รีวิวเครื่องเสียง Furutech รุ่น DAS-4.1 สายสัญญาณบาลานซ์ XLR แบบตัดจากขด

เมื่อไรที่เราควรจะนึกถึงการเปลี่ยนสายสัญญาณ.? ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เครื่องเสียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งเข้าไปในซิสเต็ม สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบทั้งส่วนของ คุณภาพเสียงและส่วนของ บุคลิกเสียงไปพร้อมกัน ดังนั้น ก่อนจะเอาอุปกรณ์ชิ้นใดเข้าไปเปลี่ยนกับชิ้นเดิมในซิสเต็ม คุณต้อง วิเคราะห์ออกมาให้ได้ก่อนว่า คุณต้องการอะไรจากการเปลี่ยนแปลงนั้น อย่างเช่น อยากได้เบสเพิ่มขึ้น หรืออยากได้แหลมเพิ่มขึ้น อยากได้เสียงโดยรวมที่โปร่งเบา หรืออยากได้น้ำหนักเสียงกับการย้ำเน้นเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ เมื่อวิเคราะห์ความต้องการได้แล้ว จึงค่อยพิจารณาว่าน่าจะปรับเปลี่ยนตรงจุดไหน.? ที่น่าจะให้ผลออกมาใกล้เคียงกับความต้องการของเรามากที่สุด

สายสัญญาณเป็นอุปกรณ์พาสซีฟที่ส่งผลกับเสียงของซิสเต็ม น้อยกว่าอุปกรณ์ประเภทแอ๊คทีฟ อย่างพวกเครื่องเล่นแผ่นและแอมปลิฟายที่ต้องใช้ไฟเลี้ยง เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่า เสียงของซิสเต็มของคุณมีพลังดีดตัวมากพอแล้ว ไดนามิกสวิงได้กว้างพอแล้ว เวทีเสียงกระจายตัวออกไปกว้างขวางมากพอแล้ว แสดงว่าซิสเต็มของคุณอยู่ในสถานะที่อุปกรณ์หลักๆ แต่ละส่วนในซิสเต็ม (แหล่งต้นทาง + แอมปลิฟาย + ลำโพง) ทำงานแม็ทชิ่งกันอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว ณ จุดนี้ ถ้าคุณมีความรู้สึกว่ายังไม่ถูกใจกับ โทนเสียงบางโทนของซิสเต็ม ถ้าคิดจะไฟน์จูนโทนเสียงของซิสเต็มให้ออกมาถูกใจมากขึ้น (เป็นการจูนบุคลิกเสียง) กรณีนี้แนะนำให้ลองเปลี่ยนอุปกรณ์ประเภทพาสซีฟ อย่างเช่น สายสัญญาณ, สายลำโพง หรือสายไฟเอซี (ยกเว้นลำโพง) จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเปลี่ยนอุปกรณ์ประเภทแอ๊คทีฟอย่างแอมป์, เครื่องเล่นฯ หรือเปลี่ยนลำโพง

Furutech รุ่น DAS-4.1
สายสัญญาณอะนาลอกบาลานซ์ สัญชาติญี่ปุ่น

สายสัญญาณของแบรนด์ Furutech มีอยู่ 2 แบบ ด้วยกัน แบบแรกคือแบบต่อสำเร็จมาจากโรงงาน กับแบบตัดจากม้วนแล้วมาเข้าหัวเอง (DIY) ซึ่งรุ่นใหญ่สุดของแบบต่อสำเร็จมาจากโรงงานมีราคาสูงมาก ทางตัวแทนให้ข้อมูลมาว่า ถ้านำเข้ามาขายในไทยจะมีราคาสูงถึงคู่ละสองแสนกว่าบาท.! ในขณะที่รุ่นสูงสุดที่เป็นแบบตัดแบ่งจากม้วนมาเข้าหัวเองจะมีราคาถูกกว่ามาก ซึ่งทางผู้ผลิตคือ Furutech ก็พยายามทำตลาดในแนวทางที่เน้นให้นักเล่นฯ ซื้อแบบตัดจากม้านนำไปเข้าหัวเอง หรือที่เรียกว่าสาย DIY เพราะมองว่าเป็นวิธีที่ทำให้ดูว่าราคาสายสัญญาณของพวกเขาไม่สูงโด่งเกินไป

