อยากปวดหัวมั้ยครับ.? ถ้าอยาก แนะนำให้เข้าไปอ่านเรื่อง Harmonics ของระบบไฟฟ้า จากลิ้งค์นี้ดูเลย (https://en.wikipedia.org/wiki/Harmonics_(electrical_power) เขาพูดถึงระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่เราใช้กันอยู่ตามบ้านทุกวันนี้นี่แหละ ซึ่งที่เรารู้กันมาก่อนหน้านี้ก็คือว่า กระแสไฟ AC ที่เราใช้กันอยู่มันเดินทางมาที่บ้านเราด้วยความถี่ 50Hz โดยมีแรงดันอยู่ระหว่าง 220 – 240V แค่นั้น แต่เรื่องที่แนะนำให้อ่านนี้เขาอ้างว่า นอกจากความถี่ 50Hz ที่กระแสไฟใช้เป็นพาหะในการเดินทางมาที่บ้านเราแล้ว ในกระแสไฟเอซียังมี “ความถี่” อื่นๆ ที่นอกเหนือจากความถี่ 50Hz ปะปนอยู่อีกมาก..
ความถี่เหล่านั้น มันมาจากไหน.? ในบทความนั้นอ้างว่า ความถี่แทรกซ้อนที่ไม่ใช่ความถี่ของไฟเอซีที่ปนเปื้อนเข้ามาในไฟเอซีมันเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคอมโพเน้นต์ประเภทเซมิคอนดักเตอร์ (กึ่งตัวนำ) ที่มีพฤติกรรมในการต้านกระแสไฟแบบ ‘non-linear load’ ประกอบอยู่ภายใน อาทิเช่น ทรานซิสเตอร์ทุกชนิด กับพวกไดโอดก็ด้วย จะว่าไปก็คืออุปกรณ์เครื่องเสียง, คอมพิวเตอร์, พริ้นเตอร์, เครื่องชาร์จแบตฯ มือถือ รวมถึงมอเตอร์และทรานสฟอเมอร์ที่ปกติจะไม่ได้สร้างความถี่ของตัวเองเข้าไปในกระแสไฟ ยกเว้นว่าอยู่ในสภาวะ over-fluxed หรือ over saturated อ้อ.. วงจรที่ใช้ปรับ dim ไฟที่ใช้หม้อแปลง กับวงจรเรคติฟายเออร์ที่ใช้กับหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ก็มีพฤติกรรมเป็น non-linear load เหมือนกัน มันจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความถี่แปลกปลอมแทรกปนเข้าไปในกระแสไฟด้วย (*การรบกวนของแอร์ที่เกิดขึ้นกับเครื่องเสียงที่เราเข้าใจว่ามาจากเสียงพัดลม แท้จริงแล้วอาจจะเป็นเพราะมอเตอร์ของแอร์สร้างคลื่นรบกวนเข้าไปในกระแสไฟก็เป็นได้นะ!)
มลพิษที่เกิดจากการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายจะอยู่ในรูปของ ‘current harmonics’ และเจ้าเคอเร้นท์ฮาร์มอนิกตัวนี้แหละที่ไปทำให้เกิดเป็นรูปคลื่นที่ผิดเพี้ยน (distortion) ของแรงดัน (voltage) ซึ่งปริมาณความเพี้ยนที่ว่านี้จะแปรผันไปตามอิมพีแดนซ์ของโหลดที่เป็นต้นเหตุของ current harmonics กรณีที่โหลดของ voltage source อยู่ในระดับต่ำ ผลที่ current harmonics กระทำต่อ voltage source ก็จะมีปริมาณต่ำ ความเพี้ยนก็จะน้อย.. บลา บลา บลา.. ยังมีอีกเยอะ แกะมายังไม่หมด ถามว่าเข้าใจมั้ยว่า current harmonics กับ voltage harmonics คืออะไร.? ตอบเลยว่า เข้าใจไม่ถึงครึ่ง สกัดออกมาได้แค่ไอเดีย ถ้างั้น.. ทำไมต้องให้ความสนใจกับสิ่งนี้ด้วย.?
เรื่องมันเริ่มต้นเมื่อตอนที่ คุณปัญญา ธัญจิตปิยานนท์ เจ้าของ บริษัท แสงทองวิทยุ 2494 แกยกตัวกรองไฟ Pulito รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นแบรนด์ของแกเองมาให้ผมทดลองฟัง โดยปกติแล้ว ตัวกรองไฟของคุณปัญญาแกจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ไอโซเลต ทรานสฟอเมอร์” (Isolated Transformer) ให้ทำหน้าที่ในการกรอง noise ออกไปจากกระแสไฟ ซึ่งรุ่นใหม่ตัวนี้ก็ยังคงออกแบบด้วยพื้นฐานเดิม เทคนิคเดิม ทว่าตัวใหม่รุ่น µ0.6hr ที่แกยกมาครั้งนี้มีเทคนิคพิเศษเพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่งคุณปัญญาแกเรียกมันว่า ‘Harmonics Resonance’ ก็คือตัวย่อ ‘hr’ ที่ต่อท้ายชื่อรุ่นนั่นแหละ… พอหลุดปากเอ่ยถามไปว่า Harmonics Resonance คืออะไร.? หลังจากนั้นก็ยาวมาถึงบทความที่ผมลิ้งค์มาให้อ่านกันนั่นแหละ
‘Current Harmonics’
เรื่องใหม่เหรอ..??
