รีวิวเครื่องเสียง : Totem Acoustics รุ่น Signature One ลำโพงสองทางวางหิ้งหรือวางบนขาตั้ง จากประเทศแคนาดา

ไม่ง่ายนักหรอก ที่แบรนด์เครื่องเสียงเล็กๆ สักแบรนด์จะสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการได้นานถึงสามทศวรรต โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์แค่ประเภทเดียว อย่าง Totem Acoustics จากประเทศแคนาดาเจ้านี้

30th Anniversary

Vincent Bruzzeze คนออกแบบลำโพง Totem Acoustics รุ่น Signature One คู่นี้ได้เขียนออกตัวไว้ในเว็บไซต์ของ Totem Acoustics ความว่า “.. Don’t call it a comeback. The Signature One, designed for our 30th anniversary, is not a “comeback” of the famous Model 1 that launched Totem.”

เขาจงใจในการพยายามที่จะไม่ให้เราเข้าใจว่า Signature One คือการกลับมา (อีกครั้ง) ของรุ่น Model 1 ซึ่งสร้างชื่อให้กับ Totem Acoustics มาจนถึงวันนี้ ..

ทำไมต้องพยายามชี้แจง? ถ้าให้เดา ผมว่ามีความเป็นไปได้ว่า Signature One ถูกออกแบบด้วยความคิดตั้งต้น (concept) ที่แตกต่างไปจากตอนออกแบบรุ่น Model 1 แต่เนื่องจาก รุ่น Signature One ถือกำเนิดขึ้นมาตรงกับช่วงฉลอง 30 ปีของการก่อตั้งแบรนด์พอดี คุณวินเซนต์ แกก็คงจะเกรงว่า คนทั่วไปจะคิดว่า คุณภาพเสียงของ Signature One คงจะออกมาแนวเดียวกับรุ่น Model 1 ก็เป็นได้ ประมาณว่า แค่ออกมาฉลอง ไม่มีอะไรใหม่มั้ง.?

คุณวินเซนต์แกจึงได้ขยายความถึงรุ่น Signature One เอาไว้ว่า “.. It (Signature One) is an elevated, advanced monitor loudspeaker reflecting the progression of our engineering prowess and is primed to knock you out.” รุ่น Signature One ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิศวกรรมที่ก้าวล้ำของพวกเรา ซึ่งมั่นใจว่าความดีเลิศของมันจะทำให้คุณสยบ!

Signature One vs. The One

ประมาณกลางปี 2017 ผมได้ทำการทดสอบลำโพงรุ่น Sky ของ Totem Acoustics ไปแล้ว ซึ่งลำโพงรุ่นนั้นก็เป็นลำโพงรุ่นใหม่ที่ตอนแรกก็คิดว่าจะมาแทนที่ Model 1 Signature เหมือนกัน แต่เมื่อพิจารณาจากไดเวอร์ที่ใช้กับสัดส่วนของตู้แล้ว พบว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะไดเวอร์ทั้งสองตัวซึ่งในรุ่น Sky ไม่ได้ใช้ทวีตเตอร์ของ SEAS เหมือนรุ่น Model 1 Signature รวมถึงวูฟเฟอร์ก็ใช้ของ Moral ในขณะที่รุ่น Model 1 Signature ใช้วูฟเฟอร์ของ Dynaudio

มาถึงรุ่น Signature One ใหม่ล่าสุดคู่นี้ แค่ยกตัวลำโพงข้างแรกขึ้นมาจากกล่อง ผมก็รู้ทันทีเลยว่ามันไม่ได้มาแทน Model 1 Signature หรือโมเดล วันเวอร์ชั่นไหนๆ อย่างแน่นอน เพราะตัวตู้ของ Signature One “ใหญ่กว่ารุ่นโมเดล วัน ซิกเนเจอร์อย่างชัดเจน!

แม้ว่า Sinature One จะยังคงเป็นลำโพงสองทางและใช้ทวีตเตอร์รุ่นเดียวกับ The One แต่เนื่องจากตัววูฟเฟอร์ที่มันใช้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 6.5 นิ้ว ตัวตู้ที่บรรจุไดเวอร์จึงต้องถูกขยายสัดส่วนทั้งด้านข้างและด้านสูงออกไปตามสัดส่วนของวูฟเฟอร์ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดให้มีปริมาตรอากาศภายในตัวตู้ที่เหมาะสมกับการทำงานของวูฟเฟอร์ไปด้วย

ในและนอก

คู่ที่ผมได้รับมาทดสอบติดวีเนียร์ลายไม้สีมะฮอกกานี ตัวตู้ทรงสี่เหลี่ยมมาตรฐาน ประกอบขึ้นมาด้วยผนังตู้ที่ทำมาจากไม้ MDF ที่มีความหนา 19 มิลลิเมตร มีการเลือกใช้ไม้ที่มีความหนาแน่นต่างกันในแต่ละจุด เพื่อผลในการควบคุมเรโซแนนซ์โดยรวมของตัวตู้ มีการดามภายในตัวตู้จากแผงหน้าไปจรดผนังหลัง แต่ไม่ได้ปิดตายพื้นที่ระหว่างไดเวอร์ทั้งสอง มีการเจาะรูให้มวลอากาศภายในตัวตู้สามารภเคลื่อนกระจายผ่านออกไปทางท่อระบายอากาศบนแผงด้านหลังได้โดยสะดวก

