ทึบ – กังวาน – ก้อง 3 คุณสมบัติของเสียง ที่เกี่ยวเนื่องกัน!

เมื่อไหร่จึงเรียกว่าเสียง ทึบ“, ตอนไหนที่เรียกว่าเสียง กังวานและแบบไหน ยังไงที่เรียกว่าเสียง ก้อง” ???

จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำเรียกลักษณะเสียงทั้งสามคำนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยการ พิจารณาให้ถูกจุดก่อน ซึ่งทั้งสามคำนี้มักจะถูกใช้อยู่ 2 กรณี กรณีแรกคือใช้ในการเรียกลักษณะของ ตัวเสียง” (image) หรือ บอดี้ของเสียงแต่ละเสียง ส่วนอีกกรณีคือใช้เรียกลักษณะของ แอมเบี้ยนต์” (ambient) หรือ บรรยากาศ ที่รายรอบและห้อมล้อมอยู่รอบๆ ตัวเสียงทั้งหมดใน สนามเสียงหรือ เวทีเสียง” (soundstage)

เมื่อถูกใช้ในกรณีแรก ศัพท์ทั้งสามคำนี้จะแสดงให้เห็น (ได้ยิน) ถึงลักษณะของคุณสมบัติทางด้าน ฮาร์มอนิก” (harmonic) ของแต่ละตัวเสียง ที่สัมพันธ์กับ ความนุ่ม (ยืดหยุ่น) vs. ความแข็ง (ตึงตัว) ในเนื้อมวลของตัวเสียง ถ้าเนื้อมวลของตัวเสียงมีลักษณะที่แข็ง ตึง กระชับตัวมาก บอดี้ของตัวเสียงจะมีลักษณะเข้ม ไม่ค่อยมีหางเสียงที่แผ่กระจายออกไปจากตัวเสียง คือหางเสียงจะสั้นและห้วน แบบนี้เรียกว่าเสียงนั้นมีความ ทึบตรงข้ามกับตัวเสียงที่มีลักษณะนุ่ม ความเข้มข้นของเนื้อมวลจะจางลงมาระดับหนึ่ง แต่ให้ความยืดหยุ่นในการขยับตัวมากกว่า ซึ่งพิจารณาในแง่เนื้อมวลของตัวเสียงจะมีลักษณะหลวม ให้ตัวในการขยับเคลื่อน และให้หางเสียง (ฮาร์มอนิก) ที่แผ่ขยายออกไปจากตัวเสียงหลักได้มากกว่า เรียกว่า เสียงนั้นมีความ กังวานในขณะเดียวกัน ถ้าตัวเสียงมีลักษณะผ่อนตัวมากเกินไป บอดี้จะมีเนื้อมวลที่บอบบาง การขยับตัวจะหลวมๆ ขาดความกระชับ หางเสียงจะฟุ้งกระจายออกมามาก แบบนี้เรียกว่า ก้อง

เมื่อศัพท์ทั้ง 3 คำนี้ถูกใช้อธิบายลักษณะของ แอมเบี้ยนต์หรือ บรรยากาศโดยรอบที่ห้อมล้อมตัวเสียงทั้งหมดเอาไว้ ในกรณีที่ตัวเสียงแต่ตัวในเวทีเสียงมี ตำแหน่ง (focus) ที่เบียดชิดกัน ไม่ค่อยมีระยะห่างระหว่างแต่ละชิ้นดนตรี แบบนี้เรียกว่าเสียง ทึบแต่ถ้ารู้สึกว่า เวทีเสียงมีลักษณะแผ่กว้างออกไปรอบด้านแบบไร้ทิศทาง ไม่สามารถระบุตำแหน่งของตัวเสียงแต่ละตัวได้ชัดเจน ฟังแล้วรู้สึกว่าในสนามเสียงมีความถี่ต่างๆ ที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันกระจัดกระจายเต็มไปหมด แต่จับทิศทางและระบุตำแหน่งของแต่ละเสียงไม่ได้ชัด แบบนี้เรียกว่าเสียง ก้องหรือจะเรียกว่าเสียง ฟุ้งก็ได้ ทีนี้คือลักษณะที่ดีที่สุดคือลักษณะของเวทีเสียงที่มีการเว้นช่องไฟ ทิ้งระยะห่างระหว่างชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นพอประมาณ สามารถชี้ชัดตำแหน่งของแต่ละเสียง (focus) ได้อย่างชัดเจน แม่นยำ ในขณะเดียวกัน สามารถรับรู้ได้ถึงลักษณะการกระจายตัวของมวลฮาร์มอนิกที่แผ่ออกไปจากแต่ละตัวเสียงได้อย่างชัดเจนอีกด้วย แบบนี้เรียกว่าเสียง กังวาน” /
**********
ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า