รีวิวเครื่องเสียง Verity Audio รุ่น Lakme ลำโพงสามทาง ตั้งพื้น

Verity Audio เป็นผู้ผลิตลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศแคนาดา ประธานบริษัทชื่อว่า Bruno Bouchard ซึ่งควบตำแหน่ง CEO และหัวหน้าวิศวกรรมด้วย แบรนด์นี้เริ่มต้นเมื่อ ปี 1993 ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ผลิตออกมาหยั่งตลาดก็คือลำโพง ชื่อรุ่นว่า Parsifal ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับการต้อนรับอย่างน่าชื่นใจ ส่งผลให้มีลำโพงรุ่นอื่นๆ ตามออกมาอีกหลายรุ่นในช่วงไม่กี่ปีหลังเปิดตัว นั่นคือ Finn, Rienzi, Fidelio, Leonore, Amadis, Sarastro, Lohengrin และรุ่น Monsalvat โดยที่รุ่น Parsifal ก็ยังคงอยู่ในไลน์ผลิตภัณฑ์ที่แทรกอยู่ระหว่างรุ่น Leonore กับรุ่น Amadis

Verity Audio : Lakme
รุ่นใหม่ล่าสุด!

Lakme เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่ Verity Audio ทำออกมาแทรกอยู่ระหว่างรุ่นเล็กสุดคือ Finn กับรุ่น Otello ซึ่งดูจากดีไซน์ของลำโพงรุ่นอื่นๆ ที่แบรนด์นี้ทำออกมาเกือบทั้งหมด ยกเว้นรุ่น Finn จะเป็นรูปแบบที่แยกตัวขับเสียงกลางแหลม (ตัวมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์) กับตัวขับเสียงทุ้ม (วูฟเฟอร์) ออกจากกัน โดยเอาตู้ลำโพงที่ติดตั้งมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์วางอยู่บนตู้เบสที่ติดตั้งวูฟเฟอร์ ส่วนรุ่นใหญ่สุดคือ Monsalvat นั้นแยกตู้ที่ติดตั้งไดเวอร์กลางแหลมกับตู้ที่ติดตั้งวูฟเฟอร์ออกจากกันเด็ดขาด

ขนาดและรูปร่างภายนอก

พิจารณาจากขนาดสัณฐานของ Lakme ต้องจัดเข้าไปอยู่ในพิกัด ตั้งพื้นขนาดเล็กเพราะความสูงของตัวตู้ ไม่ถึง 120 ..(*) และมีแผงหน้าที่แคบจึงออกไปทางผอม+สูงทรงทาวเวอร์ ผนังตู้ลำโพงมีสอง คือสีขาว (เวอร์ชั่นพิเศษ) กับสีดำ (เวอร์ชั่นธรรมดา) บนแผงหน้าส่วนล่างของตัวตู้สีขาวซึ่งเป็นเวอร์ชั่นพิเศษจะมีแผ่นไม้ลายวอลนัทปะหน้าเสริมความสวยงามมาด้วย ในขณะที่เวอร์ชั่นธรรมดาจะเป็นตู้สีดำทั้งหมดไม่มีแผ่นไม้ปะหน้าตู้เบสมาให้

(*) เกณฑ์แบ่งขนาดลำโพงของผม ตั้งพื้นขนาดเล็ก = สูงไม่เกิน 120 .. / ตั้งพื้นขนาดกลาง = สูงระหว่าง 120 – 150 .. / ขนาดใหญ่ = สูงเกิน 150 .. ขึ้นไป

แยกตู้.?

รุ่น Lakme ที่ออกมาใหม่นี้ก็มาในรูปแบบที่ แยกส่วนของตู้ที่ติดตั้งมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์กับตู้เบสที่ติดตั้งวูฟเฟอร์ออกจากกัน โดยเอาตู้กลางแหลมวางไว้ด้านบนของตู้เบส

