แนะนำชุดเล่นไฟล์เพลงด้วย USB ในงบประมาณไม่เกิน 500,000 บาท : ชุดที่ 1

การฟังเพลงด้วย source ที่เป็น digital file ใช้เวลาเกือบสิบปีสำหรับการ แนะนำตัวให้นักเล่นเครื่องเสียงในเมืองไทยได้รู้จัก มาถึงปัจจุบัน นักเล่นเครื่องเสียงเมืองไทยส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเล่นเพลงด้วย digital file มากขึ้นเรื่อยๆ ผมสังเกตจากคำถามที่เพื่อนๆ นักเล่นฯ สอบถามเข้ามา ซึ่งมากกว่า 80% เป็นคำถามเกี่ยวกับการเล่นไฟล์เพลง และมีมากถึง 20% ในนั้นที่เป็นคำถามที่แสดงถึงความเข้าใจในการเล่นเพลงด้วย digital file ที่ลงลึกมากกว่ายุคแรก ยกตัวอย่างนักเล่นฯ ท่านหนึ่งที่เพิ่งขอคำแนะนำมา “.. ผมอยากให้คุณธานี แนะนำระบบการเล่นไฟล์เพลงที่สามารถรองรับการเล่นไฟล์ทาง USB ที่มีคุณภาพเสียงดีมากๆ ในงบไม่เกิน 500,000 บาทให้สักชุด..” และเมื่อผมถามกลับไปว่า ทำไมจึงเจาะจงระบบที่เล่นทาง USB ? คำตอบคือ “… ผมเคยทดลองฟังมาแล้วทั้งแบบเล่นผ่านช่อง USB และเล่นผ่านทางช่อง network ผมชอบเสียงของช่อง USB มากกว่า..”

คำตอบหลังนี้แสดงให้รู้ว่า นักเล่นฯ ท่านนี้ไม่เพียงรู้ข้อมูลทางเทคนิคของการเล่นไฟล์เพลงดิจิตัลเท่านั้น แต่ยังได้ผ่านเลยไปถึงขั้นตอนการทดลองฟังด้วยหูของตัวเอง และนำผลการฟังมาประเมินจนสามารถค้นหาบทสรุปให้กับตัวเองได้ว่าต้องการอะไร ซึ่งปัจจุบันผมพบว่า นักเล่นเครื่องเสียงในเมืองไทยกำลังก้าวข้ามมาถึงจุดนี้กันมากขึ้นแล้ว

เล่นไฟล์เพลงผ่านช่อง Network vs. ผ่านช่อง USB

จนถึงปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่า ยังไม่สามารถสรุปตายตัวได้เด็ดขาดว่า การเล่นไฟล์เพลงผ่านช่องทางไหนให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่ากัน เพราะทั้งช่อง Network (หรือ Ethernet) และช่อง USB ต่างก็มี ตัวแปรที่เป็นปัจจัยกระทบต่อคุณภาพเสียงในการเพลย์แบ็คไฟล์เพลงอยู่หลายตัว ซึ่งบางตัวไม่เหมือนกัน อย่างเช่นการควบคุมโดย Clock ของระบบ ซึ่งทั้ง Network และ USB ใช้กรรมวิธีทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่คุณภาพสาย LAN และสาย USB ที่ใช้ในการเชื่อมต่อระบบก็ส่งผลต่อคุณภาพของเสียงที่ได้ด้วย ในการเซ็ตอัพบางสถานะการณ์ในบางซิสเต็ม เล่นผ่าน Network ให้ผลทางเสียงดีกว่า ในขณะที่บางเซ็ตอัพในบางซิสเต็มผมพบว่า เล่นผ่าน USB ให้เสียงที่ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อเล่นไฟล์ที่มีความละเอียดสูงๆ (สเปคฯ ไฟล์สูงๆ) อย่างพวก 24/192 หรือ DSD

