รีวิวโฮมเธียเตอร์ Onkyo รุ่น TX-SR393 เอวี รีซีฟเวอร์ที่มาพร้อมระบบเสียง 5.2 Ch กับการอัพเกรดระบบเสียงไปทีละขั้น

การอัพเกรดคุณภาพเสียงของทีวีสามารถทำได้ 3 วิธี วิธีแรกเป็นการอัพเกรดแบบเบาๆ นั่นคือใช้ลำโพง Soundbar เข้ามาเสริม ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบ เบสิคที่สุดก็คือแบบ single soundbar แท่งเดียวจบ สูงขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็นแบบซาวนด์บาร์ที่มีลำโพงซับวูฟเฟอร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเสียงในย่านต่ำมาด้วย ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็น 2.1 และ 3.1 แชนเนล ส่วนวิธีที่สองก็คือใช้ เอวี รีซีฟเวอร์ (AVR) ทำหน้าที่เป็นแอมป์ ร่วมกับลำโพง ซึ่งมีให้เลือกอยู่ 3-4 อ๊อปชั่น นั่นคือ 2.0 Ch, 2.1 Ch, 3.1 Ch หรือ 5.1 Ch หรือจะค่อยๆ ขยับอัพเกรดไปทีละสเต็ปก็ได้

ระบบโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เป็นระบบที่ผู้ใช้สามารถเลือกสรรรูปแบบของทั้ง ระบบภาพและ ระบบเสียงให้เหมาะสมกับลักษณะและขนาดของที่พักอาศัย ซึ่ง ทีวีถูกเลือกใช้เป็นระบบฉายภาพสำหรับที่พักอาศัยขนาดย่อม ภายในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถปิดกั้นแสงสว่างได้อย่างมิดชิด อย่างเช่นห้องรับแขกทั่วไป ส่วน ฟร้อนต์ โปรเจคเตอร์เป็นระบบฉายภาพที่เลียนแบบมาจากโรงภาพยนตร์ ให้ขนาดภาพที่ใหญ่ จึงต้องการพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่และต้องเป็นสถานที่ที่สามารถปิดกั้นแสงสว่างได้มิดชิดจริงๆ ด้วย

คนส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่ในห้องรับแขกเป็นสถานที่ติดตั้งระบบโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของบ้านที่สมาชิกทุกคนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเกือบทั้งหมดจะใช้ทีวีเป็นระบบฉายภาพ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายขนาด ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งทีวีเหล่านี้จะมีลำโพงติดตั้งมาให้ในตัว แต่เนื่องจากรูปลักษณ์ของทีวีที่บอบบาง ทำให้ระบบเสียงของทีวีในปัจจุบันไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับคนที่ใช้ทีวีเป็นจอภาพสำหรับการรับชมภาพยนตร์ นั่นเป็นที่มาของการ อัพเกรดระบบเสียงของทีวีด้วยวิธีการต่างๆ อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น

Onkyo TX-SR393
ตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการอัพเกรดเสียงของทีวีในงบประมาณที่เบากระเป๋า!

สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงมากกว่าดูหนังในสัดส่วนประมาณ 60:40 การอัพเกรดเสียงของทีวีด้วยลำโพงซาวนด์บาร์อาจจะตอบโจทย์ได้เฉพาะการดูหนัง แต่ยังไม่ถูกใจนักสำหรับการฟังเพลง ทางเลือกสำหรับคนกลุ่มนี้ที่ต้องการคุณภาพเสียงจากการฟังเพลงที่ดีพอสมควร ในขณะที่ได้เสียงจากการรับชมภาพยนตร์ที่ดีกว่าลำโพงของทีวี หรือแม้แต่ลำโพงซาวนด์บาร์ตัวเล็กๆ ก็คือใช้ AVR + ลำโพงขนาดใหญ่พอสมควรจำนวน 2 ตัว สำหรับระบบเสียง Stereo

