รีวิวเครื่องเสียง Apple รุ่น AirPods Max หูฟังไร้สาย พร้อมระบบ Active Noise Cancellation

ต้องยอมรับว่า ในช่วงห้าหกปีหลังๆ มานี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ Apple ที่ออกมาจะไม่ค่อยปังโปริเยเหมือนในอดีต สาเหตุนั้นมีอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องของ นวัตกรรมใหม่ๆของตัวผลิตภัณฑ์ที่ช่วงหลังแอ๊ปเปิ้ลจะปล่อยออกมาช้ากว่าคู่แข่ง, เรื่องของ ราคาที่เริ่มจะดูสูงขึ้นเมื่อมีคู่แข่งจากประเทศเกาหลีและจีนเข้ามาตีขนาบมากขึ้น แต่กระนั้น สิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ยังคงมัดใจแฟนพันธุ์แท้เอาไว้ได้ก็คือเรื่องของ ดีไซน์กับเรื่องของ ความง่ายในการใช้งาน

AirPods Max
มาทีหลัง.. แต่ก็ดีกว่าไม่มา!

หูฟังไร้สายไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องเก่าไปแล้วด้วยซ้ำ ส่วน ระบบตัดเสียงรบกวนหรือ Noise Cancellation System อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกเหมือนกัน นับกันจริงๆ ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องกลางเก่า กลางใหม่แล้วสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งในตลาดหูฟังปัจจุบันก็มีผู้ผลิตแบรนด์ใหญ่แทบทุกแบรนด์ทำออกมา อาทิ Sony, Sennheiser, Bose, Huawei, Audio Technica, Shure, B&O ฯลฯ นั่นทำให้การมาถึงของ AirPods Max ไม่ได้เปรี้ยงป้างอย่างที่ควร

แต่หากมองกันลงไปถึงพื้นฐานของ Apple แล้ว จะรู้ว่ายังไงๆ แอ๊ปเปิ้ลก็ต้องทำหูฟังลักษณะนี้ออกมาแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะ หูฟังไร้สายก็คือหนึ่งในห่วงโซ่ที่แอ๊ปเปิ้ลต้องมี เพื่อเข้ามาเสริมเติมระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่แอ๊ปเปิ้ลก่อร่างสร้างเครือข่ายขึ้นมาให้ครบวงจร และเหตุผลสำคัญที่สุดที่สนับสนุนให้แอ๊ปเปิ้ล (ควรจะ) ต้องมีหูฟังลักษณะนี้ออกมาก็เพราะว่า Apple มี Streaming Service เป็นของตัวเอง

แกะกล่อง..

แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ที่เรียบแต่หรู แนวมินิมอลิสต์ที่เน้นกล่องสีขาวสะอาดตากับรูปผลิตภัณฑ์สวยๆ ยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่แอ๊ปเปิ้ลใช้มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง AirPods Max ตัวนี้

เมื่อดึงแถบพลาสติกใสที่หุ้มห่อกล่องออกไป แล้วเปิดฝาปิดออก ก็เห็นตัวหูฟังถูกผนึกอยู่ในบล็อกพลาสติกอยู่ในนั้น

ภาพที่เห็นในเบื้องต้นจะดูแปลกตานิดนึง เพราะตัวหูฟังถูกหุ้มห่อด้วยกระเป๋าทรงประหลาดที่แอ๊ปเปิ้ลเรียกมันว่า “smart case

สมาร์ท เคส.? วัสดุที่ใช้ทำเป็นแผ่นแข็งๆ ผิวเรียบลื่น ด้นในกรุด้วยกำมะหยี่บางๆ ตัดเย็บรูปทรงให้หุ้มห่อพอดีกับบอดี้ของตัวหูฟัง ทำให้ดูไม่เทอะทะเหมือนกระเป๋า (.. เอ่อ! ผมอยากจะเรียกมันว่า ซองใส่หูฟังมากกว่า) ใส่หูฟังที่พบเห็นทั่วไป ด้านบนมีฝาปิดล็อคด้วยแม่เหล็ก ถามว่า smart ตรงไหน.? เมื่อคุณสวมตัว AirPods Max ลงไปในซองเก็บหูฟังตัวนี้ ระบบการทำงานของตัวหูฟังจะถูกปรับเข้าไปในโหมด sleep ที่ใช้พลังงานต่ำเป็นพิเศษ และมีทำเว้าบนตัวซองที่ตรงกับช่อง Lightning ซึ่งทำให้สามารถเสียบขั้วต่อไล้ท์นิ่งสำหรับชาร์จแบตได้โดยไม่ต้องแกะออกมาจากซอง

มี protection ป้องกันตัวหูฟังทำด้วยกระดาษแข็งปั๊มขึ้นรูปสวมมาในกล่อง เป็นไอเดียที่ดี

