เมื่อเอ่ยคำว่า Tesla โดยปกติแล้ว คนทั่วไปจะนึกถึงอยู่ 3 สิ่ง สิ่งแรกคือนึกถึง Nikola Tesla ซึ่งเป็นทั้งวิศวกรไฟฟ้า, นักฟิสิกส์ และนักประดิษฐ์สัญชาติอเมริกัน–เซอร์เบี้ยน ผู้คิดค้นพัฒนาพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ หรือไฟ AC สิ่งที่สองที่นึกถึงคือ Tesla Inc. เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตจักรยนต์เคลื่อนที่ ระบบจัดเก็บพลังงาน และผลิตแผงโซล่าร์เซลส์ อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียร์ และสิ่งสุดท้ายที่ผู้คนจะนึกถึงมากที่สุดเมื่อได้ยินคำว่า Tesla นั่นคือ หน่วยที่ใช้วัดความหนาแน่นของ magnetic flux หรือ “สนามแม่เหล็ก” นั่นเอง
Tesla Technology ในความหมายของ beyerdynamic
ความหมายของคำว่า Tesla Technology ที่ beyerdynamic นำมาใช้เรียกเทคโนโลยีที่พวกเขาใช้ในการพัฒนาหูฟังของพวกเขา เป็นความหมายที่สะท้อนไปในเชิงของ “หน่วยวัดค่า” ความหนาแน่นของสนามแม่เหล็ก คือพวกเขาตั้งเป้าในการพัฒนาแม่เหล็กที่ใช้ในการควบคุมการขยับตัวของ voice coil ให้มีความหนาแน่นของ flux แม่เหล็กที่สูงมากๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า การใช้แม่เหล็กที่มีความหนาแน่นของ flux แม่เหล็กเยอะๆ จะทำให้ได้ผลดีต่อเสียงหลายอย่าง
ในเว็บไซต์ europe.beyerdynamic.com มีตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ Tesla Technology ของ beyerdynamic ที่ดูมีรายละเอียดมากที่สุดแหล่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นเอกสาร press release ที่ทาง beyerdynamic ทำออกเมื่อปี 2010 เดือนมีนาคม วันที่ 24 เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ พวกเขาสรุปไว้ในบทความนั้นว่า “Tesla” ในนิยามของ beyerdynamic มีความหมายถึงเทคโนโลยีของระบบแม่เหล็กที่ให้สนามแม่เหล็กที่มีพลังสูง และเป็นพลังงานสะอาดที่ให้ความเพี้ยนฮาร์มอนิกรวม (Total Harmonic Distortion = THD) ที่ต่ำมาก
นักวิทยาศาตร์ให้ความหมายของคำว่า “Tesla” ว่าคือการวัดค่าความเหนี่ยวนำ หรือ ความหนาแน่นของสนามแม่เหล็กของอุปกรณ์ หน่วยออกมาเป็น metre-kilogram-second system ย่อว่า “SI” ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นจนถึงปี 1960 และได้ตั้งชื่อว่า Tesla ตามชื่อสกุลของ Nikola Tesla วิศวกรไฟฟ้าผู้ค้นพบวิธีการวัดค่าแบบนี้
Nikola Tesla เกิดเมื่อปี 1856 บนพื้นที่ที่ทุกวันนี้เรียกว่า Croatia “เทสล่า” ถูกมองว่าเป็นเสมือนบรรพบุรุษของ energy generation ยุคใหม่ ด้วยการคิดประดิษฐ์ไฟฟ้ากระแสสลับของเขา ทำให้การส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าออกไปในระยะทางไกลๆ กลายเป็นความจริง ข้อเท็จจริงคือ ไม่ค่อยจะมีคนรู้จักเขา ในขณะที่คู่แข่งคนสำคัญของเขาคือ Thomas Alva Edison กลับได้รับการยกย่องนับถืออย่างล้นหลาม Nikola Tesla เลือกที่จะขลุกอยู่กับการค้นคิดวิธีการแก้ปัญหาเพื่อนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่จะไปเสวยสุขกับชื่อเสียง เขาทำการทดลองใหม่ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น การทดลองส่งพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรหัส morse ด้วยวิธีไร้สายไปยังปลายทางที่ห่างออกไปหลายๆ กิโลเมตร ซึ่งเป็นการทดลองที่เขาทำไว้นานหลายปี ก่อนหน้าที่ Guglielmo Marconi จะได้รับรางวัลในฐานะของผู้คิดค้นการสื่อสารแบบไร้สายซะอีก