Onkyo รุ่น TX-SR393 ก็เป็นเหมือนกับเอวี รีซีฟเวอร์ตัวอื่นๆ คือถูกออกแบบมาให้สามารถปรับใช้งานร่วมกับระบบลำโพงได้หลายรูปแบบ ตั้งระบบ Stereo 2 Ch ไปจนถึงระบบเซอร์ราวนด์ มัลติแชนเนลที่เริ่มจาก 2.1, 3.1 ไปจนถึง 5.2 Ch และสามารถรองรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่เข้ารหัสมาในตระกูล Dolby Digital ไปจนถึงระดับ Dolby Atmos และระบบเสียงที่เข้ารหัสมาในตระกูล DTS ไปจนถึงระดับ DTS:X ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของทั้งสองระบบ ก่อนจะเจาะลึกลงไปมากกว่านี้ เรามาดูรูปร่างหน้าตาของ TX-SR393 กันหน่อย …

ด้านหน้า + ฟังท์ชั่น

A = สวิทช์เปิด/ปิดเครื่อง
B = ปุ่ม Music Optimizer
C = ช่องเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 มิลลิเมตร
D = กลุ่มของปุ่มกดเลือกโหมดการรับฟัง Stereo, Movie/TV, Music
E = กลุ่มของปุ่มกดสำหรับปรับตั้งเมนูของเครื่อง
F = ปุ่มหมุนปรับวอลลุ่ม
G = รูเสียบแจ๊คไมโครโฟนสำหรับเซ็ตอัพ
H = กลุ่มของปุ่ม Tone Control ที่ใช้เลือกปรับ แหลม (Treble), กลาง (Vocal), ทุ้ม (Bass)

หน้าตาของ TX-SR393 มาในรูปแบบเดียวกับเอวี รีซีฟเวอร์รุ่นเดิมๆ ของ Onkyo ทว่า รุ่นนี้มีความพิเศษมากกว่ารุ่นก่อนๆ ตรงที่ได้จับเอาฟังท์ชั่นที่ใช้งานบ่อยๆ อย่างเช่นฟังท์ชั่นปรับโทน คอนโทรล (H) ออกมาทำเป็นปุ่มกดอยู่บนหน้าปัดของตัวเครื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการกดใช้งาน โดยแยกการปรับแต่งเสียงออกเป็น 3 ย่านความถี่คือแหลมกลางทุ้ม

อีกฟังท์ชั่นที่ถูกแยกออกมาทำเป็นปุ่มกดอยู่บนหน้าปัดเครื่อง นั่นคือฟังท์ชั่นที่ใช้กดเลือกโหมดการรับฟังเสียง หรือ Listening Mode (D) ซึ่งมีอ๊อปชั่นให้เลือก 3 โหมดคือ Stereo, Movie/TV และ Music ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเลือกใช้งานให้ตรงกับคอนเท็นต์ที่กำลังรับชม/รับฟังอย่างมาก เป็นไอเดียการออกแบบที่เจ๋งมาก คนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์ประเภทโฮมเธียเตอร์ก็สามารถใช้งานแอมป์เซอร์ราวนด์ตัวนี้ได้อย่างง่ายๆ ต้องปรบมือให้ทีมออกแบบของ Onkyo เลยประเด็นนี้!

นอกจากจะใช้ขับลำโพงทั้งดูหนังและฟังเพลงแล้ว Onkyo TX-SR393 ตัวนี้ยังมีช่องเสียบแจ๊คหูฟัง (C) ขนาด 6.3 มิลลิเมตรมาให้ด้วย คนที่ชอบดูหนังตอนกลางคืนก็ไม่ต้องกลัวว่าเสียงจะไปรบกวนคนอื่นอีกแล้ว นอกจากนั้น คนที่ชอบฟังเพลงยังสามารถใช้ฟังท์ชั่น “Music Optimizer” (B) ช่วยอัพเกรดคุณภาพเสียงของเพลงที่ฟังให้อยู่ในสถานะที่ดีที่สุดด้วยการปิดการทำงานของวงจรอิเล็กทรอนิคส์ส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นสำหรับการฟังเพลงลงไป จึงไม่ส่งผลรบกวนคุณภาพเสียงในการฟังเพลง

