รีวิว KEF รุ่น Q7 Meta

ความ เก่งของคนออกแบบลำโพงไม่ได้อยู่ที่ทำลำโพงออกมาได้ ดีที่สุดเพราะลำโพงที่ดีที่สุดไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ คือในโลกนี้ไม่มีลำโพงคู่ไหนที่ดีที่สุดในทุกด้าน เหตุผลก็เพราะว่าคนออกแบบจะต้องหาวิธี เกลี่ยคุณสมบัติแต่ละด้านของเสียงให้ได้ออกมาตรงตาม เป้าหมายที่พวกเขาตั้งใจไว้สำหรับลำโพงรุ่นนั้นๆ (ส่วนหนึ่งของเป้าหมาย มักจะมาจากฝ่ายการตลาด.!)

สำหรับนักเล่นมือใหม่แล้ว การที่ลำโพงให้ โทนัลบาลานซ์ที่ดี คือสามารถถ่ายทอด ความถี่ออกมาได้ครบทุกย่าน ดูจะเป็นประเด็นสำคัญมากกว่า ลำโพงที่เน้น คุณภาพเสียงในย่านใดย่านหนึ่งออกมาโดยยอม ลดทอนคุณภาพเสียงของความถี่ในย่านอื่นลงไปบางส่วน

KEF Q7 Meta
ลำโพงสามทางแบบตั้งพื้นขนาดกลาง

Q series ของ KEF เป็นอนุกรมของลำโพงที่ออกแบบมาด้วยโจทย์เพื่อป้อนให้กับตลาดระดับเริ่มต้น (beginner) ขึ้นมาจนถึงระดับกลาง (mid-end) ซึ่งในอนุกรมเดียวกันนี้พวกเขาทำลำโพงออกมาทั้งหมด 8 รุ่น (ตามภาพด้านบน) ซึ่งทั้งหมดนั้นสามารถครอบคลุมการใช้งานได้ครบทั้งสำหรับการฟังเพลงด้วยระบบเสียง stereo 2 ch และใช้ในชุดเซอร์ราวนด์ มัลติแชนเนลของระบบเสียง Dolby Atmos ด้วย

Q7 Meta ที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้เป็นหนึ่งในสองรุ่นที่เป็นลำโพงตั้งพื้นของซีรี่ย์นี้ คือ Q11 Meta กับ Q7 Meta ซึ่งรุ่น Q7 Meta คู่นี้เป็นรุ่นเล็กในขณะที่รุ่น Q11 Meta เป็นรุ่นใหญ่สุดของอนุกรมนี้ ส่วนแบบวางบนขาตั้งนั้นมีอยู่ทั้งหมด 3 รุ่น เริ่มจาก Q Concerto Meta (REVIEW) ที่ผมเคยทดสอบไปแล้ว และอีกสองรุ่นคือ Q3 Meta กับรุ่น Q1 Meta

ตัวตู้ของ Q7 Meta ถูกออกแบบมาในรูปทรงทาวเวอร์ แผงหน้าแคบกว่าความลึกเล็กน้อย ความสูงเกือบเมตร แต่มีชุดขาตั้งที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษ แยกส่วนออกมาจากตัวตู้ นอกจากนั้น ทางผู้ผลิตยังได้ออกแบบเดือยแหลม (เป็นอ๊อปชั่น) พร้อมจานรองชิ้นเล็กๆ มาให้ใช้กับขาตั้งชุดนี้ด้วย (ในภาพตั้งอยู่บนที่รองของ Audio Bastion รุ่น X-PAD Plus II) ซึ่งเมื่อติดตั้งเข้าไปกับตัวตู้แล้ว จะมีผลทำให้ความสูงของลำโพงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ตู้เปิด

ระบบตู้ถูกออกแบบให้ทำงานในลักษณะตู้เปิดที่มีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่อยู่ที่แผงหลังในตำแหน่งที่ใกล้กับขั้วต่อสายลำโพงที่ติดตั้งอยู่ตรงส่วนฐานล่างของตัวตู้ ตัวช่องระบายอากาศหล่อขึ้นมาด้วยวัสดุพีวีซีให้มีลักษณะเป็นทรงกรวย คือปากช่องระบายอากาศที่อยู่ด้านนอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.75 นิ้ว แล้วค่อยๆ ตีบลงไปทีละนิดจนถึงเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้วนิดๆ ที่ปากท่อด้านใน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยลดเสียงรบกวนที่มักจะเกิดจากความแออัดของมวลอากาศที่ปากท่อระบายอากาศนั่นเอง

ซิงเกิ้ลไวร์

วงจรครอสโอเว่อร์เน็ทเวิร์คของ Q7 Meta ใช้วิธีตัดแบ่งความถี่ออกเป็น 3 ทาง แต่กำหนดอินพุตของสัญญาณจากเพาเวอร์แอมป์เข้ามาแค่ชุดเดียว ผ่านขั้วต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ ที่ติดตั้งอยู่ที่ส่วนล่างของแผงด้านหลัง ตัวขั้วต่อใช้เป็นแบบสำเร็จรูป ตัวขันยึดทำด้วยโลหะชุบทองคุณภาพดี

จาก 2.5-way มาเป็น 3-way

อนุกรม Q Series ของ KEF เปิดตัวขึ้นมาครั้งแรกเมื่อ ปี 2017 ซึ่งในครั้งนั้นลำโพงทุกรุ่นที่ทำออกมาต่างก็ใช้ระบบเน็ทเวิร์คอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน บางรุ่นที่เป็นลำโพงวางขาตั้งจะเป็นแบบ สองทาง” (2-way) คือใช้ไดเวอร์ Uni-Q แค่ตัวเดียว ในขณะที่รุ่นใหญ่ๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นลำโพงตั้งพื้นจะเป็นแบบ สองทางครึ่ง” (2.5-way) ที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ ซึ่งเป้าหมายหลักของการอัพเกรดสำหรับซีรี่ย์ Q เจนเนอเรชั่นล่าสุดนี้ก็คือ เปลี่ยนลำโพงที่ใช้ระบบเน็ทเวิร์คแบบ 2.5-way มาเป็นแบบ 3-way ทั้งหมด.!!

จุดนี้มีความสำคุญมากขนาดไหน.? ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หน้าที่หลักของวงจรเน็ทเวิร์คของลำโพงก็คือ ตัดแบ่งความถี่ตลอดย่านที่ปรากฏอยู่ในสเปคฯ frequency response ของลำโพงคู่นั้นเพื่อจัดส่งให้กับไดเวอร์แต่ละตัวที่ใช้ในลำโพงรุ่นนั้นๆ ช่วยกันสร้างความถี่เสียงออกมาตามขอบเขตของความถี่ที่ได้รับมาจากวงจรเน็ทเวิร์ค อย่างเช่น สมมุติว่าเป็นลำโพง 2 ทางที่มีไดเวอร์แค่ 2 ตัวคือ ทวีตเตอร์ กับมิด/วูฟเฟอร์ อย่างละตัว วงจรเน็ทเวิร์คในลำโพงคู่นั้นจะทำการตัดความถี่ของสัญญาณอินพุตที่ได้รับเข้ามาออกเป็น 2 ส่วน โดยมีจุดตัดแบ่งความถี่ตามที่ผู้ออกแบบลำโพงคู่นั้นกำหนดไว้ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วง 2kHz – 4kHz ไม่เกินนี้ สมมุติว่าตั้งจุดตัดไว้ที่ 2.5kHz หรือ 2500Hz สัญญาณที่ได้รับเข้ามาทางอินพุตตั้งแต่ 2500Hz ขึ้นไปจะถูกส่งไปที่ทวีตเตอร์ ในขณะที่ความถี่อีกส่วนที่เหลือ คือตั้งแต่ 2500kHz ลงไปจะถูกส่งไปให้กับตัวมิด/วูฟเฟอร์