คุณสมบัติของความเป็นนักประดิษฐ์ผู้บุกเบิกของ Nikola Tesla เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาของ beyerdynamic มันคือสิ่งที่พวกเขาคิดถึงเมื่อถูกตั้งคำถามถึงการปฏิวัติผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง: คือหูฟัง การสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้คอนเซ็ปต์ Tesla ได้สร้างความท้าทายขึ้นทุกวัน เพราะการที่จะนำพลังงานแม่เหล็กที่มีค่าสูงถึง 1 Tesla เข้าไปไว้ในโครงสร้างของหูฟังมันเป็นเรื่องที่ยากมาก จนถึงตอนนี้ เราพบแล้วว่า ทุกระดับความหนาแน่นของสนามแม่เหล็กที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดผลดีต่อเสียงมากมหาศาล ตัวว๊อยซ์คอยจะถูกทำให้เคลื่อนที่ได้อย่างละเอียดแม่นยำมากขึ้น และตอบสนองกับสัญญาณอินพุตได้เร็วขึ้น เสียงที่ได้ก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น และอุดมไปด้วยรายละเอียดมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน พลังงานก็จะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้สามารถเปิดได้ดังมากขึ้น
รุ่น T 1 ซึ่งเป็นรุ่นไฮเอ็นด์ของ beyerdynamic ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อปลายปี 2009 เป็นความสำเร็จที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นรุ่นที่ให้คุณภาพเสียงดีแบบก้าวกระโดด และเป็นคุณภาพเสียงในระดับไฮเอ็นด์ เป็นซีรี่ย์ที่ “Made in Germany” เต็มรูปแบบ ทั้งทางด้านโครงสร้าง วัดค่า และวิศวกรรม ทำให้ระบบแม่เหล็กของรุ่น T 1 มีความหนาแน่นของสนามแม่เหล็กสูงถึง 1.2 Teslas ซึ่งสูงกว่ารุ่นท็อป–ออฟ–เดอะ–ไลน์ที่มีอยู่ในขณะนั้นถึงสองเท่า จึงถือว่าเป็นเรื่องชอบธรรมที่ beyerdynamic จะขอยืมคำว่า Tesla Technology มาใช้ต่อจากผู้คิดค้นคนแรก
รุ่น T 50 p ซึ่งเป็นหูฟังแบบพกพา ซึ่งใช้เทคโนโลยี Tesla มาจากรุ่น T 1 ได้รับรางวัล Red Dot Design Award ในปี 2010 และได้ถูกดัดแปลงใช้กับรุ่นอื่นๆ ด้วย
Mario Gebhardt หัวหน้ากลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ออดิโอของ beyerdynamic ได้อธิบายเทคนิคพิเศษที่ใช้ในโครงสร้างของหูฟังแบบใหม่เอาไว้ดังนี้ :
ความหมายของคำว่า “Tesla Technology” คืออะไร.?
Mario Gebhardt : สำหรับหูฟังของ beyerdynamic, “Tesla” มีความหมายถึงระบบเทคโนโลยีใหม่ของเรา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแม่เหล็กที่มีพลังขับมหาศาล และให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ให้ความเพี้ยนฮาร์มอนิกรวม (THD) ที่ต่ำมาก
ระบบแม่เหล็กที่มีพลังงานสูงมีประโยชน์อย่างไร.?
Mario Gebhardt : มันทำให้เราสามารถออกแบบว๊อยซ์คอยที่ให้เสียงที่เรียบเนียนได้ ซึ่งเป็นมรรคผลที่ทำให้ได้เสียงที่อุดมไปด้วยรายละเอียดอันหนาแน่น อีกด้านหนึ่ง.. พลังงานแม่เหล็กที่เพิ่มขึ้น ได้ถูกแปลงไปเป็นพลังงาน acoustic energy ทำให้ได้เสียงที่มีพลัง และได้อิมแพ็ค
คุณก็เลยได้โอกาสสานต่องานที่คั่งค้างอยู่..?
Mario Gebhardt : ใช่เลยครับ.! ในรุ่น T 1 เราได้ประโยชน์จากพลังของสนามแม่เหล็กมาช่วย ทำให้สามารถสร้างเสียงที่ราบเรียบ และดึงรายละเอียดจากว๊อยซ์คอยที่มีอิมพีแดนซ์ 600 โอห์มออกมาได้ โดยไม่สูญเสียความไวไปเลย แต่กับรุ่น T 50 p ที่ใช้ว๊อยซ์คอยที่มีรีซีสแตนซ์ต่ำกว่าคือ 32 โอห์ม เราได้แปลงพลังงานของสนามแม่เหล็กให้ออกมาเป็นพลังงานอะคูสติกเพาเวอร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ด้วยการทำแบบนี้ ทำให้เราได้ไอเดียในการนำหูฟังของเราไปใช้กับอุปกรณ์แบบพกพาที่มีกำลังขับต่ำ
วอลลุ่มของเสียงที่สูงเกินไป ทำลายระบบการได้ยินจริงมั้ย.?
Mario Gebhardt : แน่นอนครับ. แต่เครื่องเล่นทุกตัวมีวอลลุ่มคอนโทรลอยู่แล้ว ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องฟังที่ระดับสูงสุดของวอลลุ่ม ข้อดีของ “ความไว” ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลบวกที่ระดับวอลลุ่มต่ำๆ ด้วย คือทำให้ได้เสียงที่เนียน มีละเอียด หมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องเร่งวอลลุ่มขึ้นไปสูงๆ เพื่อให้ได้ยินรายละเอียดเหล่านั้น
คุณได้แม่เหล็กพลังงานสูงมาด้วยวิธีไหน.?
