เรื่องราวของ Uni-Q ไดเวอร์มหัศจรรย์ของ KEF

Raymond Cooke ทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้าให้กับ BBC ก่อนจะลาออกแล้วมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นเมื่อ ปี 1961 เพื่อเริ่มต้นออกแบบและผลิตลำโพงภายใต้ชื่อแบรนด์ KEF ซึ่งกิจการก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เขาสามารถออกแบบและผลิตลำโพงออกมาได้มากมายหลายรุ่น ใน ปี 1970 KEF ได้รับรางวัล Queen’s Award ในฐานะของบริษัทผู้ส่งออกที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนอกสหราชอาณาจักร

Raymond Cooke

ใน ปี 1973 KEF เป็นผู้ผลิตลำโพงรายแแรกของโลกที่นำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการวัดค่าและออกแบบลำโพง นั่นทำให้ลำโพงของ KEF มีประสิทธิภาพก้าวข้ามมาตรฐานเดิมขึ้นมาอีกขั้น และเมื่อได้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบ มีผลนำไปสู่การออกแบบที่ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นจนเข้าใกล้ระดับ อ้างอิง” (reference standard) การค้นพบตัวแปรใหม่ๆ ที่ส่งผลกับคุณภาพของเสียงนำมาซึ่งรูปแบบของไดเวอร์ที่ให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีเยี่ยมตามอุดมคติ เป็นที่มาของไดเวอร์ Uni-Q ซึ่งเป็นระบบไดเวอร์ประเภทแรกของโลกที่ทุกความถี่เสียงถูกทำให้เกิดขึ้นมาจากจุดกำเนิดที่เป็น แกนเดียวกัน (coincident source) ซึ่งทาง KEF ได้ทำการจดสิทธิบัตรการคิดค้นนี้เอาไว้เมื่อ ปี 1988 

ลักษณะเด่นของไดเวอร์ Uni-Q

ถ้ามองเผินๆ ไดเวอร์ Uni-Q ก็จะมีลักษณะคล้ายกับไดเวอร์ไดนามิกประเภทที่ใช้ขับเสียงทุ้มที่เรียกว่า วูฟเฟอร์ทั่วๆ ไป แต่ความพิเศษของไดเวอร์ Uni-Q ก็คือการนำเอาทวีตเตอร์ทรงโดมครึ่งวงกลมที่ใช้ขับเสียงแหลมไปติดตั้งไว้ตรงใจกลางของวูฟเฟอร์ทรงกรวยที่ใช้ขับเสียงกลางและทุ้ม (ดูรูปประกอบด้านบน) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนในยุคนั้น

การที่ไดเวอร์ Uni-Q ติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ตรงใจกลางของตัวมิด/วูฟเฟอร์ ส่งผลดีต่อ คุณภาพเสียงถึง 3 ประการ ดังนี้

Sit anywhere, hear every detail
นั่งฟังตรงไหน ก็ได้ยินรายละเอียดเสียงเหมือนกันทั้งหมด

ลำโพงทั่วไป ส่วนใหญ่จะติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ด้านบนของตัวมิด/วูฟเฟอร์ ทำให้ความถี่ในย่านสูง (เสียงแหลม) กับความถี่ในย่านกลางและต่ำ (เสียงกลางและเสียงทุ้ม) เดินทางออกมาจากคนละตำแหน่งของลำโพง ทำให้มุมกระจายเสียงของลำโพงแต่ละตัวมีลักษณะที่ไม่เปิดกว้าง เวลาฟังจึงต้องเอียงหน้าลำโพงยิงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง (เรียกว่าเทคนิคการ โทอิน) เพื่อทำให้ความถี่ทุกย่านเสียงเดินทางมาถึงตำแหน่งนั่งฟังพร้อมกัน ส่งผลให้ตำแหน่งที่รับฟังเสียงได้คุณภาพดีที่สุดจึงมีพื้นที่จำกัด (เรียกว่าตำแหน่ง sweet spot) คนที่นั่งอยู่นอกพื้นที่ sweet spot ที่ว่านี้จะได้ยินเสียงที่มีคุณภาพแย่กว่าตำแหน่งที่อยู่ในแนวที่ลำโพงยิงเสียงเข้าไปหา