เมื่อหยิบตัวหูฟังขึ้นมาจากกล่อง จะพบว่ามีคู่มือพิมพ์ใส่แผ่นกระดาษพับเล็กๆ กับสายชาร์จ USB-C > Lightning หนึ่งเส้นแถมมาในกล่อง

รูปร่างภายนอก

สำหรับผม ยอมรับโดยดุษฎีเลยว่าหลงเสน่ห์ ดีไซน์ของ Apple มาตั้งแต่ครั้งแรกที่ประสบพบเห็นเครื่องเล่นไฟล์เพลง iPod โน่นเลย ชอบลักษณะบอดี้ที่โค้งๆ มนๆ ของมัน และชอบความเป็น minimalist ของมัน ชอบความปราณีตของผิวเนื้องานที่สลักเสลาออกมาได้เกลี้ยงเกลามากเป็นพิเศษ เหมือนผิวหนังของตัวรถสปอร์ตระดับเวิร์ลคลาส ซึ่งแอ๊ปเปิ้ลสามารถรักษามาตรฐานการออกแบบตัวผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับนี้มาได้ตลอด จนมาถึงหูฟัง AirPods Max ตัวนี้ ผมก็พบว่าบอดี้ของตัวหูฟังตัวนี้ก็ยังคงเกลี้ยงเกลาเหมือนเดิม

มีทำออกมาทั้งหมด 5 สี คือ สีเงิน, สีสกายบลู (ฟ้า), สีชมพู, สีเขียว และ สีเทาสเปซเกรย์ (ด้านบน) ซึ่งภาพลักษณ์ของ AirPods Max เมื่อดูโดยรวมต้องบอกเลยว่าสวยถูกใจผมมาก ชิ้นส่วนหลักๆ ทั้งสามส่วนคือ บอดี้ ของตัวหูฟังทั้งสองข้าง, เอียร์แพด ที่ใช้กั้นระหว่างบอดี้กับรอบหู และ เฮดแบนด์ ที่ใช้รัดอยู่บนศีรษะ มันสะท้อนความเป็น Apple ออกมาได้ชัดเจนมาก ทุกส่วนสัดบอกเลยว่าได้ผ่านการออกแบบที่พิจารณามาแล้วอย่างถี่ถ้วน เพราะไม่ว่าจะหมุนมองจากมุมไหน มันดูลงตัวไปซะหมด ยิ่งมองยิ่งรัก บอกเลย.!!

ตัวบอดี้ที่ใช้เครื่อง CNC กัดอะลูมิเนียมขึ้นรูปออกมาเป็น monocloque ชิ้นเดียวโดดๆ ไร้การเชื่อมต่อ จึงได้ทั้งความแกร่งและสวยงาม ขนาดไม่เล็กและไม่ใหญ่ ถือว่าเป็นขนาดมาตรฐานของหูฟัง full size ทั่วไป ผิวนอกผ่านการขัดและเคลือบสีเงาวับ ตัวไดเวอร์และวงจรอิเล็กทรอนิคถูกผนึกอยู่ภายในนั้นทั้งหมด

earpad ทำมาจากเมมโมรี่โฟมนุ่มๆ ที่ถูกห่อหุ้มภายนอกด้วยตาข่ายเส้นใยผ้าโปร่งๆ ให้ความรู้สึกสัมผัสที่ดีขณะสวมใส่ และช่วยระบายอากาศไปในตัว เอียร์แพดติดอยู่บนตัวบอดี้ด้วยแม่เหล็ก สามารถดึงออกมาทำความสะอาดได้ง่ายๆ

ผมชอบ headband ของหูฟังตัวนี้มากเป็นพิเศษ พวกเขาออกแบบมันได้เยี่ยมยอดมาก มันให้ทั้งความกระชับแน่นพอดีๆ ที่มาพร้อมกับความสบาย ไม่รู้สึกว่าศีรษะถูกรัดตรึงมากเกินไป ตัวโครงภายในทำด้วยสแตนเลส แต่หุ้มภายนอกด้วยวัสดุแข็งที่มีผิวลื่นเนียนมือ แต่ส่วนที่สัมผัสลงบนศีรษะของผู้สวมใส่จริงๆ ไม่ใช่แกนโครงแข็งๆ แต่เป็นแผ่นผ้าตาข่ายสานที่บางเบา ซึ่งให้ความยืดหยุ่นไปกับรูปทรงของศีรษะของผู้สวมใส่ และด้วยความโปร่งพรุนของแผ่นผ้าตาข่ายสานที่ว่านี้ มันยังช่วยระบายอากาศได้ดีอีกด้วย ทำให้สามารถสวมใส่ได้นานหลายชั่วโมงโดยไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด

ตัวบอดี้ของหูฟังเชื่อมต่ออยู่กับที่คาดศีรษะ (headband) ด้วยแกนโลหะสแตนเลส ที่ซ่อนกลไกสามารถยืดขยายตามขนาดศีรษะของผู้สวมใส่ได้ ตัวบอดี้สามารถปรับหมุนอิสระได้ด้วยจุดหมุนที่มีลักษณะเหมือนลูกปืนโลหะตรงปลายของแกนโลหะของตัวเฮดแบนด์

ดีไซน์ภายใน และฟังท์ชั่นพิเศษ

AirPods Max ใช้ไดเวอร์ไดนามิกขนาด 40 .. ที่ออกแบบและผลิตขึ้นมาเองในการสร้างความถี่เสียงทั้งหมด โดยรับพลังจากแม่เหล็กนีโอไดเมี่ยมแบบวงแหวนคู่ แบบเดียวกับที่ใช้ในไดเวอร์ของลำโพงบ้านระดับไฮเอ็นด์ จึงมีพลังมากพอที่จะควบคุมการขยับเคลื่อนตัวสร้างคลื่นเสียงของไอะแฟรมของตัวไดเวอร์ให้ได้เสียงที่ออกมาเที่ยงตรงไร้ความเพี้ยนทุกระดับความดัง

นอกจากนั้น ในหูฟังแต่ละข้างของ AirPods Max ยังได้ติดตั้งชิป H1 ของแอ๊ปเปิ้ลเองไว้ข้างละตัว เพื่อใช้ประมวลผลของเสียงและควบคุมการทำงานของซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับฟังท์ชั่น Active Noise Cancellation นอกจากนั้น ภายในชิป H1 ตัวนี้ยังมีฟังท์ชั่นพิเศษที่ออกแบบไว้เพื่อปรับเสียงให้เข้ากับความกระชับและแนบสนิทขณะสวมใส่ระหว่าง earpad กับรอบข้างของหู ชื่อว่าฟังท์ชั่น Adaptive EQ โดยอาศัยไมโครโฟนที่อยู่ภายใน ear cup ทำหน้าที่ตรวจวัดเสียงที่เข้าสู่หูของผู้ฟัง และทำการปรับแต่งให้ได้เสียงที่ดีที่สุด

AirPods Max ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ไว้ที่หูฟังแต่ละข้าง และติดตั้ง Gyroscope ไว้ที่หูฟังข้างซ้าย เพื่อปรับมิติของระบบเสียงเซอร์ราวนด์ให้สอดคล้องไปกับตำแหน่งของศีรษะของผู้สวมใส่เมื่อใช้งานหูฟังตัวนี้ร่วมกับ iPhone หรือ iPad ที่อัพเฟิร์มแวร์เป็น iOS และ iPadOS เวอร์ชั่นล่าสุด (version 14.3)

บนหูฟังข้างขวา มีปุ่มหมุนที่แอ๊ปเปิ้ลเรียกว่า “Digital Crownอยู่หนึ่งปุ่ม เป็นปุ่มเอนกประสงค์ที่ใช้งานได้หลายอย่าง อาทิเช่น ควบคุมความดังของเสียงด้วยการหมุน, ใช้ควบคุมการเล่นเพลง โดยกดหนึ่งครั้งเพื่อสั่งเล่น – กดซ้ำหยุดเล่น – กดหนึ่งครั้งขณะเล่นเพลงเพื่อรับสายโทรฯ เข้า, กดสองครั้งเพื่อเลือกเล่นแทรคเพลงต่อไป, กดสามครั้งเพื่อถอยกลับไปเพลงก่อนหน้า และกดค้างเพื่อเรียกใช้ฟังท์ชั่น Siri

สำหรับฟังท์ชั่น ANC หรือ Active Noise Control นั้น หูฟัง AirPods Max ตัวนี้ใช้ไมโครโฟนที่ติดตั้งอยู่บนตัวหูฟังด้านนอกจำนวน 6 ตัว เพื่อตรวจจับเสียงบริเวณรอบๆ ตัวผู้ใช้งาน และใช้ไมโครโฟนที่อยู่ในช่อง ear cup อีก 2 ตัว ร่วมกันตรวจจับลักษณะเสียงแล้วป้อนให้กับระบบ ANC สร้างสัญญาณเฟสตรงข้ามออกมาหักล้างกับเสียงรบกวนจากภายนอกที่เล็ดลอดเข้าไปใน ear cup ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกฟังท์ชั่นการทำงานของระบบ Active Noise Cancellation ได้ด้วยการกดปุ่มอีกปุ่มที่อยู่ข้างๆ ปุ่ม Digital Crown ซึ่งปุ่มนี้ถูกปรับตั้งมาจากโรงงานให้ใช้สลับเลือกระหว่าง Noise Cancellation mode กับ Transparency mode ถ้าต้องการเปลี่ยนอ๊อปชั่นการสลับของปุ่มนี้ก็สามารถเข้าไปตั้งเปลี่ยนได้ อย่างเช่น ให้สลับระหว่าง Off กับ Transparency mode ก็ได้

