“Elysian” เป็นผลิตภัณฑ์ซีรี่ย์ใหม่ของ Wharfedale ซึ่งพวกเขาตั้งใจให้เป็นซีรี่ย์ระดับเรือธง (flagship) รุ่นสูงสุดของแบรนด์ในขณะนี้ จนถึงขณะนี้สมาชิกในซีรี่ย์นี้มีอยู่ทั้งหมด 2 รุ่น คือ “Elysian 4” ซึ่งเป็นลำโพงรุ่นใหญ่ แบบตั้งพื้น กับรุ่น “Elysian 2” เป็นรุ่นเล็ก แบบวางบนขาตั้ง คือรุ่นที่ผมกำลังจะพูดถึงในรีวิวนี้
ใครที่เพิ่งจะรู้จักชื่อของ Wharfedale อาจจะเข้าใจว่าแบรนด์นี้มีแต่ลำโพงระดับกลางและระดับที่มีราคาประหยัดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ในอดีตนั้น Wharfedale เคยทำลำโพงระดับไฮเอ็นด์ออกมาขายอยู่เหมือนกัน ที่ยังเห็นมีอยู่ในปัจจุบันก็คือรุ่น “Airedale” นั่นไง
ในเว็บไซต์ร้านเครื่องเสียงที่ออสเตรเลียโฆษณาขาย Airedale อยู่ที่ราคาคู่ละ 49,999.99 ออสเตรเลี่ยนดอลล่าร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณหนึ่งล้านหนึ่งแสนกว่าบาทต่อคู่ (1 ออสเตรเลี่ยนดอลล่าร์คิดเป็นเงินไทยประมาณ 23.77 บาท) นั่นเป็นหลักฐานยืนยันให้ประจักษ์ว่า Wharfedale มีภูมิและประสบการณ์มากพอสำหรับการออกแบบและผลิตลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ อย่างซีรี่ย์ Elysian ออกมาจำหน่าย
Peter Comeau เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบลำโพงของ Wharfedale ทุกรุ่นที่ผลิตออกมาในปัจจุบันรวมถึงซีรี่ย์ Elysian นี้ด้วย
ความสวยเตะตามาพร้อมรูปทรงที่อวบอ้วน.!
คำว่า “ไฮเอ็นด์” อาจจะหมายถึงไปไกลจนสุดทาง ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คุณภาพเสียง แต่เหมารวมไปจนถึงรูปร่างหน้าตาก็อยู่ในข่ายด้วย ถ้าลำโพงให้เสียงที่ดี (เพราะเทคโนโลยีถึง) มันจะทำให้เกิดคุณค่าขึ้นมาในตัวระดับหนึ่ง แต่ถ้ารูปร่างหน้าตาสวยงามด้วย จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับลำโพงคู่นั้นขึ้นไปอีกระดับทันที เมื่อหันมาพิจารณาแนวการออกแบบลำโพงในอนุกรม Elysian Series จะเห็นได้ชัดว่า ลำโพงในอนุกรมนี้ได้ฉีกหนีจากอนุกรมอื่นๆ ที่ Wharfedale ทำออกมาก่อนหน้าไปไกลพอสมควร
ตัวตู้ทำด้วยไม้ MDF ติดผิวด้วยแผ่นไม้แท้ที่สไลด์บางๆ ทั้งตัว ก่อนจะชุบเคลือบชักเงาจนวาววับ โชว์ลายเนื้องานภายใตัผิวเงาวาวเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี รูปทรงภายนอกของ Elysian 2 มาในทรงลำโพงสามทางวางบนขาตั้งที่มีขนาดปานกลาง ไม่เรียกว่าเล็กเพราะคนเดียวโอบไม่หมด ยกขึ้นขาตั้งไม่ไหว แผงหน้ากว้าง 30 ซ.ม. สูง 70 ซ.ม. ส่วนความลึกมากถึง 43 ซ.ม. จึงทำให้แต่ละข้างมีน้ำหนักตัวมากถึง 30.5 กิโลกรัม เลยทีเดียว!