ที่มุมของตู้ซึ่งเป็นจุดบรรจบของผนังแต่ละด้าน ได้ถูกยึดตรึงด้วยกลไกตัวล็อคที่ทำด้วยไม้เพื่อเพิ่มความแกร่ง ซึ่งการยึดผนังตู้ด้วยวิธีที่เรียกว่า Lock mitered monocoque chassis นี้ จะให้ความแน่นหนามากกว่ายึดด้วยกาวถึงสี่เท่า นอกจากนั้น บนผิวหน้าของผนังด้านในตัวตู้ยังได้ถูกฉีดทับไว้ด้วยวัสดุแด๊มปิ้งที่ชื่อว่า borosilicate เพื่อลดเรโซแนนซ์บนผนังตู้

ตัววูฟเฟอร์ไดนามิก 6.5 นิ้วที่ใช้ในรุ่นนี้ เป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในรุ่น Forest แต่ไม่ทราบยี่ห้อ ไดอะแฟรมเป็นโพลี่ผสมผงแร่ อาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์ของ hifiplus.com ระบุว่าเป็นไดเวอร์แบบ very long-throw คือถูกออกแบบมาให้กระบอกว๊อยซ์คอยมีระยะเคลื่อนตัวที่ค่อนข้างยาวในการผลักและดึงแผ่นไดอะแฟรม ในขณะที่ตัวว๊อยซ์คอยเองก็มีขนาดที่ยาวถึง 3 นิ้ว (75mm) เมื่อทำงานร่วมกับแม่เหล็กนีโอไดเมี่ยมที่มีกำลังสูง จึงให้แอ๊คชั่นที่คล้ายกับระบบลูกสูบที่ทรงพลัง สามารถรองรับการถ่ายทอดไดนามิกสวิง (dynamic peak) ของสัญญาณทรานเชี้ยนต์ได้สูงถึง 600 วัตต์

ส่วนตัวทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว (25 ..) มีข้อมูลระบุชัดเจนว่าเป็นของยี่ห้อ SEAS แต่ได้ถูกโมดิฟายเสริมช่องอากาศตรงส่วนท้ายเพื่อลดแรงต้านในการขยับตัวของไดอะแฟรมลง เพื่อทำให้ไดอะแฟรมทรงโดมที่ทำมาจากอะลูมิเนียมมีความยืดหยุ่นในการขยับเคลื่อนตัวมากขึ้น ทนกำลังขับได้สูงขึ้น สามารถเปิดได้ดังมากขึ้นภายใต้ระดับความเพี้ยน (signal-to-noise ratio) ที่ต่ำ

การทำงานของตัววูฟเฟอร์กับทวีตตอร์ถูกปรับจูนเพื่อให้ได้เฟสสัญญาณที่กลืนกันมากที่สุดผ่านวงจรตัดแบ่งความถี่ที่ใช้ควบคุมการถ่ายทอดความถี่เสียงของตัววูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ โดยกำหนดจุดตัดไว้ที่ตำแหน่ง 2.5kHz และเลือกใช้อัตราลาดชันของความถี่อยู่ที่ 12dB/octave (2nd order) คอมโพเน้นต์แต่ละชิ้นที่ใช้อยู่บนแผงวงจรเน็ทเวิร์คล้วนเป็นของดีที่ถูกคัดสรรมาโดยมีเป้าหมายทางเสียงทั้งสิ้น ทั้งคาปาซิเตอร์, รีซีสเตอร์ และแม้แต่การเชื่อมต่อคอมโพเน้นต์ทั้งหมดก็ยังเลือกวิธี hardwired แทนที่จะใช้การเชื่อมอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรซึ่งให้คุณภาพเสียงต่ำกว่า สายสัญญาณที่ใช้เชื่อมโยงภายในวงจรเป็นสายสั่งทำพิเศษที่ใช้ตัวนำทองแดง OFC ผสมกับโลหะเงินในสัดส่วน 80/20 เปอร์เซ็นต์ หุ้มด้วยฉนวนเทฟล่อน และเพื่อป้องกันเรโซแนนซ์ที่ส่งผ่านมาจากผนังตู้ คอมโพเน้นต์ที่ประกอบอยู่ในวงจรเน็ทเวิร์คทั้งหมดถูกผนึกอยู่บนแผ่นอะลูมิเนียมหล่อขนาดใหญ่ โดยที่ขั้วต่อสายลำโพงคุณภาพสูงของ WBT แบบชุบทองก็ถูกเชื่อมต่ออยู่บนแผ่นอะลูมิเนียมนี้เช่นกัน

แม็ทชิ่ง

ความถี่ตอบสนองของ Signature One ถูกกำหนดไว้ในช่วง 45Hz ขึ้นไปจนถึง 22kHz (+/-3dB) บนความไวระดับปานกลางคือ 87.5 dB/W/m กับอิมพีแดนซ์ปกติที่ 8 โอห์ม และแนะนำกำลังขับไว้ระหว่าง 50 – 200 W

