รีวิว Innuos รุ่น PULSEmini

ดูเหมือนว่า สตรีมเมอร์ที่มี DAC ในตัว และสามารถทำตัวเป็น สตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ตได้ด้วย จะเป็นตัวเลือกที่ลงตัวกับความต้องการหลายๆ รูปแบบ คือไม่ว่าจะเป็นซิสเต็มที่ยังไม่มีสตรีมเมอร์เลย ก็สามารถอาศัยสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของสตรีมเมอร์ตัวนั้นมาใช้งานร่วมกับช่องอะนาลอก อินพุตของซิสเต็มเดิมๆ ที่ใช้อยู่ได้ หรือคนที่ใช้อินติเกรตแอมป์สมัยใหม่ที่มีภาค DAC คุณภาพสูงอยู่ในตัวก็สามารถอาศัยสัญญาณ digital out จากสตรีมเมอร์ตัวนั้นไปใช้เป็นสัญญาณอินพุตสำหรับภาค DAC ในตัวแอมป์ที่มีอยู่ได้ หรือแม้แต่คนที่ใช้ชุดแยกชิ้นที่มี external DAC ใช้งานอยู่แล้ว อย่างเช่น ต่อกับ CD Transport อยู่แล้ว จะเอาสตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ตที่ว่านี้ไปจับคู่กับ external DAC ที่มีอยู่เดิมเพื่อฟังเพลงจากการสตรีมไฟล์เพลงก็ได้

Innuos PULSEmini
ความลงตัวระหว่างฮาร์ดแวร์ + ซอฟท์แวร์

ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้ คุณจะพบว่า Innuos เป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์ประเภท digital front-end ที่เก่งทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ที่ผมกล้าพูดแบบนี้ก็เพราะว่าปัจจุบันผมใช้ตัวสตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ตรุ่น PULSE ของแบรนด์นี้เป็นตัวอ้างอิงอยู่ในซิสเต็มของผม (REVIEW) ซึ่งมันทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยม ให้เสียงออกมาในระดับที่ผมพอใจมาก คุณภาพเสียงของ PULSE สูงกว่า Roon nucleus+ ที่ผมเคยใช้เป็นตัวอ้างอิงขึ้นไปอีกระดับ

Innuos มีผลิตภัณฑ์แยกเป็น 3 ระดับ 3 ซีรี่ย์ คือ PULSE Series, Zen Series และ Statement ซึ่งแม้ว่า PULSE จะเป็นอนุกรมที่เล็กสุดของแบรนด์นี้ แต่เนื่องจากโพสิชั่นของแบรนด์นี้ตั้งอยู่ในระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะเป็นซีรี่ย์เล็กสุด แต่ทางด้านโพสิชั่นของตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ตัวเล็กสุดของซีรี่ย์ PULSE คือรุ่น PULSEmini ที่ผมกำลังทำรีวิวตัวนี้ก็จัดอยู่ในระดับกลางถึงกลางสูง เมื่อใช้ ราคาในการจัดระดับ (* PULSEmini ราคาตัวละ 55,000 บาท)

ตัวถังของ PULSEmini ออกมาในลักษณะ half-size ตามความนิยมของยุคสมัย คือมีหน้ากว้างประมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องเสียงเข้าแร๊คมาตรฐาน 17 นิ้ว ในขณะที่รูปร่างภายนอกก็ออกแบบเรียบง่ายมาก แผงหน้าไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ เลย แผงหน้าทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียมหนา กัดด้วย CNC ออกมาให้มีลักษณะเป็นเหลี่ยมนูนและลาดสโลปต่างระดับ ดูเก๋ดี ผิวนอกทำเป็นสีดำด้านๆ ที่มุมซ้ายขวาบนตัวถังเยื้องมาทางด้านหน้ามีพิมพ์ตัวอักษรและโลโก้สีขาวเป็นชื่อยี่ห้อกับชื่อรุ่นแยกไว้คนละด้าน

1. ช่องเสียบไฟ DC จากอะแด๊ปเตอร์ที่แถมมา
2. ช่องดิจิตัล เอ๊าต์พุต coaxial
3. ช่องดิจิตัล เอ๊าต์พุต optical
4. ช่องเอ๊าต์พุต analog
5. ช่องเสียบ USB จำนวน 4 ช่อง สำหรับฮาร์ดดิสและเอ๊าต์พุต
6. ช่องอินพุตสำหรับสัญญาณ Ethernet จาก Router
7. ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับสัญญาณ Ethernet
8. ช่อง HDMI สำหรับการตรวจเช็คโดยเฉพาะ

กรณีที่ใช้งาน PULSEmini ในสถานะของสตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ต ผู้ผลิตเขาจัดช่องดิจิตัล เอ๊าต์พุตมาให้เลือกใช้ทั้งหมด 3 ช่อง ได้แก่ coaxial, optical และ USB โดยที่ช่อง coaxial กับ optical ของ PULSEmini ควบคุมการทำงานด้วยมาตรฐาน S/PDIF สามารถส่งออกได้เฉพาะสัญญาณ PCM สูงสุดได้ถึงระดับ 24/192 ในขณะที่ช่องเอ๊าต์พุต USB (จะใช้ช่องใดช่องหนึ่งก็ได้ในจำนวน 4 ช่อง ที่ให้มา) นั้นจะให้สัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ได้กว้างมาก คือถ้าเป็นตระกูล PCM จะปล่อยออกได้ตั้งแต่ 44.1kHz ขึ้นไปจนถึง 768kHz ส่วนตระกูล DSD จะส่งออกได้ 2 รูปแบบขึ้นอยู่กับ DAC ที่ใช้งานร่วมกัน คือถ้าใช้กับ DAC ที่รองรับสัญญาณ DSD ด้วยฟอร์แม็ต DoP (DSD-over-PCM) จะส่งออกได้สูงสุดถึงระดับ DSD256 แต่ถ้าใช้กับ DAC ที่รองรับสัญญาณ DSD แบบ native ได้ จะสามารถส่งสัญญาณ DSD จากเอ๊าต์พุต USB ของ PULSEmini ออกไปได้สูงสุดถึงระดับ DSD512 เลยทีเดียว.!

