นับวันก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์” สำหรับระดับกลางลงไปถึงระดับล่างได้ถูก “อินติเกรตแอมป์” ยึดพื้นที่ไปจนแทบหมดสิ้นแล้ว.! ถ้าไม่ได้ตั้งงบประมาณสูงถึง 200,000 บาทขึ้นไป ก็ยากที่จะหาปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ในวงเงินนี้มาเล่นได้ และถึงแม้ว่าคุณจะขยับงบขึ้นไปอีกเท่าตัวเป็น 400,000 บาท ก็อาจจะพอมีปรี+เพาเวอร์แอมป์ให้คุณเลือกซื้อมาใช้ได้บ้าง แต่ถึงยังไง ในงบ 400,000 บาท ถ้าจะเน้นคุณภาพขึ้นไปถึงระดับไฮเอ็นด์ คุณก็ยังหนีอินติเกรตแอมป์ไปไม่พ้นอยู่ดี ต่อให้ดันงบขึ้นไปสูงกว่านั้นก็ยังไม่พ้น เพราะปัจจุบันเริ่มมีอินติเกรตแอมป์ที่มีราคาขยับขึ้นไปถึงหลักล้านบาทออกมาหลายตัวแล้ว..!!!
เพราะอะไร.? ทำไม.. อินติเกรตแอมป์ถึงขึ้นมายึดอำนาจปรี+เพาเวอร์ฯ ได้.??
ปัจจัยหลักๆ ก็มาจาก “สัญญาณต้นทาง” ในปัจจุบันที่มี gain สูงขึ้นกว่ายุคก่อนมาก สมัยก่อนในยุคอะนาลอก เกนเอ๊าต์พุตของอุปกรณ์ต้นทาง (source) ประเภทเครื่องเล่นต่างๆ จะอ้างอิงกันอยู่ที่ 2Vrms ในขณะที่ปัจจุบันได้ขยับสูงขึ้นไปกว่านี้มาก โดยเฉพาะสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของอุปกรณ์ประเภทที่ใช้ภาค DAC ที่เอ๊าต์พุต (external DAC, Streamer DAC) มักจะให้ gain สูงถึง 4Vrms ในขณะที่บางตัวโดดไปถึง 6Vrms ก็มี ถ้าวัดแบบ peak-to-peak จะสูงโด่งขึ้นไปมากกว่านี้อีก ยกตัวอย่างเช่น external DAC ของ Rockna รุ่น Wavedream DAC ที่ผมเพิ่งทดสอบไป (REVIEW) ตัวนั้นให้เอ๊าต์พุตทางช่องอันบาลานซ์ (RCA) ที่สูงถึง 6.6V(p-to-p) และสูงถึง 13.2V(p-to-p) ทางช่องเอ๊าต์พุตบาลานซ์ XLR
ปรีแอมป์ในยุคก่อนจะต้องมีวงจรขยายเกนของแหล่งต้นทางที่ให้เอ๊าต์พุตค่อนข้างต่ำ อย่างพวกหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง, จูนเนอร์ และเทปคาสเส็ท ซึ่งแต่ละแหล่งให้ gain สัญญาณมาที่อินพุตของปรีแอมป์ต่างกันมาก ที่ตัวปรีแอมป์จึงต้องมีการออกแบบภาคขยายขึ้นมาใช้ขยายสัญญาณจากแหล่งต้นทางเหล่านั้นให้มีเกนแรงพอที่จะป้อนให้กับเพาเวอร์แอมป์นำไปขยายเพิ่มแล้วส่งไปที่ลำโพง ซึ่งปัจจุบันแหล่งต้นทางอะนาลอกที่ให้เกนเบาๆ อย่างเทปคาสเส็ทและจูนเนอร์อะนาลอกก็หายไปจากวงการหมดแล้ว สัญญาณเสียงเพลงได้ถูกปรับเปลี่ยนเข้าสู่โดเมนดิจิตัลที่ไม่มีปัญหาเรื่อง gain อีกต่อไป เพราะพื้นฐานของสัญญาณดิจิตัลมันให้คุณสมบัติทางด้าน S/N ratio ที่สูงกว่าสัญญาณอะนาลอกสมัยก่อนมากการจัดเกนเอ๊าต์พุตสูงๆ จึงไม่มีปัญหาของสัญญาณรบกวนที่พุ่งตามขึ้นมาเหมือนเมือ่ก่อน
เมื่อสัญญาณจากแหล่งต้นทางปัจจุบันมีความแรงพอ ภาคขยายจากปรีแอมป์ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ที่คุณต้องการมีแค่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ระบบวอลลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อใช้ควบคุม “ปริมาณ” สัญญาณจากแหล่งต้นทางที่เข้ามาทางอินพุตให้ลงมาคูณกับอัตราขยายของภาคเพาเวอร์แอมป์เพื่อสร้างความดังออกมาตามที่คุณต้องการ ส่วนอย่างที่สองก็คือ selector ไว้เลือกแหล่งอินพุตเท่านั้นเอง
ประจวบกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตัลที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถนำคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องการจากภาคปรีแอมป์เหล่านั้น (รวมกับฟังท์ชั่นพิเศษอื่นๆ เท่าที่จะนึกออก) ไปเขียนเป็นซอฟท์แวร์ฝังลงบนชิปโปรเซสเซอร์ให้ทำงานแทนภาคปรีแอมป์แบบ discrete ได้อีก นั่นช่วยประหยัดพื้นที่ได้มาก สามารถนำโปรเซสเซอร์ที่ว่านั้นไปฝังอยู่ในตัวถังเดียวกันเพาเวอร์แอมป์.. แล้วเรียกมันว่า “อินติเกรตแอมป์” นั่นแหละ.!!
