รีวิวเครื่องเสียง : Pioneer รุ่น SE-C8TW หูฟังอินเอียร์ไร้สายบลูทูธ จากประเทศญี่ปุ่น

ไม่ต้องสงสัยอะไรอีกแล้วครับ.. ทุกวันนี้ โลกของเราหมุนไปตามเทคโนโลยี และเทคโนโลยีเป็นคนกำหนดเทรนด์ เทรนด์เป็นตัวกำหนดไล้ฟ์สไตล์ของมนุษย์ จากนี้และตลอดไป ..

Cable-free design

ไร้สายหรือ cable-free กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันสำหรับระบบเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารและควบคุมสั่งงานระหว่างคนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคและระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคด้วยกันเอง อือมม.. ผมอาจจะผิดที่ใช้คำว่า กำลังจะที่จริงคำนี้มันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1999 โน่นแล้ว ตั้งแต่ตอนที่กลุ่ม Bluetooth Special Interest Group ประกาศสเปคซิฟิเคชั่นของ Bluetooth ออกมาครั้งแรกและเริ่มพัฒนาการทำงานของ Bluetooth ให้สอดคล้องในชีวิตจริงมาตั้งแต่เวอร์ชั่น Bluetooth 1.0 จนมาวันนี้ Bluetooth ได้ถูกพัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่น 5 แล้ว

ดังนั้น ที่ถูกที่ควร ผมต้องใช้คำพูดว่า ไร้สายหรือ cable-freeกำลังก้าวเข้ามาเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันสำหรับระบบการเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารและควบคุมสั่งงานระหว่างคนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค และระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคด้วยกันเอง.. แบบนี้จึงจะถูกต้องมากกว่า

Pioneer รุ่น “C8

กล่องใส่หูฟังที่มีแบตเตอรี่สำรองในตัว


ชื่ออย่างเป็นทางการมันยาวเยิ่นเย้อ ขอเรียกสั้นๆ ว่า “C8ก็แล้วกัน C8 เป็นหูฟังอินเอียร์ไร้สายที่ใช้การสื่อสาร+สั่งงานและส่งผ่านสัญญาณเสียงด้วยเทคโนโลยี Bluetooth เวอร์ชั่น 4.2 มอดูเลตดาต้าไปบนคลื่นความถี่ 2.4 – 2.4835GHz ให้การเชื่อมต่อที่มีความเสถียรสูง ระยะหวังผลไปได้ไกลถึง 10 เมตร (32 ฟุต) คลื่นบลูทูธที่ใช้กับ C8 รองรับโปรไฟล์ A2DP/AVRCP/HFP และ HSP สำหรับฟอร์แม็ตของสัญญาณเสียงที่รองรับก็มี SBC และ AAC (เมื่อใช้กับ iOS)

รูปร่างหน้าตา
+ ปุ่มปรับต่างๆ

บอดี้ของ C8 ออกแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมแต่ลบและปาดมุมให้มนป้านทุกด้าน ขนาดสัดส่วนก็ไม่เท่ากัน อาจจะเกี่ยวกับเรื่องอะคูสติกที่มีผลกับเสียงด้วยหรือเปล่าทางผู้ผลิตก็ไม่ได้กล่าวถึงไว้ แต่ที่แน่ๆ คือมันทำให้มองดูนุ่มตาไม่แข็งกระด้าง ภายนอกหุ้มด้วยซิลิโคนสีเทาดำ จับต้องแล้วให้ความรู้สึกนิ่มมือ และให้ความกระชับกับร่องหูตอนสวมใส่ ทำให้ไม่หลุดง่ายๆ ด้วย