ข้อดีของการติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ตรงแกนกลางของตัวมิด/วูฟเฟอร์ คือทำให้เสียงแหลม, เสียงกลาง และเสียงทุ้ม แผ่ออกมาจากจุดเดียวกันและกระจายแผ่ออกไปในห้องพร้อมกันตลอดเวลา มีผลให้ผู้ฟังสามารถรับรู้รายละเอียดของเสียงทั้งในย่านแหลม, กลาง และทุ้มที่เท่าเทียมกัน ทุกจุดภายในห้อง ในขณะที่ตำแหน่งนั่งฟังที่ให้เสียงดีที่สุดที่เรียกว่าจุด sweet spot จะครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างมาก

Cleaner, less distorted sound
เสียงที่สะอาด เพราะมีความเพี้ยนต่ำ

การติดตั้งทวีตเตอร์กับมิด/วูฟเฟอร์ไว้คนละตำแหน่ง ทำให้เสียงแหลมกับเสียงกลางและเสียงทุ้มไม่ได้กำเนิดขึ้นมาจากเดียวกัน เมื่อความถี่เสียงเหล่านั้นแผ่ขยายออกมาถึงจุดนั่งฟังจะมีผลให้เกิดการแทรกซ้อน (interfere) ของเฟสสัญญาณ เป็นต้นเหตุของความเพี้ยน (distortion) ปนเข้าไปกับคลื่นเสียง

การติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ตรงใจกลางของตัวมิด/วูฟเฟอร์ ทำให้คลื่นเสียงแหลม, กลาง และทุ้มแผ่ออกมาจากจุดเดียวกัน จึงไม่เกิดความเพี้ยนของเสียงที่มีสาเหตุมาจากการแทรกซ้อนของความถี่ต่างๆ ทุกความถี่ที่แผ่ออกมาจากไดเวอร์ Uni-Q จึงมีความสะอาดบริสุทธิ์ตรงตามต้นฉบับ

Perfectly timed sound
ความสมบูรณ์แบบของไทมิ่งของเสียง

การที่ไดเวอร์ Uni-Q ออกแบบด้วยการติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ตรงใจกลางของตัวมิด/วูฟเฟอร์ตามรูปแบบที่เรียกว่า point source ทำให้ความถี่เสียงทั้งหมดที่แผ่กระจายจากตัวลำโพงเดินทางมาถึงหูของผู้ฟัง ในเวลาเดียวกันมีผลให้ได้เสียงที่เที่ยงตรงและสมจริงตามสัญญาณอินพุตมากกว่าลำโพงที่ติดตั้งไดเวอร์ทวีตเตอร์และมิด/วูฟเฟอร์แยกจากกัน มีโอกาสที่จะทำให้เสียงแหลมที่แผ่กระจายออกมาจากทวีตเตอร์กับเสียงกลางและเสียงทุ้มที่แผ่กระจายออกมาจากไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์เดินทางมาถึงหู ไม่พร้อมกันทำให้เสียงของโน๊ตดนตรีจากเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันที่มีความถี่ตกคร่อมอยู่ระหว่างการทำงานของตัวทวีตเตอร์และตัวมิดเร้นจ์/วูฟเฟอร์เชื่อมต่อกันไม่สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้มีผลต่อเสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นในลักษณะที่ออกมาเบลอ มัว โฟกัสไม่ชัดเจน และไม่เป็นธรรมชาติ

พัฒนาการของไดเวอร์ Uni-Q เอกลักษณ์ของลำโพงแบรนด์ KEF

แต่คุณรู้มั้ยว่า กว่าที่ไดเวอร์ Uni-Q จะให้เสียงออกมาได้ตรงตามอุดมคติที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางผู้ผลิตคือทีมวิศวกรของ KEF ต้องใช้เวลาในการพัฒนาปรับปรุงไดเวอร์ Uni-Q มาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 32 ปี.! แยกออกเป็น 12 เจนเนอเรชั่น ไปดูกันว่า พวกเขาทำอะไรลงไปบ้างในแต่ละเจนเนอเรชั่น

เจนเนอเรชั่น #1 (1988)