ก็ไม่นะ… ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงในวงการเครื่องเสียงของเราน่าจะรู้จักกับสิ่งที่คุณปัญญาเรียกว่า ‘harmonics resonance’ หรือความถี่อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือความถี่หลักของกระแสไฟที่ 50Hz ซึ่งแทรกซ้อนเข้ามาในไฟเอซีของเรานานแล้ว บางคนมองเห็นสิ่งนี้ในรูปของไฟ DC ขนาดเล็กที่เกาะติดมากับกระแสไฟ และที่ผ่านมาก็เคยมีคนออกแบบอุปกรณ์เสริมที่มีความสามารถในการ “ดึงดูด” เจ้าสิ่งที่ว่านี้ออกไปจากระบบไฟมานานแล้วด้วย แบรนด์แรกๆ ที่ผมเคยเห็นน่าจะชื่อยี่ห้อ Harmonix หรืออะไรประมาณนี้ เขาทำออกมาเป็นลักษณะเป็นทรงกระบอก ยาวประมาณสิบเซ็นต์ฯ ใช้เสียบเข้าไปที่เต้ารับเฉยๆ แบรนด์ XAV ในบ้านเราก็เคยทำออกมาขาย อีกแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายๆ กันนี้ชื่อแบรนด์ Enacom ที่เคยเห็นเขาทำออกมาเป็นตัว Line Harmonix Filter ใช้กับสายสัญญาณอะนาลอก ส่วนล่าสุดที่เพิ่งเห็นก็คือแบรนด์ Nordost ที่ทำผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ออกมาหลายตัว อยู่ในตระกูล QRT อย่างเช่นตัว AC Enhancer/AC Line Harmonizer กับของแบรนด์ Audiolab ที่ชื่อว่าตัว DC Blocker นั่นก็เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แม้ว่า ชื่อเรียกของแต่ละแบรนด์จะต่างกันไป แต่ทุกแบรนด์มองเจ้า harmonics ที่แปลกปลอมเข้าไปในกระแสไฟว่าคือ noise รูปแบบหนึ่ง ทุกแบรนด์ต่างก็ตั้งใจกำจัดมันออกไปจากกระแสไฟทั้งนั้น..
นี่ก็แสดงว่า เทคโนโลยีที่อ้างถึงสิ่งที่เรียกกันว่า ‘harmonics’ ที่แฝงอยู่ในกระแสไฟเอซีเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง.!!
Pulito‘µ0.6hr‘
Isolated transformer + harmonics resonance = สองแรงแข็งขัน
เดิมทีผลิตภัณฑ์ของคุณปัญญาที่ชื่อว่า Pulito ก็ถูกออกแบบมาด้วยจุดประสงค์เพื่อขจัด noise ออกไปจากกระแสไฟเอซีอยู่แล้ว โดยที่คุณปัญญาเลือกใช้เทคนิค Isolated transformer ให้ทำหน้าที่นี้..
An isolation transformer is a transformer used to transfer electrical power from a source of alternating current (AC) power to some equipment or device while isolating the powered device from the power source, usually for safety reasons or to reduce transients and harmonics. ในวิกีพีเดียให้ความหมายของ isolation transformer เอาไว้แบบนี้ เขาว่ามันคือทรานส์ฟอเมอร์ หรือหม้อแปลงที่ใช้ในการส่งกระแสไฟฟ้าจากแหล่งไฟเอซี ไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะที่อุปกรณ์ไฟฟ้า (โหลด) นั้นถูกแยกออกจากแหล่งจ่ายไฟ ซึ่งปกติแล้ว สาเหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อผลทางด้านความปลอดภัย หรือต้องการลด “ทรานเชี้ยนต์” กับ “ฮาร์มอนิก” นั่นเอง
นอกจากนั้น isolation transformer ยังมีผลช่วยบล็อคไฟ DC (ก็คือ noise) ที่เกาะมากับไฟเอซีไม่ให้ผ่านข้ามไปอีกฝั่งที่เป็นโหลด (อุปกรณ์เครื่องเสียง) ด้วย ซึ่ง isolation transformer ที่คุณปัญญา ทำออกมาให้ใช้กับชุดเครื่องเสียงนี้จะเป็นทรานส์ฟอเมอร์ที่มีลักษณะการส่งผ่านกระแสระหว่างขด primary กับ secondary อยู่ที่อัตรา 1:1 ซึ่งนอกจากจะช่วยในแง่ของความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นระบบที่ช่วยป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ และช่วยบล็อคคลื่นรบกวนที่เกิดจากระบบกราวนด์ได้ด้วย
harmonics resonance
เรื่องที่เข้าใจยาก.. แต่ฟังง่าย.!
ผมเคยฟังตัวกรองไฟตัวใหญ่รุ่นแรกของคุณปัญญา เป็นรุ่นที่ใช้เทคนิค isolated transformer ในการกรองสัญญาณรบกวนออกไปจากกระแสไฟ ซึ่งผมยอมรับว่า ตัวนั้นช่วยให้ไฟสะอาดขึ้นจริง แต่ผมยังไม่ถูกใจกับบุคลิกเสียงของมันที่ติดนุ่มและหน่วงนิดๆ เสียงยังไม่ค่อยสดตามรสนิยมของผมเลยยังไม่ได้หยิบมาทำรีวิว แต่พอได้ลองฟังรุ่น µ0.6hr ตัวนี้แล้วยอมรับว่า ทั้งความสะอาดและบุคลิกเสียงถูกใจผมมาก.! ไทมิ่งของเสียงดีมาก ตอบสนองกับจังหวะของเพลงได้อย่างแม่นยำไม่ว่าจะเป็นเพลงช้า, ปานกลาง และเพลงเร็ว ตัว µ0.6hr ตัวนี้ไปได้หมดโดยไม่มีอาการนุ่มหรือหน่วงอย่างที่เคยรู้สึก
สอบถามถึงความแตกต่างระหว่างรุ่น µ0.6hr กับรุ่นแรกๆ ที่ทำออกมาเพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไรบุคลิกเสียงจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ คุณปัญญาบอกว่าในรุ่น µ0.6hr นี้ นอกจากจะใช้เทคนิค isolated transformer ช่วยกรอง noise แล้ว ยังมีการเพิ่มเติมวงจรที่ช่วยจัดการกับสิ่งที่คุณปัญญาเรียกว่า ‘harmonics resonance’ เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยที่คุณปัญญาให้ข้อมูลได้เพียงว่า วงจร harmonics resonance หรือที่เขาย่อว่า ‘hr’ นี้จะเข้าไปขจัดความถี่ฮาร์มอนิกที่ไม่ตรงกับฮาร์มอนิกของไฟ 50Hz ซึ่งเขามองว่าเป็น noise ออกไปจากกระแสไฟ ให้เหลือเฉพาะความถี่ 50Hz / 100Hz / 200Hz / 400Hz / 800Hz… ซึ่งเป็นความถี่หลักและฮาร์มอนิกของความถี่หลักที่ 50Hz ก่อนจะส่งออกไปป้อนให้กับอุปกรณ์เครื่องเสียง ซึ่งข้อมูลที่ลงลึกมากกว่านี้สำหรับ harmonics resonance ที่ใช้ในตัวกรองไฟ Pulito ตัวนี้คุณปัญญายังขอเก็บไว้เป็นความลับ เท่าที่บอกได้คือเป็นวงจรที่มีคนอื่นออกแบบไว้ โดยที่คุณปัญญาไปซื้อไลเซนต์เขามาใช้ ที่ตัวเครื่องมีปิดผนึกด้วยเทปบางๆ ไว้ด้วย คือถ้ามีการเปิดเครื่องจนเทปเสียหายก็จะไม่ได้รับประกัน ใครอยากรู้คงต้องซื้อเครื่องไปผ่าเอาเอง.!