ขนาดส่วนสัดก็ไม่ถือว่าใหญ่หรือเล็กเมื่อเทียบกับหูฟังอินเอียร์ไร้สายประเภทเดียวกันของแบรนด์อื่นๆ เอาเป็นว่าอยู่ในระดับขนาดปานกลาง ด้านที่ยาวสุดของตัวบอดี้วัดได้ 2.3 .. ด้านกว้างสุดวัดได้ 1.5 .. ส่วนความสูงของตัวบอดี้วัดได้ 1.8 .. น้ำหนักเบาแค่ 6 กรัมต่อข้าง

ปุ่มกดสั่งงานการเล่นเพลงและควบคุมการเชื่อมต่อบลูทูธ, หน้าสัมผัสสำหรับชาร์จแบต และไฟโครโฟนรับเสียงสนทนา ทั้งหมดนี้ถูกติดตั้งอยู่บนตัวบอดี้ทั้งสองข้างตามภาพด้านบน รวมถึงไฟแอลอีดีที่มีไว้แสดงสถานะการทำงานและการชาร์จแบตซึ่งถูกซิลิโคนที่ห่อหุ่มอยู่บนตัวบอดี้บังซ่อนไว้ แต่จะสว่างขึ้นมาเตือนให้เห็นได้ชัดเจนเมื่อถึงเวลา

ไมโครโฟนที่ใช้เป็นแบบ Omni-directional รับเสียงได้รองตัว คุณสามารถสนทนากับสายที่ติดต่อเข้ามาได้โดยไม่ต้องหยิบหูฟังมาจ่อที่ปาก รองรับความถี่ตั้งแต่ 100Hz10,000Hz ครอบคลุมเสียงสนทนาทั้งของผู้หญิงและผู้ชายได้ครบทั้งย่าน

เกี่ยวกับพลังงาน

ตัวหูฟังใช้พลังงาน DC 3.7 โวลต์ จากแบตเตอรี่ที่ฝังอยู่ในตัว เป็นแบตเตอรี่ ลิเธี่ยมอิออน แบบชาร์จซ้ำได้หลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่ชาร์จเต็มจะสามารถเปิดใช้งาน ทั้งโทรฯ และฟังเพลงได้ต่อเนื่องนานประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อแบตฯ หมดก็นำไปชาร์จเติมได้ในกล่องที่มีแบตเตอรี่ชาร์จไฟให้หูฟังได้อีก 2 ครั้งเต็มๆ รวมเวลาใช้งานทั้งวันอยู่ที่ 9 ชั่วโมง

เมื่อแบตฯ บนหูฟังหมด หลังจากเสียบลงไปในกล่อง ให้สังเกตไฟแอลอีดีสีแดงจะสว่างขึ้นมาที่ตัวหูฟัง อย่างในภาพด้านบนนี้ ถ้าไม่มีไฟสีแดงขึ้นมา ให้ขยับตัวหูฟังให้แน่นกับกล่องเพื่อให้หน้าสัมผัสของที่ชาร์จบนกล่องกับบนตัวหูฟังมันสัมผัสกันสนิทที่สุด เมื่อหูฟังถูกชาร์จไฟจนเต็มแล้ว (ใช้เวลาชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมง) ไฟสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้า

เอาภาพมาเทียบให้ดู ระหว่างขั้วต่อ USB-C กับ microUSB

ที่ตัวกล่องใส่หูฟังจะมีช่องเสียบหัวแจ็ค USB-C อยู่หนึ่งรู มีไว้สำหรับชาร์จไฟด้วยสาย USB-C > USB-A ที่แถมมาให้ ขณะเสียบชาร์จไฟจะมีไฟแอลอีดีสีขาวจำนวน 4 ดวงคอยกระพริบบอกสถานะของปริมาณไฟที่ชาร์จเข้าไปในตัวกล่อง แต่ละดวงจะมีปริมาณไฟประมาณ 25% ใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงครึ่งในการชาร์จไฟจนเต็มกล่อง 100%

การเชื่อมต่อ
+ ควบคุมสั่งงาน

หูฟังข้างซ้าย (L = Left channel) ได้ถูกกำหนดให้มีบทบาทเป็น host unit หรือตัวมาสเตอร์ที่ควบคุมหลักของระบบ ส่วนหูข้างขวา (R = Right channel) ถูกกำหนดให้เป็น sub unit