Mario Gebhardt : โดยหลักการแล้ว มักจะมีคำถามในการออกแบบระบบที่ทำให้เกิดการสูญเสียของสนามแม่เหล็กน้อยที่สุด ซึ่งเรามาถึงจุดนี้ได้ก็ด้วยการออกแบบรูปทรงใหม่ ที่ทำให้เราสามารถถ่ายทอดพลังงานจากสนามแม่เหล็กไปที่ว๊อยซ์คอยได้เต็มที่มากที่สุด ก่อนหน้านี้ เราใช้แม่เหล็กแบบนีโอไดเมี่ยมเป็นศูนย์กลางของระบบ ซึ่งขนาดของมันจะถูกจำกัดเมื่อเข้าไปอยู่ในหูฟัง ด้วยหลักการของ Tesla แม่เหล็กจะถูกติดตั้งเหมือนวงแหวนล้อมรอบตัวว๊อยซ์คอย ทำให้สามารถแปลงเป็นพลังงานไปถึงไดอะแฟรมได้มาก ตามที่มันต้องการ
สนามแม่เหล็กที่มีพลังงานสูงๆ จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพได้มั้ย.?
Mario Gebhardt : ไม่ครับ. ต้องไม่สับสนกัน ระหว่าง “ความเข้มข้น” ของสนามแม่เหล็กในหูฟัง กับการ “แพร่กระจาย” ของคลื่นสนามแม่เหล็ก ในหูฟังนั้น มันคือสนามแม่เหล็กแบบคงที่ (static magnetic field) แบบเดียวกับสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งจะมีความเข้มข้นเฉพาะจุดจำกัด นั่นก็คือ ตรงช่องว่างอากาศระหว่างว๊อยซ์คอย
ไม่มีส่วนใดของสนามแม่เหล็กในระบบนี้ที่จะแพร่ออกไปทำอันตรายได้เลยใช่มั้ย.?
Mario Gebhardt : ระบบ Tesla ของเราได้ถูกปรับจูนมาอย่างดี เพื่อให้พลังของแม่เหล็กที่หลุดรอดออกไปจากระบบมีน้อยมาก มิฉนั้น จะทำให้สูญเสียประสิทธิภาพของระบบลงไปได้ โดยธรรมชาติแล้ว สัญญาณเสียงที่เดินทางอยู่ในว๊อยซ์คอยจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสนามแม่เหล็กออกมาน้อยมาก ซึ่งหูฟังทุกตัวก็เป็นเหมือนกันหมด แต่อย่างไรก็ตาม ระบบ Tesla ของเราก็มีการแพร่กระจายน้อยกว่าระบบทั่วไป เพราะพอระบบมันมีความไวสูง ความต้องการกำลังก็ต่ำลง
อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ได้เสียงที่สะอาด.?
Mario Gebhardt : มันเป็นผลมาจากหลายๆ รายละเอียดด้วยกัน แต่ที่อยากจะพูดถึงเป็นพิเศษก็คือ แม่เหล็กที่ทำเป็นรูปวงแหวน ที่คอยควบคุมตรงศูนย์กลางของไดอะแฟรมเพื่อลดเรโซแนนซ์ที่เป็นเหตุทำให้เกิดสีสันลงไป นอกจากนั้น เราใช้ไดอะแฟรมแบบพิเศษที่มีหลายระดับซึ่งช่วยซึมซับอาการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการบิดเบี้ยวของตัวไดอะแฟรมลงไป
คุณประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดที่ได้จากหูฟังที่ใช้เทคโนโลยี Tesla คืออะไร.?
Mario Gebhardt : ไฮไล้ท์ของ Tesla Technology คือดีไซน์ที่เป็นโลหะทั้งระบบ มันช่วยป้องกันเรโซแนนซ์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนั้น โครงสร้างโลหะยังช่วยป้องกันการรบกวนจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอีกด้วย ดังนั้น สิ่งเดียวที่ทำให้ไดอะแฟรมของไดเวอร์ที่อยู่ในหูฟังที่ใช้เทคโนโลยี Tesla เกิดการสั่นขึ้นมาได้ก็มีแค่ตัว “สัญญาณเสียง” เพียงอย่างเดียว! /
********************
หูฟัง beyerdynamic รุ่นที่ใช้เทคโนโลยี Tesla Technology ปัจจุบันมีทั้งหมด 13 รุ่น ได้แก่
: AVENTO WIRELESS
: AVENTHO WIRED
: AMIRON WIRELESS
: XELENTO WIRELESS
: XELENTO REMOTE
: T 1
: T 5 P
: T 51 I
: DT 1990 PRO
: DT 1770 PRO
: DT 1350 COILEDCABLE (CC)
: DT 1350
: AMIRON HOME