ระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์..!!?? คุณอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมจึงกล้าห้อยท้ายหลังลำโพงยี่ห้อนี้ด้วยประโยคนี้ โดยส่วนตัวของผม ผมจะแบ่งระดับ “คุณภาพ” ของลำโพงเอาไว้ 4 ระดับแบบหยาบๆ คือ แย่ > ดี > ไฮเอ็นด์ > ซุปเปอร์ไฮเอ็นด์
ระดับแรกคือ “แย่” หมายถึงลำโพงที่ให้เสียงไม่ดีตั้งแต่คุณสมบัติพื้นฐานที่ลำโพงที่ออกแบบมาอย่างถูกต้องควร “จะต้อง” มีอยู่ในตัว อย่างเช่น โทนัลบาลานซ์ไม่สมดุล – เบสเยอะไปบ้าง แหลมเยอะไปบ้าง เนื้อเสียงหยาบกระด้าง – โดยเฉพาะเสียงแหลมที่มีเกรนหยาบปนอยู่ในเนื้อเสียงฟังแล้วระคายหู การแยกแยะความถี่ไม่ขาด – เบสกับกลางชิดกันเกินไปจนเกิดการควบกล้ำทำให้หนาเกินไป สูญเสียรายละเอียดที่เป็นหัวโน๊ต กลางกับแหลมถ่างจากกันมากไปจนทำให้เนื้อมวลบาง ฯลฯ สารพัดรูปแบบ ลำโพงใดที่มีลักษณะตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผมจัดอยู่ในกลุ่ม “แย่” เป็นกลุ่มของลำโพงที่ไม่ให้ “อรรถรส” ในการฟังใดๆ คือเอามาฟังเพลงก็ไม่มีความไพเราะ รวมถึงไม่ได้ให้ “ประสบการณ์ใหม่ๆ” ที่ลึกซึ้งกว่าการ “ได้ยิน” ด้วย
ส่วนลำโพงที่มีคุณภาพสูงกว่า “แย่” ขึ้นมาอีกระดับคือระดับ “ดี” เป็นลำโพงที่สามารถให้ความไพเราะของเพลงที่ฟังออกมาได้น่าพอใจ “ในบางแนวเพลง” อย่างเช่น ให้ความเพลิดเพลินในการฟังเพลงร้องช้าๆ กับเพลงบรรเลงที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนได้ดี แต่ฟังเพลงบางแนวไม่ได้อรรถรสตามมาตรฐานของเพลงแนวนั้นๆ อย่างเช่น เพลงร็อค, เพลงแจ๊ส และเพลงคลาสสิก ลำโพงบางคู่ฟังเพลงเร็วๆ ได้สนุกแต่ฟังเพลงช้าไม่ถึงอารมณ์ พวกนี้ถือว่าเป็นลำโพงที่มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นประเภทที่มีอยู่ในตลาดมากที่สุด
แต่ถ้าเป็นลำโพงที่ฟังเพลงได้อรรถรสแทบจะทุกแนวเพลง ทั้งเพลงช้าและเพลงเร็ว ลำโพงเหล่านี้จะมีคุณสมบัติพื้นฐานที่ดีครบทุกประการ แต่จะมีความโดดเด่นกว่าลำโพงดีๆ ทั่วไปในแง่ของการตอบสนองกับสปีดที่ฉับไวใกล้เคียงกับสปีดของสัญญาณอินพุตที่มาจากเพาเวอร์แอมป์มาก ทำให้สามารถตอบสนองคุณสมบัติทางด้าน “จังหวะ” ของเพลงได้ถูกต้องตลอดทั้งย่านความถี่เสียง (ลำโพงที่ฟังเพลงได้ครบทุกแนวมักจะเป็นลำโพงขนาดใหญ่ ที่ตอบสนองความถี่ได้ครบ) ซึ่งจังหวะของเพลงที่ถูกต้องและนิ่งจะทำให้เพลงมีชีวิตชีวา ฟังแล้วให้ความรู้สึกเพลิดเพลินตรงตามอารมณ์ของเพลงจริงๆ ผมเรียกลำโพงแบบนี้ว่าเป็นลำโพงระดับ “ไฮเอ็นด์“
ส่วนลำโพงระดับ “ซุปเปอร์ไฮเอ็นด์” ในความหมายของผม คือลำโพงที่ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากการฟังลำโพงเหล่านั้น คือมันไม่ได้ทำให้แค่ “ได้ยิน” เสียงเพลงที่ไพเราะดังออกมาจากลำโพงเท่านั้น แต่ลำโพงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์จะทำให้เรา “รับรู้” ลึกลงไปถึงอากัปกิริยาของนักดนตรีแต่ละคนที่กระทำกับเครื่องดนตรีของพวกเขาจนก่อประสานกันออกมาเป็นเสียงเพลงด้วย ลำโพงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ทำให้เรารู้ว่า นักดนตรีแต่ละคนที่กำลังบรรเลงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในเพลงที่กำลังฟังนั้น เขาออกแรงกระทำ (touching) กับเครื่องดนตรีของเขาแบบไหน คนไหนกำลังดีด คนไหนกำลังเป่า คนไหนกำลังตี คนไหนกำลังเคาะ ลำโพงระดับนี้มันแยกแยะได้หมด โน๊ตไหนเน้นน้ำหนัก โน๊ตไหนแผ่วข้อมือและปลายนิ้ว ช่วงโน๊ตไหนลากปลายเสียงให้ทอดยาวออกไป ในขณะที่กระตุกหยุดอย่างเร็วในโน๊ตตัวไหนบ้าง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้คือ inner detail หรือรายละเอียดยิบย่อย (micro detail) ที่เจาะลึกลงไปในรายละเอียด (detail) อีกทีนึง และลำโพงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ยังทำให้เรารับรู้ผ่านการได้ยินถึงลักษณะการเกิดขึ้นของโน๊ตดนตรี รับรู้ต่อเนื่องไปถึงลักษณะการคงอยู่ของโน๊ตตัวนั้น ไปจนถึงลักษณะการสลายตัวของโน๊ตตัวนั้นครบทั้งวัฏจักรของมันอีกด้วย
ลักษณะภายนอกและการออกแบบ
Sabrina X เป็นลำโพงรุ่นเล็กสุดในกลุ่มของลำโพงตั้งพื้นของ Wilson Audio ซึ่ง Sabrina เวอร์ชั่นแรกออกมาเมื่อปี 2016 สมัยที่เดฟ วิลสันผู้พ่อยังมีชีวิตยู่ ส่วนเวอร์ชั่น Sabrina X ตัวล่าสุดนี้เป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดที่รุ่นลูกคือ Daryl ลงมือตั้งแต่ต้น ด้วยการหยิบเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้มาจากการออกแบบลำโพงหลายรุ่นของ Wilson Audio ในช่วงห้าปีหลังจาก Sabrina เวอร์ชั่นแรกถือกำเนิดขึ้นมาในโลก แม้ว่ารูปร่างภายนอกจะดูเหมือนกันมาก แทบจะไม่ต่างกันเลยถ้าไม่ยกมาประกบกันจุดต่อจุด แต่จริงๆ แล้ว Sabrina X ได้รับการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงขึ้นมาจาก Sabrina เวอร์ชั่นแรกมากถึง 7 จุด ได้แก่