ผมมีแอมปลิฟายอยู่ 2 ชุดในการทดสอบเสียงของ Signature One ชุดแรกเป็นอินติเกรตแอมป์โซลิดสเตทยี่ห้อ Cambridge Audio รุ่น CXA80 กำลังขับข้างละ 80 วัตต์ RMS ที่โหลด 8 โอห์ม ชุดที่สองเป็นปรี+เพาเวอร์แอมป์หลอด Audible Illusion M3A + VTL MB-125 monoblock ซึ่งให้กำลังขับ 55W ต่อข้างในโหมด Triode (110W ต่อข้างที่โหลด 4 โอห์ม) และ 65W ต่อข้างในโหมด tetrode (130W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม)

ขั้วต่อสายลำโพงของ Signature One แยกมาสองชุด แต่มีแท่งโลหะเล็กๆ มาต่อคล่อมกรณีที่ใช้วิธีเชื่อมต่อกับเพาเวอร์แอมป์ด้วยสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ ซึ่งผมใช้สายลำโพง Venom ของ Shunyata Researth สำหรับกรณีนี้ และสลับด้วยสาย single-to-bi wired ของ Nordost รุ่น Heimdall บางช่วงของการทดสอบ ขั้วต่อทั้งสองคู่ถูกทิ้งระยะให้ห่างจากกันพอสมควร และตัวขั้วต่อทั้งสี่ถูกติดตั้งเสมอกับผนังหลังของตัวตู้ลำโพง ไม่ได้เจาะลงไปเป็นหลุมเหมือนลำโพงบางคู่ ช่วยให้ง่ายในการเชื่อมต่อด้วยสายลำโพงที่ใช้ขั้วต่อแบบก้ามปูที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งต้องเสียบปลายก้ามปูเข้าไปในแกนด้านล่างของตัวขั้วต่อก่อนจะขันยึด ถ้าตรงขั้วต่อสายลำโพงเจาะเป็นหลุมลงไปจะใช้งานกับขั้วต่อแบบกามปูได้ยากมาก ขอบคุณสวรรค์ที่คุณ Vincent แกไม่ได้เจาะหลุม!

เซ็ตอัพ + ปรับจูน

จากข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ แสดงว่าลำโพงคู่นี้ถูกตั้งใจออกแบบมาให้เปิดได้ดัง และเนื่องจากท่อระบายอากาศถูกติดตั้งไว้ให้ยิงออกทางด้านหลัง ดังนั้น ระยะห่างระหว่างตัวลำโพงกับผนังด้านหลัง ณ ตำแหน่งที่ตั้งลำโพงคู่นี้จึงมีอิทธิพลกับเสียงโดยรวมมากเป็นอันดับสอง รองจาก ขาตั้งซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับลำโพงคู่นี้ ซึ่งในข่าวเปิดตัวของลำโพงคู่นี้มีข้อมูลแจ้งว่าทางผู้ผลิตมีทำขาตั้งที่ออกแบบมาใช้คู่กันออกมาด้วย แต่ตอนที่ผมได้รับมาทดสอบ ขาตั้งของมันยังไม่ออกมา

ผมทดลองใช้ขาตั้งของรุ่น Model 1 ดั้งเดิมที่ผมเคยมีอยู่ (ตอนนี้ใช้วางรุ่น The One) ซึ่งเป็นขาตั้งแบบ high-mass น้ำหนักเยอะ ทำด้วยโลหะทั้งตัว (ถ้าจำไม่ผิด ผลิตให้โดย Target) ความสูงอยู่ที่ 24 นิ้วไม่รวมเดือยแหลม กับขาตั้งแบบ low-mass อีกตัวหนึ่ง ของไทยทำยี่ห้อ Tombo Audio ตัวแพลทล่างทำด้วยอะครีลิค แพลทบนไม่มี ใช้ส่วนปลายของเสาสแตนเลสทรงกลมสี่เสาที่ยึดตรงลงไปที่แพลทล่างรองรับฐานของตัวลำโพงโดยตรง ความสูงของขาตั้งตัวนี้อยู่ที่ 25 นิ้วรวมเดือยแหลมเข้าชุดที่ติดอยู่ส่วนฐานล่างของแพลท จากการทดลองฟังผมพบว่า Signature One จะชอบขาตั้งที่มีความสูง 24 นิ้วมากกว่า มันให้โทนัลบาลานซ์ของความถี่เสียงและเวทีเสียงที่มีสมดุลดีกว่า เนื้อเสียงไม่มีอาการโปร่งกลวงเหมือนตอนที่วางบนขาสูง 25 นิ้ว สุดท้ายผมใช้ขาตั้งไฮแมสฯ ที่มีความสูง 24 นิ้วตลอดการทดลองฟังเสียงของ Signature One คู่นี้