3 ทาง + ตู้เปิด
บนแผงหน้าติดตั้งไดเวอร์ 3 ตัวเรียงกันในแนวตั้ง T-M-W จากบนลงล่าง โดยมีท่อระบายเบสยิงลงที่ฐานล่างแล้วแตกตัวกระจายออกไปรอบด้าน
Elysian 2 ใช้ไดเวอร์ AMT (Air Motion Transformer) ขนาด 27 x 90 ม.ม. ทำหน้าที่สร้างความถี่เสียงในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงแหลมทั้งหมด โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ 2,900Hz ขึ้นไปจนถึงความถี่ 22,000Hz
ส่วนความถี่เสียงในย่านกลางที่เชื่อมต่อจากความถี่ที่ระดับ 2,900Hz ลงไปจนถึง 360Hz เป็นหน้าที่ของไดเวอร์มิดเร้นจ์ทรงกรวยที่ทำจากเส้นใยไฟเบอร์กลาสสานขนาด 6 นิ้ว
และความถี่ในย่านกลางต่ำลงไป คือตั้งแต่ 360Hz ลงไปจนถึง 35Hz ทำหน้าที่โดยวูฟเฟอร์ทรงกรวยขนาด 8.5 นิ้ว แผ่นไดอะแฟรมทำมาจากวัสดุแบบเดียวกับที่ใช้ในตัวมิดเร้นจ์ ขอบเซอร์ราวนด์เป็นยางดิบ (rubber surround) ให้ตัวได้เยอะ
มวลอากาศภายในตัวตู้ถูกทำให้ถ่ายเทออกสู่ด้านนอกผ่านท่อระบายอากาศที่เจาะยิงลงด้านล่างของตัวตู้ซึ่งมีแผ่นไม้ทำเป็นฐานรองรับอยู่ เมื่อมวลอากาศที่พุ่งลงด้านล่างกระแทกกับแผ่นไม้ก็กระจายออกไปผ่านช่องเล็กๆ ที่อยู่รอบตัว (มีฟองน้ำเนื้อพรุนปิดอยู่ที่ช่องระบายเบสนี้ด้วย)
ขาตั้งที่ออกแบบมาเพื่อกันและกัน.. (แต่ขายแยก)
ในซีรี่ย์นี้มีทำขาตั้งออกมาด้วยรุ่นหนึ่ง คือ Elysian Stand ตั้งใจให้ใช้คู่กับ Elysian 2 ส่วนรุ่น Elysian 4 ไม่ต้องใช้เพราะรุ่นนั้นเป็นลำโพงตั้งพื้น
โครงสร้างหลักของขาตั้งตัวนี้เป็นท่อโลหะทรงกระบอก 4 เสาที่รองรับส่วนฐานของตู้ลำโพงบริเวณมุมทั้ง 4 มุม ความสูงของท่อเหล็กอยู่ที่ 38 ซ.ม. ด้านบนที่ติดกับฐานลำโพงมีแผ่นไม้ที่ทำผิวแบบเดียวกับตัวตู้ ความหนา 3 ซ.ม. ยึดโยงท่อโลหะด้านบนทั้ง 4 เสาเอาไว้ โดยที่ด้านล่างที่เป็นส่วนฐานของขาตั้ง ก็มีแผ่นไม้หนา 3 ซ.ม. แบบเดียวกับด้านบนยึดโยงท่อโลหะด้านล่างเอาไว้ และยังมีแผ่นไม้หนา 3 ซ.ม. ทำเป็นสีดำรองซ้อนด้านล่างของแผ่นไม้ที่ทำผิวเงาวาวเหมือนตัวตู้อยู่อีกชั้นนึง ซึ่งตัวแผ่นไม้สีดำที่ว่านี้จะทำหน้าที่เป็นฐานหลักสำหรับยึดแท่งเสาสั้นๆ 4 ต้นที่ติดตั้งเดือยแหลมและทำหน้าที่เป็นส่วนที่ผยุงรับน้ำหนักทั้งหมดของขาตั้งและตัวลำโพงให้ลอยขึ้นมาจากพื้นห้อง ตรงปลายแหลมของเดือยแหลมสามารถหมุนปรับระดับได้ ซึ่งทางผู้ผลิตมีแถมจานรองเดือยแหลมมาให้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนปลายที่แหลมคมของเดือยแหลมทิ่มลงบนพื้นกรณีที่พื้นห้องของคุณเป็นไม้ นับเป็นขาตั้งที่ออกแบบโดยคำนึงถึงรายละเอียดในการใช้งานมาอย่างรอบคอบจริงๆ
ขั้วต่อสายลำโพง
ให้ขั้วต่อสายลำโพงมา 2 ชุดแยกสำหรับทุ้มกับแหลม สามารถต่อเชื่อมสายลำโพงแบบไบไวร์ฯ ได้ หรือจะเชื่อมต่อระบบด้วยเพาเวอร์แอมป์สเตริโอ 2 ชุดแบบไบแอมป์ฯ ก็ได้
ตัวขั้วต่อที่ให้มาเป็นขั้วต่อที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ วัสดุเป็นโลหะขนาดใหญ่ ดูแข็งแรงบึกบึนมาก ให้การยึดเหนี่ยวกับสายลำโพงได้หลายลักษณะ อาทิ ผ่านขั้วต่อแบบก้ามปูที่ใช้วิธีขันยึดก็ได้ หรือจะผ่านขั้วต่อแกนบานาน่าที่เสียบเข้ากับรูตรงกลางขั้วต่อก็ได้ และใครที่ไม่ได้ใช้สายลำโพงแบบไบไวร์ (2 > 4) ก็ไม่ต้องกังวล ทางผู้ผลิตได้แถมจั๊มเปอร์มาให้ด้วยหนึ่งชุด เพื่อใช้ร่วมกับสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ (2 > 2) ซึ่งเป็นตัวจั๊มเปอร์ที่ทำมาสวยงามมาก แค่เห็นก็รู้สึกว่าเสียงดีแล้ว!