1. ทวีตเตอร์ – ใช้ทวีตเตอร์ Convergent Synergy MK V ซึ่งเป็นทวีตเตอร์ทรงโดมผ้าอาบน้ำยาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ซึ่งทางวิลสันพัฒนาขึ้นมาใช้กับลำโพงรุ่น WHAM Master Chronosonic เป็นครั้งแรก
2. วูฟเฟอร์ – ใช้ตัวเดียวกับที่ใช้ในรุ่น Sasha DAW เป็นวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว ไดอะแฟรมทรงกรวยที่ทำด้วยเยื่อกระดาษ
* ส่วนไดเวอร์มิดเร้นจ์ขนาด 5 ¾ นิ้ว ยังคงเป็นรุ่นเดิม ไดอะแฟรมทำด้วยเยื่อกระดาษอาบน้ำยา
3. ผนังตู้ – Sabrina รุ่นเก่าใช้แผ่นไม้อัดที่มีความหนาแน่นสูง หรือไม้ HDF (High Density Fiberboard) ทำผนังตู้ ส่วนแผงหน้าตู้กับส่วนฐานที่ติดตั้งเดือยแหลมใช้วัสดุพิเศษที่ชื่อว่า “X-Material” ซึ่งเป็นวัสดุที่เกิดจากการผสมวัสดุหลายชนิดขึ้นมาเพื่อควบคุมแรงสั่น (vibrate) ที่เกิดกับพื้นที่ส่วนนั้นของตัวลำโพง อันนี้เป็นเทคนิคที่ทาง Wilson Audio คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมเรโซแนนซ์ของผนังตู้ ซึ่งมันได้ผลดีมาก แดริล วิลสันได้ตัดสินใจใช้วัสดุ X-Material ตัวนี้กับผนังตู้ทั้งหมดในการอัพเกรด Sabrina ครั้งนี้ นั่นคือที่มาของตัวอักษร “X” ที่ต่อท้ายชื่อรุ่นนั่นเอง
4. วงจรเน็ทเวิร์ค – มีการอัพเกรดประสิทธิภาพของวงจรเน็ทเวิร์คด้วยการเปลี่ยนมาใช้ตัวเก็บประจุ หรือ capacitors ตัวใหม่ที่ชื่อว่า AudioCapX ซึ่งออกแบบโดยวิลสันเอง
5. ขั้วต่อสายลำโพง – เปลี่ยนมาใช้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในลำโพงรุ่น Sasha DAW ที่เพิ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นขั้วต่อสายลำโพงที่วิลสันออกแบบและผลิตขึ้นมาเองในโรงงานของพวกเขา ตัวขั้วต่อทำด้วยโลหะตัวนำชุบทอง มีวงแหวนยางรัดไว้บนตัวขั้วต่อด้วย ทำให้ขันยึดขั้วต่อหางปลาของสายลำโพงได้อย่างง่ายๆ ด้วยมือเปล่าได้เลย อันนี้ชอบมาก.!
ใหญ่มาก.. ความกว้าง 5 ซ.ม. และสูงถึง 7 ซ.ม.
6. เดือยแหลม – เปลี่ยนจากเดือยแหลมตัวเล็กๆ ที่ใช้ในรุ่นเก่า มาใช้เป็นเดือยแหลมตัวใหญ่และแข็งแรง ลักษณะคล้ายกับที่ใช้ในลำโพงรุ่น WHAM Master Chronosonic และรุ่น Chronosonic XVX
7. ท่อระบายอากาศ – ตัวตู้ของ Sabrina X ยังคงแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนบนกับส่วนล่างโดยมีท่อระบายอากาศแยกของแต่ละส่วน ซึ่งท่อระบายอากาศส่วนบนได้ถูกเปลี่ยนจากท่อระบายอากาศแบบรุ่นเก่า ที่ทำมาจากท่อโลหะอะลูมิเนียมทรงกระบอกแล้วสวมเข้าไปในช่องกลมๆ ที่เจาะลงไปในแผงหลัง มาเป็นการเจาะรูลงไปบนแผงหลังของตัวตู้ตรงๆ เป็นรูเรียวๆ ยาวๆ กว้าง 3 ซ.ม. x ยาว 12 ซ.ม. ไม่ต้องใช้ท่อโลหะเหมือนแบบเก่า ในขณะที่ท่อระบายอากาศของตัววูฟเฟอร์ยังคงใช้ท่ออะลูมิเนียมทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว (7.5 ซ.ม.) เหมือนเดิม
เซ็ตอัพซิสเต็มเพื่อทดสอบ Sabrina X
ผู้ผลิตแจ้งระดับความไวของ Sabrina X ไว้ที่ 87dB เมื่อวัดที่อิมพีแดนซ์ปกติ 4 โอห์ม ครอบคลุมความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 31Hz ขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดที่ 23,000Hz (ระดับความราบเรียบอยู่ในเกนฑ์ +/-3dB ตลอดย่านความถี่ที่ตอบสนอง) แนะนำกำลังขับไว้ที่ระดับ “ต่ำสุด” เท่ากับ 50 วัตต์ต่อแชนเนล ถ้าคำนวนย้อนกลับไปที่โหลด 8 โอห์ม ก็ได้กำลังขับต่ำสุดอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 25 วัตต์ต่อข้าง จริงๆ แล้วก็ถือว่าไม่ได้โหดมาก และอิมพีแดนซ์ต่ำสุดก็อยู่แค่ระดับ 2.6 โอห์ม ลดลงไปจากอิมพีแดนซ์ปกติ (เฉลี่ย) ไม่ถึงครึ่ง
ขับกับปรี+เพาเวอร์ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3
ช่วงเวลาที่ลำโพงวิลสันคู่นี้เข้ามาทำการทดสอบในห้องฟังของผม นอกเหนือจากได้ทดลองขับด้วยชุดปรีแอมป์ + เพาเวอร์แอมป์ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3 ของผมซึ่งยืนพื้นอยู่แล้ว ผมก็มีแอมป์ที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลานั้นและได้ทดลองขับ Sabrina X อีกสามตัว เป็นอินติเกรตแอมป์ทั้งหมด ได้แก่ Line Magnetic รุ่น LM-805IA (หลอด / กำลังขับ 48 วัตต์ต่อข้าง)(REVIEW), Gryphon Audio Design รุ่น Diablo 120 (โซลิดสเตท / กำลังขับ 120 วัตต์ต่อข้าง)(REVIEW) และตบท้ายด้วยอินติเกรตแอมป์รุ่น Progression ของ Dan D’Agostino (โซลิดสเตท / กำลังขับ 200 วัตต์ต่อข้าง) ซึ่งแอมป์ทั้งหมดนั้นล้วนมีความสามารถขับดันให้ Sabrina X เผยศัยภาพออกมาให้ได้ยินได้ทุกตัว ทว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาก็แตกต่างกันไปในประเด็นและปริมาณของความพึงพอใจ
ขับกับอินติเกรตแอมป์ Line Magnetic รุ่น LM-805IA
