รีวิว WiiM รุ่น Vibelink Amp

ถ้าพิจารณาจากรูปแบบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ WiiM ในช่วงหลังๆ นี้ ก็พอจะมองเห็นได้ชัดว่า พวกเขากำลังพยายามก่อร่างสร้างอาณานิคมของตัวเองขึ้นมาในธุรกิจเครื่องเสียงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน นับตั้งแต่การเปิดตัวสตรีมเมอร์รุ่น Ultra ออกมา แล้วตามด้วย Amp Pro ซึ่งครั้งแรกดูเหมือนว่าจะมีความขัดแย้งกันอยู่ในที เพราะ Ultra เป็นสตรีมเมอร์ที่ไม่มีแอมป์ในตัว ในขณะที่ Amp Pro ที่ตามออกมาไล่เลี่ยกันกลับเป็นแอมป์ที่มีสตรีมเมอร์ในตัว.!??

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า WiiM ทำ Ultra (REVIEWออกมาเพื่อให้นักเล่นเครื่องเสียงทั่วไปที่ยังไม่มีสตรีมเมอร์ในซิสเต็มนำไปใช้เสริมกับชุดของพวกเขา ในขณะที่ปล่อย Amp Pro (REVIEWออกมาเพื่อตอบโจทย์สำหรับคนที่ยังไม่เคยมีชุดเครื่องเสียงมาก่อน จะได้ซื้อตัวเดียวจบไปเลย แต่พอตัว Vibelink Amp ปรากฏตัวออกมา ความขุ่นมัวก็เริ่มจาง จุดประสงค์ของ WiiM ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น จริงๆ แล้ว พวกเขาตั้งใจทำ Vibelink Amp ออกมาเพื่อให้จับคู่กับ Ultra นั่นเอง

ดีไซน์ตัวเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของ WiiM

ผลิตภัณฑ์ของ WiiM ที่เป็นแอมป์และสตรีมเมอร์ทั้งหมดจะมีลักษณะตัวถังทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายบอดี้ของคอมพิวเตอร์แอ๊ปเปิ้ล MacMini สีสันของตัวถังก็ออกมาเป็นสีเทาแมททัลลิกแบบเดียวกันด้วย ขนาด กว้าง x ลึก ของตัวถังจะเท่ากันคือ 200 .. (ไม่นับความหนาของปุ่ม) ส่วนความสูงของตัวถังเครื่องแต่ละรุ่นจะแตกต่างกัน อย่างเช่น ความสูงของตัวถังของรุ่น Vibelink Amp ตัวนี้จะเตี้ยกว่าตัวถังของรุ่น Ultra อยู่ประมาณเกือบหนึ่งเซ็นติเมตร

เมื่อจับมาวางซ้อนกัน ตัวถังจะวางซ้อนกันพอดี มองแล้วไม่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้ามีพื้นที่พอ แนะนำให้วางแยกกันแบบภาพล่างดีกว่า เพราะจากการทดลองใช้งาน Vibelink Amp นานๆ พบว่ามันตัวถังมันจะอุ่นๆ เนื่องจากเขาเจตนาออกแบบให้ตัวถังมันทำหน้าที่ระบายความร้อนด้วย เรื่องใช้งานแล้วตัวถังอุ่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

หน้าตาเรียบๆ ไม่รกตา..

ความโดดเด่นของแบรนด์ WiiM อย่างหนึ่งก็คือดีไซน์ของรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์ที่ดูเรียบง่ายสไตล์มินิมอลลิสต์ ดูเก๋ เข้ากันดีกับตัวถังสีเทาแมททัลลิก

บนแผงหน้าของ Vibelink Amp มีแต่ปุ่มกดเลือกอินพุตกับปุ่มวอลลุ่มที่ใช้วิธีหมุนปรับความดัง เพียงแค่ 2 ปุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งปุ่มวอลลุ่มก็ตามมาตรฐานทั่วไป คือหมุนไปตามเข็มนาฬิกาคือเพิ่มความดัง ทวนเข็มคือหรี่เสียง มีหน้าที่แค่นั้น

ไฟ LED ที่อินพุตมีความหมายนะ..

ที่ด้านซ้ายของแผงหน้าปัดของ Vibelink Amp ข้างๆ ปุ่มกดเลือกอินพุตนั้น จะมีตัวเลือกอินพุตเรียงกันอยู่ 3 อินพุต จากบนลงล่างคือ COAX, OPTICAL และ RCA การเลือกก็คือกดที่ปุ่มซ้ำๆ วนไป เมื่ออินพุตไหนถูกกดเลือกไฟ LED ดวงเล็กๆ ที่อยู่ด้านหน้าอินพุตนั้นจะสว่างขึ้นตามสีที่อยู่ตารางข้างบน (ไฟ LED เป็นแบบ RGB) ซึ่งไฟ LED เหล่านี้นอกจากจะบอกให้เรารู้ว่ากำลังใช้งานอินพุตไหนอยู่แล้ว กรณีที่มีอะไรผิดปกติไฟ LED เหล่านี้ก็จะช่วยแสดงให้เรารู้ด้วย (อ่านรายละเอียดในตาราง)

ไปดูแผงหลังกัน..

