การปะทะกันของอัลบั้ม “Dark Side Of The Moon” – ยกที่ 4 ระหว่างเวอร์ชั่น EMI 1994 Digital Remastered กับเวอร์ชั่น 2011 Pink Floyd Music (50999 028955 2 9)

เวอร์ชั่นสุดท้ายที่ท้าชิงกับเวอร์ชั่นฉลองครบรอบ 20 ปีของอัลบั้มชุด Dark Side Of The Moon ที่ค่าย EMI United Kingdom ทำออกมาโดยมี Doug Sax รับหน้าที่ทำมาสเตอริ่งที่ The Mastering Lab ก็คือเวอร์ชั่นที่ James Guthrie รับหน้าที่ทำมาสเตอริ่งเมื่อปี 2011 ซึ่งแผ่นซีดีที่ผมมีเป็นแผ่นที่บรรจุอยู่ในบ็อกเซ็ต Discovery รวมอยู่กับงานเพลงอีก 13 อัลบั้มของ Pink Floyd ชุดอื่นๆ

การเปรียบมวยคู่นี้น่าสนใจมาก เพราะเท่ากับว่าเป็นการวัดฝีมือการทำมาสเตอริ่งระหว่าง Doug Sax กับ James Guthrie โดยตรง ซึ่งงานเพลงที่ทั้งคู่ต้องรับหน้าที่ทำมาสเตอร์ก็เป็นงานอัลบั้มที่พวกเขาทั้งสองไม่ได้มิกซ์เองซะด้วย แต่เป็นผลงานที่บันทึกและมิกซ์โดย Alan Parsons ตั้งแต่ปี 1973 ดังนั้น แนวทางการทำรีมาสเตอร์ของมาสเตอริ่ง เอนจิเนียร์ทั้งสองคนนี้จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาหาจุดลงตัวในการดึงเอา คุณภาพเสียงกับ ความเป็นดนตรีออกมาจากมิกซ์ของอลัน พาร์สันให้ได้มากที่สุดโดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำรีมาสเตอร์ที่ตัวเองถนัด ซึ่งมองในแง่นี้ ต้องบอกว่า James Guthrie ได้เปรียบ Doug Sax อยู่นิดๆ ตรงที่ว่า James Guthrie เคยทำงานใกล้ชิดกับอลัน พาร์สันมามากกว่าดั๊ก แซ็กนั่นเอง

การฟังเทียบคู่นี้ ผมเริ่มด้วยเพลง Time แล้วต่อเนื่องด้วย The Great Gig In The Sky สองเพลงรวด โดยเริ่มที่คู่แข่งคือเวอร์ชั่น 2011 Pink Floyd Music ก่อน ซึ่งเสียงที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ รู้สึกได้ถึงพลังของเสียงที่หนักแน่น โฟกัสคม เสียงนาฬิกาตอนขึ้นต้นแทรค Time ให้มิติเสียงที่โดดเด่น ฉีกแยกตำแหน่งของแต่ละเรือนออกมาได้ชัด อิมแพ็คคมและแน่น หางเสียงมีความกังวานไม่ขาดด้วน เสียงว๊อยซ์อิมโพรไวด์ในแทรค The Great Gig in The Sky ก็โหยหวนและหลุดลอยลงไปอยู่ด้านหลังของเวทีเสียง แกว่งไปแกว่งมาโดยมีความรู้สึกของแอมเบี้ยนต์ห่อหุ้มเสียงร้องอยู่ตลอด ไม่แห้ง โดยรวมถือว่าทำได้ดีมาก ข้อสังเกตของผมคือเวอร์ชั่นนี้ให้เสียงออกมาเต็มตัวดี แต่ในแง่ที่ทำให้รู้สึกรบกวนการฟังอยู่หน่อยๆ คือฟังแล้วรู้สึกแยงหูนิดๆ รู้สึกว่ามีอาการล้นๆ เกินๆ ในช่วงพีคบางช่วงอยู่บ้าง คือบางช่วงก็ฟังว่าความดังกำลังดี ให้การย้ำเน้นได้ถึงอารมณ์ แต่พอถึงบางช่วงจะรู้สึกเหมือนดังเกินไปนิด (overshoot) อะไรประมาณนี้…

พอเปลี่ยนมาลองฟังตัวยืนคือเวอร์ชั่น EMI 1994 ที่ Doug Sax รีมาสเตอร์ออกมาใช้ในเวอร์ชั่นฉลองครบรอบ 20 ปีของอัลบั้มชุดนี้ โดยเริ่มที่เพลง Time แล้วปล่อยยาวไปจนจบเพลง Us And Them สี่เพลงรวดที่ระดับวอลลุ่มเดียวกัน พอจบสี่แทรคนี้ ผมแทบจะได้ข้อสรุปแล้วว่าใครจะชนะ..!!

แต่เดี๋ยวยังก่อน.. ผมหยุดเล่นแผ่น EMI 1994 แล้วกลับมาหยิบแผ่นซีดีเวอร์ชั่น 2011 Pink Floyd Music ยัดเข้าไปใน Vivaldi แล้วกดเลือกฟังแทรค Money ต่อยาวไปถึงเพลง Us And Them เพื่อเทียบกันด้วยระดับวอลลุ่มเดิม หลังจากนั้น ผมก็เริ่มต้นฟังแทรคที่เหลือเทียบกันแทรคต่อแทรคเพื่อสังเกตความแตกต่างในจุดอื่นๆ ก่อนจะสรุปผล