Audiolab 9000A
อินติเกรตแอมป์ยุคใหม่.. เต็มพิกัด.!
นี่คือผลิตภัณฑ์ตัวแรกในซีรี่ย์ 9000 ซึ่งเป็นซีรี่ย์ใหม่ของ Audiolab และถูกตั้งใจให้เป็นซีรี่ย์เรือธงซะด้วย แคตากอรี่ของ 9000A คือ “อินติเกรตแอมป์” แต่เป็นอินติเกรตแอมป์ยุคใหม่ที่ขนคุณสมบัติพิเศษมาเพียบ เรียกว่าเป็นอินติเกรตแอมป์ที่น่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่งในตลาดตอนนี้ แต่ก่อนจะเจาะเข้าไปในรายละเอียดของคุณสมบัติเหล่านั้น เราไปแวะชมรูปโฉมของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้กันก่อน..
สวยขึ้นมากก..!!!
บอดี้สีอะลูมิเนียมของ 9000A ตัวจริงสวยมาก.. นอกจากสีของตัวบอดี้แล้ว ลักษณะของปุ่มกดและปุ่มหมุนที่อยู่บนแผงหน้าปัดก็มาในรูปแบบเดียวกับรุ่น 6000A ทั้งรูปทรงและขนาด รวมถึงการวางตำแหน่ง แต่ที่ 9000A เก๋ไก๋กว่ามากก็คือจอแสดงผลขนาด 4.3 นิ้ว วัดตามแนวทะแยงแบบจอทีวี (กxส อยู่ที่ 80 x 48 ม.ม.) ที่ติดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือสุดของแผงหน้า (หันหน้าเข้าหาเครื่อง) เป็นจอ IPS LCD ที่ให้สีสันสดใส ผู้ออกแบบตั้งใจเอาไว้ทำหน้าที่แสดงผลการทำงานของตัวเครื่องหลายๆ อย่าง ส่วนผลพลอยได้คือ.. สวย!
เรียบง่าย สไตล์มินิมอล มีเฉพาะสิ่งที่จำเป็น.!
1. ปุ่ม Power
2. ไฟ LED แสดงสถานะเปิด/สแตนด์บาย
3. ปุ่ม VOL ใช้หมุนปรับเพิ่ม/ลดความดัง
4. รูเสียบแจ๊คหูฟังขนาดมาตรฐาน 6.3 mm
5. ปุ่ม MODE ใช้หมุนเลือกโหมดการทำงานของตัวเครื่อง และเข้าใช้งานเมนู
6. ปุ่ม SELECT ไว้หมุนเลือกแหล่งอินพุต
7. จอแสดงผล
เมื่อหันหน้าเข้าหาตัวเครื่อง จากขวามือสุดไล่มาทางซ้ายจะเจอกับปุ่มกด power (1) สำหรับเปิดเครื่องกับเข้าโหมดสแตนด์บาย หลังจากเสียบสายไฟเอซีเข้าที่เต้ารับบนแผงหลังและกดเมนสวิทช์ที่แผงหลังไปที่ตำแหน่ง ON แล้ว ไฟ LED (2) ที่อยู่เหนือปุ่มเพาเวอร์จะสว่างขึ้นเป็นสีแดงจางๆ เมื่อคุณกดลงไปที่ปุ่ม Power หรือกดปุ่มเพาเวอร์ที่รีโมทไร้สายที่แถมมาให้ ไฟ LED ดวงนี้จะสว่างเป็นสีแดงจ้าขึ้น และจอแสดงผล (7) ก็จะเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นแอ๊คชั่นของเครื่องที่บอกให้รู้ว่ามันถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาแล้ว หลังจากปรับสภาพอีก 3-4 วินาที เมื่อจอแสดงหน้า HOME ก็แสดงว่า 9000A ตัวนี้พร้อมทำงานแล้ว
ปุ่มปรับวอลลุ่ม (3) ที่ให้มามีขนาดใหญ่เหมาะมือ แต่เพื่อความสะดวกคุณสามารถปรับวอลลุ่มขึ้น–ลงได้ด้วยการกดปุ่มบนรีโมทไร้สายที่แถมมาให้
เลือกโหมดการทำงานได้..