1. จุดเสียบสายไฟ AC แบบ 3 รูกลม
2. ปุ่มกด เปิด/ปิด เครื่อง
3. ช่องเสียบแจ๊คอินพุตสำหรับสัญญาณ trigger
4. ช่องอินพุต Optical
5. ช่องอินพุต Coax
6. ช่องอินพุต RCA สำหรับสัญญาณอะนาลอก
7. ช่องเสียบสายลำโพงข้างขวา
8. ช่องเสียบสายลำโพงข้างซ้าย

Vibelink Amp ใช้ขั้วต่อแจ๊คสายไฟเอซีขาเข้าเครื่องเป็นแบบขากลม 3 ขาแบบที่นิยมใช้กับอุปกรณ์ไอทีและคอมพิวเตอร์ ใครคิดล่วงหน้าว่าจะอัพฯ สายไฟคงหายากหน่อยนะ ปุ่มเพาเวอร์ที่ใช้กดเพื่อเปิด/ปิดเครื่องอยู่บนแผงหลัง ตอนกดเปิดต้องแช่นิ้วไว้สัก 4 – 5 วิ รอดูให้ไฟ LED ตรงอินพุต Coax สว่างขึ้นมาค่อยผ่อนนิ้วออกมา ส่วนตอนกดปิดไม่ต้องแช่นาน แค่ไฟอินพุตดับพอ ในคู่มือบอกว่า ถ้ากดปุ่มเพาเวอร์แช่ค้างไว้นาน 5 วินาที หรือมากกว่านั้นจะทำให้ค่าที่ปรับตั้งไว้กลับไปเป็นค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน ถ้าไม่มีสัญญาณอินพุตเข้ามานานเกิน 30 นาที ตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดสแตนด์บายโดยอัตโนมัติ

นอกจากขั้วต่อสายลำโพงสำหรับลำโพงซ้ายขวาอย่างละชุดแล้ว ช่องเสียบสัญญาณของ Vibelink Amp ที่เหลือก็มีแต่อินพุตทั้งนั้น โดยที่ทางด้านอินพุตเขาให้มาครบทั้ง optical, coaxial และช่องอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาลอกอย่างละหนึ่งช่อง ซึ่งช่องอินพุตสำหรับสัญญาณดิจิตัล optical กับ coaxial นั้นรองรับได้เฉพาะสัญญาณ PCM สูงสุดได้ถึงระดับ 24/192 ใครต่อสัญญาณเอ๊าต์พุตจากทีวีมาเข้าที่อินพุต optical อย่าลืมเข้าไปตั้งให้ทีวีปล่อยสัญญาณเป็น PCM ด้วย ที่น่าสังเกตคือ Vibelink Amp ไม่มีช่อง Sub out สำหรับซับวูฟเฟอร์มาให้

ที่ช่องอะนาลอก อินพุตของแอมป์ตัวนี้มีความพิเศษในการออกแบบอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ เป็นอินพุตที่ไม่มีภาค ADC เข้ามาขวางทาง ซึ่งต่างจากอินติเกรตแอมป์ที่มีภาค DAC ในตัวโดยทั่วไปซึ่งมักจะมีภาค ADC (analog-to-digital converter) เข้าไปขวางทางสัญญาณอะนาลอก อินพุตเพื่อแปลงให้เป็นสัญญาณดิจิตัลแล้วทำการปรับแต่งเสียงด้วย DSP ก่อนส่งเข้าภาค DAC แปลงกลับออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกอีกครั้ง จากนั้นจึงค่อยส่งไปขยายผ่านภาคเพาเวอร์แอมป์ออกไปขับลำโพง

ทำไม Vibelink Amp ถึงไม่มี ADC ที่ช่องอะนาลอก อินพุต.? เหตุผลก็เพื่อ รักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณอะนาลอก อินพุตเอาไว้ ไม่ให้คุณภาพเสียงที่รับเข้ามาจากเพลเยอร์ภายนอกถูกทำให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมนั่นเอง ใครที่เล่นแผ่นเสียงแล้วอยากได้ยินคุณภาพเสียงของแผ่นเสียงนั้นๆ ออกมาอย่างที่มันควรจะเป็นจริงๆ แค่ป้อนสัญญาณจากภาคขยายหัวเข็มของคุณเข้ามาที่อินพุตอะนาลอกช่องนี้ คุณก็จะได้สัมผัสกับเสียงของแผ่นเสียงแผ่นนั้นอย่างที่มัน ควรจะเป็นแล้ว

ขั้วต่อสายลำโพงของ Vibelink Amp ที่ให้มาถือว่าเป็นงานออกแบบระดับนวัตกรรมเลยทีเดียว คือแทนที่จะใช้ขั้วต่อสายลำโพงแบบสำเร็จรูปอย่างที่แอมป์ระดับบีกินเนอร์ทั่วไปเขาใช้กัน แต่นี่กลับแยกขั้วต่อแบบบายดิ้งโพสต์ออกมาเป็นเหมือนอะแด๊ปเตอร์ไว้ข้างนอก ส่วนบนตัวแอมป์เขาฝังขั้วต่อแบบบานาน่าเอาไว้ ถ้าสายลำโพงที่คุณใช้ติดตั้งขั้วต่อแบบบานาน่า คุณก็สามารถเสียบขั้วต่อบานาน่าของสายลำโพงของคุณตรงเข้าที่รูเสียบบนตัวเครื่องได้เลย ยกเว้นว่าสายลำโพงของคุณใช้ขั้วต่อแบบหางปลาหรือสายเปลือยคุณต้องเสียบขั้วต่ออะแด๊ปเตอร์ที่แยกออกมาเข้าไปที่ช่องเสียบบานาน่าก่อน นี่ถือว่า WiiM เขาเล่นใหญ่เลยนะเนี่ย.!! แถมขั้วต่อก็ทำมาดีมาก ขนาดใหญ่ดูแข็งแรงและชุบทองเหลืองอร่ามมั่นใจในแง่การส่งผ่านสัญญาณได้ดีแน่