ตู้ทั้งสองถูกยึดติดกันด้วยกลไกภายในที่มองไม่เห็น จากรอยแยกที่เห็นภายนอก เมื่อลองเอาแผ่นกระดาษสอดเข้าไปจะพบว่าสอดเข้าไปได้แค่สองนิ้วโดยรอบ มันจะไปชนกับอะไรบางอย่างแข็งๆ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนของแกนกลางของตัวตู้ที่เจาะทะลุถึงกันก็ได้ เนื่องจากให้ขั้วต่อสายลำโพงมาแค่ชุดเดียว จึงต้องมีสายลำโพงที่โยงจากแผงวงจรเน็ทเวิร์คที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาที่ไดเวอร์มิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์ที่อยู่ส่วนบน อีกทั้งตัวตู้กลางแหลมมีลักษณะเป็นตู้ปิด ไม่มีรูระบายอากาศ ที่แกนกลางของตัวตู้อาจจะมีการเจาะทะลุระหว่างตัวตู้ทั้งสองเพื่อสอดสายลำโพงและแชร์มวลอากาศซึ่งกันและกันก็เป็นได้

“.. The Lakmé is a floor-standing, single-tower, three-way, passive-radiator loudspeaker comprised of two isolated yet attached cabinets.” ซิงเกิ้ล ทาวเวอร์ หมายถึงลำโพงทรงทาวเวอร์ที่รวมเอาทุ้มกลางแหลมไว้ในตู้ทรงผอมสูง ตู้เดียวกันอือมม.. เหมือนจะไม่ได้แยกตู้ แต่มีอีกประโยคที่ชวนให้สงสัย “.. Both cabinets are isolated by a special elastomer..” อือมม.. คำว่า Isolated ก็คือแยกตู้ แต่แยกด้วย ‘special elastomerซึ่งเจ้า ‘elastomerนี้ก็คือวัสดุประเภทโพลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติทั้งหนืดและยืดหยุ่นอยู่ในตัว สรุปคือ ตัวตู้กลางแหลมกับตู้เบสไม่ได้แยกจากกัน อย่างเด็ดขาดแต่แยกส่วนจากกันโดยยึดโยงด้วยวัสดุพิเศษที่มีทั้งความหนืด (ไม่มีเรโซแนนซ์) และมีความยืดหยุ่นในตัว

ภายในตัวตู้มีการคาดดามโครงแบบสมมาตร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพื่อให้มวลอากาศภายในตัวตู้สามารถไหลเวียนได้อย่างราบลื่น เป็นการป้องกันเรโซแนนซ์ไปด้วยในตัว

ดีไซน์

ลำโพง Lakme คู่นี้เป็นลำโพงสามทางที่ใช้เทคนิคการออกแบบหลายกระบวนท่าผสมผสานกัน เริ่มจากแยกตู้สำหรับไดเวอร์กลางแหลมกับทุ้มออกจากกันเพื่อลดปัญหาเรโซแนนซ์ภายในตัวตู้ และเพื่อการกำหนดปริมาตรอากาศภายในตัวตู้ที่เหมาะสมกับการทำงานของไดเวอร์แต่ละส่วนที่ลงตัวจริงๆ นอกจากนั้น ถ้าเข้าไปสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่า ตัวตู้ส่วนบนที่ติดตั้งไดเวอร์กลางแหลมถูกกำหนดให้มีลักษณะที่เชิดด้านหน้าขึ้นเล็กน้อย แสดงว่ามีการปรับจูนเฟส (phase) และไทม์ (time) ของสัญญาณกลางแหลมเอาไว้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่คาดหวังได้จากการออกแบบลักษณะนี้ก็คือคุณสมบัติทางด้าน โทนัลบาลานซ์และ เวทีเสียงนั่นเอง

แนะนำไว้อย่างนะครับ เวลาพิจารณาลำโพงยี่ห้อ Verity Audio อย่ามองแค่ด้านหน้า แต่ขอให้เดินอ้อมไปดูด้านหลังของมันด้วย เพราะแทบทุกรุ่นของยี่ห้อนี้จะใช้วิธีติดตั้งวูฟเฟอร์ขับเสียงเบสไว้ที่แผงด้านหลังของตู้ตัวล่าง ซึ่งในรุ่น Lakme ที่ผมกำลังจะพูดถึงตัวนี้ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาเอาไดเวอร์ขับทุ้มไปติดตั้งไว้ที่แผงด้านหลังของตู้ตัวล่างถึง 3 ตัว.! ที่ทำแบบนี้ไม่ได้เอาเก๋หรือเอาเท่ห์ แต่เป็นอีกเทคนิคของการออกแบบที่สุโค่ยมาก.!!

