รีวิวโฮมเธียเตอร์ : Sony รุ่น HT-Z9F ลำโพงซาวนด์บาร์ 3.1ch รองรับระบบเสียง Dolby Atmos กับ DTS:X จากประเทศญี่ปุ่น

หลังจากได้ทดลองฟังระบบเสียงเซอร์ราวนด์ Dolby Atmos จากชุดโฮมเธียเตอร์หลักล้านไปแล้ว ผมก็ยอมรับว่า Dolby Atmos เป็นระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่ให้ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นมาก ประสิทธิภาพของมันก้าวกระโดดจากระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1 ch และ 7.1 ch ไปไกลทีเดียว เชื่อว่าใครที่มีโอกาสสัมผัสระบบเสียงแบบนี้แล้ว คงจะเข้าใจความหมายของคำว่า “Immersive Soundได้อย่างลึกซึ้งแน่ๆ

เพราะมันทำให้เราสามารถรับรู้ถึงมิติเสียงที่สมจริงจนน่าขนลุก คุณสามารถรับรู้ถึงลักษณะการเคลื่อนที่ของ subject ที่เคลื่อนตัวอยู่ในฉากได้อย่างแม่นยำ ทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นซ้ายขวา, หน้าหลัง และบนล่าง

ภาพบนคือลักษณะของเสียงเซอร์ราวนด์ที่ได้จากลำโพงซาวนด์บาร์ยุคเก่าที่รองรับระบบเสียง 5.1ch/7.1ch ซึ่งสนามเสียงจะวนรอบตัวเราเฉพาะในแนวระนาบ เสมอกับระดับที่เรานั่งชมและแผ่สูงขึ้นไปอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนภาพล่างคือแบบจำลองของสนามเสียงที่ได้จากระบบเสียงเซอร์ราวนด์ยุคใหม่ Dolby Artmos/DTS:X บนลำโพงซาวนด์บาร์รุ่น HT-Z9F ที่สามารถสร้างสนามเสียงในแนวดิ่งขึ้นมาเสริมกับสนามเสียงแนวระนาบขึ้นมาอีกชั้น ทำให้ได้บรรยากาศด้านบนเข้ามาด้วย

  • อยากรู้จักกับ Dolby Atmos ให้มากขึ้น | Link

Immersive Sound แท้ๆ กับงบประมาณที่สูงลิบ.!

ระบบเสียงเซอร์ราวนด์ Dolby Atmos กับ DTS:X เป็นตัวแทนของเทคโนโลยี Immersive Sound ยุคใหม่ ซึ่งเป็นระบบเสียงเซอร์ราวนด์ที่ อะลุ้มอะล่วยกับ จำนวนลำโพงมากกว่าระบบเซอร์ราวนด์แบบเดิมๆ ตัวระบบมันเองของทั้ง Dolby Atmos และ DTS:X สามารถสร้างสนามเสียงในแนวดิ่ง (vertical surround) ให้กับชุดเครื่องเสียงที่มีลำโพงตั้งแต่ 2.1ch ขึ้นไปจนถึง 9.1ch ได้ทั้งหมด ขอให้คอนเท็นต์ที่เล่นเข้ารหัสมาด้วย Dolby Atmos หรือ DTS:X และในชุดเครื่องเสียงของคุณมี decoder ที่รองรับ Dolby Atmos และ/หรือ DTS:X เท่านั้น

แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ยิ่งใช้ลำโพงเยอะ ก็จะได้ความเป็น Immersive หรือความรู้สึกโอบล้อมที่ดีขึ้นไป อย่างเช่น ซิสเต็มที่เซ็ตอัพลำโพงแบบ 7.1.2 หรือ 7.1.4 ก็จะให้ประสบการณ์เสียงรอบทิศที่ล้อมรอบตัวเป็น 360 องศามากกว่าซิสเต็มที่ใช้ลำโพงน้อยกว่า แต่สิ่งที่ตามมาก็คืองบประมาณที่สูงโด่ง เพราะต้องใช้ลำโพงมากถึง 9 ตัว (7.1.2) หรือ 11 ตัว (7.1.4) บวกซับวูฟเฟอร์อีกตัว แถมคุณต้องมี AV Receiver หรือ Pre-Processor ที่มีดีโค๊ดเดอร์ Dolby Atmos/DTS:X อีกตัว ยังไม่หมด.. ยังต้องมีเพาเวอร์แอมป์ที่มีจำนวนแชนเนลเท่ากับจำนวนลำโพงที่คุณใช้ด้วย

จะเห็นว่า ถ้าจะให้ดีจริงๆ ก็ต้องทุ่มทุนกันหลักแสน หรืออาจจะถึงหลักล้านบาทกันเลยทีเดียว อย่างนี้แล้ว คนที่มีงบไม่สูงขนาดนั้น จะสามารถสัมผัสกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีของระบบเสียง Immersive Sound ได้บ้างมั้ย.?