ดีไซน์ภายใน

Vibelink Amp เป็น ‘chip based amplifierด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในปัจจุบัน ทำให้วงจรอิเล็กทรอนิคส์ที่ทำงานอยู่ในแอมป์ตัวนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะในส่วนของภาคอินพุต, ภาคปรีแอมป์ ไปจนถึงภาคเพาเวอร์แอมป์ ล้วนถูกย่อส่วนให้อยู่ในรูปของชิปไอซีทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะได้ความแมนยำในการทำงานของแต่ละส่วนที่ดีขึ้นกว่าแบบดีสครีตในอดีตแล้ว ยังได้ประโยชน์ในแง่ form factor ที่สามารถทำให้บอดี้ของเครื่องมีขนาดกระทัดรัดลง และมีน้ำหนักที่เบาลงกว่าในอดีต ในขณะที่ยังคงได้ประสิทธิภาพที่ดีไม่ต่างจากเดิม หรืออาจจะดีกว่าเดิมในบางแง่ซะด้วยซ้ำ.!!!

ภาคขยายในตัว Vibelink Amp ใช้ชิปของ TI เบอร์ TPA3255 ซึ่งเป็นชิปเพาเวอร์แอมป์ class-D ประสิทธิภาพสูง ทำงานร่วมกับอ๊อปแอมป์ชิปเบอร์ OPA1612 ของ TI จำนวนหกตัว ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูง คือเฉพาะตัว TPA3255 มันให้กำลังขับออกมาได้สูงสุดถึง 315W ที่ 4 โอห์ม ในโหมด stereo โดยมีความเพี้ยนฮาร์มอนิกรวมอยู่ที่ 10% แต่ทางผู้ออกแบบ Vibelink Amp ไม่ใช้งาน TPA3255 เต็มกำลัง แต่ให้มันปั๊มกำลังขับออกมาสูงสุดแค่ 200W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม คือประมาณ 63% หน่อยๆ เมื่อเทียบกับความสามารถสูงสุดของชิป class-D ตัวนี้ ส่งผลให้ THD ลดต่ำกว่า 10% ลงมาเยอะ คือเหลืออยู่แค่ -105dB (A-Weight) @ 8 โอห์ม คิดออกมาได้ประมาณ 1% อันนี้รวม noise ที่มาจากภาค digital input แล้วด้วย.!!!

บวกกับการใช้เทคโนโลยี feedback แบบพิเศษที่พวกเขาใช้ชื่อเรียกว่า Post Filter Feedback Technology ซึ่งก็เป็นเทคนิคการใช้สัญญาณ feedback เข้ามาช่วยปรับการทำงานของภาคขยายของ Vibelink Amp ให้มีความเสถียรมากขึ้น ลดความเพี้ยน และทำให้ได้คุณภาพเสียงที่มีความสม่ำเสมอคงที่ตลอดเวลาแม้ว่าโหลดของลำโพงจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาก็ตาม ซึ่งตรงนี้ทำให้ได้ข้อดีของเสียงมาหลายอย่าง คือได้ทั้งเวทีเสียงที่เปิดกว้าง, ได้รายละเอียดที่พร่างพราย และให้ความรู้สึกอินไปกับการฟังเหมือนถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ในเพลงที่กำลังฟัง

ส่วนภาค DAC ที่อยู่ในตัว Vibelink Amp ใช้ชิป DAC ของค่าย ESS Technologies เบอร์ใหม่ ES9039Q2M (แอบแปลกใจว่าทำไมไม่ใช้ชิป DAC ของ TI ด้วย.??) เพื่อเอามาทำหน้าที่รองรับสัญญาณดิจิตัลจากช่องอินพุต optical และ coaxial เพื่อแปลงให้เป็นสัญญาณอะนาลอกด้วยกระบวนการแปลงสัญญาณแบบ bit-perfect ทุกระดับแซมปลิ้งเรตตั้งแต่ 44.1kHz ขึ้นไปจนถึง 192kHz โดยไม่มีการแตะต้องสัญญาณอินพุตเลย ทั้งนี้ก็เพื่อให้สัญญาณอินพุตมีความบริสุทธิ์ตั้งแต่ขาเข้าไปจนถึงขั้นตอนแปลงสัญญาณด้วยภาค DAC ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด

เซ็ตอัพเพื่อการทดสอบ #1
: สายเชื่อมต่อ

ตามปกติแล้ว การทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทแอมป์หรือเครื่องเล่น ผมจะเริ่มด้วยการทดลองใช้สายเชื่อมต่อที่แถมมากับอุปกรณ์เหล่านั้นก่อน เพื่อเช็คโทนเสียงแล้วค่อยทดลองเปลี่ยนสายเชื่อมต่อที่มีแบรนด์ต่างๆ เข้าไปทีหลังเพื่อวิเคราะห์ลักษณะเสียงและพฤติกรรมในการแม็ทชิ่งกับอุปกรณ์แวดล้อมอื่น

สายสัญญาณอะนาลอกที่แถมมากับ Vibelink Amp

สายสัญญาณดิจิตัล Optical ที่แถมมากับ Vibelink Amp

ในกล่องของ Vibelink Amp มีกล่องเล็กๆ ที่ใส่อุปกรณ์เสริมมาให้สองกล่อง ในนั้นมีสายเชื่อมต่อมาให้ 3 เส้น คือ สายสัญญาณอะนาลอก (RCA), สายดิจิตัล optical และสายไฟเอซี นอกนั้นก็เป็นขั้วต่อสายลำโพงแบบบายดิ้งโพสต์ที่แยกออกมาเป็นอะแด๊ปเตอร์ สังเกตว่าเขาไม่ได้ให้สายลำโพงมาด้วย แสดงว่าเราต้องจัดหามาเอง..

