“เสียงโน๊ตดนตรี” กับ “ความถี่”

เสียงโน๊ตดนตรีทั้งหมด ที่มาจากเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะครอบคลุมอยู่ในย่านความถี่เสียง (frequency) ตั้งแต่ 20Hz (ยี่สิบเฮิร์ต) ขึ้นไปจนถึง 20kHz (สองหมื่นเฮิร์ต) ในขณะที่นักเล่นเครื่องเสียงซึ่งอยู่ทางฝั่งผู้บริโภค ทำการแบ่งความถี่เสียงแบบหยาบๆ ออกเป็น 3 ช่วงความถี่คือ ทุ้ม” (ประมาณ 20Hz ถึง 500Hz) – “กลาง” (ประมาณ 500Hz ถึง 4kHz) – “แหลม” (ประมาณ 4KHz20kHz) ในขณะที่ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ในสตูดิโอ โดยเฉพาะมิกซ์เอ็นจิเนียร์ที่ทำมาหากินอยู่ในแวดวงดนตรีและวงการเพลง พวกเขาแบ่งเสียงโน๊ตดนตรีทั้งหมดออกเป็น 7 ช่วงความถี่ ได้แก่

1. Sub-bass (ตั้งแต่ 20Hz > 60Hz)*

เป็นช่วงความถี่ที่มนุษย์รับรู้ได้ผ่านทางความรู้สึกมากกว่าการรับฟังด้วยหู ซึ่งมีเครื่องเสียงดนตรีจำนวนน้อยมากที่จะสามารถสร้างโน๊ตที่มีความถี่เสียงลงต่ำได้ถึงระดับนี้

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง** > ถ้าทำให้ซิสเต็มมีความถี่ในย่านนี้ออกมามากเกินไป จะส่งผลให้เสียงทุ้มของซิสเต็มนั้นออกมาอับทึบ มีผลให้การแยกแยะรายละเอียดในย่านทุ้มออกมาได้ไม่ดี

2. Bass (ตั้งแต่ 60Hz > 250Hz)

เป็นย่านความถี่เสียงที่เป็นตัวกำหนดพลังที่แสดงถึงความมีตัวตนของดนตรี ซึ่งเครื่องดนตรีที่ถูกมักจะเน้นให้แสดงบทบาทในย่านความถี่นี้ก็อย่างเช่น เบสซินธ์ฯ, เบสกีต้าร์, กระเดื่องกลอง และคีย์ต่ำๆ ของเปียโน เป็นต้น

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > ย่านความถี่นี้จะเป็นตัวกำหนดลักษณะของ มวลเสียงโดยรวมว่าจะออกมา อิ่มแน่นคือมีความถี่ในย่านนี้ออกมามาก (ดังพอ) หรือ แห้งบางคือมีความถี่ในย่านนี้ออกมาน้อย (เบา) แต่ถ้ามีความถี่ในย่านนี้ออกมามากเกินไป (ดังเกินไป) เสียงโดยรวมจะออกมาบวมและอื้ออึง

3. Low Midrange (ตั้งแต่ 250Hz > 500Hz)

เป็นย่านความถี่ที่มีเสียงของ หัวโน๊ตของเครื่องดนตรีประเภทอะคูสติกปรากฏอยู่มากที่สุด ซึ่งความถี่ในย่านนี้จะให้ความอิ่มหนาของมวลบอดี้ของโน๊ตจากเครื่องดนตรีเหล่านั้น

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > ย่านความถี่นี้มีความสำคัญมาก เพราะบอดี้ของเสียงโน๊ตจากเครื่องดนตรีแทบทุกชนิดจะรวมตัวกันอยู่ในย่านความถี่นี้ ถ้ามีความถี่ย่านนี้ออกมาจากซิสเต็ม มากเกินไป” (ดังเกินไป) เสียงของเครื่องดนตรีทั้งหมดในเพลงนั้นจะมีลักษณะอับทึบและมัวเบลอ ในทางกลับกัน ถ้ามีความถี่ย่านนี้ออกมาจากซิสเต็ม น้อยเกินไป” (เบาเกินไป) จะมีผลให้เสียงโดยรวมจะออกมาบาง

4. Midrange (ตั้งแต่ 500Hz > 2000Hz)

เป็นย่านเสียงที่รวบรวมโน๊ตดนตรีของเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมดอยู่ในเร้นจ์นี้ ซึ่งเสียงของเครื่องดนตรีทั้งหมดในเพลงจะมี ความชัดเจนปรากฏออกมามากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของความถี่ในย่านนี้

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > ถ้าความถี่ในย่านนี้มีพลังงานออกมา มากเกินไปเสียงในย่านกลางจะมีลักษณะก้อง ถ้าความถี่ในช่วงกลางสูง (ประมาณ 1kHz2kHz) ออกมามากเกินไป เนื้อเสียงกลางจะเริ่มมีลักษณะบางและพุ่งเสียด