ระยะลงตัวในห้องรับแขกที่บ้านผมอยู่ที่ระยะห่างซ้ายขวาเท่ากับ 189 .. ห่างผนังหลัง 118 .. ส่วนจุดนั่งฟังนั้นผมนั่งห่างจุด sweet spot ออกมาเกือบๆ 2 ฟุต เป็นจุดที่ลงตัวที่สุดในทุกๆ แง่ สิ่งที่ผมพบจากการไฟน์จูนขั้นตอนเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้คือว่ามันไม่ได้ต้องการให้ Toe-in หน้าลำโพงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง ขอให้ค่อยๆ ขยับข้างซ้ายและขวาเข้าหา/ถอยห่างกันจนกว่าเวทีเสียงซ้ายจรดขวาจะเกลี่ยกันลงตัว *โดยไม่ต้องเอียงหน้าลำโพงเข้าหาตำแแหน่งนั่งฟัง ซึ่งจากประสบการณ์ ผมคิดว่า กรณีเดียวที่คุณจำเป็นต้องเอียงหน้าลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟังก็คือกรณีที่ด้านกว้างของตำแหน่งวางลำโพงไม่มากพอให้ฉีกลำโพงออกห่างจากกันจนลงตัว ซึ่งผมคิดว่า ห้องฟังที่มีความกว้างไม่ถึง 3 เมตร ถ้าจะเล่นลำโพงคู่นี้ แนะนำให้ทำการปรับแต่งสภาพอะคูสติกบนผนังซ้ายขวาเพื่อช่วย absorb พลังงานคลื่นเสียงที่สะท้อนผนังลงไปบางส่วน อย่าลืมว่า ลำโพงคู่นี้สามารถเปิดได้ดังมาก (ถ้าแอมป์ถึงและสภาพห้องอำนวย) ผนังด้านข้างซ้ายขวาของบริเวณที่เซ็ตอัพจึงมีผลกับเสียงโดยรวมมาก โชคดีที่ผมเซ็ตอัพไว้ในแนวยาวของบ้าน จึงหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไปได้

ฟังเสียง

ผมใช้โปรแกรมเล่นไฟล์เพลง roon บน Mac mini ตัวเก่งของผม สลับกับ nucleus+ ของ roonlabs เป็นทรานสปอร์ตส่งสัญญาณดิจิตัล PCM และ DSD ไปที่ ext.DAC รุ่น Brooklyn DAC+ ของ MyTek ทางสาย USB ส่วนไฟล์เพลงที่ใช้ฟังทดสอบก็มีทั้ง CD quality และ Hi-Res PCM & DSD ทุกระดับความละเอียด

จากความคุ้นเคยกับลำโพงของ Totem Acoustics มาหลายปี ตั้งแต่คู่แรก Model 1 มาจนถึงคู่ปัจจุบันคือ The One ทำให้ผมจำบุคลิกของลำโพงยี่ห้อนี้ได้แม่น หลังจากฟัง Signature One ไปแค่สองเพลง ผมก็บอกได้ทันทีว่า คนออกแบบคือคุณ Vincent Bruzzeze กำลังปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในสิ่งที่นำเสนอออกมา..

ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์โดยเฉพาะกับคนที่ทำหน้าที่ออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงซึ่งไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะ การค้นพบและปรับเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นย่อมเป็นเรื่องปกติวิสัยอยู่แล้ว หากแต่ว่า การที่คนออกแบบลำโพงระดับตำนานอย่าง Model 1 ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างลงไปในงานของเขามันเป็นเรื่องที่น่าค้นหา

จริงๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงในการออกแบบก็เคยปรากฏให้เห็นมาแล้วในซีรี่ย์ Elements ซึ่งคราวนั้นคุณวินเซนต์แกปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ทั้งไปทั้งแนวทางการออกแบบและลุกขึ้นมาทำไดเวอร์เองไปพร้อมกัน ซึ่งผมเชื่อว่า ผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นคงทำให้เขา มองเห็นอะไรบางอย่าง ซึ่งเขาเอามันมาใส่ลงในดีไซน์เดิมจนออกมาเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในลำโพงรุ่น Sky นั่นเอง

หลังจากตระเตรียมเสร็จสรรพ ผมเจาะจงเลยที่จะเลือกเพลงที่มีรายละเอียดสาระในย่านความถี่ต่ำออกมาจำนวนหนึ่งเพื่อลองฟังกับ Signature One คู่นี้ เพราะพิจารณาจากขนาดของตัวลำโพงแล้ว ผมเชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดีไซน์เดิมของคุณวินเซนต์น่าจะไปปรากฏอยู่ในย่านทุ้มซะส่วนใหญ่

ผมกดฟังเพลง The Game Of Love ของ Daft Punk แทรคสองจากอัลบั้มชุด Random Access Memories (FLAC 88.2/24) เป็นอันดับแรก ก่อนจะกระโดดไปที่เพลง Giorgio by Moroder แทรคที่สาม จากนั้นก็ไปสรุปส่งท้ายที่เพลง Doin’t It Right แทรคที่สิบสองในอัลบั้มเดียวกัน แค่สามเพลงนี้ผมก็พบกับแง่ประเด็นของเสียงที่ Signature One ให้ออกมาแล้ว และผมเชื่อว่า ผมคลำมาตามทางที่คุณวินเซนต์เดินไปถูกทิศแล้ว

อย่างแรกที่ผมได้ยินคือเสียงทุ้มที่ลด ความเร็วและ อาการพุ่งกระแทกลงไประดับหนึ่งจากที่ผมคุ้นเคยจาก Model 1 ซึ่งพฤติกรรมนั้นมีผลทำให้เสียงทุ้มที่ได้ยินจาก Signature One มีอาการ ถูกผลัก” (push) ออกมาจากลำโพงน้อยกว่าที่เคยได้ยินจาก Model 1 ซึ่งผมเคยได้ยินอาการแบบนั้นเกิดขึ้นกับโมเดล วันเมื่อต้องถ่ายทอดโน๊ตดนตรีที่อยู่ในละแวกความถี่ย่านทุ้มต้นๆ ด้วยระดับความดังค่อนข้างสูง ซึ่งผมเดาเอาเองว่า เพราะข้อจำกัดของไดเวอร์และปริมาณตู้ ทำให้คนออกแบบจำเป็นต้องปรับจูนย่านทุ้มต้นๆ ให้โด่งและพุ่งออกมานิดๆ เพื่อเปิดให้ความถี่ที่อยู่ต่ำกว่าลงไป (ทุ้มตอนกลางลงไปถึงล่าง) สามารถเกิดขึ้นได้ และอาการ push ของเสียงทุ้มในย่านนั้นทำให้เกิดความรู้สึกว่าโมเดล วันให้ทุ้มที่ดี มีน้ำหนัก ทว่า เมื่อได้มาฟังเสียงทุ้มของ Signature One ตอนนี้ ภาพของเสียงทุ้มอีกรูปแบบหนึ่งมันซ้อนทับขึ้นมาแทน..