ผมเริ่มแม็ทชิ่งด้วยการจับ WiiMUltraมาทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณให้กับ WiiMVibelink Ampโดยใช้สายสัญญาณอะนาลอกที่แถมมากับ Vibelink Amp ในการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างเอ๊าต์พุตของ Ultra กับอินพุตของ Vibelink Amp เมื่อได้แหล่งต้นทางแล้ว ได้สายสัญญาณเชื่อมต่อระหว่างแหล่งต้นทางกับแอมป์แล้ว ขั้นต่อไปก็คือค้นหาสายลำโพงมาแม็ทชิ่งกัน ซึ่งผมคิดว่า การลงทุนกับสายลำโพงที่เหมาะสมกับ Ultra + Vibelink Amp คู่นี้อย่างมากก็ไม่ควรเกินเมตรละ 1,000 บาทน่าจะกำลังดี ส่วนตัวผมมีสายลำโพงในระดับราคานี้ใช้อ้างอิงในการทดสอบอยู่ 2 ชุด ชุดแรกเป็นของแบรนด์ Atlas จากประเทศสก๊อตแลนด์ รุ่น Equator 2.0 ราคา เมตรละ 550 บาท (สอบถามที่ร้าน HiFi Tower โทร. 02-881-7273) กับอีกชุดเป็นของญี่ปุ่น ชื่อแบรนด์ Furutech รุ่น FS-301 ราคา 700 บาทต่อเมตร (สอบถามที่บริษัท Clef Audio โทร. 02-932-5981)

ลองฟัง Vibelink Amp จับคู่กับสายลำโพง Atlas รุ่น Equator 2.0

ลองฟัง Vibelink Amp จับคู่กับสายลำโพง Furutech รุ่น FS-301

ผมนำสายลำโพงทั้งสองชุดนี้มาทดลองฟังกับซิสเต็มที่เตรียมไว้ โดยใช้ลำโพงสลับกันฟัง 2 คู่ ได้แก่ PSB รุ่น Alpha P3 กับ Focal รุ่น Vestia No.1

Vibelink Amp ขับลำโพง PSB รุ่น Alpha P3

Vibelink Amp ขับลำโพง Focal รุ่น Vestia No.1

มาถึงขั้นตอนนี้ ผมได้ข้อสรุปเบื้องต้นมา 2 ข้อ เริ่มจาก ข้อสรุปแรก > Vibelink Amp ขับลำโพงทั้งสองคู่ข้างต้นออกมาได้แบบสบายๆ ซึ่งตัว PSBAlpha P3นั้นไม่น่าแปลกใจเพราะราคาคู่ละไม่กี่พันบาท ขับไม่ยากอยู่แล้ว แต่กับ FocalVestia No.1นี่ซิ.. ราคาคู่นี้สี่หมื่นกว่าบาท อันนี้ไม่น่าเชื่อว่า Vibelink Amp จะสามารถขับออกมาได้ดีขนาดนั้น ถือว่าเป็นเครื่องยืนยันที่ทำให้กล้าสรุปว่า กำลังขับข้างละ 100W ที่ 8 โอห์ม ของ Vibelink Amp มันไม่ใช่ตัวเลขหลอก แต่มันใช้งานได้จริง.!!

ข้อสรุปที่สอง > เสียงที่ได้ยินจากการลองฟังเพลงมาหลายเพลงช่วงที่ทดลองแม็ทชิ่งสายลำโพง ทำให้สรุปได้ว่า สายลำโพงทั้งสองชุดนั้นไปกันได้ดีกับ Vibelink Amp ในทางเทคนิคคือมันทำให้ Vibelink Amp ขับลำโพงทั้งสองคู่ออกมาได้อย่างน่าพอใจ แตกต่างกันแค่สไตล์เสียง คือคู่ของ Vibelink Amp + AtlasEquator 2.0จะได้โทนเสียงออกไปทางนุ่ม เนียน เสียงกลางสวย เสียงร้องกังวานน่าฟัง เบสนุ่ม ในขณะที่คู่ของ Vibelink Amp + FurutechFS-301จะได้โทนเสียงโดยรวมออกไปทางสด กระชับ จริงจัง รายละเอียดโดดเด่นชัดเจน คุณภาพเสียงโดยรวมไม่ต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับสไตล์เพลงที่ฟัง ใครชอบแนวนุ่มไปทาง Atlas เลย ส่วนใครชอบแนวสดกระจ่างก็ไปทาง Furutech