ระบบ Active Noise Cancellation ของ AirPods Max

หูฟังของ Apple ตัวนี้มีระบบ ตัดเสียงรบกวน” (Noise Cancellation) มาให้เลือกปรับใช้ 3 โหมด คือ Noise Cancellation mode, Transparency mode และ Off คือปิดใช้งาน ซึ่งคุณสามารถกดเลือกใช้ทั้งสามโหมดนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการจิ้มเลือกบนจอ iPhone โดยตรง

ลักษณะการปรับเลือกใช้งานฟังท์ชั่น ANC บน iPhone 7

1. Noise Cancellation mode เมื่อกดเลือกใช้โหมดนี้ ไมโครโฟนจำนวน 8 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บนตัวหูฟังจะทำการตรวจจับระดับความดังของเสียงรอบๆ บริเวณที่คุณอยู่ ณ ขณะนั้น จากนั้น ระบบประมวลผลบนชิป Apple H1 จะทำการคำนวนแล้วสร้างสัญญาณเสียงที่มีเฟสตรงข้ามกับสัญญาณเสียงที่เป็น ambient noise ขณะนั้นออกมา cancel สัญญาณ ambient noise เหล่านั้นก่อนที่จะเข้ามาถึงหูของเรา ในขณะเดียวกัน ไมโครโฟนที่อยู่ใน ear cup ก็จะทำการตรวจวัดความดัง (noise) ที่อยู่ใน ear cup ระหว่างไดเวอร์มาถึงหูฟังของเราด้วย และจะสร้างสัญญาณเสียงที่เรียกว่า anti-noise ซึ่งมีเฟสตรงข้ามกับ noise ในส่วนนี้ออกมาหักล้างสัญญาณรบกวนที่ว่านี้ด้วย

2. Transparency mode โหมดนี้จะยินยอมให้เสียงจากภายนอกเล็ดลอดเข้ามาใน ear cup ได้ ทำให้เราได้ยินว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวบ้าง ในขณะที่ยังมีการตัดเสียงรบกวนที่อยู่ใน ear cup อยู่

3. Off ปิดการทำงานของระบบ Noise Cancellation เมื่อเลือกอ๊อปชั่นนี้ ไมโครโฟนทั้งหมดที่ใช้ตรวจจับเสียงรบกวนทั้งภายนอกหูฟังและภายใน ear cup จะหยุดทำงาน

การเลือกใช้โหมด Noise Cancellation จะส่งผลต่อการลดเสียงรบกวนได้มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณของเสียงรบกวนที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ แต่แนะนำให้ทดลองเลือกใช้แล้วฟังผลลัพธ์ที่ได้ ก่อนจะเลือกอ๊อปชั่นใดอ๊อปชั่นหนึ่งในสามอ๊อปชั่นนี้ที่ให้เสียงดีที่สุด

จากการทดลองกดเลือกใช้ฟังท์ชั่น ANC ของหูฟังตัวนี้ ผมพบว่า ในสถานะการณ์ที่สภาพรอบข้างมีเสียงรบกวนไม่เยอะ แค่เบาๆ ถ้ากดเลือกเปิดใช้ฟังท์ชั่นโหมด Noise Cancellation จะทำให้รายละเอียดแถวๆ ปลายเสียงขาดหายไปเล็กน้อย แต่เสียงรายรอบถูกตัดออกไปได้หมดจดมาก แต่เมื่อลองใช้โหมด Transparency พบว่า คอนทราสน์ไดนามิกของเสียงสวิงได้กว้างกว่าโหมด Noise Cancellation ปลายเสียงทอดไปได้ไกลกว่า เวทีเสียงเปิดกว้างออกไปมากกว่า การขยับเคลื่อนของแต่ละเสียงจะฟังดูเป็นธรรมชาติมากกว่า (contrast dynamic สวิงได้กว้างกว่า) แต่พื้นเสียงไม่สะอาดเท่าโหมด Noise Cancellation เพราะมีเสียงจากภายนอกดังเล็ดลอดเข้ามาด้วย ซึ่งหากว่าเสียงจากภายนอกเข้ามาแค่เบาๆ ผมชอบที่จะเปิดใช้โหมด Transparency มากกว่าโหมด Noise Cancellation แต่แนวเพลงที่ฟังก็มีส่วนด้วย คือถ้าเป็นเพลงคลาสสิก ผมก็ชอบเปิดใช้โหมด Noise Cancellation มากกว่านะ เพราะมันทำให้รายละเอียดช่วงแผ่วๆ ของเพลงคลาสสิกไม่จมหายไป ยอมเสียความพลิ้วของเสียงลงไปนิดนึง