ตู้เบส… เรดิเอเตอร์.?

วูฟเฟอร์ทั้งสามตัวที่ติดตั้งอยู่บนแผงหลังของตู้เบสมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว เท่ากันทั้งสามดอก ไดอะแฟรมทำมาจากเยื่อกระดาษอัดขึ้นรูปแล้วอาบน้ำยาเพิ่มความแกร่ง ทั้งสามดอกเรียงตัวอยู่ในแนวตั้ง ดอกที่อยู่ตรงกลางคือตัวขับเสียงทุ้มที่มีกระบอกว็อยซ์คอยที่ยาวถึง 3 นิ้ว ทำหน้าที่ดันและดึงแผ่นไดอะแฟรม ส่วนไดเวอร์อีกสองตัวที่ขนาบอยู่ด้านบนและด้านล่างนั้นไม่มีว๊อยซ์คอย ทำหน้าที่เป็นพาสซีฟ เรดิเอเตอร์ คอยสนับสนุนการทำงานของตัววูฟเฟอร์เพื่อให้ได้ความถี่ต่ำลงไปถึง 35Hz ด้วยความลึกและแน่น

ส่วนความถี่ตั้งแต่ย่านกลางขึ้นไปสูงจนทะลุถึง 25kHz นั้นเป็นหน้าที่ของไดเวอร์กรวยกระดาษอาบน้ำยาขนาด 5 นิ้ว ทำงานร่วมกับทวีตเตอร์ซอฟท์โดมขนาด 1 นิ้ว ไดอะแฟรมของตัวไดเวอร์ขับเสียงกลาง หรือที่เรียกว่าไดเวอร์มิดเร้นจ์นั้น ทำด้วยเยื่อกระดาษอัดขึ้นรูปแล้วอาบด้วยน้ำยาแบบเดียวกับไดอะแฟรมของตัววูฟเฟอร์ ที่ดูพิเศษหน่อยก็คือไดอะแฟรมของตัวทวีตเตอร์ที่ปกติทั่วไปจะขึ้นรูปเป็นทรงโดมโค้งครึ่งวงกลม แต่โดมของทวีตเตอร์ตัวนี้มีแปลกกว่าปกติตรงที่มีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลางโดมส่วนที่ปกติจะเป็นจุดโค้งสูงสุดของโดม นัยว่าทำเพื่อลดเรโซแนนซ์ของโดม เพื่อให้รองรับกำลังขับได้มากขึ้น เปิดได้ดังขึ้นโดยไม่มีความเพี้ยน ทางผู้ผลิตเรียกทวีตเตอร์ตัวนี้ว่า ‘soft ring-domeซึ่งเป็นสิทธิบัตรของแบรนด์ Verity Audio โดยเฉพาะ

Tripod Isolation Feet
ขาตั้งแบบสามจุด

ความพิเศษของลำโพงคู่นี้ยังไม่หมดแค่นั้น ส่วนที่เป็นขาตั้งที่แยกยกตัวลำโพงให้ลอยหนีจากพื้นก็ได้รับการออกแบบขึ้นมาพิเศษ โดยถ่ายทอดมาจากเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Mechanical & Airborne Sound Isolation System (MASIS) นั่นคือระบบ ‘floor isolation systemที่มีลักษณะเป็นขาตั้งที่มีจุดสัมผัสพื้นห้องแค่ 3 จุด หน้าสองหลังหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นแป้นโลหะทรงกลมขนาดใหญ่ 3 แป้นที่มีเกลียวให้สามารถหมุนปรับระดับสูง/ต่ำได้ (ศรชี้) และที่ใต้แป้นโลหะส่วนที่สัมผัสพื้นติดตั้งวัสดุที่ป้องกันการขูดขีดไว้ด้วย ทำให้ง่ายต่อการเคลื่อนตำแหน่งของตัวลำโพงด้วยการดันที่แป้นขาตั้งโดยตรง ตัวลำโพงก็จะเคลื่อนที่ไปบนพื้นได้อย่างง่ายดายโดยไม่ทำให้พื้นห้องเป็นรอย