ถัดจากปุ่มวอลลุ่มไปทางซ้าย มีอีก 2 ปุ่ม ที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งทำหน้าที่ต่างกัน ปุ่มหนึ่ง (5) ใช้เลือกโหมดการทำงานของ 9000A ที่มีให้เลือก 3 สถานะ คือ
1. โหมด Integrated = เป็นโหมดมาตรฐาน ทำหน้าที่เป็นอินติเกรตแอมป์
2. โหมด Pre-Power = เป็นโหมดที่ 9000A ทำตัวเป็นเพาเวอร์แอมป์ รองรับสัญญาณจากภาคปรีแอมป์ภายนอก
3. โหมด Pre = เป็นโหมดที่ 9000A ทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์ เพื่อส่งสัญญาณไปจับกับเพาเวอร์แอมป์ภายนอก
เมื่อกดเลือกโหมดการทำงานแบบใดแบบหนึ่ง รายชื่อโหมดนั้นจะปรากฏอยู่ที่มุมล่างซ้ายของจอแสดงผล (ศรชี้)
ถือว่าเป็นการออกแบบวิธีการแยก “ภาคปรีแอมป์” กับ “ภาคเพาเวอร์แอมป์” ออกจากกันที่อัพเกรดขึ้นมาจากสมัยก่อนที่ใช้วิธีเสียบ U-Link มาเป็นวิธี “ปิด” การทำงานของภาคที่ไม่ต้องการใช้งานไปเลย ซึ่งวิธีที่ 9000A ใช้นี้มีข้อดีตรงที่ภาคไหนที่ไม่ได้ใช้จะถูกปิด ตัดประเด็นเรื่องการแย่งไฟเลี้ยง กับประเด็นเรื่องการรบกวนของภาคที่ไม่ได้ใช้งานออกไปได้หมดจดกว่าวิธีที่ใช้ U-Link เสียบ
บางคนที่ใช้ external DAC ที่มีภาคปรีฯ ในตัว (รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันมักจะเป็นแบบนี้) กับ 9000A ตัวนี้ ถ้านึกอยากจะเปลี่ยนไปใช้ภาคปรีฯ ของ external DAC ก็สามารถทำได้ โดยปรับโหมดของ 9000A เป็น Pre-Power แล้วต่อเชื่อมสัญญาณปรีเอ๊าต์จากตัว external DAC ไปเข้าที่อินพุต ‘Power Amp In’ ของ 9000A แล้วปรับวอลลุ่มที่ตัว external DAC แบบนี้จะเหมือนกับว่าคุณมีปรีแอมป์ 2 ตัวไว้ให้แม็ทชิ่งแนวเสียงเล่น
ฟังท์ชั่นพิเศษเพียบ..!!!
มีเมนูซ่อนอยู่ที่ปุ่ม MODE หลายตัว บางตัวเป็นฟังท์ชั่นที่มีประโยชน์มาก นอกจากมีโหมดการทำงานทั้ง 3 โหมดให้เลือกตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว เมื่อคุณกดลงไปบนปุ่ม MODE หรือกดปุ่ม MENU บนรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ คุณจะพบกับเมนูการปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ โผล่ขึ้นมาบนจอให้เลือกปรับตั้งใช้งานอีกมากถึง 11 เมนู เริ่มตั้งแต่ Filter / Upsampling / Input Sensitivity / Volume/Power On Limit / Display Option / Trigger / Language / Standby / DPLL / Balance / Brightness / Display Time Out / Animation / Reset / Version ซึ่งบางเมนูก็เป็นการแจ้งข้อมูลให้ทราบเฉยๆ อย่างเช่นหัวข้อ Version ที่แสดงเวอร์ชั่นของเฟิร์มแวร์อยู่ในนั้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเมนูที่มีอ๊อปชั่นให้ปรับตั้งค่าสำหรับการทำงานในหน้าที่นั้นๆ ซึ่งบางเมนูจะส่งผลโดยตรงกับเสียงด้วย อาทิเช่น Filter*, Upsampling*, DPLL* และ Input Sensitivity* เป็นต้น (*ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ “การเซ็ตอัพที่จำเป็นก่อนฟังจริง“)
อินพุต+เอ๊าต์พุตบนแผงหลัง
9000A เรียงขั้วต่ออินพุต/เอ๊าต์พุตด้านหลังไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก จากซ้ายไปขวา เริ่มจากเต้ารับสำหรับสายเอซีที่ให้มาเป็นแบบสามขาแยกกราวนด์ มาพร้อมกระบอกใส่ฟิวส์ใต้ตัวเต้ารับ ส่วนเมนสวิทช์ที่ปล่อยไฟเข้าเครื่องถูกติดตั้งอยู่เหนือเต้ารับที่ว่านี้ ถัดมาทางขวาก็เป็นจุดติดตั้งขั้วต่อสำหรับสายลำโพงที่เห็นปุ๊บก็รู้สึกได้เลยว่าเป็น “ของดี” ให้มาแชนเนลละคู่ รองรับการเชื่อมต่อกับขั้วต่อที่ติดตั้งมากับปลายของสายลำโพงได้ทุกรูปแบบ แต่ที่สะดวกที่สุดคือ ขั้วต่อบานาน่าแบบเสียบลงไปที่แกนกลางของขั้วต่อ ซึ่งขั้วต่อสายลำโพงที่ 9000A ให้มานี้มีท่อแกนกลางขนาดใหญ่ เสียบบานาน่าได้ง่าย และหน้าสัมผัสของโลหะตัวนำก็ชุบทองอย่างดี ช่วยให้การรับ/ส่งผ่านสัญญาณเสียงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถัดไปก็เป็นกลุ่มของขั้วต่อ in/out ของสัญญาณ trigger switch เพื่อการส่งสัญญาณควบคุมการเปิด/ปิดเครื่องของเครื่องเสียงตัวอื่นในระบบที่รองรับฟังท์ชั่นนี้ ส่วนช่องเสียบ USB แบบ type A ให้มาเป็นช่องทางสำหรับการอัพเดตเฟิร์มแวร์ ไม่มีฟังท์ชั่นเล่นไฟล์จากทรัมไดร์สำหรับช่องนี้ ถ้าคุณต้องการเล่นไฟล์เพลงจากภายนอกแล้วส่งสัญญาณเอ๊าต์พุตเข้ามาใช้ภาค DAC ในตัว 9000A คุณต้องเล่นไฟล์ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือสตรีมเมอร์ แล้วส่งสัญญาณมาเข้าที่ช่องอินพุต USB ที่เป็น type-B* ที่อยู่ถัดไป (*ดูเรื่องความสามารถในการรองรับสัญญาณของอินพุตดิจิตัลได้ในหัวข้อ “ดีไซน์ภายใน – Integrated Amp + DAC“)
ติดกับอินพุต USB type B ก็เป็นช่องอินพุตสำหรับสัญญาณดิจิตัล ซึ่งให้มา 2 รูปแบบคือ Coaxial ผ่านขั้วต่อ RCA กับแบบ Toslink ผ่านขั้วต่ออ๊อฟติค โดยให้มารูปแบบละ 2 ช่อง (*ดูเรื่องความสามารถในการรองรับสัญญาณของอินพุตดิจิตัลได้ในหัวข้อ “ดีไซน์ภายใน“) ถัดไปทางขวาติดๆ กันก็คือช่องอินพุตของสัญญาณอะนาลอก บาลานซ์ผ่านขั้วต่อ XLR และขั้วต่ออินพุต/เอ๊าต์ของสัญญาณอะนาลอกแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA ของฟังท์ชั่น Pre Out, Power Input และต่อด้วยช่องอินพุตภาค Line สำหรับรองรับสัญญาณจากแหล่งต้นทางภายนอกอีก 3 ช่อง ระบุชื่อเป็น AUX 1, AUX 2 และ AUX 3 ส่วนช่องท้ายขวามือสุดคืออินพุต Phono สำหรับรองรับสัญญาณจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งภายในต่อเชื่อมอยู่กับภาคขยายหัวเข็ม MM โดยให้จุดเชื่อมต่อกราวนด์จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้ข้างๆ