แม็ทชิ่งเพื่อทำการทดสอบ
ความไวของ Elysian 2 ระบุไว้ที่ 89dB ถือว่าอยู่ในข่ายความไวปานกลางขึ้นไปทางสูง ในขณะที่ความต้านทานระบุอยู่ที่ 4 โอห์ม และลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 3.6 โอห์ม เท่านั้น ถือว่าไม่ดื้อเลย เป็นลำโพงใหญ่ที่อิมพีแดนซ์ค่อนข้างนิ่ง สวิงไม่เยอะ แบบนี้ก็แสดงว่าไม่ค่อยเรียกร้องกำลังสำรองจากแอมป์มากนักเมื่อเจอกับการสวิงของโหลด แนะนำกำลังขับอยู่ระหว่าง 25 – 250W ที่ 4 โอห์ม ซึ่งคำนวนคร่าวๆ สำหรับกำลังขับที่เล็งผลเลิศจะอยู่ที่ 75 x 250 หารด้วย 100 ก็คือตั้งแต่ 187.5 วัตต์ ขึ้นไปถ้าต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดจากลำโพงคู่นี้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าโหดมาก เพราะ 187.5 วัตต์ที่ 4 โอห์มก็คือประมาณ 93.75 วัตต์ที่ 8 โอห์ม เป็นตัวเลขกลมๆ ก็คือตั้งแต่ 100 วัตต์ที่ 8 โอห์ม ขึ้นไปนั่นเอง
ลองขับกับอินติเกรตแอมป์ Gryphon Audio Design รุ่น Diablo 120
ผมมีแอมป์ที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพเสียงของ Elysian 2 อยู่ 2 ชุด ชุดแรกเป็นปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3 ซึ่งตัวเพาเวอร์แอมป์รุ่น V-3 ให้กำลังขับอยู่ที่ 100 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม และสามารถเบิ้ลได้เป็น 200 วัตต์ต่อข้างที่โหลด 4 โอห์ม ซึ่งเป็นตัวเลขกำลังขับที่กำลังพอเหมาะสำหรับ Elysian 2 ส่วนแอมป์ชุดที่สองที่ใช้ทดสอบลำโพงคู่นี้เป็นอินติเกรตแอมป์รุ่น Diablo 120 ยี่ห้อ Gryphon Audio Design (REVIEW) ซึ่งเป็นอินติเกรตแอมป์ระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ของเดนมาร์ก ให้กำลังขับข้างละ 120 วัตต์ที่ 8 โอห์ม และที่โหลด 4 โอห์มก็น่าจะเกินสองร้อยวัตต์
ในตอนท้ายได้เพาเวอร์แอมป์ของ Pass Labs รุ่น X150 กำลังขับข้างละ 150 วัตต์เข้ามาลองฟังกับ Elysian 2 ด้วย ซึ่งได้เสียงออกมาดีมาก กลาง–แหลมเปิดกระจ่างมากกว่าตอนขับด้วย Ayre Acoustic V-3 ไปอีกขั้น และสำหรับคนที่ชอบแอมป์หลอดก็ขอแจ้งข่าวดีว่าลำโพงคู่นี้ก็ชอบแอมป์หลอดนะ ผมลองขับกับอินติเกรตแอมป์หลอดแบรนด์ Line Magnetic รุ่น LM-805iA (รูปด้านบน – ตัวที่อยู่บนชั้นสูง) ที่มีกำลังขับข้างละ 48 วัตต์ ได้เสียงกลาง–แหลมออกมาดีเลย ส่วนทุ้มก็ติดนุ่มในย่านทุ้มตอนกลางลงไปถึงทุ้มลึกๆ ตามสไตล์ของหลอด