เหตุผลที่ Furutech จำเป็นต้องใช้กลยุทธการขายแบบ DIY ก็ด้วยเหตุว่า ต้นทุนในการผลิตสายสัญญาณและสายลำโพงของพวกเขาอยู่ในระดับที่สูงมาก สูงกว่าคู่แข่งหลายๆ รายในตลาด เนื่องจากพวกเขาเลือกใช้วัตถุดิบหลักตัวสำคัญคือเส้นตัวนำทองแดงที่มีคุณภาพสูงมาก อย่างเช่น ทองแดงมาตรฐาน DUCC หรือ “Ultra Crystallized High Purity Copperที่มีประสิทธิภาพในการนำสัญญาณสูงกว่า OCC ไปไกล ซึ่งโดยปกติแล้ว มาตรฐานทั่วไปส่วนใหญ่ในวงการผลิตสายเชื่อมสัญญาณที่ใช้กันแพร่หลายในขณะนี้ก็มี OFC (Oxygen Free Copper) ซึ่งในวงการถือว่ามีประสิทธิภาพในการนำสัญญาณที่ดีในระดับปานกลาง มีใช้กันอยู่ในสายสัญญาณระดับปานกลางทั่วไปที่มีราคาไม่สูงมาก ส่วนตัวนำทองแดงที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกขั้นก็คือ OCC (Ohno Continue Casting) อันนี้มีประสิทธิภาพในการนำสัญญาณสูงกว่า OFC มาก มีใช้กันอยู่ในสายสัญญาณระดับไฮเอ็นด์ส่วนใหญ่ แต่ที่ Furutech พวกเขาได้คิดค้นเทคโนโลยีในการผลิตเส้นตัวนำทองแดง OCC ให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าปกติขึ้นไปอีกขั้น เรียกว่าเทคโนโลยี Alpha-OCC ซึ่งตัวนำทองแดงประเภทนี้ถูกใช้อยู่ในสายสัญญาณและสายลำโพงหลายๆ รุ่นของ Furutech ในปัจจุบัน

ตัวนำทองแดง Alpha-OCC + Alpha-DUCC
สองแรงแข็งขัน..!!!

เส้นตัวนำที่อยู่ด้านในของสายสัญญาณรุ่น DAS-4.1 เป็นเส้นตัวนำที่แยกเป็น 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยเส้นทองแดงซ้อนกันอยู่ถึง 3 ชั้น โดยที่ชั้นในสุดเป็นเส้นทองแดง Alpha-OCC ขนาด 15AWG จำนวน 59 เส้น ที่ซ้อนทับกันในลักษณะที่บิดตัวเรียงกันไปทางด้านขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เหนือขึ้นมาเป็นทองแดงเกรด Alpha-DUCC ขนาดเส้นเท่ากันจำนวน 29 เส้น ที่เรียงตัวบิดไปทางซ้าย (ทวนเข็มนาฬิกา) ทับอยู่เหนือเส้นทองแดง Alpha-OCC ขึ้นมาอีกชั้น และเหนือขึ้นมาเป็นชั้นที่สามจะเป็นกลุ่มของเส้นทองแดง Alpha-DUCC จำนวน 36 เส้น ที่เรียงตัวบิดไปทางขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เป็นเทคนิคการจัดเรียงเส้นตัวนำให้มีความต้านทานต่ำที่สุด เพื่อให้นำสัญญาณทุกความถี่จากต้นทางให้เดินทางไปถึงปลายทางพร้อมกันโดยมีการตกหล่นของเกนสัญญาณน้อยที่สุด