ดีไซน์ภายใน
หลังจากซื้อ Audiolab เข้ามาอยู่ในการดูแล ทางต้นสังกัดคือ IAG (International Audio Group) ก็มอบหมายให้ Jan Ertner เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมดูแลการออกแบบผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ IAG ครอบครองอยู่ ซึ่งในนั้นก็มีแบรนด์ Audiolab รวมอยู่ด้วย
คุณ Jan Ertner คนนี้แกเป็นอิเล็กทรอนิคส์ เอ็นจิเนียร์ที่ร่ำเรียนมาทางด้านเอ็นจิเนียริ่งจากมหาวิทยาลัย University of Southern Demmark ในอดีตเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Philip Swift & Derek Scotland ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท Ertner Audio Consultants ที่ให้บริการด้านคำปรึกษาและช่วยดูแลการออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียง อยู่ในประเทศอังกฤษ งานหลักๆ ของแกที่ทำอยู่กับค่าย IAG ก็คือดูแลการออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงอิเล็กทรอนิคส์เป็นหลัก จำพวกปรี+เพาเวอร์, อินติเกรตแอมป์, โฮม ซีนีม่า โปรเซสเซอร์ และเครื่องเล่นซีดี
Jan Ertner คือคนที่ทำให้ 6000 Series ของ Audiolab มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาในวงการเครื่องเสียง และ 9000A ตัวนี้ก็คือผลิตผลชิ้นล่าสุดที่ Jan Ertner กับทีมของเขามีส่วนในการออกแบบ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของออดิโอ ดีไซเนอร์คนนี้ เพราะที่ผ่านมา เขาก็อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์เด่นๆ ของแบรนด์ Audiolab มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Omnia, 6000A Play, 6000A และ 8300A นี่ยังไม่นับรวมถึงผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแบรนด์ QUAD ที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วยอีกหลายรุ่น
Integrated Amp + DAC
พื้นฐานของ 9000A คืออินติเกรตแอมป์ที่มีภาค DAC อยู่ในตัว ซึ่งในภาค DAC นั้น พวกเขาเลือกใช้ชิป DAC รุ่นใหญ่สุดของค่าย ESS Technology เบอร์ ES9038PRO มาเป็นพื้นฐาน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ตัวของ Jan Ertner กับทีมออกแบบของเขาก็ผ่านมือชิป DAC ของค่าย ESS Technology มาแล้วอย่างโชกโชน ไล่ตั้งแต่เบอร์ ES9016, ES9018 และ ES9028 มาจนถึงตัวท็อป ES9038PRO ตัวนี้ อาศัยความคุ้นเคย ทำให้เขาและทีมงานสามารถดึงประสิทธิภาพของชิป DAC ตัวนี้ออกมาได้อย่างเต็มที่มากที่สุด
ช่องอินพุต coaxial กับช่อง optical ทั้ง 4 ช่องที่ให้มา ถูกออกแบบให้รองรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดถึงระดับไฮเรซฯ คือ 24bit/192kHz ส่วนช่องอินพุต USB ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับสัญญาณได้ทั้งฟอร์แม็ต PCM และ DSD โดยที่ฝั่ง PCM นั้นรองรับได้สูงสุดถึงระดับ 32bit/768kHz ส่วนฟอร์แม็ต DSD รองรับได้สูงสุดถึงระดับ DSD512 (22.4MHz)
นอกจากนั้น ที่อินพุตดิจิตัลของ 9000A ยังมีความสามารถในการถอดรหัสฟอร์แม็ต MQA ได้ และสามารถถอดได้สุดซอยซะด้วย คือมีคุณสมบัติเป็นทั้ง decoder และ renderer ในตัวเอง ซึ่งนอกจากจะรองรับ MQA ทางอินพุต USB แล้ว 9000A ตัวนี้ยังสามารถรองรับ MQA ทางอินพุต coaxial ได้ด้วย
ภาคขยาย
พูดถึงภาคขยายของ 9000A ตัวนี้แล้ว ต้องย้อนไปถึงรุ่น 6000A ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Audiolab และทีมออกแบบของ Jan Ertner อย่างมากในแง่ของ “พละกำลัง” ที่แสดงออกมาในการขับลำโพงที่ดูว่ามากเกินตัวเลขกำลังขับที่ระบุไว้ในสเปคฯ มาก (สเปคฯ ของ 6000A แจ้งไว้ที่ 50W ต่อแชนเนล) แสดงว่าวิธีวัดสเปคฯ ของแบรนด์นี้ให้ตัวเลขออกมาค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง
ในสเปคฯ ของ 9000A ระบุกำลังขับอยู่ที่ 100W ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม และสามารถสวิงกำลังขับขึ้นไปได้สูงถึง 160W เมื่อโหลดของลำโพงลดลงไปอยู่ที่ 4 โอห์ม แสดงว่ามีกำลังสำรองอยู่ประมาณ 60% เซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ขยายสัญญาณเป็นโซลิดสเตท ส่วนวงจรขยายทำงานใน Class AB โดยมีเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า CFB (Complementary Feedback) ช่วยให้การทำงานของวงจรขยายมีความราบเรียบ สม่ำเสมอ และไม่เกิดอาการวูบวาบไปตามอุณหภูมิ ส่วนภาคเพาเวอร์ซัพพลายก็แน่นหนาด้วยหม้อแปลงเทอร์รอยขนาด 320VA กับคาปาซิเตอร์ที่มีความสามารถในการเก็บประจุสูงถึง 60,000 ไมโครฟารัด (ตัวละ 15,000 ไมโครฟารัด x 4 ตัว)
การ “เซ็ตอัพ” ที่จำเป็นก่อนฟังจริง..!