HT-Z9F ลำโพงซาวนด์ที่มาช่วยสานฝันให้เป็นจริง.!

ยอมรับว่า ครั้งแรกที่ไปเห็นลำโพงซาวนด์บาร์รุ่นนี้ของ Sony ในงานเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมรู้สึกขนลุกเลย.. เหมือนกับว่าเอนจิเนียร์ของ Sony จะรับรู้ได้ถึงความกังวลใจของผมและได้ช่วยเปิดโอกาสทำให้ความฝันของผมเป็นจริง แม้ว่าในใจจะเต็มไปด้วยความสงสัยว่า ลำโพงซาวนด์บาร์ตัวนี้จะทำได้ยังไง.? ตัวก็ไม่ใหญ่ แต่ด้วยชื่อแบรนด์ ทำให้ผมเกิดความสนใจ อยากจะทดสอบลำโพงซาวนด์บาร์รุ่นนี้มากเป็นพิเศษ และวันนี้ มันได้เข้ามาสงบนิ่งอยู่ในบ้านของผมแล้ว

ในกล่องกระดาษแข็งสีขาวที่มีรูปทรงคล้ายขวาน ในนั้นมีลำโพงซาวนด์บาร์กับลำโพงซับวูฟเฟอร์อยู่อย่างละหนึ่งตัว ที่เหลือก็เป็นแอคเซสซอรี่อื่นๆ อาทิ รีโมทไร้สายพร้อมแบตเตอรี่สองก้อน, สายต่อภาพ/เสียง HDMI, อุปกรณ์ขันยึดติดผนัง และหน้ากากลำโพงอีกหนึ่งชิ้น

3.1 Ch + Subwoofer

ตัวลำโพงหลัก (โซนี่เรียกว่า bar speaker) มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม รูปลักษณ์ออกไปทางเพียว/ยาว เมื่อมองจากด้านหน้าเข้าไป พบว่ามันมีความสูงเพียงแต่ 6.4 .. (2.52 นิ้ว) เท่านั้นเอง ส่วนความลึกอยู่ที่ 10 .. (3.93 นิ้ว) ในขณะที่มีความยาวอยู่ที่ 1 เมตร

บนแผงด้านหน้าของตัวลำโพงมีไดเวอร์ทรงกรวยติดตั้งอยู่ 3 ตัว แต่ละตัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 4.6 .. (1.84 นิ้ว) เท่ากันหมด ติดตั้งแยกกันอยู่สามจุด คือทางซ้าย (แทนลำโพง Left) และทางขวา (แทนลำโพง Right) เกือบสุดขอบข้างละหนึ่งตัว ส่วนอีกตัวที่เหลือถูกติดตั้งไว้ตรงกึ่งกลางของตัวซาวนด์บาร์พอดีๆ (แทนลำโพง Center) ผมลองวัดระยะจากไดเวอร์ทั้งสองตัวมาถึงไดเวอร์ตัวที่อยู่ตรงกลาง จะได้ระยะห่างระหว่าง Left-to-Center กับระหว่าง Right-to-Center ออกมาเท่าๆ กัน คือข้างละ 16 นิ้ว หรือ 40 ..

นอกจากไดเวอร์ทั้งสามตัวแล้ว บนแผงหน้าที่ยาวถึง 1 เมตรของ Z9F ยังมีจอแสดงผลขนาด 11 x 2 .. แทรกอยู่บนพื้นที่ว่างระหว่างไดเวอร์ตัวซ้ายกับตัวกลาง ซึ่งจะแสดงสภาวะการทำงานของ Z9F ด้วยไฟ LED สีขาว

ขณะใส่หน้ากาก

ขณะถอดหน้ากาก

ในกล่องมีหน้ากากที่ทำเป็นตะแกรงโลหะสำหรับใช้ปิดบนแผงหน้าของตัว Z9F มาให้ด้วย ซึ่งตัวหน้ากากนี้ใช้วิธียึดตรึงกับแผงหน้าของ Z9F ด้วยแม่เหล็ก ในคู่มือให้คำแนะนำเกี่ยวกับตะแกรงหน้ากากไว้ว่า ถ้าคุณซีเรียสเกี่ยวกับคุณภาพเสียง ทาง Sony แนะนำให้แกะหน้ากากออก เสียงจะดีกว่าใส่หน้ากาก ซึ่งผมทดลองดูแล้วพบว่าเป็นจริงตามนั้นครับ แต่ไม่ได้มากถึงกับหน้ามือกับหลังมือนะครับ แนะนำให้ทดลองกับตัวคุณเอง ถ้าลองฟังเทียบกันแล้ว คุณฟังความแตกต่างไม่ออก แนะนำให้ใส่หน้ากากเอาไว้เพื่อป้องกันไดเวอร์เสียหายจากความพลั้งเผลอ