แต่ถ้าคุณเลือกใช้บริการในการแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอกผ่านภาค DAC ในตัว PULSEmini ทางผู้ผลิตเขาจัดเอ๊าต์พุตสำหรับสัญญาณอะนาลอก สเตริโอไว้ให้ใช้ผ่านขั้วต่อ RCA ส่วนทางด้านอินพุตนั้น เขามีช่อง Ethernet สำหรับเชื่อมต่อสายแลนมาให้ 2 ช่อง โดยช่องที่พิมพ์กำกับไว้ว่า ‘LANนั้นคือช่องที่ให้ต่อเชื่อมสัญญาณเน็ทเวิร์คจาก Router ตรงเข้ามาที่ช่องนี้ ส่วนอีกช่องที่พิมพ์กำกับไว้ว่า ‘ETHERNETนั้นมีไว้เพื่อ ส่งออกสัญญาณเน็ทเวิร์คไปให้กับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ (*คือช่องนี้ทำหน้าที่เป็น network bridge นั่นเอง)

PULSEmini ใช้ไฟเลี้ยงขนาด 12V/5A ที่ส่งมาจากตัว AC/DC อะแด๊ปเตอร์ แบบ Low ripple ที่แถมมาให้ในกล่อง

ดีไซน์ภายใน

อย่างที่เกริ่นมาข้างต้นว่า แบรนด์ Innuos เจ้านี้เขาเก่งทั้งด้านซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ เขามีทีมโปรแกรมเมอร์มือฉมังที่ช่วยกันสร้างแพลทฟอร์ม OS (Operating System) ที่ชื่อว่า InnuOS ซึ่งออกแบบโดยเน้นที่คุณภาพการเล่นไฟล์เพลงผ่านทางเน็ทเวิร์คขึ้นมาเป็นของตัวเอง และเพื่อให้แพลทฟอร์มนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่จริงๆ พวกเขาจึงต้องลงมือออกแบบส่วนของฮาร์ดแวร์ขึ้นมาใช้เองด้วย ไม่ได้ไปหยิบเอาเน็ทเวิร์ค การ์ดของแบรนด์อื่นๆ ที่ทำออกมาสำหรับงานไอทีมาดัดแปลงใช้

แผงวงจรหลักหรือ motherboard ที่ติดตั้งส่วนการทำงานหลักๆ ของ PULSEmini ถูกออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษ ลักษณะการออกแบบเน้นความกระทัดรัดเพื่อให้การทำงานที่รวดเร็ว และเพื่อให้ได้ความสงัดอย่างเต็มที่ ไม่ให้มี noise จากเสียงรบกวนรอบด้าน พวกเขาจึงออกแบบการทำงานโดยไม่ต้องใช้พัดลมระบายความร้อน เพื่อประสิทธิภาพในการคำนวนที่รวดเร็วและแม่นยำ พวกเขาจึงเลือกใช้โปรเซสเซอร์แบบ quad-core ที่มีประสิทธิภาพสูงของ Intel เบอร์ N4200 และใช้โมดูลฮาร์ดดิส SSD ระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับติดตั้งโปรแกรมระบบปฏิบัติการณ์ (Operating System) ใช้ RAM ระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนาด 4G เพื่อความเสถียรในการทำงานของระบบปฏิบัติการณ์และแบ่งไปใช้สำหรับการเพลย์แบ็คด้วย RAM (Ram playback)

นอกจากจะทำหน้าที่เป็น Network Bridge คือแปลงไฟล์เพลงที่รับเข้ามาทาง Ethernet ให้ออกมาเป็นสัญญาณดิจิตัลเพื่อส่งออกไปทางช่องดิจิตัลเอ๊าต์พุต coaxial, optical และ USB แล้ว พวกเขายังได้จัดให้มีภาค DAC ในตัวเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตัล PCM ให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกอีกหนึ่งอ๊อปชั่นให้คุณเลือกใช้ด้วย ซึ่งภาค DAC ในตัว PULSEmini นี้ออกแบบบนพื้นฐานของชิป TI เบอร์ PCM5102 ที่สามารถรองรับสัญญาณดิจิตัลได้ถึงระดับ 24/192 และส่งผ่านสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตออกมาทางขั้วต่อ RCA

การเชื่อมต่อ PULSEmini เข้ากับชุดเครื่องเสียง

สามารถเชื่อมต่อ PULSEmini เข้ากับชุดเครื่องเสียงของคุณได้ 2 ลักษณะหลักๆ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ แอมปลิฟายที่คุณใช้อยู่ในซิสเต็ม กรณีแรกตามภาพด้านบน เป็นการเชื่อมต่อ PULSEmini เข้ากับอินติเกรตแอมป์ทั้งประเภทที่มีภาค DAC ในตัวและอินติเกรตแอมป์ประเภทที่เรียกว่า pure analog คือไม่มีภาค DAC ในตัว

ถ้านำ PULSEmini ไปใช้กับอินติเกรตแอมป์ที่มี DAC ในตัวซึ่งโดยมากก็จะมีช่องอินพุตอะนาลอกมาให้ด้วย กรณีนี้คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วิธีต่อเชื่อมสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ของ PULSEmini เข้าทางอินพุต coaxial (ลูกศรสีม่วง) หรือ optical (ลูกศรสีแดง) หรือจะใช้เอ๊าต์พุตจากช่อง Analog ของ PULSEmini ไปต่อเข้าที่อินพุตอะนาลอกของอินติเกรตแอมป์ (ลูกศรสีเขียว) ก็ได้ ซึ่งตัดสินฟันธงไม่ได้ว่าต่อเชื่อมแบบไหนให้เสียงดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง หลักๆ ก็คือ คุณภาพของภาค DAC ในตัว PULSEmini เทียบกับคุณภาพของภาค DAC ในตัวอินติเกรตแอมป์ของคุณ ซึ่งต้องลองประเมินเปรียบเทียบกันดู ถ้าสามารถลองฟังเทียบได้ก็คือดีที่สุด

ภาพข้างบนคือกรณีที่นำ PULSEmini ไปใช้กับ external DAC ซึ่งมีทางเลือกให้เชื่อมต่ออยู่ 2 อินพุต ที่สามารถทำได้คือทางช่อง coaxial (ลูกศรสีแดง) หรือช่อง optical (ลูกศรสีชมพู) ซึ่งโดยมากแล้วทางช่อง coaxial จะให้เสียงออกมาดีกว่าทางช่อง optical แต่ถ้าสามารถทดลองฟังเทียบกันได้ก็จะดีที่สุด

เซ็ตอัพซิสเต็มเพื่อการทดลองฟังเสียง

ผมทดลองใช้อินติเกรตแอมป์ของ Audiolab รุ่น 9000A (REVIEW) เป็นหนูทดลองให้กับ PULSEmini เพราะ 9000A มีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการรองรับอินพุตของ PULSEmini ครบทั้งดิจิตัลและอะนาลอก และที่เจ๋งคือ แม้ว่าตัว 9000A จะเป็นอินติเกรตแอมป์ แต่มันมีโหมดการทำงานมาให้เลือก 3 โหมด คือ โหมดอินติเกรตแอมป์, โหมดปรี+เพาเวอร์ และโหมดปรีแอมป์อย่างเดียว ซึ่งโหมดปรีแอมป์นี้จะปิดภาคเพาเวอร์แอมป์ทิ้งไปเลยเพื่อสงวนภาคจ่ายไฟไว้ให้กับการทำงานของปรีแอมป์เต็มๆ และช่วยลด noise ไปในตัวด้วย

ในการทดลองฟังครั้งนี้ ผมเลือกให้ 9000A ทำงานในโหมด ‘Preเพื่อตัดการทำงานของภาคเพาเวอร์แอมป์ออกไป..