สรุปคือฟังท์ชั่น Active Noise Cancellation ของ AirPods Max มีประโยชน์มาก และสามารถใช้งานได้ในชีวิตจริงตามที่ผู้ออกแบบตั้งใจทำออกมา.. ประเด็นนี้ผมให้คะแนน 9 เต็ม 10 นะ เพราะนอกจากประสิทธิภาพของฟังท์ชั่นที่ใช้งานได้จริงแล้ว ผมยังชอบวิธีการควบคุมการทำงานของฟังท์ชั่นนี้ ซึ่งทางแอ๊ปเปิ้ลเลือกใช้วิธีกดปุ่มและปรับเลือกได้จากแอพฯ ที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ได้ใช่วิธีลูบๆ ไล้ๆ ไปบนตัวหูฟังเหมือนอย่างที่หลายๆ แบรนด์นิยมใช้กัน ซึ่งผมพบว่ามันไม่ค่อยแม่นยำและใช้งานค่อนข้างยากในชีวิตจริง

นอกจากฟังท์ชั่น ANC แล้ว หูฟังตัวนี้ยังมีโหมดเสียง “Spatial Audioให้เลือกใช้ด้วย ซึ่งเป็นระบบเสียงเซอร์ราวนด์แบบ Immersive Sound ที่ออกแบบมาสำหรับการฟังเสียงของภาพยนตร์ที่เข้ารหัสมาด้วยฟอร์แม็ต 5.1 หรือ 7.1 แชนเนล แต่ตอนฟังเพลงผมทดลองกดใช้ก็สามารถเลือกใช้กับการฟังเพลงได้ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่ามันทำงานหรือเปล่า.? เพราะผลต่างมันน้อยมาก..

แบตเตอรี่ และการชาร์จไฟ

ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง, ฟังซาวนด์ตอนดูหนัง หรือคุยโทรศัพท์ คุณสามารถใช้งานฟังท์ชั่นเหล่านั้นกับหูฟัง AirPods Max ได้ถึง 20 ชั่วโมง โดยประมาณต่อการชาร์จไฟจนเต็มหนึ่งครั้ง ซึ่งถือว่ามากพอสำหรับไล้ฟ์สไตล์ของผมในแต่ละวัน และเนื่องจากหูฟังตัวนี้ใช้วิธีชาร์จไฟผ่านสาย USB-C > USB-A จึงทำให้การชาร์จไฟสามารถทำได้สะดวก สามารถชาร์จกับอะแด๊ปเตอร์รุ่นเก่าๆ ที่ใช้กับอุปกรณ์ iOS ก็ได้ หรือจะชาร์จกับคอมพิวเตอร์ก็ได้

ช่องเสียบสายชาร์จไฟจะอยู่ที่ด้านล่างของหูฟังข้างขวา และมีไฟ LED ดวงเล็กๆ คอยแจ้งสถานะการชาร์จด้วย ซึ่งไฟดวงนี้มีหน้าที่หลายอย่าง เมื่อเสียบสายชาร์จไฟ ไฟดวงนี้จะสว่างเป็นสีส้มชั่วครู่แล้วดับลง ซึ่งคุณสามารถเช็คปริมาณไฟบนตัวหูฟังได้ว่ามีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์จากการสไลด์หน้าจอของอุปกรณ์ iOS ที่ลิ้งค์อยู่กับหูฟังขึ้นมาดู

จากภาพด้านบน ผมทำการเช็คจาก iPhone 7 ของผม ซึ่งจะแจ้งสถานะแบตเตอรี่ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์

การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ และการปรับตั้ง

AirPods Max เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไร้สายด้วย Bluetooth เวอร์ชั่น 5.0 ซึ่งคุณสามารถเชื่อมต่อหูฟังตัวนี้เข้ากับอุปกรณ์ที่ต้องการจับคู่กันด้วยการเข้าไปติดตั้งทางหน้าเมนู settings ของเครื่องด้วยวิธีแมนน่วลก็ได้ หรือถ้าใช้อุปกรณ์ iOS อย่างเช่น iPhone หรือ iPad ที่อัพเดตเฟิร์มแวร์เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว คุณยังสามารถจับคู่ด้วยเทคโนโลยี NFC ได้อีกด้วย แค่เปิด Wi-Fi และ Bluetooth ที่ตัวอุปกรณ์ iOS ของคุณ จากนั้นก็ดึง AirPods Max ออกมาจากซอง และเอาไปวางใกล้ๆ อุปกรณ์ iOS ของคุณ (ห่างกันประมาณ 2 นิ้ว) ตัวหูฟังจะทำการเชื่อมต่อเองอัตโนมัติ สะดวกมาก!