ขั้วต่อสัญญาณภาพและเสียง
ทั้งขาเข้าและขาออก

Z9F ให้ช่อง HDMI มาทั้งหมด 3 ช่อง เป็นช่องอินพุต 2 ช่อง คือ HDMI 1 และ HDMI 2 ใช้สำหรับเชื่อมต่อกับแหล่งต้นทางสัญญาณ อาทิเช่น จากเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์, กล่องเคเบิ้ลทีวี, กล่องรับสัญญาณจากดาวเทียม หรือเครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ ส่วนอีกช่องที่เหลือเป็นช่อง HDMI output ที่ให้มาเพื่อเชื่อมต่อ Z9F เข้ากับทีวี ซึ่งรองรับฟังท์ชั่น ARC (Audio Return Channel) คือดึงเสียงจากทีวีมาขยายที่ตัว Z9F ได้

ช่อง HDMI ทั้ง 3 ช่องของ Z9F รองรับการรับ/ส่งสัญญาณภาพวิดีโอได้ถึงระดับ 4K UHD กับรองรับภาพวิดีโอ HDR ได้ครบทั้ง 3 มาตรฐานคือ HDR10, HLG และ Dolby Vision นอกจากนั้น ช่อง HDMI ทั้งสามช่องที่ Z9F ให้มายังรองรับมาตรฐานป้องกันการคัดลอกสัญญาณดิจิตัล HDCP2.2 ด้วย ดังนั้น เมื่อคุณเชื่อมต่อช่อง HDMI out (ARC) ของ Z9F เข้ากับทีวีทางช่อง HDMI in และเชื่อมต่อช่อง HDMI 1 หรือ HDMI 2 ของ Z9F เข้ากับช่อง HDMI out ของเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ 4K UHD ที่รองรับ HDCP2.2 คุณก็จะสามารถรับชมคอนเท็นต์วิดีโอได้ถึงระดับ 4K HDR บนทีวีของคุณ และเอนจอยกับระบบเสียงไฮเรซฯ บนตัว Z9F ไปพร้อมๆ กัน

ส่วนอินพุตที่เป็นสัญญาณเสียงอย่างเดียว Z9F ก็มีช่องทางให้เลือกใช้มากถึง 5 ช่องทาง แบ่งเป็นอินพุตแบบใช้สายทั้งหมด 4 ช่องทาง คือ Analog In (รองรับสัญญาณอะนาลอก), Optical In (รองรับสัญญาณดิจิตัล), USB-A (รองรับสัญญาณดิจิตัลจากแฟรชไดร้) และช่อง Ethernet ที่สามารถรองรับทั้งสัญญาณเสียงและข้อมูลคำสั่งได้พร้อมกัน ทั้งแบบใช้สายและไร้สายผ่าน Bluetooth กับ Chromecast ที่ติดตั้งมาให้ในตัว

ลำโพงซับวูฟเฟอร์คู่หู
รุ่น SA-WZ9F

ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ให้มาคู่กับตัวซาวนด์บาร์รุ่นนี้มีชื่อรุ่นว่า SA-WZ9F เป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์แอ๊คทีฟที่มีเพาเวอร์แอมป์ในตัวและใช้วิิธีเชื่อมต่อกับลำโพงซาวนด์บาร์ทางระบบไร้สาย คุณไม่สามารถใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่นนี้กับลำโพงซาวนด์บาร์รุ่นอื่นได้

ตัวตู้มาในรูปสี่เหลี่ยมที่พุ่งขึ้นไปในแนวตั้ง หรือภาษาเครื่องเสียงเรียกว่าทรงทาวเวอร์ สัดส่วนตัวตู้อยู่ที่ 190 x 382 x 386 .. (W x H xD) ใช้ไดเวอร์ไดนามิกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 นิ้ว ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของแผงหน้าตู้เป็นตัวสร้างความถี่เสียงทุ้มยิงออกทางด้านหน้า (front firing) โดยมีท่อระบายอากาศขนาดใหญ่ 3 นิ้ว (7.5 ..) ช่วยถ่ายทอดหางเสียงเบสให้ผ่อนลาดตามออกมาด้วยความนุ่มนวล บนตำแหน่งไดเวอร์มีตะแกรงโลหะโปร่งสีดำปิดไว้ ปลดออกไม่ได้ ท่อระบายเบสอยู่ในตำแหน่งถัดลงมาด้านล่างของตัววูฟเฟอร์ และพื้นที่ว่างบนแผงหน้าตู้ซับฯ ระหว่างวูฟเฟอร์กับท่อระบายอากาศจะมีไฟ LED สีแดงดวงเล็กๆ อยู่ดวงหนึ่ง ใช้แสดงสภาวะการทำงานของตัวซับวูฟเฟอร์ เมื่อเสียบปลั๊กไฟบนผนัง ไฟดวงนี้จะสว่างเป็นสีแดง เมื่อตัวซาวนด์บาร์ Z9F เชื่อมต่อกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้แล้ว ไฟดวงนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวแสดงสภาวะพร้อมทำงาน