เพื่อนนักเล่นฯ คนที่ขอคำแนะนำมาข้างต้นก็เน้นเล่นไฟล์ DSD กับไฮเรซฯ PCM เป็นหลัก ไฟล์เพลงที่ริปจากแผ่นซีดีไม่เน้นมาก และไม่เน้นเล่นจากแผ่นซีดีเพราะมีเครื่องเล่นซีดีตัวเก่าอยู่แล้ว

ชุดแนะนำ ชุดที่ 1

ฮาร์ดแวร์เพลย์แบ็ค
roonlabs : nucleus+ (ราคาตัวละ 88,000 บาท*)
* ถ้าลดลงมาเป็นรุ่น nucleus ธรรมดา (ราคา 49,000 บาท) เสียงจะต่างกันนิดหน่อยเท่านั้น กรณีที่ไม่ได้เล่น multi-zone
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : . Deco2000 โทร. 089-870-8987 (Facebook)
+
โปรแกรมเล่นไฟล์เพลง
roon (ตลอดชีพ 499$ ประมาณ 499 x 30.30 = 15,119.70 บาท)
ดูข้อมูลเพิ่มเติม : roonlabs.com
+
สาย USB
Nordost รุ่น Blue Heaven (ยาว 1 เมตร / ราคาเส้นละ 11,000 บาท)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : . Deco2000 โทร. 089-870-8987 (Facebook)
+
ดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์
Accuphase รุ่น DC-37 (ราคา 225,000* บาท / ตัว)(*ราคาโปรโมชั่น จากราคาเดิม 270,000 บาท)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : . Hi-End Audio โทร. 02-101-1988 (Facebook)
+
ลิเนียร์ เพาเวอร์ซัพพลาย
Nordost รุ่น QSource (ราคา 100,000 บาท / ตัว)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : . Deco2000 โทร. 089-870-8987 (Facebook)

รวม สุทธิ = 400,119.70 บาท
—————–

การใช้งาน

หัวใจสำคัญของระบบเพลย์แบ็ค digital source ชุดนี้อยู่ที่ตัว nucleus (หรือ nucleus+) ซึ่งเป็นตัวเลือก hardware playback ที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมันรองรับทั้งการเล่นไฟล์เพลงผ่าน USB และผ่าน Network ได้ทั้งสองช่องทางอยู่ในตัวเดียวกัน สยบปัญหาในการเล่นไฟล์เพลงร่วมกับ external DAC ยุคใหม่ที่รองรับ Hi-Res Audio ทั้งหมด (ยกเว้น external DAC รุ่นเก่าที่ไม่รองรับ Hi-Res Audio และไม่มีอินพุต USB หรือ Network)

ส่วนโปรแกรมเล่นไฟล์เพลง roon ที่ใช้ร่วมกับ nucleus นี้เป็นโปรแกรมที่ให้เสียงที่ดีมาก และที่สำคัญคือมีความสามารถรอบตัว รองรับการเล่นไฟล์เพลงได้ครบทุกฟอร์แม็ตทั้ง Low-Res และ Hi-Res ซึ่งทางด้าน Hi-Res นั้น โปรแกรมตัวนี้เล่นได้สูงสุดเกินมาตรฐานไฟล์เพลงไฮเรซฯ ในปัจจุบัน มีอ๊อปชั่น DSP ให้ใช้งานมากมาย แต่ที่พิเศษสุดจริงๆ คือฟังท์ชั่นที่ช่วยจัดการกับไฟล์เพลงที่ใครได้ลองใช้แล้วจะต้องร้องว้าว! และติดอกติดใจกันทุกคน อีกทั้งยังมีแอพลิเคชั่นที่ออกแบบมาให้ใช้ในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงแถมฟรีอีกด้วย

คุณสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น roon remote ลงไปที่อุปกรณ์พกพาอย่างเช่นสมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ต (มีเวอร์ชั่นที่รองรับทั้ง iOS และ Android) เพื่อคัดเลือกเพลงที่จะเล่น และควบคุมการเล่นไฟล์เพลงได้บนอุปกรณ์เหล่านั้น (แอพฯ รีโมทลงได้หลายอุปกรณ์ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ส่วนทาง Accuphase : DC-37 นั้นผมตั้งใจหยิบ external DAC ตัวนี้มาจัดเข้าชุดเพลย์แบ็ค digital source ที่เน้นเล่นไฟล์เพลงทาง USB เซ็ตนี้ด้วยเหตุผล 2 อย่าง

อย่างแรกคือ คุณสมบัติที่เหมาะสมของช่องอินพุต USB ของ external DAC รุ่น DC-37 ของ Accuphase ตัวนี้ ซึ่งมีความสามารถรองรับการเล่นไฟล์ได้สูงสุดเต็มสเปคฯ ของมาตรฐานปัจจุบัน (PCM ไปถึง 384kHz-32bit / DSD ไปถึง DSD128 หรือ DSD5.6MHz) ลองอ่านข้อมูลในกรอบแดงจะเห็นว่า นอกจากสเปคฯ ถึงแล้ว ทางผู้ผลิตยังเคลมด้วยว่าภาค DAC ของ DC-37 ยังวางเลย์เอ๊าต์และการทำงานในส่วนของวงจร upsampling แบบเดียวกับที่ใช้ในภาค DAC ของตัว SACD Player รุ่น DP-720 ส่วนภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตก็มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับที่ใช้อยู่ใน external DAC รุ่นใหญ่อย่าง DC-901 ส่วนเหตุผลอีกข้อที่เลือก DC-37 มาจัดชุดแนะนำสำหรับท่านที่ขอคำแนะนำมาซึ่งตั้งงบไว้ ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับชุดเพย์แบ็ค digital source ผ่านทางช่อง USB ก็คือ ราคาซึ่งตอนแรกที่ external DAC ตัวนี้เปิดตัวออกมาใหม่ๆ ประมาณปี 2017 ทางตัวแทนผู้นำเข้าคือ Hi-End Audio กำหนดราคาจำหน่ายอยู่ที่ 270,000 บาท แต่ในขณะนี้ ทางตัวแทนได้จัดโปรฯ ให้กับ DC-37 ตัวนี้อยู่ที่ 225,000 บาท ทำให้เหลืองบไปอัพเกรดส่วนอื่นๆ ในระบบเพลย์แบ็ค digital source ได้อีกหลายตังค์ อย่างเช่น อัพเกรดสาย USB, สายไฟเอซีที่ใช้กับตัวลิเนียร์ เพาเวอร์ซัพพลายและสายไฟเอซีที่ใช้กับ DC-37 กับอีกส่วนคือใช้อัพเกรดแหล่งเก็บไฟล์เพลงด้วย SSD (Solid State Drive)

ในการใช้งาน DC-37 ร่วมกับ nucleus ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เสียบสาย USB เชื่อมโยงระหว่างช่อง USB-A ที่ด้านหลังของ roon : nucleus ไปที่ช่องอินพุต USB-B ที่แผงหลังของ DC-37 จากนั้นก็ไปกดปุ่มเลือกอินพุต USB ที่แผงด้านหน้าเท่านั้น แค่นี้ทุกอย่างก็พร้อมสำหรับการฟังเพลงแล้ว เมื่อมีการเล่นไฟล์เพลงจาก roon : nucleus ส่งสัญญาณมาที่ DC-37 คุณจะสังเกตได้จากหน้าจอของ DC-37 ซึ่งจะแสดงเป็นตัวเลข sampling กับ bit-depth ให้ทราบว่าได้รับสัญญาณรูปแบบใดเข้ามา

เสียงที่ได้จาก digital source ชุดนี้

ผมมีโอกาสทดลองใช้งานชุดเล่นไฟล์เพลงชุดนี้อยู่นาน 2-3 เดือน โดยใช้มันเป็น digital source ในการทดสอบแอมป์และลำโพงไปหลายตัวจนมั่นใจกับคุณภาพเสียงที่ digital source ชุดนี้ให้ออกมา