อย่างตัว Line Magnetic LM-805IA นั้นแม้จะมีกำลังขับแค่ 48 วัตต์ แต่ก็สามารถทำให้กลาง–แหลมของ Sabrina X เปล่งประกายออกมาได้อย่างสวยงาม เสียงกลางมีวรรณะที่สดใส เปิดโล่ง เต็มไปด้วยมวลอากาศที่อบอุ่นล้อมรอบตัวเสียง อีกทั้งยังให้คอนทราสน์ไดนามิกที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง ฟังเพลงช้าๆ ที่ลีลาไม่หนักแล้วรู้สึกเคลิ้บเคลิ้ม จุดอ่อนเดียวที่ปรากฏออกมาก็คือการควบคุมเสียงทุ้มลึกๆ ที่ย่อหย่อนไปนิด ทำให้เบสลึกๆ มีลักษณะหลวม ไม่กระชับแน่นอย่างที่ควร (เมื่อเทียบกันขับด้วย Diablo 120 และ Progerssion) ในขณะที่ Diablo 120 ทำให้ช่วงล่าง (เบส) ของ Sabrina X มีความกระชับตึงตัวมากขึ้น ในขณะที่กลางกับแหลมก็มีความเข้มและรัดตัวของมวลเนื้อมากขึ้นด้วย ส่งผลให้การเกิดขึ้น–คงอยู่ และสลายไปของโน๊ตดนตรีมีไทมิ่งที่ใกล้เคียงความจริงมากกว่า เป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า “กำลังขับ” เป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นมากสำหรับ Sabrina X ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ได้ถูกตอกย้ำให้มั่นใจมากขึ้นหลังจากได้ทดลองจับคู่ Sabrina X เข้ากับ Dan D’Agostino รุ่น Progression ซึ่งเป็นแอมป์ที่จับคู่กับ Sabrina X แล้วให้ผลลัพธ์ทางเสียงออกมาได้ค่าเฉลี่ยสูงที่สุดในแต่ละคุณสมบัติ
ขับกับอินติเกรตแอมป์ Gryphon Audio Design รุ่น Diablo 120
ผมสรุปใช้อินติเกรตแอมป์ Dan D’Agostino เป็นขุมกำลังในการขับดันลำโพง Sabrina X ผ่านสายลำโพงที่ยาวข้างละ 2.5 เมตรของ Purist Audio Design รุ่น Musaeus (REVIEW) และอาศัยสัญญาณเสียงจากแหล่งต้นทาง 2 แหล่งสลับกันฟัง ทางฝั่งดิจิตัลผมใช้ roon nucleus+ (REVIEW) เป็นทรานสปอร์ตในการเล่นไฟล์เพลงแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปที่ Audio-gd R-8 (REVIEW) ทาง USB โดยใช้สาย USB ของ Nordost รุ่น Valhalla 2 เป็นตัวเชื่อม จากนั้นก็ดึงสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตบาลานซ์ XLR ของ R-8 ผ่านสายบาลานซ์ของ Life Audio รุ่น Gold MK II ไปที่อินพุต XLR ของอินติเกรตแอมป์ Progression ส่วนแหล่งต้นทางอะนาลอก ผมใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น Stabi R ของ Kuzma ติดอาร์มรุ่น Stogi Reference ความยาว 9 นิ้ว โดยใช้หัวเข็ม MC ของ Kuzma รุ่น Car 30 ทำหน้าที่เซาะร่องแผ่นเสียง ซึ่งหัวเข็ม MC ตัวนี้ให้เกนสัญญาณเอ๊าต์พุตอยู่ที่ 0.3mV (รีวิวจะตามมาในไม่ช้า) จากนั้น สัญญาณเสียงจากหัวเข็มได้ถูกลำเลียงผ่านสายโทนอาร์มและขั้วต่อ XLR ที่ติดตั้งมากับโทนอาร์ม Stogi Reference ไปส่งต่อให้กับอินพุต XLR ของโฟโนปรีแอมป์ของ Accuphase รุ่น C-47 ก่อนจะปล่อยสัญญาณเอ๊าต์พุตไปที่อินพุต XLR ของอินติเกรตแอมป์ Progression ด้วยสายบาลานซ์รุ่น Gold MK II คู่เดียวกัน (สลับสายกับ Audio-gd R-8)
เซ็ตอัพ Sabrina X
ลำโพงแต่ละคู่ถูกปรับจูนมาต่างกัน ซึ่งการที่จะทราบว่า ลำโพงคู่นั้นถูกปรับจูนความสามารถในการแจกแจงความถี่เสียง (frequency response) มาได้กว้างขวางขนาดไหน และถูกปรับจูนอัตราสวิงของไดนามิกมาได้กว้างเพียงใด.? สิ่งที่ต้องทำก็คือแม็ทชิ่งแอมป์ และเซ็ตอัพตำแหน่งไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหา “จุดลงตัว” ระหว่างลำโพงคู่นั้นกับห้องฟังและซิสเต็มที่ใช้ขับดันมันซะก่อน
วิธีการปรับจูน+เซ็ตอัพของผมก็คือพยายามดึงไดนามิกเร้นจ์ของเสียงออกมาจากลำโพงคู่นั้นให้มีลักษณะที่เปิดกว้างที่สุดก่อน ด้วยการเปิดเสียงให้ดังถึงระดับสูงสุดของการรับฟังปกติ (บางครั้งก็ดันวอลลุ่มให้สูงเกินจุดนี้ไปนิดๆ) เพื่อค้นหาระดับความดังที่จะดึง peak ของลำโพงให้ถ่ายทอดไดนามิกเร้นจ์สูงสุดที่มันทำได้ออกมา ถ้าเป็นการเซ็ตอัพภาพของวงการโฮมเธียเตอร์เทียบได้กับการทำ maximize contrast ของภาพนั่นเอง เมื่อดันวอลลุ่มขึ้นไปถึงความดังจุดนั้นแล้ว จึงค่อยหันมาพิจารณาและจัดการในแง่ contrast dynamic หรือความเปรียบต่างของระดับความดัง–เบาของเสียงให้มีลักษณะที่เปิดกว้างมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เสียงมีความต่อเนื่องของการแยกแยะจากดังสุดลงไปถึงเบาสุดให้มากที่สุด โดยมีความเพี้ยนน้อยที่สุด
โดยปกติแล้ว ถ้ายังไม่ได้ทำการแม็ทชิ่งในระบบ อย่างเช่น ทดลองเปลี่ยนสายสัญญาณ, สายลำโพง, สายไฟ ฯลฯ เมื่ออัดวอลลุ่มของแอมป์ขึ้นไปสูงๆ เสียงของลำโพงมักจะมีลักษณะจัดจ้าน ซึ่งเป็นอาการ compressed ของเสียง เป็นลักษณะของเสียงที่บอกให้รู้ว่ามี “คอขวด” เกิดขึ้นในระบบ จุดใดจุดหนึ่ง หรืออาจจะมากกว่าหนึ่งจุด ซึ่งหากคุณทำการคำนวนกำลังขับของแอมป์และคุณภาพของแหล่งต้นทางสัญญาณ (source) ที่คุณเลือกมาทดลองฟังกับลำโพงแล้วว่ามีสเปคฯ อยู่ในมาตรฐาน ดังนั้น ต้นเหตุของอาการ “คอขวด” ที่เกิดขึ้นในระบบก็มีความเป็นไปได้อยู่ 2 อย่าง ความเป็นไปได้อย่างแรกคือ มาจากระบบการเชื่อมต่อในระบบเอง (สายสัญญาณ, สายลำโพง, สายไฟเอซี ฯลฯ) ส่วนความเป็นไปได้อย่างที่สองก็คือมาจากตำแหน่งการวางลำโพงยังไม่ลงตัว ซึ่งคุณต้องทำการค้นหาต้นเหตุและแก้ไขไปพร้อมกัน นั่นคือ ทดลองเปลี่ยนสายเชื่อมต่อต่างๆ และทดลองขยับตำแหน่งลำโพงไปด้วย