เมื่อหัวเสียง (impact) ของเสียงทุ้มตอนต้นลดความเร็วลงไปนิดนึง มันทำให้ฮาร์มอนิกที่ก่อตัวขึ้นโดยรอบหัวเสียงนั้นตามติดหัวเสียงนั้นออกมาให้ได้ยินมากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบเสียงทุ้มต้นๆ ที่เคยได้ยินจากโมเดล วันเดิมมีลักษณะเหมือนเสาไฟฟ้าที่พุ่งชะลูดขึ้นไปตรงๆ เมื่อมาเล่นผ่าน Signature One ภาพของเสียงทุ้มนั้นจะออกไปทางภูเขาที่แทงยอดขึ้นไปบนท้องฟ้าโดยมี เนินเขาที่โอบล้อมอยู่รอบๆ ปลายเขาแผ่ขยายตามขึ้นไปด้วยในอัตราที่ลาดชันลง

รูป 1

รูป 2

ผมพยายามหาวิธีอธิบายสิ่งที่ได้ยินออกมาให้คุณเข้าใจมันมากขึ้นกว่าแค่เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ ขออนุญาตใช้ภาพที่ผมสร้างขึ้นตามความเข้าใจของผมสองภาพข้างบนนี้ในการอธิบายพฤติกรรมทางเสียงที่ Signature One ถ่ายทอดออกมานะครับ

โดยธรรมชาติแล้ว ขนาดของไดเวอร์จะเป็นตัวจำกัดในการถ่ายทอดความดังของเสียงในย่านที่มันถูกกำหนดให้ตอบสนองออกมา ความหมายคือ คุณไม่สามารถอัดความดังเยอะๆ เท่าที่ใจต้องการเข้าไปในตัวไดเวอร์ที่มีขนาดเล็ก แล้วคาดหวังให้มันถ่ายทอดความดังออกมาได้สูงเท่ากับที่คุณต้องการได้เสมอ ทุกครั้งที่เราหมุนปุ่มวอลลุ่มเพิ่มความดังเข้าไปที่แอมป์ เรามักจะคาดหวังเสียงที่มี ความดังมากขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของเสียงที่ประกอบขึ้นเป็น ความดังของเสียงมีอยู่ 2 คุณสมบัติ นั่นคือ ทรานเชี้ยนต์ ไดนามิก” + “คอนทราสน์ ไดนามิก” = ความดังเฉลี่ย

ทุกระดับวอลลุ่มที่คุณเพิ่มเข้าไปในแอมปลิฟาย จะถูกส่งไปใช้ในการผลักดันให้ไดอะแฟรมของไดเวอร์ลำโพงขยับตัวเดินหน้าถอยหลังเพื่อสร้างเสียงที่มีความดังเฉลี่ยสูงขึ้น..

พื้นฐานการทำงานของไดเวอร์ของลำโพงมีลักษณะที่เป็นแมคคานิค การขยับเคลื่อนตัวของไดอะแฟรมอาศัยหลักการทางพิสิกส์ ซึ่งประสิทธิภาพของความดังที่สร้างขึ้นมาจะมีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างของตัวไดเวอร์เอง วูฟเฟอร์ไดเนาดิโอในรุ่น Model 1 ถูกนำมาใช้ให้รองรับกับการถ่ายทอดความดังของเสียง (ทรานเชี้ยนต์ ไดนามิก + คอนทราสน์ ไดนามิก) ที่กว้างที่สุดเท่าที่ลักษณะโครงสร้างของตัวมันและปริมาตรของตู้จะสามารถทำได้ แน่นอนว่า วูฟเฟอร์ของ Model 1 สามารถสร้างความดังของเสียงออกมาได้สูงมากเมื่อเทียบกับลำโพงสองทางอื่นๆ ที่ใช้ไดเวอร์ที่มีขนาดเท่าๆ กัน แต่ใครจะรู้ได้ว่า วูฟเฟอร์ขนาด นิ้วของ Dynaudio ที่สิงสถิตย์อยู่ใน Model 1 ได้ถูกกำหนดให้ทำงาน เกินความสามารถทางสรีระของมันไปหรือเปล่า.?