อินพุต / เอ๊าต์พุต

ขั้วต่อต่างๆ ถูกจัดเก็บไว้ที่แผงด้านหลังของตัวเครื่องทั้งหมด

I = ช่อง HDMI (ARC)
J = ช่อง HDMI Inputs จำนวน 4 ช่อง
K = ช่อง USB สำหรับจ่ายไฟเลี้ยงให้กับอุปกรณ์ประเภทสตรีมเมอร์
L = ช่อง Digital Input แบบ Optical และ Coaxial
M = ช่องอินพุต Tuner AM/FM
N = ช่องอินพุต Audio In จำนวน 3 ชุด
O = ช่องสัญญาณไลน์เอ๊าต์พุต สำหรับ Zone B
P = ช่องสัญญาณปรีเอ๊าต์ 2 ช่อง สำหรับแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์
Q = ขั้วต่อเอ๊าต์พุตสำหรับลำโพงทั้งหมด
R = สายไฟเอซี

TX-SR393 ให้ขั้วต่อ HDMI มาทั้งหมด 5 ช่อง หนึ่งในนั้นเป็นช่อง HDMI OUT ที่รองรับฟังท์ชั่น ARC (Audio Return Channel)(I) สำหรับใช้เชื่อมต่อกับทีวีเพื่อการใช้งานร่วมกันแบบอัตโนมัติ ส่วนอีก 4 ช่องที่เหลือ (J) เป็นช่วงอินพุตที่สามารถกำหนดคุณสมบัติของแต่ละช่องได้ ทั้งหมดรองรับสัญญาณภาพวิดีโอได้ถึงระดับ 4K HDR และรองรับระบบป้องกันการก็อปปี้ตามมาตรฐาน HDCP 2.2 นับว่าให้มามากพอที่จะครอบคลุมการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งต้นทางต่างๆ ได้ครบ ทั้งเครื่องเล่นแผ่น BD/DVD, เครื่องเล่นเกมส์, ใช้รับสัญญาณภาพ/เสียงจากกล่องรับสัญญาณจากดาวเทียม และรองรับสัญญาณภาพ/เสียงจากกล่องมีเดีย สตรีมเมอร์ โดยมีช่อง USB-A จ่ายไฟ 5V (K) ให้กับกล่องมีเดีย สตรีมเมอร์ในกรณีที่ต้องการ

สำหรับคนที่ใช้ทีวียุคเก่า ที่ไม่มีช่องเอ๊าต์พุต HDMI (ARC) คุณก็ยังสามารถดึงสัญญาณเสียงจากทีวีไปอัพเกรดผ่านแอมป์เซอร์ราวนด์ตัวนี้ได้ด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างทีวีกับ TX-SR393 ทางช่องอินพุต Optical (L) ส่วนคนที่ใช้เครื่องเล่นซีดี หรือเครื่องเล่นดีวีดี และต้องการอัพเกรดเสียงของเครื่องเล่นฯ เหล่านั้น ก็สามารถดึงสัญญาณดิจิตัลจากเครื่องเล่นฯ ไปอัพเกรดคุณภาพเสียงของเพลงที่ฟังผ่านเข้าทางช่อง Coaxial (L) นอกจากนั้น คุณยังรับฟังข่าวและรายการโปรดทางวิทยุ AM/FM ได้อีกด้วย เพียงแค่ต่อสายอากาศที่ให้มาเข้าที่ขั้วต่อตรงตำแหน่ง Tuner (M) ที่แผงหลัง