ส่วนเพาเวอร์แอมป์ที่จับกับภาคปรีฯ ของ 9000A ผมมีสลับใช้อยู่ 2 ตัว ตัวแรกเป็นเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตท class-AB ของ QUAD รุ่น Artera Stereo กำลังขับ 140W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม โดยใช้ขับลำโพง KEFQ7 Metaที่ผมเพิ่งจะทำรีวิวไป (REVIEW) ราคาคู่ละ 79,900 บาท ส่วนตัวที่สองเป็นแอมป์โซลิดสเตท class-D ของ NAD รุ่น C298 กำลังขับ 185W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม โดยใช้ขับลำโพง Canton รุ่น Reference 5 ซึ่งเพิ่งเข้ามาใหม่แต่ลำโพงผ่านการเบิร์นฯ มาแล้ว คู่นี้ราคาประมาณสี่แสนกว่า (เป็นลำโพงตั้งพื้นทั้งสองคู่)

ในการทดลองฟังเสียงของ PULSEmini ผมทำการเชื่อมต่ออินพุต Ethernet ด้วยสายแลน Cat.8 ของคุณอึ่ง (บนสุด) โดยดึงสัญญาณเน็ทเวิร์คผ่าน network switch รุ่น StreamBRIDGE-X ของ Clef Audio ที่แชร์เน็ทเวิร์คมาจาก Router อีกทีเพื่อขจัด noise ของเน็ทเวิร์คออกไป ส่วนฝั่งเอ๊าต์พุตของ PULSEmini ผมเชื่อมต่อไปที่ 9000A เกือบทุกช่อง (ยกเว้นแค่ optical) โดยใช้สาย USB ของ Nordost รุ่น Blue Heaven เชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุต USB ของ PULSEmini ไปเข้าที่อินพุต PC USB ของ 9000A และใช้สายดิจิตัล โคแอ็กเชี่ยล 75 โอห์มรุ่น Illuminati DV75 ของ Kimber Kable เชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุต coaxial ของ PULSEmini ไปเข้าที่อินพุต coaxial ของ 9000A และสุดท้าย ใช้สายอะนาลอกของ Nordost รุ่น Blue Heaven เวอร์ชั่น Leif 3 ตัวใหม่ล่าสุดจากช่องเอ๊าต์พุต Analog ของ PULSEmini ไปเข้าที่อินพุต AUX 1 ของ 9000A ส่วนไฟเลี้ยงผมใช้ภาคจ่ายไฟอะแด๊ปเตอร์ของ PULSEmini ที่แถมมา

แอพลิเคชั่น SENSE App

สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้งานอุปกรณ์เล่นไฟล์เพลงที่เรียกว่าสตรีมเมอร์มาก่อน ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า PULSEmini ไม่มีรีโมทไร้สายมาให้ควบคุมการทำงานของมันเหมือนกับเครื่องเล่นซีดีในอดีต คุณต้องควบคุมการทำงานของสตรีมเมอร์ตัวนี้ผ่านทาง แอพลิเคชั่น บนอุปกรณ์พกพาของคุณเท่านั้น ซึ่งแอพลิเคชั่น SENSE ตัวนี้เป็นซอฟท์แวร์แอพลิเคชั่นแบบ all-in-one ที่ Innuos สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้ทำหน้าที่ครบทั้ง 2 หน้าที่หลัก อย่างแรกคือ ทำหน้าที่เป็น app control ด้วยการ ปรับตั้งฟังท์ชั่นการทำงานของตัวเครื่อง PULSEmini ส่วนอีกหน้าที่ก็คือเป็น app player คือใช้ในการ เล่นไฟล์เพลงอยู่ในแอพฯ เดียวกัน โดยมีให้เลือกดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android

ผมดาวน์โหลดแอพ SENSE มาลงบน iPad ของผมเพื่อใช้ในการควบคุมการทำงาน และใช้เล่นไฟล์เพลงผ่าน PULSEmini ในการทดสอบครั้งนี้ หลังจากเปิดแอพฯ ขึ้นมาครั้งแรก แอพ SENSE จะเริ่มต้นทำงานด้วยการสแกนหาตัวสตรีมเมอร์ Innuos ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกับอุปกรณ์พกพาที่ลงแอพฯ ไว้ เมื่อตรวจพบก็จะแสดงชื่อของสตรีมเมอร์ตัวนั้นขึ้นมาให้เห็น ตามภาพด้านบนนั้น ผมได้ติดตั้งสตรีมเมอร์อยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกัน 2 ตัวคือ รุ่น PULSE กับรุ่น PULSEmini ต้องการใช้งานสตรีมเมอร์ตัวไหนก็จิ้มเลือกลงไปที่ชื่อสตรีมเมอร์ตัวนั้นเลย

หน้า HOME

หลังจากจิ้มเลือกไปที่ PULSEmini แอพ SENSE จะพาคุณมาที่หน้าโฮม (HOME) เป็นลำดับแรก ซึ่งแอพฯ ตัวนี้จะแบ่งหน้าที่หลักๆ แยกออกเป็น 4 หน้าหลัก (ในกรอบสีแดงที่อยู่ด้านล่างของหน้า HOME ตามภาพข้างบน) เริ่มจาก HOME, MUSIC, SYSTEM และ SEARCH ซึ่งคุณสามารถปรับตั้งให้หน้าโฮมนี้แสดงแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่คุณชอบฟังขึ้นมาโชว์เป็น short cut ได้เพื่อให้สะดวกในการเลือกฟังครั้งต่อไป

หน้า MUSIC

หน้านี้เป็นที่รวบรวมแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่คุณจะเลือกมาฟังทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ‘MY LIBRARY’ (ลูกศรสีเขียว) ตรงนั้นจะแสดงไฟล์เพลงที่รวบรวมมาจากไฟล์เพลงที่คุณเก็บไว้ใน NAS และไฟล์เพลงที่คุณเลือกจากผู้ให้บริการอย่าง TIDAL โดยแยกการรวบรวมของเพลงทั้งหมดออกเป็นประเภทๆ เช่น ALBUMS, ARTISTS, TRACKS, NEW MUSIC, PLAYLISTS และ FOLDERS

ส่วนที่สองคือ ‘STREAMING SERVICESซึ่งเป็นที่รวมของแหล่งเก็บไฟล์เพลงบนอินเตอร์เน็ตซึ่งอยู่ในรูปของผู้ให้บริการไฟล์เพลงที่เราสามารถดึงมาเปิดฟังได้ มีทั้งแบบฟรี อย่างเช่น Internet radio และ podcasts และแบบเสียเงินค่าบริการรายเดือน อย่างเช่น TIDAL เป็นต้น คุณต้องการฟังเพลงจากแหล่งไหนก็จิ้มเลือกได้เลย และถ้าต้องการให้มีแหล่งสตรีมไฟล์เพลงอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาอยู่บนหน้านี้ อย่างเช่น Spotify หรือ Gobuz คุณก็สามารถเข้าไปเลือกได้ที่หัวข้อ ‘Manage Streaming Servicesที่อยู่ตรงพื้นที่ด้านล่างของหน้านี้