ในเมนูของ 9000A มีหัวข้อการปรับตั้งค่าอยู่หลายตัว เท่าที่ผมทดลองเล่นพบว่ามีอยู่ 4 หัวข้อ ที่ส่งผลกับสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตของ 9000A ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงลักษณะ+คุณภาพเสียงโดยรวมของซิสเต็มด้วย
1. เลือกรูปแบบ Filter สำหรับอินพุตดิจิตัล ขาเข้า
ตัวแรกคือ ‘Filter’ ซึ่ง 9000A มีมาให้เลือกใช้ทั้งหมด 5 ตัว ซึ่งหลักๆ คือ “Linear Phase” โดยมีลักษณะการสโลปลงของความถี่ให้เลือก 2 รูปแบบ คือ Slow Roll-Off กับ Fast Roll-Off กับอีกตัวคือ “Minimum Phase” โดยมีลักษณะการสโลปลงของความถี่ให้เลือก 2 รูปแบบเช่นกันคือ Slow Roll-Off กับ Fast Roll-Off ส่วนตัวที่ห้า “Hybrid (Fast Roll-Off)” คือการผสมคุณสมบัติของฟิลเตอร์ทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งในคู่มือของ 9000A ได้ให้แนวทางผลของเสียงที่เกิดจากการใช้ฟิลเตอร์แต่ละตัวไว้ดังนี้
1. Linear Phase (Fast Roll-Off) = เขาว่าตัวนี้ใช้กันเยอะ มันช่วยเคลียร์ปัญหาต่างๆ ได้ดี เหมาะกับเพลงที่มีสัญญาณทรานเชี้ยนต์ที่รุนแรงเยอะๆ
2. Linear Phase (Slow Roll-Off) = ตัวนี้จะให้ผลคล้ายตัวแรก แต่จะมีผลข้างเคียงที่เรียกว่า ringing น้อยกว่า ตัวนี้จะให้เบสที่ดีดตัว และให้เสียงแหลมที่สะอาด
3. Minimum Phase (Fast Roll-Off) = ตัวนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา pre-ringing เป็นตัวที่ให้คุณสมบัติทางด้านโฟกัสอิมเมจและเวทีเสียงที่เด่นเป็นพิเศษ ไม่ค่อยมีปัญหา “รอยต่อ” ของความถี่ที่เป็นขั้นบันได ให้เสียงเบสที่มีพลัง และให้เสียงแหลมที่สะอาด
4. Minimum Phase (Slow Roll-Off) = เป็นฟิลเตอร์ที่ออกแบบมาให้ทำงานแบบไม่สมดุล เพื่อแก้ปัญหา pre-ringing ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ให้เสียงเบสที่มีพลังดีดตัวเป็นพิเศษ และให้ทรานเชี้ยนต์ที่มีแรงปะทะที่ดี
5. Hybrid (Fast Roll-Off) = ตัวนี้ผสมคุณสมบัติของ Linear Phase กับ Minimum Phase ไว้ด้วยกัน ให้ทรานเชี้ยนต์ที่เร็ว เบสที่มีพลัง และเสียงแหลมที่คมชัด
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ทดลองฟังฟิลเตอร์แต่ละตัวกับซิสเต็มของคุณเองด้วย ซึ่งความแตกต่างของเสียงที่เกิดจากฟิลเตอร์แต่ละตัวจะปรากฏออกมาให้ได้ยินชัดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของลำโพงด้วย ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ให้การตอบสนองความถี่ที่กว้างมากกว่าก็จะได้ยินความแตกต่างของแต่ละฟิลเตอร์ได้ชัดกว่าลำโพงขนาดเล็กที่มีเร้นจ์ความถี่ตอบสนองจำกัด ถ้าคุณลองสลับเลือกฟิลเตอร์ดูแล้วฟังความแตกต่างไม่ออก หรือไม่มั่นใจในความแตกต่าง แนะนำให้เลือกใช้ตัว Linear Phase (Slow Roll-Off) ไว้ก่อน เพราะเป็นรูปแบบที่ผู้ออกแบบ 9000A เลือกใช้
2. ปรับตั้ง Upsampling สำหรับดิจิตัล อินพุต
ไม่ว่าสัญญาณดิจิตัลจะถูกส่งเข้ามาทางอินพุตไหน (coaxial, optical หรือ USB) และไม่ว่าสัญญาณนั้นจะมีเรโซลูชั่นเท่าไหร่ สัญญาณเหล่านั้นจะถูกอัพแซมปลิ้งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 352.8kHz หรือ 384kHz ทั้งหมด ถ้าหัวข้อเมนู ‘Upsampling’ ตัวนี้ถูกปรับตั้งไว้ที่ตำแหน่ง ‘Yes’ (ตั้งมาจากโรงงานจะอยู่ที่ตำแหน่ง ‘Yes’)
