“ซาวนด์บาร์” (Soundbar หรือ Sound bar) เป็นรูปแบบหนึ่งของลำโพง (speaker) ที่ให้สัญญาณเสียงออกมาในแนวระนาบ ขนานพื้น แผ่ไปตามแนวความกว้างของตัวตู้ ต่างจากลำโพงประเภท home hi-fi ทั่วไปที่ให้สัญญาณเสียงออกมาในแนวดิ่ง (ตั้งฉากกับพื้น) ตามลักษณะรูปพรรณสัณฐานของตัวตู้ ลักษณะตัวตู้ของลำโพงซาวนด์บาร์จะมีความกว้างมากกว่าความสูง ใช้ไดเวอร์ขนาดเล็กทำให้ขนาดตัวตู้มีความกระทัดรัด เหมาะกับการติดตั้งใช้งานด้านล่างหรือด้านบนของอุปกรณ์ประเภทจอแสดงภาพ อาทิเช่น จอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ หรือทีวี
โดยปกติแล้ว ลำโพงซาวนด์บาร์แต่ละตัวจะใช้ไดเวอร์ขนาดเล็กจำนวนมากกว่าหนึ่งตัวติดตั้งอยู่ภายในเพื่อสร้างสนามเสียงสเตริโอและสนามเสียงเซอร์ราวนด์ ลำโพงซาวนด์บาร์สามารถใช้งานเดี่ยวๆ เพียงตัวเดียวก็ได้ หรือจะใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ออกแบบมาด้วยกัน หรือใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์เดี่ยวๆ เพื่อเสริมสร้างความถี่ด้านต่ำก็ได้
ยุคแรกของลำโพงซาวนด์บาร์คือการจับเอาลำโพงแชนเนล ซ้าย (Left) – กลาง (Center) – ขวา (Right) ของระบบเสียงเซอร์ราวนด์เข้ามาไว้รวมอยู่ในตัวตู้เดียวกัน เพื่อความสะดวกและเพื่อความง่ายต่อการติดตั้งใช้งาน ซึ่งบางครั้งก็เรียกลำโพงแบบนี้ว่า “LCR Soundbar”
ความเป็นมาของลำโพง Soundbar
ช่วงกลางทศวรรต 50 Altec Lansing เป็นแบรนด์ผู้ผลิตลำโพงยี่ห้อแรกที่เริ่มทำลำโพงสำหรับใช้งานร่วมกับชุดดูหนังภายในบ้านออกมาเป็นครั้งแรกชื่อรุ่นว่า A7 โดยตั้งชื่อเรียกมันว่า “Voice Of The Digital Theater” เป็นลำโพงสองทางที่ใช้ไดเวอร์แบบ compression load หรือลำโพงปากแตรขนาดใหญ่ทำงานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาด 15 นิ้วที่บรรจุอยู่ในตู้ขนาดใหญ่ มีความไวสูง ใช้แอมป์ภายนอกขับ ซึ่งนับได้ว่า A7 ของ Altec Lansing เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ + ซับวูฟเฟอร์ รุ่นแรกสุดของวงการ
* ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ audioheritage.org
A7 เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ยุคแรกที่ผลิตออกมาในยุค analog ที่ยังคงใช้ระบบเสียงอะนาลอก Mono จึงยังไม่มี DSP ช่วยจัดการกับระบบเสียง ต่อมาเมื่อระบบเสียงในโรงภาพยนตร์เริ่มเข้าสู่ยุคดิจิตัล Altec Lansing จึงได้ออกแบบและผลิตลำโพง Soundbar ของยุคดิจิตัลออกมาครั้งแรกเมื่อปี 1998 รหัสชื่อรุ่นคือ ADA106 มีแอมป์ในตัว รองรับระบบเสียง Stereo และระบบเสียงเซอร์ราวนด์ Dolby Pro-Logic กับ AC-3 ทำงานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่แยกออกมา ภายในตัวตู้ประกอบด้วยไดเวอร์ฟูลเร้นจ์ขนาด 3 นิ้วจำนวน 3 ตัว กับทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว อีก 2 ตัว ส่วนตัวซับวูฟเฟอร์ใช้ไดเวอร์แบบวอยซ์คอยคู่ขนาด 8 นิ้วหนึ่งตัว ลำโพงซาวนด์บาร์ของ Altec Lansing ตัวนี้ใช้เทคโนโลยีในการกระจายเสียงออกไปทางด้านข้าง (side-firing) เพื่อสร้างสนามเสียงเซอร์ราวนด์ด้านข้าง, ด้านหน้า และด้านหลัง โดยเสริมด้วยโปรแกรมพิเศษเพื่อความสมจริงมากขึ้น ประโยชน์ของลำโพงซาวนด์บาร์ที่เห็นได้ชัดก็คือ ช่วยลดความซับซ้อนยุ่งยากในการเชื่อมต่อสายลำโพงและยังช่วยปนะหยัดพื้นที่จัดวางได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ในปี 2002 แบรนด์ Pioneer ของญี่ปุ่น ได้ออกแบบลำโพงซาวนด์บาร์ที่มีชื่อเรียกว่า digital sound projector ออกมา รหัสรุ่นคือ PDSP-1 สามารถสร้างสนามเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 Ch แบบแยกอิสระออกมาจากลำโพงซาวนด์บาร์ที่มีแค่ตัวตู้เดียวออกมาได้ โดยให้กำลังขับรวมกันมากกว่า 500 วัตต์! หลังจากนั้น แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงจำนวนมากก็เริ่มสร้างลำโพงซาวนด์บาร์ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
คุณสมบัติเด่นข้อหนึ่งของลำโพงซาวนด์บาร์ และถือว่าเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับลำโพงโฮมยูสทั่วไปก็คือ การใช้วงจร ดิจิตัล ซิกเนล โปรเซสซิ่ง (Digital Signal Processing = DSP) เข้ามาช่วยประมวลผลในการสร้างสนามเสียงขึ้นมา ซึ่งแบรนด์ที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาในแง่ของ DSP อย่างมากในยุคแรกๆ ของการพัฒนาลำโพงซาวนด์บาร์ก็คือแบรนด์ Yamaha ซึ่งทำให้ลำโพงซาวนด์บาร์รุ่น YSP-1 ของยามาฮ่าไปคว้ารางวัล Best Of Show ในงาน CES (Consumer Electronic Show) ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2005 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการขายในเมืองไทย เนื่องจากขณะนั้นนักเล่นโฮมเธียเตอร์ในเมืองไทยยังให้ความนิยมกับลำโพง 5.1 Ch แบบแยกชิ้นมากกว่า และคนทั่วไปก็ยังไม่คุ้นเคยกับลำโพงซาวนด์บาร์ เนื่องจากตอนนั้นทีวีจอแบนยังไม่ได้ครองตลาดแบบทุกวันนี้ คอนโดก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าทุกวันนี้ ความจำเป็นในการใช้ลำโพงขนาดเล็กเพื่อประหยัดพื้นที่จึงยังไม่เกิดขึ้น
ผิดกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งความนิยมใช้ลำโพงซาวนด์บาร์เริ่มแพร่หลายและกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นมาถึงจุดที่ประจวบเหมาะกันพอดี ซึ่งลำโพงซาวนด์บาร์ในปัจจุบันมีแบ่งแยกออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
1. ลำโพงซาวนด์บาร์เดี่ยวๆ
2. ลำโพงซาวนด์บาร์ + ซับวูฟเฟอร์
3. ลำโพงซาวนด์บาร์ + ซับวูฟเฟอร์ + ลำโพงเซอร์ราวนด์
ซึ่งอันนี้ไม่ได้แบ่งตามระดับราคา แต่แบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของลำโพงซาวนด์บาร์ที่สนับสนุนการใช้งานเหล่านั้นนั่นเอง
ลำโพงซาวนด์บาร์เดี่ยวๆ
(Single Soundbar)
เป็นลำโพงซาวนด์บาร์แบบย่อมเยาที่สุด ออกแบบมาก้ำกึ่งให้ใช้งานกับระบบเสียง Stereo 2 Ch ได้ดี และใช้กับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 Ch ด้วยคุณภาพความโอบล้อมของเสียงออกมาในเกณฑ์ที่พอรับได้
ลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทนี้โดยมากในระบบจะมีแค่ตัวเดียว เป็นประเภท all-in-one ใช้ดูหนังได้ ใช้ฟังเพลงแทนลำโพงบลูทูธได้
ลำโพงซาวนด์บาร์ พร้อมซับวูฟเฟอร์
(Soundbar + Wireless Active Subwoofer)
เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่ใหญ่ขึ้นมาอีกขั้น ระบบจะซับซ้อนมากขึ้น คือมีลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบที่มีกำลังขับในตัว (active subwoofer) ออกแบบมาให้ใช้ร่วมกัน
