระแสสูงๆ อย่างเช่น ลำโพงแผ่น Diptyque Audio รุ่น DP-140 MK II (REVIEW) แม้ว่าจากลักษณะของไดเวอร์แผ่นที่ดูเหมือนขับยาก แต่พอจับคู่กันแล้วเสียงที่ออกมาก็คือสวรรค์เราดีๆ นี่เอง.!!!
อีกความทรงจำเก่าๆ ที่ต้องสังคายนาก็คือ “วัตต์ต่ำๆ จะขับลำโพงไม่ออก” ซึ่งอันนี้ต้องละเว้นกรณีถ้าเป็น “วัตต์ต่ำๆ” ของแอมป์หลอด แถมวงเล็บด้วยว่า โดยเฉพาะแอมป์หลอดที่ใช้หลอดเพาเวอร์หลอดใหญ่ๆ .!! ได้ลองฟังลองแม็ทชิ่งสารพัดรูปแบบกับแอมป์หลอดตัวนี้แล้ว บอกเลยว่า ผมชอบเสียงของ low power mode มากกว่า high power mode เพราะตัวเลข 30W ของมันไม่ได้มีอาการที่จะส่อว่าขับลำโพงไม่ออกแต่อย่างใด มันขับดันลำโพงทุกคู่ที่ผมมีอยู่ในห้องฟังออกมาแบบไม่เหลืออะไรคาอยู่ในลำโพงเลย เสียดายที่ไม่ได้ทดลองขับลำโพงพระกาฬๆ ระดับอัลตร้าไฮเอ็นด์อย่าง Wilson Audio, Magico, Focal รุ่นใหญ่ๆ ซึ่งเดาว่าอาจจะขับออกไม่หมด.. แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามันจะเป็นไปอย่างที่คิดหรือเปล่า.? เพราะตอนแรกก่อนจะลองขับลำโพง Diptyque Audio DP-140 MK II ผมก็แอบหวั่นใจว่าจะขับไม่ออกเหมือนกัน… แต่พอได้จับคู่กันจริงๆ แล้ว พลิ้วววเลยย..!!!
NAT Audio Single HPS เป็นอินติเกรตแอมป์หลอดที่คุณควรต้องหาโอกาสไปทดลองฟังมันสักครั้ง เพราะหลังจากได้ลองฟังแล้ว ไม่แน่นะ บางทีประสบการณ์กับความทรงจำที่คุณเคยสะสมมาเกี่ยวกับเสียงของแอมป์หลอดแบบเดิมๆ อาจจะต้องถูกสังคายนาแบบที่ผมโดนมาก็ได้..!!!
************************
ราคา : 460,000 บาท / ตัว
************************
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– Soundbox โทร. 089-920-8297 (คุณโจ้)
– HiFi House โทร. 096-978-7242 (คุณเอ็ม)
– HiFi 99 โทร. 081-999-1699 (คุณนะ)
– Inter HiFi โทร. 094-124-2732 (คุณโมท)
– TSV โทร. 081-657-3397 (คุณท็อป)
– Audi Home HiFi โทร. 089-028-7117 (คุณตั้ม)
– Audio Mate โทร. 081-869-3613 (คุณปัน)
– Turntable One โทร. 084-814-9011 (คุณพิทักษ์)
– MAS HiFI โทร. 081-982-0282 (คุณมาศ)