รีวิวเครื่องเสียง : Simaudio รุ่น Moon 240i อินติเกรตแอมปลิฟาย พร้อม USB-DAC กับภาคโฟโน MM ในตัว จากประเทศแคนาดา

Simaudio มีอินติเกรตแอมป์ในตระกูล Moon อยู่ทั้งหมด 5 รุ่น คือ 700i, 600i, 340i, 250i และ 240i ตัวที่ผมกำลังพูดถึงตัวนี้เป็นรุ่นเล็กสุดในกลุ่ม

พิจารณาจากตารางเทียบผลิตภัณฑ์ด้านบนนี้ จะเห็นว่า ในจำนวนอินติเกรตแอมป์ทั้ง 5 รุ่นนี้ มีเพียงแค่ 240i รุ่นเดียวที่มีภาค DAC กับช่อง Digital Input ติดตั้งมาให้เป็นฟังท์ชั่นมาตรฐานจากโรงงาน ในขณะที่รุ่นอื่นๆ ไม่ได้มีมาให้ (รุ่น 340i มีเหมือนกันแต่เป็นอ๊อปชั่น ผู้ซื้อต้องเลือก)

ข้อมูลในเว็บไซต์ระบุว่า ทางผู้ผลิตตั้งใจที่จะทำอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ออกมาให้เป็น One-box Centerpiece ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่พวกเขาผนึกอินพุตดิจิตัลมาให้เป็นมาตรฐานสำหรับรุ่น 240i ตัวนี้เพื่อให้มันตอบสนองกับการใช้งานได้ครบทุกเงื่อนไข รองรับกับสัญญาณอินพุตได้ทั้งอะนาลอกและดิจิตัลจบในตัวเดียว

รูปโฉม + ปุ่มปรับใช้งาน

หน้าตาของ 240i มาตามพิมพ์นิยมที่เป็นเอกลักษณ์ของ Simaudio ทุกกระเบียดนิ้ว พื้นที่ตรงกลางของหน้าปัดทำด้วยโลหะสีดำเข้ม เจาะช่องเป็นจอแสดงผลขนาด 2.5 x 10 ตร... ขนาบข้างด้วยปุ่มกดสั่งงานเล็กๆ สีบรอนซ์เงินจำนวน 7 ปุ่ม ซ้าย 5 ปุ่มและขวาอีกสอง นอกนั้นก็มีรูเสียบแจ๊ค mini 3.5 mm สำหรับสัญญาณอะนาลอกอินพุตหนึ่งรู และรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 mm อีกหนึ่งรู วอลลุ่มหมุนขนาดใหญ่หนึ่งตัว และที่ขอบด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าปัดมีแผ่นโลหะที่ทำผิวโค้งกว้าง 9.5 .. สูงเท่ากับความสูงของแผงหน้าปัดคือ 8 .. ติดประกบบนหน้าปัดทั้งสองด้าน เพิ่มความเก๋ไก๋ได้ดีทีเดียว

อินพุต + เอ๊าต์พุต

นี่ถือเป็นไฮไล้ท์ของอินติเกรตแอมป์จากประเทศแคนาดาตัวนี้เลยล่ะครับ.! อย่างที่ผมเกริ่นมาในตอนต้นที่ว่า ผู้ผลิตเขาวางคอนเซ็ปต์ของแอมป์ตัวนี้เอาไว้ให้เป็น One-Box Centerpiece หรือ ทุกสิ่งครบจบในกล่องเดียว!นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Moon 240i ตัวนี้มีอินพุตมาให้คุณเลือกใช้แบบไม่อั้นกันเลย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณอินพุตที่อยู่ในรูปของสัญญาณ analog หรือสัญญาณ digital อินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีช่องขาเข้าให้คุณเล่นกับมันได้แน่ๆ

อย่างเช่นอินพุตที่เตรียมมาให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องเล่นที่ให้เอ๊าต์พุตออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกก็มีมาให้คุณเลือกใช้มากถึง 4 ช่องทางด้วยกัน โดยติดตั้งสามช่องแรกไว้ที่แผงด้านหลัง ผ่านขั้วต่อ RCA และหนึ่งในนั้นได้ติดตั้งวงจรขยายสัญญาณตามมาตรฐาน RIAA สำหรับขยายสัญญาณหัวเข็ม MM (Moving Magnet) จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้ให้ด้วย (ช่องริมซ้ายมือสุดจากภาพ) ส่วนช่องที่สี่เป็นอินพุตที่ออกแบบมาไว้รองรับสัญญาณจากเครื่องเล่นไฟล์เพลงพกพาที่ปล่อยสัญญาณอะนาลอกออกมาทางช่อง mini 3.5mm ซึ่งผู้ผลิตได้ติดตั้งรูเสียบแจ๊ค mini 3.5mm ไว้ให้ที่มุมล่างขวาของแผงหน้าปัดด้านหน้าเครื่องข้างๆ รูเสียบแจ๊คหูฟัง

ขณะลองรับสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตจากเครื่องเล่นไฟล์เพลงพกพาของ Sony รุ่น NW-ZX30 โดยปล่อยสัญญาณออกทางช่อง mini 3.5mm ของ ZX300 ไปเข้าที่ช่องอินพุต MP in ของ Moon 240i