นี่เป็นรูปแบบของไดเวอร์ Uni-Q เวอร์ชั่นแรกที่จดสิทธิบัตรเอาไว้เมื่อ ปี 1988 ซึ่งใช้โดมทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว ติดตั้งไว้ที่ใจกลางของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ทรงกรวยไดนามิกขนาด 8 นิ้ว และรุ่นนี้เป็นไดเวอร์รุ่นแรกของ KEF ที่ใช้แม่เหล็กอัลลอยด์ที่มีส่วนผสมระหว่าง neodymium + iron + Boron ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความพิเศษมากสำหรับยุคนั้น.. / ลำโพงรุ่นแรกของ KEF ที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นแรกนี้ก็คือรุ่น C95 ซึ่งอยู่ในซีรี่ย์ C

เจนเนอเรชั่น #2 (1989)

มีการลดขนาดของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ จากเจนฯ แรกที่ใช้ขนาด 8 นิ้ว ลงมาเป็น 6.5 นิ้ว ทำงานร่วมกับไดเวอร์ทรงกรวยขนาด 6.5 นิ้ว อีก 2 ตัว ประกบด้านบนและด้านล่าง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สามารถลดความกว้างของแผงหน้าของตัวลำโพงให้แคบลง ส่งผลดีต่อคุณสมบัติทางด้านมิติซาวนด์สเตจที่ดีขึ้น.. / ลำโพง KEF รุ่น 105/3 ซึ่งเป็นรุ่นตั้งพื้นอยู่ในซีรี่ย์ Reference เป็นรุ่นแรกที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่สองนี้

เจนเนอเรชั่น #3 (1994)

ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 3 มีการปรับปรุงในส่วนของขอบยาง (surround) ที่ยึดไดอะแฟรมเข้ากับโครงของไดเวอร์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบรับกับการถ่ายทอดความถี่สูงจากทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 1 นิ้ว ได้ราบเรียบมากขึ้น กลมกลืนมากขึ้น.. / ลำโพง KEF รุ่น ModelFour เป็นลำโพงตั้งพื้น 4 ทาง ที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นนี้ ทำงานร่วมกับไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ขนาด 6.5 นิ้ว อีกสองตัว โดยมีไดเวอร์ไดนามิกขนาด 10 นิ้ว อีกสองตัวทำงานในย่านเบส

เจนเนอเรชั่น #4 (1997)

ตัวมิด/วูฟเฟอร์ของไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 4 ก็ยังคงใช้ไดอะแฟรมโพลีโพรไพลีน ทำงานร่วมกับทวีตเตอร์ซึ่งก็ยังคงเป็นโดมผ้า แต่เจนเนอเรชั่นที่ 4 มีการปรับปรุงอยู่ 2 จุด จุดแรกคือปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างขอบยางกับแผงไดอะแฟรมของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จุดที่สองคือปรับปรุงในส่วนของ waveguide ที่ควบคุมมุมกระจายเสียงของทวีตเตอร์ เพื่อทำให้ความถี่สูงที่แผ่กระจายออกไปมีความต่อเนื่องมากขึ้น ส่งผลดีต่อความราบลื่นและให้โทนัลบาลานซ์ที่กลมกลืนเป็นธรรมชาติมากขึ้น.. / ลำโพง KEF ที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่สี่นี้ก็คือรุ่น Q15 ซึ่งเป็นลำโพงสองทางวางหิ้งขนาดกระทัดรัด

เจนเนอเรชั่น #5 (2001)

เป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มทวีตเตอร์โดมไตตาเนี่ยมขนาด 1 นิ้ว ที่ติดตั้งอยู่ในบอดี้รูปไข่ที่ออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยออกแบบ เมื่อทำงานร่วมกับไดเวอร์ Uni-Q มีผลให้ได้เสียงร้องที่ดีขึ้น มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น.. / ลำโพง KEF รุ่น Model 201 เป็นลำโพงวางบนขาตั้งที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 4 ขนาด 6.5 นิ้ว ร่วมกับทวีตเตอร์โดมไตตาเนี่ยมขนาด ¾ นิ้ว

เจนเนอเรชั่น #6 (2006)