ถ้า digital source ชุดเดิมที่คุณใช้เล่นไฟล์เพลงอยู่ มีราคาไม่เกิน 2 – 3 แสนบาท เมื่อเปลี่ยนมาเป็นชุดนี้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือ มันทำให้การ ได้ยินเสียงเปลี่ยนเป็น การรับรู้ถึงตัวตนของเสียงคือจากเดิมที่เราได้ยินเสียงทุ้ม – กลาง – แหลม เมื่อขยับขึ้นมาเป็น digital source ชุดนี้ คุณจะรับรู้ในส่วนที่เป็น รายละเอียดของแต่ละเสียงเพิ่มมากขึ้นจนทำให้สามารถระบุได้อย่างมั่นใจว่า เสียงแหลมที่เคยได้ยินในบางเพลงนั้น แท้จริงแล้ว มันคือเสียงของเครื่องดนตรีอะไรบ้าง สมมุติว่าในเพลงที่ฟังมีเสียงแหลมอยู่หลายเสียง คุณก็สามารถแยกแยะออกมาได้ง่ายขึ้นว่า แต่ละเสียงนั้่นเป็นเสียงของเครื่องดนตรีประเภทไหนบ้าง

อัลบั้ม : Virtuoso Pieces Of Chinese Percussion (DSD64)
สังกัด
+ รหัสแผ่น : Marco Polo (8.225963SACD)
ศิลปิน
: Yim Hok-Man

ยิ่งไปกว่านั้น ซิสเต็มเพลย์แบ็คที่เป็น digital source ระดับนี้ จะทำให้คุณสามารถ รับรู้ได้ลึกลงไปมากขึ้นถึงระดับ inner detail ที่แต่ละเสียงเป็นอยู่ เริ่มจากลักษณะของ impact หรือหัวเสียงสัมผัสแรกที่นักดนตรีกระทำกับเครื่องดนตรีที่เขากำลังเล่น ซึ่งเป็นการถ่ายทอดคุณสมบัติของเสียงในส่วนที่เรียกว่า dynamic transient ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลองฟังอัลบั้มชุด “Virtuoso Pieces Of Chinese Percussionซึ่งเป็นเพลงที่ใช้เสียงเคาะกลองจีนหลายขนาดร่วมกับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่ใช้วิธีดีดและสี และเครื่องเป่า คุณจะสามารถรับรู้ได้ชัดเลยว่า นักดนตรีแต่ละคนใช้น้ำหนักในการ กระทำกับเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นต่างกันอย่างไร แต่ละคนกำลังตีกลองด้วยความแรงมากน้อยต่างกันอย่างไร ชิ้นไหนกำลังเคาะรัวเร็วๆ ในขณะที่อีกชิ้นกำลังเคาะด้วยสปีดที่ช้ากว่า ฯลฯ

อัลบั้ม : Moonlight Serenade (PCM 16/44.1)
สังกัด + รหัสแผ่น : Jeton Records (JET 60 005)
ศิลปิน : Laurindo Almeida & Ray Brown

รายละเอียดของเสียงอีกจุดหนึ่งที่สะท้อนความสามารถของระบบเพลย์แบ็ค digital source ชุดนี้ที่แจกแจงลงไปได้ลึกระดับ inner detail นั่นคือคุณสมบัติทางด้าน “harmonic structureที่ทำได้เยี่ยมยอดมาก เมื่อลองเล่นอัลบั้มที่บันทึกเสียงดีไม่ว่าจะเป็นไฟล์ตระกูล PCM หรือ DSD คุณจะสามารถสัมผัสได้ถึงความเยี่ยมยอดที่ว่านี้