เมื่อพิจารณาจากช่องอินพุตที่ให้มา ต้องบอกว่า ไม่อยากเชื่อว่า TX-SR393 จะเป็นแอมป์เซอร์ราวนด์รุ่นเล็กสุด เพราะมันให้อินพุตมาครบมากๆ นอกจากอินพุตสำหรับสัญญาณเสียงดิจิตัลแล้ว TX-SR393 ยังมีอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาลอกมาให้ 3 ชุด (N) แถมด้วยช่องสัญญาณอะนาลอกสำหรับลากไปใช้กับระบบเสียงใน โซน B (O) อีกหนึ่งช่อง ตบท้ายด้วยช่องสัญญาณปรีเอ๊าต์สำหรับลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ที่ให้มาถึง 2 ช่อง (P) เมื่อใช้งานร่วมกับขั้วต่อสายลำโพงสำหรับคู่หน้า, เซ็นเตอร์ และเซอร์ราวนด์ (Q) คุณจะได้ระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.2 Ch ถูกใจสำหรับคนที่ชอบความกระหึ่มในการดูหนังอย่างแน่นอน

เล่นเพลงไปที่ Zone B

ในกรณีที่คุณเชื่อมต่อ TX-SR393 เข้ากับระบบเสียงหลักในห้องรับแขก ซึ่งกำหนดเป็น Zone A (เส้นสีแดง) และได้ทำการดึงสัญญาณ Line Out (Zone B)(เส้นสีฟ้า) จากตัว TX-SR393 ไปที่ชุดเครื่องเสียงอีกชุดหนึ่งที่อยู่ในอีกพื้นที่ สมมุติว่าในห้องครัว เมื่อเล่นเพลงจากเครื่องเล่นซีดีที่เสียบอยู่ที่อินพุต Audio In 1: CD (เส้นสีเขียว) คุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้เสียงไปดังที่ Zone A (ห้องรับแขก) หรือ Zone B (ห้องครัว) ด้วยการกดเลือกที่รีโมทไร้สายได้เลย

อัพเกรดเสียงของทีวีด้วย TX-SR393 แบบ ไปทีละขั้น

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มต้นด้วย : 2.0 Ch

สำหรับคนที่ชอบทั้งดูหนังและฟังเพลง และสามารถตอบตัวเองได้ชัดเจนว่า ชอบดูหนังมากกว่าฟังเพลงในสัดส่วน 60:40 แต่มีงบจำกัด อยากจะใช้วิธีค่อยๆ อัพเกรดคุณภาพเสียงไปทีละขั้น ผมมีข้อแนะนำให้เริ่มต้นด้วย AVR + ลำโพง 2 ตัว เป็นขั้นแรก ซึ่ง TX-SR393 ของ Onkyo ตัวนี้อยู่ในข่ายที่เหมาะสมสำหรับใครที่ต้องการอัพเกรดไปทีละขั้นด้วยงบประมาณที่ไม่แรงมาก

ลักษณะการเชื่อมต่อระบบเสียง 2.0 Ch

สำหรับขั้นแรก ให้ทำการเชื่อมต่อระบบตามแบบภาพด้านบน คือ เชื่อมต่อระหว่างช่อง HDMI (ARC) ของทีวีและ TX-SR393 ด้วยสาย HDMI (เส้นสีฟ้า) จากนั้นก็ใช้สายลำโพงต่อเชื่อมระหว่างขั้วต่อสายลำโพงข้างซ้าย (เส้นสีขาว) กับลำโพงข้างซ้ายเข้าด้วยกัน และใช้สายลำโพงต่อเชื่อมระหว่างลำโพงข้างขวากับขั้วต่อสายลำโพงข้างขวา (เส้นสีแดง) เข้าด้วยกัน ด้วยวิธีนี้ คุณสามารถดึงเสียงจากทีวีให้วิ่งผ่าน TX-SR393 เพื่อขยายเสียงไปออกที่ลำโพงซ้าย/ขวาได้ และถ้าต้องการเล่นแผ่นหนังหรือแผ่นเพลงจากเครื่องเล่นบลูเรย์ฯ ก็ให้ทำการเชื่อมต่อเอ๊าต์พุตของเครื่องเล่นบลูเรย์เข้ากับอินพุตของ TX-SR393 ผ่านเข้าทางช่องอินพุต HDMI 1 ด้วยสาย HDMI (เส้นสีฟ้า) แล้วเลือกอินพุตไปที่ “HDMI 1เมื่อเล่นแผ่นหนังหรือแผ่นเพลง เสียงจะไปออกที่ลำโพงซ้าย/ขวา