กรณีนี้จะเห็นว่า การใช้จุดตัดแค่ 2 จุด จะทำให้ไดเวอร์ของลำโพงทั้งสองตัวต้องทำงานหนักในการสร้างความถี่ที่กว้างมาก ทำให้มีโอกาสมากที่จะเกิดความเพี้ยนขึ้นได้ระหว่างที่ไดเวอร์ทำงาน แต่ถ้ามีการเพิ่มไดเวอร์เข้ามาในระบบมากขึ้นสมมุติว่าเป็น 3 ตัว คือทวีตเตอร์มิดเร้นจ์วูฟเฟอร์ เข้ามาช่วยกันสร้างความถี่ออกมา ในกรณีนี้ วงจรเน็ทเวิร์คในลำโพงจะทำการตัดแบ่งความถี่ที่ได้รับเข้ามาทางอินพุตออกมาเป็น 3 ส่วน โดยมีจุดตัดความถี่ 2 จุด สมมุติว่าจุดแรกตัดที่ความถี่ 2500Hz ส่วนจุดที่สองตัดที่ 400Hz แล้วทำการจัดส่งความถี่ทั้งสามช่วงนั้นไปให้กับไดเวอร์ทั้งสามตัวช่วยกันสร้างความถี่นั้นๆ ออกมา จะเห็นว่า ไดเวอร์แต่ละตัวของลำโพง 3 ทางจะมีภาระในการสร้างความถี่ที่ แคบลงมาก มีผลให้สามารถควบคุม คุณภาพของความถี่ที่ไดเวอร์แต่ละตัวสร้างออกมาให้มีความถูกต้องตรงตามสัญญาณต้นฉบับที่รับเข้ามาทางอินพุตได้ดีกว่าลำโพงแบบ 2 ทาง

ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่น 12

หัวใจของลำโพงคือ ไดเวอร์ร่างกายคือ ตัวตู้ส่วนวงจรเน็ทเวิร์คคือ สมองมีลำโพงในอนุกรม Q Series อยู่ทั้งหมด 4 รุ่น ที่เปลี่ยนจาก 2.5-way หรือสองทางครึ่งในเจนเนอเรชั่นก่อนมาเป็น 3-way แบบเต็มๆ ในเจนเนอเรชั่นนี้ นั่นคือรุ่น Q11 Meta กับรุ่น Q7 Meta ซึ่งเป็นแบบตั้งพื้นทั้งสองรุ่น ส่วนรุ่น Q Concerto Meta นั้นเป็นลำโพงวางขาตั้ง และ Q6 Meta เป็นลำโพงเซ็นเตอร์

พระเอกของ KEF ก็คือไดเวอร์ Uni-Q ที่จัดวางทวีตเตอร์ไว้ในใจกลางของตัวมิดเร้นจ์เพื่อควบคุมมุมกระจายเสียงของทั้งสองไดเวอร์ให้ออกมาจาก จุดกำเนิดเดียวกัน เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์แบบในการตอบสนองทางด้าน timing ของเสียงในย่านกลาง (จากมิดเร้นจ์) และสูง (จากทวีตเตอร์) ซึ่งส่งผลดีต่อคุณสมบัติทางด้านเฟสของสัญญาณที่ไดเวอร์ทั้งสองถ่ายทอดออกมา

ไดเวอร์ Uni-Q ของ KEF ที่ใช้ในลำโพงอนุกรม Q Series ทั้งหมดเป็น Uni-Q ที่ผ่านการปรับปรุงมาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 12 แล้ว ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ขนาด ด้วยกัน คือขนาด 5.25 นิ้ว ถูกใช้ในรุ่น Q1 Meta, Q4 Meta และ Q8 Meta ถัดไปเป็นขนาด 6.5 นิ้ว ถูกใช้ในรุ่น Q3 Meta และสุดท้ายขนาด 4 นิ้ว ที่ถูกใช้ในรุ่น Q Concerto Meta, Q6 Meta, Q7 Meta และรุ่น Q11 Meta ซึ่งเหตุผลที่มีขนาดต่างกันก็เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงความถี่ที่ไดเวอร์ Uni-Q ถูกกำหนดให้ทำงาน อย่างในรุ่น Q11 Meta, Q7 Meta, Q Concerto Meta และรุ่น Q6 Meta ที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q ขนาด 4 นิ้ว ก็เพราะว่าไดเวอร์มิดเร้นจ์ของทั้งสี่รุ่นนี้ถูกกำหนดให้ทำงานในย่านกลางขึ้นไปสูง เพราะจุดตัดที่แบ่งความถี่ระหว่างทวีตเตอร์กับมิดเร้นจ์จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง คือ 2.3kHz (Q7 Meta), 2.7kHz (Q11 Meta กับรุ่นQ6 Meta) และ 2.9kHz (Q Concerto Metaทำให้มิดเร้นจ์ของทั้งสี่รุ่นนี้ทำงานไม่กว้างเท่ากับรุ่นที่ใช้ไดเวอร์ Uni-Q ขนาด 5.25 นิ้ว และ 6.5 นิ้ว ซึ่งไดเวอร์มิดเร้นจ์ของตัว Uni-Q จะรับหน้าที่หนักกว่า เพราะต้องลงมารับภาระในย่านกลางต่ำถึงทุ้มต้นๆ ด้วย

นอกจากนั้น ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่น 12 ที่ใช้ในรุ่น Q7 Meta ได้ถูกปรับปรุงในส่วนสำคัญอีก 2 จุด จุดแรกคือใช้เทคโนโลยี MAT แบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Single Layer MAT ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับไดเวอร์ Uni-Q ที่ใช้ในลำโพง 3 ทางโดยเฉพาะ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการขจัดพลังงานคลื่นส่วนที่ย้อนขึ้นมาจากด้านหลังของทวีตเตอร์ไม่ให้ขึ้นมารบกวนการทำงานของโดมทวีตเตอร์ ซึ่งไดเวอร์ Uni-Q ที่ใช้เทคโนโลยี Single Layer MAT ที่ว่านี้ก็ได้ถูกใช้อยู่ในรุ่น BLADE และรุ่น REFERENCE เช่นกัน