อินพุต analog vs. อินพุต digital

ผมไปเห็นตัวเลขในสเปคฯ ของ Vibelink Amp แล้วสะกิดใจ อือมม.. คุณลองดูตัวเลขในแถบสีแดงซิ น่าแปลกใจ แสดงว่า ตัวเลขกำลังขับที่แจ้งว่า 100W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม และ 200W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม นั้น เขาวัดเมื่อป้อนสัญญาณอินพุต ดิจิตัลเข้าไปที่ Vibelink Amp ทางช่องดิจิตัลเท่านั้น แต่ถ้าป้อนสัญญาณอินพุต อะนาลอกเข้าไปที่ Vibelink Amp ทางช่องอินพุตอะนาลอก (RCA) จะได้กำลังขับออกมาแค่ 60W ที่ 8 โอห์ม และ 120W ที่ 4 โอห์ม เท่านั้น.!!?? (วัดที่ย่านความถี่ 20Hz – 20kHz ที่ความเพี้ยน THD = 1%)

เห็นแบบนั้น ผมงี้รีบวิ่งไปหยิบสายดิจิตัล Optical กับสาย Coaxial มาเสียบลองฟังเทียบกับอินพุตอะนาลอกทันที.!! ซึ่งสาย Optical นั้นผู้ผลิตแถมมาให้ในกล่อง ส่วนสาย Coaxial ไม่ได้ให้มา ต้องหามาลองเอง ในขั้นตอนแรกนี้ ผมลองฟังเทียบระหว่างอินพุตอะนาลอก โดยใช้สาย RCA ที่แถมมา กับอินพุต Optical โดยใช้สายไฟเบอร์อ๊อฟติคที่แถมมาเช่นกัน ผลปรากฏว่า เสียงของอินพุต Optical ให้ ความดังมากกว่าอินพุตอะนาลอกจริงๆ ฟังจากเพลงเดียวกันแล้วสลับอินพุตที่ Vibelink Amp เทียบอยู่หลายเพลงก็เป็นไปตามนั้นทุกเพลง แต่หลังจากพิจารณาความแตกต่างในแง่อื่น ผมพบว่า ถ้ามองในแง่ของ คุณภาพเสียง” แล้ว อินพุตอะนาลอกให้คุณเสียงดีกว่าช่อง Optical ค่อนข้างชัดเจน คือช่องอินพุตอะนาลอกให้ พื้นเสียงที่มี “ความโปร่งใส” (transparent) มากกว่าช่องอินพุต Optical ทำให้เสียงทั้งหมดมีลักษณะที่ชัดใสและลอยออกมามากกว่า บรรยากาศเปิดโล่งมากกว่า ปลายเสียงแผ่ออกไปได้อย่างเป็นอิสระมากกว่า ในขณะที่เสียงจากช่องอินพุต Optical จะมีลักษณะของการถูก boost ในย่านเสียงทุ้มขึ้นมา ทำให้เสียงโดยรวมมีลักษณะที่พองตัวออกมาเหมือนลูกโป่งที่ถูกอัดลมเข้าไปจนเต็ม ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเสียงที่เลวร้าย แต่เป็นเสียงที่รับรู้ได้ว่าถูกปรุงแต่งขึ้นมาให้มีความอิ่ม แน่น และนุ่มมากกว่าต้นฉบับ ซึ่งถ้าไม่เทียบกับช่องอินพุตอะนาลอก ผมคิดว่าหลายคนอาจจะชอบเสียงของช่องอินพุต Optical มากกว่าเสียงของช่องอินพุตอะนาลอก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเสียงของช่องอินพุต Optical ที่เขา boost มาก็ทำออกมาได้ดี เป็นการเพิ่มสีสันให้กับเสียงที่ไม่เกินเลย ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะว่าจะชอบแบบไหนมากกว่ากัน

ในเว็บไซต์ของผู้ผลิตมีพูดถึงประเด็นที่ว่า ถ้าเชื่อมต่อ Vibelink Amp เข้ากับทีวี เขาแนะนำให้เชื่อมต่อสัญญาณจากทีวีเข้าทางช่อง Optical เพื่อให้ได้เสียงจากภาพยนตร์และเกมส์ที่น่าตื่นเต้น จึงเป็นไปได้ว่า ที่ช่อง Optical ฟังดูเสียงแผ่เต็มและมีอาการลอยตัวมากกว่า แถมยังฟังดูว่ามีพลังอัดฉีดมากกว่าช่องอะนาลอกก็เพราะว่าที่อินพุต Optical มีการปรับ boost เสียงเอาไว้ ไม่ได้ flat เหมือนช่องอินพุตอะนาลอก และการ boost นั้นน่าจะมีการยก EQ ขึ้นไปเยอะจนส่งผลกระทบไปถึง gain รวมของสัญญาณอินพุตด้วย นั่นคือเหตุผลที่ช่องอินพุต optical และ coaxial ให้ตัวเลขกำลังขับออกมาสูงกว่าช่องอินพุตอะนาลอกตามที่ตัวเลขในสเปคฯ แจ้งไว้

การทดสอบประเด็นนี้ ได้ข้อสรุปว่า > ถ้าคุณมีแหล่งต้นทางสัญญาณที่ดี อย่างเช่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือเครื่องเล่นซีดี และต้องการได้ยิน คุณภาพเสียงที่ดีออกมาจาก Vibelink Amp ตัวนี้ แนะนำให้เชื่อมต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจากแหล่งต้นทางของคุณเข้าไปที่อินพุต อะนาลอกของ Vibelink Amp ด้วยสายสัญญาณอะนาลอกที่มีคุณภาพสูงๆ ที่จะไม่ทำให้ gain ของสัญญาณจากแหล่งต้นทางต้องดรอปลง (gain สัญญาณอินพุตมีผลกับกำลังขับของ Vibelink Amp โดยตรง)