ผมทดลองใช้ลำโพงสองทางวางขาตั้งของ Wharfedale รุ่น D310 จับคู่กับ TX-SR393 เพื่อใช้งานในโหมดเสียง Stereo 2.0 Ch ร่วมกับทีวี Sony รุ่น Bravia A9F OLED ซึ่งเป็นการอัพเกรดเสียงของทีวีขั้นตอนแรกสุด จากนั้นก็เข้าไปทำการปรับตั้งระบบลำโพงในเมนูของ TX-SR393 ไว้ที่

Speaker Configuration = 2.1 Ch
Subwoofer = No

ในเมนูของ TX-SR393 ไม่มีให้เลือกเป็น 2.0 Ch แต่เมื่อเราเลือกหัวข้อ Subwoofer เป็น “Noคู่หน้าก็จะทำงานเต็มความถี่ที่ลำโพงทำได้โดยอัตโนมัติ

ลักษณะการเชื่อมต่อระบบเป็น 2.0 Ch

จากการทดลองฟังรายการทีวีจากช่อง digital TV  หลายๆ ช่อง และลองเปิดภาพยนตร์จากช่อง Netflix ผมพบว่า เสียงที่ออกมามีความชัดเจนกว่าเสียงจากลำโพงของทีวีเองมากทีเดียว สามารถจับรายละเอียดที่ตัวละครพูดออกมาได้ชัดเจนมากขึ้น ไม่คลุมเครือ โทนเสียงและสำเนียงพูดของตัวละครแต่ละตัวปรากฏออกมาให้รับรู้ได้ชัดขึ้น นอกจากนั้น รายละเอียดของเอ็ฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์ก็มีความเด่นชัดมากขึ้น เวทีเสียงแผ่กว้างออกไปมากขึ้น และตอนที่เห็นความแตกต่างมากที่สุดก็คือตอนฟังเพลง ซึ่งผมทดลองฟังรายการประกวดร้องเพลงจากช่องดิจิตัล ทีวี พบว่า TX-SR393 + ลำโพง D310 ของ Wharfedale ทำให้เสียงร้องและดนตรีมีความไพเราะขึ้นอย่างมาก เมื่อทดลองเปรียบเทียบกับเสียงจากลำโพงของทีวีเอง ซึ่งระบบเสียงของ Sony A9F ตัวนี้ก็ไม่ธรรมดาแล้ว แต่เมื่อสลับเทียบกันก็ต้องยอมรับว่า TX-SR393 + D310 ให้เสียงที่ดีกว่ามาก เนื้อเสียงอิ่มหนากว่า ไม่บาง เสียงร้องออกมาเต็มเสียงมากกว่า ฟังแล้วได้อารมณ์ร่วมไปกับเสียงร้องมากกว่า

ตอนดูหนังก็รู้สึกได้ว่า TX-SR393 + D310 ให้เสียงที่กระหึ่มกว่าเสียงจากลำโพงของทีวีอย่างชัดเจน แม้ว่าในย่านทุ้มจะยังขาดมวลเสียงต่ำๆ ที่แผ่ลงพื้น แต่โดยรวมก็ดีกว่าเสียงของตัวทีวีเยอะมากแล้ว

อัพเกรดเสียงในขั้นตอนที่ 2 : 2.1 Ch

เมื่อมีงบประมาณเพิ่มเติมขึ้นมา คุณสามารถอัพเกรดเสียงของระบบเดิมให้ดีขึ้นไปเป็นขั้นที่ 2 ด้วยการเพิ่มเติมลำโพงแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบอีกหนึ่งตัว ระบบเสียงของคุณก็จะกลายเป็น 2.1 Ch จากนั้นก็เข้าไปเมนูของ TX-SR393 ทำการปรับตั้งค่าใหม่ตามนี้