หน้า SYSTEM

หน้านี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นที่รวบรวมของการปรับตั้งค่าการทำงานของ PULSEmini ทั้งหมด เมื่อต้องการทำการปรับตั้งค่าการทำงานของ PULSEmini ให้จิ้มลงไปที่รูปฟันเฟือง (ศรชี้สีแดง) แอพ SENSE จะพาคุณไปที่หน้า ‘SETTINGSซึ่งเป็นหน้าเมนูย่อยของ SYSTEM อีกที

เมนูที่ใช้ปรับตั้งค่าที่หน้า SETTINGS ของแอพ SENSE ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ SYSTEM, INTEGRATIONS, INNUOS SENSE และ HELP ซึ่งหัวข้อเมนูที่ใช้ปรับตั้งฟังท์ชั่นการทำงานของ PULSEmini ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นไฟล์เพลงจะอยู่ในกลุ่ม SYSTEM ทั้งหมด ซึ่งในนั้นก็ยังแแยกเป็นหัวข้อเมนูย่อยลงไปอีกถึง 6 เมนูด้วยกัน คือ Audio, Storage, System Mode, Language and Timezone, System Update และ Streaming Services ซึ่งหัวข้อเมนูที่คุณต้องให้ความสนใจเข้าไปตรวจเช็คและทำการปรับตั้งค่าก่อนเพื่อนเลยก็คือหัวข้อ ‘System Updateซึ่งแนะนำว่าควรจะต้องทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของ PULSEmini ให้อยู่ในเวอร์ชั่นปัจจุบันเสมอ ส่วนที่เหลือที่เป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเล่นไฟล์เพลงก็มี Audio, Storage, System Mode และ Streaming Services

เมื่อเข้ามาหน้าเมนู Audio ให้จิ้มลงไปที่รูปฟันเฟืองที่อยู่ด้านหลังชื่อของสตรีมเมอร์ที่คุณกำลังจะปรับตั้งค่า (ศรชี้) เพื่อเข้าไปหน้าเมนูการปรับตั้ง

ที่หน้า ‘LOCAL PLAYER SETTINGSจะมีหัวข้อย่อยรอให้คุณปรับตั้งทั้งหมด 6 หัวข้อ เรียงจากบนลงล่างก็คือ OUTPUT SELECTION, DSD MODE, USB LATENCY MODE, SAMPLING RATE CHANGE DELAY, PCM SAMPLING RATE LIMIT และ MQA SOFTWARE DECODING

(1) อย่างแรกที่คุณต้องปรับตั้งก่อนเริ่มฟังเพลงก็คือเลือกรูปแบบ เอ๊าต์พุตของตัว PULSEmini ซะก่อน ซึ่งมีให้เลือก 2 อ๊อปชั่น คือเอ๊าต์พุต ‘Analogue/Coax/Optคือเลือกใช้งานเอ๊าต์พุตดิจิตัลทั้งสองช่องพร้อมกับเอ๊าต์พุตอะนาลอกอีกช่อง กับอีกอ๊อปชั่นคือเลือกใช้เอ๊าต์พุต USB ของ PULSEmini ถ้ามีการเชื่อมต่อ external DAC เข้ากับช่องเอ๊าต์พุต USB ของ PULSEmini เอาไว้ตัวเลือก USB ก็จะปรากฏขึ้นมา แต่ถ้าไม่ได้เชื่อมต่อ USB กับอุปกรณ์ภายนอกเอาไว้ตัวเลือกเอ๊าต์พุต USB ก็จะหายไป ซึ่งในภาพด้านบนนั้นเพราะผมเชื่อมต่อไว้ทั้ง 3 ช่องเอ๊าต์พุต คือ coaxial, analog และ USB ในเมนูนี้จึงมีเอ๊าต์พุตให้เลือกทั้งสองรูปแบบอย่างที่เห็นในภาพ ต้องการใช้งานเอ๊าต์พุตไหนก็จิ้มเลือกไปที่เอ๊าต์พุตนั้น

(2) ตรงนี้ไว้เลือกรูปแบบการ จัดการกับสัญญาณ DSD หลังจากเล่นออกมาจากไฟล์เพลง DSF และ DFF ว่าจะให้แอพเพลเยอร์ SENSEส่งออกไปให้กับภาค DAC ออกไปแบบไหน ระหว่าง ‘No DSD Support’ (แอพจะแปลง DSD ให้เป็น PCM ก่อนปล่อยออกไป), ‘DSD over PCM’ (เอาสัญญาณ DSD ไปแปลงเป็นฟอร์แม็ต DoP ก่อนส่งออกไป ซึ่งฟอร์แม็ตนี้จะส่งออกไปสูงสุดถึงระดับ DSD128 หรือ DSD256 ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับของ DAC ที่เชื่อมต่ออยู่กับ PULSEmini), ‘Native DSD’ (ปล่อยออกไปเป็นสัญญาณ DSD โดยไม่มีการแปลงใดๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถรองรับของ DAC ที่เชื่อมต่ออยู่กับ PULSEmini *ถ้าเลือกอ๊อปชั่นนี้แต่ DAC ไม่รองรับ จะไม่มีเสียงออกที่เอ๊าต์พุตของ DAC) กรณีที่คุณเลือกเอ๊าต์พุตของ PULSEmini ไว้ที่ Analogue/Coax/Opt แล้วเล่นไฟล์ DSF หรือ DFF คุณต้องเลือกอ๊อปชั่น DSD Mode ไว้ที่ตำแหน่ง ‘No DSD Support

(3) ตรงนี้เป็นฟังท์ชั่นที่ใช้กำหนดปริมาณของ บัฟเฟอร์หรือเมมโมรี่บน RAM ที่ใช้ในการเล่นไฟล์เพลงให้ พอดีกับปริมาณข้อมูลของไฟล์เพลงในลักษณะที่ทำให้การจัดส่งสัญญาณจาก RAM ไปที่ DAC ด้วยสปีดที่ เท่ากับอัตราบิตเรตของสัญญาณที่กำลังเล่นให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาหน่วงช้า (Latency) ในการส่งสัญญาณเกิดขึ้นในระบบเพลย์แบ็คหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งฟังท์ชั่นนี้จะส่งผลเฉพาะกับเอ๊าต์พุต USB เท่านั้น เพราะ USB เป็นการรับ/ส่งสัญญาณแบบทูเวย์ โดยมีระดับ Latency ให้เลือก 2 โหมด (หรือ 2 ระดับ) คือ Normal กับ Low ซึ่งถ้าช่อง USB input ของ DAC ที่เชื่อมต่อกับ PULSEmini รองรับการรับ/ส่งสัญญาณระหว่างกันด้วยวิธี asynchronous transfer ให้เลือกไว้ที่ ‘Lowจะให้ผลทางเสียงที่ดีกว่าตำแหน่ง ‘Normal