ยุคนี้เป็นยุคดิจิตัล ซึ่งปัจจุบัน Moon เองก็พัฒนามาทางนี้อย่างเต็มตัวแล้ว พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับอินพุต digital มากเป็นพิเศษ เห็นได้จากช่อง digital inputs ที่ให้มาครบมาก นับรวมกันได้ถึง 5 ช่อง คือ optical x 2, coaxial x 2 สำหรับรองรับสัญญาณจากอุปกรณ์เครื่องเล่นดิจิตัล เพลเยอร์ประเภทต่างๆ ทั้ง CD player, DVD player และ Blu-ray player ซึ่งช่องอินพุตทั้งสองรูปแบบนั้นใช้มาตรฐาน S/PDIF จึงมีความจำกัดในการรองรับแบนด์วิธของสัญญาณดิจิตัลอยู่บ้าง สำหรับคนที่อยู่สายดิจิตัลและเล่นมาไกลถึงระดับ Hi-Res Audio แล้ว คุณต้องใช้บริการของช่องอินพุต USB type B เพราะช่องนี้รับได้ไม่อั้น ทั้งทางด้าน bit-depth ตั้งแต่ 16-32bit ส่วนทางด้านแซมปลิ้งเรตที่รับได้ตั้งแต่ 44.1kHz ไปจนถึงระดับ DXD 384kHz และยิ่งไปกว่านั้น คอไฮเรซฯ ได้ยินแล้วต้องซู๊ดปาก เพราะช่องอินพุต USB ของ Moon 240i ตัวนี้สามารถรองรับสัญญาณ DSD ได้ด้วย และรับได้สูงไปจนถึงระดับ DSD256 โน่นเลย..!!

–—————————————————-
*** ขอเชิญชมวิดีโอพรีวิวของ Moon 240i | Link

–—————————————————-

ทางด้าน Output ของ Moon 240i มีมาให้ 2 รูปแบบ อย่างแรกเป็นกำลังขับที่ผลิตจากภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว 240i แล้วส่งตรงไปที่ลำโพงผ่านทางขั้วต่อสายลำโพง ด้วยสมรรถนะทางตัวเลขกำลังขับที่ค่อนมาทางต่ำ* คืออยู่ที่ตัวเลข 50W/Ch วัดที่โหลด 8 โอห์ม ซึ่งบางคนอาจจะมองว่า เป็นตัวเลขกำลังขับที่ค่อนข้างน้อยซะด้วยซ้ำ แต่จากประสบการณ์แล้ว ผมอยากให้พิจารณาตัวเลขอีกตัวหนึ่งประกอบไปพร้อมกัน นั่นคือตัวเลข Frequency Response หรือ ความถี่ตอบสนองซึ่งตัวเลขนี้จะมีผลกับกำลังขับทางด้านความรู้สึก คือให้มองแบบนี้ แบนด์วิธหรือความถี่ตอบสนองของสัญญาณเสียงที่แอมปลิฟายต้องรับผิดชอบในการถ่ายทอดออกมานั้น มันเปรียบเสมือน ท่อน้ำถ้ากำหนดไว้แคบๆ ก็เหมือนท่อขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีแรงดันน้ำไม่เยอะ น้ำที่ผ่านออกมาจากปากท่อก็จะมีลักษณะที่พุ่งพล่าน กระฉูดไปไกล ดูมีกำลังเรี่ยวแรงดี ในขณะเดียวกัน ถ้าแรงดันน้ำยังคงเท่าเดิม แต่เปลี่ยนไปใช้ท่อที่มีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่ขึ้นหลายๆ เท่า คุณจะพบว่า น้ำที่ผ่านปากท่อออกมาจะมีลักษณะไหลเอื่อยๆ ไม่พุ่งฉีดดูมีพลังเหมือนตอนแรก ถ้าต้องการให้น้ำที่ผ่านออกมาจากท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างๆ คุณต้องเพิ่มแรงดันน้ำเข้าไปอีกเยอะๆ ทีนี้น้ำที่พุ่งผ่านปากท่อออกมาก็จะมีลักษณะที่ฉีดพุ่งมีพลัง ในขณะเดียวกัน ปริมาณของน้ำที่ผ่านท่อออกมาก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

* ผมมีหลักเกณฑ์ส่วนตัวในการจัดแยกระดับตัวเลขกำลังขับของแอมป์ไว้ 3 ระดับหยาบๆ นั่นคือ กำลังขับต่ำ (Low Power) จะอยู่ที่ตัวเลข <80W ต่อแชนเนล, กำลังขับปานกลาง (Medium Power) อยู่ที่ตัวเลข 80-150W ต่อแชนเนล และ กำลังขับสูง (High Power) จะอยู่ที่ตัวเลขกำลังขับ >150W ต่อแชนเนลขึ้นไป โดยอ้างอิงที่อิมพีแดนซ์ 8 โอห์มเป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน

ในกรณีของ Moon 240i ตัวนี้ มันตอบสนองความถี่กว้างมาก.! คือตั้งแต่ 10Hz ขึ้นไปจนถึง 80kHz ด้วยระดับความลาดชัน +/-3dB ซึ่งถือว่าเป็นสเปคฯ ที่สูงลิบสำหรับอินติเกรตแอมป์ระดับนี้เมื่อเทียบกับที่ผมเคยเจอมา ดังนั้น อ้างอิงกับสิ่งที่ผมอุปมาอุปไมยมาในย่อหน้าข้างต้นนั้น ถ้าบีบ bandwidth ทางด้านความถี่ตอบสนองของ Moon 240i ให้แคบลงกว่าที่เป็นอยู่ อย่างเช่น ให้เหลือสัก 20Hz – 20kHz ตามมาตรฐานดั้งเดิมที่วงการไฮไฟฯ ของเราใช้กันมานานหลายสิบปี ด้วยวงจรและภาคจ่ายไฟเดิมที่ปรากฏอยู่ในตัวถังของ Moon 240i ผมเชื่อว่า มันจะสามารถปั๊มกำลังขับออกมาได้มากกว่า 50W/Ch ตามที่แจ้งไว้อย่างแน่นอน อุจจาระสุกรอุจจาระสุนัข อย่างน้อยๆ ก็น่าจะถึง 100W ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์มนั่นแหละ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ดูจากขนาดของทรานฟอร์เมอร์ก็พอได้.!

เอาเถอะ.. สมมุติว่ากำลัง 50W/Ch ไม่พอจริงๆ สำหรับคุณ อาจจะเป็นเพราะคุณอัพเกรดไปใช้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ต้องการกำลังขับสูงขึ้น ทางผู้ผลิตเขาก็ได้เตรียมทางออกไว้ให้แล้ว นั่นคือให้ช่อง Pre-out มาเพื่อให้คุณส่งไปขับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกได้ ซึ่งผมทดลองดูแล้ว ช่อง Pre-out นี้ทำงานแยกกันกับส่วนที่ไปขับเพาเวอร์แอมป์ในตัว 240i นั่นคือ คุณสามารถเพิ่มแอมป์เบิ้ลเข้าไปร่วมกับแอมป์ในตัวช่วยกันขับลำโพงที่มีขั้วต่อสายลำโพงแยก 2 ชุดในลักษณะที่เป็นการขับแบบ Bi-amp ได้เลย ซึ่งปัญหาอย่างเดียวที่คุณต้องคำนึงถึงก็คือ ต้องหาเพาเวอร์แอมป์ที่มี gain input ใกล้เคียงหรือเท่ากับเกนอินพุตของภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว 240i ด้วย หรือถ้าเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ปรับจูน gain input ให้แม็ทชิ่งกับเกนสัญญาณของภาคปรีฯ ของ 240i ได้ก็แจ๋วเลย (gain ของ 240i ระบุไว้ที่ 37dB) จริงๆ แล้วทาง Moon เองก็มีเพาเวอร์แอมป์ที่หน้าตาเหมือนกับอินติเกรตแอมป์ตัวนี้อยู่เหมือนกัน ชื่อรุ่น 330A กับรุ่น 400M แต่ผมดูสเปคฯ แล้ว ไม่เหมือนกับสเปคฯ ของ 240i เลย ไม่แน่ใจว่าจะไปกันได้มั้ย.?

อีกกรณีที่คุณไม่ได้เพิ่มแอมป์ จะเปลี่ยนเป็นเพิ่มลำโพงสเตริโอ แอ๊คทีฟแบบมีแอมป์ในตัว หรือจะเพิ่มลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์เข้ามาทำงานร่วมกับลำโพงพาสซีฟสองแชนเนลที่ขับด้วยแอมป์ในตัว Moon 240i ก็ได้ ถือว่าให้ความยืดหยุ่นในการเซ็ตอัพซิสเต็มมากพอควร

ฟังท์ชั่นพิเศษ

ในกล่องมีรีโมทไร้สายมาให้หนึ่งอัน ใช้ควบคุมสั่งงานได้ครบทุกฟังท์ชั่นที่จำเป็น แต่ยังมีการปรับตั้งอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ผลิตบรรจุมาให้ฝังอยู่ในตัวเครื่อง เป็นการปรับตั้งด้วยซอฟท์แวร์ (Software Setup) ซึ่งครอบคลุมความสามารถพื้นฐาน อาทิ ตั้ง offset ของวอลลุ่มแต่ละอินพุตชดเชยกับความแรงที่ต่างกันของแต่ละอินพุตให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่เสมอๆ กัน ซึ่งมี range ให้ปรับตั้งแต่ -10.0dB ถึง +10.0dB, สามารถสั่งปิดการทำงานของอินพุตที่ไม่ได้ใช้ได้, สามารถกำหนดให้ช่องอินพุต ANALOG 1 หรือ ANALOG 2 ทำหน้าที่เป็นช่อง bypass รองรับสัญญาณจากภาคปรีแอมป์ของ Pre-Processor หรือ AVR ที่ใช้กับระบบเซอร์ราวนด์โฮมเธียเตอร์ได้