แต่ถ้าต้องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ iOS อย่างเช่นเครื่องเล่นไฟล์เพลง ก็ต้องใช้วิธีแบบดั้งเดิม คือกดปุ่ม noise control บนตัว AirPods Max ค้างไว้แล้วดูที่ไฟ LED ดวงที่อยู่ข้างๆ ขั้วต่อชาร์จไฟ รอจนไฟดวงนั้นเป็นสีขาวกระพริบช้าๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า AirPods Max กำลังปล่อยสัญญาณ Bluetooth ออกมา จากนั้นก็ไปเปิดฟังท์ชั่น Bluetooth ของอุปกรณ์แล้วเลือกเชื่อมต่อมาที่ “AirPods Max

ขณะเชื่อมต่อหูฟัง AirPods Max อยู่กับ iPhone 7 ของผม ซึ่งในขณะนั้นผมทำงานบน MacBook Pro ไปด้วย ผมพบว่า พอผมถอดหูฟังออกจากศีรษะ ตัวหูฟังมันเชื่อมต่อกับ MacBook Pro ให้เองโดยอัตโนมัติ แต่ที่มุมขวาด้านบนของ MacBook Pro ก็ขึ้นกรอบคำสั่งมาให้เราสามารถคลิ๊กเพื่อย้ายการเชื่อมต่อไปที่ iPhone 7 ได้ เป็นฟังท์ชั่นที่ cool มากสำหรับคนที่ใช้อุปกรณ์ของ Apple อยู่หลายชิ้น

ทดลองฟังเสียงของ AirPods Max

นี่คือช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมากที่สุดของการทดสอบหูฟัง AirPods Max ตัวนี้ เพราะคุณสมบัติหลักๆ ของหูฟังมันถูกออกแบบมาเพื่อใช้ฟังเสียง ส่วนฟังท์ชั่นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเสียงก็ถือเป็นคุณสมบัติรองลงไป โดยเฉพาะตัวผมที่เป็นคนชอบฟังเพลงมาก ผมจะให้ความสำคัญกับ คุณภาพเสียงมาเป็นอันดับแรก ดีไซน์มาเป็นอันดับสอง และฟังท์ชั่นที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ตามมาเป็นอันดับสาม

AirPods Max ตอบรับกับฟอร์แม็ต AAC ซึ่งเป็นฟอร์แม็ตเสียงที่แอ๊ปเปิ้ลคิดค้นขึ้นมาเอง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วสัญญาณเสียงที่ส่งมาจากอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกประมวลผลและปรับแต่งด้วย EQ บนตัวชิป H1 อยู่ดี ซึ่งประเด็นที่ผมให้ความสำคัญในการทดสอบนอกจากคุณภาพและลักษณะเสียงแล้ว ผมจะดูที่ความเสถียรในการเชื่อมต่อระหว่างหูฟังกับอุปกรณ์อื่นด้วย ซึ่งจากการทดลองใช้งานมานานร่วมเดือน ผมไม่เคยพบอาการ ซิ้งค์หลุดสักครั้งเดียว.!! ถ้าเทียบกับหูฟังไร้สายที่ผมเคยทดสอบมาทั้งหมด ผมยกให้ AirPods Max ติดอันดับหนึ่งสำหรับความเสถียรในการเชื่อมต่อ ซึ่งนอกจากซิ้งค์จะไม่เคยหลุดแล้ว คุณภาพเสียงที่ได้ก็ยังมีความคงเส้นคงวามากด้วย

ในการทดสอบฟังเสียงของ AirPods Max ผมใช้วิธีเล่นไฟล์ WAV และ DSF ที่ผมเก็บไว้ในแอพ Onkyo HF Player บน iPhone 7 เปรียบเทียบกับไฟล์ที่ผมสตรีมสดๆ จาก TIDAL