ส่วนแหล่งต้นทางสัญญาณผมใช้ roon รุ่น nucleus+ เป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลงแล้วส่งผ่านสัญญาณดิจิตัลไปที่ Audio-gd รุ่น R-8 (REVIEW) ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตัลให้เป็นสัญญาณอะนาลอกก่อนจะส่งเข้าที่ปรีแอมป์ K-5 และอินติเกรตแอมป์ Diablo 120 ผ่านทางสายสัญญาณบาลานซ์ XLR ยาว 1.5 เมตรของ Purist Audio Design รุ่น Musaeus และใช้สายลำโพงของ Purist Audio Design รุ่นเดียวกันคือ Musaeus เชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตของแอมป์ไปที่ลำโพง รวมถึงสายไฟเอซีก็เป็นของแบรนด์ Purist Audio Design รุ่น Musaeus เช่นกัน (ผมเน้นใช้สายเชื่อมต่อในระบบเป็นแบรนด์และรุ่นเดียวกันทั้งหมดเพื่อรักษาบุคลิกและเฟสสัญญาณให้ตรงกันให้มากที่สุด)
ก่อนทดสอบด้วยการลองฟังจริงๆ จังๆ ผมได้ทดลองเล่นกับจั๊มเปอร์ดูด้วย ซึ่งจั๊มเปอร์ที่แถมมาให้ก็แสดงอาการว่าชอบสายลำโพงที่ดีไซน์รูปแบบเดียวกับสายลำโพงที่ใช้ทำตัวจั๊มเปอร์ หลังจากทดลองใช้สายลำโพงหลายรูปแบบที่ผมมีอยู่ พบว่า จั๊มเปอร์ตัวนี้ไปได้ดีกับสายลำโพงของ Kimber Kable รุ่น 12TC (REVIEW) โดยให้ค่าเฉลี่ยในแต่ละด้านออกมาน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจกแจงรายละเอียดในย่านทุ้ม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังในการแม็ทชิ่งสำหรับลำโพงรุ่นนี้ คือต้องทำให้เสียงทุ้มมีความเคลียร์ สะอาด และแยกแยะรายละเอียดออกมาให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องพยายามรักษาคุณภาพของเสียงกลางซึ่งเป็นจุดเด่นไฮไล้ท์ของลำโพงคู่นี้เอาไว้เสมอ แต่เมื่อผมทดลองใช้สายลำโพงไบไวร์ฯ 2 > 4 ของ Transparent Cable รุ่น Ultra มาทดลองกับลำโพงคู่นี้ พบว่ามันให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าใช้จั๊มเปอร์มาก
เซ็ตอัพตำแหน่ง
แม้ว่า Elysian 2 จะเป็นลำโพงวางขาตั้ง แต่ด้วยส่วนสัดที่อวบอ้วน ถ้าประเมินจากปริมาณของปริมาตรอากาศภายในตัวตู้ก็น่าจะต้องจัดมันเข้าไปอยู่ในกลุ่มของลำโพงขนาดกลางได้เลย ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในห้องฟังของผม ซึ่งก็ถือว่าเป็นห้องฟังขนาดกลาง (หน้ากว้างระหว่าง 3.5 – 4 เมตร) คุณสามารถเซ็ตอัพลำโพงรุ่นนี้สำหรับการรับฟังด้วยระยะนั่งฟังตั้งแต่ nearfield ไปจนถึงระยะ midfield ได้โดยไม่ทำให้สูญเสียอรรถรสของคุณภาพเสียงลงไปมาก
หลังจากทดลองขยับหาตำแหน่งในห้องฟังของผมอยู่พักใหญ่ ผมก็พบจุดลงตัวที่ให้ค่าเฉลี่ยของเสียงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งจุดที่ว่านี้มีระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย–ขวาอยู่ที่ 181 ซ.ม. โดยที่ลำโพงทั้งสองข้างอยู่ห่างจากผนังด้านหลังขึ้นมาข้างละ 152 ซ.ม. หลังจากขยับหาตำแหน่งของอุปกรณ์ปรับอะคูสติกจนลงตัวแล้ว ผมได้ตำแหน่งนั่งฟั่งที่ระยะ nearfield ซึ่งห่างจากระนาบของลำโพงทั้งสองตั้งฉากออกมาที่ระยะ 260 ซ.ม. และหลังจากทดลองขยับห่างจากระยะ nearfield ออกมาอีก 60 ซ.ม. ซึ่งเป็นระยะนั่งฟังในตำแหน่ง midfield หลังจากเร่งวอลลุ่มที่แอมป์ขึ้นมาอีกนิด ผมก็พบว่าเนื้อเสียงจากลำโพงคู่นี้ยังคงรักษาความเข้มข้นของมวลที่ทอดไกลออกไปครอบคลุมถึงตำแหน่ง midfield ได้อย่างสบายโดยไม่ทำให้สูญเสียรูปวงเวทีเสียงลงไป ใครที่ชอบฟังห่างจากระนาบลำโพงเพราะไม่ชอบแรงปะทะของพลังงานเสียงคุณต้องหาลำโพงที่ให้มวลเสียงเข้มข้นแบบนี้ไปใช้