นอกจากนั้น คุณยังสามารถปรับตั้งระดับความดังสูงสุด (maximum volume) ของแต่ละอินพุตได้ ให้เป็นไปตามระดับความดังที่คุณใช้งานจริง เพื่อป้องกันอันตรายจากการเผลอใช้วอลลุ่มสูงเกินไป ฯลฯ

แม็ทชิ่ง

ยอมรับครับว่า ถูกใจกับอินพุตและฟังท์ชั่นที่ Moon 240i ให้มา มันครบถ้วนดีมากๆ แต่ผมยังข้องใจกับกำลังขับที่ให้มาแค่ 50W ต่อข้าง ผมจึงทดลองจับคู่ Moon 240i กับลำโพงหลายคู่ที่ผมมีอยู่ตอนนั้น ไล่มาตั้งแต่คู่ละสามหมื่นกว่าไปจนถึงคู่ละสองแสนกว่า นั่นคือ Wharfedale : DENTON 85th Anniversary (ดู PREVIEW), ATC : SCM7, Totem Acoustics : The One, Audiovextor : SR1 และ Dynaudio : Contour 20 ซึ่งทำให้ผมพบว่า กำลังขับที่ระบุไว้ 50W ของ Moon 240i มันคือกำลังขับ เนื้อๆเป็นตัวเลขกำลังขับตามมาตรฐานไฮเอ็นด์ฯ แท้ๆ พิจารณาจากคุณภาพเสียงที่มันให้ออกมา

จากการทดลองขับลำโพงเหล่านั้น ผมพบข้อสรุปว่า ถ้าห้องหรือพื้นที่อากาศที่คุณใช้ในการฟังเพลงไม่ได้มีปริมาตรที่ใหญ่มากมาย หากคุณเลือกลำโพงที่มีสเปคฯ power requirement (ความไว + อิมพิแดนซ์) ที่ไม่เกินความสามารถของ Moon 240i มาจับคู่กัน เซ็ตอัพซิสเต็มให้ลงตัว คุณจะได้เสียงที่มีคุณภาพระดับไฮเอ็นด์ฯ อย่างแน่นอน

อีกอย่างหนึ่งที่ผมค้นพบในการทดสอบ Moon 240i ตัวนี้ นั่นคือ คุณภาพของช่องอินพุต USB ที่มันให้มา ซึ่งบอกได้เลยว่า ใครที่สะสมไฟล์เพลงไว้มากๆ และฟังเพลงด้วยไฟล์เพลงเป็นประจำอยู่แล้ว ไฟล์เพลงของคุณเหล่านั้นจะมีคุณค่าขึ้นมาอย่างมาก โดยเฉพาะไฟล์เพลงไฮเรซฯ ที่มีสเปคฯ สูงๆ ไม่ว่าจะตระกูล PCM, DSD หรือแม้แต่ DXD ถ้าที่ผ่านมาคุณยังรู้สึกว่า ยังไม่ได้สัมผัสกับคุณภาพที่แท้จริงของไฟล์เพลงเหล่านั้น และเคยคิดว่า ไฟล์เพลงไฮเรซฯ ไม่ดีจริง ถ้านำไฟล์เพลงเหล่านั้นมาฟังผ่านอินพุต USB ของ Moon 240i ตัวนี้ โลกของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง.!!!

ผมใช้อินพุต USB ของ Moon 240i มากกว่าอินพุตอื่น โดยใช้โปรแกรม roon บน Macbook Pro เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง (คิดถึง roon : nucleus + มาก.. บอกเลย!) ส่งเข้าที่ช่องอินพุต USB ของ Moon 240i ด้วยสาย USB ของ Nordost รุ่น Heimdall และผมขอใช้เสียงจากอินพุต USB อ้างอิงในการทดสอบครั้งนี้..

เสียงของ Moon 240i

ผมชอบใจ description หรือคำจำกัดความคุณลักษณะด้านเสียงของแอมป์ตัวนี้ที่ผู้ผลิตระบุไว้ในเว็บไซต์ของพวกเขา ซึ่งใช้คำว่า “…organic and detailed, with exceptionally well-controlled and tuneful bass, coupled with a wide and airy soundstage.” ซึ่งมันมีความหมายตรงกับสิ่งที่ผมได้ยินจริงๆ ยืนยันได้ว่า เสียงของ Moon 240i มันออกมาแบบนี้จริงๆ !!

น่าทึ่งมาก..!! ดูราวกับว่า พวกเขา มองเห็นเสียงที่เกิดขึ้นและปรับจูนมันออกมาได้ตามที่ต้องการ ฟังดูง่ายๆ ยังกะปั้นดินน้ำมัน.!!