การทำอัพแซมปลิ้งสัญญาณอินพุตจะมีข้อดีคือทำให้ความเพี้ยนของเสียงที่ติดมากับสัญญาณอินพุตถูกดันเลื่อนขึ้นไปอยู่ในระดับความถี่ที่สูงกว่าความถี่ต้นฉบับที่รับเข้ามา ซึ่งจะถูกฟิลเตอร์ทิ้งไปในขั้นตอนก่อนถูกแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกด้วยภาค DAC แต่การทำ Upsampling ขึ้นไปที่หลายๆ เท่าจะมีผลข้างเคียงกับเสียงอะนาลอกที่ได้ออกมาในแง่ของความอิ่มหนาของเสียงจะลดลง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสัญญาณอินพุตเข้ามาเป็น 44.1kHz จะถูกอัพแซมปลิ้งขึ้นไปที่ระดับ 352.8kHz เท่ากับอัพฯ ขึ้นไป 8 เท่า ของอัตราแซมปลิ้งของต้นฉบับ หลังจากทำการอัพแซมปลิ้งแล้วส่งผ่านไปที่ภาค DAC ออกมาเสียงจะสะอาดแต่เนื้อเสียงจะ “บางกว่า” การไม่อัพฯ (ตั้งเป็น ‘No’) อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยม แนะนำให้ทดลองเลือกแล้วฟังดู ส่วนตัวผมชอบเสียงแบบไม่อัพฯ (No Oversampling) มากกว่า เพราะผมพบว่า หลังจากอัพฯ ไปแล้ว แม้ว่าจะได้รายละเอียดของเสียงที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็มีผลข้างเคียงตามมาด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นที่เนื้อเสียงบางลงอย่างเดียว แต่กระทบไปถึงเรื่องเฟสของสัญญาณด้วย ซึ่งส่งผลกับโฟกัสของตำแหน่งเสียงที่พร่าเลือนลงไป
3. ปรับตั้ง DPLL สำหรับอินพุตดิจิตัล ขาเข้า (เฉพาะช่อง COAX2 กับ OPT2)
เมนูนี้เป็นการปรับตั้งความกว้าง/แคบของ “ลูป” ที่เรียกว่า Phase Lock Loop ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการล็อคสัญญาณดิจิตัลของภาค DAC ซึ่งจะส่งผลกับปริมาณ jitter ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานของภาค DAC ใช้ได้กับอินพุต Coaxial และ Optical เท่านั้น เพราะกระบวนการ Phase Lock Loop (PLL) นี้จะใช้ได้กับสัญญาณ PCM ขาเข้าที่อยู่ในมาตรฐาน S/PDIF เท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายของการใช้งานฟังท์ชั่นนี้ก็เพื่อปรับปริมาณของสัญญาณ PCM ที่จัดป้อนเข้าสู่ภาค DAC ในตัว 9000A โดยหวังผลให้มีความผิดพลาดในการแปลงสัญญาณเกิดขึ้นน้อยที่สุด ฟังท์ชั่นนี้มีอ๊อปชั่นให้ปรับเลือกอยู่ 2 ค่าคือ ‘Normal’ กับ ‘Wide’
จากการทดลองป้อนสัญญาณดิจิตัล PCM จากภายนอกเข้ามาที่ช่องอินพุต COAX2 ด้วยสายโคแอ็กฯ ของ Audioquest รุ่น Hawkeye โดยดึงจากเอ๊าต์พุตช่องโคแอ็กเชี่ยล ดิจิตัล เอ๊าต์ของเครื่องเล่นซีดี/เอสเอซีดี Arcam รุ่น CD27 ผมพบว่า เมื่อเลือกตั้งไว้ที่ Normal เสียงจะให้โฟกัสที่ดีกว่า เมื่อเปลี่ยนไปที่ Wide โทนัลบาลานซ์จะออกไปทางแหลมมากขึ้นนิดนึง และโฟกัสของเสียงจะเบลอลง ส่งผลให้โทนของเสียงโดยรวมออกไปทางนุ่มลง ตอนหลังผมเปลี่ยนแหล่งต้นทางสัญญาณ โดยใช้การเล่นไฟล์เพลงด้วย Roon nucleus+ แล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปที่ Bluesound New NODE ทางช่อง Ethernet เพื่อให้ Bluesound New NODE ทำหน้าที่เป็น network bridge แปลงสัญญาณที่รับเข้ามาทาง Ethernet ให้ออกมาเป็นฟอร์แม็ต S/PDIF แล้วส่งไปที่อินพุต COAX2 ของ 9000A ผ่านทางเอ๊าต์พุต Coaxial ของ Bluesound New NODE ด้วยสายโคแอ็กฯ Hawkeye ตัวเดียวกัน
ผลเมื่อปรับ DPLL ของช่องอินพุต COAX2 ของ 9000A ไว้ที่ค่าเดิมที่มาจากโรงงานคือ Normal ผมพบว่า เสียงโดยรวมออกมาดีกว่าตอนเปลี่ยนไปใช้ Wide ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ออกไปในทิศทางเดียวกับตอนใช้เครื่องเล่นแผ่น CD/SACD ของ Arcam เป็นต้นทางสัญญาณ
