Brand Story : LEAK กับ 87 ปีแห่งตำนานไฮไฟฯ

LEAK เป็นชื่อแบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮฟิเดลตี้ที่เริ่มต้นขึ้นมา ตั้งแต่ปี 1934 ก่อตั้งโดย Harold Joseph Leak ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ผลิตสินค้าเครื่องเสียงหลายชนิด มีทั้งแอมปลิฟาย, เครื่องรับวิทยุ, ลำโพง และเครื่องเล่นแผ่นเสียง

ผลิตภัณฑ์ของ LEAK ถูกผลิตออกสู่ตลาดโดยบริษัท H. J. Leak & Co. Ltd. มาโดยตลอด จนถึงเดือนมกราคม ปี 1969 LEAK ขายกิจการให้กับบริษัท Rank Organisation เพื่อหวังขยายกำลังการผลิตและขยับขยายรุ่นของสินค้าให้มากขึ้นเพื่อสู้กับผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงแบรนด์ญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหราชอาณาจักร แต่ Rank ก็ทำไม่สำเร็จ ช่วงปลายของปี 1970 ทั้งลำโพงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคภายใต้ชื่อแบรนด์ LEAK จึงต้องยุติสายการผลิตลง

ต่อไปนี้เป็นประวัติคร่าวๆ ของแบรนด์ LEAK

(ภาพของ H. J. Leak (คนซ้าย) ถ่ายคู่กับลูกชายคือ John D. Leak ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการการตลาดของ LEAKถ่ายเมื่อเดือนเมษายน ปี 1968)

Harold Joseph Leak ก่อตั้งบริษัท H. J. LEAK & CO LTD. ใน ปี 1934 ซึ่งบริษัทดั้งเดิมตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ LEAK เป็นแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีคุณภาพสูง

Harold Joseph Leak โปรโมทตัวเองออกมาเป็น ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์ เทคนิเชี่ยล โดยร่วมงานกับ Ted Ashley ที่เข้ามาร่วมกับบริษัทตอนช่วงปลายของปี 1930 ในตำแหน่งหัวหน้าวิศวกรของบริษัท LEAK กลายเป็นผู้นำตลาดสินค้าเครื่องเสียงคุณภาพสูงที่มีราคาอยู่ในระดับที่ใครๆ ก็เอื้อมถึง.. ต่อเนื่องมาหลายสิบปี

แบรนด์ LEAK ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตแอมปลิฟาย, ลำโพง, หัวเข็ม และเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีการขยายผลิตภัณฑ์ออกไปมากมายในช่วงเวลาที่เป็นยุคทองทางด้านนวัตกรรมด้านเสียงของอังกฤษ

เช่นเดียวกับแบรนด์เครื่องเสียงของอังกฤษในยุค ‘30 และ ‘40 ที่มีทั้งวิวัฒนาการและการปฏิวัติวงการเกิดขึ้นทั้งสองด้าน กิจการของ LEAK ต้องถูกระงับเพื่อเปลี่ยนไปพัฒนายุทโธปกรณ์ในช่วงสงคราม และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง LEAK ก็ได้รับผลดีจากนำเอาการวิจัยอิเล็กทรอนิคในช่วงสงครามเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของระบบเสียงไปใช้ในกิจการทหารมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทเช่นเดียวกับแบรนด์ดังของอังกฤษในยุคเดียวกัน LEAK เริ่มต้นกลับมาสู่ธุรกิจเครื่องเสียงหลังสงครามโลกโดยมุ่งไปที่ระบบเสียงพีเอ (PA) และด้วยความเชี่ยวชาญที่เพิ่มพูนขึ้น รวมกับความปรารถนาที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพเสียงให้ดีขึ้น ตลอดช่วงทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา LEAK ให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบเสียงที่มีสัญญาณรบกวนต่ำ มีประสิทธิภาพสูง และให้ความเที่ยงตรงแบบที่ไม่มีใครเทียบได้