ผมรู้ว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะทำให้ได้เสียงออกมาแบบนี้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่า เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเสียงที่มีบุคลิกออกไปทางอิ่มหนา และเข้มข้น ผมมักพบเสมอว่า เสียงแหลมในระดับ atmosphere ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของ harmonic ของเสียงในย่านแหลมมักจะจมหายไป อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ก็หลายส่วน ซึ่งทำให้ฟังไฟล์เพลงที่เป็นสัญญาณไฮเรซฯ แล้วไม่รู้สึกถึงความเปล่งปลั่งเมลืองมลังของความเป็น Hi-Res Audio อย่างที่สเปคฯ ของไฟล์เพลงนั้นระบุไว้ และเมื่อใดก็ตาม ที่ได้ยินเสียงที่มีลักษณะโปร่งกระจ่าง รายละเอียดกลางแหลมดีมากๆ พร่างพรายและทอดปลายเสียงได้กังวานไปจนสุดเสียงสังข์ ที่ผ่านๆ มา ผมก็มักจะพบว่าโทนัลบาลานซ์ของเสียงนั้นมักจะเอนเอียงไปทางกลางแหลมมากกว่าทุ้ม ทำให้ความเข้มข้นของบอดี้เสียงในย่านกลางลงไปถึงทุ้มขาดด้อยความอิ่มหนาลงไป มักจะเป็นแบบนี้เสมอ ได้อย่าง ก็มักจะต้องเสียอีกอย่าง

คุณจะเชื่อผมมั้ย.?? ถ้าผมจะบอกว่า Moon 240i ตัวนี้ กำลังทำในสิ่งที่หลายๆ คนทำไม่ได้.!! หรือพยายามทำแต่ไม่สำเร็จ นั่นคือ ถ่ายทอดเสียงที่ให้แบนด์วิธเปิดกว้างโดยไม่มีอั้น ขึ้นอยู่กับว่า ไฟล์เพลงของคุณจะไปได้ไกลแค่ไหน ในขณะเดียวกัน มัน (Moon 240i) ก็ยังสามารถถ่ายทอดบอดี้ของตัวเสียงที่มีมวลเนื้ออิ่มหนาออกมาได้พร้อมกัน.! ตลอดทั้งย่านเสียงซะด้วย นับเป็นความมหัศจรรย์ของปี 2018 อย่างแท้จริง ..!!!

PCM 24/192

อัลบั้มชุด “Harvestของ Neil Young เวอร์ชั่น PCM 24/192 ที่ผมริปออกมาจากแผ่น DVD-Audio (2002 Reprise 9362-48100-9) เป็นหนึ่งในไฟล์เพลง 24/192 ที่ผมใช้อ้างอิงในการทดสอบประสิทธิภาพในการตอบรับกับสัญญาณ digital high-resolution audio ของซิสเต็มเครื่องเสียงโดยเฉพาะ อะไรที่ผมฟัง.? เนื่องจากผมเคยได้ยินคุณลักษณะพิเศษของเสียงที่ไฟล์เพลง 24/192 อัลบั้มนี้ให้ออกมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่เป็น สุดยอดปรารถนาของนักฟังเพลงทุกคน มันทำให้ทุกเพลงในอัลบั้มชุดนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างมาก แบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากเวอร์ชั่นไหนๆ ทั้งเสียงเบส เสียงร้อง เสียงกีต้าร์ เสียงกลอง ทุกเสียงมันแสดงรายละเอียดออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจนในทุกแง่มุม

ผมตั้งใจจดจำคุณลักษณะต่างๆ ของเสียงทุกเสียงที่อัลบั้มนี้ให้ออกมา และใช้มันวัดผลของอุปกรณ์เครื่องเสียงและซิสเต็มมาตลอดสองสามปีที่ผ่านมา และพบว่า เมื่อภาค DAC ถูกพัฒนาขึ้นมาถึงเจนเนอเรชั่นที่สามนี้ (DXD384 & DSD256)** ผมก็พบว่า คุณภาพเสียงของไฟล์ PCM24/192 และไฟล์ DSD64 ได้ถูกคลี่คลายออกมาได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว และนั่นคือสิ่งที่ผมได้ยินจากการทดลองฟังไฟล์เพลง PCM24/192 และไฟล์เพลง DSD64 อีกหลายชุด ผ่านอินพุต USB ของ Moon 240i ตัวนี้

** เจนเนอเรชั่นแรก PCM24/96, เจนเนอเรชั่นที่สอง (PCM24/192 & DSD64), เจนเนอเรชั่นที่สาม (DXD384 & DSD256)

PCM 24/192

PCM 24/88.2

ลักษณะเสียงแบบหนึ่ง ที่ผมได้ยินจาก Moon 240i ออกมาเหมือนๆ กันหลังจากได้ลองฟังอัลบั้มเพลงทั้งหมดที่ลงภาพปกไว้ข้างบนนี้ นั่นคือลักษณะเสียงที่ เปิดโล่งซึ่งเป็นความเปิดโล่งที่มีความ เต็มอิ่มของเสียงออกมาด้วย คือไม่ได้เปิดโล่งแต่บอบบางเหมือนยุคก่อนๆ แต่ได้ทั้งสองอย่างที่อยากได้มานาน ออกมาพร้อมๆ กัน คือทั้งโปร่งโล่งและเนื้อแน่น รวมถึงพลังเสียงที่มีการทั้งพลังแฝงและการควบคุมที่ดี