harmonic structure คืออะไร.? โดยธรรมชาติแล้ว วัสดุแต่ละชนิดจะมีรูปแบบเสียงกังวานที่เกิดจาก การสั่นค้าง” (resonant) เป็นของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการสั่นของเนื้อวัสดุนั้นๆ อย่างเช่นไม้, โลหะ, แก้ว, เซรามิก ฯลฯ เป็นผลให้เครื่องดนตรีบางชิ้นที่ทำขึ้นมาจากวัสดุประเภทใด ก็จะมีความกังวานไปตามลักษณะของวัสดุประเภทนั้น อย่างเช่น เครื่องเคาะ (percussion) ที่ทำด้วยโลหะ จะให้ฮาร์มอนิกที่กังวานออกไปรอบตัวและแผ่ขยายหางเสียงออกไปได้กว้าง ในขณะที่เครื่องเคาะบางชิ้นที่ทำด้วยไม้ จะให้ฮาร์มอนิกที่กระชับสั้น ไม่แผ่กังวานออกไปไกลตัวมากนัก ซึ่งเครื่องดนตรีประเภทนี้จะให้ฮาร์มอนิกออกมาในลักษณะที่เป็นโครงสร้างเดี่ยว (single-form harmonic structure) แต่เครื่องดนตรีส่วนใหญ่จะประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่มีลักษณะต่างกัน อย่างเช่น กีต้าร์โปร่ง ซึ่งบอดี้ทำด้วยไม้ ในขณะที่สายทำด้วยโลหะ หรือเอ็น ในกรณีนี้จะเห็นว่า ฮาร์มอนิกที่ตัวบอดี้ของกีต้าร์กับสายกีต้าร์ให้ออกมาจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่เกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนั้น รูปแบบของฮาร์มอนิกของเครื่องดนตรีประเภทกีต้าร์โปร่ง, ไวโอลิน, เปียโน และอีกหลายชนิดจะออกมาในลักษณะที่เป็นแบบโครงสร้างผสม (mixed-form harmonic structure) เป็นส่วนผสมระหว่างฮาร์มอนิกของวัสดุที่แตกต่างกัน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เรียกว่าเป็นโครงสร้างฮาร์มอนิกที่มีรูปแบบเฉพาะ คนที่เคยฟังเสียงกีต้าร์ในสภาพจริงหรือเคยเล่นกีต้าร์โปร่งมาก่อน จะคุ้นเคยกับโครงสร้างฮาร์มอนิกของเสียงกีต้าร์ได้ดีกว่าคนที่ไม่เคย และเมื่อเล่นเพลงที่มีเสียงกีต้าร์โปร่งที่บันทึกเสียงมาดีมากๆ อย่างเช่นอัลบั้มชุด “Moonlight Serenadeของสองนักดนตรีมือฉมังอย่าง Laurindo Almeida (กีต้าร์) กับ Ray Brown (ดับเบิ้ลเบส) ด้วย digital source ชุดนี้ คุณจะได้ยินลึกลงไปถึง harmonic structure ของทั้งสองเครื่องดนตรีนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากคุณมีโอกาสฟังเทียบกัน คุณจะพบว่า ซิสเต็มเพลย์แบ็ค digital source ที่มีคุณภาพสูงๆ จะสามารถนำเสนอรายละเอียดลึกๆ ระดับนี้ออกมาให้สัมผัสได้ดีกว่า digital source ที่มีราคาเบาๆ

อัลบั้ม : Ray Charles and Betty Carter (PCM 16/44.1)
สังกัด + รหัสแผ่น : DCC Compact Classics (GZS-1050)
ศิลปิน : Ray Charles & Betty Carter

สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงร้องและคุ้นเคยกับเสียงร้องของนักร้องชายหญิงได้ดี คุณจะรับรู้ถึงคุณภาพของระบบเพลย์แบ็คด้วย digital source ที่มีคุณภาพสูงๆ ได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยประสิทธิภาพในการถ่ายทอดรายละเอียดระดับ inner detail ที่ลงลึกมากๆ ในย่านเสียงกลางของ external DAC จากค่าย Accuphase ตัวนี้จึงทำให้เสียงร้องของศิลปินชายหญิงที่ได้ยินผ่าน digital source ชุดนี้มีความพิเศษอย่างมาก เสียงกลางโดยเฉพาะเสียงร้องที่ DC-37 ตัวนี้ให้ออกมามัน หลุดพ้นคำว่า เสียงแบบอะนาลอกหรือ เสียงแบบดิจิตัลไปไกลมากแล้ว