ขั้นตอนการเชื่อมต่อที่ง่ายที่สุดให้ทำตามขั้นตอนนี้

1. เอาหูฟังทั้งสองข้างสวมเข้าไปในหูให้แน่นสนิทซะก่อน แต่ยังไม่ต้องเปิดเครื่อง
2. จากนั้น ให้กดที่แป้นสั่งงานบนตัวหูฟังข้างซ้าย โดยกดค้างไว้ จนมีเสียงเตือนดังตี๊ดในหูข้างซ้ายและมีเสียงผู้หญิงพูดว่า “power on
3. เปิดฟังท์ชั่น Bluetooth ที่ตัวอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อเพื่อทำการ pair เข้ากับหูฟัง C8
4. เมื่อปรากฏชื่อหูฟัง “SE-C8TWขึ้นมาบนอุปกรณ์ ให้กดรับเพื่อทำการเชื่อมต่อ
5. เมื่อการเชื่อมต่อสำเร็จ จะมีเสียงผู้หญิงแจ้งว่า “pairing successful connected
6. กดแป้นของหูฟังด้านขวาค้างไว้จนมีเสียงตี๊ดเตือนขึ้นมาและมีเสียงผู้หญิงพูดว่า “power on – connectedแสดงว่าหูข้างขวาได้เชื่อมต่อเข้ากับหูฟังข้างซ้ายเรียบร้อยแล้ว
7. ที่หูข้างขวา จะมีเสียงผู้หญิงพูดว่า “second device connected – Left channel
8. พร้อมๆ กันนั้น ที่หูฟังข้างขวาจะมีคำว่า “Right channelดังตามขึ้นมา
9. หูฟัง C8 ทั้งสองข้างพร้อมรองรับสัญญาณเสียงที่เป็นระบบเสียง stereo (L+R channel)
10. เมื่อต้องการปิด ให้กดที่แป้นของหูฟังข้างซ้ายค้างไว้ จะมีเสียงตี๊ดและมีเสียงผู้หญิงในหูฟังพูดว่า “power offพร้อมกันทั้งสองข้าง เท่ากับหูฟังทั้งสองตัวปิดการทำงานลงเรียบร้อย

ซึ่งผมทดลองเชื่อมต่อหูฟัง C8 ตัวนี้เข้ากับเครื่องเล่นไฟล์เพลง (DAP) จำนวน 2-3 เครื่องรวมทั้ง iPhone 7 ของผมด้วย ปรากฏว่าระบบการเชื่อมต่อของมันมีความเสถียรมาก ขอให้คุณทำตามขั้นตอนข้างต้นเท่านั้น ทุกเครื่องที่ผมทดลองมันเชื่อมต่อได้อย่างลื่นไหล 

และผมได้ทดลองวาง iPhone 7 ที่เชื่อมต่อกับหูฟังตัวนี้ไว้บนโต๊ะแล้วเล่นเพลง จากนั้นลองเดินห่างออกไปจากโต๊ะเรื่อยๆ พบว่าการซิ้งค์สัญญาณจะเริ่มหลุดที่ระยะเกิน 10 เมตรออกไปเล็กน้อย (ผมทำเครื่องหมายไว้ที่ตำแหน่ง 10 เมตร และหูฟังทั้งสองถูกชาร์จแบตจนเต็มแล้ว ตำแหน่งระหว่างตัวสมาร์ทโฟนกับหูฟังไม่มีอะไรขวาง) แสดงว่า หูฟังตัวนี้มีระยะเชื่อมต่อไกลถึง 10 เมตรอย่างที่โฆษณาไว้จริงๆ