ผมทดลองแม็ทชิ่งสายสัญญาณที่มีคุณภาพสูงๆ เข้าไปแทนที่สายสัญญาณที่แถมมากับ Vibelink Amp เพื่อดูว่ามันจะช่วยทำให้เสียงของช่องอินพุตอะนาลอกของ Vibelink Amp ออกมาดีขึ้นแค่ไหน หลังจากทดลองฟังดูแล้ว ผมพบว่า กับสายสัญญาณที่มีราคา 2 – 3 พันบาท จะให้คุณภาพเสียงดีกว่าสายแถมนิดหน่อย ถ้าจะให้เห็นความแตกต่างแบบชัดเจนต้องขยับไปเป็นสายสัญญาณที่มีระดับราคาประมาณ 5 – 7 พันบาท ซึ่งน่าจะสุดทางแล้วสำหรับ Vibelink Amp ตัวนี้ ยกตัวอย่างสายสัญญาณ Kimber Kable รุ่น Timbre ที่ผมเอามาทดลองฟังเทียบ ราคาคู่ละ 7 พันกว่าบาท พบวามีส่วนช่วยเปิดเผยคุณภาพเสียงของ Vibelink Amp ออกมาได้หมดจดมากกว่าสายแถมอย่างเห็นได้ชัด แต่พอเอาสายสัญญาณอีกตัวที่มีราคาคู่ละหมื่นนิดๆ เข้ามาแทนคิมเบอร์ ปรากฏว่า เสียงโดยรวมดีขึ้นแค่นิดหน่อยเท่านั้น (*แนะนำ > ถ้าใช้หลักเศรษฐศาสตร์คำนวนเปรียบเทียบ สำหรับคนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง กับสายสัญญาณของ Kimber Kable ที่มีราคาเกินครึ่งของ Vibelink Amp ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนอัพเกรดสายสัญญาณ แนะนำให้ทดลองฟังเสียงดูก่อนว่าคุณพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้เพิ่มขึ้นมาหรือไม่)

ทดลองแม็ทชิ่ง Source กับ Vibelink Amp

มีเพื่อนๆ แฟนเพจของผมร้องขอมาเยอะว่าอยากให้ทดลองแม็ทชิ่งสตรีมเมอร์แบรนด์อื่นเข้ากับ Vibelink Amp ด้วย ขออนุญาตจัดให้ตรงนี้เลย..

สตรีมเมอร์ที่นำมาทดลองแม็ทชิ่งกับ Vibelink Amp ครั้งนี้มีทั้งหมด 5 ตัว คือ

1. WiiM รุ่น Ultra (ราคา 14,990 บาท / REVIEW)
2. Bluesound รุ่น NODE Nano (ราคา 11,900 บาท)
3. Bluesound รุ่น New NODE (ราคา 24,900 บาท / REVIEW)
4. Bluesound รุ่น NODE 2024 (ราคา 25,400 บาท)
5. Wattsound Audio รุ่น Emerson DIGITAL (ราคา 60,000 บาท / REVIEW)

โดยที่ผมใช้การเชื่อมต่อระหว่างสตรีมเมอร์แต่ละตัวเข้ากับ Vibelink Amp ผ่านทางช่องทาง analog ทั้งหมด ยกเว้นตัว Emerson DIGITAL ของ Wattson Audio ที่ใช้การเชื่อมต่อผ่านทางช่อง Coaxial โดยใช้สายโคแอ็กฯ ของ Kimber Kable รุ่น Illumination DV75 ซึ่งผมตั้งใจเอามาใช้วัดประสิทธิภาพของช่องอินพุต COAX in ของตัว Vibelink Amp โดยเฉพาะ

ข้อสรุปที่ได้จากการจับคู่ลองฟัง สตรีมเมอร์ทั้ง 4 ตัวกับ Vibelink Amp

ข้อสรุปแรก > สตรีมเมอร์ WiiMUltraกับ BluesoundNODE Nanoมีราคาใกล้เคียงกัน เมื่อลองสลับจับคู่กับ Vibelink Amp ผมพบว่า โทนเสียงออกมาต่างกันชัดเจน คู่ Vibelink Amp + Ultra จะออกโทนสดใส กระจ่าง ปลายแหลมเปิด ในขณะที่คู่ Vibelink Amp + NODE Nano ให้โทนเสียงออกไปทางนุ่มนวล ราบลื่น ปลายเสียงแหลมมีลักษณะโรยตัว ถ้าเทียบกับแสง คู่แรกสว่างกว่าในขณะที่ที่คู่หลังออกแนวสลัวลงมาเล็กน้อย ในแง่ไดนามิกคู่แรกออกแนวคึกคัก ในขณะที่คู่หลังจะไปทางสงบเสงี่ยม ซึ่งผลรวมทางด้าน คุณภาพเสียงไม่ต่างกันมาก เชื่อว่าถ้าได้มีโอกาสทดลองฟังเทียบกันคุณจะเลือกได้ไม่ยาก