ช่วงปลายทศวรรษ 1940 หลังจากที่โรงงานเดิมในอำเภอเชพเพิร์ดส์ถูกบอมบ์ในช่วงสงคราม โรงงาน LEAK แห่งใหม่ก็ก่อตั้งขึ้นบนที่ดินในโรงงาน Westway ที่เพิ่งสร้างใหม่บนถนนบลูเนล (Brunel) ในลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวิศวกรรมที่ตั้งชื่อตามวิศวกรชื่อดัง I.K. Brunel การออกแบบโรงงานสไตล์อาร์ต-เดโคของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ได้ส่งอิทธิพลถึงการออกแบบที่ถ่ายทอดผ่านผลิตภัณฑ์ของ LEAK มาตลอดอายุขัยของแบรนด์

หลังจากผลิตแอมปลิฟายเพื่อส่งมอบตามสัญญาผูกพันมาหลายปี แอมปลิฟายรุ่น Type 15 ของ LEAK ก็ถือกำเนิดออกมาใน ปี 1945 ซึ่งเป็นแอมปลิฟายที่ใช้วงจรขยายสี่ชั้น (four-stage circuit) และเป็นแอมปลิฟายที่ใช้ negative feedback กับหลอดเพาเวอร์เบอร์ KT66 ทำให้ได้เอ๊าต์พุตสูงถึง 15W (ที่มาของชื่อรุ่น Type 15) แอมป์รุ่นนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Point One Amplifierซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงสเตอริโอคลาสสิกที่วิวัฒนาการมาจนถึงปี 1950

ในปี .. 1948 เพาเวอร์แอมป์รุ่น LEAK TL/12 ก็ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นรุ่นคลาสสิกแห่งอนาคต เพราะถือว่าเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การออกแบบแอมปลิฟายที่มีความเที่ยงตรงสูง ไม่นานจากนั้น ก็มีโทนอาร์ม, หัวเข็ม MC และเพาเวอร์แอมป์รุ่น TL/25 ที่มีกำลังสูงกว่าตามออกมา

แนวคิดในการออกแบบแอมปลิฟายที่มีความเที่ยงตรงสูงระดับไฮฟิเดลิตี้นี้ จำเป็นต้องมีแนวทางที่พิเศษไม่เหมือนใคร ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 1949 H. J. Leak จึงเริ่มออกตระเวณทำการเปรียบเทียบ การแสดงดนตรีสดกับ การเล่นกลับจากสื่อที่ทำซ้ำด้วยการขยายผ่านแอมปลิฟายไปทั่วประเทศ เพื่อประกาศศักดาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า การเล่นกลับด้วยระบบเสียงที่มีความเที่ยงตรงสูง” ของ LEAK ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับ “ดนตรีสด” อย่างไร

นั่นนับว่าเป็นจุดพลิกผันสำคัญ เพราะหลังจากตระเวณทำอย่างนั้นแค่เวลาสั้นๆ H. J. Leak ก็ได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมในงานประชุมของ Audio Engineering Society (AES) ที่นิวยอร์ก จากนั้น มีผลให้เพาเวอร์แอมป์ LEAK รุ่น TL/12 กลายเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่โด่งดังข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงสหรัฐอเมริกา และขยายไปทั่วโลกในอีกไม่นานจากนั้น

ช่วงสิ้นปี 1949 H. J. Leak ได้ทำการขยายกิจการโดยว่าจ้างพนักงาน 20 คนเพื่อช่วยในงานด้านนวัตกรรมและการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ถือว่าเป็นช่วงที่แบรนด์ LEAK เป็นที่รู้จักไปทั่ว กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกตั้งแต่นั้นมา

TL/12 กลายเป็นแอมปลิฟายที่ BBC เลือกใช้เป็นมาตรฐานในปี 1951 ซึ่งทาง LEAK ผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับ BBC ใช้งานในสถานีเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกผลิตตามสเปคฯ ที่ BBC กำหนด โดยเฉพาะรุ่น TL/12 ถูกพัฒนาให้เอาวอลลุ่มแบบ input attenuation เข้าไปรวมไว้ และได้รับการปรับปรุงเอ๊าต์พุตทรานฟอร์เมอร์ใหม่ด้วย

ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 หัวเข็มและโทนอาร์มรุ่นใหม่ๆ ของ LEAK ก็ทะยอยกันออกสู่ตลาด เครื่องรับวิทยุ FM ออกมาในปี 1955 ในรูปแบบของ Troughline FM Tuner มีบันทึกและเรื่องเล่าเกี่ยวกับการพัฒนาลำโพงที่ใช้ไดรเวอร์ขนาด 15” แม็ทกับทวีตเตอร์แบบอิเล็กโตรสแตติกด้วย แต่ในขณะนั้นยังไม่เคยผลิตออกมาในลักษณะแมสโปรดักชั่น ถูกเก็บเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาในภายหลัง

หลังจาก TL/12 เวอร์ชั่นแรกประสบความสำเร็จระดับโลกนานถึง 8 ปี LEAK ก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา 3 ตัวในปี 1956 ประกอบด้วยเพาเวอร์แอมป์รุ่น TL/12 Plus ที่พัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น TL/12 ส่วนอีกสองตัวก็คือปรีแอมป์รุ่น TL/25 กับเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกรุ่น TL/50 ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการขานรับจากตลาดเป็นอย่างดี

ความสำเร็จของ LEAK ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในปี 1958 พวกเขาได้เปิดตัวเพาเวอร์แอมป์สเตริโอออกมาอีก 2 รุ่น นั่นคือ “Stereo 20กับ “Stereo 50และทำปรีแอมป์รุ่น “Point Oneกับรุ่น “Varislopeออกมาตอนปลายทศวรรต ‘50 ซึ่งถือว่าเป็นการนำเอาระบบเสียง Hi-Fidelity ที่มีความละเอียดสูงเข้าสู่วงการโฮมออดิโออย่างเต็มตัว ส่วนเครื่องรับวิทยุ “Troughline FM Tunerเวอร์ชั่นสองยังไม่มีการกล่าวถึงในขณะนั้น

แม้ว่าการพัฒนาลำโพงของ LEAK จะเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นทศวรรต 1950 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเชิงพานิชย์ จนถึงปี 1959 H. J. Leak ได้ด็อกเตอร์ Don A. Barlow เข้ามาช่วยในการพัฒนาโปรเจคลำโพงที่ LEAK กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งให้ชื่อโครงการว่า piston action” (ทำงานแบบลูกสูบ) จนได้ออกมาเป็นเทคโนโลยีที่ชื่อว่า LEAK SANDWICH ที่สามารถใช้ในการผลิตจริงออกมาในปี 1961

LEAK SANDWICH เป็นระบบลำโพงที่ปฏิวัติวงการออกแบบและผลิตในสหราชอาณาจักรโดย H. J. Leak ตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งแนวคิดก็คือการออกแบบเชิงวิศวกรรมให้ลำโพงทำงานคล้ายการทำงานของลูกสูบในเครื่องยนต์ ส่วนความหมายที่อยู่เบื้องหลังคำว่า “Sandwichก็คือการออกแบบไดอะแฟรมที่ผลิตจากส่วนของโพลีสไตลีนที่ขยายตัวประกบอยู่ระหว่างชั้นนอกของอะลูมิเนียมที่ซ้อนสองชั้น ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ช่วยลดการสั่นสะเทือนและสร้างสัญญาณไฟฟ้าได้ดี

ปี 1963

LEAK นำเสนอแอมปลิฟายรุ่น “Stereo 30″ ออกมาในปี 1963 เป็นทรานซิสเตอร์แอมปลิฟายที่ใช้ทรานซิสเตอร์เอ๊าต์พุตแบบ “quasi-complementary germanium transistorถือว่าเป็นการสืบทอดความสำเร็จต่อยอดออกไปจากแนวทางที่แอมป์หลอดของแบรนด์ได้สร้างชื่อเอาไว้ แอมป์รุ่น Stereo 30 ยังคงรักษาแนวทางของแอมป์ที่ให้ความเป็นไฮฟิเดลิตี้ของระบบเสียงสเตริโอที่ LEAK ยึดเป็นแนวทางเอาไว้ได้ และเนื่องจากทรานซิสเตอร์ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าหลอดสุญญากาศอย่างมาก ทำให้ราคาแอมป์ของ LEAK ยิ่งดึงดูดความสนใจและเหมาะสมกับสภาวะของตลาดเครื่องเสียงบ้านที่กำลังเติบโต