ขออนุญาติอธิบายด้วยรูปภาพอีกครั้ง จากภาพสองภาพข้างบนนี้ จะสังเกตได้ว่า ภาพ A ทางซ้ายมือนั้นมีลักษณะตามที่ผมได้ยินจากการฟังไฟล์ไฮเรซฯ กับ Moon 240i คือ เป็นเสียงที่มีลักษณะเปิดกระจ่างออกมาเต็มที่มากกว่าภาพขวา ในขณะเดียวกัน สีสันของภาพ (เปรียบได้กับสเปคตรัมของเสียง) ซ้ายก็ให้เฉดที่กว้างกว่า เพราะมีคอนทราสน์ของแสงกว้างกว่า (เปรียบได้กับไดนามิกของเสียง) ตรงจุดสว่างสูงสุดของภาพ (เปรียบเทียบกับจุดพีคของความดัง) อย่างจุดที่หยดน้ำโดนแสงส่องจะเห็นว่าหยดน้ำที่ภาพซ้ายจะมีลักษณะที่ เด้งออกมามากกว่า อุปมาเทียบกับจุดพีคของไดนามิกเสียง ซึ่งปลดปล่อยออกมาได้เต็มแรงโดยที่ยังสามารถรักษารายละเอียดต่างๆ เอาไว้ได้ ไม่พร่าแตก รับรู้ลักษณะและน้ำหนักของเสียงกระทบของสัมผัสตรงจุดอิมแพ็คที่เป็น fundamental ของหัวโน๊ตได้ชัด และจากความแรงของเสียงที่ Moon 240i ปล่อยออกมาเต็มที่ ทำให้รู้สึกได้ถึง touching หรือน้ำหนักที่นักดนตรี ตั้งใจกระทำกับเครื่องดนตรีของพวกเขา บางโน๊ตเคาะเบา ในขณะที่บางโน๊ตเพิ่มน้ำหนักย้ำเน้นลงไป ซึ่ง Moon 240i แจกแจงรายละเอียดเหล่านี้ออกมาให้ได้ยิน โดยไม่ไปเน้นตรงจุดนั้นออกมาจนเกินไปส่งผลให้สามารถรักษารูปวงของซาวนด์สเตจที่มีมิติตื้นลึกเอาไว้ได้ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติของ ความโปร่งใส” (transparency) ของพื้นเสียงที่ Moon 240i ตัวนี้คลี่ปูออกมาเป็นสนามเสียงที่แผ่คลุมรองรับเสียงทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งอ้างอิงย้อนกลับไปที่สเปคฯ frequency response ของ Moon 240i ที่เปิดกว้างตั้งแต่ 10Hz ขึ้นไปจนถึง 80kHz และ ความโปร่งใสนี่แหละก็คือผลลัพธ์ความมหัศจรรย์ที่ได้จากสเปคฯ ตัวนี้!

พอเปลี่ยนมาลองเล่นไฟล์ DSD ผมก็มีเรื่องให้ต้องพูดถึงอีกเรื่อง นั่นคือความสามารถของภาค input ของ DAC ที่ให้ผลลัพธ์ทางเสียงของไฟล์ DSD64 ออกมาดีอย่างน่าพอใจ ซึ่งต้องขอเรียนว่า การ render ไฟล์ DSF หรือ DFF ให้ได้ออกมาเป็นไฟล์ DSD ที่ให้คุณภาพเสียงดีนั้นเป็นเหมือนยาขมของ DAC เวอร์ชั่นก่อนๆ ประตูสวรรค์เพิ่งจะมาเปิดอ้าออกก็ในเจนเนอเรชั่นที่สามนี่แหละ เมื่อความสามารถของภาค DAC ถูกเพิ่มขยายประสิทธิภาพในการประมวลผลที่สูงขึ้นมหาศาลจนรองรับไฟล์เพลงที่มีเรโซลูชั่นสูงๆ ได้ถึงระดับ DXD 384kHz และ quad DSD 11.2896MHz หรือ DSD256

จากภาพข้างบน จะเห็นว่าโปรแกรม driver ที่ Moon 240i ใช้ทำงานในส่วน input ของภาค DAC ในตัวมันเป็นโปรแกรมไดรเวอร์ตัวเดียวกับที่ใช้อยู่ใน ext.DAC รุ่นท๊อปคือ Moon Evolution 780D ซึ่งตอนที่ใช้ในรุ่น 780D ไดเวอร์ตัวนี้ก็รองรับไฟล์ที่มีสเปคฯ สูงระดับเดียวกันนี้ ซึ่งน่าสนใจมากที่ผู้ผลิตเลือกใช้ไดเวอร์ตัวเดียวกันในผลิตภัณฑ์ที่มีราคาต่างกัน

DSD64

DSD64

DSD64

DSD64

สองอัลบั้ม DSD ชุด “Slowhandของ Eric Clapton กับ “The Massแนวโอเปร่าร็อคของวง Era นี้ผมเคยพบว่ามันให้เสียงที่อับทึบ อุดอู้ และให้เสียงเบสที่ muddy ไม่สดและแยกแยะรายละเอียดไม่ออก แต่เมื่อนำมาเล่นกับภาค DAC ของ Moon 240i ครั้งนี้ รู้สึกได้เลยว่า บรรยากาศของเพลงจากทั้งสองอัลบั้มนี้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เปิดเผยออกมามากขึ้น รายละเอียดของแต่ละเสียงไม่ว่าจะเป็นกีต้าร์, เสียงร้อง, เสียงประสาน, เสียงเบส และเสียงกลอง หลุดลอยออกมาจากแบ็คกราวนด์ที่มืดทึบได้มากขึ้น