ที่ด้านหลังของตัวซับวูฟเฟอร์ไม่มีจุดเชื่อมต่อสัญญาณใดๆ นอกจากปุ่ม Power ที่ใช้กดเพื่อปิดและเปิดไฟเข้าเครื่อง กับปุ่มเล็กๆ อีกปุ่มหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับปุ่มเพาเวอร์ ใช้กดเพื่อลิ้งค์กับตัวซาวนด์บาร์ นอกนั้นก็เป็นสายไฟเอซีที่เชื่อมตรงเข้ากับวงจรภายในตัวเครื่อง ถอดออกไม่ได้

เนื่องจากมีภาคขยายบรรจุอยู่ภายในตัวและจะเกิดความร้อนขึ้นมาเล็กน้อยขณะทำงาน ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกระบายออกทางรูระบายอากาศที่อยู่ด้านหลัง จึงควรวางลำโพงซับวูฟเฟอร์ห่างจากผนังอย่างต่ำ 15-20 .. เพื่อให้ความร้อนในตัวเครื่องสามารถถ่ายเทออกมาได้

รีโมทไร้สายรุ่น RMT-AH400U ที่ให้มามีขนาดกระทัดรัด กำลังเหมาะมือ ใช้ควบคุมสั่งงานได้ครอบคลุมทุกหน้าที่ เริ่มตั้งแต่ เปิด/ปิดเครื่อง, เลือกอินพุต, ปรับเลือกรูปแบบสำเร็จรูปของเสียงที่เหมาะสมกับคอนเท็นต์รูปแบบต่างๆ, ปรับเพิ่ม/ลดความสว่างของตัวอักษรบนหน้าจอ, ปุ่ม HOME เข้าสู่เมนู, ปุ่มกดปรับเพิ่ม/ลดความดังของเสียง, และใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงด้วย

การเชื่อมต่อ
และปรับตั้ง

กรณีที่ทีวีของคุณมีช่องอินพุต HDMI (ARC) สิ่งแรกสุดที่คุณต้องทำหลังจากแกะออกมาจากกล่องคือ เชื่อมต่อตัว Z9F เข้ากับทีวีของคุณด้วยสาย HDMI ที่ช่อง HDMI (ARC) ของทั้งฝั่งทีวีและฝั่ง Z9F จากนั้น ถ้าเดิมคุณเชื่อมต่อเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ 4K UHD หรือกล่องรับสัญญาณจากผู้ให้บริการต่างๆ เข้าที่ตัวทีวีโดยตรงผ่านเข้าทางช่อง HDMI ของทีวี ให้ย้ายเครื่องเล่นแผ่น 4K UHD หรือกล่องรับสัญญาณฯ เหล่านั้นไปเชื่อมต่อเข้าที่ตัว Z9F ทางช่อง HDMI 1 หรือ HDMI 2 เพื่อให้ Z9F ช่วยอัพเกรดคุณภาพเสียงให้กับแหล่งต้นทางของคุณด้วย

ในกรณีที่ทีวีของคุณไม่มีช่อง HDMI (ARC) คุณสามารถใช้ช่องอินพุต Optical ของตัว Z9F แทนได้ ด้วยการใช้สาย Optical เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างช่อง Optical Out ที่ตัวทีวีกับช่อง Optical In ของตัว Z9F แต่ต้องไม่ลืมเชื่อมต่อสาย HDMI ระหว่างช่อง HDMI (ARC) ของ Z9F เข้ากับช่อง HDMI ของทีวีของคุณไว้ด้วย เพื่อเวลาต้องการเข้าไปปรับตั้งเมนูในตัว Z9F จะได้มีภาพกราฟฟิกขึ้นโชว์บนทีวี ซึ่งจะช่วยให้การปรับตั้งค่าต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น