แม็ทชิ่ง

หัวข้อ ‘Power Handlingในสเปคฯ ของ Lakme ระบุว่า ‘100 watts music powerในขณะที่ความไว (หรือ effeciency) อยู่ที่ 91dB เมื่อป้อนด้วยความแรงสัญญาณที่ 1W และวัดความดังด้วยการวางไมโครโฟนห่างจากแผงหน้าลำโพงออกมา 1 เมตร ส่วนอิมพีแดนซ์ของ Lakme ระบุไว้ที่ 4 โอห์ม ทั้งหมดนี้บอกให้เรารู้ว่าลำโพงคู่นี้ไม่ได้ต้องการกำลังขับสูง ขอแค่ 50W ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม หรือ 100W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม ก็เพียงพอสำหรับขับดันลำโพงคู่นี้แล้ว

ตัวเลขความไวที่ 91dB ทำให้รู้สึกอุ่นใจมาก โดยเฉพาะคนที่ใช้แอมป์หลอด เพราะตัวเลขความไวที่สูงระดับ 91dB นี้สื่อให้รู้ว่ามีแนวโน้มว่าลำโพงคู่นี้จะสามารถใช้กับแอมป์หลอดได้ดี นอกจากแอมป์หลอดแล้ว แอมป์โซลิดที่ออกแบบวงจรขยายแบบ class-A แท้ๆ ก็ไปได้ดีกับลำโพงคู่นี้เช่นกัน

ต้องขอบคุณบริษัท Hi-End Audio ตัวแทนจำหน่ายลำโพง Verity Audio ในเมืองไทยที่จัดส่งอินติเกรตแอมป์ Accuphase รุ่น E-650 ซึ่งเป็นแอมป์ที่จัดวงจรขยายแบบ class-A มาให้ทดลองฟังกับลำโพงคู่นี้ด้วย (E-650 ให้กำลังขับข้างละ 30W ที่ 8 โอห์ม และเบิ้ลเป็น 60W ที่ 4 โอห์ม) เลยทำให้รู้ว่า กำลังของแอมป์ class-A ที่ 60W ก็ขับลำโพงคู่นี้ได้สบาย แต่นอกจาก E-650 แล้ว ผมยังมีอินติเกรตแอมป์ Dan D’Agostino รุ่น Progression (200W ที่ 8 โอห์ม / 400W ที่ 4 โอห์ม)(REVIEW) กับอินติเกรตแอมป์ Nagra รุ่น Classic INT (100W ที่ 8 โอห์ม)(REVIEW coming soon!และปรี+เพาเวอร์แอมป์ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3 (100W ที่ 8 โอห์ม / 200W ที่ 4 โอห์ม) มาร่วมแจมในการทดสอบลำโพงคู่นี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ขับ Lakme ออกมาได้เต็มที่ทุกตัว.. เป็นการยืนยันได้ถึงความไม่กินกำลังของลำโพงคู่นี้ได้เป็นอย่างดี

มีข้อสังเกตว่า ตอนขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Dan D’Agostino : Progression ที่มีกำลังขับมากกว่า power handling ของ Lakme ที่แจงไว้ในสเปคฯ ถึง 4 เท่า.! (วัดที่ 4 โอห์ม) แต่ก็ยังคงขับ Lakme ออกมาได้ดี ไม่มีปัญหาทางด้านกำลังขับที่มากเกินไป เหตุผลก็เป็นเพราะไม่ได้เร่งวอลลุ่มจนสุดนั่นเอง เสียงที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แนวเสียงออกไปทางแน่นและกระชับ เก็บตัวเร็ว โดยเฉพาะในย่านเสียงทุ้ม

เซ็ตอัพ

เห็นจำนวนวูฟเฟอร์ที่มากถึง 3 ตัวต่อข้างแล้วบางคนอาจจะรู้สึกกลัวว่ามันจะเซ็ตอัพยาก กลัวว่าจะเอาเบสของมันไม่อยู่ ซึ่งตอนแรกผมเองก็กังวลเช่นนั้นเหมือนกัน แต่พอลงมือเซ็ตอัพจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่กลัวเลย เพราะวูฟเฟอร์ที่ขับเสียงทุ้มจริงๆ แล้วมีแค่ตัวเดียว ที่เหลืออีกสองตัวเป็นฟาสซีฟเรดิเอเตอร์ และตู้เบสของ Lakme ก็เป็นระบบตู้ปิด เทียบกันแล้ว เทคนิค passive radiator ที่ลำโพงคู่นี้ใช้ในการออกแบบตู้เบสยังเซ็ตง่ายกว่าลำโพงส่วนใหญ่ที่ใช้เทคนิคตู้เปิดซะอีก เพราะลำโพงตู้ปิดมันคุมเบสได้ง่ายกว่าตู้เปิดนั่นเอง