อีกจุดที่วิศวกรของ KEF ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพของไดเวอร์ Uni-Q ที่ใช้ในลำโพงอนุกรม Q Series นี้ นั่นคือนำสิ่งที่เรียกว่าUni-Q Shadow Flareเข้ามาช่วยลดปัญหาของคลื่นเสียงที่แผ่ออกมาจากโดมทวีตเตอร์แล้วไปตกกระทบกับขอบของตัวตู้ที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยม (diffraction) ทำให้เกิดการสะท้อนของคลื่นเสียงที่ไปตกกระทบย้อนกลับมาทางหน้าตู้ ตามหลังเสียงหลักที่ออกจากโดมทวีตเตอร์ไป ทำให้เกิดปัญหาทางด้าน timing ของความถี่นั้นขึ้น คือเหมือนมีเสียงซ้อนเกิดขึ้นตามหลังเสียงหลักมา ส่งผลทำให้มิติเสียงเบลอ ไม่คมชัด ซึ่งวัสดุขนาดใหญ่ที่มีผิวโค้งมนที่ติดตั้งอยู่รอบๆ ไดเวอร์ Uni-Q นั่นแหละคือ Shadow Flare ที่จะช่วยกระจายคลื่นเสียงที่ไปตกกระทบบนตัวมันให้มีทิศทางที่ไม่วิ่งตามเสียงหลักไปทางผู้ฟัง อาการพล่ามัวของเสียงแหลมก็จะไม่เกิดขึ้น

ในเอกสาร white paper ของ KEF ที่พูดถึงการพัฒนา Q7 Meta ได้ลงภาพกราฟวัดผลการทำงานของ Shadow Flare ของไดเวอร์ Uni-Q เจนฯ 12 ที่ส่งผลต่อการตอบสนองความถี่สูงตั้งแต่ 2kHz ขึ้นไปถึง 20kHz เอาไว้ให้ดูด้วย จากภาพข้างบน จะเห็นว่า ตั้งแต่ความถี่ 2kHz ที่ทวีตเตอร์ทำงานด้วยความดังที่สูงเกิน 80dB และมากกว่านั้นเมื่อความถี่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ สังเกตเส้นสีเขียวซึ่งเป็นกราฟตอบสนองตอนใช้ Shadow Flare จะเห็นว่ามีความราบเรียบ เปรียบเทียบเส้นกราฟสีดำซึ่งเป็นเสียงของทวีตเตอร์ที่ไม่ได้ใช้ Shadow Flare ซึ่งจะมีอาการไม่ราบเรียบเกิดขึ้นตลอดตั้งแต่ประมาณ 4kHz ขึ้นไปจนถึง 20kHz โดยเฉพาะช่วงปลายๆ ก่อนถึง 20kHz นั้นเลวร้ายมาก.!

เดิมทีไดเวอร์ Uni-Q ที่มี Shadow Flare นี้ถูกใช้ในลำโพงอนุกรม R Series ตั้งแต่ ปี 2014 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยี Shadow Flare ถูกคิดค้นขึ้นมา และถูกใช้ต่อเนื่องมาในลำโพง R Series เวอร์ชั่น ปี 2018 และ ปี 2022 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำ Shadow Flare มาใช้ในอนุกรม Q Series

วูฟเฟอร์ Hybrid ‘Paper/Aluminium’

วูฟเฟอร์ทั้ง 2 ตัว ที่ใช้ขับทุ้มใน Q7 Meta มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.5 นิ้ว ไดอะแฟรมเป็นแบบไฮบริดจ์ กระดาษประกบด้วยอะลูมิเนียมเหมือนวูฟเฟอร์ที่ใช้ในเจนเนอเรชั่นก่อน แต่ในเวอร์ชั่นนี้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในบางจุดด้วย อย่างเช่น มีการออกแบบระบบแม่เหล็กที่ใช้ขับดันกระบอกวอยซ์คอยใหม่ ทำให้ทนกำลังได้สูงขึ้น เวลาอัดดังๆ กระบอกวอยซ์ฯ ไม่เสียศูนย์ และมีการปรับเปลี่ยนวัสดุในบางจุดที่มีความนุ่มเพื่อช่วยลดอาการบิดตัวของไดอะแฟรมให้น้อยลง

ลักษณะของไดอะแฟรมของตัววูฟเฟอร์ที่โค้งเป็นก้นกระทะเว้าเข้าไปในตัวตู้นั้น เป็นรูปลักษณ์ของไดอะแฟรมที่ได้ผ่านการคำนวนมาอย่างละเอียด จุดประสงค์ของการทำแบบนั้นก็เพื่อให้ตัวไดอะแฟรมมีความแกร่งสูง ไม่เกิดอาการบิดตัวเสียรูปทรงขณะที่ต้องปั๊มเสียงทุ้มออกมาในปริมาณมากๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งในเอกสาร white paper ที่แสดงถึงเบื้องหลังการออกแบบลำโพง Q7 Meta คู่นี้ได้แสดงกราฟที่วัดค่าการทำงานของวูฟเฟอร์ตัวนี้ไว้ด้วย ซึ่งในกราฟแสดงให้เห็นว่า จุดพีคของสัญญาณที่จะทำให้ไดอะแฟรมของตัววูฟเฟอร์เกิดการบิดเสียรูปถูกดันขึ้นไปอยู่ที่ 2.6kHz ซึ่งเป็นระดับความถี่ที่สูงกว่าช่วงความถี่ที่กำหนดให้วูฟเฟอร์ทำงานจริงคือระหว่าง 450-500Hz มากถึง 2 อ็อกเตรปเลยทีเดียว นั่นก็หมายความว่า วูฟเฟอร์ทั้งสองตัวที่ใช้ในรุ่น Q7 Meta จะถ่ายทอดความถี่ตั้งแต่ช่วง 450-500Hz ลงไปจนถึงอ็อกเตรปสุดท้ายของความถี่ต่ำที่มันถูกกำหนดให้ทำคือ 46Hz ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

ตัวตู้

การทำเสียงกลางแหลมให้มีความไวเพื่อให้ได้เสียงออกมาเต็มห้อง ขนาดของตัวตู้ที่บรรจุวอลลุ่มของอากาศไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็น แต่ทางด้านของความถี่ต่ำนั้น ขนาดของตัวตู้จำเป็นมากสำหรับลำโพงพาสซีฟ คือถ้าต้องการให้ได้เสียงทุ้มที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถปั๊มความถี่ต่ำออกมาได้เยอะๆ ก็ต้องอาศัยตัวตู้ที่มีขนาดใหญ่ บรรจุวอลลุ่มอากาศไว้ข้างในได้เยอะๆ

แต่ตัวตู้ที่มีขนาดใหญ่ก็เป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ standing wave หรือคลื่นสั่นค้างที่เกิดขึ้นภายในตู้ ซึ่งยิ่งตู้มีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งมีปัญหานี้มากกว่าตู้ขนาดเล็ก การกำหนดขนาดตู้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง และหาจุดเฉลี่ยที่ดีระหว่าง ปริมาณ vs. คุณภาพของเสียงทุ้ม นอกจากนั้น ในเอกสาร white paper ยังแจ้งไว้ด้วยว่า หลังจากตัดสินใจเรื่องขนาดตัวตู้ที่เหมาะสมแล้ว วิศวกรของ KEF ยังได้พยายามทำให้ standing wave ของตู้ไปเกิดในย่านความถี่ที่ ไม่ได้อยู่ในช่วงที่วูฟเฟอร์ทำงาน ซึ่งวิธีการก็คือ แบ่งซอยพื้นที่อากาศภายในตัวตู้ออกเป็นส่วนย่อยๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ความถี่เรโซแนนซ์ที่จะเกิดขึ้นภายในตัวตู้มี frequency ที่สั้นลง มีผลให้ไปเกิด standing wave ในระดับความถี่ที่สูงขึ้นนั่นเอง (ความยาวคลื่นสั้นลง = ความถี่สูงขึ้น) ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาทางด้านอะคูสติก