ลำโพงดีธรรมดาๆ กับลำโพงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ ต่างกันอย่างไร.? ลองสังเกตภาพของสัญญาณเสียงเพลงที่ตัดมาสั้นๆ ข้างบนนี้ ในวงกลมสีแดงนั้นคือช่วงเวลาแค่ไม่กี่วินาทีที่เพลงนี้ดำเนินไป ถ้ามองเผินๆ เหมือนว่ามียอดคลื่นสูงๆ อยู่แค่ยอดเดียว แต่เมื่อสังเกตให้ดีจะพบว่าบนยอดคลื่นที่ว่านี้ยังมียอดแหลมๆ อยู่หลายยอดซ้อนๆ กันอยู่ นับได้มากกว่า 6 ยอด ซึ่งแต่ละยอดนั้นคือเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่บรรเลงอยู่พร้อมๆ กันนั่นเอง ซึ่งลำโพงที่มีคุณภาพไม่ดี จะให้ยอดคลื่นที่เป็นสัญญาณ peak ของเครื่องดนตรีหลายๆ ชิ้นนั้นผสมรวมเป็นยอดคลื่นเดียวกัน แยกออกมาได้ไม่ชัด ในขณะที่ลำโพงดีจะทำให้เราได้ยินและแยกแยะเสียงของเครื่องดนตรีทั้งหมดที่กำลังบรรเลงอยู่พร้อมกันออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน และยังสามารถรักษาสัญญาณช่วง peak ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเอาไว้ได้ ทำให้ได้รายละเอียดเหมือนสัญญาณต้นฉบับที่ออกมาจากสตูดิโอ
ผมเริ่มต้นเซ็ตอัพ Sabrina X ในห้องฟังตรงตำแหน่งเดียวกับลำโพงทุกคู่ที่ผมเคยฟังในห้องนี้ นั่นคือระยะห่างผนังหลังเท่ากับ 132 ซ.ม. (ความลึกของห้อง 6.6 หารด้วย 5) และระยะห่างระหว่างข้างซ้ายกับข้างขวาอยู่ที่ 180 ซ.ม. จากนั้นผมก็เริ่มเปิดเพลงสลับกับสัญญาณเบิร์นฯ ของ Atlas Cable เบิร์นฯ ไปเรื่อยๆ โดยใช้ระดับวอลลุ่มประมาณ 50% ของความดังที่ผมฟังปกติ (แผ่นที่อัดมาเบาก็เร่งวอลลุ่มขึ้นมาให้อยู่ในระดับนี้ ส่วนแผ่นที่อักมาดังก็ลดวอลลุ่มลงมาให้อยู่ในระดับนี้) หลังผ่านชั่วโมงที่ 20 ไปแล้ว ผมก็เริ่มเปิดดังขณะนั่งฟัง ขึ้นสลับกับเบาลงขณะเปิดทิ้งไว้เฉยๆ
แอมป์ตัวแรกที่ผมใช้เบิร์นฯ Sabrina X คือ Line Magnetic : LM-805IA ซึ่งพบว่า คู่นี้ให้เสียงกลางและแหลมออกมาในเกณฑ์ที่ดีตั้งแต่นาทีแรก คือยังไม่ใช่ระดับที่ดีที่สุด แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้เลย ขณะที่เสียงทุ้มยังขาดความกระชับ ปลายเสียงทุ้มยังมีลักษณะหลวมๆ เก็บรวบปลายไม่ดี หลังจากฟังไปเรื่อยๆ จนถึงชั่วโมงที่ 20 ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น เบสเริ่มกระชับและเก็บปลายได้ดีขึ้น แต่กับเพลงที่เน้นเบสหนักๆ และทรานเชี้ยนต์รุนแรงก็ยังมีอาการหลวมๆ อยู่ ผมเปลี่ยนเอาอินติเกรตแอมป์ Gryphon Audio Design : Diablo 120 เข้าไปแทน LM-805IA สิ่งแรกที่รู้สึกได้คือการควบคุมดีขึ้นในทุกๆ ความถี่ ทำให้การรับรู้สภาวะการเกิดขึ้น–คงอยู่–สลายไปของแต่ละเสียงมีความชัดเจนเด็ดขาดมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกถึงอาการอั้นของเสียงที่ทำให้รู้สึกอึดอัดนิดๆ ซึ่งจากประสบการณ์คาดว่าน่าจะเกิดจากตำแหน่งของลำโพงที่ยังไม่ลงตัวดี ผมจึงทดลองขยับตำแหน่งลำโพงทั้งสองตัวให้อยู่ในลักษณะที่ “หลวม” มากขึ้น คือขยับระยะห่างทั้งสองข้างออกไปและดึงลำโพงทั้งสองข้างห่างผนังด้านหลังขึ้นมาด้วย
หลังจากขยับ fine tune ตำแหน่งอยู่พักหนึ่ง ผมก็ได้ระยะลงตัวที่ทำให้อาการอึดอัดของเสียงหายไป คือระยะห่างซ้าย–ขวามาอยู่ที่ 187 ซ.ม. และได้ระยะห่างผนังหลังอยู่ที่ 134 ซ.ม. ซึ่งทำให้ได้ “ช่องไฟ” ระหว่างชิ้นดนตรีที่ถ่างออกจากกันมากขึ้น เป็นเพราะตัวเสียง (อิมเมจ) ของแต่ละชิ้นดนตรีมีขนาดกระทัดรัดมากขึ้น เนื้อมวลเข้มข้นมากขึ้น จุดนิวเคลียสของแต่ละตัวเสียงปรากฏออกมาชัดขึ้น และสุดท้ายคืออัตราสวิงไดนามิกดีขึ้น รับรู้ได้ถึงลักษณะการสวิงดัง–เบาของเสียงที่ขยายกว้างมากขึ้น ช่วยทำให้รู้สึกถึงอาการขยับเคลื่อนของเสียงที่เป็นอิสระมากขึ้น ฟังแล้วรับรู้ถึงอรรถรสของเพลงได้ลึกซึ้งมากขึ้น
หลังจากใช้ Diablo 120 ขับ Sabrina X ต่อเนื่องมาประมาณ 30 ชั่วโมง ผมก็ลองเปลี่ยนมาใช้อินติเกรตแอมป์ Dan D’Agostino : Progression เข้าไปลองขับ Sabrina X บ้าง ปรากฏว่าเสียงโดยรวมก็ดีขึ้นไปอีก อย่างแรกที่รู้สึกได้คือ “เวทีเสียง” ที่แผ่ขยายและเปิดกว้างออกไปมากขึ้น ผมสามารถมองทะลุเข้าไปในวงได้ชัดขึ้น สามารถฟังแยกแต่ละชิ้นดนตรีได้ชัดขึ้น รู้ได้ชัดขึ้นถึงลักษณะการกระทำของนักดนตรีที่กระทำกับเครื่องดนตรีของเขา และไม่ใช่แค่นักดนตรีแต่ละคนกระทำอย่างไร (ตี, เคาะ, ทุบ, สี, เขย่า, ร้อง) กับเครื่องดนตรีของพวกเขา แต่เมื่อเจาะลงไปฟังเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นแล้ว ผมยังสามารถรับรู้ได้เลยว่า ในแต่ละโน๊ตที่นักดนตรีคนนั้นกระทำลงไปกับเครื่องดนตรีของเขา เขาใช้แรงกระทำแตกต่างกันอย่างไร บางโน๊ตเน้นในขณะที่บางโน๊ตแผ่ว สามารถติดตามไปได้ตลอดทั้งเพลงโดยไม่มีอาการวูบวาบ
ขับกับอินติเกรตแอมป์ Dan D’Agostino รุ่น Progression