ผลจากการใช้ทวีตเตอร์โดมไตตาเนี่ยมเข้ามาเสริมกับไดเวอร์ Uni-Q เมื่อ ปี 2001 นำมาซึ่งการปรับปรุงไดเวอร์ Uni-Q ครั้งใหญ่ ซึ่งทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่ตัวทวีตเตอร์ เริ่มจากเปลี่ยนไดอะแฟรมของทวีตเตอร์ที่อยู่ตรงใจกลางของตัวมิด/วูฟเฟอร์จากเดิมที่ใช้โดมผ้ามาเป็นโดมไตตาเนี่ยม มีการใช้ระบบแม่เหล็กที่เจาะช่องระบายอากาศเพื่อเพิ่มความกระชับตรึงของไดอะแฟรม และมีการปรับปรุงระบบการขยับเคลื่อนตัวของไดอะแฟรมที่มีความเสถียรมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น ช่วยให้สามารถตอบสนองเสียงแหลมไปได้สูงขึ้น และให้ความสมจริงมากขึ้นด้วย.. / ลำโพง KEF รุ่น Model 207/2 ซึ่งเป็นลำโพงตั้งพื้นรุ่นใหญ่สุดในซีรี่ย์ Reference และเป็นรุ่นที่ได้รับรางวัลใน ปี 2006 ลำโพงรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 6 ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว 2 ตัว

เจนเนอเรชั่น #7 (2006)

มีการปรับปรุงความแกร่งของแผ่นไดอะแฟรมโพลีโพรไพลีนของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ด้วยการดามไปตามแนวรัศมีของแผ่นไดอะแฟรม ทำให้การขยับตัวของไดอะแฟรมมีความเสถียรมากขึ้น ให้เสียงที่ราบเรียบมากขึ้น และมีการออกแบบไดเวอร์ Uni-Q ที่มีขนาดเล็กลงคือ 4.4 นิ้ว ที่มีระบบ Sealed Suspension Technology ซึ่งช่วยให้ได้เสียงที่ดีขึ้นอย่างมากเมื่อขับด้วยระดับความดังสูงๆ / ลำโพงรุ่น HTS3001 ซึ่งเป็นลำโพงแซทเทิ้ลไล้ต์ที่ออกแบบตัวตู้รูปไข่ เป็นรุ่นแรกที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 7 ขนาด 4.4 นิ้ว

เจนเนอเรชั่น #8 (2007)

เจนเนอเรชั่นที่ 8 นี้มีการปรับขนาดของไดเวอร์ขึ้นมาเป็น 4.5 นิ้ว และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ waveguide แบบพิเศษที่มีลักษณะเหมือนกลีบส้ม (Tangerine Waveguide) ติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าของโดมทวีตเตอร์ไตตาเนี่ยม ซึ่งช่วยทางด้านความไวและมุมกระจายเสียงของตัวทวีตเตอร์ มีผลให้ได้เสียงที่สะอาดขึ้น และมีความราบลื่นมากขึ้น.. / ชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์แบบซับเซ็ตฯ ของ KEF รุ่น KHT3005SE เป็นรุ่นที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 8

เจนเนอเรชั่น #9 (2009)

มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของไดอะแฟรมที่ใช้ในไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ โดยเอาไดอะแฟรมที่ทำด้วยวัสดุผสมระหว่าง ลิเธียม+แม็กนีเซียม+อะลูมิเนียม เข้ามาใช้แทนที่ไดอะแฟรมโพลีโพรไพลีน นอกจากนั้น ยังมีการดามบนแผ่นไดอะแฟรมด้วยโครงที่ทำจาก Liquid Crystal Polymer ซึ่งการปรับปรุงทั้งหมดนี้ช่วยทำให้ได้เสียงในย่านกลางสูง (upper midrange) ที่มีความถูกต้องมากขึ้นอย่างมาก.. / การปรับปรุงไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นนี้ถูกตั้งเป้าให้ไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรเจค BLADE ซึ่งเป็นลำโพงที่ KEF ตั้งใจให้ออกมาเป็นลำโพงแบบ ‘Single Apparant Sourceคู่แรกของโลก.!