Speaker Configuration = 2.1 Ch
Subwoofer = Yes

ลักษณะการเชื่อมต่อระบบเสียง 2.1 Ch

จากนั้นก็ทดลองเลือกจุดตัดของลำโพง D310 ระหว่าง 40Hz ถึง 200Hz แล้วปรับ phase กับ level ที่ตัวซับวูฟเฟอร์เพื่อเช็คดูจุดที่เสียงระหว่างลำโพง D310 กับลำโพงซับวูฟเฟอร์กลมกลืนกันมากที่สุด

ลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์รุ่น Wharfedale รุ่น WH-D8

ซับวูฟเฟอร์เลือกรุ่นที่ใช้ไดเวอร์ 8 นิ้ว หรือ 10 นิ้ว โดยดูที่ขนาดห้องกับความถี่ต่ำที่ต้องการ วูฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ลึกกว่า แต่ถ้าห้องเล็กใช้ไดเวอร์ใหญ่ๆ จะมีแต่เสียงทุ้มอื้อๆ ที่ไม่มีหัวเบส กรณีที่ขนาดห้องไม่ได้ใหญ่กว่า 3.5 x 5 ตารางเมตร แนะนำให้ใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีไดเวอร์แค่ 8 นิ้วก็เพียงพอ แต่ถ้าห้องใหญ่กว่านั้นขึ้นไปอย่างเช่น 4 x 6 ตารางเมตร หรือ 5 x 7 ตารางเมตร สามารถขยับขึ้นมาเป็นรุ่นที่ใช้ไดเวอร์ขนาด 10 นิ้วได้ และถ้ารู้สึกว่าเสียงทุ้มยังไม่เต็มพื้นที่ ยังไม่สะใจ คุณสามารถเบิ้ลลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาได้อีก 1 ตัว (แนะนำให้เป็นรุ่นและยี่ห้อเดียวกัน)

อัพเกรดเสียงในขั้นตอนที่ 3 : 3.1 Ch

สมมุติว่าคุณอัพเกรดทีวีไปใช้ขนาดจอที่ใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จากเดิม 40 นิ้ว ไปเป็น 65 นิ้ว ซึ่งทำให้ระยะห่างระหว่างลำโพงคู่หน้าซ้าย/ขวาถูกถ่างเพิ่มมากขึ้นไปตามความกว้างของจอทีวี ถ้าต้องการอัพเกรดคุณภาพเสียงตามขนาดของทีวีที่ใหญ่ขึ้น ในขั้นตอนนี้แนะนำให้เพิ่มลำโพงเซ็นเตอร์เข้ามาในระบบ ทำให้ระบบเสียงของคุณปรับเปลี่ยนไปเป็นระบบ 3.1 Ch

ลำโพงเซ็นเตอร์ Wharfedale รุ่น D300C รุ่น/ซีรี่ย์เดียวกับลำโพงคู่หน้า

สำหรับคนที่ต้องการสูตรสำเร็จ แนะนำให้เลือกใช้ลำโพงเซ็นเตอร์ยี่ห้อ/ซีรี่ย์เดียวกับลำโพงซ้าย/ขวา ตามตัวอย่างนี้ก็คือ Wharfedale รุ่น D300C ซึ่งเป็นลำโพงเซ็นเตอร์ที่เข้าชุดกับลำโพงซ้าย/ขวา

ลักษณะการเชื่อมต่อระบบ 3.1 Ch

หลังติดตั้งลำโพงเซ็นเตอร์เข้าไปแล้ว ต้องเข้าไปปรับตั้งค่าในเมนูของ TX-SR393 ตามนี้