หลังจากใช้ Progression ขับ Sabrina X ต่อเนื่องมาอีกประมาณ 20 ชั่วโมง ผมได้ทดลอง fine tune ตำแหน่งวางลำโพงอีกครั้ง โดยขยับลำโพงทั้งสองข้างออกห่างจากกันอีกเล็กน้อย พบว่า เมื่อลำโพงซ้าย–ขวาถูกแยกออกจากกันมากขึ้นอีกแค่ 3 ซ.ม. เป็น 190 ซ.ม. และดึงห่างผนังหลังออกมาอีกนิดเดียวแค่ครึ่งเซนติเมตรเป็น 134.5 ซ.ม. ผมก็ได้เสียงโดยรวมที่ดีขึ้นไปอีกเล็กน้อย คือได้ช่องไฟของเสียงที่เปิดกว้างมากขึ้น ได้การคลายปลายเสียงลงไปได้สุดทางมากขึ้น (ฮาร์มอนิกทอดตัวไปได้ครบอ็อกเตรปมากขึ้น) ซึ่งความต่างของคุณสมบัติทั้งสองหลังจากขยับตำแหน่งลำโพงใหม่มีแค่นิดเดียวก็จริง ทว่า ผลลัพธ์ที่เกิดกับเสียงโดยรวมผมพบว่าเยอะมาก มันทำให้เสียงโดยรวมมีลักษณะที่คลายตัวมากขึ้นไปทุกเสียง ส่งผลให้ได้ความเป็นดนตรีสูงขึ้น ทั้งไดนามิกและรายละเอียดถูกคลี่คลายออกมาได้มากขึ้น ส่งผลให้ลีลาของดนตรีช้าๆ มีความอ่อนช้อยมากขึ้น และทำให้ลีลาของดนตรีเร็วๆ มีความเน้นย้ำมากขึ้น ฟังดีขึ้นมาก หลังจากฟังมาอีกระยะหนึ่ง ผมก็ใช้ซิสเต็มและเซ็ตอัพนี้ในการทดสอบเสียงของ Sabrina X คู่นี้
เสียงของ Sabrina X
Sabrina X สามารถแจกแจงรายละเอียดของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน ไม่มีอาการกลบทับกัน แม้ว่าจะเป็นช่วงพีคของเพลงที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นกำลังสาดพลังเข้าหากันอย่างบ้าคลั่ง มัน (Sabrina X) ก็ไม่ทำให้เสียงเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งถูกกลบหายไป
อัลบั้ม : Famous Blue Raincoat (20th Anniversary Edition) (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Jennifer Warnes
สังกัด : Shout! Factory
ช่วงที่เปิดเพลงเบิร์นไปเรื่อยๆ ใกล้ถึง 100 ชั่วโมง ผมได้ยินคุณสมบัติเด่นของ Sabrina X ปรากฏออกมาชัดเจนมากจากอัลบั้ม Famous Blue Raincoat ของเจนนิเฟอร์ วอร์น ประเด็นที่ผมสะดุดหูอยู่ในแทรคที่ 8 เพลง “A Singer Must Die” ซึ่งเป็นแนวประสานเสียงอะคาเปร่าที่ไม่มีดนตรี ในแทรคนี้ผมพบว่า Sabrina X สามารถแยกเสียงร้องของเจนนิเฟอร์ให้ลอยเด่นออกมาจากเสียงประสานชาย–หญิงที่รายล้อมอยู่รอบๆ ได้อย่างหมดจดมาก ในขณะเดียวกัน เมื่อโฟกัสลงไปที่เสียงประสานอื่นๆ แม้ว่าจะเบียดชิดกันแต่ผมก็ยังสามารถแยกเสียงร้องของแต่ละคนออกจากกันได้ เมื่อลองเจาะลงไปที่เสียงร้องของแต่ละคนก็สามารถรับรู้ถึงลักษณะเฉพาะที่เป็นโทนเสียงที่ต่างกันของแต่ละคนได้ คือภายใต้เสียงประสานที่ฟังดูกลมกลืนกัน กอดรัดไปด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้คลุกเคล้านัวเนียปะปนกันมั่วจนแยกแยะรายละเอียดของแต่เสียงไม่ออก ผมพบว่า Sabrina X คู่นี้จัดช่องไฟของแต่ละเสียงร้องให้มี space ของใครของมัน มีอากาศล้อมรอบแต่ละเสียงจึงทำให้แต่ละเสียงร้องสามารถโชว์ฮาร์มอนิกของใครของมันออกมาได้ และยังให้อิสระในการขยับตัวเคลื่อนไหวที่ไม่ดึงรั้งซึ่งกันและกันอีกด้วย ลีลาใครลีลามัน (ไดนามิกคอนทราสน์ดีเยี่ยม) น่าทึ่งตรงที่ว่า ความถี่เกือบทั้งหมดนี้อยู่ในย่านเสียงกลาง (midrange) ด้วยกัน ซึ่งเป็นย่านความถี่ส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจากไดเวอร์มิดเร้นจ์และทวีตเตอร์แค่ข้างละ 2 ตัวเท่านั้น แสดงถึงความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการแยกแยะรายละเอียดของไดเวอร์ทั้งสองตัวนี้ (เป็นไดเวอร์ที่ทาง Wilson Audio ออกแบบและผลิตเองทั้งหมด)
อัลบั้ม : Live! Out On The Road (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : The Flirtations
สังกัด : Flirt Records
เพื่อความมั่นใจ ผมเลือกอัลบั้มชุด Live! Out On The Road ขึ้นมาฟังต่อเนื่องกันและมุ่งพิจารณาที่ประเด็นเดียวกัน ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีก เพราะอัลบั้มนี้เป็นงานร้องประสานเสียงของกลุ่มนักร้องเกย์จากประเทศแคนาดา วงนี้มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 5 คน ร้องเพลงประสานแนวอะคาเปร่าเป็นหลัก ช่วงประสานเสียงของหลายๆ แทรคในอัลบั้มนี้โชว์ความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดในย่านเสียงกลางที่เยี่ยมยอดของลำโพงวิลสันคู่นี้ออกมาให้ประจักษ์ คือไม่ใช่แค่แยกให้เห็น (ได้ยิน) ว่าในขณะเวลานั้นมีเสียงอะไรดังออกมาพร้อมกันบ้าง แต่มันสามารถแยกแยะลงไปได้ถึงระดับ inner detail คือบอกให้รู้เลยว่า นักร้องแต่ละคนกำลัง “ปั้นแต่ง” เสียงของพวกเขาอย่างไร นั่นทำให้ผมรู้สึกได้ถึง “น้ำหนัก” ที่ศิลปินคนนั้นย้ำเน้นลงไปในแต่ละพยางค์ของคำร้องที่เขาเปล่งออกมา เป็นรายละเอียดที่ถูกเปิดเผยออกมาให้ได้ยินแบบไม่ยัดเยียดซะด้วย คือลอยมาเข้าหูในขณะที่ลีลาของเพลงก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับเป็นรายละเอียดเชิงซ้อนที่ลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดออกมาให้สัมผัส.. และมันดึงดูดให้ผมหลุดเข้าไปในเพลงที่ฟังโดยไม่รู้ตัว.!