เมื่อได้ตำแหน่งลงตัว ผมพบว่า Elysian 2 ไม่ต้องการโทอินเข้าช่วยมากเหมือนกับลำโพง Wharfedale รุ่นเก่าๆ ในอดีต แค่เคาะให้แผงหน้าของลำโพงทั้งสองข้างเอียงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังนิดเดียวก็ลงตัวแล้ว
มีทริคเล็กๆ แต่สำคัญมากสำหรับการเซ็ตอัพ Elysian 2 คู่นี้ที่ผมได้มาจากการทดลองเซ็ตอัพอยู่นาน นั่นคือ ลำโพงคู่นี้จัดเสียงกลาง–แหลมมาค่อนข้างลงตัวมาก คือคุณแทบจะไม่ต้องลงแรงในการเซ็ตอัพนานก็ได้เสียงกลางและแหลมที่ออกมาดี เหลือเพียงแค่เสียงทุ้มเท่านั้นที่ต้องออกแรงจัดการมากหน่อย ซึ่งเสียงทุ้มของ Elysian 2 จะออกมาในสไตล์นุ่มนวล หัวอิมแพ็คในย่านต่ำจะมีความมนแต่เนื้อแน่น ส่วนหางเสียงจะทอดตัวลงต่ำได้ดี เป็นลักษณะเสียงทุ้มของลำโพงที่ออกแบบท่อระบายอากาศยิงลงด้านล่างแบบนี้ และด้วยการใช้ไดเวอร์ขับทุ้มที่มีขนาดใหญ่ถึง 8.5 นิ้ว บวกกับการใช้เซอร์ราวนด์ (วงแหวนยางที่เชื่อมโยงระหว่างขอบของไดอะแฟรมกับโครงไดเวอร์) ที่ทำจากยางดิบที่มีความอ่อน ให้ตัวได้มาก ทำให้เสียงทุ้มของลำโพงคู่นี้มีปริมาณเยอะ คุณต้องไม่พยายามที่จะไปจำกัดเสียงทุ้มของมัน เพราะมีโอกาสจะไปทำให้เกิดอาการเค้น (compress) ของเสียงเกิดขึ้นได้ เวลาเซ็ตอัพให้เริ่มด้วยการปล่อยให้เสียงทุ้มออกมาเท่าที่ซิสเต็มและห้องของคุณอำนวยโดยโฟกัสไปที่เสียงกลางก่อน พยายามหาตำแหน่งที่เสียงกลาง (ฟังจากเสียงร้องง่ายที่สุด) ออกมาดีที่สุด ทั้งในแง่คอนทราสน์ไดนามิกและเนื้อเสียงที่มีมวลอิ่มเข้ม หลังจากนั้นค่อยไปจัดการกับเสียงทุ้มถ้ามีปัญหาล้น
เสียงของ Elysian 2
อาจจะเป็นเพราะหัวหน้าทีมที่ควบคุมการออกแบบ Elysian 2 ก็ยังคงเป็น Peter Comeau คนเดิม เมื่อเซ็ตอัพ Elysian 2 จนลงตัวแล้ว ผมก็พบว่า บุคลิกของเสียงที่ได้จากลำโพงคู่นี้จะมีเอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในลำโพง Wharfedale แทบทุกคู่ออกมาให้ได้ยิน นั่นคือ เสียงกลางที่โดดเด่นมาก ใครชอบฟังเสียงร้องจะต้องหลงรักลำโพงคู่นี้ ใครที่เคยชอบเสียงร้องจากลำโพง Wharfedale ซีรี่ย์อื่นๆ จะยิ่งหลงไหลมากขึ้นเมื่อมาฟังเสียงร้องจากซีรี่ย์ Elysian ที่ใช้ทวีตเตอร์ AMT เพราะทวีตเตอร์ตัวนี้จะช่วยทำให้ปลายเสียงกลางสูงขึ้นไปถึงเสียงแหลมมีความละเอียดและเนียนหูมากกว่าไดเวอร์ทรงโดมที่ใช้ในซีรี่ย์ล่างๆ
อัลบั้ม : Etta (DSF64)
ศิลปิน : Etta Cameron and Nikolaj Hess with Friends
สังกัด : Master Music LTD.