ถ้าคุณใช้ทีวีของ Sony รุ่นใหม่ๆ คุณจะสามารถเชื่อมต่อตัว Z9F กับทีวีของคุณได้อีกวิธีหนึ่ง นั่นคือเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วยสัญญาณ Bluetooth แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าคุณให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ คุณภาพเสียงมากกว่าในแง่ของ ความสะดวกแนะนำให้เชื่อมต่อผ่านทางช่อง HDMI (ARC) ดีกว่า

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ระหว่างตัว Z9F กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ SA-WZ9F คู่ขาของมัน เชื่อมต่อกันด้วยสัญญาณบลูทูธไร้สาย เพื่อคุณภาพเสียงที่กลมกลืนกันและเพื่อความเสถียรในการเชื่อมต่อ แนะนำให้วางลำโพงซับวูฟเฟอร์ไว้ใกล้กับลำโพงซาวนด์บาร์ด้วยระยะห่างระหว่าง 80 – 100 .. ซึ่งโดยปกติแล้ว หลังจากเชื่อมต่อทีวีและอุปกรณ์เครื่องเล่นอื่นๆ เข้ากับตัว Z9F เสร็จแล้ว ให้คุณเสียบปลั๊กไฟของตัว Z9F และตัวซับวูฟเฟอร์ให้เรียบร้อย และให้กดสวิทช์เปิดตัว Z9F ก่อน ค่อยกดสวิทช์เปิดตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์ตามมา ตัวซาวนด์บาร์ Z9F จะทำการเชื่อมต่อกับลำโพงซับวูฟเฟอร์เองโดยอัตโนมัติ

หลังจากลำโพงซาวนด์บาร์ Z9F เชื่อมต่อกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ของมันเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเข้าไปปรับตั้ง (setup) ในเมนูเพื่อให้ลำโพงซาวนด์บาร์ Z9F กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ของมันทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

***************

VDO | แสดงขั้นตอนการ setup ในเมนูของตัว HT-Z9F

***************

ลองฟังเสียงของ HT-Z9F

เนื่องจาก HT-Z9F เป็นลำโพงซาวนด์บาร์รุ่นท๊อปของ Sony ที่ออกมาล่าสุดประจำปี 2018 ในการทดสอบ Z9F ผมจึงพยายามค้นหาว่ามันมีคุณสมบัติพิเศษอะไรบ้างที่คู่ควรกับคำว่า รุ่นท๊อปและคุ้มค่าต่อการลงทุนมั้ย.?

จากการทดลองใช้งานจริงมามากกว่าหนึ่งเดือน ผมพบว่า Z9F คือ เพชรเม็ดงามที่น่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่งในวงการลำโพงซาวนด์บาร์ปัจจุบันครับ!

เหตุผลก็เพราะว่า Z9F มิได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คุณแค่ใช้ดูหนังอย่างเดียว แต่มันได้ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการฟังเพลงที่เยี่ยมยอดอยู่ในตัวด้วย.!

ใช้ HT-Z9F ฟังเพลง

ก็อย่างที่เกริ่นมาแล้วว่า นอกจากจะใช้เป็นชุดเครื่องเสียงสำหรับดูหนังในระบบโฮมเธียเตอร์แล้ว HT-Z9F ยังถูกออกแบบมาให้เป็นชุดเครื่องเสียงที่ใช้ฟังเพลงได้ด้วย และจากที่ผมทดสอบดูแล้ว บอกได้เลยว่า เรื่องความสามารถในการฟังเพลงนี้ พวกเขาไม่ได้ให้มาเป็น “ของแถมแน่ๆ เพราะ Z9F ให้ช่องทางในการเล่นกับแหล่งต้นทางเพลงได้หลากหลายมาก ไม่ว่าคุณจะเล่นเพลงจากแหล่งต้นทางอะนาลอก อย่างเช่น เล่นแผ่นเสียงด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงของคุณ คุณก็สามารถส่งสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาที่ Z9F ได้ โดยส่งเข้าทางช่อง Analog In ที่รองรับด้วยขั้วต่อ mini 3.5mm

หรือกรณีที่คุณเล่นแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดีของคุณเอง หรือเล่นไฟล์เพลงบนคอมฯ ผ่าน external DAC ภายนอก หรือเล่นไฟล์เพลงด้วยเครื่องเล่นไฟล์เพลงแบบพกพา (DAP) ที่ตัว Z9F ก็มีช่องทางอินพุตให้คุณเลือกใช้ถึง 2 ช่องทางที่คุณสามารถนำสัญญาณเอ๊าต์พุตจากเครื่องเล่นเหล่านั้นมาเข้าที่ Z9F นั่นคือทาง Analog In หรือ Optical In ก็ได้