ในขณะที่อีกสองอัลบั้มถัดลงมาคือ Hi-Fi Danceเพลงบรรเลงสนุกๆ ของวง Edmundo Ros & His Orchestra กับเพลงบรรเลงไวโอลินฝีมือของ David Nadien ชุด Humoresque and The World’s Most Popular Violin Solosซึ่งก่อนหน้านี้ สองอัลบั้มนี้มักจะให้เสียงออกมาทางเจิดจ้ามากเกินไป อิมแพ็คของหัวโน๊ตในย่านเสียงสูงจะมีอาการ overshoot นิดๆ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้โทนเสียงออกไปทางจ้าๆ เนื้อเสียงในย่านกลางสูงไม่ค่อยอิ่ม

หลังจากเล่นผ่านภาค DAC ของ Moon 240i ตัวนี้แล้ว อย่างแรกคือลักษณะเสียงโดยรวมมันลดโทนลงมาทางครึ้มมากขึ้น อาการจี๊ดจ๊าดในย่านกลางสูงไปถึงแหลมลดน้อยลงพอสมควร ฟังสบายหูมากขึ้น อย่างที่สองที่รู้สึกได้คือ ไดนามิกกับ ไทมิ่งของเพลงมีความราบลื่นมากขึ้น ไม่เร่งและไม่ย้วยจนเกินไป ส่งผลให้เข้าถึงอรรถรสของเพลงได้มากขึ้น ฟังแล้วฟินมากขึ้น

ฟัง Moon 240i กับหูฟัง

ผมมีหูฟังฟูลไซร้อยู่สองตัวที่ใช้ทดสอบอยู่เป็นประจำรวมถึงอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ด้วย นั่นคือ Sennheiser รุ่น HD650 (dynamic-open / 10-41000Hz / 300 โอห์ม / 102dB) ที่ผมใช้ประจำคู่กับสายหูฟังบาลานซ์ของ Nordost รุ่น Heimdall 2 กับ AKG รุ่น K720/65th (dynamic-open / 8-39800Hz / 62 โอห์ม / 105dB) แต่ในการทดสอบครั้งนี้ ผมได้หูฟังฟูลไซร้อีกตัวมาลองทดสอบคือ beyerdynamic รุ่น AMIRON HOME (dynamic-open / 5-40000Hz / 250 โอห์ม / 102dB)

จากประสบการณ์ที่เคยทดสอบแอมป์ขับหูฟังมาแล้วหลายตัว ทั้งที่มีกำลังน้อยๆ และกำลังเยอะๆ ผมพบว่า ระดับความดังที่เกิดขึ้นจากการเร่งวอลลุ่มของแอมป์ขึ้นไปสูงๆ ไม่ได้เป็นตัวชี้ชัดว่าแอมป์ตัวนั้นขับหูฟังตัวที่กำลังฟังออกมาได้เต็มที่หรือไม่ เพราะโดยมากแล้ว แอมป์ทุกตัวที่ขับหูฟังออกมาได้ไม่เต็มที่ก็ยังสามารถเร่งวอลลุ่มให้มีความดังออกมามากเกินกว่าหูของเราจะทนฟังได้เสมอ ดังนั้น การประเมินประสิทธิภาพของแอมป์หูฟังว่าจะสามารถขับหูฟังตัวไหนออกมาได้เต็มที่ จนดึงความสามารถของหูฟังตัวนั้นออกมาได้อย่างหมดจดหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์กันที่ลักษณะของเสียงที่ได้ออกมา โดยพิจารณาในคุณสมบัติของเสียงในแต่ละประเด็นแยกแยะกันไป อาทิ ไดนามิก, ซาวนด์สเตจ และเนื้อเสียง

ในจำนวนหูฟังทั้งสามตัวที่นำมาลองฟังกับ Moon 240i ครั้งนี้ ผมพบว่า ตัว AKG K720/65th ให้เสียงโดยรวมออกมาดีที่สุด ที่ชัดเจนอย่างแรกคือซาวนด์สเตจ กรณีที่แอมป์ขับออกสบายๆ จะรู้สึกได้ว่า เสียงดนตรีและเสียงร้องในเพลงที่กำลังฟังจะฉีกตัวลอยอยู่ห่างจากศีรษะของเราออกไป ซึ่ง K720/65th ทำได้ดีที่สุด ซาวนด์สเตจแผ่กว้างออกไปรอบศีรษะ จากนั้นก็ดูที่ไดนามิก ซึ่งแอมป์ที่มีกำลังถึงๆ จะให้อิมแพ็คของเสียงที่คม เร็ว และมีน้ำหนักโดยเฉพาะในย่านเสียงทุ้ม จากนั้นจึงค่อยพิจารณาที่เนื้อเสียง ซึ่งแอมป์ที่ดีต้องให้เนื้อเสียงที่เนียนสะอาด ไม่มีอาการหยาบกระด้างหู อาจจะจับได้ยากแต่ให้ลองฟังต่อเนื่องไปสักพัก ถ้ารู้สึกล้าหูเร็ว แสดงว่าเนื้อเสียงไม่สะอาด มี distortion ติดมากับเนื้อเสียง ยิ่งล้าเร็วแสดงว่าเสียงหยาบมาก