ถ้าจะให้พูดออกมาเป็นคำจำกัดความสั้นๆ ผมขอใช้คำว่า เป็นจริงสำหรับเสียงร้องที่ digital source ชุดนี้ถ่ายทอดออกมา คือมันไม่ได้แค่ทำให้รู้ว่า Ray Charles กับ Betty Carter ร้องว่าอย่างไร แต่มันทำให้รับรู้ได้ลึกลงไปถึงระดับที่ผุดภาพขึ้นมาในมโนจิตเลยว่า พวกเขาปลดปล่อยประโยคคำร้องเหล่านั้นออกมาด้วยลักษณะไหน ควบคุมลมหายใจและริมฝีปากกันอย่างไร ทั้งในขณะกรรโชกและทอดหางเสียง รวมๆ ไปจนถึงอารมณ์ที่อิงแอบมากับเสียงร้องแต่ละคำ ซึ่งคนที่คุ้นเคยกับนักร้องที่มีทักษะในการร้องสูงๆ ระดับปรมาจารย์จะซึมซับรายละเอียดระดับนี้ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างที่ผมพบเจอเมื่อได้ฟังผ่าน digital source ชุดนี้

อัพเกรด

ส่วนการ fine tune เสียงให้เข้ากับซิสเต็ม (แอมป์ + ลำโพง) ของคุณ รวมถึงการอัพเกรดประสิทธิภาพเสียงของระบบเพลย์แบ็ค digital source ชุดนี้สามารถทำได้ใน 3 จุดหลักๆ เรียงตามความสำคัญดังนี้

1. สาย USB

ส่วนแรกคือสาย USB ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตของ nucleus เข้ากับอินพุต USB ของ DC-37 ซึ่งที่ผมใช้อยู่และพอใจในน้ำเสียงที่ได้คือยี่ห้อ Nordost รุ่น Blue Heaven ความยาว 1 เมตร (ราคา 11,000 บาท / เส้น) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สาย USB ตัวอื่นๆ จะใช้กับระบบเพลย์แบ็ค digital source ชุดนี้ไม่ได้นะครับ เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นสาย USB รุ่นที่มีราคา ต่ำกว่ารุ่น Blue Heaven ของ Nordost ที่ผมมีโอกาสฟังกับชุดนี้มาจำนวนหนึ่ง ผมพบว่า มันทำให้ผลลัพธ์โดยรวมของระบบเพลย์แบ็ค digital source ชุดนี้ให้เสียงที่ด้อยลงไปพอสมควร ผมเริ่มพอใจกับเสียงที่ได้จากชุดนี้เมื่อใช้สาย USB รุ่น Blue Heaven ของ Nordost จึงเริ่มต้นที่สาย USB ตัวนี้

ส่วนสาย USB ตัวที่แพงกว่า Blue Heaven ที่ผมเคยทดลองฟังกับ nucleus แล้วให้เสียงที่ดีกว่า Blue Heaven ก็คือสาย USB รุ่น Ultimate USB Cable ของยี่ห้อ Purist Audio Design ซึ่งในแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน ถือว่าเหมาะกับการจัดเซ็ตร่วมกับ external DAC ที่มีราคาเกิน 100,000 บาทขึ้นไป (nucleus + Ultimate USB Cable + external DAC ราคาเกิน 100,000 บาทขึ้นไป) แต่คุณก็ต้องไปทดลองฟังแนวเสียงดูด้วยว่าแม็ทชิ่งกับแนวเพลงและซิสเต็มของคุณมากแค่ไหน