ในคู่มือของ Lakme มีข้อมูลหลายอย่างที่ชี้ชัดถึงความเป็น ผู้รู้จริงในการออกแบบลำโพง อย่างแท้จริงคือไม่ได้รู้แค่วิธีการเอาไดเวอร์มาประกอบลงตู้ แต่รู้ลึกไปถึงวิธีการทำให้ลำโพงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ในนั้นมีพูดถึงการแม็ทชิ่งและวิธีการออกแบบโดยอิงกับเทคนิคที่มีหลักวิชาการรองรับ อย่างเช่น การกำหนด ความลาดชันของความถี่ ณ จุดตัดความถี่ระหว่างไดเวอร์ที่อยู่ชิดกันนั่นคือมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์ด้วย ออเดอร์ที่ 3 ที่มีความชันสูงถึง 18dB ซึ่งชันมาก ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้มีการเหลื่อมของความถี่ ณ จุดตัดระหว่างมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์เกิดขึ้น และใช้ ออเดอร์ที่ 1 ที่มีความลาดชันน้อย คืออยู่ที่ 6dB บนจุดตัดระหว่างมิดเร้นจ์กับวูฟเฟอร์ที่ติดตั้งห่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ความถี่ทางด้านเสียงกลางต่ำ (lower mid band = 300-800Hz) จากตัวมิดเร้นจ์ที่อยู่บนแผงด้านหน้า กับความถี่ทางด้านเบสตอนต้น (upper bass band = 160-300Hz) จากตัววูฟเฟอร์ที่อยู่บนแผงด้านหลัง สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไม่มีรอยโหว่ของความถี่เกิดขึ้น

“.. a proprietary wide-bandwidth midrange transducer covering the most critical human ear frequency spectrum; and a soft ring-dome tweeter capable of extended frequency range.”

ในขณะเดียวกัน ตัวมิดเร้นจ์ 5 นิ้ว ที่อยู่บนแผงหน้าได้ถูกกำหนดให้สร้างเสียงที่ครอบคลุมย่านความถี่ที่ไวต่อการรับรู้ของประสาทหูของมนุษย์ทั้งหมด ส่วนทวีตเตอร์ก็ถูกกำหนดบทบาทให้สร้างความถี่ส่วนขยายที่ต่อเชื่อมจากความถี่ย่านกลางสูง (upper mid band = 2.5k-5kHz) ที่สร้างโดยมิดเร้นจ์ขึ้นไป เพื่อเติมเต็มส่วนของฮาร์มอนิกให้มีความสมบูรณ์ จะเห็นว่า หลักการออกแบบของค่าย Verity Audio แบรนด์นี้ก็คือการนำเอาการทำงานของลำโพงสองทางกับการทำงานของลำโพงซับวูฟเฟอร์มารวมไว้ด้วยกันนั่นเอง

ในสมุดคู่มือของลำโพง Lakme ยังมีข้อมูลอีก 2 เรื่องที่สะท้อนถึงความเป็นผู้ผลิตลำโพงที่ รู้จริงในสิ่งที่พวกเขาทำ เรื่องแรกคือ “Room Placementที่พูดถึงวิธีการจัดวางลำโพงในห้องฟังเพื่อให้ได้เสียงออกมาดีที่สุด นอกจากนั้น พวกเขายังได้ให้ตัวอย่างของหลักการคำนวนหาตำแหน่งวางลำโพงไว้ด้วย ส่วนอีกเรื่องก็คือ “Room Treatmentพูดถึงหลักการและวิธีการ รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับสภาพอะคูสติกของห้องฟังที่ส่งผลกับประสิทธิภาพของลำโพงที่พวกเขาออกแบบและผลิตขึ้นมา ซึ่งข้อมูลทั้หมดนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า Verity Audio เป็นแบรนด์ที่รู้จริงในการออกแบบลำโพง.!!