เคยมีนักดูหนังเอ่ยไว้ว่า หนังเรื่องเดียวกัน ในแต่ละครั้งที่คุณดูซ้ำ คุณมักจะได้อะไรเพิ่มขึ้นจากการดูครั้งก่อนๆ เสมอ ผมว่า ฟังเพลงก็มีอะไรแบบนี้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตอนฟังเวอร์ชั่น 2011 Pink Floyd Music ที่ James Guthire ทำมาสเตอร์อยู่ผมก็รู้สึกว่ามันให้เสียงที่ดีมากแล้ว ถามว่าพอใจได้มั้ย.? ก็ได้อยู่นะ สามารถแฮ้ปปี้กับเนื้อหาของเพลงได้ แต่พอหยิบแผ่นซีดีเวอร์ชั่น EMI 1994 ที่ Doug Sax ทำมาสเตอร์ขึ้นมาฟังเทียบ ณ วอลลุ่มเดียวกัน สิ่งที่ ดีกว่าก็ปรากฏขึ้นมาให้ได้ยิน นั่นคือความรู้สึกปลดปล่อย อิสระ และเริงร่า ซึ่งเวอร์ชั่น EMI 1994 ทำออกมาได้ดีกว่า แม้ว่าในเชิงปริมาณจะไม่ได้ต่างกันมากเหมือนตอนเทียบกับเวอร์ชั่น MFSL และ Harvest แต่ก็สามารถรับรู้ถึงความต่างได้ ในแง่ไดนามิกเร้นจ์หรือการสวิงดังเบาของเสียงระหว่างสองเวอร์ชั่นนี้ถือว่าใกล้เคียงกันมาก ต้องยอมรับว่าทั้งสองเวอร์ชั่น “ขุดรายละเอียดจากมาสเตอร์ที่อลัน พาร์สันมิกซ์ไว้ออกมาได้แทบจะเรียกว่าขูดจนถึงกระดูก งานถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงสามารถทำลงไปได้ถึงระดับ pp (= very low) อยู่ในเกณฑ์เยี่ยมทั้งคู่ แต่ทางด้านพีคที่ระดับ ff (= very loud) เวอร์ชั่นของ EMI 1994 ทำได้ดีกว่านิดนึง ซึ่งตรงนี้คือจุดชี้เป็นชี้ตายที่ทำให้ผมตัดสินใจยื่นถ้วยชนะเลิศให้กับเวอร์ชั่น EMI 1994 เพราะจุดนั้นมีผลต่อ ฟิลลิ่งของเพลงที่ฟังแล้วไม่ถูกอาการแยงหูเข้ามารบกวน สามารถปลดปล่อยอารมณ์ให้ติดตามเรื่องราวในเพลงไปได้ตลอด จะขึ้นเขาลงห้วยถึงไหนถึงกัน ซึ่งประเด็นนี้เวอร์ชั่น EMI 1994 ทำได้เพอร์เฟ็กต์มาก ฟังแล้วได้อารมณ์ชวนให้ส่ายหัวตามลีลาของเพลงไปโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นเพลง Time, Money หรือแม้แต่เพลงช้าๆ อย่าง Us And Them และ The Great Gig In The Sky เวอร์ชั่น EMI 1994 ให้ความเป็นดนตรีที่น่าฟังกว่า ทุกเสียงพรั่งพรูพลังงานออกมาเต็มสเกล เฮดรูมกว้างสวิงได้ไม่ติดเพดาน จึงไม่มีอาการมั่วใดๆ เกิดขึ้นเลย ในขณะที่เวอร์ชั่น 2011 Pink Floyd Music ที่ทำมาสเตอร์โดย James Guthrie กลับมีลักษณะที่ตั้งใจเน้นมากไป ควบคุมมากไป ทุกเสียงอยู่กับที่กับทางมากไป ความเป็นอิสระในการขยับเคลื่อนของตัวโน๊ตจึงไม่เต็มร้อย ฟังแล้วไม่เพลินเท่ากับเวอร์ชั่น EMI 1994 ที่ Doug Sax ทำมาสเตอร์เอาไว้

สรุป

แม้ว่า DSOTM ทั้ง 5 เวอร์ชั่นนี้จะมีความแตกต่างกันให้รับรู้ได้ในแง่ของ คุณภาพเสียงที่มีผลกับ ความเป็นดนตรี” ในระดับที่ต่างกันไปด้วย แต่ถ้าไม่เปรียบเทียบกัน ผมก็พบว่า คุณภาพเสียงของทั้ง 5 เวอร์ชั่นนี้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สมฐานะของอัลบั้มยอดนิยมตลอดกาลแล้ว ขอให้มีแค่เวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่ง ถ้ามีความเข้าใจในการแม็ทชิ่ง คุณก็สามารถผสมผสานอุปกรณ์เครื่องเสียงขึ้นมาเป็นชุดที่ช่วยส่งเสริมให้อัลบั้มนี้ถ่ายทอดความพิเศษของมันออกมาให้สัมผัสและเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาของเพลงได้อย่างพึงพอใจแล้ว แต่ถ้าคุณชอบอัลบั้มนี้อย่างจริงๆ จังๆ และอยาก “เข้าถึงแก่นสาระของแต่ละบทเพลงในอัลบั้มชุดนี้ อย่างที่เจ้าของผลงานอยากนำเสนอผมแนะนำให้ลองหาแผ่นซีดีเวอร์ชั่นฉลองครบรอบ 20 ปีที่ค่าย EMI United Kingdom จัดทำออกมาเมื่อปี 1994 ไปลองฟังดู แล้วคุณจะรู้ว่าเพราะอะไรอัลบั้มชุดนี้จึงเป็นหนึ่งใน “The Best Rock Album Of All Timeสำหรับโลกใบนี้.!!! /

**********
Overture!
ยกที่ ๑
ยกที่ ๒
ยกที่ ๓

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า