นอกจากนั้น เชื่อว่ายังมีสาย USB ที่มีราคาสูงกว่า Blue Heaven ซึ่งให้เสียงดีกว่าเซ็ตที่ผมแนะนำนี้อยู่อีกหลายตัว แต่ผมไม่มีโอกาสได้ทดลองฟังร่วมกับระบบเพลย์แบ็ค digital source ชุดนี้

2. ที่เก็บไฟล์เพลง (music server)

เนื่องจากตัว nucleus (และรุ่น nucleus+) สามารถเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คได้ มันจึงตอบสนองได้หมดไม่ว่า DAC ที่คุณจะใช้เล่นไฟล์เพลงรองรับสัญญาณผ่านเข้าทาง network หรือเข้าทาง USB ทว่า ซึ่งไม่ว่าคุณจะใช้ nucleus เล่นไฟล์เพลงผ่านทาง network หรือผ่านทาง USB ก็ตาม จะมีเส้นทางเดินของสัญญาณเสียงอยู่ในระบบ 2 เส้นทาง

music server > music player > USB-DAC

เส้นทางแรกเป็นการ ลำเลียงไฟล์เพลงจากแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่เรียกว่า music server เข้าสู่โปรแกรมเล่นไฟล์เพลง ส่วนเส้นทางที่สอง เป็นการ ลำเลียงสัญญาณเพลงจากอุปกรณ์เล่นไฟล์เพลงไปส่งให้กับ USB-DAC

ในการเล่นไฟล์เพลงผ่าน USB นั้น ตัวโปรแกรมที่ใช้เล่นไฟล์เพลง (music player) จะมีฟังท์ชั่นหนึ่งที่ชื่อว่า “Asynchronous data transmissionทำหน้าที่ควบคุม การลำเลียงสัญญาณเพลงระหว่างฮาร์ดแวร์ที่ใช้เล่นไฟล์เพลงกับ USB-DAC ที่เชื่อมต่ออยู่กับฮาร์ดแวร์ที่ใช้เล่นไฟล์เพลง เพื่อให้สัญญาณเพลงถูกป้อนให้กับ USB-DAC ตรงตาม sampling frequency ของสัญญาณนั้นๆ คงที่ตลอด อย่างเช่น เมื่อเล่นไฟล์เพลงที่มีแซมปลิ้งฯ เท่ากับ 44.1kHz โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงจะต้องจัดส่งสัญญาณไปให้ USB-DAC จำนวน 44,100 ข้อมูล ทุกๆ วินาทีเท่ากันตลอด ซึ่งจะทำให้ USB-DAC แปลงออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตที่มีความต่อเนื่องและถูกต้องทุกข้อมูล