สังเกตว่าฟังท์ชั่น DPLL นี้จะถูกกำหนดให้ใช้กับอินพุต COAX2 กับ OPT2 เท่านั้น ในขณะที่ 9000A มีช่องอินพุตโคแอ็กฯ และช่องอินพุตอ๊อปติคมาให้ 4 ช่อง ตอนที่ทดลองทดสอบฟังท์ชั่นนี้ผมพบว่า มันไม่ส่งผลไปถึงช่อง COAX1 กับ OPT1 เพราะเมื่อทดลองเปลี่ยนการปรับตั้งที่ช่อง COAX2 ระหว่าง Normal กับ Wide ผมพบว่าเสียงของอินพุต COAX2 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่เมื่อเปลี่ยนไปใช้ช่อง COAX1 ไม่พบว่ามีกความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเมื่อสลับค่าที่ช่อง COAX2 เหมือนกับว่า PLL ที่ใช้กับช่องอินพุต COAX1 กับช่อง OPT1 ถูกแยกออกไปต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับช่อง COAX2 และ OPT2
4. ปรับตั้งเกน Input Sensitivity สำหรับอินพุตอะนาลอก ขาเข้า
โดยพื้นฐานแล้ว ฟังท์ชั่นนี้ถูกออกแบบมาโดยตั้งใจให้ใช้เพื่อ “ปรับเกลี่ย” ความดังของอินพุต analog แต่ละช่องให้ออกมาดังเท่าๆ กันเมื่ออ้างอิงกับระดับวอลลุ่มเดียวกัน เสียงจะได้ไม่กระโดดเวลาเปลี่ยนอินพุตแล้วไม่ได้หรี่วอลลุ่มนั่นเอง แต่จริงๆ แล้ว ฟังท์ชั่นนี้ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ เอาไว้ทำ gain matching ระหว่าง “ความแรง” (gain) ของสัญญาณอะนาลอก อินพุตที่รับเข้ามาจาก source ภายนอก กับ “ความแรง” (gain) ของช่องอินพุตของ 9000A ที่ถูกตั้งมาจากโรงงาน
คุณสามารถปรับใช้งานฟังท์ชั่นนี้ได้กับอินพุต AUX ทั้งหมดรวมถึงช่องอินพุต XLR ด้วย ซึ่งผมสนใจการใช้งานฟังท์ชั่นนี้ในลักษณะของ gain matching มากกว่าประโยชน์ที่ใช้เกลี่ยความดัง เนื่องจากแต่ละอินพุต (AUX ทั้งสามช่องและช่อง XLR) ถูกตั้งมาให้สามารถปรับเลือกเกนได้ถึง 12dB แยกเป็น –/+ อย่างละ 6dB คือตั้งแต่ -6, -5, -4, -3, -2, -1, 0, +1, +2, +3, +4, +5 และ +6dB ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ฟังท์ชั่นนี้มันสอดคล้องกับสถานะการณ์จริงในปัจจุบัน สำหรับคนที่ต้องการอัพเกรดไปใช้ภาค DAC ภายนอกที่มีคุณภาพสูงกว่าภาค DACในตัว 9000A จะพบว่า ช่องอะนาลอก เอ๊าต์พุตของอุปกรณ์ประเภท external DAC ยุคใหม่ๆ มักจะให้มาสูงกว่ามาตรฐานเก่ามาก ยกตัวอย่างเช่น Rockna รุ่น Wavedream DAC ที่ผมเพิ่งจะรีวิวไป ตัวนั้นให้เอ๊าต์พุตอะนาลอกทางช่องอันบาลานซ์ (RCA) ที่สวิงได้สูงถึง 6.6V (peak-to-peak) ในขณะที่ช่องเอ๊าต์พุต XLR สวิงได้สูงขึ้นไปอีกสองเท่าคือ 13.2Vp-p ซึ่งช่องอินพุตอะนาลอกอันบาลานซ์ (AUX) ของ 9000A ตัวนี้มีความไว (sensitivity) ในการรองรับเกนของสัญญาณจากภายนอกอยู่ที่ 1Vrms เท่านั้น ถ้าเป็นอินพุตช่วง peak ก็น่าจะรับได้ไม่เกิน 2Vp-p เท่านั้น ในขณะที่ช่องอินพุตอะนาลอกบาลานซ์ XLR มีความไวอยู่ที่ 2Vrms ซึ่งช่องพีคก็น่าจะรับได้ไม่เกิน 4Vp-p
ผมทดลองต่อเชื่อมสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจากช่อง RCA (อันบาลานซ์) ของ Rockna Wavedream DAC ป้อนเข้าที่อินพุต AUX1 ของ 9000A แล้วทดลองปรับเปลี่ยนความไว Input Sensitivity ของช่อง AUX1 แล้วฟังดู พบว่า การปรับเลือกระดับความไวของช่องอินพุต AUX1 ในระดับที่ต่างกันแค่ +/-1dB ก็สามารถรับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นกับเสียงโดยรวมได้ ซึ่งหลังจากทดลองเล่นอยู่พักใหญ่ ผมพบว่า สามารถอาศัยการปรับลดความไวของอินพุต AUX1 เพื่อปรับจูนเสียงลดอาการแผดกร้าวของปลายเสียงแหลมและเสียงกลางลงได้บางส่วน เมื่อปรับลดความไวของอินพุต AUX1 ลงประมาณ 1 – 2dB จะทำให้เสียงโดยรวมนุ่มนวลขึ้น เปิดได้ดังมากขึ้นโดยที่มีอาการจัดจ้านน้อยลง แต่ถ้าปรับลดลงมากเกินไป เสียงโดยรวมก็จะขาดไดนามิก ออกไปทางนุ่มมากไปได้เหมือนกัน
เพลงที่ใช้อ้างอิงในการทดสอบสมรรถนะของ 9000A
อัลบั้ม : Kings Of The Tenors (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Ben Webster