ช่วงนี้ผมกำลังเคซี่อยู่กับอัลบั้มนี้ ติดใจเสียงร้องของป้าเอ็ตต้าแกมาก เสียงของแกในอัลบั้มนี้ออกมาเข้มข้นยิ่งกว่าเอสเพรสโซ่เบิ้ลช็อตซะอีก! เพลงที่ผมชอบมากเป็นพิเศษในอัลบั้มนี้ก็คือ “Motherless Child” ซึ่งโชว์เสียงร้องชัดๆ ร่วมกับเสียงคีย์บอร์ดเบาๆ และมีเสียงเครื่องเคาะที่โผล่มาเป็นครั้งคราว ซึ่งจากที่เคยฟังผ่านลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One ที่ผมใช้อยู่ ผมพบว่า Elysian 2 ให้เสียงร้องของเอ็ตต้าที่มีลักษณะ “full body” มาก! มันปั้นเสียงร้องของป้าเอ็ตต้าขึ้นมาในอากาศได้อย่างมีทรวดทรง คือไม่ใช่แค่ชัดในแง่ของโฟกัสที่เป๊ะมาก แต่ยังทำให้ฟังแล้วรู้สึกถึงความหนา–บางของทรวดทรงที่เป็นสามมิติด้วย รวมถึงอากัปกิริยาในการขับร้องก็ปรากฏออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการขยับริมฝีปาก กลั้นหายใจและผ่อนลมออกมา เสียงกลืนน้ำลาย เป็นเสียงกลางที่มีคุณภาพสูง ซึ่งปกติแล้ว ลำโพงสองทางวางหิ้งขนาดย่อมๆ จะเด่นในการถ่ายทอดเสียงในย่านกลางมากกว่าลำโพงที่มีบอดี้ตัวตู้อวบใหญ่ แต่มาได้ยินเสียงกลางจาก Elysian 2 ตัวนี้แล้ว ต้องขอบอกว่า เป็นของยกเว้น เพราะเสียงกลางที่ Elysian 2 ให้ออกมานี้มันเหนือกว่าลำโพงสองทางหลายๆ คู่ที่ผมเคยฟังมาก สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า Elysian 2 ถูกออกแบบมาให้ทำงานผ่านไดเวอร์ 3 ตัวที่มีการตัดแบ่งความถี่ 2 จุดเพื่อแยกความถี่ออกเป็น 3 ส่วนแล้วจัดส่งให้กับไดเวอร์แต่ละตัว ของใครของมัน นั่นทำให้ไดเวอร์มิดเร้นจ์ 6 นิ้วดูแลเฉพาะความถี่ในย่านกลางแบบเต็มๆ ตัว และได้ไดเวอร์เบสขนาด 8.5 นิ้วช่วยสนับสนุนในย่านกลางต่ำเสริมเข้ามาด้วย ทำให้เสียงร้องของเอ็ตต้าออกมาเต็มสเปคตรัม มีกลางต่ำออกมารับด้วย และแถมยังได้เสียงทุ้มต่ำๆ แผ่ออกมาครอบคลุมเป็นแอมเบี้ยนต์โอบอุ้มอยู่รอบๆ และห้อมล้อมอยู่เต็มพื้นที่ด้านหลังของเสียงร้อง ทำให้ได้บรรยากาศที่เวิ้งว้าง น่าติดตาม
อัลบั้ม : Best Audiophile Voices (xrcd2)(WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Various Artist
สังกัด : Premium Records
เอาให้ชัดๆ ผมเลยเลือกอัลบั้มรวมเพลงร้องของนักร้องสาวๆ ชุดนี้มาทดลองฟัง และผมก็พบว่า Elysian 2 คู่นี้สามารถถ่ายทอดเสียงร้องของนักร้องของแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้ออกมาให้เห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ซึ่งนักร้องแต่ละคนจะมีลักษณะของโทนเสียงที่แตกต่างกัน บางคนออกไปทางแหลมสูง ให้เนื้อเสียงที่บางหน่อย แต่หางเสียงกังวานใส ในขณะที่บางคนออกไปทางอมทุ้ม มวลเนื้อหนาแต่หางเสียงไม่กังวานมาก ซึ่งลำโพงคู่นี้สามารถแจกแจงลักษณะของโทนเสียงนักร้องแต่ละคนออกมาได้อย่างชัดเจน และผมยังพบด้วยว่า ช่วงที่เสียงร้องโหนเสียงขึ้นไปสูงๆ นั้น เนื้อเสียงที่โน๊ตสูงๆ มันไม่มีอาการแตกซ่านหรือกร้าวแข็งขึ้นมา ซึ่งน่าจะเป็นเพราะไดเวอร์ AMT เข้ามาช่วยทำให้เสียงในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงเสียงสูงทั้งหมดมีลักษณะที่เนียนสะอาด ฟังแล้วละมุนหูมาก ไม่มีอาการแห้งและไม่หยาบกระด้าง