นั่นแสดงว่า เมื่อเล่นไฟล์เพลงที่ใช้แซมปลิ้งฯ สูงกว่า 44.1kHz ขึ้นไป ตัวโปรแกรมเพลเยอร์ต้องจัดส่งสัญญาณเพลงไปให้ USB-DAC จำนวนมากขึ้น อย่างเช่น 96kHz ก็ต้องจัดส่งไปให้เท่ากับ 96,000 ข้อมูล ทุกๆ วินาที ซึ่งเร็วกว่า 44.1kHz กว่าสองเท่า จะเห็นว่า ยิ่งเล่นไฟล์เพลงที่มีอัตราแซมปลิ้งฯ สูงๆ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดในการลำเลียงสัญญาณเสียงไปที่ USB-DAC เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยประสิทธิภาพของฟังท์ชั่น Asynchronous data transmission บนโปรแกรม roon กับฮาร์ดแวร์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีของ nucleus ทำให้ การลำเลียงข้อมูลระหว่างโปรแกรม roon กับ DC-37 ผ่านทางช่อง USB ของ nucleus ไม่มีปัญหาผิดพลาดในการลำเลียง แต่เมื่อมาพิจารณาเส้นทางลำเลียงไฟล์เพลงจาก music server มาที่โปรแกรม roon บน nucleus จะเห็นว่า ความเร็วในการ ดึงไฟล์เพลงจาก music server มาที่ตัวโปรแกรม roon บน nucleus จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลบน music server ด้วย ซึ่งตัวแปรที่เข้ามามีส่วนในเรื่องนี้มีอยู่ 2 ตัว นั่นคือ ช่องทางการเดินทางของไฟล์เพลงมาที่โปรแกรม roon กับ แหล่งเก็บไฟล์เพลงซึ่งทั้งสองตัวแปรนี้มีความสัมพันธ์กันโดยตรง อย่างเช่น ถ้าคุณเก็บไฟล์เพลงไว้ใน NAS คุณก็ต้องอาศัย network เป็นช่องทางลำเลียงไฟล์เพลงจาก NAS ไปที่โปรแกรม roon ซึ่งควบคุมเรื่องสปีดในการลำเลียงได้ยาก เพราะศูนย์กลางในการควบคุมสปีดในการลำเลียงข้อมูลไปอยู่ที่ router แต่ถ้าคุณเก็บไฟล์เพลงไว้ใน USB drive คุณก็สามารถเสียบ USB drive ที่เก็บไฟล์เพลงของคุณเข้าที่ตัว nucleus ได้โดยตรง ซึ่งทำให้โปรแกรม music server บน roon ควบคุมสปีดในการลำเลียงไฟล์เพลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า โอกาสเกิดปัญหาผิดพลาดทางด้านเวลาในการจัดส่งไฟล์เพลงมีน้อยกว่า

และเพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดปัญหาผิดพลาดในการจัดส่งไฟล์เพลงให้น้อยลงไปอีก คุณสามารถทำได้ด้วยการเลือกใช้ SSD (Solid State Drive) เป็นตัวเก็บไฟล์เพลงแทนไดร้ว์แบบจานหมุน เนื่องจากไดร้ว์แบบ SSD จะให้สปีดในการอ่านข้อมูลบนตัวมันสูงกว่าแบบจานหมุนนั่นเอง

3. ลิเนียร์ เพาเวอร์ซัพพลาย

roon : nucleus ถูกออกแบบมาให้ใช้ไฟเลี้ยง DC ขนาด 19V / 3.42A จากอะแด๊ปเตอร์แบบสวิชชิ่งที่แถมมาให้ ซึ่งทุกคนที่ใช้ nucleus อยู่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเปลี่ยนมาใช้ภาคเพาเวอร์ซัพพลายแบบลิเนียร์ฯ ช่วยให้ได้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่าการใช้สวิชชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายอย่างมากและให้ผลชัดเจน

จริงๆ แล้ว อุปกรณ์ประเภท Linear Power Supply ในตลาดมีอยู่หลายยี่ห้อพอสมควร แต่ส่วนมากจะเป็นแบรนด์จากเมืองนอก และรุ่นที่จ่ายโวลเตจได้สูงถึง 19V ค่อนข้างจะมีน้อย ในกรณีที่วางงบไว้สูงถึง 500,000 บาท และจากการประหยัดงบในส่วนของ external DAC ลงไปได้มาก งบที่เหลือจึงมากพอ ผมจึงแนะนำให้ใช้ลิเนียร์ เพาเวอร์ซัพพลายของ Nordost รุ่น QSource (ราคา 100,000 บาท/ตัว) ไปเลย เพราะตัวนี้ถึงแม้จะมีราคาสูง แต่ก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีมาก และยังสามารถใช้จ่ายไฟเลี้ยงให้กับอุปกรณ์ตัวอื่นได้อีกด้วย

สรุป

นี่เป็น ชุดเล่นไฟล์เพลง digital source ที่ดีมากๆ ในงบ ไม่เกิน 500,000 บาท ที่ผมได้มีโอกาสทดลองใช้งานมานานจนมั่นใจ และนำมาแนะนำสำหรับเพื่อนนักเล่นฯ ที่ขอคำแนะนำมา และเป็นข้อมูลให้ท่านอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นแนวทางไปด้วย หวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ /

*******************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า