แผงหน้าเรียบๆ ง่ายๆ แต่ดูขรึมดี
µ0.6hr มาในตู้ตัวถังที่ถูกทำให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมกล่องใส่รองเท้าที่มีหน้ากว้างกับความสูงเท่ากับเครื่องเสียงมาตรฐานทั่วไปคือกว้างประมาณ 43 ซ.ม. (ประมาณ 17 นิ้ว) และสูง 12 ซ.ม. (เกือบ 5 นิ้ว) ส่วนความลึกจะน้อยกว่าเครื่องมาตรฐานอย่างพวกปรีแอมป์เล็กน้อย
ผิวนอกของตัวถังทำด้วยแผ่นโลหะ ชุบสีดำแล้วเคลือบผิวให้มีลักษณะเงาวาว ไม่ได้เป็นสีดำด้านๆ เหมือนอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทตัวกรองไฟที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไป เป็นลุคที่ทำให้ดูดี ดูเป็นเครื่องเสียงมากกว่า equipment tool ที่ใช้ในโรงงาน แผงหน้ากับแผงหลังทำด้วยแผ่นโลหะที่มีความหนาเกือบเซนติเมตร (ประมาณ 0.8 ม.ม.) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ตัวเครื่องมีความแน่นหนามั่นคง และเพิ่มความอ่อนโยนให้มากขึ้นด้วยการขุดลงไปบนแผงหน้าเป็นลายเส้นสองเส้นที่อ่อนช้อยเป็นเส้น curve สองเส้นตัดไขว้กันพาดผ่านหน้าจอที่ติดตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของแผงหน้าปัด โดยที่จอนี้ถูกใช้แสดงปริมาณของแรงดัน (v) และกระแสไฟ (i) ที่ส่งออกไปทางเอ๊าต์พุต
การเชื่อมต่อระบบอยู่ที่แผงหลัง
A = เต้ารับสายไฟเอซีที่มาจากปลั๊กผนัง
B = เมนสวิทช์
C = เต้ารับปลั๊กตัวผู้ของสายไฟที่ต่อไปเข้าเครื่องเสียง 2 ชุด ที่ผ่านวงจร Harmonics Resonance
D = เต้ารับปลั๊กตัวผู้ของสายไฟที่ต่อไปเข้าเครื่องเสียงชุดที่ไม่ผ่านวงจร Harmonics Resonance
ลักษณะการออกแบบของตัวกรองไฟ Pulito ตัวนี้เขาจัดวางส่วนที่ทำหน้าที่กรอง noise ของกระแสไฟในแนว “คั่นขวางทางเดินของกระแสไฟ” แบบที่เรียกว่าฟิลเตอร์แบบอนุกรมนั่นเอง ที่ตัวเครื่องจึงมีเต้ารับสำหรับส่งกระแสไฟที่ผ่านกระบวนการกรองแล้วออกไปให้อุปกรณ์เครื่องเสียง ซึ่งเต้ารับทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่ที่แผงหลังจำนวน 6 ช่อง เป็นของยี่ห้อ Leviton รหัสรุ่น 5362 ทั้งหมด จากภาพข้างบนจะเห็นว่า สี่ช่องทางซ้ายมือ (C) ผู้ผลิตจะใช้เต้ารับสีดำ เพื่อแสดงให้รู้ว่า กระแสไฟที่ผ่านออกมาจาก 4 ช่อง นี้ เป็นกระแสไฟที่ผ่านทั้ง isolated transformer และวงจร Harmonics Resonance ซึ่งทั้งสี่ช่องนี้มีความสามารถจ่ายกระแสไฟรวมกันได้ถึง 600VA
ส่วนเต้ารับสีเทาอีก 2 ช่องที่เหลือนั้น กระแสไฟจากต้นทางอินพุตจะถูกส่งผ่านไปที่หม้อแปลง isolated trasformer ขนาด 300VA เพียงอย่างเดียว ไม่ผ่านวงจร Harmonics Resonance ให้ไว้สำหรับคนที่ชอบโทนเสียงแบบเดิมได้เลือกใช้ (*รวมความสามารถในการจ่ายกระแสไฟของตัวกรองไฟ µ0.6hr ตัวนี้จะอยู่ที่ 600VA + 300VA = 900VA ซึ่งเหมาะใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีอัตราบริโภคกระแสไฟระดับต่ำไปถึงปานกลาง ไม่เหมาะใช้กับแอมปลิฟาย
สภาพซิสเต็มก่อนการทดสอบ µ0.6hr
ก่อนจะพูดถึงประสิทธิภาพของตัว µ0.6hr ผมคงต้องขออธิบายให้คุณเห็นภาพซิสเต็มที่ใช้ทดสอบก่อน
ภาพข้างบนนี้คือสภาพการเชื่อมต่อในซิสเต็มที่ผมใช้ฟังเพลงก่อนจะเอาตัว µ0.6hr เข้ามาทดสอบในซิสเต็มนี้ จากชาร์ตข้างบนนั้นจะเห็นว่า ผมแยกอุปกรณ์เครื่องเสียงในซิสเต็มของผมทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ด้วยกัน ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกันให้น้อยที่สุด ซึ่งอุปกรณ์แต่ละกลุ่มจะเสียบผ่านตัวกรองไฟที่แยกกันชัดเจน ของใครของมัน
อุปกรณ์เครื่องเสียงกลุ่มแรกเป็นส่วนของ digital source ที่ประกอบด้วยตัว “เน็ทเวิร์ค สตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ต” ของ Roon ‘nucleus+’ ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับตัวลิเนียร์ เพาเวอร์ ซัพพลายของ Nordost รุ่น QSource (REVIEW) ที่ทำหน้าที่จ่ายไฟเลี้ยง 19V ให้กับตัว nucleus+ นอกจากนั้นในกลุ่มนี้ก็ยังมี NAS ที่ทำหน้าที่เก็บไฟล์เพลง ซึ่งผมใช้ของ QNAP โดยที่ทั้งตัว Roon nucleus+ และ NAS ต่างก็เชื่อมต่อเข้าไปที่ตัว network switch ของ Silent Angel รุ่น Bonn N8 (REVIEW) ด้วยสาย LAN ในขณะเดียวกัน ภาคจ่ายไฟของอุปกรณ์ทั้ง 3 ชิ้น ในกลุ่มนี้ (Nucleus+, QNAP และ Bonn N8) ถูกเสียบผ่านปลั๊กรางที่มีตัวกรองไฟของ Shunyata Research รุ่น PS10 (REVIEW) ซึ่งพ่วงไฟเอซีมาจากปลั๊กผนังที่อยู่ด้านข้างขวาของห้องฟังของผม (ดูจากรูปเพิ่มเติม)