(4) DAC บางตัวจะมีความหน่วงช้าในการ detect กับสัญญาณเสียงที่รับเข้ามาทางอินพุต เวลาเจอกับสัญญาณอินพุตที่เปลี่ยนฟอร์แม็ตไปจะมีเสียงดังแค๊กออกมา ถ้า DAC ที่คุณนำมาจับคู่กับ PULSEmini มีอาการนี้ ให้ใช้ฟังท์ชั่นนี้ในการเลือก delay เพื่อไม่ให้เสียงแค๊กออกมาที่ลำโพง

(5) DAC บางตัวมีความสามารถในการรองรับสัญญาณ PCM ได้จำกัด ยกตัวอย่างเช่น DAC รุ่นที่เก่ามากๆ มักจะรองรับได้ไม่เกิน 96kHz ซึ่งฟังท์ชั่นนี้จะเกี่ยวพันกับฟังท์ชั่น DSD Mode คือในกรณีที่เปิดใช้ฟังท์ชั่น DSD Mode กับ DAC ที่ไม่รองรับการแปลงสัญญาณ DSD โดยตรงซึ่งเป็น DAC รุ่นเก่าที่มีความสามารถจำกัดในการรองรับ PCM ไปด้วย การปรับตั้งที่ฟังท์ชั่นนี้ก็คือการกำหนดตายตัวไว้เลยว่าจะให้ PULSEmini แปลง DSD ให้เป็น PCM ที่ระดับไหน และในกรณีที่เล่นไฟล์เพลงที่มีความละเอียดของสัญญาณ PCM ที่สูงกว่าความสามารถในการรองรับของ DAC ก็จะถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับที่คุณปรับตั้งไว้ด้วย

(6) ซอฟท์แวร์ SENSE ของ PULSEmini มีความสามารถในการถอดรหัสไฟล์เพลงที่เป็นฟอร์แม็ต MQAครึ่งหนึ่งซึ่งจะมีประโยชน์ในกรณีที่ DAC ที่เชื่อมต่อกับเอ๊าต์พุตดิจิตัลของ PULSEmini ไม่มี MQA decoder ในตัว แต่ถ้า DAC ที่เชื่อมต่อกับเอ๊าต์พุตดิจิตัลของ PULSEmini มีดีโค๊ดเดอร์ MQA ในตัว สามารถถอดรหัส MQA ได้แบบสุดซอย ก็ ไม่ต้องใส่เครื่องหมายถูกที่ฟังท์ชั่นนี้

หัวข้อย่อย STORAGEในเมนูหน้าหลัก SYSTEM นั้นมีไว้ให้ PULSEmini ซิ้งค์กับ NAS หรือฮาร์ดดิสที่ใช้เก็บไฟล์เพลงที่เชื่อมต่ออยู่กับเน็ทเวิร์คเดียวกับ PULSEmini ซึ่งคุณต้องเข้าไปทำการ add ฮาร์ดดิสที่ว่านั้นผ่านทางปุ่ม ‘ADD SHARED FOLDER’ (ศรชี้) ในภาพข้างบนคือซิ้งค์กับ NAS ของผมซึ่งลงโปรแกรมเซิร์ฟเวอร์ MinimServer เอาไว้ ซึ่งเวลาที่ใช้ในการซิ้งค์ข้อมูลจะขึ้นอยู่กับปริมาณของไฟล์เพลงของคุณ

โปรแกรม SENSE ของ PULSEmini สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เน็ทเวิร์คที่เป็นแบรนด์ Innuos ด้วยกันได้ และยังสามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมเพลเยอร์ของแพลทฟอร์มอื่นได้อีก 2 แพลทฟอร์มคือ roon กับ HQ Player ซึ่งในหัวข้อย่อย ‘SYSTEM MODEในแอพ SENSE มีไว้ให้สำหรับเลือกโหมดการทำงานของ PULSEmini ซึ่งมีให้เลือก 3 รูปแบบ4 อ๊อปชั่น รูปแบบแรกคือ ‘Innuosซึ่งมีแยกย่อยเป็น 2 อ๊อปชั่น คือถ้าจะใช้ PULSEmini ในรูปแบบที่เป็นสตรีมเมอร์ที่มี DAC ในตัวก็เลือกที่อ๊อปชั่น ‘Innuos Standalone’, ถ้าต้องการให้ PULSEmini ทำหน้าที่เป็นเอ๊าต์พุตปลายทางของสตรีมเมอร์ Innuos ตัวอื่นก็ให้เลือกไปที่อ๊อปชั่น ‘Innuos Endpoint’, กรณีที่คุณใช้ roon เป็นสตรีมเมอร์หลักในระบบเน็ทเวิร์คอยู่แล้ว และต้องการให้ PULSEmini ทำหน้าที่เป็นเอ๊าต์พุตที่ปลายทางของ roon ก็ให้เลือกไปที่อ๊อปชั่น ‘Roon Bridgeและสุดท้าย ถ้าต้องการให้ PULSEmini ทำหน้าที่เป็นเอ๊าต์พุตที่ปลายทางของสตรีมเมอร์ HQ Player ก็ให้เลือกไปที่อ๊อปชั่น ‘HQ Playerตัวล่างสุด หลังจากนั้น การเล่นไฟล์เพลงจะไปเป็นหน้าที่ของสตรีมเมอร์ตัวหลักทั้งหมด

ส่วนหัวข้อย่อยอื่นๆ ที่เหลือในหน้าเมนูหลัก SYSTEM ก็มีความสำคัญรองๆ ลงไป ส่วนใหญ่จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพการเล่นไฟล์เพลง อย่างเช่น ‘Streaming Servicesก็เป็นที่รวมผู้ให้บริการสตรีมมิ่งทุกเจ้าไว้ที่นี่ คุณต้องการใช้เจ้าไหนก็จิ้มเข้าไปสมัครขอใช้บริการได้ ส่วนหัวข้อ ‘UPnPก็เป็นการเปิด/ปิดการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เน็ทเวิร์คในวงเดียวกันที่รองรับการรับ/ส่งสัญญาณเสียง

การเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพ SENSE ของ Innuos

สองภาพด้านบนเป็นหน้าตาของแอพ SENSE ตอนเล่นไฟล์เพลงที่ผมสตรีมมาจาก TIDAL จะเห็นว่า บนหน้าแอพฯ ขณะเล่นไฟล์เพลงจะมีทั้งแสดงรายละเอียดของเพลงที่กำลังเล่น อย่างเช่น ชื่อเพลงชื่อศิลปิน และชื่ออัลบั้มของเพลงที่กำลังเล่น และยังมีฟังท์ชั่น/คำสั่งที่ใช้ควบคุมการเล่นเพลงปรากฏอยู่ที่ด้านล่าง ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานของแอพฯ เล่นไฟล์เพลงทั่วไป ทว่า มีอยู่อ๊อปชั่นหนึ่งที่อยากจะพูดถึง เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงในการเล่นไฟล์เพลงโดยตรง นั่นคือ ฟังท์ชั่นปรับวอลลุ่ม (สังเกตที่มุมล่างด้านขวาของภาพแอพฯ ทั้งสองภาพข้างบน)