ถ้าคนออกแบบพยายามดึงศักยภาพของไดเวอร์ออกมาได้มากที่สุด โดยไม่ล้นเกินความสามารถทางสรีระของตัวไดเวอร์ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือได้ความดังของเสียงที่สูงขึ้น โดยที่คุณสมบัติทางด้าน ทรานเชี้ยนต์ ไดนามิกและ คอนทราสน์ ไดนามิกซึ่งเป็นสองคุณสมบัติหลักที่ประกอบขึ้นเป็นความดังของเสียงนั้นไม่ถูกทำให้เสียหายไป คุณจะได้ไดนามิกของเสียงที่กว้างขึ้น และรับรู้ถึงรายละเอียดในส่วนที่เป็นคอนทราสน์ ไดนามิกที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย เป็นไปตาม รูปที่ 1 ด้านบน แต่ถ้าคนออกแบบ ผลักดันให้ไดเวอร์ทำการปั๊มความดังออกมาจนเกินความสามารถทางสรีระของไดเวอร์เอง ผลลัพธ์จะออกมาตาม รูปที่ 2 คือได้ทรานเชี้ยนต์ ไดนามิกที่กว้างขึ้น แต่สูญเสียรายละเอียดทางด้านคอนทราสน์ ไดนามิกไปบางส่วน

โดยปกติแล้ว ลำโพงที่ออกแบบมาให้ถ่ายทอดทรานเชี้ยนต์ ไดนามิก (สัญญาณฉับพลัน) ที่สวิงความดังได้กว้างมากๆ ถ้ากำหนดช่วงของอัตราสวิงไดนามิกไว้ กว้างกว่าความสามารถในการเดินหน้าถอยหลังของไดอะแฟรมของไดเวอร์ จะทำให้ไดเวอร์ตัวนั้นสูญเสียความสามารถในการถ่ายทอดคุณสมบัติในส่วนที่เป็นคอนทราสน์ ไดนามิกลงไป คือทำให้รายละเอียดในส่วนที่แสดงความต่อเนื่องของการไต่ระดับความดังของเสียง (จากดังลงไปหาเบา, และจากเบาขึ้นไปหาดัง) ซึ่งเป็นสัญญาณที่มีความดังต่ำกว่าถูกกระชากหายไปจากการได้ยินของหูเรา (เป็นเหตุผลที่ทำให้ลำโพงดูหนัง ใช้ฟังเพลงไม่ไพเราะ)

โดยธรรมชาตินั้น ทั้งทรานเชี้ยนต์ฯ และคอนทราสน์ฯ จะต้องเกิดขึ้นคู่กันไป เกี่ยวเนื่องกันไปเสมอ แต่เนื่องจากรอบของการเกิดขึ้นคงอยู่ และสลายไปของสัญญาณทรานเชี้ยนต์ฯ มันใช้เวลาสั้นกว่ารอบของการเกิดขึ้นคงอยู่ และสลายไปของสัญญาณคอนทราสน์ฯ ดังนั้น ถ้ารอบการเกิดขึ้นคงอยู่ และสลายไปของสัญญาณทรานเชี้ยนต์ฯ ถูกทำให้หดสั้นกว่าความเป็นจริงที่มากับต้นฉบับของสัญญาณอินพุต จะส่งผลต่อรายละเอียดทางด้านคอนทราสน์ ไดนามิกที่รับรู้ได้น้อยลง (พื้นที่สีฟ้าในภาพ) ตามแบบภาพที่สองนั่นเอง

ถ้าคนออกแบบต้องการให้ลำโพงของเขาสามารถรองรับความดังได้สูงขึ้น โดยไม่สูญเสียรายละเอียดของเสียงทั้งในส่วนของทรานเชี้ยนต์ ไดนามิก และส่วนของคอนทราสน์ ไดนามิก ผู้ออกแบบคนนั้นก็ต้องเพิ่มขนาดของไดเวอร์ให้ใหญ่ขึ้น ทำโครงสร้างของไดเวอร์ให้แข็งแรงมากขึ้น เพิ่มขนาดแม่เหล็กให้ใหญ่ขึ้น ให้รองรับกับอัตราสวิงของไดนามิกเสียงได้กว้างขึ้น แล้วปรับจูนปริมาณตู้เข้ามารองรับกับไดเวอร์ที่ใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Signature One นั่นเอง

ถ้าถอยไป ณ จุดเริ่มต้น เราจะเห็นว่า Vincent Bruzzeze คนออกแบบลำโพงยี่ห้อนี้เป็นคนที่พยายามจะเอาชนะสรีระของลำโพง เขาพยายามทำให้ลำโพงสองทางวางหิ้ง (ของเขา) ตอบสนองความถี่ต่ำได้มากกว่าลำโพงสองทางวางหิ้งทั่วๆ ไปที่ใช้ไดเวอร์ขนาดเท่าๆ กัน ซึ่งนั่นคือจุดกำเนิดของ Model 1 และหลังจากเวอร์ชั่นแรกแล้ว จะเห็นว่า Vincent Bruzzeze พยายามปรับปรุงแก้ไข อะไรบางอย่างของ Model 1 ที่ยังไม่ดีมาอีกสองสามเวอร์ชั่น จนมาสรุปจบที่ The One ซึ่งผมเดาว่า เขาคงยอมรับกับตัวเองแล้วว่า การปรับแก้ไขในส่วนย่อยอื่นๆ ของโมเดล วันโดยคงทั้งไดเวอร์และขนาดตู้เดิมเอาไว้ ไม่ใช่คำตอบสำหรับสิ่งที่เขาอยากจะได้เพิ่มเติมขึ้นมาจาก Model 1 เดิมๆ ซะแล้ว

มาตรฐานใหม่!