และเนื่องจากตัวลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทที่สองนี้มักจะมีขนาดตัวตู้ที่ใหญ่กว่าแบบแรก และมักจะใช้ไดเวอร์จำนวนมากกว่า ทำให้นอกจากจะใช้ฟังเพลงที่เป็นระบบเสียง Stereo 2 Ch ออกมาได้ดีกว่าแล้ว ยังแผ่กระจายเสียงออกไปได้กว้างกว่า สามารถสร้างสนามเสียงเซอร์ราวนด์ออกมาได้หนักแน่นและให้ความรู้สึกโอบล้อมที่ดีกว่าแบบแรกอีกด้วย
ลำโพงซาวนด์บาร์ พร้อมซับวูฟเฟอร์ และลำโพงเซอร์ราวนด์แบบไร้สาย
(Soundbar + Active Subwoofer + Surround Speaker)
บางครั้งก็เรียกลำโพงซาวนด์บาร์แบบนี้ว่าเป็นแบบไฮบริดฯ คือเป็นระบบลำโพงซาวนด์บาร์ที่ให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีสำหรับการฟังเพลงด้วยระบบเสียง Stereo 2 Ch และยังพยายามตอบสนองการรับชมภาพยนตร์และคอนเสิร์ตด้วยระบบเสียง Surround 5.1 Ch ที่ให้ประสิทธิภาพเสียงใกล้เคียงกับระบบเสัยงเซอร์ราวนด์แบบแยกชิ้น 5.1 Ch จริงๆ ให้มากที่สุดอีกด้วย
ระบบลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทที่สามนี้ บางรุ่นจะให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ กับลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านหลังแบบไร้สายมา ซึ่งผู้ใช้ต้องจัดหาที่วางลำโพงเซอร์ราวนด์ที่เหมาะสม แต่เนื่องจากลำโพงเซอร์ราวนด์กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ ใช้การเชื่อมต่อกับลำโพงซาวนด์บาร์ตัวหลักผ่านทางคลื่นไร้สาย Bluetooth จึงทำให้ช่วยลดความยุ่งยากในการเดินสายลำโพงไปได้มาก
อีกอย่าง ลำโพงซาวนด์บาร์รูปแบบที่สามนี้ถือว่าเป็นระดับไฮเอ็นด์ฯ ทางผู้ผลิตจึงมักจะบรรจุเทคโนโลยีระดับสูงเข้าไปด้วยเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพเสียง และเสริมฟังท์ชั่นในการใช้งานให้มากขึ้น อย่างเช่น เสริมอินพุตที่รองรับการสตรีมไฟล์เพลงผ่านระบบไร้สาย Bluetooth และ/หรือ Wi-Fi เข้ามาให้ ใช้ไดเวอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า จำนวนมากขึ้น ทำให้ได้เสียงที่ครอบคลุมความถี่ได้่กว้างกว่า ส่งผลให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า เปิดได้ดังโดยไม่มีอาการสำลักหรือจัดจ้าน
วิธีการเลือกใช้งาน
แน่นอนว่า “ราคา” ของลำโพงซาวนด์บาร์ทั้ง 3 รูปแบบข้างต้นก็มีเพดานที่ต่างกันอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยเฉลี่ยแล้ว ลำโพงซาวนด์บาร์ประเภทแรกซึ่งเป็นแบบที่เน้นเรียบง่ายคือ Single Soundbar นั้น จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5,000 – 10,000 บาท และเหมาะกับการใช้งานภายในพื้นที่ห้องขนาดเล็ก ประมาณไม่เกิน 20 ตารางเมตร (ระหว่าง 3 x 4.5 ถึง 4 x 5 ตร.ม.) ส่วนแบบที่สองคือลำโพงซาวนด์บาร์ + ซับวูฟเฟอร์ ซึ่งถือเป็นระดับกลางนั้น ราคาเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 10,000 – 19,900 บาท ขึ้นอยู่กับปัจจัยสอง–สามประการ เช่น ขนาดของตัวลำโพงซาวนด์บาร์, ความสามารถในการรองรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ และขนาดของลำโพงซับวูฟเฟอร์เป็นสำคัญ ซึ่งระยะหวังผลของลำโพงซาวนด์บาร์แบบที่สองนี้เหมาะกับการใช้งานภายในห้องที่มีพื้นที่ปานกลาง คือไม่เกิน 30 ตารางเมตร (ไม่เกิน 5 x 6 ตร.ม.)