คือเอ๊าต์พุตของ PULSEmini จะผ่านวอลลุ่มบนตัวแอพฯ SENSE ตลอดโดยไม่มีอ๊อปชั่นให้ปรับตั้งบายพาส หรือให้เลือกตั้งเป็น Fixed เหมือนแอพฯ เล่นไฟล์เพลงบางตัว โดยจุดปรับวอลลุ่มถูกติดตั้งไว้ที่มุมล่างด้านขวาของหน้าแอพฯ เพลเยอร์ที่วงสีแดงไว้นั่นแหละ กรณีที่เล่นไฟล์เพลงจริงๆ แนะนำให้ทดลองเร่งวอลลุ่มไปจนสุดก่อน คือ เต็ม 100% แล้วไปใช้วอลลุ่มของแอมป์ในการปรับความดัง ถ้าไม่มีอาการ clip ของเสียงตรงช่วงพีคเกิดขึ้นก็ให้คงที่วอลลุ่มของแอพฯ ไว้ที่ 100% จะให้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุด แต่ถ้ามีอาการ clip เกิดขึ้น แม้ว่าจะลดวอลลุ่มที่แอมป์ก็ไม่หาย กรณีนี้ให้ค่อยๆ ลดวอลลุ่มของแอพฯ ลงมาทีละนิด จนถึงจุดที่อาการ clip หายไป (กรณีที่ใช้วอลลุ่มที่แอพ น้อยเกินไปเสียงโดยรวมจะออกนุ่มติดน่วมเพราะไดนามิกสวิงได้ไม่เต็มสเกล)

ลองฟังเสียงของ PULSEmini

ผมมองว่า คนเล่นฯ ที่จะให้ความสนใจสตรีมเมอร์ PULSEmini ตัวนี้ น่าจะเป็นนักเล่นระดับกลางๆ ที่ใช้ชุดเครื่องเสียงราคารวมทั้งชุดอยู่ในช่วง 1 – 3 แสนบาท แต่ยังไม่มีสตรีมเมอร์ใช้อยู่ในซิสเต็มเลย ซึ่งการเริ่มต้นด้วยสตรีมเมอร์ที่มี DAC ในตัวอย่าง PULSEmini ด้วยสนนราคา 55,000 บาท ถือว่ามีความเหมาะสมสำหรับการลงทุนกับซิสเต็มระดับกลางๆ แบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะมีภาค DAC ในตัวแล้ว PULSEmini ตัวนี้ยังมีช่อง digital out ที่จะทำให้มันปรับการทำงานไปเป็น สตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ตสำหรับการอัพเกรดคุณภาพเสียงของซิสเต็มในอนาคตได้อีกระดับ เพียงแค่หา external DAC ที่มีคุณภาพสูงกว่าภาค DAC ในตัว PULSEmini เข้ามาเพิ่มเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงให้ความสำคัญกับการทดลองฟังเสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini มากเป็นพิเศษ โดยใช้ Audiolab9000Aทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์ ซึ่งในช่วงของการแม็ทชิ่ง ผมพบว่า สายสัญญาณอะนาลอกที่ใช้เชื่อมต่อสัญญาณจากช่อง analog out ของ PULSEmini ไปที่ปรีแอมป์มีผลกับเสียงของ PULSEmini มาก หลังจากทดลองฟังด้วยการใช้สายสัญญาณอะนาลอกหลายคู่หลายระดับราคาที่ผมมีอยู่ สุดท้ายก็พบว่า สายสัญญาณของ Nordost รุ่น Blue Heaven ซีรี่ย์ใหม่ Leif 3 ให้เสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini ออกมาได้ดีที่สุด เสียงโดยรวมน่าพอใจมาก ซึ่งผลการวิเคราะห์ต่อไปนี้เป็นเสียงที่ได้จากการใช้สายสัญญาณ Blue HeavenLeif 3ทั้งหมด

ภาคแรกกับเสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini

ถ้าจะให้พูดถึง เสียงของ PULSEminiจริงๆ ต้องฟังผ่านภาค DAC ในตัวมัน เพราะถ้าฟังผ่านภาค digital out ก็เท่ากับว่า PULSEmini มีสถานะเป็น streaming transport ซึ่งโทนเสียงที่ออกมาก็จะเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของภาค DAC ภายนอกที่เอามาจับคู่กับสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ของ PULSEmini ซึ่งเสียงของ DAC ภายนอก + สายดิจิตัล จะเข้ามาเอี่ยวอยู่มากกว่า 50% ขึ้นไป

เมื่อพูดถึง เสียงของสตรีมเมอร์ที่มี DAC ในตัว ก็ต้องยอมรับว่า โทนเสียงหลักๆ ที่ออกมาจะมีอิทธิพลที่เกิดจากการทำงานในส่วน แปลงสัญญาณdigital-to-analog หรือ DAC เป็นตัวกำหนดหลักๆ นอกเหนือจากอิทธิพลของภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุต (ซึ่งก็ต้องออกแบบขึ้นมาโดยมีเอ๊าต์พุตของ DAC เข้ามากำหนดแนวทางอยู่ดี) และอิทธิพลจากคุณภาพของภาคจ่ายไฟ

เมื่อเจาะลงไปที่การทำงานในส่วนของการแปลงสัญญาณ digital-to-analog มันก็มีการทำงานส่วนย่อยๆ อยู่ในนั้นอีก ที่มีผลกับเสียงโดยรวมมากก็คือระบบ clock และ digital filter ซึ่งภาค DAC แต่ละยี่ห้อจะมีบุคลิกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ บวกกับแนวทางปรับจูนของคนออกแบบ ด้วยเหตุนี้ ต่อให้ใช้ชิป DAC หรือแม้แต่โมดูล R2R ที่เป็นฮาร์ดแวร์ยี่ห้อเดียวกันและเป็นเบอร์เดียวกันก็ตาม แต่ถ้าคนออกแบบเป็นคนละคนกัน เสียงที่ออกมาก็จะมีความแตกต่างให้รับรู้ได้ ซึ่งถ้าตั้งคำถามว่า ฮาร์ดแวร์ชิ้นไหนในภาค DAC ที่มีอิทธิพลกับเสียงของภาค DAC นั้นมากที่สุด คำตอบก็คงไม่พ้น ชิป DACนั่นแหละ แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นว่า อะไรมีอิทธิพลกับเสียงของภาค DAC มากที่สุด คำตอบที่ถูกต้องก็คือ คนออกแบบที่ทำการปรับจูน DAC ตัวนั้นๆ นั่นเอง