หลังจากได้ทดสอบดูแล้ว ผมอยากจะสรุปว่า Signature One คือมาตรฐานใหม่ของเสียงที่ เหนือกว่ามาตรฐานเดิมที่ Model 1 ทำไว้

ผมยอมรับว่า รู้สึก enjoy กับเสียงของ Signature One มากกว่า The One ในบางด้าน จุดที่ผมชอบมากที่สุดคือจุดที่ Signature One ถ่ายทอดสเปคตรัมของความถี่เสียงออกมาให้ได้ยินมากกว่า The One ที่ผมใช้อยู่ (ทั้งที่ The One ราคาสูงกว่าหลายหมื่น.!!) โดยเฉพาะในย่านความถี่ตั้งแต่กลางต่ำลงไปถึงย่านทุ้มทั้งหมด

ย้อนกลับไปที่อัลบั้มของ Daft Punk นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ในการแสดงความแตกต่างระหว่าง Signature One กับ The One ในซิสเต็มที่บ้านของผม ที่ผมสัมผัสได้อย่างแรกคือ อารมณ์ของเพลง The Game Of Love ที่ Signature One ถ่ายทอดออกมาได้ลึกล้ำกว่ามาก มัน (Signature One) ทำให้ผมรับรู้ได้ว่า The Game Of Love คือเพลงเศร้าจริงๆ เพราะเสียงทุ้มที่ประกอบอยู่ในเพลงนี้ไม่ได้พยายามแสดงอิทธิพลออกมาครอบงำเสียงในย่านความถี่อื่นเหมือนกันที่มันทำกับเพลง Giorgio by Moroder และเพลง Doin’t It Right ซึ่งประเด็นนี้ The One ไม่อาจชี้ชัดออกมาได้เหมือนอย่างที่ Signature One กำลังแสดงออกมาให้ผมได้ยินอยู่ในขณะนี้

ยิ่งไปกว่านั้น Signature One ยังเกลี่ยเสียงดนตรีอื่นๆ ในแทรค The Game Of Love ให้แพร่กระจายออกไปในปริมณฑลที่แผ่ขยายวงกว้างกว่าที่ The One ถ่ายทอดออกมา ยิ่งไปกว่านั้นอีกคือผมรู้สึกได้ถึง แอมเบี้ยนต์หรือมวลอากาศที่แทรกตัวอยู่ระหว่างเสียงของดนตรีแต่ละชิ้นที่ทิ้งช่องว่างระหว่างกันออกไปได้อย่างเด็ดขาด ทว่า ด้วยมวลอากาศที่ห้องล้อมและแทรกซึมอยู่ระหว่างเสียงดนตรีแต่ละชิ้นและเสียงร้องนั้น ได้เชื่อมโยงทุกเสียงในเพลงนี้เอาไว้ ทำให้รู้สึกได้ว่า ทุกเสียงในเพลงนี้กำลังเกิดขึ้นในบรรยากาศเดียวกัน ไม่มีความรู้สึกแบ่งแยกเกิดขึ้น ไม่มีเสียงดนตรีชิ้นไหน หลุดออกมาจากวง หากแต่ส่งและรับลูกกันไปมาด้วยจังหวะของเพลงที่สอดคล้องพอดีๆ

เสียงทุ้มของเพลงนี้ที่ Signature One ถ่ายทอดออกมามีคุณภาพเหนือกว่าที่ผมได้ยินจาก The One ค่อนข้างชัดเจน!

เสียงทุ้มที่ The One ให้ออกมามีความชัดเจนของหัวเสียงมากกว่า น้ำหนักเข้มกว่า รู้สึกว่าเน้นย้ำมากกว่า ทว่า จางหายไปจากประสาทหูเร็วกว่า ในขณะที่ Signature One ลดความเน้นย้ำของหัวเสียงทุ้มลงไปนิดนึง แล้วปลดปล่อยฮาร์มอนิกที่ตามหลังหัวเสียงให้ปรากฏตามติดหัวเสียงออกมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทอดผ่อนเป็นคอนทราสน์ของเสียงทุ้มที่สวยงาม ส่งให้เกิดความรู้สึกที่นุ่มลง ไม่แข็งกระด้าง ไม่ดุดันมากเท่ากับที่ The One พยายามนำเสนอออกมา ซึ่งหากเอาอารมณ์ของเพลงที่ควรจะเป็นมาตั้งเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบกับบุคลิกของเสียงที่ลำโพงทั้งสองรุ่นนี้ถ่ายทอดออกมา ผมให้คะแนน Signature One เหนือกว่า The One โดยไม่ลังเลเลยสำหรับประเด็นนี้