ส่วนอุปกรณ์กลุ่มที่สองประกอบด้วย “DAC” กับ “ปรีแอมป์” ซึ่งผมแยกอุปกรณ์ทั้งสองตัวนี้ออกมาวางไว้บนชั้นวางที่แยกออกมาจากชั้นวางของอุปกรณ์กลุ่มแรกที่เป็นแหล่งต้นทาง และผมยังแยกปลั๊กรางที่มีตัวกรองไฟสำหรับอุปกรณ์กลุ่มที่สองนี้ออกมาด้วย โดยที่ผมใช้ปลั๊กราง (power distributor) ที่มีตัวกรองสัญญาณรบกวน RFI ของแบรนด์ VersaLab ชื่อรุ่น Wood Blocks ‘Duplex’ ซึ่งเป็นของเก่าที่ผมเก็บไว้และช่วงหลังจะหยิบมาใช้แม็ทชิ่งในซิสเต็มบ่อยๆ ตัวนี้ให้เอ๊าต์พุต 2 ช่องพอดี ถ้าช่วงไหนที่ผมไม่ได้ใช้ชุดปรี+เพาเวอร์ฯ คือใช้อินติเกรตแอมป์ในระบบ ผมก็จะถอดสายเอซีที่ใช้กับปรีแอมป์ออกไป ซึ่งตัว Wood Blocks ‘Duplex’ ตัวนี้จะดึงไฟเอซีจากเต้ารับบนผนังชุดเดียวกับที่ป้อนไฟให้กับปลั๊กราง PS10 ที่ผมใช้เลี้ยงอุปกรณ์กลุ่มแรกนั่นเอง
อุปกรณ์ชุดที่สามที่ผมแยกออกมาใช้ไฟเลี้ยงจากปลั๊กบนผนังอีกชุดหนึ่งที่อยู่บนผนังด้านหลังตำแหน่งวางลำโพงก็คือ “แอมปลิฟาย” ซึ่งในบางครั้งก็เป็นอินติเกรตแอมป์ บางครั้งก็เป็นเพาเวอร์แอมป์ ขึ้นอยู่กับการเซ็ตอัพในแต่ละซิสเต็ม ส่วนระบบการกรองไฟที่จุดนี้ผมไม่ได้ใช้อุปกรณ์กรองไฟที่เป็นแบบ series (อนุกรม) เหมือนที่ใช้กับอุปกรณ์สองกลุ่มแรก เนื่องจากประสบการณ์ที่เคยทดลองใช้ตัวกรองไฟที่ออกแบบโดยเอาวงจรกรองไป “คั่นขวาง” ทางเดินของกระแสไฟมาหลายตัว ผมพบปัญหาว่าเมื่อนำมาใช้กับแอมปลิฟายแล้วจะมีอาการข้างเคียงคือทำให้ไดนามิกของเสียงมีลักษณะที่อั้น ตื้อ การสวิงหนัก–เบามีลักษณะเหมือนถูกหน่วง ไม่เป็นอิสระ มีผลต่อไทมิ่งของเสียง ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ผมจะไม่ใช้ตัวกรองไฟเลยสำหรับจุดนี้ ล่าสุดเพิ่งจะมาพบตัวกรองไฟที่ออกแบบโดยเอาวงจรกรองไฟไปติดตั้งในลักษณะที่ “ขนาน” (parallel) ไปกับทางเดินของกระแสไฟ เป็นของแบรนด์ RN Masch Design รุ่น Noise-Trap (REVIEW) ซึ่งเป็นดีไซน์ที่มีผลในการกรองไฟให้สะอาดได้จริงและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงคือเสียงไม่อั้น
ทดสอบประสิทธิภาพของ µ0.6hr
กระบวนการทดสอบตัว µ0.6hr นั้นผมใช้วิธียกตัว µ0.6hr เข้าไปทำหน้าที่แทนตัวกรองไฟที่ผมใช้อยู่ในซิสเต็มอ้างอิงของผม “ทีละจุด” แล้วฟังเสียงโดยรวมที่ได้ออกมา จุดแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือเอาไปทำหน้าที่แทนตัว Noise-Trap ของ RN Masch Design โดยทดลองใช้กับอินติเกรตแอมป์และเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกทั้งหลอดและโซลิดสเตท ผลลัพธ์นั้นผมพบว่า ตัว µ0.6hr ทำให้เสียงสะอาดขึ้นอย่างชัดเจน ในระดับที่ไม่ต่างจากตอนใช้ตัว Noise-Trap มากนัก ในแง่ของคุณภาพเสียง ผมพบว่าตัว µ0.6hr ให้โทนเสียงที่อิ่มหนา แหลมไม่จ้า โดยรวมๆ แล้วออกมาดีน่าพอใจ ซึ่งดีมากเมื่อฟังเพลงช้าๆ ที่ไดนามิกไม่กว้างมากเพราะได้เนื้อเสียงที่เข้มข้นมากขึ้น แต่เมื่อลองฟังเพลงเร็วๆ ที่เน้นไทมิ่งที่กระชั้นและกระแทกน้ำหนักเสียงแรงๆ ผมพบว่าตัว µ0.6hr ทำให้เกิดความรู้สึกหน่วงช้าเกิดขึ้นในช่วงที่เพลงมีความซับซ้อนมากๆ เครื่องดนตรีหลายๆ ชิ้นโหมขึ้นมาพร้อมๆ กัน และในช่วงพีคของเพลงที่สวิงไดนามิกขึ้นไปสูงๆ ปลายเสียงจะโรลอ๊อฟนิดๆ ซึ่งเป็นอาการที่ผมคาดไว้ก่อนแล้วว่าน่าจะเกิดขึ้น ต้นเหตุนั้นก็คงจะเป็นเรื่องความสามารถในการจ่ายกระแสนั่นเอง ซึ่งคุณปัญญาได้เน้นไว้ก่อนแล้วว่า แนะนำให้ใช้ตัว µ0.6hr กับอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภท source ที่กินกระแสไม่สูง การทดสอบรอบแรกของผมครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการใช้งานผิดประเภท แต่อย่างไรก็ตาม ผมพบว่า เสียงที่ได้ออกมาจากการใช้งาน µ0.6hr จ่ายไฟให้อินติเกรตแอมป์ตัวเล็กๆ อย่าง Arcam รุ่น A5 (REVIEW) กับ LEAK รุ่น Stereo 230 ขับลำโพง PSB รุ่น Alpha P5 อาการที่ว่าเสียงอั้นๆ มันก็ไม่มากถึงขั้นรุนแรงเท่ากับตอนที่เคยทดสอบรุ่น µ0.3 ที่มีขนาดเล็กกว่า เลยคิดว่า ถ้าใครเอา µ0.6hr ตัวนี้ไปใช้กับอินติเกรตแอมป์ตัวเล็กๆ ขับลำโพงที่ไม่กินกำลังเยอะ ความไวสูงหน่อย และฟังในพื้นที่ที่ไม่กว้างมากกับเพลงช้าๆ นุ่มๆ หวานๆ ก็น่าจะพอไปได้ เพราะเสียงที่ออกมามันได้ความสงัดและเนื้อเสียงที่เนียน สะอาดกว่าตอนเสียบอินติเกรตแอมป์ตรงเข้ากับปลั๊กผนังเยอะมาก.! แลกกับอาการอั้นนิดๆ ตอนฟังเพลงหนักๆ ก็ถือว่าคุ้ม (*ในห้องฟังของผม ผมเปิดดังมาก พอลองหรี่วอลลุ่มฟังเบาลงอาการอั้นก็ลดลงไปด้วย)
ขั้นตอนที่สองผมทดลองย้ายตัว µ0.6hr ไปใช้กับอุปกรณ์ในกลุ่มที่สอง ส่วนเต้ารับจุดที่เสียบแอมปลิฟายผมก็เอาตัว Noise-Trap เสียบกลับเข้าไปเหมือนเดิม..
ภาพข้างบนคือสภาพการเซ็ตอัพตอนทดสอบประสิทธิภาพของตัว µ0.6hr ซึ่งผมเอาไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงกลุ่มที่สอง (ลูกศรสีเขียวในภาพคือตัวกรองไฟ Shunyata Research ‘PS10’ ที่ผมใช้จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์กลุ่มที่เป็นแหล่งต้นทาง)
ผมถอดเอาตัว Wood Blocks ‘Duplex‘ ออกแล้วเสียบ DAC กับปรีแอมป์เข้ากับตัว µ0.6hr แทน โดยแยกเสียบตัว DAC กับปรีแอมป์เข้ากับเต้ารับชุดสีดำของตัว µ0.6hr ตัวละชุด เพื่อให้ได้ทั้งประสิทธิภาพในการกรองไฟด้วย Isolated Transformer และขจัดฮาร์มอนิกส่วนเกินด้วยวงจร Harmonics Resonance ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเสียงที่ออกมามันก้าวกระโดดขึ้นมาเยอะมาก.!! เมื่อเทียบกับตอนใช้ตัว Wood Blocks ‘Duplex’ ในจุดนี้ สิ่งแรกที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดก็คือ “พลังเสียง” ที่อัดฉีดออกมาทั้งย่านเสียง ไม่น่าเชื่อว่า ที่ระดับวอลลุ่มเดียวกัน ฟังจากเพลงเดียวกัน ด้วยเงื่อนไขที่เหมือนกันทุกอย่าง แค่เปลี่ยนตัวกรองไฟจาก Wood Blocks ‘Duplex‘ มาเป็น Pulito ‘µ0.6hr’ แค่นั้นเอง แต่เสียงที่ออกมามันเปลี่ยนไปมากมหาศาล.! พลังเสียงที่สูบฉีดออกมามันมีอาการคล้ายกับถูกปลดล็อคออกมาจากเดิมที่ถูกกักขังไว้ รายละเอียดของเสียงพรั่งพรูออกมาราวกับทำนบแตก ไดนามิกสวิงขึ้นและลงได้สุดสเกล เป็นอิสระเต็มที่ทั้งระดับ micro และ macro dynamic ส่วนความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับ “เวทีเสียง” เป็นอะไรที่ชัดเจนมากๆ คือตอนที่ซิสเต็มนี้ใช้ตัวกรองไฟ Wood Blocks ‘Duplex’ ณ ตำแหน่งนี้ เวทีเสียงที่ออกมาก็เปิดกว้างมากแล้วนะ แต่หลังจากเปลี่ยนเอาตัว µ0.6hr เข้าไปแทนที่เท่านั้นเอง เวทีเสียงที่เปิดกว้างอยู่แล้วมันดีดปึ๋งแผ่ขยายอาณาเขตออกไปรอบด้านอีกมาก.! ทำให้รู้สึกถึงความโอ่อ่ามากขึ้น มิติเสียงฉีกตัวออกไปมากขึ้นทั้งแนวกว้าง, แนวลึก และแนวสูง ที่น่าประทับใจมากๆ ก็คือ “มวลแอมเบี้ยนต์” ที่เกิดจากแบนด์วิธของเสียงที่คลื่คลายออกมาได้กว้างมากขึ้นด้วย ทั้งที่ขยายลงไปในย่านทุ้มและที่ขยายขึ้นไปในย่านแหลมได้ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งในเพลงที่มีรายละเอียดของเสียงในย่านที่สูงมากๆ และในย่านที่ต่ำลงไปมากๆ อย่างเช่นเพลงคลาสสิกที่บรรเลงสดในฮอลล์จะรู้สึกได้ถึงลักษณะของการโอบอุ้มของมวลบรรยากาศที่ “หนุนรอง” โน๊ตดนตรีที่บางเบาให้ลอยตัวอยู่ในผืนอากาศเบื้องหน้า ทำให้เกิดความรู้สึก “อิ่ม” และรับรู้ได้ถึงฐานเสียงที่ “แผ่กว้าง” แม้ว่าจะเป็นแค่เสียงเบาๆ ที่ลอยอยู่ลึกๆ เข้าไปหลังลำโพงไกลๆ ก็ตาม คือเสียงทั้งหมดนั้นไม่ได้ดังมากขึ้น แต่ตัว µ0.6hr มันทำให้เกิดความรู้สึกรับรู้ได้ถึงคลื่นพลังของสนามเสียงที่แผ่เต็มออกมามากขึ้น.. โอ้ววว..! พระเจ้า.. นี่แหละที่ปรารถนา..!!