อัลบั้ม : The Greatest Female Alto (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Shen Dan
สังกัด : Tuya Records
ถึงเวลาทดสอบโหดกันแล้ว เริ่มด้วยเพลง “Alilang” แทรคที่สองในอัลบั้มชุดนี้ ผมพบว่า เสียงร้องระดับอัลโต้ของ Shen Dan ไม่ใช่งานยากสำหรับ Elysian 2 ซึ่งมันถ่ายทอดเสียงร้องของเธอออกมาได้อิ่มและมีเนื้อเสียงที่ข้นหนาตามโทนเสียงจริงของเธอ ทว่า สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งคือเสียงทุ้มที่ผมไม่คิดว่าจะได้ยินเสียงทุ้มคุณภาพระดับนี้จากลำโพงแบรนด์นี้ (Wharfedale ให้เสียงกลางได้ดี แต่ถูกตำหนิในแง่ของเสียงทุ้มมาตลอด) เสียงหวดกลองในแทรคนี้ออกมากระชับ และมีมวลที่แน่นหนัก หัวเสียงอิมแพ็คให้สปีดที่เร็ว แสดงถึงความฉับพลันที่สมจริง ที่เจ๋งเลยคือมิติเสียง ซึ่งเสียงทุ้มของลำโพงคู่นี้ ตั้งแต่ย่านทุ้มต้นๆ ลงไปจนถึงทุ้มตอนกลางมันให้หัวเสียงที่มีโฟกัสชัดเจน สามารถพาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งใดของเวทีเสียงก็ได้ ส่วนทุ้มด้านล่างลงไปถึง deep bass ของลำโพงคู่นี้จะออกไปทางนุ่ม แผ่กระจายตัวออกไปในแนวกว้าง หัวเสียงในย่านทุ้มต่ำๆ ไม่ได้ออกไปทางคมชัด แต่ด้วยลักษณะการแผ่ขยายตัวของเสียงทุ้มในย่านต่ำเป็นผลดีกับบรรยากาศที่โอบอุ้มเสียงอื่นๆ เอาไว้ ทำให้ฟังแล้วไม่รู้สึกแห้ง
อัลบั้ม : Ink (96/24 SuperAudioDisc / WAV-24/96)
ศิลปิน : Livingston Taylor
สังกัด : Chesky Records
ฟังอัลบั้มนี้แล้วชัดมาก.! ทำให้ Elysian 2 สอบผ่านมาตรฐานไฮเอ็นด์แบบนิ่งๆ ซึ่งปกติแล้ว ผมมักจะได้ยินอาการแห้งออกมาจากอัลบั้มนี้เสมอ มากบ้าง–น้อยบ้างในแต่ละซิสเต็ม แต่เมื่อได้ลองฟังผ่านลำโพง Elysian 2 ตัวนี้แล้ว ผมแทบจะไม่ได้ยินอาการแห้งที่ว่าหลุดลอดออกมาจากลำโพงคู่นี้เลย ผมตั้งใจสังเกตเสียงในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงแหลมของอัลบั้มนี้เป็นพิเศษ เพราะมันมักจะไปแห้งตรงนั้น แต่คราวนี้กลับได้ยินเสียงที่ติดฉ่ำนิดๆ ออกมาแทน ทั้งปลายเสียงร้องและเสียงกีต้าร์ของลีฟวิงสตัน เทย์เลอร์มันมีความละเอียดเนียนของเนื้อเสียงออกมาให้ได้ยินตลอดเวลา ทั้งตอนที่เขาร้องแผ่วๆ และตอนเปล่งพลังออกมาดังๆ จากเพลง “Fly Away” แทรคที่ 4 ผมพบว่า มิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์ของลำโพงคู่นี้ช่วยกันควบคุมโมชั่นการเปล่งพลังของนักร้องคนนี้ได้อยู่หมัดจริงๆ เสียงมีไดนามิกแต่ไม่มีอาการ “หลุด” เลย.!