เส้นตัวนำสำหรับ สัญญาณ + (สีแดง) และ สัญญาณ – (สีขาว) ถูกห่อหุ้มด้วยฉนวนโพลีโพรไพลีนระดับออดิโอเกรดที่มีความหนาประมาณ 0.44 .. โดยมีวัสดุที่ช่วยลดปัญหาเรโซแนนซ์ภายในตัวสาย และวัสดุประเภทชีลด์ป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอกจำนวนหลายชนิดที่ซ้อนทับกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ เริ่มจากเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์สีขาวๆ ที่อัดอยู่รอบๆ เส้นตัวนำทองแดงทั้งสองเส้น โดยมีผ้าสีขาวหุ้มทับอยู่บนเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ทั้งหมดเอาไว้จากนั้นก็มีแผ่นฟอยล์ทองแดงบางๆ พันรอบทับไว้เพื่อป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอก ก่อนจะสวมทับด้วยปลอก PVC ระดับออดิโอเกรดที่ผสมด้วยผงเซรามิกกับผงคาร์บอนเพื่อรักษาโครงสร้างภายในเอาไว้ไม่ให้หลุดลุ่ยขณะบิดตัวตอนใช้งาน ก่อนจะถึงเปลือกนอกสุดที่เป็นเส้นใยโพลี่สานสีดำสลับฟ้า จะมีปลอก PVC สีม่วงเข้มซ้อนทับอยู่เพื่อช่วยเพิ่มความแน่นหนาในการรักษาโครงสร้างของสายไว้อีกชั้น

ทางตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทยคือบริษัท Clef Audio ตั้งราคาขายเฉพาะสายสัญญาณรุ่นนี้ไว้ที่ 19,200 บาท / เมตร ถ้าซื้อมาทำสายสัญญาณบาลานซ์ที่มีความยาวข้างละ 1 เมตรก็ตกค่าสายอยู่ที่ 19,200 x 2 = 38,400 บาท

ขั้วต่อ XLR ตัวผู้รุ่น CF-601M NCF (R) และตัวเมียรุ่น CF-602F NFC (R)

เนื่องจากโครงสร้างของสายใช้แกนตัวนำแยกเป็น 2 เส้น จึงสามารถใช้ทำสายสัญญาณได้ทั้งแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ (ผ่านขั้วต่อ RCA) และแบบบาลานซ์ (ผ่านขั้วต่อ XLR) ทางตัวแทนมีชุดขั้วต่อตัวผู้และตัวเมียสำหรับสายสัญญาณรุ่นนี้มาให้บริการด้วย เส้นตัวอย่างที่ผมได้รับมาทดลองฟังเสียงเป็นสายสัญญาณบาลานซ์ที่ติดขั้วต่อ XLR รุ่นที่ทางผู้ผลิตคือ Furutech ประเทศญี่ปุ่นแนะนำให้ใช้คู่กับสายสัญญาณรุ่นนี้ นั่นคือ CF-601M NCF (R) และ CF-602F NCF (R) เวอร์ชั่นชุบโรเดี้ยม

หน้าตาของตัวขั้วต่อดูดีมาก ตัวบอดี้ดูเท่ด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ที่ทั้งดีต่อตาและดีต่อเสียง ส่วนประกอบที่เหลือซึ่งเป็นโลหะชุบด้วยโรเดี้ยมเงาวับ ตัวบอดี้มีความยาวและแข็งแรงมาก ทางตัวแทนตั้งราคาขายสำหรับขั้วต่อตัวผู้ CF-601M NCF (R) ไว้ที่คู่ละ 16,600 บาท ส่วนตัวเมีย CF-602F NCF (R) อยู่ที่ราคา 19,000 บาท / คู่ ถ้าทำสายสัญญาณ 1 คู่ก็ต้องใช้ขั้วต่อตัวผู้กับตัวเมียอย่างละคู่ รวมเบ็ดเสร็จแล้ว สายสัญญาณ 1 ชุดที่มีความยาวเท่ากับ 1 เมตร จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 38,400 +16,600 +19,000 = 74,000 บาท กรณีที่คุณต้องการความยาวของสายที่มากกว่าหนึ่งเมตร ก็บอกเฉพาะค่าสายส่วนที่ยาวเกินหนึ่งเมตรเข้าไป อย่างเช่น ต้องการทำสายสัญญาณที่ยาวข้างละ 1.5 เมตร ก็เพิ่มค่าสายเข้าไปอีก 1 เมตร = 19,200 บาท รวมหัวทั้งสองข้างก็เป็นต้นทุนทั้งหมด 74,000 + 19,200 = 93,200 บาท ประมาณนี้