5. Upper Midrange หรือ High Midrange (ตั้งแต่ 2000Hz > 4000Hz)

เพราะเป็นช่วงความถี่ที่ไวต่อประสาทการได้ยินของมนุษย์มากที่สุด หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ ประสาทหูของมนุษย์จะเปราะบางต่อความถี่ในย่านนี้มากที่สุด

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > ถ้าซิสเต็มถ่ายทอดเสียงที่อยู่ในย่านความถี่นี้ออกมา มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการล้าหูได้ง่าย ไม่สามารถฟังได้นาน ถ้าสามารถจัดการกับความถี่ในย่านนี้ให้ออกมาในปริมาณที่เหมาะสม เรียบแฟลต จะทำให้ได้เสียงร้องจากเพลงร้องส่วนใหญ่ออกมาลอยเด่นและมีความชัดเจน และความถี่ย่านนี้ยังส่งผลต่อความคมกระชับของเสียงสแนร์ของกลอง กับเสียงเครื่องเคาะอีกด้วย

6. Presence (ตั้งแต่ 4000Hz > 6000Hz)

เป็นย่านเสียงที่มีความถี่ที่เป็น “โอเว่อร์โทน” ของเสียงเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ประกอบอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ได้ความชัดเจนและโชว์รายละเอียดของเครื่องดนตรีเหล่านี้ออกมา เสียงที่มีความหนาแน่นอยู่ในช่วงความถี่นี้ก็เช่น เสียงฉาบ, เสียงเพอร์คัสชั่นที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > สำหรับความถี่เสียงในย่านนี้ ตามความเข้าใจของคนเล่นเครื่องเสียงก็คือ ความถี่ที่เป็น “บอดี้” ไปจนถึง “หางเสียง” นั่นเอง ซึ่งถ้าซิสเต็มปลดปล่อยความถี่ในย่านนี้ออกมามากเกินระดับราบเรียบนิดๆ จะทำให้เสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ มีความชัดเจน และมีความเข้มข้นสูง ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเครื่องดนตรีเคลื่อนเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น ปลายเสียงของเครื่องเป่าและเสียงฉาบของกลองจะมีลักษณะกัดหูนิดๆ คนที่ชอบฟังเพลงแจ๊สเก่าๆ และเพลงแนวร็อคยุค ’60 -’70 จะชอบลักษณะเสียงแบบนี้ ในทางกลับกัน ถ้าซิสเต็มมีความถี่ในย่านนี้ออกมาน้อย จะได้ “ความโปร่งใส” ของพื้นเสียงมากขึ้น จะรู้สึกว่าเสียงของเครื่องดนตรีถอยห่างออกไปจากตัวเรามากขึ้น

7. Brilliance (ตั้งแต่ 6000Hz > 20000Hz)

เป็นย่านความถี่ที่รวบรวมคุณสมบัติทางด้านฮาร์มอนิกของเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ซาวนด์เอ็นจิเนียร์รู้จักย่านความถี่นี้ในแง่ของความเปิดโล่ง สว่างใส ที่ครอบคลุมสนามเสียงทั้งหมดของเพลงนั้นๆ เอาไว้

ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > ย่านความถี่นี้สร้างส่วนที่นักเล่นเครื่องเสียงเรียกว่า มวลบรรยากาศหรือ แอมเบี้ยนต์” ที่ห้อมล้อมอยู่โดยรอบเวทีเสียง ซึ่งถ้าซิสเต็มเครื่องเสียงถ่ายทอดความถี่ในย่านนี้ออกมาน้อย จะส่งผลกับ โทนของเสียงโดยรวมของเพลงนั้นที่จะออกไปทางสลัวลง ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและทอดยาวออกไป อย่างที่เรียกกันว่าโทนด๊าร์ก (dark) แต่ถ้าถ่ายทอดความถี่ย่านนี้ออกมามากเกินไป จะทำให้โทนเสียงออกไปทางสว่างโพลน (bright) ซึ่งช่วงที่อ่อนไหวคือช่วงความถี่ระหว่าง 7.5k – 10kHz ถ้าออกมาเกินไปจะทำให้เกิดอาการเสียดแทงหู

———-
บางแหล่งอาจจะเริ่มต้นด้วยความถี่ที่ต่ำกว่า หรือสูงกว่า 20Hz นิดหน่อย
** ในกรณีของการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียง > สามารถทำได้ตั้งแต่การแม็ทชิ่งอุปกรณ์ในซิสเต็ม, กาปรับแต่งพารามิเตอร์ของฟังท์ชั่นของตัวเครื่อง, การขยับตำแหน่งลำโพงและปรับสภาพอะคูสติกของห้อง ไปจนถึงการปรับจูนสัญญาณเสียงด้วยการปรับ EQ, Phase และ Level ผ่าน DSP ด้วย

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า