ทดลองฟังเสียง

ก่อนจะใช้งาน อยากจะแนะนำให้คุณเลือกขนาดของจุกยางให้เหมาะสมกับรูหูของคุณซะก่อน ซึ่งทางผู้ผลิตมีจุกมาให้ 3 ขนาดคือ S, M, L แนะนำให้ทดลองทั้งสามขนาด เวลาใส่ให้กดเข้าไปในรูหูจนสนิท ไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าไปลึกเกินไป เพราะตัวบอดี้ของหูฟังจะเป็นตัวป้องกันให้อยู่แล้ว

หลังจากจุกยางเข้าไปในรูหูจนสนิทดีแล้ว ให้หมุนตัวบอดี้ของ C8 ให้ลงมาแตะอยู่กับขอบล่างของร่องหู (ตามภาพด้านบน) ทำแบบเดียวกันทั้งสองข้างเพื่อให้ตัวบอดี้ตรึงแน่นอยู่ในร่องหูไม่หลุดง่าย และเป็นตำแหน่งที่ให้เสียงที่ดีที่สุด ถ้าคุณไม่หมุนเอียงลงมาแบบนั้น ท่อนำเสียงจะอยู่ในตำแหน่งที่มุมยิงเสียงไม่ตรงเข้ารูหูโดยตรง คุณจะได้ยินเสียงทุ้มที่ลอยขึ้นไปทับอยู่กับกลางแหลม การแยกแยะเสียงจะไม่ดี

ทดลองฟังเพลง

ไดเวอร์ที่ใช้ในหูฟังตัวนี้เป็นแบบไดนามิก ขนาด 6 .. ทำงานในตัวบอดี้แบบปิด ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 20Hz – 20kHz

ข้อสังเกตแรกที่รู้สึกหลังลองใช้งาน C8 นั่นคือ หูฟังตัวนี้ไม่ค่อยกินกำลัง แค่ใช้ iPhone 7 เป็นตัวเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพ Onkyo HF Player แล้วส่งมาที่หูฟังทาง Bluetooth ผมพบว่า ผมใช้วอลลุ่มที่ iPhone 7* ไม่เยอะก็ได้เสียงที่ดังมากพอแล้ว พอเปลี่ยนไปซิ้งค์กับเครื่องเล่นไฟล์เพลงตัวอื่นๆ ทั้งของ Astell&Kern และ Sony ผมก็พบว่า C8 ต้องการวอลลุ่มไม่เยอะในการสร้างความดังออกมาจนเพียงพอต่อการฟังเพลง เป็นการสรุปว่า C8 ขับง่าย ไม่กินกำลังเลย สามารถฟังกับสมาร์ทโฟนได้

* ถ้าคุณใช้สมาร์ทโฟน Android คุณสามารถดาวน์โหลดแอพฯ “Notification App” ที่ช่วยเตือนเวลามีอีเมล หรือ SMS มาใช้ได้ น่าเสียดายที่มีเฉพาะเวอร์ชั่น Android ไม่มีเวอร์ชั่น iOS

ข้อสังเกตที่สองที่ผมพบหลังจากทดลองฟังเสียงของ C8 คือเสียงเบสมันหนักมาก ตอนยังไม่พ้นเบิร์นฯ จะรู้สึกว่าเบสมันเยอะเกินไปหน่อย และมีลักษณะหนาๆ หนักๆ แต่พอรู้วิธีหมุนตัวบอดี้ให้ท่อนำเสียงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง อาการเหล่านั้นก็ลดลง แต่เสียงเบสยังมีความโดดเด่นอยู่ ไปอ่านเจอในสเปคฯ ของผู้ผลิต ระบุแจ้งว่าแม่เหล็กที่ใช้ขับดันเสียงของตัวไดเวอร์เป็น rare-earth-magnet แสดงว่าไม่ได้ใช้แม่เหล็กเฟอร์ไร้ท์ นี่อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เสียงของ C8 มีความแน่น และมีน้ำหนัก ไม่บอบบางเหมือนหูฟังส่วนใหญ่ นอกจากนั้น C8 ยังให้รายละเอียดได้ดี พรั่งพรูออกมาครบทั้งย่านเสียง และยังให้ไดนามิกที่สวิงได้กว้างขวางอีกด้วย