ใครที่พอมีฝีมือคงจะไม่ยากสำหรับการซื้อสายและขั้วต่อมาประกอบร่างเอง แต่จริงๆ แล้ว ถึงจะไม่ค่อยมีความสันทัดทางด้าน DIY มาก่อนเลย ก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับการทดลองทำเอง เพราะทางผู้ผลิตเขาได้ทำคลิปวิดีโอที่สอนการทำสายสัญญาณรุ่นนี้มาให้ดูด้วย (กดลิ้งค์บนรูปด้านบน) ไม่ยาก… แต่ถ้าไม่อยากทำเอง ลองสอบถามทางบริษัท Clef Audio หรือตัวแทนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Furutech ดูเขาอาจจะมีบริการทำให้

เซ็ตอัพเตรียมฟังเสียง

ต้องไม่ลืมว่า เสียงที่เราได้ยินจากการใช้สายสัญญาณบาลานซ์ XLR เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เครื่องเสียงสองชิ้นเข้าหากัน มัน ไม่ใช่เสียงของสายสัญญาณคู่นั้นทั้งหมด ซึ่งเสียงที่คุณได้ยินนั้นอาจจะมีส่วนของสายสัญญาณ XLR เข้าไปมีเอี่ยวอยู่แค่ 20-30% เท่านั้น ส่วนที่ส่งผลหลักๆ 70-80% อยู่ที่คุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งสองชิ้นต่างหาก

คำว่า คุณภาพในย่อหน้าข้างต้น ผมตั้งใจจะหมายถึงการออกแบบวงจรบาลานซ์ที่อยู่ในตัวอุปกรณ์เครื่องเสียงนั่นแหละ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว วงจรขยายแบบบาลานซ์ที่ดี จะต้องเป็นวงจรบาลานซ์ที่ออกแบบมาตามอุดมคติเป๊ะๆ ซึ่งเรียกกันว่า บาลานซ์แท้คือถ้าเปิดฝาเครื่องออกมาดู จะต้องเห็นวงจรขยาย 2 ชุดที่มีลักษณะ เหมือนกัน 100%ทุกจุด ซึ่งในทางโปรดักชั่นแล้วทำได้ยาก รุ่นที่ออกแบบเป็นบาลานซ์แท้จริงๆ จึงมีราคาสูงมากๆ ในท้องตลาดเท่าที่เห็นมักจะเป็นวงจรบาลานซ์เทียมซะส่วนใหญ่

ในการฟังเปรียบเทียบ ลักษณะและ คุณภาพเสียงของสายสัญญาณอาจจะไม่มีปัญหากับเครื่องที่เป็นบาลานซ์แท้หรือบาลานซ์เทียม เพราะเราฟังเทียบระหว่างสายสัญญาณสองเส้นโดยใช้เครื่องเสียง ชุดเดียวกันถึงจะเป็นบาลานซ์เทียมก็เทียมเสมอกัน ไม่มีสายสัญญาณเส้นใดได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน ยังสามารถฟังคามแตกต่างของบุคลิกเสียงได้