ผู้ผลิตแนะนำให้ใช้วิธีคำนวนหาตำแหน่งวางลำโพง Lakme โดยให้เอา ความลึกของห้อง” (ด้านยาว) x 0.1459 ได้ออกมาเท่าไหร่ให้วางลำโพงในตำแหน่งที่ระยะห่างระหว่างดัสแค๊ปของตัววูฟเฟอร์ตัวกลางวัดไปถึงผนังด้านหลัง เท่ากับผลคูณที่ได้นั้น จากภาพประกอบด้านบนก็คือ Length x A และให้วางลำโพงห่างผนังด้านข้างด้วยระยะห่างเท่ากับ ความกว้างของห้อง” x 0.1459 (Width x Aส่วนตำแหน่งนั่งฟังให้วัดจากผนังด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังมาที่จุดนั่งฟัง (Length x B) โดยมีให้เลือก 3 ระยะ คือ far-field = ความลึกของห้อง x 0.1459, mid-field = ความลึกของห้อง x 0.2360 และระยะ near-field = ความลึกของห้อง x 0.3819

เมื่อทดลองวาง Lakme ลงในตำแหน่งตามที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ในคู่มือ คือห่างผนังหลังเท่ากับ 0.96294 เมตร (ห้องผมลึก 6.6 เมตร) ผมพบว่า เสียงโดยรวมก็ออกมาในแนวทางที่พอฟังได้ เสียงทุ้มมีลักษณะที่คุมตัวเองได้พอสมควร ส่วนที่ยังไม่ค่อยลงตัวก็คือโทนัลบาลานซ์ ซึ่งทุ้มยังล้ำหน้ากลางแหลมอยู่หน่อยๆ เลยทำให้เสียงกลางกับแหลมไม่เปิดออกมาเต็มที่ หลังจากผมทดลองขยับตำแหน่งจนได้จุดที่ลงตัว ได้ค่าเฉลี่ยระหว่างคุณสมบัติแต่ละข้อของเสียงที่น่าพอใจ ผมพบว่า ตำแหน่งที่ลงตัวในห้องของผมอยู่ไม่ไกลจากตำแหน่งที่ผู้ผลิตแนะนำมาก ถือว่าสูตรให้ผู้ผลิตให้มาพอใช้เป็นไกด์ไลน์ได้เหมือนกัน แต่ด้วยขนาดและสภาพอะคูสติกของแต่ละห้องที่ต่างกัน จึงต้องไฟน์จูนเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย

เสียงของ Lakme

ผมยอมรับว่า การเซ็ตอัพ Lakme ให้ได้เสียงออกมาดีที่สุดเท่าที่ลำโพงคู่นี้จะให้ได้ันั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ถ้าคุณมีทักษะในการเซ็ตอัพลำโพงอยู่บ้าง ผมบอกได้เลยว่า ความละเอียดและเวลาที่ใช้ลงไปกับการเซ็ตอัพลำโพง Verity Audio คู่นี้จะตอบแทนกลับมาด้วยผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามาก เพราะตัวลำโพงมันพร้อมที่จะถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงออกมาให้แบบครบทั้งสเปคตรัมอยู่แล้ว (ดูจากจำนวนไดเวอร์ก็พอจะบอกได้) เหลือแค่สิ่งที่เราต้องทำก็คือ หาตำแหน่งวางที่ลงตัวกับห้องฟังของเรา เพื่อให้ลำโพงคู่นี้สามารถแสดงศักยภาพของมันออกมาให้ได้เต็มที่เท่านั้นเอง

ประเด็นหลักที่คุณต้องพิจารณาให้ละเอียดอยู่ที่ เสียงทุ้มของลำโพงคู่นี้ ซึ่งมีตัวแปรอยู่ 3 ตัวแปรที่ส่งผลกับคุณภาพและลักษณะของเสียงทุ้มที่ออกมาจากลำโพงคู่นี้ นั่นคือ 1) ระยะห่างระหว่างลำโพงทั้งสองข้าง 2) ระยะห่างระหว่างลำโพงกับผนังด้านหลัง และ 3) มุมโทอิน เมื่อคุณจัดการกับตัวแปรทั้งสามจนได้จุดลงตัวที่สุดแล้ว คุณจะได้เสียงที่มีลักษณะโอ่โถง เวทีเสียงเปิดกว้าง เสียงเบสจะอิ่มและให้มวลที่หนาแน่น ส่วนความกระชับ+เก็บตัวของเสียงทุ้มจะขึ้นอยู่กับแอมปลิฟายที่ใช้ขับด้วย อย่างเช่นตอนขับกับแอคคิวเฟส E-650 เสียงทุ้มจะออกไปทางอวบหนา อิ่มและปล่อยปลายเสียงให้แผ่กว้างออกไป แต่ตอนขับด้วยแดน อะกอสติโน่ Progression กับนากร้า Classic INT เสียงทุ้มจะออกแนวกระชับ หัวเสียงหนัก เร็ว และเก็บรวบปลายเสียงเร็ว ในขณะที่เสียงลางแหลมไม่ต่างกันมากนัก