แม้ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนความถี่เรโซแนนซ์ของตัวตู้ให้หนีพ้นย่านความถี่ที่วูฟเฟอร์ทำงานไปได้แล้วก็จริง แต่ความถี่เรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นภายในตัวตู้ก็จะไปถ่ายเทพลังงานลงบนผิวตู้ในแต่ละตำแหน่งที่ไม่เท่ากัน บางจุดรุนแรงในขณะที่บางจุดอาจจะแค่แผ่วเบา ซึ่งแรงสั่นที่เกิดบนผิวตู้ที่ต่างกันจะส่งผลต่อไปถึงการทำงานของไดเวอร์บนตัวตู้ด้วย เพื่อลดปัญหานี้ วิศวกรของ KEF จึงใช้วิธีเลือกตำแหน่งการติดตั้งวูฟเฟอร์บนตัวตู้ที่ส่งผลกับปัญหานี้น้อยที่สุด จากภาพข้างบน ถ้าติดตั้งแบบทางขวามือจะส่งผลเสียกับเสียงมากกว่าแบบซ้าย ซึ่งผลสรุปก็คือที่มาของลักษณะการติดตั้งวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวบน Q7 Meta ที่เรามองเห็นนั่นเอง

แต่ไม่หมดแค่นั้น ใน white paper ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าทึ่งถึงแนวทางในการจัดการกับ standing wave ภายในตัวตู้ของ Q7 Meta และ Q11 Meta เอาไว้น่าสนใจ นั่นคือ นอกจากจะค้นหาตำแหน่งติดตั้งวูฟเฟอร์บนตัวตู้ที่จะทำให้แรงกระทำของสแตนดิ้งเวฟบนผนังตู้มีลักษณะที่เกลี่ยความรุนแรงกันไปแล้ว พวกเขายังได้ทำการทดลองเพื่อค้นหาตำแหน่งติดตั้งวัสดุซับพลังงานของสแตนดิ้งเวฟภายในตัวตู้เพื่อให้สามารถดูดซับพลังงานของคลื่นสแตนดิ้งเวฟเอาไว้ให้ได้มากที่สุดด้วย ซึ่งผลจากการค้นคว้าและทดลองทั้งสองอย่างนั้น ทำให้ได้กราฟตอบสนองความถี่ต่ำตั้งแต่ 400Hz ลงมาถึงประมาณ 70Hz ที่ราบเรียบมากและค่อยๆ ลาดลงไปจนถึง 20Hz อย่างนุ่มนวล

ก้อนโฟมมีลักษณะเป็น 2 ส่วน ประกอบกัน ส่วนแรกเป็นก้อนโฟมทรงกระบอกที่ใช้อุดรูด้านในของท่อ ส่วนที่สองเป็นท่อโฟมที่ใช้อุดรูด้านนอกของท่อระบายอากาศ

และพวกเขายังให้ก้อนโฟมมาสำหรับใช้อุดท่อระบายอากาศที่อยู่ด้านหลังของตัวตู้มาด้วย ในกรณีที่ห้องฟังของคุณ หรือสถานที่นำ Q7 Meta ไปติดตั้งใช้งานแล้วรู้สึกว่าปริมาณเสียงทุ้มมันเยอะไป คุณก็สามารถนำก้อนโฟมที่ให้มาไปอุดท่อระบายเบส ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของเสียงทุ้มลงได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีปัญหาเบสล้น ถ้าอุดเข้าไปจะมีผลทำให้บุคลิกของเสียงทุ้มเปลี่ยนไป คือหางเสียงเบสจะหดสั้นลง ในขณะที่ตัวเบสจะกระชับและสะอาดมากขึ้น ก็ต้องแลกกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกแบบไหน

แม็ทชิ่ง

แม้ว่า Q7 Meta จะใช้วูฟเฟอร์ขนาด 6.5 นิ้ว ช่วยกันขับทุ้มถึง 2 ตัว ต่อข้าง และตัวตู้ก็ค่อนข้างใหญ่เพราะเป็นแบบตั้งพื้น ทว่า ในแง่การตอบสนองความถี่ตลอดทั้งย่านกลับไม่ได้ลงไปลึกมาก คือทั้งระบบถูกกำหนดให้ตอบสนองความถี่อยู่ในช่วง 46Hz – 20kHz (+/-3dB) ซึ่งจะเห็นว่า ทางด้านทุ้มลงไปได้แค่ 46Hz เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าลึกมาก (จริงๆ แล้วสามารถไต่ลงไปได้ถึง 39Hz แต่เบามากคือ +/-6dB ตั้งแต่ 39Hz – 20kHz) เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังก็น่าจะเป็นเพราะว่า การนำวูฟเฟอร์สองตัวนั้นมาใช้ก็เพื่อสนับสนุนเสียงกลางที่ได้จากไดเวอร์ Uni-Q นั่นเอง ทำให้วูฟเฟอร์ทั้งสองตัวต้องเขย่งขึ้นไปช่วยความถี่ด้านบนมากกว่าที่จะไต่ลงไปทางด้านล่าง

ความไวของ Q7 Meta วัดออกมาได้ 87dB ที่อิมพีแดนซ์ 4 โอห์ม แสดงถึงพฤติกรรมของ Q7 Meta คู่นี้ที่ชอบให้เปิดดังๆ และมีใจกับแอมป์ที่มีมัดกล้ามมากหน่อย แต่พอหันมาดูตัวเลข Recommended amplifier power พบว่า ระบุไว้ตั้งแต่ 15W – 200W ซึ่งจากประสบการณ์แล้ว ถ้าต้องการให้ได้เสียงที่ ดังด้วย + ดีด้วยไม่ใช่แค่เสียงที่ ดังอย่างเดียวกับลำโพงที่ระบุสเปคฯ แบบนี้ แนะนำเลยว่าให้ใช้แอมป์ที่มีกำลังขับ อย่างต่ำต้อง ไม่น้อยกว่า 75% x กำลังขับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำ คำนวนตามสูตรนี้ก็ประมาณ 150W ที่ 4 โอห์ม หรือประมาณ 75W ที่ 8 โอห์มสำหรับแอมป์ที่มีกำลังสำรองเต็ม 100% แต่ถ้ากำลังทรัพย์ไม่เป็นปัญหาก็จัดแอมป์ที่มีกำลังขับ 200W ที่ 4 โอห์ม หรือ 100W ที่ 8 โอห์ม สำหรับแอมป์ที่มีสำรองเต็ม 100% ไปเลย ซึ่งแอมป์ที่มีตัวเลขกำลังขับระดับนี้ถือว่าหาได้ไม่ยากในปัจจุบัน

ผนวกกับพฤติกรรมของอิมพีแดนซ์ของลำโพงคู่นี้ที่ค่อนข้างนิ่ง คือสวิงจากปกติที่ 4 โอห์ม ลงไปถึงระดับ ต่ำสุด” ก็แค่ 3.2 โอห์ม เท่านั้น จึงไม่เป็นภาระของแอมป์มาก ด้วยเหตุผลรายรอบที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น จึงทำให้สรุปได้ว่า Q7 Meta ขับไม่ยากครับ..!!