เมื่อฟังจากไฟล์ที่ผมเก็บบนแอพ Onkyo HF Player ผมพบว่า AirPods Max ให้มวลเสียงออกมาเข้มข้นและหนาแน่น ส่วนลักษณะโทนัลบาลานซ์จะค่อนไปทางเบสมากกว่ากลางแหลมนิดหน่อย เป็นแนวเสียงที่จูนมาถูกหูคนฟังเพลงทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะชอบเสียงที่ติดนุ่มหู มีดุลของเสียงทุ้มมากกว่ากลางแหลมนิดๆ แบบนี้แหละ สำหรับหูของคนเล่นเครื่องเสียงที่มีประสบการณ์จะรู้สึกได้ทันทีว่าเสียงทุ้มของหูฟังตัวนี้ถูก boost ขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่มีหูฟังตัวใดในโลกที่ให้เสียงราบเรียบได้ ทว่าปริมาณของเสียงทุ้มที่บูสต์ขึ้นมานั้นมันไม่ได้มากจนเกินไป และเนื่องจากเสียงทุ้มของ AirPods Max ตัวนี้เป็นเสียงทุ้มที่มีลักษณะของการแจกแจงรายละเอียด คือมีการแยกแยะรายละเอียดของตัวโน๊ตตั้งแต่ย่านกลางต่ำลงไปทุ้มลึกๆ ออกมาได้ชัดเจน นั่นทำให้การบูสต์ความถี่ที่เกิดขึ้นในย่านทุ้มต้นๆ ไม่ได้ทำให้รายละเอียดของหัวโน๊ตในย่านนั้นมีอาการบวมจนเบลอ กลับเป็นข้อดี คือทำให้ผมรับรู้ได้ว่าเสียงโน๊ตในย่านนั้นเป็นเสียงของเครื่องดนตรีประเภทไหน ที่ติหน่อยคือมันบวมไปหน่อย เพราะว่ามันถูก bold ขึ้นมามากกว่าความถี่อื่นเท่านั้นเอง

อัลบั้ม : The Wall (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Pink Floyd
สังกัด : Columbia Records

เมื่อฟังจากอัลบั้มนี้ผมได้ยินเสียงกีต้าร์เบสของโรเจอร์ วอเตอร์เต็มสองรูหู เสียงคอปเตอร์ในแทรค Another Brick In The Wall (Part. I) แน่นมาก.! เสียงเบสกับเสียงกระแทกกระเดื่องกลองในแทรคถัดมาคือ The Happinest Of Our Lives ติดอวบ มีเนื้อหนา ในขณะที่เสียงกรีดคอร์ดกีต้าร์ขาดความกังวานใสไปนิด พอถึงแทรคฮิต Another Brick In The Wall (Part. II) เสียงเบสกับกระเดื่องกระแทกนำมาบึกๆ ฟังแล้วมันส์ในอารมณ์มาก เสียงร้องประสานของเด็กๆ ฟังดูหนาแน่นกว่าปกติ ไม่ใช่ไม่ดี แต่มันเป็นลักษณะเสียงที่อยากได้ยิน ถ้าลดปริมาณของเสียงทุ้มต้นๆ ลงไปได้สักนิดจะเยี่ยมยอดมาก

เสียงกีต้าร์ช่วงต้นของแทรค Mother ทำให้สรุปได้ว่า เสียแหลมของ AirPods Max มีลักษณะที่เก็บซ่อนปลายเสียงให้มีลักษณะ roll-off เก็บตัวแบบสุภาพๆ ส่งให้บุคลิกของเสียงไม่สดกระจ่างมาก แหลมไม่จี๊ดจ๊าด แต่ก็มีข้อดีคือทำให้ฟังได้นาน ไม่ล้าหูง่ายๆ วัยรุ่นฟังเสียงแบบนี้แล้วอาจจะรู้สึกขัดใจ อยากได้แหลมที่ซี้ดซ้าดกว่านี้ แต่คนที่ฟังเพลงมานานจะชอบเสียงสไตล์นี้

 

อัลบั้ม : My Life Story (DSF64)
ศิลปิน : Susan Wong
ค่าย : Evosound

โดยปกติโทนเสียงของอัลบั้มนี้จะออกไปทางเปิดเผย สด และกระจ่าง แต่ AirPods Max ทำให้โทนเสียงของอัลบั้มนี้เปลี่ยนไปทางนุ่ม เก็บตัว ผ่อนปรน เหมือนซูซาน หว่องเธอจะลดอาการรุกเร้าลงไปเยอะ ค่อยๆ เล่าเรื่องให้ฟังช้าๆ สุขุม และสุภาพ อาการเสียงแหลมจ้าๆ ที่ผมมักจะได้ยินจากอัลบั้มนี้แทบจะไม่เล็ดลอดจากหูฟังทั้งสองข้างของ AirPods Max ออกมาให้ได้ยิน ทุกเสียงมีเนื้อ มีมวลที่อิ่มแน่น ประเด็นที่น่าประทับใจสำหรับเสียงของ AirPods Max คือ ไทมิ่งของเพลงที่ถ่ายทอดท่วงจังหวะของแต่ละเพลงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ตรงตามเท็มโป้ของแต่ละเพลง ที่ช้าก็ออกมาช้า ที่เร็วก็ออกมาเร็ว แต่ไม่เร็วจนเกินไป ทำให้ผมสามารถติดตามฟังลีลาการบรรเลงของนักดนตรีแต่ละคนในเพลงที่ฟังได้ชัดเจน ไม่ถูกไทมิ่งที่ผิดเพี้ยนทำให้โฟกัสเบลอไป