ผมลองเล่นแผ่น CD, SACD และ DVD-Audio ด้วยเครื่องเล่นยูนิเวอร์แซล บลูเรย์ เพลเยอร์ของ Cambridge Audio รุ่น Azur 751BD แล้วส่งสัญญาณเสียงไปที่ Z9F ผ่านเข้าทางช่อง HDMI output ผมพบว่า ช่อง HDMI input ของ Z9F รองรับได้ทั้งสัญญาณ LPCM (2.0ch/5.1ch/7.1ch) และ DSD (2.0ch/5.1ch) เสียงที่ได้ดีกว่าที่ผมคาดมาก ในการทดสอบผมชอบเสียงที่ได้จากการฟังโดยใช้ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine ช่วย เพราะเสียงที่ออกมามันมีลักษณะที่เปิดโปร่ง กว้าง น่าฟัง เสียงกลางแหลมจากตัวซาวนด์บาร์ กับเสียงทุ้มจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ก็กลมกลืนกันดี ทั้งในแง่โทนเสียงและสปีด ทำให้ได้สนามเสียงที่แผ่กว้าง เกินขนาดของตัวลำโพงไปเยอะเลย

นอกจากนั้น Z9F ยังรองรับการเล่นไฟล์เพลงผ่านทาง Bluetooth และ Wi-Fi ได้ด้วย โดยเฉพาะความสามารถของ Z9F ในการรองรับการเล่นไฟล์เพลงผ่านระบบโฮมเน็ทเวิร์คที่ใช้สัญญาณ Wi-Fi ที่เชื่อมต่อระบบทางขั้วต่อ Ethernet นั้น (ภาพประกอบด้านบน) เป็นอะไรที่วิเศษมาก.! เหมาะเหม็งกันเลยกับไล้ฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนรูปแบบของการฟังเพลงไปสู่ความสะดวกในแง่ของการคอนโทรลและการจัดเก็บ คือไม่ว่าคุณจะเก็บไฟล์เพลงไว้ใน NAS ที่เชื่อมต่ออยู่กับเน็ทเวิร์คในบ้าน หรือเก็บไฟล์เพลงไว้ในฮาร์ดดิสของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่กับเน็ทเวิร์คในบ้าน คุณก็สามารถดึงไฟล์เพลงเหล่านั้นมาฟังผ่าน Z9F ได้ หรือจะเก็บไฟล์เพลงไว้ในแฟรชไดร้แบบพกพา (USB flash drive) คุณก็แค่เอาแฟรชไดร้ตัวนั้นไปเสียบเข้าที่ช่อง USB ของ Z9F แค่นี้คุณก็จะสามารถดึงไฟล์เพลงจากแฟรชไดร้ของคุณออกมาฟังผ่าน Z9F ได้เช่นกัน

ส่วนความพิเศษของ Z9F สำหรับการเล่นไฟล์เพลงผ่านทาง Bluetooth ที่เหนือกว่าลำโพงซาวนด์บาร์หรือลำโพงไร้สายบลูทูธยี่ห้ออื่นๆ ก็คือ Z9F รองรับสัญญาณเสียง LDAC ได้ ซึ่งเป็นฟอร์แม็ตไฮเรซฯ ออดิโอลิขสิทธิ์เฉพาะสำหรับค่ายโซนี่เท่านั้น

app Sony Music Center

ไฮไล้ท์ของการฟังเพลงผ่านทางเน็ทเวิร์คโดยอาศัยช่องทาง Ethernet (LAN) บนตัว Z9F มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรก คือมันมีแอพฯ สำหรับควบคุมการเล่นไฟล์เพลงบนสมาร์ทโฟนมาให้ใช้ ชื่อว่า Sony Music Center โหลดมาใช้ได้ฟรี หน้าตาแอพฯ ดูเรียบง่ายดี มีฟังท์ชั่นที่จำเป็นมาครบ แถมตอนเล่นไฟล์เพลงใน USB ยังอุตส่าห์ไปดึงภาพปกอัลบั้มจากอินเตอร์เน็ตมาโชว์ให้ด้วย (ลิ้งค์มาจาก gracenote)

ไฮไล้ท์อีกอย่างของ Z9F ในการเล่นไฟล์เพลงทาง USB ก็คือว่า Z9F รองรับการเล่นไฟล์เพลงได้ถึงระดับ Hi-Res ทั้งฝั่ง PCM และฝั่ง DSD ซึ่งบอกได้เลยว่า จะหาลำโพง Soundbar ที่มีความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงได้สูงระดับนี้ แทบจะต้องพลิกฟ้ามหาสมุทรกันเลยทีเดียว! และเสียงของไฟล์ DSD ที่เล่นผ่าน Z9F ก็เป็นอะไรที่หาฟังได้ยากจากลำโพงซาวนด์บาร์ที่มีอยู่ในตลาดทุกวันนี้