ผมเอาสายบาลานซ์ XLR ของ Furutech ตัวนี้ไปทดลองฟังในซิสเต็มที่ผมเซ็ตอัพไว้ 2 ชุด ชุดแรกเอา DAS-4.1 ไปเชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตของเครื่องเล่น CD/SACD รุ่น CD27 ของ Arcam กับอินพุตของปรีแอมป์ Denafrips รุ่น Athena แล้วใช้สายบาลานซ์ XLR รุ่น Gold MK II ของ Life Audio ต่อสัญญาณเอ๊าต์พุตจากปรีแอมป์ Athena ไปเข้าที่อินพุต XLR ของเพาเวอร์แอมป์ Usher รุ่น Reference 1.5 ขับลำโพง Audio Physic รุ่น Classic 8 (REVIEW) โดยใช้สายลำโพงของ Purist Audio Design รุ่น Aqueous Aureus เชื่อมต่อระหว่างเพาเวอร์แอมป์กับลำโพง

ชุดที่สองผมใช้เครื่องเล่น CD/SACD รุ่น CD27 ของ Arcam จับคู่กับออลอินวันของ Boulder รุ่น 866 (REVIEW) ขับลำโพง Totem Acoustic รุ่น Element ‘FIRE’ v2 โดยใช้สายลำโพง Nordost รุ่น Tyr 2 (single) ร่วมกับจั๊มเปอร์ของ Nordost เชื่อมต่อระหว่าง 866 กับ Element ‘Fire’ v2 และใช้สายสัญญาณบาลานซ์ DAS-4.1 คู่นี้เชื่อมต่อสัญญาณระหว่าง CD27 กับ 866

โฟกัสคม เข้มข้น บอดี้หนา..

จะว่าไปแล้ว สายสัญญาณมันจะมีพฤติกรรมเหมือน พาสซีฟ ฟิลเตอร์เมื่อเข้าไปอยู่ในซิสเต็มเครื่องเสียง มันจะเข้าไปส่งผลทำให้ลักษณะความถี่ตอบสนองของซิสเต็มเกิดความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสายสัญญาณ ทุกรุ่นทุกยี่ห้อมันจะมีลักษณะของ ความถี่ตอบสนองที่เป็นบุคลิกเฉพาะตัวอยู่ อย่างเช่น บางรุ่นจะปล่อยกลางแหลมออกมาเยอะแล้วไปกดด้านทุ้มลง ในขณะที่สายสัญญาณบางรุ่นกลับมีพฤติกรรมในการตอบสนองความถี่ที่ตรงข้ามกัน คือปล่อยความถี่ย่านต่ำออกมาเยอะแล้วกดความถี่ด้านสูงเอาไว้ ดังนั้น หลักการเลือกใช้สายสัญญาณก็คือ ต้องรู้ก่อนว่าซิสเต็มของคุณมีพฤติกรรมในการตอบสนองความถี่เสียงที่ เบี่ยงเบนไปทางด้านใดมากเกินไป อย่างเช่น มีปริมาณกลางแหลมมากกว่าทุ้ม หรือตรงกันข้าม เมื่อรู้บุคลิกเสียงของซิสเต็มแล้ว วิธีปรับจูนเสียงของซิสเต็มให้เข้ามาอยู่ในมาตรฐานที่เป็นกลาง ตอบสนองความถี่ได้ราบเรียบทั้งสเปคตรัม ก็คือหาสายสัญญาณที่มีบุคลิกของการตอบสนองความถี่ที่อยู่ในด้าน ตรงข้ามกับบุคลิกเสียงของซิสเต็มมาใช้เพื่อชดเชยกัน

แสดงว่า ไม่มีสายสัญญาณใดที่ให้เสียงเป็นกลาง.?คำตอบคือ ไม่มีไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณที่มีราคาแพงแค่ไหน ก็จะมีบุคลิกในการตอบสนองความถี่ที่เป็นตัวของมันเองเสมอ (ราคาที่สูงขึ้น จะสะท้อนออกมาที่ระดับ คุณภาพเสียงที่สูงขึ้น ไม่เกี่ยวกับ บุคลิกเสียง“)