ชุดแรก ผมใช้แอมปลิฟายที่ประกอบด้วยปรีแอมป์ VTL รุ่น TL2.5 ซึ่งเป็นปรีแอมป์หลอด จับคู่กับเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตท class-AB ของ QUAD รุ่น Artera Stereo ที่มีกำลังขับ 140W ที่ 8 โอห์ม และ 250W ที่ 4 โอห์ม เป็นฐานกำลังในการขับดัน Q7 Meta ส่วนสัญญาณต้นทางนั้นผมอาศัยชุดสตรีมมิ่ง+DAC ที่ประกอบด้วย Innuos รุ่น PULSE (REVIEW) ทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ตในการเล่นไฟล์เพลงจาก NAS และ TIDAL และอาศัย Ayre AcousticQB-9 DSD Twentyทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตัลให้เป็นอะนาลอกก่อนจะส่งไปให้ปรีแอมป์ VTL ผลลัพธ์ทางเสียงของเซ็ตอัพนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เสียงเปิดกระจ่าง รายละเอียดดี เวทีโปร่งกังวาน แยกแยะรายละเอียดชัดเจน คุณสมบัติที่ความพอใจยังไม่เต็มร้อยก็คือเนื้อมวลที่อยากได้ความเข้มข้นมากกว่านี้อีกหน่อย

ชุดที่สอง ผมเปลี่ยนเอาภาคปรีแอมป์ในตัวอินติเกรตแอมป์ Audiolab9000A’ (REVIEW) มาแทนที่ปรีแอมป์หลอด VTLTL2.5ส่วนเพาเวอร์แอมป์ก็ยังคงเป็น QUADArtera Stereoตัวเดิม ส่วนแหล่งต้นทางสัญญาณผมก็ยังคงใช้ InnuosPULSEทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ตเล่นไฟล์เพลงเหมือนเดิม แต่ DAC ผมเปลี่ยนมาใช้ภาค DAC ในตัว Audiolab9000Aโดยส่งสัญญาณดิจิตัลจาก InnuosPULSEไปเข้าที่ช่องอินพุต USB ของ 9000A ซึ่งปรากฏว่าเซ็ตอัพที่สองนี้ให้เสียงโดยรวมออกมาดีที่สุด ค่าเฉลี่ยในแต่ละด้านกำลังสวย เนื้อเสียงเข้มข้น ไดนามิกกว้าง แรงปะทะดี สามารถรีดประสิทธิภาพของ Q7 Meta ออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนและหมดจดมากที่สุด (*ผมใช้เสียงที่ได้จากเซ็ตอัพนี้ในการประเมินผลในขั้นตอนการฟัง)

ช่วงท้ายๆ ของการทดสอบผมมีโอกาสได้ทดลองใช้อินติเกรตแอมป์ WiiM รุ่น Vibelink Amp ขับลำโพง Q7 Meta คู่นี้ด้วย และใช้ภาค DAC ในตัว Vibelink Amp เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณ โดยใช้ Wattson AudioEmerson DIGITAL’ (REVIEW) ทำหน้าที่แปลงสัญญาณจาก LAN ออกมาเป็น coaxial ส่งเข้าไปที่อินพุต coaxial ของ WiiMVibelink Ampซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะลองขับเล่นๆ แต่พบว่าเสียงโดยรวมออกมาดีเกินคาด แม้จะรู้ว่ายังไม่ใช่ระดับที่ดีที่สุดสำหรับ Q7 Meta แต่จากเสียงที่ได้ยินจากการจับคู่กับอินติเกรตแอมป์ตัวเล็กๆ แบบ WiiMVibelink Ampตัวนี้ก็ทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้ว Q7 Meta ขับไม่ยากเลย..!!

เซ็ตอัพ

จากข้อเท็จจริงที่ว่า ลำโพงทุกคู่ออกแบบมาเพื่อตอบสนอง ความถี่เหมือนกัน และสร้างขึ้นมาจาก หลักการเดียวกัน เพื่อผลลัพธ์เดียวกัน คือตอบสนองสัญญาณเสียงให้ตรงกับต้นฉบับที่รับเข้ามาทางอินพุตให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ ห้องฟังแต่ละห้องจะมีตำแหน่งการวางลำโพงที่ให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีที่สุดอยู่แค่ตำแหน่งเดียวสำหรับลำโพงแต่ละคู่ เมื่อเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาประมวลเข้าด้วยกัน จึงพบว่า ตำแหน่งที่ให้เสียงลงตัวมากที่สุดในห้องฟังของผม สำหรับลำโพงแต่ละคู่ก็จะอยู่ในตำแหน่งที่ ใกล้เคียงกันแทบจะทุกคู่ อาจจะแตกต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หลังจาก Q7 Meta ผ่านการเบิร์นฯ มาเกิน 100 ชั่วโมงแล้ว ผมก็เริ่มเซ็ตอัพและไฟน์จูนตำแหน่งการวางเพื่อสรุปผลด้วยการทดลองฟังเสียง พบว่า ระยะห่างของลำโพงซ้ายขวาที่ให้ โฟกัสของเสียง ทั้งระนาบที่ลงตัวมากที่สุดอยู่ที่ 161.5 .. ทั้งสองข้างตั้งหน้าตรงไม่โทอิน ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสทดสอบลำโพงของ KEF มาแล้วหลายรุ่น ผมพบว่า การเซ็ตอัพตำแหน่งวางของลำโพง KEF ทำได้ง่ายกว่าลำโพงอื่นๆ โดยเฉพาะในขั้นตอนขยับตำแหน่งของระยะห่างซ้ายขวาเพื่อหาจุดที่ให้ โฟกัสของเสียงในย่านกลาง ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นผลพวงมาจากการจัดวางไดเวอร์แหลมกับกลางตามรูปแบบ Uni-Q นั่นเอง ทำให้เฟสของเสียงกลางและแหลมลงตัวได้ง่าย

และเมื่อทดลองขยับดันลำโพงถอยหลังลงไปชิดผนังหลังเพื่อจูนโทนัลบาลานซ์ โดยเริ่มจากระยะห่างจากผนังหลังขึ้นมาเท่ากับความลึกของห้องหารด้วยสาม (540 / 3 = 180 ..) พบว่า เมื่อทดลองดัน Q7 Meta ถอยหลังลงไปชิดผนังหลังแค่ 5 .. ทั้งสองข้าง พบว่าเสียงทุ้มมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น สมดุลเสียงเอนเอียงไปทางทุ้มอย่างชัดเจน หลังจากทดลองขยับเดินหน้าถอยหลังอยู่พักนึง พบว่า ที่ระยะห่างหนังหลังเท่ากับ 180 .. ให้สมดุลเสียงดีที่สุดแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ผลิตลำโพงคู่นี้ปรับจูนเสียงทุ้มมามากเพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องการห้องเข้ามาช่วย (*ลำโพงตั้งพื้นที่มีคุณภาพสูงหลายๆ คู่ก็มักจะลงตัวที่ระยะห่างผนังหลังเท่านี้)

เสียงของ Q7 Meta

ช่วงสิบชั่วโมงแรกของการเบิร์นฯ ผมพบว่า Q7 Meta ให้โทนเสียงเอนเอียงไปทางทุ้มมากกว่ากลางแหลมค่อนข้างชัด และเสียงทุ้มจะมีลักษณะที่อิ่มหนา ตั้งแต่ทุ้มต้นๆ ลงไปยังเกาะกันออกมาเป็นก้อน ในขณะที่เสียงกลางแหลมยังไม่เปิดกระจ่าง หางเสียงความกังวานยังไม่ทอดตัวออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งความแตกต่างของบุคลิกเสียงระหว่างทุ้มกับกลางแหลมของลำโพงคู่นี้จะปรากฏตัวออกมาให้ได้ยินชัดมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่พ้นระยะเวลาเบิร์นฯ ตามมาตรฐานคือประมาณ 100 ชั่วโมงไปแล้ว