อัลบั้ม : Zebop! (TIDAL – 16/44.1)
ศิลปิน : Santana
ค่าย : Columbia Records

เมื่อลองใช้วิธีสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL มาฟังผ่าน AirPods Max ผมพบว่า นี่แหละคือสวรรค์สำหรับคนชอบฟังเพลงโดยแท้.! มีแค่สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง บวกกับหูฟังตัวนี้และแอคเคาน์ TIDAL ระดับ Hi-Fi เท่านั้น ผมก็รู้สึกได้ถึง อิสระในการฟังเพลงที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง นอกจากไลบรารี่จำนวนมหาศาลที่เลือกฟังยังไงก็ไม่หมดแล้ว ผมพบว่า ลักษณะเสียงที่ฟังจากการสตรีมผ่าน TIDAL กลับมีความสดใสและกระจ่างกว่าฟังจากไฟล์เพลงในเครื่องที่เล่นด้วยแอพ Onkyo HF Player ซะอีก.! แม้ว่าในแง่มวลเสียงที่ได้จากการสตรีมจะออกมาบางเบากว่า แต่ในแง่สปีดที่เร็วกว่า และได้ปริมาณของเสียงแหลมที่มากกว่า ทำให้ได้ภาพรวมของความสดกระชับของเสียงที่ดีกว่า ฟังได้อารมณ์อยากขยับแข้งขยับขามากกว่า

อัลบั้ม : Beethoven – Symphonies No. 5 & 7 (TIDAL – 16/44.1)
ศิลปิน : Wiener Philharmoniker, Carlos Kleiber; conductor
สังกัด : Deutsche Grammophon

ด้วยดุลเสียงที่ค่อนข้างเด่นไปทางกลางต่ำต่อเนื่องกับทุ้มตอนต้นของหูฟังตัวนี้ ทำให้ฟังเพลงแนวคลาสสิกและได้ความรู้สึกที่อบอุ่น อิ่มเอิบ ฟังสบาย รู้สึกได้ถึงโน๊ตต่ำๆ ที่คลออยู่ด้านหลังของวงได้อย่างชัดเจน เป็นข้อดีของหูฟังประเภท over-ear แบบนี้ คือคุณจะรับรู้ได้ถึงมวลแอมเบี้ยนต์ที่ห้อมล้อมอยู่รอบๆ วงซิมโฟนี่ที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับการฟังการบรรเลงสดในฮอลล์มากกว่าหูฟังประเภทอื่น รู้สึกว่าวงที่กำลังบรรเลงมันถอยห่างจากตัวเราออกไป และเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ รับรู้ได้ถึงความอลังการตอนที่เครื่องดนตรีจำนวนนับร้อยชิ้นโหมประโคมออกมาพร้อมกัน ซึ่งคนที่เป็นนักฟังเพลงคลาสสิกรู้ดีว่าต้องหูฟังฟูลไซร้แบบ over-ear เท่านั้นสำหรับเพลงแนวนี้.!!

สรุป

ผมยอมรับว่ารู้สึกเอนจอยไปกับการทดลองฟังเสียงของหูฟัง AirPods Max ตัวนี้มากเป็นพิเศษ มันไม่ใช่หูฟังที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุดที่ผมเคยทดสอบมา เสียงของ AirPods Max เป็นเสียงที่ผ่านการปรับจูนมากอย่างชัดเจน ทว่า เมื่อลองฟังจากเพลงหลากหลายแนว ผมพบว่า มันเป็นลักษณะเสียงที่มีผลทำให้เพลงเหล่านั้นมีความน่าฟัง มันช่วยเกลี่ยคุณภาพเสียงของเพลงในแต่ละยุคสมัย แต่ละพื้นที่ ให้ออกมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แม้กับเพลงเก่าๆ ที่บันทึกมาในยุคที่คุณภาพการบันทึกเสียงยังไม่ดีมาก แต่หูฟังตัวนี้ก็ ขัดเกลามันออกมาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ฟังได้อรรถรสพอสมควร

เมื่อเอา รูปลักษณ์ + ฟังท์ชั่น + ลักษณะเสียงและคุณภาพเสียง มาหาค่าเฉลี่ย ผมพบว่า AirPods Max ทำคะแนนได้สูงพอสมควร มันให้เสียงที่ดีมากสำหรับนักฟังเพลงทั่วไป แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้นักเลงหูฟังต้องก้มหัวให้ แต่สำหรับ FC ของแอ๊ปเปิ้ลก็ต้องยอมรับว่ามีความพอใจกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้พอสมควรทีเดียว.! /

********************
ราคา : 19,900 บาท / ตัว (มีให้เลือก 5 สี)
********************
สนใจหาซื้อได้ที่ร้าน Apple Store และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ
หรือ สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ Apple Shop

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า