อัลบั้ม : ซน (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : นูโว
สังกัด : แกรมมี่
เอาให้ชัดเจนเด็ดขาดกันไปเลย เพราะเสียงกลางคือหัวใจของทุกสิ่ง ผมกดเลือกเพลง “ยิ่งใกล้ ยิ่งเจ็บ” ในอัลบั้มนี้ขึ้นมาลองฟังต่อทันที เพลงนี้เป็นงานเพลงของวงอินคา แต่นูโวนำเอามาเรียบเรียงและขับร้องกันใหม่ในลีลาประสานเสียงแบบอะคาเปร่าแบบไทยๆ ซึ่ง Sabrina X สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาทำเพลงนี้ออกมาได้ดีพอสมควร เสียงร้องของนักร้องนำหลักๆ ในวงนูโวทั้งสามคนคือก้อง, จอห์น และโจ ถูกจำแนกออกมาให้เห็นเลยว่า จังหวะไหนที่พวกเขาแยกกันร้องและจังหวะไหนที่ประสานเสียงกันออกมา ซึ่งลำโพงคู่นี้แยกแยะให้รู้เลยว่า จริงๆ แล้วโทนเสียงของทั้งสามคนนี้ต่างกันเยอะ ไปกันคนละทางเลย น่าทึ่งมาก.! ลำโพงที่มีประสิทธิภาพทางด้าน tonality ต่ำกว่านี้จะทำให้เสียงของทั้งสามคนนี้ฟังดูคล้ายกันและควบกล้ำกลมกลืนไปด้วยกัน แยกแยะความต่างไม่ค่อยออก
“Bass” Story
อัลบั้ม : The Hunter (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Jennifer Warnes
สังกัด : Private Music
อัลบั้ม : The Greatest Female Alto Vol-1 (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Shen Dan
สังกัด : Tuya Records
อัลบั้ม : AYA – Authentic Audio Check (WAV–16/44.1)
ศิลปิน : Various Artists
สังกัด : Stockfisch
ลำโพงที่มีไดเวอร์จำนวนน้อย อย่างเช่น 2 ตัวและวูฟเฟอร์ที่ใช้มีขนาดไม่เกิน 6 นิ้วครึ่ง ถ้าออกแบบให้ตอบสนองความถี่แบบเรียบแฟลตกันจริงๆ เสียงทุ้มที่ได้ออกมาจะมีตัวตนชัดเจนแค่ระดับทุ้มต้นๆ เท่านั้น ส่วนทุ้มตอนกลาง (mid-bass) ลงไปถึงทุ้มลึกๆ (low & deep-bass) จะออกมาบางและเบามาก เพราะปริมาตรตู้มีอยู่จำกัด ดังนั้น ลำโพงสองทางวางขาตั้งทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาดจะถูกออกแบบให้มีการ boost ความถี่ในย่านต่ำเอาไว้ ขึ้นอยู่กับคนออกแบบว่าจะเน้นกลาง–แหลมเยอะโดยยอมเสียคุณภาพของเสียงกลางหน่อย หรือจะเน้นเบสเยอะเพื่อดึงดูดคนชอบเสียงทุ้ม โอกาสที่จะได้ยินเสียงทุ้มที่เรียบแฟลตลงไปถึง 20Hz จากลำโพงสองทางวางขาตั้งจึงเป็นเรื่องที่ไกลเกินความเป็นจริง
เราคาดหวังจะได้ยินเสียงทุ้มลักษณะไหนจากลำโพงที่ออกแบบให้ตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบจริงๆ.? คำตอบก็คือ เราควรจะได้ยินเสียงทุ้มจากแต่ละเพลงออกมาแบบที่มันถูกบันทึกมาจริงๆ นั่นเอง
Sabrina X เป็นลำโพงสามทาง และใช้วูฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่ถึง 8 นิ้ว และด้วยดีกรีของลำโพงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ (อันนี้ผมตั้งให้เอง) ผมจึงตั้งความหวังกับเสียงทุ้มของมันไว้เยอะมากในแง่ tonality คือตอบสนองความถี่ในลักษณะที่ราบเรียบจริงๆ ซึ่งเสียงทุ้มจากทั้งสามอัลบั้มนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของ Sabrina X ในประเด็นข้างต้น เริ่มด้วยเพลง “Way Down Deep” ของ Jennifer Warnes ซึ่งเป็นแทรคที่นักฟังมักจะหยิบมาใช้โชว์ประสิทธิภาพของเสียงทุ้มกันบ่อย ซึ่งพอนำมาฟังผ่าน Sabrina X (ที่ขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Dan D’Agostino : Progression) ปรากฏว่าเสียงทุ้มของแทรคนี้ไม่ได้ลึกมาก และเสียงทุ้มของแทรคนี้ก็ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารอย่างที่ได้ยินจากลำโพงสองทางบางคู่ด้วย ในย่านต่ำของเพลง Way Down Deep มีเสียงทุ้มอยู่ 2 เสียงซ้อนกันอยู่ เป็นเสียงเบสกีต้าร์กับเสียงทุ้มอีกเสียงที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเสียงตีกลองใหญ่หรือเป็นเสียงทุ้มที่สร้างขึ้นมาจากอิเล็กทรอนิค ซึ่ง Sabrina X แสดงให้เห็นว่าเสียงทุ้มทั้งสองเสียงนี้จะมีลักษณะต่างกันชัดเจน เสียงเบสกีต้าร์จะมีบอดี้ที่กลมและทอดหางออกไปได้ในขณะที่อีกเสียงจะมีลักษณะกระชับห้วน เก็บตัวเร็ว ตัวผมเองได้ยินเสียงทุ้มของแทรคนี้ครั้งแรก ยอมรับว่ารู้สึกแปลกหูไปเลย ตอนแรกคิดว่ามีอะไรผิดปกติ แต่พอลองฟังเทียบกับเสียงทุ้มในเพลง “Alilang” แทรคที่สองจากอัลบั้ม The Greatest Female Alto Vol-1 กับเสียงทุ้มในเพลง “Sharpening A Knife” แทรคที่สามจากอัลบั้ม AYA – Authentic Audio Check ผมจึงได้รู้ความจริง คือเสียงทุ้มของทั้งสามแทรคนี้มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และเป็นความแตกต่างในประเด็นย่อยหลายแง่หลายมุมด้วย ประเด็นแรกในแง่ของ “ขนาด” ซึ่ง Sabrina X คู่นี้แสดงให้เห็นชัดเลยว่า เสียงทุ้มในแทรค “Sharpening A Knife” มีลักษณะที่แผ่ใหญ่มากที่สุดในจำนวนสามแทรคนี้ หัวเสียงไม่ได้กระแทกมากแต่เน้นแผ่ตัวออกไปรอบด้านมากกว่าและมีตำแหน่งที่ลึกลงไปด้านหลังของเวทีเสียง ทำตัวเป็นพื้นแบ็คกราวนด์ให้กับเสียงร้องและเสียงกีต้าร์ ในขณะที่เสียงทุ้มในแทรค “Alilang” มีลักษณะที่ให้แรงกระแทกกระทั้นของหัวเสียงออกมาแรงที่สุด อิมแพ็คแรงกว่าเสียงทุ้มในแทรค “Way Down Deep” พอสมควร ความใหญ่ของบอดี้เป็นรองแทรค “Sharpening A Knife” แต่โฟกัสได้คมกว่า ขยับตัวได้เร็วกว่า และพุ่งออกมาด้านหน้าเล็กน้อย
เสียงทุ้มของแทรค “Sharpening A Knife” ออกไปทางนุ่มนวล ส่วนเสียงทุ้มของแทรค “Alilang” ออกไปทางโชว์พลัง ในขณะที่เสียงทุ้มในแทรค “Way Down Deep” กลับออกมาหน่อมแน้มไปเลยเมื่อเทียบกับสองแทรคนี้! ถ้าลำโพง Sabrina X คู่นี้ไม่ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบตั้งแต่แหลมลงไปยันทุ้มจริงๆ คงไม่มีทางได้ยินอะไรชัดๆ แบบนี้อย่างแน่นอน.!!
ผมมั่นใจได้อย่างไรกับสิ่งที่ได้ยิน.? จำที่ผมเคยบอกได้มั้ยครับว่า คุณภาพของ “เสียงกลาง” ต้องมาก่อนเสมอ เสียงทุ้มที่ได้ยินจากทั้งสามแทรคข้างต้นนั้นเป็นบทสรุปที่ผมได้ยินหลังจากทำการแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูนจนซิสเต็มให้เสียงกลางที่มีโฟกัสดีที่สุดแล้ว ซึ่งทำให้เห็น (ได้ยิน) ชัดเลยว่า ในแทรคเพลง Way Down Deep นั้นแท้จริงแล้ว เมื่อลำโพงถูกทำให้อยู่ในสถานะที่ถ่ายทอดความถี่เสียงที่ราบเรียบได้โทนัลบาลานซ์ที่สมดุล คุณจะได้ยินรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเสียงในย่านกลางและแหลมที่แผ่วเบาล่องลอยอยู่เต็มไปหมด นั่นคือ tonality ที่แท้จริงของเพลงนี้ที่ซาวนด์เอนจิเนียร์ต้องการให้เราได้ยิน เมื่อใดก็ตามที่เสียงทุ้มถูก boost ให้ดังกว่าเสียงกลาง–แหลม รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นอรรถรสของเพลงที่อยู่ในย่านกลาง–แหลมจะถูกกลบทับลงไป
Take It (Sabrina X) To The Limit!