อัลบั้ม : Cantate Domino (DSF64)
ศิลปิน : Oscars Motettkor Choi; Torsten Nilsson – conductor, Alf Linder – organ & Marianne Mellnas – soprano
สังกัด : Proprius/AudioNoutes Recordings (PROP 7762)
อัลบั้ม : Jazz At The Pawnshop (DSF128)
ศิลปิน : Arne Domnerus
สังกัด : Naxos (2xHD Mastering)
อัลบั้ม : La Fille Mal Gardee (DSF64)
ศิลปิน : John Lanchbery & The Royal Opera House
สังกัด : Analogue Productions
อัลบั้ม : Now The Green Blade Riseth (DSF128)
ศิลปิน : The Stockholm Catheldral Choir, Gustaf Sjokvist
สังกัด : Naxos (2xHD Mastering)
อัลบั้ม : The Greatest Female Alto VOL.1 (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Various Artists
สังกัด : Tuya
ถ้าจะถามว่า ตัว µ0.6hr เข้าไปขจัด noise ในกระแสไฟยังไง.? ในทางเทตนิคผมไม่สามารถตอบได้ แต่สามารถรับรู้ถึง “ผลลัพธ์” ของมันได้หลังจากที่ยกตัว µ0.6hr เข้าไปติดตั้งในซิสเต็มโดยฟังความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับเสียงที่พุ่งผ่านลำโพงออกมา ซึ่งพูดได้เลยว่า หลังจากยกตัว µ0.6hr เข้าไปติดตั้งในซิสเต็มแทนที่ตัว Wood Blocks ‘Duplex’ แล้ว ตัว µ0.6hr มันทำให้ “บรรยากาศ” ของโถงฮอลล์ และห้องบันทึกเสียงปรากฏออกมาในห้องพร้อมกับเสียงดนตรีที่ฟังได้มากขึ้น พื้นเสียง (แบ็คกราวนด์) โดยรวมมีความสงัดสูงขึ้น เมื่อฟังงานบันทึกเสียงที่ตั้งใจเก็บส่วนของแอมเบี้ยนต์มาอย่างเช่นอัลบั้มทั้ง 5 ชุดข้างต้นนั้น มันทำให้การรับรู้ถึง “โถงฮอลล์” มีความชัดเจนมากขึ้น รายละเอียดเบาๆ บางๆ ที่คละคลุ้งอยู่ในเพลงปรากฏตัวออกมาให้ได้ยินมากขึ้น ซึ่งศัตรูตัวร้ายที่เข้ามากลบทับรายละเอียดในระดับ micro ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแอมเบี้ยนต์ก็คือ “สัญญาณรบกวน” ด้วยเหตุนี้ เมื่อเอา µ0.6hr เข้าไปแทรกอยู่ในซิสเต็มแล้วทำให้ “รับรู้” ถึงการมีอยู่ของแอมเบี้ยนต์ได้ชัดเจนมากขึ้น นี่ก็เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนแล้วถึงประสิทธิภาพในการกรอง noise ของ µ0.6hr ตัวนี้..!!