หลังจากทดลองฟังเพลงมาหลากหลายแนว หลากหลายฟอร์แม็ต โดยใช้เวลาฟังผ่านออลอินวัน Boulder รุ่น 866 มากกว่าชุดปรี+เพาเวอร์ฯ ซึ่งน่าจะทำให้เห็นถึงบุคลิกการตอบสนองความถี่ของสายสัญญาณ Furutech คู่นี้ได้ชัดมากที่สุด เพราะเป็นการเชื่อมต่อระบบที่ไม่ซับซ้อน ตัวแปรไม่เยอะ

อัลบั้ม : Another Time, Another Place (DSF64)
ศิลปิน : Jennifer Warnes
สังกัด : Impex Records (IMP8317)

ตอนที่ทดลองฟังไปเรื่อยๆ จนมาถึงเพลง Tomorrow Night ก็มีบางอย่างสะดุดเข้าในใจของผม ซึ่งโดยปกติวิสัยของเพลงนี้จะโดดเด่นมากที่เสียงร้องของเจนนิเฟอร์ วอร์นที่บันทึกมาได้ดีมากๆ ทุกครั้งที่เลือกเพลงนี้ขึ้นมาทดลองฟังกับซิสเต็มที่เซ็ตอัพลงตัวแล้ว ผมจะได้ยินเสียงร้องที่เปิดเผย ลอยเด่น รายละเอียดดี เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเพลงนี้ที่จะแสดงตัวออกมาให้ได้ยินจนจำได้แม่น แต่มีอยู่คุณสมบัติหนึ่งที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ นั่นคือ เนื้อเสียงหรือมวลของเสียง โดยเฉพาะเพลงนี้ที่เด่นชัดคือมวลของเสียงร้องที่มักจะแตกต่างกันไปตามขนาดของลำโพงที่ใช้ฟัง ถ้าเป็นลำโพงขนาดเล็ก เสียงร้องจะขึ้นโทนสูงและให้มวลเสียงออกมาบางกว่าฟังด้วยลำโพงใหญ่ แต่บอดี้ตัวเสียงจะลอยหลุดตู้ออกมามากกว่า ซึ่งผมชอบเสียงที่ลอยหลุดตู้ออกมาแบบเต็มตัวในขณะเดียวกันก็ชอบให้มวลเนื้อมีความอิ่มเข้มไปพร้อมกันด้วย ซึ่งลำโพงที่มีขนาดตู้ไม่เล็กและไม่ใหญ่อย่าง Totem Acoustic รุ่น Element ‘FIRE’ v2 ที่ใช้ทดสอบสายสัญญาณเส้นนี้มันให้เสียงร้องของ Jennifer Warne ในแทรคนี้ออกมาได้ใกล้เคียงกับที่ผมต้องการ เป็นเสียงร้องที่เปิดตัวออกมาเต็มที่ ลอยหลุดตู้ลำโพงออกมาทั้งตัว เมื่อฟังผ่านสายสัญญาณ Furutech คู่นี้ ผมพบว่า เสียงร้องของเจนนิเฟอร์ในแทรคนี้ ที่ได้ยินวันนี้ มันมีมวลที่เข้มข้นมากกว่าหลายๆ ครั้งที่เคยฟังมา ด้วยมวลที่เข้มหนาทำให้ บอดี้ของเสียงร้องมันมีลักษณะขึ้นรูปเป็นสามมิติมากขึ้น และความเข้มข้นของมวลเสียงนั้นยังได้ช่วยทำให้ได้ยินลักษณะการร้องที่เน้นน้ำหนักแต่ละพยางค์ออกมาได้ชัดขึ้น ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนคนร้องที่มีชีวิตจริงๆ มายืนร้องอยู่ในห้อง..!