ถ้าใครรู้ประวัติของ Wilson Audio มาก่อนจะทราบดีว่าพื้นเพของ เดวิด เอ. วิลสัน ผู้ให้กำเนิด Wilson Audio เขาเป็นซาวนด์ เอนจิเนียร์มาก่อน เขาบันทึกเสียงเองซึ่งเพลงที่เขาชื่นชอบและมักจะออกไปทำการบันทึกเสียงนอกสถานที่เสมอก็คือเพลงคลาสสิก และด้วยเพลงคลาสสิกนี่เองที่ทำให้เขาต้องหันมาพัฒนาลำโพงมอนิเตอร์ที่ใช้ในการบันทึกเสียงเอง เนื่องจากเขาพบว่า ลำโพงมอนิเตอร์ที่มีอยู่ในขณะโน้น (เรื่องมันหลายสิบปีมาแล้ว) มันมีประสิทธิภาพไม่มากพอสำหรับใช้ถ่ายทอดคุณลักษณะของเพลงคลาสสิกออกมาได้เหมือนกับที่เขาได้ยินจากการบรรเลงสดในฮอลล์ ถ้าคุณรู้ว่า อะไรที่ลำโพงมอนิเตอร์ทั่วไปให้ไม่ได้ คุณจะได้เจอกับสิ่งนั้นในลำโพงของ Wilson Audio
นั่นซิ… มันคืออะไร.? ถ้าคุณเป็นคนที่เคยไปนั่งฟังเพลงคลาสสิกที่บรรเลงสดๆ ในฮอลล์มาก่อน คุณคงพอจะตอบคำถามนี้ได้ ความเปิดโล่งที่เต็มไปด้วย airy ที่ไร้ขอบเขต, ซาวนด์สเตจที่ทั้งกว้างและลึกสุดลูกหูลูกตา, รายละเอียดของเสียงเบาๆ ที่ได้ยินแม้กระทั่งเสียงพลิกชีทโน๊ต และไดนามิกที่สวิงกว้างจนขนลุกของช่วงโหมโรง เหล่านี้คือบรรยากาศและสิ่งที่ David A. Wilson พยายามเก็บบันทึกมาจากการบรรเลงสดของวงออเคสตร้าในฮอลล์ และเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่เขานำมาตั้งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาลำโพงแบรนด์ Wilson Audio ของเขาเอง
รู้อย่างนี้ คุณคงเดาได้ใช้มั้ยว่า ผมควรจะต้องทดสอบ Sabrina X คู่นี้กับเพลงแนวไหน.?
อัลบั้ม : La Fille Mal Gardee (LP 33 1/3 rpm)
ศิลปิน : Orchestra Of The Royal Opera House, John Lanchbery
สังกัด : Decca (SXL 2313)
ซิสเต็มไหนเล่นเพลงคลาสสิกได้ถึงอารมณ์ ถือว่าผ่าน.! นักเล่นรุ่นเก๋าหลายคนได้กล่าวไว้ ซึ่งผมก็เห็นคล้อยตามนั้น โจทย์ยากที่ Sabrina X ต้องเจอจากอัลบั้มนี้ก็คือทำให้รายละเอียดในช่วงแผ่วเบาไม่จมหายไป และทำให้เสียงสตริงออกมาพลิ้วและนวลเนียนให้มากที่สุด ในขณะที่ช่วงโหมก็ต้องทำให้ออกมาแบบอลังการ สาดพลังทรานเชี้ยนต์ออกมาได้อย่างเด็ดขาดและฉับไว สปีดต้องไม่ตก เปรี๊ยะคือเปรี๊ยะ ในเวลาเดียวกัน จะต้องตรึงเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นให้คงอยู่ในตำแหน่งของมันได้อย่างมั่นคงตลอดเวลา ไม่มีอาการวูบวาบทั้งในช่วงแผ่วและช่วงโหมอีกด้วย ซึ่ง Sabrina X คู่นี้ทำได้หมดจดทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้น.!!
ตอนทดสอบ Sabrina X คู่นี้ผมนั่งฟังในตำแหน่งเหนือจุด sweet spot ขึ้นมานิดหน่อย วัดจากระนาบลำโพงมาถึงจุดนั่งฟังอยู่ที่ 290 ซ.ม. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้สนามเสียงจากอัลบั้มนี้ออกมาดีมากๆ เหมือนนั่งดูบัลเล่ต์แถวหน้าๆ และทำให้รู้ว่า ลำโพงคู่นี้ให้ผลการตอบสนองเชิงเฟสได้เยี่ยมยอดมาก เพราะผมนั่งใกล้ลำโพง และตอนฟังอัลบั้มนี้ผมก็เปิดเสียงดังมาก แต่กลับไม่มีความรู้สึกอึดอัดใดๆ เลย มีแต่ความรู้สึกเต็มอิ่มกับพลังไดนามิกตอนช่วงโหม และความรู้สึกล่องลอยไปกับเสียงเล็กเสียงน้อยที่ล่องลอยอยู่รอบๆ ตัวในช่วงแผ่ว ไม่รู้สึกว่าเสียงมันสาดใส่ตัว แต่กลับไปลอยเป็นวงอยู่ข้างหน้าและถอยลึกลงไปด้านหลังระนาบลำโพงเป็นเมตร ซอยความลึกลงไปเป็นชั้นๆ จากหน้าจรดหลัง
สิ่งหนึ่งที่ Sabrina X ถ่ายทอดออกมาจากอัลบั้มนี้ได้ดีกว่าลำโพงทุกคู่ที่ผมมีอยู่ นั่นคือ “แอมเบี้ยนต์” หรือมวลบรรยากาศที่ห้อมล้อมอยู่โดยรอบปริมณฑลที่เสียงทั้งหมดแผ่ออกไป นั่นทำให้ฟังอัลบั้มชุดนี้แล้ว “รู้สึก” ได้ถึงสถานที่ที่ใช้ในการบรรเลงงานเพลงเหล่านั้น เหมือนถูกดึงให้เข้าไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์.!