อย่างไรก็ตาม H. J. Leak ก็ยังคงผลิตแอมป์หลอดออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางทศวรรต ’60 และรุ่นที่มีกำลังขับสูงๆ อย่างเช่นรุ่น TL/50Plus ก็ยังคงผลิตออกมาจำหน่ายจนถึงช่วงปลายทศวรรต ’60

ด้วยรุ่นและประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ขยายมากขึ้น บวกกับความต้องการลำโพง LEAK SANDWICH ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้องสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Downham Market Factory ซึ่งเป็นการนำ LEAK จากลอนดอนมุ่งสู่นอริช ทางเหนือของลอนดอน เพื่อรองรับความต้องการลำโพงแซนด์วิช

แอมปลิฟายทรานซิสเตอร์รุ่น “Stereo 70” คลอดออกมาในปี 1968 ซึ่งแอมป์ตัวนี้ใช้ทรานซิสเตอร์เบอร์ 2N3055 ในภาคเอ๊าต์พุตที่ดีไซน์วงจรเป็นแบบ quasi-complementary configuration แอมป์ตัวนี้ได้สร้างความพึงพอใจให้กับคนที่ต้องการเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังสูงอย่างมาก

ในปี 1969 H. J. Leak ได้ขายแบรนด์ให้กับ Rank Organization และตัวของ H. J. Leak ก็เกษียณตัวเองในขณะที่แบรนด์ LEAK อยู่ในจุดสูงสุด

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้า ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เกิดกับตลาดเครื่องเสียง ทำให้ LEAK ต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และเจอกับการแข่งขันที่สูงลิ่วอันเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดเครื่องเสียงบ้าน

หลังจากเกษียณ 20 ปี Harold Joseph Leak ก็เสียชีวิตลงอย่างน่าสงสารในเดือนสิงหาคม ปี 1989 และใน ปี 1996 โรงงานผลิตของ LEAK ที่ Downham Market ก็ปิดตัวลงและถูกรื้อทิ้งเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

จากวันนั้น LEAK กลายเป็นแบรนด์คลาสสิกในอดีตที่ผู้คนจดจำและให้ความชื่นชม แต่ไม่มีช่องทางที่จะสามารถยืนอยู่ในตลาดเครื่องเสียงอีกต่อไป

หลังจากอยู่เฉยๆ มานานหลายปี LEAK ก็ได้รับการช่วยเหลือจาก IAG Group ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องเสียงชั้นนำของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์คลาสสิกของอังกฤษจำนวนมาก ใน ปี 2020 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 113 ของ Harold Joseph Leak และตรงกับวันเกิดปีที่ 84 ของบริษัท H. J. Leak & Co. Ltd. ทาง IAG Group ภูมิใจนำเสนอการกลับมาของ LEAK ที่ยังคงรักษารูปลักษณ์การออกแบบสไตล์ art-deco กับคุณภาพเสียงระดับไฮฟิเดลิตี้เพื่อนำเสนอให้กับนักนิยมเครื่องเสียงยุคปัจจุบัน

การกลับมาของ LEAK ที่ยังคงใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ ทั้งทางด้านรูปร่างหน้าตาและประสิทธิภาพเสียง รวมทั้งคุณค่าที่คุ้มกับราคา นั่นคือแอมปลิฟายรุ่น “Stereo 130และเครื่องเล่นแผ่นซีดีรุ่นแรกสำหรับแบรนด์ LEAK นั่นคือรุ่น “LEAK CDTซึ่งรองรับกับสื่อกลางทุกชนิดในปัจุบัน เป็นการตอบโจทย์กับการใช้งานในยุคปัจจุบันอย่างครบถ้วน ในขณะเดียวกัน LEAK ยุคใหม่ก็ยังคงรักษารูปลักษณ์การออกแบบที่คลาสสิกเหมือนยุคดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างมั่นคง /

********************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
HiFi Tower

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า