เจนเนอเรชั่น #10 (2010)

เป็นเจนเนอเรชั่นที่ปรับปรุงชิ้นส่วนที่เป็น Tangerine Waveguide ด้วยการออกแบบรูปทรงใหม่เพื่อให้โดมทวีตเตอร์กับมวลอากาศที่อยู่ด้านหน้าของโดมมีการทำงานระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้ได้ผลของเสียงที่ตรงตามความหมายของคำว่า ‘point sourceมากยิ่งขึ้น.. / ลำโพงวางหิ้งรุ่นใหญ่สุดในซีรี่ย์ Q คือรุ่น Q300 เป็นลำโพงรุ่นแรกที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 10 ตัวนี้

เจนเนอเรชั่น #11 (2014)

เป็นเจนเนอเรชั่นที่ทำการปรับปรุงในส่วนของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ โดยทำการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านโครงสร้างที่สนับสนุนการทำงานของไดอะแฟรมด้วยการเพิ่มความสามารถในการแด้มป์ที่ดีขึ้น มีการปรับปรุงตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างไดอะแฟรมกับว้อยซ์คอย เพื่อให้สิ่งที่ส่งผ่านจากว้อยซ์คอยไปที่ไดอะแฟรมมีแค่ สัญญาณเสียงเท่านั้น.. / ลำโพงรุ่นแรกของ KEF ที่ติดตั้งไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 11 คือรุ่น Reference 5 ซึ่งเป็นรุ่นเรือธงของซีรี่ย์ Reference โดยมีวูฟเฟอร์ทรงกรวยอะลูมิเนียมขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน 4 ตัวทำงานร่วมกับไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 11 ขนาด 5 นิ้ว หนึ่งตัว โดยจัดเรียงบนแผงหน้าของตัวตู้ในแนวตั้งด้วยรูปแบบ D’Appolito

เจนเนอเรชั่น #12 (2018)

มีการปรับปรุงในส่วนของทวีตเตอร์ด้วยการแด้มป์ตรงช่องว่างระหว่างทวีตเตอร์กับกรวยไดอะแฟรมของตัวมิด/วูฟเฟอร์ ซึ่งทำให้มีเสียงจากไดเวอร์ทั้งสองเล็ดลอดถึงกัน หลังจากปิดช่องว่างนี้แล้ว ส่งผลให้เสียงในย่านความถี่สูงมีความราบลื่นมากขึ้น ให้รายละเอียดออกมามากขึ้น.. / ลำโพงรุ่น R11 ซึ่งเป็นรุ่นเรือธงของ ปี 2018 เป็นลำโพง KEF รุ่นแรกที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นที่ 12 นี้

เจนเนอเรชั่น #12 + เทคโนโลยี MAT (2020)

มีการใช้ MAT หรือ ‘Metamaterial Absorption Technologyซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดพลังงานของคลื่นเสียงที่แผ่ไปทางด้านหลังของทวีตเตอร์เอาไว้ ไม่ให้สะท้อนกลับออกมารบกวนคลื่นเสียงที่แผ่ออกไปทางด้านหน้าของโดมทวีตเตอร์ จึงมีผลทำให้เสียงแหลมของ Uni-Q เจนเนอเรชั่นนี้มีความสะอาดและราบลื่นมากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างของตัว Tangerine Waveguide ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น, ปรับปรุงการแด้มป์ตรงช่องว่างระหว่างโดมทวีตเตอร์กับกรวยของตัวมิด/วูฟเฟอร์ให้ดีขึ้น ซึ่งช่วยลดสีสันกับความเพี้ยนในย่านเสียงกลางลงไปได้พอสมควร.. / ลำโพง KEF รุ่น LS50 Meta คือลำโพงรุ่นแรกที่ใช้ไดเอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่นนี้ ให้เสียงที่สะอาด ใส และช่วยลดสีสันแปลกปลอม ทำให้เสียงมีความสมจริงมากขึ้น

ข้อมูลนี้ทำให้รู้ว่า ตลอดกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา วิศวกรของ KEF ได้ทุ่มเททั้งมันสมองและทรัพยากรในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาโดยตลอด สมกับเป็นแบรนด์ระดับสากลจริงๆ !! /

********************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า