สังกัด : What A Difference A Day Makes (DSF64)
ศิลปิน : Ingram Washington
สังกัด : STS Digital

อัลบั้ม : The Greatest Basso Vol.1 (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Zhao Peng
สังกัด : Tuya Records

รู้สึกติดใจกับเสียงร้องที่สายสัญญาณ Furutech คู่นี้ให้ออกมา ผมเลยเลือกอัลบั้มเพลงร้องสองชุดนี้มาลองฟังต่อเนื่องทันที เพื่อทดสอบดูว่ากับเสียงร้องผู้ชายที่อยู่ในย่านเสียงกลางที่ ต่ำกว่าเสียงร้องของผู้หญิง สายสัญญาณคู่นี้จะตอบสนองออกมาแบบไหน.? ปรากฏว่า สายสัญญาณบาลานซ์รุ่น DAS-4.1 ของ Furutech คู่นี้ให้เสียงร้องของนักร้องชายออกมาได้เด่นมาก

อย่างเสียงร้องของจ้าวเผิงที่ลงลูกคอตอนร้องโน๊ตต่ำๆ ก็ออกมาอิ่มหนาดี มวลแน่นหนาเข้มข้น รวมถึงเสียงร้องทุ้มๆ ของ Ingram ก็ออกมาหนาและแน่น แสดงว่า สายสัญญาณเส้นนี้ปล่อยเกนของความถี่ในย่านความถี่ประมาณ 100Hz ขึ้นไปถึงประมาณ 300Hz ออกมาเยอะ มีผลให้เสียงในย่านกลางต่ำมีความหนาแน่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เสียงร้องและเสียงของโน๊ตดนตรีที่อยู่ในย่านเสียงกลางมีเนื้อมวลที่เข้มข้นน่าฟัง..

NO-15

อัลบั้ม : Asian Roots (DSF64)
ศิลปิน : TaKeDaKe with John Neptune
สังกัด : Denon

เสียงเพอร์คัสชั่นในอัลบั้มนี้ก็เด่นมาก สายสัญญาณเส้นนี้ทำให้ทุกเสียงมีบอดี้ที่เข้มข้น มีน้ำหนัก มีการย้ำเน้นที่ดี หัวเสียงอิมแพ็คมีแรงปะทะที่ชัดเจน เข้มข้น เนื้อเสียงก็ไม่บางและไม่ล่องลอยเพราะมีฐานของความถี่ต่ำๆ ออกมาคอยรองรับ ช่วยเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลงแบบนี้ได้ดีขึ้นมาก

อัลบั้ม : Master Of Chinese Percussion (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Yim Hok-Man
สงกัด : LIM (K2HD Mastering)

ส่วนเสียงเบสและเสียงแหลมที่สายสัญญาณบาลานซ์คู่นี้ให้ออกมามันมีลักษณะออกไปทาง กระชับและ เก็บตัวไม่ได้ทอดปลายหางออกไปยาวมากทั้งทางด้านเสียงทุ้มลึกๆ และปลายเสียงแหลม ซึ่งมีผลดีต่อโฟกัสของเสียงที่คมชัด ไม่มี glare หรือม่านหมอกของความถี่สูงออกมาบดบัง เข้าใจว่าเป็นเพราะความบริสุทธิ์ของเนื้อตัวนำทองแดง DUCC แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ปลายเสียงจะขาดความกังวานนะ เมื่อลองฟังแทรคที่สองของอัลบั้ม Master Of Chinese Percussion กับเพลงที่ชื่อว่า Duck’s Quarrel (Xi’an Drum Music) เสียงฉาบที่อยู่ในแทรคนี้มันออกมา จริงมาก.!! เสียงที่ออกมามันสะท้อนภาพของใบฉาบทองเหลืองสองใบที่ถูกกระแทกกระทบด้วยท่วงท่าต่างๆ ชัดมาก..! ได้ยินแล้วรู้สึกถึงการสั่นกระพรือของใบฉาบที่เหมือนจริง หางเสียงที่แผ่ออกไปก็มีอยู่ และไม่ได้มากเกินความจริง ความเข้มข้นของมวลเสียงที่ออกมามันทำให้เสียงที่ได้ยินมันเข้าใกล้ เสียงจริงในธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติเด่นของสายสัญญาณ Furutech คู่นี้