ความขมักเขม้น ความแข็งขันของเสียงในย่านกลางต่ำลงมาที่ทุ้มต้นๆ ผมชอบบุคลิกที่ The One ให้ออกมามากกว่า Signature One อยู่หน่อยๆ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นหลังจากผมเปลี่ยนมาฟังเพลงแนวร็อคของวง Chicago ชุด Chicago V (WAV 192/24 from DVD-Audio) ช่วงสี่ห้านาทีแรกๆ เพราะผมรู้สึกว่า The One ให้เสียงเบสจากปลายนิ้วของ Peter Catera ออกมาคมและหนักกระชับกว่า แต่พอฟังไปจนจบอัลบั้ม Signature One ก็ทำให้ผมหวั่นไหว ผมยอมรับว่า หลายอย่างที่ผมไม่ได้รับรู้จาก The One มันมาโผล่ให้เห็น (ด้วยหู) กับ Signature One นี่เอง อย่างเช่นเสียง วาววาว เบสในท้ายแทรคที่สอง ซึ่งผมไม่เคยรู้สึกว่ามันคือเสียงเอ็ฟเฟ็กต์ของเบส จนเมื่อมาได้ยินผ่าน Signature One นี่แหละ อีกจุดที่ Signature One แสดงความเหนือชั้นออกมาให้ผมรับรู้ นั่นคือความสามารถในการแยกสลายความอึดอัดของเสียงดนตรีและเสียงร้องที่หนาแน่นของเพลง Now That You’ve Gone แทรคที่สาม ซึ่ง The One ไม่สามารถคลี่คลายรายละเอียดที่ประเดประดังในแทรคนี้ออกมาได้หมดจด ในขณะที่ Signature One ถ่างแยกแต่ละเสียงออกมาเป็นเลเยอร์ให้ฟังแบบไม่อึดอัดเลย ทว่า กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ที่มันส์มาก เมื่อผมเร่งวอลลุ่มของแทรคนี้ให้สูงไปอีกนิดเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกชิ้นดนตรีปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างเต็มที่ ทุกอย่างก็ดีขึ้นไปอีก ชี้ชัดให้เห็นว่า Signature One เป็นลำโพงสองทางวางหิ้งที่ชอบให้อัดมันดังๆ เมื่อกำลังของแอมป์ไม่ใช่ปัญหา และไฟล์เพลงของคุณมีคุณภาพระดับไฮเรซฯ จริงๆ สิ่งที่ได้กลับออกมาจากไดเวอร์ทั้งสองตัวบน Signature One คือสวรรค์เราดีๆ นี่เอง มันทำให้บางเพลงในอัลบั้มนี้ที่ผมเคย skip ข้ามไปกลับกลายเป็นเพลงที่น่าฟังมาก และทำให้ผมรู้สึกตกใจที่เมื่อก่อนทำไมผมจึงไม่ได้ยินอะไรแบบนี้มาก่อน.!

หลังจากนั่งฟังอัลบั้มนี้จบลง ผมอยากจะพูดว่า Signature One ช่วยทำให้ผมค้นพบความสวยงามของเพลงที่ต้องใช้ ความดังในการคลี่คลายมันออกมา มันทำให้หลายๆ เพลงที่ผมเคยมองข้ามกลายเป็นเพชรเม็ดงามที่เพิ่งค้นพบ..!!

เมื่อสอบผ่านเพลงร็อคหนักๆ ดนตรีซับซ้อน ด้วยระดับความดังสูงๆ มาแล้ว อัลบั้มเพลงที่วงการเครื่องเสียงชื่นชอบทั้งหลายก็กลายเป็นงานกล้วยๆ สำหรับ Signature One ไปเลย และเมื่อลองฟังงานเพลงที่สังกัดบันทึกเสียงที่พิถีพิถันทำออกมา มันก็ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า การคงทวีตเตอร์ตัวเดิมไว้คือกลยุทธที่ชาญฉลาดของคนออกแบบ เพราะเท่ากับว่าเขาทำงานแค่ครึ่งล่างอย่างเดียว หาวิธีทางทำให้ความถี่ด้านบนของวูฟเฟอร์ที่ระดับ 2.5kHz ขึ้นไปมีความ สอดกลืนกับเสียงของทวีตเตอร์ให้ได้แค่นั้นเอง ซึ่งจุดเด่นของ Model 1 ในแง่ของโฟกัสของเสียงในย่านกลางขึ้นไปสูงที่แม่นยำและสกัดออกมาเป็นตัวตนที่ชัดเจนเป็นสามมิติก็ยังคงปรากฏอยู่ใน Signature One ตัวนี้ ไม่ใช่ว่า เบสดีขึ้นแต่กลางแหลมแย่ลง ซึ่งผมได้ลองฟังแล้วก็เข้าใจได้ทันทีว่าเพราะเหตุใด Vincent Bruzzeze จึงไม่ใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดมกับรุ่นนี้เหมือนอย่างที่ใช้ในรุ่น Sky

สรุป

ผมตกใจมาก.. เมื่อสอบถามราคาจากผู้นำเข้าแล้วพบว่า ราคาขายของ Signature One อยูที่ 85,000 บาทต่อคู่ ซึ่งแพงกว่า Model 1 Signature เวอร์ชั่นล่าสุดแค่ประมาณหมื่นเดียวเอง ถ้าเป็นแบบนี้ ใครใช้ Model 1 Signature อยู่ ผมขอเตือนครับ.. ถ้าเห็น Signature One อยู่ที่ไหน ขอให้หลบครับ อย่าเผลอไปฟังเสียงเป็นอันขาด ยกเว้นแต่ว่า คุณชอบ Model 1 Signature อยู่แล้ว แต่อยากจะได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปกว่านั้นอีกขั้น โดยที่ยังคงบุคลิกความสดของเสียงในรูปแบบที่ Totem Acoustics เป็นอยู่ /

***************

ราคา : 85,000 บาท / คู่

***************

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Deco2000 จำกัด
โทร. 0-2256-9700

ดูข้อมูลเพิ่มเติม | Link

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า