พอเบิร์นฯ เลย 20 ชั่วโมง เป็นต้นไป ผมพบว่า เสียงกลางแหลมเริ่มคลี่คลายปลายหางเสียงให้กระจายตัวทอดยาวออกมามากขึ้น ในขณะเดียวกัน ในย่านทุ้มก็เริ่มแยกแยะหัวโน๊ตออกมาจากบอดี้และหางเสียงได้ชัดขึ้น เริ่มรับรู้ถึงระดับความลึกของความถี่ที่ต่างกันได้มากขึ้นเพราะระหว่างทุ้มต้นทุ้มกลางทุ้มลึกเริ่มมีการแยกตัวออกจากกันมากขึ้น มีผลให้พื้นเสียงมีความโปร่งใสมากขึ้น และในแง่โทนัลบาลานซ์ที่เคยเอนเอียงไปทางทุ้มมากกว่ากลางแหลมก็เริ่มมีความสมดุลมากขึ้น ความหนาแน่นของเสียงทุ้มเริ่มลดลง

เสียงของ Q7 Meta เริ่มเข้าสู่มาตรฐานที่ควรจะเป็นก็คือช่วงเบิร์นพ้น 50 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เสียงโดยรวมฟังดีขึ้นมาก เพราะนอกจากรายละเอียดของแต่ละตัวโน๊ตจะถูกคลี่คลายออกมาให้ได้ยินเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว หลังจากเบิร์นมาถึง ชั่วโมงที่ 70 ขึ้นไป คุณสมบัติทางด้านไดนามิกก็เริ่มเข้าสู่มาตรฐานที่ควรจะเป็น แต่เนื่องจากความจริงที่ว่า ลำโพงที่ใช้ไดเวอร์จำนวนมากจะต้องการเวลาในการเบิร์นฯ มากกว่าลำโพงที่ใช้ไดเวอร์จำนวนน้อยกว่า ด้วยเหตุที่ Q7 Meta ใช้ไดเวอร์มากถึง 4 ตัวต่อข้าง ผมจึงปล่อยให้มันกินแรงแอมป์ไปอีกจนเลย ชั่วโมงที่ 100 ไปแล้ว จึงค่อยตั้งใจวิเคราะห์เสียงของลำโพงคู่นี้ ซึ่งจาก ชั่วโมงที่ 70 ไปถึง ชั่วโมงที่ 100 ผมพบว่ามันเริ่มนิ่งแล้ว แม้ว่าจะยังคงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแต่ก็เป็นไปในส่วนย่อยและในปริมาณที่เล็กน้อย อย่างเช่นปลายเสียงทอดยาวขึ้นอีก รายละเอียดในระดับ low level ผุดขึ้นมาจากแบ็คกราวนด์ให้ได้ยินชัดขึ้น ในขณะที่ส่วนหลักๆ ของเสียงเริ่มนิ่งแล้ว ช่วงที่ผมเริ่มต้นนั่งฟังจริงๆ จังๆ เพื่อสรุปผลครั้งนี้เป็นช่วงที่ Q7 Meta ผ่านแรงดันของแอมป์มาได้ประมาณ 120 กว่าชั่วโมง แล้ว

ครบและ ดี” .!!!

ถ้ามีใครมาตั้งคำถามกับผมว่า ผมต้องการ อะไรจากลำโพง.? คำตอบแรกของผมก็คือ ต้องการ เสียงที่ดีซึ่งถ้าจะให้แจกแจงคำว่า เสียงที่ดีออกมาตามความหมายของผม อย่างแรกของเสียงที่ดีที่ผมต้องการก็คือ เสียงที่ครอบคลุม ความถี่ที่กว้างที่สุด ซึ่งผมว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากถ้าจะพูดถึงเสียงที่ดีจริงๆ เพราะมันทำให้เราได้ยิน รายละเอียดจากเพลงที่ฟังออกมาได้ครบที่สุด อ้างอิงกับมาตรฐานที่วงการเครื่องเสียงยุคไฮไฟฯ ยึดถืออยู่คือ 20Hz – 20kHz หรือถ้าเป็นไปได้ทะลุขึ้นไปถึง 40kHz ตามมาตรฐานไฮเรซฯ ก็ดี (*แต่กับเครื่องเสียงระดับกลางๆ ขอแค่มาตรฐานไฮไฟฯ 20Hz – 20kHz ก็พอแล้ว)

ในสเปคฯ ของ Q7 Meta ระบุว่าตอบสนองความถี่ได้ตั้งแต่ 46Hz – 20kHz (+/-3dB) แต่ถ้าวัดกันขณะใช้งานจริงภายในห้องจะได้ความถี่ต่ำที่ลาดลงไปได้ลึกถึง 28Hz (-6dB) แบบแผ่วๆ ซึ่งถือว่าครอบคลุมได้กว้างมากพอแล้วสำหรับผม (เมื่อเทียบกับราคาขายของ Q7 Meta ซึ่งตั้งไว้ที่ 79,900 บาท/คู่) หลังจากเรื่องความถี่ที่กว้างมากพอแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาคุณสมบัติทางด้านอื่นอีกที

อัลบั้ม : Winter Song (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Terje Isungset
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/3343902?u)

ส่วนตัวผมมีทำ TIDAL Playlist ที่ไว้ใช้ทดสอบประสิทธิภาพในการตอบสนองทางด้านความถี่ต่ำของอุปกรณ์เครื่องเสียงอยู่ ซึ่งตอนนี้มีคัดเลือกเพลงไว้ได้ 9 เพลง ที่มีรายละเอียดในย่านทุ้มที่นำมาใช้วัดผลได้ (ลิ้งค์ของเพลย์ลิส https://tidal.com/browse/playlist/094d64e2-133c-49c8-8eaa-0b66e3d2f91d) ซึ่งเพลง ‘Fading Sunของ Terje Isungset ก็เป็นหนึ่งในลิสต์นั้น

เวลาผมใช้เพลง Fading Sun ในการทดสอบประสิทธิภาพของลำโพง ผมจะพิจารณาอยู่ 2 – 3 ประเด็น อย่างแรกคือ ดูว่าลำโพงคู่นั้นสามารถถ่ายทอดความถี่ต่ำออกมาได้ ครบถ้วนแค่ไหน ซึ่งเพลงนี้บันทึกความถี่ต่ำมาได้ดีมาก เป็นความถี่ต่ำที่ลงไปลึกแต่เคลียร์ชัดและสะอาด จากการทดลองฟังผ่านลำโพงคู่นี้ผมพบว่า Q7 Meta สามารถแจกแจงรายละเอียดของเสียงต่างๆ ในเพลงนี้ออกมาได้ดีมาก โดยเฉพาะเสียงที่เกิดขึ้นในย่านทุ้ม อย่างเช่นเสียง iceharps ที่มาครบทั้งหัวโน๊ตบอดี้ และฮาร์มอนิกที่แผ่เป็นหางเสียงทอดกังวานออกไปรอบด้าน เป็นคลื่นความถี่ต่ำที่แผ่เป็นวงแหวนออกไปรอบๆ หัวโน๊ตในลักษณะที่กระเพื่อมออกไปเป็นระลอก หรือเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่ทำมาจากน้ำแข็ง หรือมีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ ซึ่งให้ลักษณะความกังวานของเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเมื่อนำไปบรรเลงในโดมที่ทำด้วยน้ำแข็ง เสียงที่ออกมาจึงมีทั้งความกังวานที่แผ่ออกมารอบทิศ และเป็นความกังวานที่มีพลังของคลื่นเสียงแฝงออกมาด้วยเพราะถูกควบคุมด้วยลักษณะความโค้งของโดม (*เพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้รวบรวมมาจากการบันทึกเสียงการบรรเลงสองแห่ง คือจากการแสดงสดในงาน Icefestival ที่ Geilo ประเทศนอรเวย์ กับแห่งที่สองบันทึกมาจากการแสดงสดในโดมน้ำแข็งภายในงาน Icefestival ที่อิตาลีเมื่อ ปี 2009)