นอกจากนั้น ตัวแอพ Sony Music Center ยังมีฟังท์ชั่น Multi Zone/Multi Room ด้วย

คือถ้าคุณมีลำโพงไร้สายบลูทูธอยู่ในบ้าน คุณสามารถแชร์เพลงจากตัว Z9F ไปที่ลำโพงบลูทูธของคุณได้ด้วยการสตรีม โดยเลือกสตรีมสัญญาณจากอินพุตของ Z9F ช่องไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น HDMI, Analog input หรือ Optical input

HT-Z9F กับการรับชมภาพยนตร์

โดยทฤษฎีแล้ว เราไม่ควรจะต้องกังวลกับ จำนวนลำโพงสำหรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ Dolby Atmos เพราะระบบเสียง Dolby Atmos ใช้เทคโนโลยีที่อาศัย “Objectหรือวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่ในสนามเสียงเป็นตัวกำหนดทิศทาง โดยอาศัยโปรเซสเซอร์คำนวนการเคลื่อนที่ของวัตถุ (เสียง) แล้วนำไป map ลงบนลำโพงที่เราเซ็ตอัพเอาไว้ ระบบเสียง Dolby Atmos ไม่ได้อาศัย “Channelหรือจำนวนลำโพงเป็นหลักในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุเหมือนกับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1ch และ 7.1ch ในอดีตที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้, แม้ว่า จำนวนแชนเนลมากหรือน้อย จะยังคงส่งผลกับคุณภาพของความเป็นเซอร์ราวนด์สำหรับ Dolby Atmos มากพอๆ กับที่ส่งผลกับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ในอดีต แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ระบบเสียง Dolby Atmos ทำได้ดีกว่าระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1ch และ 7.1ch แบบเก่าในอดีต นั่นคือการ “downmixลงไปบนระบบเสียงที่มีลำโพงแค่ 2 หรือ 3 ตัว

หมายความว่า Dolby Atmos ทำการ mapping ลงไปในระบบที่มีลำโพงจำนวนน้อยๆ แชนเนล อาทิเช่น 2.1ch หรือ 3.1ch ออกมาได้คุณภาพเสียงรวมๆ ที่ ดีกว่าการ mapping ลงบน 2.1ch/3.1ch ของระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1ch และ 7.1ch แบบเก่า

ที่ต้องพูดถึงตรงจุดนี้ก็เพราะว่า ที่ผ่านมา ผมไม่เคยชอบเสียงของระบบเซอร์ราวนด์แบบเก่าที่เล่นบน 2.1ch เลย.! ทุกครั้งที่ดูหนังด้วยระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 5.1/7.1ch แล้วสั่ง downmix ลงมาเป็น 2.1ch หรือ 2.0ch ผมพบว่าเสียงออกมาหลอนหูมาก จะประเมินด้วยมาตรฐาน stereo 2 ch ก็ไม่ผ่าน จะประเมินด้วยมาตรฐานเซอร์ราวนด์ 5.1/7.1ch เทียบกับฟังผ่านชุดลำโพง 5.1/7.1ch เต็มรูปแบบก็ยิ่งห่างไกล ประมาณว่า downmix ลงมาแล้วไม่ได้มรรคผลอะไรสักอย่าง

HT-Z9F ตัวนี้ใช้อัลกอรึทึ่มที่ Sony ออกแบบขึ้นมาเอง ชื่อว่า Vertical Surround Engine เพื่อสร้างสนามเสียงในแนวดิ่งออกมาจากลำโพงซ้ายและขวา ผสมผสานกับสนามเสียงในแนวระนาบที่มาจากลำโพงเซ็นเตอร์ตัวที่อยู่ตรงกลาง เมื่อเปิดใช้ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine กับคอนเท็นต์ที่บันทึกมาด้วยระบบเสียง Dolby Atmos หรือ DTS:X จะทำให้สนามเสียง ลอยสูงเหนือตัวลำโพงขึ้นมากลมกลืนอยู่กับภาพบนหน้าจอทีวีที่กำลังชม จนรู้สึกเหมือนเสียงที่ได้ยินมันแผ่ออกมาจากหน้าจอทีวี และในบางฉากรู้สึกได้ว่ามีเสียงที่เคลื่อนตัวในแนวดิ่งด้วย

ผมทดลองกดสลับฟังเทียบกันระหว่างใช้กับไม่ใช้ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine พบว่า เปิดใช้ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine น่าฟังกว่ามาก เสียงที่ออกมามีลักษณะที่แผ่กว้าง ลอยสูงขึ้นมา และเปิดโปร่ง ให้ความรู้สึกของเวทีเสียงในแนวดิ่งที่ชัดเจนกว่าไม่ใช้ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine อย่างเห็นได้ชัด.!