ถัดมาก็เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ระดับไฮเอ็นด์ เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่ออกแบบเพื่อเน้นคุณภาพเสียงสำหรับการดูหนังมากขึ้น ตัวระบบลำโพงก็มีทั้งแบบ Soundbar + Subwoofer และ Soundbar + Subwoofer + Surround ซึ่งสนนราคาจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไปจนถึง 50,000 บาท และสุดท้ายก็คือลำโพงซาวนด์บาร์ระดับพรีเมี่ยมไฮเอ็นด์ ซึ่งเป็นรูปแบบของลำโพงซาวนด์บาร์ที่ออกแบบมาด้วยจุดประสงค์ให้เป็น “ที่สุด” ในทุกด้าน โดยเฉพาะประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ที่รองรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์มาตรฐานใหม่ๆ อย่างเช่น Immersive Sound ได้อย่างดีเยี่ยม
สรุป
ความนิยมของลำโพงซาวนด์บาร์ได้เริ่มต้นที่รูปแบบแรกมาก่อน และค่อยขยับขึ้นมาเป็นระดับกลางและสูง ปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของลำโพงซาวนด์บาร์ระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 – 50,000 บาท ซึ่งเริ่มมีออกมาในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่คาดหมายได้ล่วงหน้าเลยว่า ตลาดลำโพงซาวนด์บาร์มีอนาคตที่สดใส มีความนิยมใช้สูงขึ้น เนื่องจากที่พักอาศัยของประชาชนตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มที่เล็กลง มีพื้นที่ใช้สอยน้อยลง ประจวบกับตลาดของทีวีที่เน้นขายจอใหญ่มากขึ้น รวมถึงรูปแบบการดูหนังผ่านสตรีมมิ่งก็เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้สอดคล้องกับรูปแบบของลำโพงซาวนด์บาร์มาก ทำให้คาดหมายได้ว่า อนาคตอันใกล้ จะต้องมีการพัฒนาลำโพงซาวนด์บาร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากๆ ออกมามากขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อตอบสนองไล้ฟ์สไตล์ของคนในเมืองที่มีฐานะดีที่ต้องการระบบเสียงเซอร์ราวนด์คุณภาพสูงในรูปแบบของระบบลำโพงที่เรียบง่ายในการติดตั้งใช้งาน
ปัจจุบันได้มีผู้ผลิตเริ่มบุกเบิกลำโพงซาวนด์บาร์ระดับพรีเมี่ยมไฮเอ็นด์ (Premium Hi-End) ที่มีราคาสูงเฉียดแสนออกมาแล้ว (ตัวอย่างคือ Sennheiser รุ่น AMBEO ราคาตัวละ 93,900 บาท!) ซึ่งแน่นอนว่า ทางด้านเทคโนโลยีและคุณภาพเสียงก็ต้องอัพเกรดขึ้นไปสูงกว่าลำโพงซาวนด์บาร์ระดับล่างๆ อย่างแน่นอน คาดว่า ระดับราคาของลำโพงซาวนด์บาร์ระดับพรีเมี่ยมไฮเอ็นด์ จะอยู่สูงกว่า 50,000 บาทขึ้นไป และเมื่อถึงวันที่มีลำโพงซาวนด์บาร์ระดับพรีเมี่ยมไฮเอ็นด์ออกมาแพร่หลายมากขึ้น ผมจะมาสรุปตลาดลำโพงซาวนด์บาร์ทั้งหมดให้คุณได้เห็นภาพที่ชัดเจนอีกครั้ง /
ตัวอย่างของลำโพง Soundbar ระดับไฮเอ็นด์ฯ (ราคาระหว่าง 20,000 – 50,000 บาท) บางส่วนที่มีขายอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน (ธันวาคม 2562)
– Bose : Soundbar 500 (21,900 บาท)
– Bluesound : PULSE Soundbar 2i (36,400 บาท)
– Harman Kardon : Enchant 800 (39,900 บาท)
– Harman Kardon : Enchant 1300 (43,900 บาท)
– JBL : Bar 5.1 (29,900 บาท)
– Klipsch : Bar 48 (26,900 บาท)
– Sennheiser : AMBEO Soundbar (93,990 บาท)
– Sonos : Playbar (34,900 บาท)
– Sony : HT-Z9F (26,990 บาท)
– Yamaha : YSP 2200 (40,000 บาท)
********************