ถ้าลำโพงตอบสนองความถี่ต่ำได้ไม่ดี ทั้งเสียงหัวโน๊ตและหางเสียงในเพลงนี้จะออกมาอื้ออึงและมัวซัว ปะปนกันจนแยกไม่ออก ซึ่ง Q7 Meta คู่นี้สอบผ่านตรงจุดนี้ได้อย่างสบายๆ มันให้มวลเนื้อของความถี่ต่ำออกมาอิ่มและแน่น มีแรงปะทะที่ทำให้รู้สึกถึง น้ำหนักของเสียงทุ้มที่ทิ้งตัวลงพื้น ในขณะเดียวกัน ผมก็ยังได้ยินเสียงร้องประสานเบาๆ กับเสียงเคาะหนักๆ คล้ายระฆังซึ่งอยู่ในย่านเสียงกลาง และเสียงเคาะโลหะที่อยู่ในย่านเสียงแหลมออกมาด้วย แสดงถึงความสามารถในการถ่ายทอดความถี่ ตลอดทั้งย่านออกมาได้อย่างสมดุล โดยมีคุณภาพเสียงที่ดีพอกันทั้งกลางแหลมและทุ้ม

อัลบั้ม : Liberty (TIDAL MAX/FLAC-24/48)
ศิลปิน : Anette Askvik
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/5761227?u)

อีกเพลงที่ Q7 Meta โชว์ให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดความถี่ต่ำที่ยอดเยี่ยม ซึ่งจุดเด่นของเพลง ‘Libertyอยู่ที่ความถี่ต่ำที่กระจายตัวแผ่ออกไปครอบคลุมได้เต็มพื้นที่ในห้อง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นความถี่ที่ต่ำมากซึ่งเราไม่ได้ยินเสียง แต่ รู้สึกได้ถึงพลังงานของมันที่ทำตัวเป็น แอมเบี้ยนต์ที่ช่วยโอบอุ้มให้เสียงอื่นๆ ล่องลอยขึ้นมาในเวทีเสียงได้อย่างชัดเจน ถ้าลำโพงให้ความถี่ต่ำได้ไม่มากพอ ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกโหวงๆ เบาๆ ฐานเสียงจะไม่แน่น ทำให้เวทีเสียงไม่เปิดลอย แถมอาจจะมีอาการแห้งๆ ติดปลายเสียงมาด้วย

เพลงนี้ช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการถ่ายทอดเสียงในย่านทุ้มของ Q7 Meta ออกมาให้เห็นชัดขึ้น และทำให้รู้ว่าวูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ทั้งสองตัวที่ติดตั้งมาใน Q7 Meta นั้นไม่ได้มีไว้แค่ช่วยเสริมเสียงกลางของตัว Uni-Q อย่างที่เข้าใจในตอนแรกเท่านั้น แต่มันยังมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความถี่ต่ำที่อยู่ในเพลงต่างๆ ออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำอีกด้วย..

อัลบั้ม : Acoustic Covers (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : John Adams
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/188599859?u)

อัลบั้ม : Fleda Sidor AV Samma Man (TIDAL MQA/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Peter Joback
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/552462?u)

แต่ยังไงก็ตาม คุณภาพของ เสียงกลางก็ยังถือว่าเป็นหัวใจหลักของลำโพงที่ดีอยู่เสมอ แม้ว่า Q7 Meta จะให้เสียงทุ้มออกมาได้ดีน่าพอใจก็จริง แต่ถ้ามันให้เสียงกลางออกมาไม่ดี ผลรวมของคุณภาพเสียงของ Q7 Meta คู่นี้ก็ต้องถูกปรับลดความน่าสนใจลงไปอย่างมาก

เสียงร้องของ John Adams ในอัลบั้มชุดนี้บันทึกมาได้ชัดมาก เหตุผลคงเป็นเพราะแต่ละเพลงมีแค่เสียงร้องกับเครื่องดนตรีแค่ชิ้นเดียว ไม่เป็นเสียงกีต้าร์ก็เป็นเสียงเปียโนเพราะเป็นเวอร์ชั่น Acoustic แม้ว่าแก้วเสียงของเขาจะไม่ได้อิ่มหนา แต่ก็มีความเข้มข้น ลอยเด่นชัด แทบทุกเพลงในอัลบั้มนี้โชว์เสียงร้องของเขาออกมาชัดมาก ที่ผมชอบฟังบ่อยๆ ก็มี Bohemian Rhapsody กับ Have I Told You Lately That I Love You ซึ่ง Q7 Meta คู่นี้ก็โชว์เสียงร้องเด่นๆ ของจอห์น อดัมออกมาให้เชยชมสมกับความอยาก

ส่วนนักร้องอีกคนคือ Peter Joback กับเพลง Always On My Mind ซึ่งผมกำลังชอบฟังบ่อยๆ เพราะเพลงนี้มีการเรียบเรียงดนตรีไว้น่าฟัง การบันทึกเสียงก็ทำได้ดีมาก โดยเฉพาะเสียงร้องของ Peter Joback ที่เก็บรายละเอียดมาได้ชัดเจนมาก พื้นเสียงใสสะอาด ตัวเสียงร้องมีความชัดเจนและให้รายละเอียดที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนคนจริงๆ มาก ซึ่ง Q7 Meta ก็ถ่ายทอดเสียงร้องแบบนั้นออกมาให้ได้ยินแบบไม่มีปิดบัง สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมของไดเวอร์ Uni-Q ที่รักษาความแม่นยำเชิงเฟสของสัญญาณในย่านกลางขึ้นไปถึงแหลมเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้โฟกัสของเสียงร้องมีความนิ่ง ไม่วูบวาบ และมีไทมิ่งที่ลื่นไหล ต่อเนื่อง

อัลบั้ม : La Fille Mal Gardee (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : John Lanchbery & Orchestra Of The Royal Opera House
สังกัด : DECCA/TIDAL (https://tidal.com/browse/album/351127039?u)