ผมทดลองฟังเทียบกับโทเท็ม เดอะวันของผมในแทรคเดียวกัน แอมป์และเพลเยอร์ชุดเดียวกัน ผมพบว่าเดอะวัน วาดรูปวงออกมาได้กว้างกว่าเมื่อคะเนจากตำแหน่งของชิ้นดนตรีทั้งหมด ในขณะที่ Elysian 2 ให้รูปวงที่แคบกว่า แต่ให้ซาวนด์สเตจที่สมบูรณ์แบบมากกว่า คือแต่ละชิ้นดนตรีที่ได้ยินจากเดอะวันมันมาเฉพาะหัวเสียงกับบอดี้ท่อนบน ในขณะที่ Elysian 2 เติมเต็มบอดี้ส่วนล่างของแต่ละชิ้นดนตรีเข้าไปด้วย ส่งผลให้เสียงจาก Elysian 2 มีความเต็มตัว (full body) มากกว่า และที่ทำให้อัลบั้มนี้มีความน่าฟังมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือรายละเอียดในย่านทุ้มที่ Elysian 2 ให้ออกมาได้มากกว่า ทำให้ได้ทั้งน้ำหนักของตัวเสียงเบสกับกลองที่เคาะด้วยฝ่ามือที่เรียกว่ากลองคาฮอง (Cajon) ที่ฟังแล้วเหมือนของจริงมากกว่า และปริมาณความถี่ในย่านกลางต่ำลงไปถึงทุ้มที่ Elysian 2 ให้ออกมายังไปช่วยให้การย้ำเน้นจังหวะของเพลงมีความชัดเจนและแม่นยำมากขึ้นด้วย
สรุป
ตอนเห็นรูปร่างภายนอกที่ค่อนไปทางอวบของลำโพงคู่นี้ทำให้ผมแอบหวั่นใจว่ามันจะให้เสียงเบสล้นห้องฟังของผมหรือเปล่า.? แต่หลังจากทำการเซ็ตอัพลงตัวแล้ว Elysian 2 คู่นี้ก็ให้เสียงที่น่าประทับใจอย่างมากในห้องฟังของผม เสียงทุ้มของมันไม่ได้สร้างปัญหาแต่อย่างใด แสดงถึงศักยภาพของไดเวอร์ขับทุ้ม 8.5 นิ้วตัวใหม่ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะใช้แอมป์ระดับกลางๆ ที่มีกำลังขับระหว่าง 100-150 วัตต์ ก็สามารถควบคุมเสียงทุ้มให้อยู่ในร่องในรอยได้อย่างน่าพอใจ
Elysian 2 คู่นี้พิสูจน์ให้เห็นว่า Wharfedale สามารถทำลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ออกมาได้จริง Elysian 2 เป็นลำโพงที่พร้อมแสดงความมหัศจรรย์ของความเป็นไฮเอ็นด์ออกมาให้สัมผัสเมื่อคุณเซ็ตอัพมันอย่างถูกต้อง /
********************
ราคา :
ลำโพง Elysian 2 = 180,000 / คู่ (โปรโมชั่นพิเศษจากราคาเต็ม = 225,000 บาท / คู่)
ขาตั้ง Elysian 2 Stand = 19,900 บาท / คู่ (โปรโมชั่นพิเศษจากราคาเต็ม = 24,500 บาท / คู่)
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บ. HiFi Tower
โทร. 02-881-7273-5
facebook: @hifitowerShop
LineID: @hifitower