ข้อสรุปที่สอง > ทดลองใช้สตรีมเมอร์ BluesoundNew NODEรุ่นปี 2023 กับรุ่นใหม่ NODE 2024 ฟังเทียบกับ WiiMUltraและ BluesoundNODE Nanoเพื่อดูว่า ถ้าอัพเกรดสตรีมเมอร์ที่สูงขึ้นไปอีกระดับกับ Vibelink Amp จะได้เสียงออกมาแบบไหน.? ผลคือ โทนเสียงที่ออกมาไปในแนวทางเดียวกับ Vibelink Amp + ‘NODE Nanoคือออกไปทางนุ่มนวล ลื่นไหล แต่ในแง่ คุณภาพเสียงโดยรวมของคู่ Vibelink Amp + ‘NODE 2024‘ ออกมาดีกว่าคู่ของ Vibelink Amp + ‘NODE Nanoมากพอสมควร ถามว่าคุ้มมั้ยกับการอัพฯ สตรีมเมอร์ขึ้นไประดับ 2 – 3 หมื่นบาท กับ Vibelink Amp คำตอบคือ คุ้มถ้าคุณเป็นคนเล่นเครื่องเสียงที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องของ คุณภาพเสียงมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าคนทั่วไปก็ขึ้นอยู่กับมุมมองในแง่ของการลงทุน vs. ความสามารถในการรับฟัง + ความต้องการส่วนตัว

ข้อสรุปที่สาม > จากการทดลองใช้ตัว Network Bridge ของ Wattson AudioEmerson DIGITALเชื่อมต่อกับ Vibelink Amp ทางช่องอินพุต COAX in พบว่า เสียงออกมาดีกว่าช่องอินพุต Optical มาก.! ต่างกันเยอะเลย แสดงว่าช่องอินพุต Optical เขา boost มาคนละแบบกัน เสียงของช่องอินพุต COAX ของ Vibelink Amp ถ้าได้สัญญาณดิจิตัลที่มีคุณภาพสูงๆ จะออกมาดีน่าพอใจ โทนัลบาลานซ์ออกมาดีกว่าช่อง Optical แต่ในแง่ของการลงทุนคิดว่าไม่คุ้มเมื่อเทียบราคาของ Vibelink Amp กับ Emerson DIGITAL (*ถ้าคุณใช้เครื่องเล่นซีดีกับ Vibelink Amp แนะนำให้ทดลองจับคู่กันผ่านช่องอินพุต COAX)

สรุป

เกี่ยวกับตัว Vibelink Amp ต้องขอสรุปว่า เป็นอินติเกรตแอมป์ที่มีประสิทธิภาพสูง เกินราคาไปมาก.! ทั้งงานสร้าง ฟังท์ชั่น และเสียง แต่ก็มีข้อด้อยอยู่ตรงที่ไม่มีรีโมทไร้สายมาให้ (อนาคตไม่แน่ใจว่าอาจจะอัพเฟิร์มแวร์ให้ใช้รีโมทได้ก็เป็นได้) จุดเด่นที่ทำให้ Vibelink Amp แตกต่างจากอินติเกรตแอมป์ราคาไม่แพงทั่วไปก็คือดีไซน์ที่เน้นคุณภาพเสียงในหลายๆ จุด ซึ่งถูกใจนักเล่นเครื่องเสียงเป็นพิเศษ

อีกเรื่องที่มีคนสนใจกันเยอะ นั่นคือการนำ Vibelink Amp ไปใช้ในซิสเต็ม 2.1 Ch ที่มีแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์ แต่เนื่องจากตัว Vibelink Amp ไม่มีทั้งช่อง Sub Out และช่อง Pre-out โดยตัวมันเองจึงไม่สามารถนำไปใช้กับระบบลำโพง 2.1 Ch ได้ ซึ่งถ้าต้องการนำไปใช้กับระบบลำโพง 2.1 Ch ที่ประกอบด้วยลำโพงซ้ายขวาที่เป็นพาสซีฟหนึ่งคู่ บวกกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เป็นแบบแอ๊คทีฟอีกหนึ่งตัว ก็ต้องอาศัยสัญญาณ Sub-out จากตัวสตรีมเมอร์ที่มีฟังท์ชั่นนี้มาให้เพื่อป้อนให้กับลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ โดยปรับตั้งค่าของสัญญาณที่ส่งไปให้ซับฯ จากตัวสตรีมเมอร์ แต่จุดที่ยากคือการแม็ทชิ่ง gain ของวอลลุ่ม ซึ่งต้องเปลี่ยนไปใช้การปรับเพิ่ม/ลดความดังผ่านทางวอลลุ่มของตัวสตรีมเมอร์แทนวอลลุ่มของตัว Vibelink Amp ที่ต้องปรับค้างไว้

Recommended!!!