ชิป DAC ที่นิยมใช้ออกแบบภาค DAC ในวงการเครื่องเสียงปัจจุบันมีอยู่ 3 แบรนด์ เท่านั้น คือ ESS Technologies, AKM และ TI ซึ่งแนวเสียงของชิป DAC ทั้งสามยี่ห้อนี้จะมีความแตกต่างกัน คนออกแบบที่เก่งจริงๆ จะต้องรู้จักโทนเสียงของชิป DAC ที่เขาเลือกมาใช้ในการออกแบบเป็นอย่างดี และรู้วิธีออกแบบสภาพแวดล้อมรอบๆ ชิป DAC ตัวนั้น (clock, DF, power supply และ analog output) เพื่อดึงเอา ตัวตนที่โดดเด่นของชิป DAC ตัวนั้นออกมาให้ได้มากที่สุด

ภาค DAC ในตัว PULSEmini ใช้ชิป DAC ของ TI เบอร์ PCM5102 เสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini ออกมาในโทนอิ่มหนาแต่ฉับไว มีแรงปะทะ ซึ่งถ้าเล่นไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ 16/44.1 ผ่าน PULSEmini ตัวนี้ จะรู้สึกได้ถึงความอิ่มหนาของมวลเนื้อเสียงที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับเสียงของ DAC ที่มีราคาใกล้เคียงกัน (*ไม่เกิน 60,000 บาท) แต่ถ้าฟังไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ สูงขึ้นคือตั้งแต่ 24/44.1 ไปจนถึง 24/96 ผมพบว่าภาค DAC ในตัว PULSEmini ให้เสียงโดยรวมที่ดีขึ้นไปอีกขั้น และให้ค่าเฉลี่ยระหว่าง รายละเอียดกับ มวลเนื้อเสียงที่ลงตัวมากยิ่งขึ้น เป็นแนวเสียงที่เชื่อว่าถ้าเป็นนักเล่นฯ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะจะชอบ เพราะเสียงของมันก็ยังคงมีลักษณะเข้มข้นและอิ่มหนาแต่จะเจือ ความละมุนออกมามากหน่อยเนื่องจากเรโซลูชั่นของไฟล์ที่สูงขึ้น แต่กลับไม่ได้จงใจที่จะโชว์รายละเอียดหยุมหยิมให้ออกมาเตะหูมาก ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าภาค DAC ในตัว PULSEmini ไม่มีรายละเอียด แต่พอรายละเอียดเหล่านั้นถูก จัดการให้ออกมาใน ไทมิ่งที่ถูกต้องพร้อมกันทุกความถี่ อีกทั้ง PULSEmini ยังให้ “ความโปร่งใส” (transparent) ของพื้นเสียงที่ดีมาก ทำให้รายละเอียดเหล่านั้นถูกหล่อหลอมเข้าไปเป็นองค์ประกอบย่อยส่วนหนึ่งของแต่ละเสียงที่อยู่ในเพลงนั้นๆ ได้อย่างกลมกลืน ซึ่งแสดงออกมาให้ได้ยินในลักษณะของเสียงของเครื่องดนตรีหรือเสียงร้องที่ทำให้ผมสามารถบ่งบอกอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจนว่าเสียงนั้นเป็นเสียงของเครื่องดนตรีชนิดไหน และกำลังเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมกันทั้งเลเยอร์ที่อยู่ด้านหน้าและเลเยอร์ที่อยู่ถัดๆ ลงไปทางด้านหลังของเวทีเสียง

ภาค DAC ที่ จัดการกับรายละเอียดสูงๆ ของไฟล์เพลงระดับไฮเรซฯ ที่สูงกว่า 16/44.1 ออกมาไม่ดี เวลาฟังเราจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้ยิน เสียงแหลมเยอะขึ้นกว่าตอนฟังไฟล์ 16/44.1 หรือในบางกรณีก็จะรู้สึกว่า เสียงทุ้มหนาขึ้นกว่าไฟล์ 16/44.1 แต่พอฟังไปนานๆ จะรู้สึกรำคาญกับเสียงแหลมที่คอยทิ่มแทงออกมาตลอดเวลา และรำคาญกับเสียงทุ้มที่หนาแต่บวมเบลอและทึบขุ่น ผิดกับภาค DAC ที่ จัดการกับรายละเอียดทั้งหมดนั้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเมื่อฟังไฟล์ไฮเรซฯ ที่มีสเปคฯ สูงกว่า 16/44.1 ขึ้นไป จะรู้สึกตรงกันข้าม คือกลายเป็นว่าเสียงแหลมของไฟล์ไฮเรซฯ มันน้อยกว่าไฟล์ 16/44.1 ซะด้วยซ้ำ เพราะอาการ glare ที่ความถี่สูงมันลดน้อยลงนั่นเอง ซึ่งตรงกับความรู้สึกที่ผมได้รับจากการเล่นไฟล์ไฮเรซฯ ผ่านภาค DAC ของ PULSEmini แสดงว่าคนออกแบบภาค DAC ของ PULSEmini ได้ จัดการกับรายละเอียดจำนวนมากให้แสดงตัวออกมาในจังหวะ ไทมิ่งที่ถูกต้องได้อย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ได้ยินก็คือความเนียน ความละมุน และความอิ่มแน่นของมวลเสียงที่ดีขึ้นโดยไม่มีอาการแยงหูของ เสียงแหลม” (ที่ผิดไทมิ่ง และผิดเฟส) เพ่นพ่านออกมาทิ่มแทงหู ซึ่งนั่นคือลักษณะเสียงที่ผมได้ยินจากภาค DAC ของ PULSEmini ตัวนี้.!!

อัลบั้ม : Unplugged (Live) (TIDAL HIGH/ FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Eric Clapton
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/250615272?u)

บางที เพลงคอมเมอร์เชี่ยลธรรมดาๆ ก็อาจจะบอกเราได้ชัดเจนกว่าเพลงไฮเอ็นด์ว่าภาค DAC ที่เรากำลังฟังอยู่นั้นมัน ดีหรือ แย่แค่ไหน.. อย่างไร.? ซึ่งเพลงในอัลบั้มนี้ที่ผมชอบเลือกมาใช้ฟังทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงก็คือเพลง ‘Running on Faithซึ่งเป็นไฟล์ FLAC 16/44.1 เท่านั้น แต่รายละเอียดเยอะมาก ผมเคยฟังเพลงนี้ผ่าน DAC ที่ จัดการกับสัญญาณอินพุตไม่ดี จะพบว่าเสียงของเพลงนี้ออกมา รกหูมาก เสียงแหลมมีอาการเกรี้ยวกราด แยงหูในขณะที่เสียงกลางมีลักษณะแข็งกระด้าง ทุ้มก็ไม่เป็นตัว แต่เมื่อลองฟังผ่าน PULSEmini ตัวนี้กลับไม่ได้มีลักษณะแย่ๆ แบบนั้นโผล่ออกมาให้ได้ยินแม้แต่น้อย.!! สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าผมก็คือบรรยากาศของการแสดงสดที่มีชีวิตชีวา มีความพร่างพรายของรายละเอียดแผ่เต็มไปทั่วแต่เป็นที่เป็นทาง ตัวเพลงดำเนินไปอย่างราบลื่น อารมณ์ของเอริคสะท้อนผ่านเสียงร้องปนแหบที่ไหลลื่นไปตามจังหวะของเพลงได้อย่างแนบเนียน ทุกเสียงมีลักษณะที่เปิดกระจ่างแต่ไม่จ้าจัด โดยเฉพาะเสียงกีต้าร์ทั้งของเอริคและของแอนดี้ แฟร์เวทเธอ โลว์ มีความกระจ่างใสและดีดเด้งออกมาอย่างชัดเจน มีพลังที่แจ่มแจ้งโดยไม่มีอาการแผดหูเลย.!!!