อัลบั้ม : Conversations With Christian (TIDAL – FLAC 16/44.1)
ศิลปิน : Christian McBride
สังกัด : Mack Avenue Music Group

เสียงทุ้มที่ดีก็คือเสียงทุ้มที่ออกมาจากดอกลำโพงโดยตรง ไม่ใช่เสียงทุ้มที่เกิดจากการก้องสะท้อนในห้อง ซึ่งวูฟเฟอร์กับพาสซีฟ เรดิเอเตอร์ในตู้เบสของลำโพง Lakme คู่นี้สามารถสร้างความถี่ต่ำลงไปได้ถึง 35Hz ด้วยตัวของมันเอง.!! นั่นทำให้มันสามารถดีดเสียงดับเบิ้ลเบสของคริสเตียน แมคบรายด์ให้ลอยออกมาอยู่นอกตู้ลำโพงได้ทั้งตัว ทั้งหัวโน็ตและฮาร์มอนิกของเบสเด้งลอยออกมาทั้งยวง แถมสปีดที่เกิดจากปลายนิ้วกระตุกสายเบสก็มีความกระชับและเร็ว ไม่เอื่อยเฉื่อย ในขณะเดียวกัน เสียงร้องของ Angelique Kidjo ในเพลง Africa ก็ลอยเด่นออกมาข้างหน้าอย่างชัดเจน แยกตัวออกมาจากเสียงเบสได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งเสียงร้องและเสียงเบสต่างก็เคลื่อนไหวไปตามจังหวะลีลาของเพลงได้อย่างลงตัวมาก รับส่งกันได้อย่างเหมาะเหม็ง ฟังแล้วสนุกและมีพลังทั้งๆ ที่เพลงนี้มีแค่เสียงร้องกับเสียงอะคูสติกเบสแค่สองเสียงเท่านั้น.!! สุดจริงๆ !!!

อัลบั้ม : Acoustic Live (TIDAL – FLAC 16/4.1)
ศิลปิน : Neils Lofgren
สังกัด : Vision Music

เสียงโน๊ตตัวล่างสุดของกีต้าร์โปร่งจะอยู่ในย่านความถี่ราวๆ แปดสิบถึงเก้าสิบเฮิร์ต แต่ฮาร์มอนิกของมันเมื่อถูกขยายผ่านลำโพงพีเอฯ ออกมามันจะกลายเป็นแอมเบี้ยนต์ที่มีพลังเยอะมาก ซึ่งมีอัลบั้มงานแสดงสดหลายๆ อัลบั้มที่สามารถบันทึกแอมเบี้ยนต์ที่เกิดจากเสียงกีต้าร์ออกมาได้ และอัลบั้มชุด Acoustic Live ของมือกีต้าร์ Neils Lofgren ชุดนี้ก็เป็นอีกชุดหนึ่งที่บันทึกแอมเบี้ยนต์ออกมาได้ดีมาก คือรู้สึกได้ถึงมวลของบรรยากาศที่แผ่ขยายออกไปเหมือนลูกโป่งขนาดใหญ่ที่แผ่คลุมไปทั้งห้อง.!