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นเครื่องเสียง แต่อยากได้ชุดฟังเพลงที่มีคุณภาพดี ฟังเพลงทั่วไปได้ไพเราะ ผมจัดชุดมาแนะนำตามภาพข้างบน แหล่งต้นทางคือสตรีมมิ่ง ซึ่งมีให้เลือก 2 ตัว คือ Bluesound รุ่น NODE Nano สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงช้าๆ หวานๆ ออกแนวนุ่มนวล อีกตัวคือ WiiM รุ่น Ultra ที่ออกมาคู่กัน สำหรับคนที่ชอบแนวเสียงสนุก รุกเร้า สด รายละเอียดระยิบระยับ ส่วนสายสัญญาณแนะนำให้ใช้สายอะนาลอกที่แถมมาในกล่องของ Vibelink Amp นั่นแหละ ทางด้านลำโพง แนะนำให้เลือกลำโพงที่มีราคา ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคู่ ซึ่งมีให้เลือกหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Wharfedale, Mission, PSB, AE, Elac และ Triangle ส่วนรุ่นให้ดูที่สเปคฯ ลำโพงตรงหัวข้อ ความไว” (Sensitivity) ต้อง ไม่ต่ำกว่า 88dB ที่ 8 โอห์ม ยิ่งสูงยิ่งขับง่าย และให้ดูที่ตัวเลข กำลังขับที่แนะนำ” (Power Recommended) โดยดูที่ตัวเลข สูงสุดที่ลำโพงคู่นั้นแนะนำให้อยู่ในช่วง ไม่เกิน 120W ต่อข้าง ที่ 8 โอห์ม (โดยมากจะระบุเป็นช่วงตั้งแต่ ต่ำสุดไปถึง สูงสุด) ส่วนสายลำโพงมีให้เลือก 2 แบรนด์ ที่ผมทดลองฟังมาแล้ว คือ Atlas รุ่น Equator 2.0 ราคา เมตรละ 550 บาท กับอีกแบรนด์คือ Furutech รุ่น FS-301 ราคา เมตรละ 700 บาท ซึ่งใช้จริงๆ ข้างละ 2 เมตร ก็น่าจะพอ ใครกลัวยาวไม่พอจะเผื่อเป็นข้างละ 2.5 เมตร ก็ได้ สนนราคาค่าสายลำโพงก็ไม่น่าจะเกิน 4 พันบาท ส่วนความแตกต่างระหว่างสองแบรนด์นี้อยู่ที่สไตล์เสียง คือตัว Atlas จะออกไปทางนุ่มนวล เนียนๆ สะอาดๆ เหมาะกับเพลงช้าๆ หวานๆ นุ่มๆ เสียงลอยโปร่ง ส่วน Furutech แนวเสียงจะไปทางสด กระจ่าง ไดนามิกสวิงกว้าง โฟกัสชัดเจน ก็ให้เลือกเอาตามแนวเพลงและสไตล์เสียงที่คุณชอบ ถ้าเป็นนักเล่นฯ มือใหม่ก็ถือว่าใช้เป็นชุดครูในการเรียนรู้การเล่นเครื่องเสียงได้เลย ส่วนคนทั่วไปชุดนี้จะทำให้เพลงที่คุณเคยชอบมันออกมาน่าฟังมากกว่าที่เคย สรุปแล้ว งบรวมๆ สำหรับเซ็ตนี้อยู่ราวๆ 58,xxx61,xxx บาท

เซ็ตข้างบนนี้จะให้เสียงโดยรวมออกมาดีกว่าเซ็ตแรกอย่างชัดเจน ดีในระดับที่นักเล่นเครื่องเสียงยอมรับได้เลย ตัวยืนในเซ็ตก็คือ Vibelink Amp ตัวเดียวกัน แต่อัพเกรดสตรีมเมอร์เป็น Bluesound รุ่นใหญ่ขึ้นมาอีกขั้น นั่นคือรุ่น NODE 2024 ราคาสองหมื่นกลางๆ กับลำโพงที่อัพเกรดขึ้นมาเป็นคู่ละเกือบห้าหมื่น ซึ่งจากที่ทดลองฟังมา คิดว่าลำโพงที่แพงกว่านี้ขึ้นไปก็เริ่มจะโหลดความสามารถของ Vibelink Amp แล้ว ลำโพงที่น่าจะไปได้สุดทางสำหรับ Vibelink Amp ควรจะมีราคา ไม่เกินคู่ละ 60,000 บาท เมื่อคำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ออกมาในเกณฑ์ที่ดีน่าพอใจ ส่วนสายสัญญาณที่เชื่อมต่อระหว่าง Vibelink Amp กับ BluesoundNODE 2024แนะนำให้เชื่อมต่อทางช่องอะนาลอก อินพุต ส่วนสายสัญญาณแนะนำให้เริ่มต้นด้วยสายแถมก่อน ทางด้านสายลำโพงก็แนะนำให้เริ่มต้นด้วยแบรนด์ Atlas หรือ Furutech รุ่นเดียวกับเซ็ตแรกนั่นแหละ

ลำโพงที่ แพงกว่า 50,000 บาทต่อคู่ขึ้นไป กับสตรีมเมอร์ที่มี ราคาสูงกว่า 2 หมื่นกลางๆ ขึ้นไป ก็ทำให้เสียงของ Vibelink Amp ดีขึ้นไปอีกได้ แต่คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นจะเริ่มไม่เป็นไปในสัดส่วนเดียวกับราคาของลำโพงและสตรีมเมอร์ที่จ่ายไป

คำแนะนำสุดท้าย > ด้วยราคาขายที่ ต่ำมากของอินติเกรตแอมป์ WiiMVibelink Ampตัวนี้ มันจึงได้รับคำชมมากมาย ไม่ใช่เฉพาะจากที่นี่ แต่จากสื่อทั่วโลก ซึ่งอาจจะทำให้คุณตั้งความหวังไว้สูงกว่าความเป็นจริงก็ได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อ แนะนำให้คุณหาโอกาสไปทดลองฟังเสียงของมันดูก่อน แต่ถ้าหาโอกาสลองฟังยาก และอยากจะได้คำยืนยันจากผู้ทดสอบอย่างผม ผมก็พูดได้แค่ว่า สิ่งที่แอมป์ตัวนี้ให้ออกมานั้น มันมากเกินกว่าเงินหมื่นกว่าบาทที่เป็นค่าตัวของมันไปไกลลิบเลยล่ะ..!!!

*****HIGHLY RECOMMENDED!*****
สำหรับ
อินติเกรตแอมป์พร้อม DAC ในตัว ที่มีราคา ไม่เกิน 15,000 บาท

**********************
ราคา : 13,990 บาท / ตัว
**********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
. Sound Republic by Home HiFi
โทร. 02-448-5489
facebook: soundrepublic

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า