ลำโพงใหญ่ก็ต้องฟังเพลงคลาสสิก ซึ่งเพลงคลาสสิกของค่าย Decca ชุดนี้ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของไดเวอร์ Uni-Q มากเป็นพิเศษ เนื่องจากเสียงแหลมที่ Q7 Meta ให้ออกมานั้นมีทั้งความชัดเจนและสะอาด ฟังแล้วลื่นหู ไม่แหลมโด่งออกมาจนทำให้รูปวงเสียไป ซึ่งนี่ก็เป็นคุณสมบัติที่ได้มาจากการจัดตำแหน่งของทวีตเตอร์ให้เหลื่อมลงไปอยู่หลังมิดเร้นจ์ จึงมีผลให้ความถี่สูงกับความถี่ในย่านกลางมีความเชื่อมต่อกันได้สนิท ส่วนของเสียงในย่านกลางที่เป็นอิมแพ็คกับส่วนของเสียงในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงสูงที่เป็นฮาร์มอนิกมีความเชื่อมต่อกันทางไทมิ่งที่ราบลื่น และต่อเนื่องเป็นลำดับ ไม่มีการเหลื่อมกัน ส่งผลให้เสียงในย่านกลางแหลมของ Q7 Meta มีความลื่นหูเป็นพิเศษ ซึ่งอีกเหตุผลที่ทำให้เสียงในย่านแหลมมีความเนียนหูก็น่าจะเป็นผลมาจากแผ่น MAT ที่ช่วยเก็บเสียงก้องสะท้อนที่ด้านหลังของโดมทวีตเตอร์เอาไว้ ทำให้เสียงแหลมที่ทวีตเตอร์สร้างขึ้นมีความสะอาด ปราศจากความเพี้ยนเข้ามาปน

พอไทมิ่งของเสียงในย่านกลางแหลมที่มาจากไดเวอร์ Uni-Q มีความถูกต้องทางด้านเฟสที่แม่นยำ จึงส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงคุณสมบัติทางด้าน เวทีเสียงที่มีรูปวงแผ่โค้งออกไปทางหลังระนาบลำโพงโดยปริยาย จากการทดลองฟังพบว่า Q7 Meta สามารถถ่ายทอดความลึกของเวทีเสียงของอัลบั้มนี้ให้ทะลุผ่านผนังหลังออกไปไกล อีกทั้งยังให้บรรยากาศโดยรอบที่เปิดโล่ง ฉีกวงแผ่กว้างออกไปทุกด้าน ฟังแล้วเกิดมโนภาพเหมือนเข้าไปนั่งฟังอยู่ในฮอลล์นั่นเลย

อัลบั้ม : Hoist The Colours (A Cappella)(TIDAL HD/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : The Wellermen
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/350788225?u)

ไฮไล้ท์เลยครับสำหรับ Q7 Meta กับเพลงแนวอะแคปเปล่าชายล้วนชุดนี้.! ซึ่งวงนี้มีนักร้องประสานเสียงที่มีโทนเสียงอยู่ในย่านเบสอยู่คนหนึ่ง เสียงของเขาต่ำสุดในเร้นจ์เสียงของผู้ชาย ที่ผมเคยฟังผ่านลำโพงวางขาตั้งมาก่อนผมรู้สึกว่าเสียงของนักร้องคนนี้ไม่ได้นุ่มลึกมาก พอเปิดผ่านลำโพงตั้งพื้น Q7 Meta คู่นี้ คราวนี้เสียงของนักร้องคนนี้มันออกมาต่ำลึกสะใจเลย..!! ทั้งต่ำ ลึก และหนานุ่ม คอนทราสน์กับเสียงของนักร้องคนอื่นๆ อย่างชัดเจน ฟังแล้วได้อารมณ์ขึ้นมาอีกเยอะ..!!! และนี่ก็เป็นอีกบททดสอบที่ทำให้สรุปได้ว่า วูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ที่เพิ่มเข้ามาในรุ่น Q7 Meta คู่นี้ไม่ได้ให้มาเพื่อช่วยเสริมให้กับไดเวอร์ Uni-Q เท่านั้น แต่ทีมออกแบบของ KEF ทำให้วูฟเฟอร์สองตัวนั้นแสดงศักยภาพของตัวมันเองออกมาด้วยเมื่อต้องเจอกับรายละเอียดในย่านต่ำที่ซับซ้อน มันก็สามารถคลี่คลายรายละเอียดในย่านต่ำเหล่านั้นออกมาให้ฟังได้อย่างมีอรรถรสอย่างยิ่ง

สรุป

อาจจะเป็นเพราะราคาค่าตัวที่ค่อนข้างต่ำ (ลำโพงตั้งพื้น สามทาง คู่ละไม่ถึงแปดหมื่น) กับความที่เป็นซีรี่ย์เล็กของแบรนด์ ผมเลยไม่ค่อยจะตั้งความหวังอะไรไว้กับ Q7 Meta คู่นี้มากนักในตอนแรก แต่พอทุกอย่างเข้าที่ เบิร์นฯ เสร็จและแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพจนลงตัวแล้ว กลายเป็นว่า สิ่งที่ได้ยินจากลำโพงคู่นี้มันเป็นอะไรที่เกินคาดจริงๆ ..!!!

ตอนแรกผมคิดว่า ผู้ผลิตคงจะเอาวูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ทั้งสองตัวนั้นมาช่วยเสริมเสียงกลางของ Uni-Q ให้มันอิ่มขึ้นเท่านั้น (เพราะเห็นว่ามิดเร้นจ์ของ Uni-Q ก็แค่ 4 นิ้ว) แต่ที่ไหนได้ วูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ทั้งสองตัวนั้นมันมีดีมากกว่าที่ผมคิดเยอะ มันสร้างความถี่ต่ำที่มีคุณภาพออกมาให้ได้ยินแบบนึกไม่ถึง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทีมออกแบบที่ไม่ได้เอาวูฟเฟอร์ทั้งสองตัวนั้นมาใส่ตู้เพื่อเสริมเสียงกลางของตัวมิดเร้นจ์เท่านั้น แต่ยังได้ทำการปรับจูนอย่างหนักจนทำให้มันมีอิทธิฤทธิ์มากพอที่จะสำแดงความมหัศจรรย์ของเสียงทุ้มที่ซ่อนอยู่ในเพลงเด็ดๆ ออกมาให้เชยชมได้อย่างน่าทึ่ง ผมยอมรับว่า วูฟเฟอร์ 6.5 นิ้ว ทั้งสองตัวที่ติดตั้งมาใน Q7 Meta มันเข้ามาช่วยเสริมในส่วนที่ไดเวอร์ Uni-Q ยังขาดอยู่ได้อย่างลงตัวมากๆ

KEFQ7 Metaคู่นี้ให้คุณภาพเสียงที่ สูงเกินราคาไปมาก.! ทีมออกแบบของ KEF เกลี่ยคุณภาพเสียงออกมาได้เสมอกันระหว่างทุ้มกลางแหลมที่ทำออกมาได้น่าพอใจ สำหรับคนที่ เล่นเครื่องเสียงและสนุกกับการเซ็ตอัพลำโพงและไฟน์จูนซิสเต็มเพื่อค้นหาลักษณะเสียงที่ตัวเองชอบและอยากได้ คุณต้องให้ความสำคัญกับ ลำโพงมากกว่าส่วนอื่นๆ สำหรับนักเล่นระดับกลางๆ ผมขอแนะนำลำโพงคู่นี้ไว้ให้คุณพิจารณาใช้เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับการเล่นเครื่องเสียงของคุณ..!!

**********************
ราคา : 79,900 บาท / คู่
**********************
ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ติดต่อที่
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
โทร. 02-692-5216
Line ID: @kefthailand

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า