สรุป

ฟังเสียงของสายสัญญาณ Furutech คู่นี้ไปนานๆ มันทำให้ผมนึกถึงคำว่า “Japan’s Qualityขึ้นมาในหัว ซึ่งเป็นมาตรฐานของทุกสิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่กำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นที่มักจะให้คุณภาพออกมาแบบเต็มๆ เข้มข้นและจริงจัง ซึ่งสายสัญญาณของ Furutech คู่นี้ก็ออกไปในแนวทางนั้น ตอนแรกๆ ที่ลองฟังเทียบกับสายสัญญาณบาลานซ์ราคาสองหมื่นต้นๆ ยี่ห้อหนึ่ง ผมรู้สึกเหมือนเสียงแหลมของ DAS-4.1 มันออกมาน้อยกว่า เข้าใจว่าเป็นเพราะยังไม่เบิร์นฯ หลังจากฟังไปเรื่อยๆ จนเกินร้อยชั่วโมงไปแล้ว กลับมาฟังจริงๆ จังๆ อีกที ผมก็พบว่า ปลายเสียงแหลมของสายสัญญาณคู่นี้มันมีลักษณะที่เก็บตัวเร็ว ไม่ทิ้งปลายให้ฟุ้งกระจายคาอยู่ในสนามเสียงนานเกินจริง (ภาษานักเล่นฯ เขาเรียกว่าโทนเสียง dark) พอชินกับเสียงแหลมที่ไม่มีอาการฟุ้งๆ แบบนี้แล้ว กลับไปฟังเสียงของสายสัญญาณที่ปล่อยเสียงแหลมออกมาเยอะๆ จะรู้สึกรำคาญหูทันที.! แสดงว่า ซิสเต็มที่ผมใช้ลองฟัง (Boulder 866 + Totem Acoustic Element ‘FIRE’ v2) ไม่ได้ขาดแหลม พอเอาสายสัญญาณที่ปล่อยเสียงแหลมออกมาเยอะๆ มาใช้ เมื่อฟังนานๆ จึงรู้สึกรำคาญหู ในขณะที่ Furutech DAS-4.1 คู่นี้มันเข้ามาเกลี่ยโทนเสียงของซิสเต็มนี้ให้ออกมาตรงกับรสนิยมของผมมากกว่า

ซิสเต็มของใครที่ฟังแล้วรู้สึกว่าปริมาณเสียงแหลมเยอะไป อยากลดเสียงแหลมลงมาและเพิ่มน้ำหนักกับความเข้มข้นของความถี่ในย่านกลางลงไปทุ้มให้มีความหนาแน่นมากขึ้น แนะนำให้ลองเอาสายสัญญาณของ Furutech รุ่นนี้ไปเสริมดู ซึ่งนอกจากจะได้สมดุลของโทนเสียงที่อยากได้แล้ว คุณจะได้ความหนาแน่นของเสียงในย่านกลางลงไปทุ้ม กับแบ็คกราวนด์ของ พื้นเวทีเสียงที่สะอาดมากขึ้นเป็นของแถมไปพร้อมกันด้วย… /

* ถ้าได้ลองใช้สายสัญญาณรุ่นนี้แล้วชอบโทนเสียงที่ได้ หากอยากจะเพิ่มเติมลักษณะเสียงนั้นให้เด่นชัดมากขึ้น แนะนำให้ใช้งานร่วมกับสายลำโพงของยี่ห้อเดียวกัน/รุ่น DSS-4.1 ซึ่งผมเคยทดสอบไปแล้ว ลองเข้าไปอ่านข้อมูลได้จากลิ้งค์นี้ (รีวิว Furutech DSS-4.1)

********************
ราคา :
สายสัญญาณรุ่น DAS-4.1 = 19,200 บาท / เมตร
ขั้วต่อ CF-601M NCF (R) = 16,600 บาท / คู่
ขั้วต่อ CF-602F NCF (R) = 19,000 บาท / คู่

********************
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Clef Audio
โทร. 02-932-5981-2
facebook/ClefAudio

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า