ส่วน HD650 กับ AMIRON HOME ก็ขับออกนะ แต่โทนเสียงจะออกไปทางมืดทึบ (dark) ไปนิดนึง ความกระจ่างใสยังไม่ถึงระดับที่หูฟังทั้งสองตัวนี้ให้ได้เต็มที่ ถ้าฟังเพลงช้าๆ ที่ไม่เน้นสปีดและน้ำหนักเสียงมากนัก อย่างพวกแจ๊สสแตนดาร์ดที่ใช้ดนตรีน้อยชิ้น จะได้เสียงออกแนวโรแมนติค คือ dark หน่อยๆ ติดนุ่มนิดๆ แต่ฟังร็อคยังไม่ถึงอารมณ์เต็มที่

ฟัง Moon 240i กับแผ่นเสียง

ผมทดลองใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Sony รุ่น PS-HX500 ติดหัวเข็ม MM ที่มากับเครื่องเล่นในการประเมินประสิทธิภาพของภาคโฟโนในตัว Moon 240i

เครื่องเล่นแผ่นเสียง Sony รุ่นนี้ให้สัญญาณเอ๊าต์พุต 2 แบบ คือ Phono กับ Line กรณีที่เล่นกับภาคโฟโนภายนอก อย่างเช่นกับช่อง Phono ของ Moon 240i ครั้งนี้ ให้เลือกเป็น Phono ซึ่งคือสัญญาณที่ดึงมาจากหัวเข็ม ระบุไว้ในคู่มือว่ามีความแรงอยู่ที่ 3mV (วัดที่ความถี่ 1kHz) ในขณะที่ช่องอินพุต Phono ของ Moon 240i มีเกนขยายอยู่ที่ 40dB ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง

ผลคือ ไปกันได้ดีพอสมควร ผมทดลองเล่นแผ่นเสียงที่มีเกนเบาและแรงผสมกันไป ปรากฏว่าผมใช้วอลลุ่มเฉลี่ยบนตัว Moon 240i อยู่ระหว่าง 55 – 65 สเต็ป (วอลลุ่มสูงสุดคือ 80 สเต็ป) เพื่อความดังในระดับใกล้เคียงกับที่ผมฟังไฟล์ดิจิตัล

ลักษณะเสียงที่ได้จะออกไปทางนุ่มนวล (ภาคโฟโนของ Moon 240i ระบุความถี่ตอบสนองอยู่ในช่วง 20Hz-20kHz) ไดนามิกไม่กว้างเหมือนตอนเล่นจากไฟล์ดิจิตัล แต่เนื้อเสียงจะสะอาด ความต่อเนื่องดี อิมแพ็คของสัญญาณทรานเชี้ยนต์ยังไม่เฉียบพลันและหนักหน่วงมาก สรุปคือ ใช้ฟังเพลงช้าๆ ได้อารมณ์ดี กับเพลงเร็วๆ และหนักๆ จะอ่อนน้ำหนักย้ำเน้นไปนิด

สรุป

ผมรู้สึกสนุกมากมายกับการทดสอบอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ มันมีความสามารถตรงตามที่ผู้ผลิตต้องการให้เป็น คือเป็น One-box Centerpiece เสาหลักของซิสเต็มที่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้ได้ครบจริงๆ !!

ผมชอบมันมาก… ยิ่งมาทราบราคาขายว่าอยู่ที่ 80,000 บาท ผมยิ่งชอบมันมากขึ้นไปอีก และมองเห็นภาพชัดเจนเลย ถ้าต้องการเซ็ตอัพซิสเต็มไฮไฟฯ ที่อยู่ในงบประมาณ 200,000 บาท ผมจะนึกถึง Moon 240i ตัวนี้เป็นตัวแรก และใช้มันเป็นเสาหลักในการหาอุปกรณ์ตัวอื่นมาแม็ทชิ่งกับมันเพื่อขยายขึ้นมาเป็นซิสเต็ม

หลังจากทดสอบแอมป์ตัวนี้มานานเดือนเศษ ผมไม่แปลกใจเลยที่สื่อหลายๆ สำนักต่างก็ให้เรตติ้งแอมป์ตัวนี้ไว้สูงมาก เพราะได้ลองแล้วต้องยอมรับว่ามันดีจริง และยอมรับว่า มาตรฐานแคนาดาของเขาอยู่ในระดับที่สูงมาก แนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับใครที่กำลังมองหาอินติเกรตแอมป์ในระดับราคาไม่เกินหนึ่งแสนบาท! /

***************************
ราคา :
80,000 บาท / ตัว
***************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
Elpa Shaw Co., Ltd.
โทร. 0-2256-9683
facebook : Elpa Shaw

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า