ผมใช้เพลงในอัลบั้มนี้ในการไฟน์จูนตำแหน่งวาง Lakme อย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะตอนที่วางตำแหน่งตามที่คู่มือแนะนำเมื่อฟังอัลบั้มนี้ ผมพบว่าเสียงแอมเบี้ยนต์มันออกมามากเกินไป คละคลุ้งอบอวลไปหมด ฟังแล้วน่าตื่นเต้น แต่มันเยอะเกินไป ส่งผลให้อิมแพ็ค (หัวโน๊ต) ของเสียงดีดกีต้าร์ไม่คมและชัดใสเหมือนที่เคยฟัง เมื่อลองขยับลำโพงทั้งสองข้างห่างผนังหลังขึ้นมาอีกนิด จากเดิมที่คำนวนได้ 0.96 เมตร ออกมาเป็น 1.30 เมตร ผมก็เจอจุดที่ลงตัวมากกว่า คือเป็นจุดที่ทำให้เสียงกีต้าร์และเสียงร้องของ Neils Loggren ลอยชัดมากที่สุด เสียงหัวโน๊ตกีต้าร์พุงกระจ่างออกมาเป็นตัว ดีดและเด้งอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกัน มวลแอมเบี้ยนต์ที่สะท้อนมาจากผนังอาคารที่ใช้แสดงสดก็ยังคงอยู่ แต่ลดปริมาณลงเล็กน้อยและมีไทมิ่งที่ถุกต้องมากขึ้น คือตามหลังหัวเสียงหลักออกมา ไม่ได้ออกมาชิดกันเกินไปจนกลบทับเสียงอื่นๆ ณ จุดนี้ทั้งหมดฟังแล้วลงตัวมากขึ้น ได้อารมณ์มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก รู้สึกสัมผัสได้ถึงอารมณ์ “ความสด” ของการแสดงสดมากขึ้น โฟกัสก็เป๊ะมากขึ้น..

อัลบั้ม : ‘Round Midnight (WAV 16/4.1)
ศิลปิน : Jaime Valle
สังกัด : Top Music

นี่ก็เป็นอีกอัลบั้มที่ฟังกับลำโพงคู่นี้แล้วฟินสุดขีด.! เสียงกีต้าร์เบสที่ออกมาจากอัลบั้มนี้มันมีความสมบูณ์มาก รายละเอียดและพลังงานออกมาครบ หัวเสียง > บอดี้ > หางเสียง เรียงลำดับกันออกมาตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน หัวเบสคม กระชับ และเร็วในขณะที่บอดี้อิ่มและข้น หางเสียงก็ผ่อนคลายต่อเนื่องจากบอดี้ออกไปรอบตัว ฟังแล้วอิ่มเอิบมากเป็นพิเศษ ในขณะที่เสียงกีต้าร์ก็ลอยตัวชัดใส ไม่มีการควบกล้ำกับเสียงเบสแต่อย่างใด การแยกแยะดีมาก แต่ในขณะเดียวกัน มูพเม้นต์ของทุกเสียงก็สอดคล้องไปบนไทมิ่งเดียวกัน ทำให้จังหวะของเพลงเคลื่อนขยับไปได้อย่างราบลื่น น่าฟัง… สุดยอดมาก.!!!

สรุป

ใครที่ชอบเสียงทุ้มเป็นชีวิตจิตใจ ถ้าห้องฟังของคุณอยู่ในขนาดปานกลาง ไม่เกิน 4 x 6 ตารางเมตร คุณต้องลองฟังลำโพงคู่นี้ ซึ่งเสียงทุ้มที่ลำโพงคู่นี้ให้ออกมามันประสานไปกับเสียงกลางแหลมแบบลงตัว และด้วยตู้เบสที่ถูกจูนมากับตู้กลางแหลม ทำให้เสียงทุ้มที่ลำโพงคู่นี้สร้างออกมามันจึงให้ไทมิ่งและเฟสที่เชื่อมต่อกับกลางแหลมได้อย่างกลมกลืน ส่งผลให้เสียงโน๊ตต่ำๆ ของเครื่องดนตรีออกมาเป็นโน๊ตเดียวกัน โฟกัสจึงเป๊ะมากและหลุดตู้ออกไปได้ทั้งตัว เป็นลำโพงที่ให้เสียงโอ่อ่า เปิดกว้าง และใหญ่เกินตัว..!!! /

********************
ราคา : เวอร์ชั่นธรรมดา (สีดำ= 470,000 บาท / คู่
เวอร์ชั่นพิเศษ (สีขาว + แผ่นไม้ติดด้านหน้าตู้เบส= 520,000 บาท / คู่
********************
สนใจติดต่อที่
HI-END AUDIO
โทร. 062-551-2410
facebook: @hiendaudiothailand

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า