เสียงในย่านสูงของอัลบั้มชุด La Fille Mal Gardee เป็นอะไรที่น่าหลงไหลอย่างมาก ปลายแหลมของเครื่องสายมันทอดยาวออกไปจนสุดเสียงโดยไม่มีอาการ “หลบปลาย” (roll-off) เสียงลง ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ของเพลงโดยตรง เสียงของเครื่องสายที่ทะยานไปจนสุดเสียงแบบนี้ทำให้รู้สึกถึงความ “เปิดโล่ง” ที่ทำให้ได้ยินแล้วนึกถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง ในไร่ในสวน ซึ่งตรงกับท้องเรื่องของละครบัลเล่ต์เรื่องนี้ นั่นก็หมายความว่า ถ้าตัวกรองไฟไม่ดี ไม่สามารถดักจับ noise ที่ระดับความถี่สูงๆ ออกไปได้ noise ที่ความถี่สูงๆ จะเข้ามากลบทับรายละเอียดที่เป็นปลายเสียงแหลมของอัลบั้มนี้เอาไว้บางส่วน ในขณะเดียวกัน noise ในย่านความถี่สูงที่ไม่ได้ซ้อนทับอยู่กับความถี่เดียวกับรายละเอียดที่เป็นแอมเบี้ยนต์ก็จะแสดงตัวเป็นสัญญาณรบกวนที่แปลกปลอมปนออกมากับเสียงดนตรี เมื่อเปิดดังมากๆ และฟัง noise เหล่านี้ติดต่อกันนานๆ (เพลงคลาสสิกไม่มีสั้นอยู่แล้ว.!) ความหยาบที่เกิดจาก noise จะสะสมจนทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อประสาทการรับฟัง และสุดท้ายมันจะดันให้เราถอยห่างออกไปจากดนตรีที่ฟัง (แทนที่จะดึงดูดให้เราถลำลึกเข้าไปหาเพลงมากขึ้น) ซึ่งหลังจากเอาตัว µ0.6hr เข้าไปแทนที่ตัว Wood Blocks ‘Duplex’ แล้ว รู้สึกได้เลยว่า บรรยากาศของเสียงดีขึ้นมหาศาล.! คือตัว Wood Blocks ‘Duplex’ ทำให้เสียงสะอาดก็จริง แต่มันไม่ได้ให้พลังอัดฉีดออกมาด้วย ไม่เหมือนตัว µ0.6hr ที่ให้ทั้งความสะอาดของเสียงและยังอัพฉีดพลังออกมาด้วย ซึ่งพลังอัดฉีดที่ตัว µ0.6hr ให้ออกมานี่แหละที่ไปหนุนดันให้ความถี่สูงและความถี่ต่ำที่อยู่ในส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของเครื่องดนตรีทั้งหมดสามารถ “ดีดตัว” ออกมาได้เต็มที่โดยไม่ roll-off หายไป ยิ่งไปกว่านั้น µ0.6hr ตัวนี้ยังทำให้รับรู้ได้ว่า ชิ้นดนตรีทั้งหมดในอัลบั้มนี้มีการจัดวางลำดับของความตื้น–ลึกที่ซอยแบ่งลงไปด้านหลังลำโพงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็น “เลเยอร์” ที่ซ้อนกันลงไปเป็นชั้นๆ ซึ่ง noise จะทำให้รายละเอียดเหล่านี้มีลักษณะที่เบลอมัว (smear) ไปทั้งหมด
เพลง ‘Alilang’ ในอัลบั้มชุด The Greatest Female Alto VOL.1 เป็นอีกเพลงที่โชว์ประสิทธิภาพของตัว µ0.6hr ออกมาได้ชัดเจนมากที่สุดในแง่ของการ “ตีแผ่” ไทมิ่งของแต่ละชิ้นดนตรีในเพลงให้ออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำมาก.! ที่สรุปอย่างนั้นก็เพราะว่าผมพบว่า หลังจากเอา µ0.6hr เข้าไปแทรกในซิสเต็มของผม ผลที่ได้คือมันทำให้ผมแยกแยะ “ไทมิ่ง” ของการบรรเลงของแต่ละชิ้นดนตรีในเพลงนี้ที่มีที่เร็ว–ช้าต่างกันออกมาจากกันได้ง่ายขึ้นมาก ผมพบว่าในขณะที่บางเสียงกำลังโหมกระแทกพลังออกมาอย่างหนักหน่วงและรวดเร็วนั้น ยังมีเสียงเครื่องเป่าที่กำลังบรรเลงด้วยสปีดที่ช้ากว่าโดยเน้นคอนทราสน์ของไดนามิกที่อ่อนช้อย พลิ้วไสว คลอประสานอยู่ด้วย นั่นทำให้ได้ทั้งความหนักหน่วงและความพลิ้วผสมกันออกมาในเวลาเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ บางครั้งที่ฟังเพลงนี้ ผมพบว่าความพลิ้วถูกความหนักหน่วงแย่งซีนไป คือฟังจบแล้วจะรู้สึกว่าเพลงนี้มีแต่ความมันส์ที่เหลือคาอยู่ในใจ ซึ่งนั่นฟ้องว่า “ไทมิ่ง” ของเพลงนี้ยังไม่ถูกต้อง มันถูกเร่งให้เร็วกว่าปกติจนโฟกัสของเสียงเครื่องเป่าที่พลิ้วๆ มีลักษณะที่ out focus มีผลให้ความเข้มของเสียงเครื่องเป่าลดน้อยลง หลุดออกไปจากการรับรู้ของประสาทหูเป็นช่วงๆ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นผลมาจากการทำงานของวงจร Harmonics Resonance ที่อยู่ในตัว µ0.6hr ก็เป็นได้ที่ดึงให้ไทมิ่งของเพลงมีความถูกต้องมากขึ้น..
ขั้นตอนที่สามผมลองถอด µ0.6hr ออกจาก DAC และปรีแอมป์ (เอา Wood Blocks ‘Duplex‘ กลับเข้าไปเหมือนเดิม) แล้วเอา µ0.6hr ไปใช้แทนที่ PS10 ผลปรากฏว่า เสียงโดยรวมจะเปลี่ยนไปในแนวทางที่นุ่มเนียน แต่ทางด้านพลังอัดฉีดออกมาไม่เต็มเหนี่ยวเหมือนตอนใช้กับ DAC และปรีแอมป์ ฟังแค่ไม่กี่เพลงก็ถอดออกมาลองเปลี่ยนไปใช้กับ DAC และปรีแอมป์อีกที ซึ่งเสียงที่น่าพอใจมากก็กลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง และน่าจะเป็น “ผลรวม” (combination) ที่ลงตัวมากที่สุดแล้วสำหรับการใช้งาน Pulito ‘µ0.6hr’ ในซิสเต็มนี้ (ส่วนหนึ่งคือเรื่องของความแม็ทชิ่งนั่นเอง)
ฟังลำลองก็ได้ผลดี