เมื่อผ่านการใช้งานมานานเกิน 50 ชั่วโมง เสียงของ C8 ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง สมดุลเสียงดีขึ้น ปริมาณของความถี่ในย่านกลางแหลมเริ่มเขยิบขึ้นมาใกล้เคียงกับเสียงทุ้มมากขึ้น รายละเอียดกลางแหลมเยอะขึ้นมาก เวทีเสียงเริ่มฉีกตัวกว้างออกไปมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้กว้างมาก ซึ่งน่าจะเป็นความจงใจจูนเฟสเสียงของผู้ผลิตเอง ทำให้ลักษณะเวทีเสียงของ C8 ไม่ฉีกถ่างกว้างออกไปห่างจากศีรษะมาก จะบอกว่าค่อนข้างไปทางแคบก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันทำให้ได้ข้อดีมาอย่างนึง นั่นคือ ได้ตัวเสียงที่มีความหนาแน่น มีบอดี้ที่อวบอิ่มและแผ่ใหญ่ เหมือนฟังแบบ nearfield คือได้ความเข้มข้นของเสียงมากเป็นพิเศษ คนที่ชอบฟังเพลงแบบเจาะลึกลงไปในอารมณ์ของเพลงจะถูกใจ

ผมได้เอาหูฟัง C8 ไปทดลองใช้งานในสภาพที่มีเสียงรบกวนจากภายนอกเยอะๆ อย่างเช่น ในตลาดนัดจตุจักรของบ่ายวันอาทิตย์ และในห้างสรรพสินค้าที่มีสัญญาณ Wi-Fi และมีการใช้บลูทูธเยอะด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อทดสอบความเสถียรในการเชื่อมต่อ

ผลออกมาว่า ในห้างที่มีการใช้คลื่นไร้สายเยอะมาก จะพบอาการซิ้งค์หลุดระหว่างข้างซ้ายกับข้างขวาเป็นบางพื้นที่ ถ้าเดินไปฟังไปจะรู้สึกได้เลยว่าบริเวณไหนบ้างที่ถูกรบกวนจากสัญญาณไร้สายมาก ซึ่งลักษณะจะเป็นอาการวูบวาบที่เกิดขึ้นสั้นๆ แต่การเชื่อมต่อระหว่างหูข้างซ้ายที่เป็น host กับสมาร์ทโฟนหรือเครื่องเล่นไฟล์เพลงไม่มีอาการหลุดเลย เมื่อเดินไปเจอตำแหน่งที่ไม่มีการกวนจากคลื่นไร้สาย หูฟังทั้งสองก็จะทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

สรุป

ตั้งแต่วันแรกที่ได้ยินเสียงของ C8 ผมก็รู้สึกทันทีว่า Pioneer ไม่ได้ตั้งใจทำหูฟังตัวนี้ออกมาเพียงแค่ให้ใช้เป็นสมอลทอล์คสำหรับรับสายโทรศัพท์ แต่ตั้งใจให้มันเป็นหูฟังไร้สายที่ใช้ฟังเพลงได้ดีมากกว่า และเมื่อทดลองฟังเพลงที่หลากหลายในสภาวะต่างๆ (ใส่ฟังตอนนอนด้วย) แล้ว ผมก็ขอสรุปว่า C8 เป็นหูฟังไร้สายที่ออกแบบมาสำหรับใช้ฟังเพลงเป็นหลักครับ ส่วนการรับสายโทรฯ นั้นถือว่าเป็นของแถมมากกว่า.. /

**************************
ราคา : 5,990 บาท / ชุด
**************************
หาซื้อได้ที่ :
Powerbuy Online และ
Powerbuy ที่อยู่ในห้างทุกสาขา

 

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า