อัลบั้ม : Cafe Blue (HQ-180g LP, 33 1/3rpm)
ศิลปิน : Patricia Barber
สังกัด : Premonition Records (737)
พูดถึงการนั่งฟังเพลงใกล้ๆ ลำโพงแบบ Nearfield อย่างนี้ต้องฟังเพลงแนวแจ๊สถึงจะได้อารมณ์เพลงเต็มๆ คิดได้อย่างนั้น ผมก็เลยเลือกแผ่นเสียงแนวแจ๊สออกมา 3 แผ่นเพื่อลองฟังกับลำโพงคู่นี้ แผ่นแรกเป็นงานชุดดังของแพรติเซีย บาร์เบอร์ ซึ่งบันทึกเสียงโดยซาวนด์เอนจิเนียร์ในดวงใจของผมอีกคนหนึ่ง นั่นคือ Jim Anderson ซึ่ง Sabrina X คู่นี้ก็ทำหน้าที่เป็นมอนิเตอร์ชั้นเยี่ยมในการถ่ายทอดฝีมือการบันทึกเสียงระดับอ๋องของจิมออกมาให้ผมได้ยิน เสียงเดินเบสของ Michael Arnopol ในเพลง “Inch Worm” แทรคแรกหน้า B ของอัลบั้มนี้เป็นอะไรที่น่าหลงไหลมากสำหรับคนที่ชอบฟังเสียงทุ้ม เพราะเสียงเบสของอาร์โนโพลที่ Sabrina X คู่นี้ถ่ายทอดออกมามีมีทั้งความอวบ หนา และเด้ง เป็นเสียงทุ้มที่มีความตึงตัว มีพลังดีดตัว ไม่ใช่เสียงทุ้มที่หลวมยวบยาบ พอข้ามมาถึงเพลงต่อไปคือ “Ode To Billy Joe” ผมก็ได้ยินเสียงเดินเบสของอาร์โนโพลแสดงตัวเป็นพระเอกอีกแล้ว ทุกโน๊ตที่เขากระตุกและดีดสายเบสมันออกมาชัดมาก มันทั้งหัว–บอดี้ และหางเสียงครบ จากที่ได้ฟังแทรคนี้ซึ่งมีอยู่แค่ 3 เสียง คือเสียงเบส เสียงร้อง และเสียงดีดนิ้ว ทำให้ผมสังเกตได้ว่า ลำโพงคู่นี้ให้เสียงที่ “หลุดตู้” ตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้ม โดยเฉพาะเสียงทุ้มนั้นชัดมาก หลุดออกมาลอยอยู่ในอากาศ “ทั้งตัว” ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากจากลำโพงตั้งพื้น ผมลองเดินเข้าไปเอาฝ่ามือแตะที่ตัวตู้ลำโพงตอนที่เปิดเพลงนี้ดังๆ พบว่าตู้นิ่งมาก.! ไม่มีอาการสั่นเกิดขึ้นบนตัวตู้ของ Sabrina X แม้แต่น้อย นี่คือเหตุผลที่ทำให้เสียงทุ้มสามารถหลุดลอยออกมานอกตู้ได้อย่างหมดจด และเป็นเสียงทุ้มที่สะอาด เป็นตัว มีมวลหนาและเข้ม เพราะตัวตู้ของ Sabrina X ปราศจากเรโซแนนซ์นั่นเอง
Sabrina X ถ่ายทอดเพลงเด่นในอัลบั้มนี้ “A Taste Of Honey” ออกมาถูกใจผมมาก เสียงโซโล่กีต้าร์ของ John McLean ชัดและใส กระจ่าง เสียงร้องของแพรติเซียก็เซ็กซี่ เสียงเขย่ากระพรวนลอยออกมาเป็นเม็ดๆ ฟังแล้วได้อารมณ์มาก เหมือนผมเข้าไปนั่งอยู่หน้าวงในผับสักแห่ง ..
อัลบั้ม : Basie Jam (HQ-180g LP, 33 1/3rpm)
ศิลปิน : Count Basie, Louie Bellson, Ray Brown, Irving Ashby, J.J Johnson, Harry Edison, Eddie Davis & Zoot Sims
สังกัด : Pablo Records (Analogue Productions APJ 022)
นี่เป็นอัลบั้มสแตนดาร์ด แจ๊สอีกชุดหนึ่งที่ผมรู้สึกแฮ้ปปี้มากกับเสียงที่ฟังผ่านลำโพง Wilson Audio คู่นี้ เพราะที่ผ่านมาผมรู้สึกอยู่เสมอว่าค่าย Analogue Productions ทำแผ่นนี้ออกมาได้ไม่ค่อยดี และเคยมีคนบอกผมว่า เสียงสู้แผ่นออริจินัลของค่าย Pablo ไม่ได้ ห่างกันเยอะ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมฟังแผ่นนี้กับชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาไม่กี่หมื่นก็รู้สึกว่าเสียงของแผ่นนี้ไม่ค่อยดีอย่างที่เขาว่า มันออกมาทู่ๆ ไม่เปิดกระจ่าง แต่วันนี้เมื่อลองฟังกับชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ของ Kuzma ผ่านอินติเกรตแอมป์ระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ของ Dan D’Agostino และส่งต่อออกมาถึงลำโพง Sabrina X คู่นี้ซึ่งก็อยู่ในระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ ผมกลับพบว่า เสียงของแผ่นเสียงชุดนี้มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่บางคนเขาว่ากัน มิหนำซ้ำ ผมกลับพบว่าเสียงมันออกมาดีมาก ทุกเสียงที่อยู่ในแผ่นเสียงชุดนี้ฟังแล้วมันให้ความรู้สึกเหมือนฟัง “ของจริง” มาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงกลอง, เสียงแซ็กโซโฟน, เสียงเบส และโดยเฉพาะเสียงออร์แกนของท่านเคานต์ เบซี่ในเพลง “One-Nighter” แทรคแรกของหน้า B ได้ยินแล้วขนลุก.!
ทุกเสียงชิ้นดนตรีในแทรคนี้ฟังแล้วรับรู้ได้ถึง “แรงปะทะ” ที่เกิดจากน้ำหนักมือและลมปากของนักดนตรีแต่ละคนที่ประเคนเข้าไปกับเครื่องดนตรีที่พวกเขาเล่น สิ่งที่ออกมาจาก Sabrina X จึงไม่ใช่แค่เสียงเพลงให้ได้ยิน แต่เป็นเสียงที่ทำให้รับรู้ถึงลักษณะการบรรเลงของนักดนตรีแต่ละคนออกมาชัดเจนมาก บอกตรงๆ ว่าความรู้สึกยังกะนั่งฟังพวกเขายกวงเข้ามาบรรเลงกันสดๆ ถึงในห้องฟังของผมเลยทีเดียว ฟังแล้วขนลุกมาก.!!
สรุป
อ่านรีวิวมาถึงตรงนี้จะเห็นว่าผมมีแต่ชมอย่างเดียว เชื่อว่าคุณบางคนอาจจะรู้สึกสงสัยอยู่ในใจว่า ลำโพงคู่นี้ไม่มีข้อเสียบ้างเลยเหรอ.? ผมต้องบอกว่า ลำโพงคู่นี้ไม่มีข้อเสียให้ติเลยครับ เมื่อผมเอาเกณฑ์ความพึงพอใจของตัวผมเองเป็นเครื่องวัด พบว่าลำโพงคู่นี้ให้ความพึงพอใจกับผมในทุกๆ คุณสมบัติที่มันนำเสนอออกมา ผมไม่รู้จะไปติมันตรงไหน.? มิหนำซ้ำ ลำโพงคู่นี้ยังให้ประสบการณ์ในการฟังกับผมในบางประเด็นอีกด้วย มันทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นในแง่ของ tonality ที่ดีผ่านทางคุณสมบัติของความเป็นมอนิเตอร์ของมัน ซึ่งทำให้ผมได้ยินเสียงที่อยู่ในเพลงต่างๆ ออกมา “อย่างที่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
ชัดเจนว่า Sabrina X ให้เสียงโดยรวมที่ดีกว่าเวอร์ชั่นเก่าตัวเดิมไปพอสมควร มันมีคุณสมบัติของความเป็นมอนิเตอร์มากขึ้น มันให้เสียงที่หลุดพ้นจากวัสดุที่ประกอบเป็นตัวมันขึ้นมา และที่สำคัญที่สุดก็คือ มันให้เสียงที่มี “ความเป็นดนตรี” สูงขึ้นอย่างมาก.!! ฟังเพลงอะไรก็รับรู้ได้ถึงความไพเราะโดยไม่เลือกแนวเพลง แผ่นเพลงที่เคยฟังแล้วเสียงไม่ดี กลับกลายเป็นฟังได้และฟังดีไปเลย
ลำโพงราคาสูงๆ บางตัวถูกออกแบบมาให้ “โชว์อ๊อฟ” ได้ฟังเสียงและรู้สึกตื่นเต้น แต่ Sabrina X คู่นี้ถูกออกแบบมาให้ถ่ายทอด “ความเป็นดนตรี” ที่อยู่ในแผ่นเพลงทุกแผ่นออกมา ถ้าคุณเป็นคนที่มีดนตรีอยู่ในตัว เชื่อว่าจะสามารถสัมผัสได้อย่างแน่นอน.! /
********************
ราคา : 740,000 บาท / คู่
(สีพิเศษเพิ่มอีกคู่ละ 40,000 บาท)
********************
สนใจติดต่อได้ที่
บ. Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: DECO2000Thailand