ช่วงท้ายของการทดสอบ ผมทดลองยก µ0.6hr ออกไปใช้กับชุดเล็กที่ผมใช้ดูหนัง+ฟังเพลงที่ห้องรับแขก ซึ่งมีพื้นที่อากาศน้อยกว่าในห้องฟังและเป็นพื้นที่เปิด มีเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมมากกว่าในห้องฟังนิดหน่อย แต่หลังจากทดลองเอา µ0.6hr เข้าไปใช้กับอินติเกรตแอมป์และทีวีที่ใช้อยู่ในห้องรับแขก ซึ่งพบว่า µ0.6hr ก็ช่วยอัพเกรดให้กับทั้งเสียง (จากชุดเครื่องเสียง) และภาพ (จากทีวี) ในห้องรับแขกของผมให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ซึ่งเดิมทีนั้น ชุดภาพ+เสียงในห้องรับแขกของผมก็มีใช้ Pulito ตัวเล็กรุ่น µ0.3 อยู่แล้ว (REVIEW) เมื่อผมทดลองเอาตัว µ0.6hr เข้าไปแทนที่ตัว µ0.3 ก็พบว่า µ0.6hr มีประสิทธิภาพสูงกว่า µ0.3 อย่างชัดเจน ดีกว่าทั้งในแง่ของความสงัดและความแม่นยำของไทมิ่งของเสียงที่ดีกว่าเยอะมาก.. นอกจากนั้น µ0.6hr ยังทำให้ได้ “ความเข้มข้น” ของตัวเสียงที่ดีขึ้นด้วย
สรุป
ในการเชื่อมต่อก่อนใช้งาน µ0.6hr แนะนำให้ทำการเสียบสายไฟทั้งจากปลั๊กผนังมาที่ตัว µ0.6hr และจากตัว µ0.6hr ไปที่อุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละตัวให้เสร็จก่อนที่จะกดเมนสวิทช์ของตัว µ0.6hr ให้เริ่มทำงาน เมื่อกดเมนสวิทช์แล้ว ทุกช่องเอ๊าต์พุตของตัว µ0.6hr จะจ่ายไฟออกไปพร้อมกันทันที
หลังจากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมานานเกินเดือน ผม “เชื่อว่า” หรือจะพูดให้ถูก ต้องใช้คำว่า Pulito ‘µ0.6hr’ ตัวนี้ทำให้ผมเชื่อว่า มันมีประสิทธิภาพในการกรอง noise ออกไปจากกระแสไฟได้จริง.!! หลังการทดสอบผ่านไป ผมได้ทดลองใส่เข้าและถอดออกจากซิสเต็มเพื่อตรวจเช็คผลของตัวกรองไฟตัวนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เอาเข้าไปใช้ในซิสเต็ม ผมพบว่า มัน (µ0.6hr) ทำให้เสียงของซิสเต็มของผมดีขึ้นในหลายๆ ด้าน เป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกครั้ง คือสะอาดขึ้น ไดนามิกดีขึ้น วงแผ่กว้างมากขึ้น แต่ก็ต้องรับรู้ด้วยว่า ประสิทธิภาพของ µ0.6hr ตัวนี้ “อาจจะ” แสดงตัวออกมาในระดับที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะความซับซ้อนของซิสเต็ม กับลักษณะการเชื่อมต่อตัว µ0.6hr เข้าไปในแต่ละจุดในซิสเต็มนั้นๆ
ในการทดสอบช่วงหนึ่ง ผมได้ลองเอาอุปกรณ์เครื่องเสียงกลุ่มที่เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณของผมทั้ง 3 ชิ้น คือ QSource, QNAP และ Bonn N8 ไปเสียบลงบนตัว µ0.6hr รวมอยู่กับ DAC และปรีแอมป์ ซึ่งเท่ากับว่า µ0.6hr จ่ายไฟเลี้ยงให้กับอุปกรณ์เครื่องเสียง 5 ชิ้นในเวลาเดียวกัน ผมพบว่า ผมรวมของเสียงก็ออกมาในระดับที่ดีน่าพอใจ แต่ในปริมาณที่ไม่มากเท่ากับตอนใช้เสียบ DAC และปรีแอมป์แค่ 2 ตัว โดยที่แหล่งต้นทางแยกออกไปเสียบผ่านตัวกรองไฟอีกตัว คือโดยรวมจะออกไปทางสะอาด นุ่มนวล แต่พลังอัดฉีดออกมาไม่เต็มที่เหมือนตอนเสียบแค่ DAC กับปรีแอมป์..
สรุปบุคลิกเสียงที่ได้จาก µ0.6hr ตัวนี้ก็คือ สะอาด, นุ่มเนียน, อิ่มเข้ม และปลดปล่อยพลัง ซึ่งจากการทดสอบไปแล้ว ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้ามี µ0.6hr “มากกว่าหนึ่งตัว” ทำงานร่วมกันอยู่ในซิสเต็ม จะได้อะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกมั้ย.? หรือโทนเสียงมันจะเน้นไปทางนุ่มมากเกินไป.?? ถ้ามีโอกาสต้องทดลอง เพราะตอนนี้ก็เท่ากับว่ามันแชร์บุคลิกกับตัวกรองไฟอีกสองตัวอยู่
ผลจากการทดสอบข้างต้นทำให้เข้าใจเลยว่า การใช้งาน µ0.6hr ตัวนี้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมันมี “เงื่อนไข” อยู่ที่ระดับของ power consumption ของอุปกรณ์ที่เอามาเสียบผ่านตัวมันด้วย ซึ่งต้องใช้วิธีทดลองฟังถึงจะหาเงื่อนไขนั้นเจอ ลักษณะไม่ต่างจากการแม็ทชิ่งอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวอื่นๆ ในซิสเต็มนั่นเอง ถ้าใช้มันถูกที่ถูกทาง เสียบใช้งานกับอุปกรณ์ในจำนวนที่พอเหมาะ ไม่เกินความสามารถในการจ่ายไฟของมัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะน่าพอใจอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ถ้าคุณสนใจตัวกรองไฟตัวนี้จริงๆ ถ้าสามารถทำได้ ผมแนะนำให้ติดต่อ คุณปัญญา (โทร. 081-870-0840) เพื่อหาโอกาสทดลองฟังผลการทำงานของมันก่อน ซึ่งควรจะทดลองในเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบก่อนตัดสินใจซื้อจะดีที่สุด ส่วนตัวผมนั้นไม่ได้สงสัยในประสิทธิภาพของมันแล้ว เพราะหลังจากผมได้ทดลองใช้งานในหลายๆ เงื่อนไขผ่านไป ผมมั่นใจว่าตัวกรองไฟ Pulito ตัวนี้มีประสิทธิภาพในการกรองไฟได้จริง และมันให้ผลทางเสียงที่น่าตื่นตะลึง เมื่อสามารถหาจุดเชื่อมต่อในซิสเต็มที่ถูกตำแหน่งให้กับมันได้..!!!
********************
ราคา : 80,000 บาท / เครื่อง
********************
ออกแบบและผลิตโดย
บริษัท แสงทองวิทยุ 2494 จำกัด
********************
สนใจติดต่อที่
คุณปัญญา ธัญจิตปิยานนท์
โทร. 081-870-0840