Speaker Configuration = 3.1 Ch
Subwoofer = Yes

หลังจากนั้นก็ทำการปรับตั้งเสียงแบบอัตโนมัติด้วยฟังท์ชั่น AccuEQ บนตัว TX-SR393 โดยใช้ไมโครโฟนวัดเสียงที่แถมมาในกล่อง ซึ่งการอัพเกรดขั้นตอนที่สามนี้จะทำให้คุณได้สนามเสียงที่แผ่กว้างมากขึ้น มิติเสียงจะแยกกันชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะในแนวระนาบ (ซ้ายขวา) และด้วยจำนวนลำโพงที่เพิ่มมากขึ้น ยังทำให้คุณได้ความแน่นของมวลเสียงที่ดีขึ้นด้วย สามารถเปิดได้ดังมากขึ้นในขณะที่ความเพี้ยนไม่ถูกดันขึ้นไปตามระดับวอลลุ่ม คุณภาพเสียงโดยรวมจะดีขึ้นมาก

อัพเกรดเสียงในขั้นตอนที่ 4 : 5.1 Ch

ถ้าใจยังอยากไปต่อ และงบประมาณอำนวย จากระบบเสียง 3.1 Ch เดิม คุณสามารถอัพเกรดขึ้นไปเป็นระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 Ch ได้อีกขั้นหนึ่ง โดยเพิ่มเติมลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านหลังเข้ามาอีก 2 ตัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่เข้ากันของเสียง แนะนำให้ใช้ลำโพงเซอร์ราวนด์ของ Wharfedale รุ่น D300 3D Surround Speaker ซึ่งเป็นลำโพงเซอร์ราวนด์ที่ออกแบบมาให้สามารถติดตั้งลงบนผนังห้องได้โดยตรง

ลำโพงเซอร์ราวนด์ Wharfedale รุ่น D300 D3 Surround Speaker

หลังเพิ่มเติมลำโพงเซอร์ราวนด์ที่ผนังด้านหลังตำแหน่งนั่งชมเข้ามาอีก 2 แชนเนล และเข้าไปปรับตั้งเมนูในตัว TX-SR393 เป็น

Speaker Configuration = 5.1 Ch
Subwoofer = Yes

จากนั้นก็ทำการปรับตั้งเสียงให้เข้ากับอะคูสติกของห้องและระยะการติดตั้งลำโพงทั้งหมดด้วยฟังท์ชั่น Auto Calibration ที่ใช้เทคโนโลยีรูม คอลเล็กชั่น AccuEQ บนตัว TX-SR393 ซึ่งจะทำให้ได้ความเป็นเซอร์ราวนด์ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น รับชมภาพยนตร์ได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น

ลักษณะการเชื่อมต่อสำหรับระบบเสียง 5.1 Ch บนตัว TX-SR393

สรุป

ต้องถามตัวเองให้ชัดๆ ว่าระหว่าง ดูหนังกับ ฟังเพลงคุณให้ความสำคัญกับกิจกรรมใดมากกว่ากัน สัดส่วนความชอบที่แตกต่างกันมีมากน้อยแค่ไหน.? ถ้าคำตอบคือ ชอบดูหนังมากกว่าเกินสัดส่วน 60:40 ขึ้นไป แนะนำให้เลือกใช้ แอมป์เซอร์ราวนด์ที่เรียกว่า AVR หรือ Audio/Video Receiver เป็นตัวตั้ง ซึ่งมีความเหมาะสมกว่า อินติเกรตแอมป์ส่วนระบบลำโพงก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เป็น 2.0, 2.1, 3.1 หรือจัดเต็มไปที่ 5.1 Ch ก็ได้ หรือจะใช้วิธีค่อยๆ อัพเกรดไปเรื่อยอย่างที่แนะนำไว้ในบทความก็ทำได้หมด

อ้อ… ลืมบอกไปว่า TX-SR393 รองรับการสตรีมไฟล์เพลงผ่านทาง Bluetooth ด้วยนะ กับราคาค่าตัวเครื่องละไม่ถึงสองหมื่นบาท ต้องขอฟันธงว่า คุ้มสุดขีด.!! /

***********************
Onkyo TX-SR393
ราคา : 17,900 บาท / เครื่อง
***********************
สนใจสั่งซื้อได้ที่
Powerbuy
***********************
Wharfedale D300 Series
สนใจสั่งซื้อได้ที่
@HifitowerShop

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า