และผมพบว่า ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine นี้ ไม่ได้ส่งผลกับคอนเท็นต์ที่บันทึกเสียงมาเป็น Dolby Atmos กับ DTS:X เท่านั้น แต่ผมลองกดใช้ฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine กับการฟังเพลงด้วยระบบเสียง stereo 2 ch ก็พบว่ามันทำให้ได้เสียงที่เปิดกว้าง ลอยสูง และโปร่งกังวานคล้ายกับตอนดูหนังที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos/DTS:X เหมือนกัน ลองเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ Sony จึงได้รู้ว่า ในตัว Z9F มีการทำงานของวงจรโปรเซสเซอร์อยู่ตัวหนึ่ง เรียกว่า “Upmix 7.1chคือยกระดับของเสียงจาก 2.0ch และ 5.1ch ให้ออกมาเป็น 7.1ch ก่อนจะจัดส่งไปผ่านการทำงานของฟังท์ชั่น Vertical Surround Engine เพื่อยกสนามเสียงให้ลอยสูงขึ้น สามารถรับรู้ได้ถึงบรรยากาศของเสียงที่โอบลอยขึ้นมาด้านบน แม้ว่าความชัดเจนของตำแหน่งเสียงจะไม่ชัดเจนเหมือนกับป้อนด้วยสัญญาณ Dolby Atmos หรือ DTS:X แต่การทำงานของฟังท์ชั่น Upmix 7.1ch ก็ให้ความรู้สึกโอ่อ่า ปลอดโปร่ง ฟังสบายคล้ายๆ กัน มันช่วยทำให้เสียงเซอร์ราวนด์ 5.1ch และ 7.1ch ของแผ่น Blu-ray ฟังดีขึ้นกับ HT-Z9F ตัวนี้

สรุป

ผมใช้เวลาทดสอบลำโพงซาวนด์บาร์ตัวนี้นานมากเป็นพิเศษ เหตุผลก็เพราะว่ามันมีความสามารถรอบตัวจริงๆ กว่าจะจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ทดสอบประสิทธิภาพของ Z9F ตัวนี้ได้ครบในแต่ละประเด็นก็กินเวลามากกว่าการทดสอบอุปกรณ์อื่นๆ ไปมาก แต่หลังจากทดสอบเสร็จแล้ว ผมยอมรับว่ารู้สึกประทับใจในประสิทธิภาพเสียงและความสามารถของลำโพงซาวนด์บาร์ตัวนี้อย่างมาก มันตอบโจทย์ผมได้ครบถ้วนจริงๆ

HT-Z9F เป็นลำโพงซาวนด์บาร์ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของสนามเสียง Immersive Sound ที่ฟอร์แม็ต Dolby Atmos และ DTS:X นำมาให้โดยไม่ต้องลงทุนเยอะ และไม่ต้องติดตั้งลำโพงไปทั่วห้อง มันทำให้ผมสนุกกับการดูหนังด้วยระบบเสียง Immersive Sound ในห้องรับแขกเล็กๆ ของผมได้อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์มหัศจรรย์แบบนี้

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจ HT-Z9F อย่างมาก นั่นคือความสามารถในการฟังเพลงของมัน ซึ่งนอกจากจะสะดวกมากแล้ว เสียงที่ได้ยังดีกว่าที่ผมคิดไว้มาก ทั้งๆ ที่ตัวไดเวอร์มีขนาดเล็กแค่สองนิ้วนิดๆ แต่เสียงที่ออกมากลับโอ่อ่า กว้างใหญ่ เต็มห้อง เป็นเพราะมีลำโพงซับวูฟเฟอร์มาช่วยเพิ่มเสียงในย่านทุ้มนั่นเอง ได้ฟังเพลงผ่าน HT-Z9F แล้ว ผมขอบอกเลยว่า ผมเลิกเปิดลำโพง Bluetooth ที่ใช้อยู่ประจำไปเลย เพราะเสียงของ HT-Z9F ดีกว่าเสียงของลำโพงบลูทูธที่ผมใช้อยู่อย่างมากมาย..

ได้ฟังเพลงกับ HT-Z9F แล้ว ผมอยากจะให้ฉายา HT-Z9F ว่ามันเป็น Bluetooth Speaker Killer‘ เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าคุณมี HT-Z9F แล้ว ลำโพงไร้สายบลูทูธก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป.!! /

*******************************
ราคา : 26,990 บาท / เครื่อง
*******************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท Sony Thai Co., LTD.
*******************************
ข้อมูลเพิ่มเติม  |  Link

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า