คืออยากจะพูดว่า โทนเสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini ถูกปรับจูนมาได้ลงตัวพอดีๆ ทั้งในแง่ของ โทนัลบาลานซ์ที่ดี คือหลังจากฟังแต่ละเพลงแล้วไม่ได้รู้สึกว่าขาดทุ้มขาดกลาง หรือขาดแหลมแต่อย่างใด หรือแม้แต่ในแง่ โทนเสียงที่ไม่ได้ออกไปทาง dark หรือ bright มากเกินไป คือมันฟังแล้วรู้สึกพอดีๆ มีความรู้สึกว่าภาพรวมของเสียงมันเปิดโปร่ง แต่เนื้อเสียงกลับไม่ได้รู้สึกว่าบาง และที่ผมชอบมากๆ คือ ความต่อเนื่องของเสียงที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกเพลินไปกับเพลงที่ฟัง ไม่ว่าจะลื่นไหลแบบช้าๆ หรือหลั่งไหลแบบเร็วๆ ภาค DAC ในตัว PULSEmini มันก็ถ่ายทอดเสียงที่มีมูพเม้นต์เคลื่อนไหวไปตามลีลาเหล่านั้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ถ้าถามว่ามันน่าจะเป้นผลมาจากอะไรได้บ้าง.? เท่าที่นึกออกตอนนี้ ผมว่า คนออกแบบภาค DAC ของ PULSEmini ตัวนี้จะต้องจัดการกับระบบ clock ได้ดีมาก ทำให้สัญญาณอินพุตสามารถ flow ผ่านฮาร์ดแวร์ของ PULSEmini ไปถึงภาค DAC และออกจากภาค DAC ไปถึงภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตด้วย timing ที่ถูกต้องตรงตามสเปคฯ ของสัญญาณอินพุตมากๆ

สรุปคือผมชอบเสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini มาก.!! มันให้ความเป็นดนตรีที่ยอดเยี่ยม ไปได้กับทุกแนวเพลงที่ผมเลือกมาทดลองฟัง ความแม่นยำทางด้าน timing response ของภาค DAC ในตัว PULSEmini ตัวนี้มันส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงภาคขยาย class-D ของเพาเวอร์แอมป์ NADC298และลำโพง CantonReference 5ในแง่ของการตอบสนองทางด้าน โฟกัสที่คมชัด, นิ่งสนิท และต่อเนื่อง (free & flow) ซึ่งเป็นพื้นฐานของเสียงที่ดีและมีความเป็นดนตรี

เสียงของช่อง digital out ของ PULSEmini

ช่วงท้ายผมทดลองฟังเสียงช่อง digital out ของ PULSEmini ซึ่งตอนแรกผมทดลองฟังเทียบระหว่างภาค DAC ในตัว PULSEmini กับภาค DAC ในตัว 9000A โดยใช้สัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์จาก PULSEmini ผ่านเข้าทางช่องดิจิตัล อินพุต coaxial และ USB ของ 9000A ผลปรากฏว่า เสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini ออกมาดีกว่าภาค DAC ในตัว 9000A อยู่พอสมควร

ขั้นตอนต่อมาผมก็ทดลองใช้สัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์จาก PULSEmini ไปใช้กับ external DAC รุ่น QB-9 DSD Twenty ของ Ayre Acoustic ที่ผมใช้อยู่ โดยเชื่อมต่อสัญญาณผ่านทาง USB ปรากฏว่า เสียงออกมาดีกว่าภาค DAC ในตัว PULSEmini ประมาณ 20% ซึ่งความแตกต่างที่เด่นชัดมากที่สุดก็คือน้ำเสียงที่มีความ ฉ่ำของเนื้อมวลมากขึ้น เข้มข้น และได้ความตรึงแน่นของโฟกัสมากยิ่งขึ้น คาดว่าถ้าได้จับกับภาค DAC ที่มีคุณภาพสูงกว่า QB-9 DSD Twenty ขึ้นไปก็น่าจะได้เสียงโดยรวมที่ดีขึ้นไปตามประสิทธิภาพของ external DAC ที่นำมาจับคู่กับช่องดิจิตัล เอ๊าต์ของ PULSEmini ตัวนี้

สรุป

ภาค DAC ในตัว PULSEmini มีคุณภาพเสียงที่ดีเกินกว่าที่ผมคาดไว้เยอะเลย.!! ผมยอมรับว่าแฮ้ปปี้กับเสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini มาก เรียกว่า ถ้าวาสนาในชีวิตนี้มีได้แค่ซิสเต็มระดับกลางๆ ผมก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับเสียงของภาค DAC ในตัว PULSEmini ได้เลย.. ส่วนช่องดิจิตัล เอ๊าต์ก็เอาไว้เผื่ออนาคต เกิดโชคดีถูกล็อตเตอรี่มีโอกาสขยับขยายซิสเต็มขึ้นไปถึงระดับไฮเอ็นด์ฯ ก็ค่อยหา external DAC ราคาสักแสนปลายๆ ถึงสองแสนมาจับคู่เป็นการอัพเกรดก็ยังไหว

ตอนที่ได้รับมาทดสอบครั้งแรกผมมอง PULSEmini เป็นม้านอกสายตา แต่พอได้ทดลองฟังเสียงของมันแล้วต้องยอมรับว่าผมคาดผิดไปถนัด.. PULSEmini เป็นสตรีมเมอร์ที่อยากจะแนะนำให้คุณไปหาโอกาสทดลองฟังให้ได้ แล้วคุณจะได้มาตรฐานใหม่ของเสียงจากสตรีมเมอร์ในงบราคา ไม่ถึง 60,000 บาท.!!!

*****HIGHLY RECOMMENDED!*****
สำหรับ
Network Music Streaming ในระดับราคา ‘ไม่เกิน 60,000 บาท’

**************************
ราคา : 55,000 บาท / เครื่อง
**************************
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
Prestige Hifi
โทร: 063-638-4498
LineID: @PrestigeHifi

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า