สังกัด : Verve Records
อัลบั้ม : Acoustix 3 (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Various Artists
สังกัด : Universal Music Group
อัลบั้ม : Classic Meets Cuba (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Klazz Brothers & Cuba Percussion
สังกัด : Sony Classical
อัลบั้ม : Sings For Lovers (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Sarah Vaughhan
สังกัด : Verve Records
อัลบั้ม : Sekou (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Sekou Bunch
สังกัด : Vital Music
อัลบั้ม : Happier Than Ever (WAV-16/44/1)
ศิลปิน : Billie Eilish
สังกัด : Interscope Records
เพลงที่เลือกมาทดสอบ 9000A ทั้งหมดนี้จะมีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของ gain หรือความแรงของสัญญาณ บางแผ่นเกนแรงมากเป็นพิเศษ (ชุด Acoustix 3) ในขณะที่บางแผ่นเกนเบามากเป็นพิเศษ (ชุด Sekou) ในแง่ของความซับซ้อนของภาคดนตรีและเสียงร้องก็ด้วย คือมีทั้งเพลงที่ใช้ดนตรีน้อยชิ้น (ชุด King Of Tenors) และเพลงที่มีเลเยอร์ดนตรีที่ซับซ้อน (ชุด Classic Meets Cuba) รวมถึงอัตราสวิงของไดนามิกที่มีทั้งเพลงที่มีทรานเชี้ยนต์ไดนามิกที่รุนแรง (ชุด Acoustix 3) และเพลงที่มีไดนามิกคอนทราสน์ที่โดดเด่น และมีรายละเอียดที่ระดับความดังต่ำๆ อย่างพวกแอมเบี้ยนต์ (ชุด Sings For Lovers) และสุดท้ายคือเพลงที่มีรายละเอียดที่ระดับความถี่ต่ำที่รุนแรงและหนักหน่วง (ชุด Happier Than Ever)
คุณภาพ+ลักษณะเสียง ที่เกิดจากการ “แม็ทชิ่ง”
ตัวเลขกำลังขับที่ 100W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม ของ 9000A ถือว่า “มากพอ” สำหรับลำโพงระดับกลางทั่วไป
ตารางข้างบนคือสเปคฯ ของลำโพงที่ผมมีโอกาสทดลองฟังกับ 9000A ทั้งหมด
ช่วงแรกของการทดสอบผมทดลองให้มันขับลำโพงวางขาตั้งขนาดเล็กอย่าง Klipsch รุ่น RP-500M II (27,900 บาท / คู่) เป็นคู่แรก ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจตามคาด 9000A + RP-500M II ให้เสียงที่มีลักษณะเปิดเผย กระจ่างชัด คุณสมบัติโดยรวมๆ ออกมาในระดับที่น่าพอใจ สามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงได้ โดยเฉพาะในแง่ไดนามิกที่สวิงได้กว้างมาก รู้สึกได้เลยว่าแอมป์ไม่มีอาการอั้น แม้จะเล่นเพลงที่มีเสียงทุ้มโหดๆ อย่างเพลง Oxytocin ในอัลบั้มชุด Happier Than Ever ของ Billie Eilish เสียงเบสที่ออกมาก็มีครบทั้งความหนักแน่นของหัวเสียงและความกระชับเก็บรวบหางเสียงได้อย่างเด็ดขาด อาการของเสียงจากเพลงนี้ที่พิสูจน์ถึงความสามารถในการควบคุมไดเวอร์ของลำโพงได้อยู่หมัดก็คือเสียงร้องของเพลงนี้ ที่ยังคงลอยตัวแยกออกมาจากเสียงเบสหนักๆ ได้อย่างอิสระ คือถ้าแอมป์ที่ขับไม่มีแด้มปิ้งมากพอที่จะหยุดกรวยลำโพงได้สนิท เสียงร้องของบิลลี่จะมีลักษณะที่จมกลืนลงไปกับเสียงเบส ไม่ลอยตัวขึ้นมา และเสียงเบสจะมีลักษณะที่ย้วยไม่กระชับ ซึ่ง 9000A จัดการกับไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ของ RP-500M II ได้เบ็ดเสร็จจริงๆ.!
ด้วยกำลังที่มาก (เกิน) พอของ 9000A ทำให้ RP-500M II มีสภาพเป็นแมวเชื่องๆ ที่ว่านอนสอนง่ายไปเลย ใส่เพลงอะไรเข้าไป 9000A ก็ดันออกมาผ่าน RP-500M II ได้หมดจดทุกเสียง ตั้งแต่ทุ้มขึ้นไปถึงแหลม ทุกชิ้นเสียงพุ่งทะลุลำโพงออกไปลอยอยู่ในอากาศได้อย่างอิสระ ไม่มีเสียงไหนติดคาอยู่กับตู้ลำโพงเลย นับเป็นบทพิสูจน์ที่ไร้ข้อกังขาว่า 9000A มีสมรรถนะมากพอในการควบคุม RP-500M II ไกด้อย่างเต็มที่.!!
ในงานกิจกรรมเปิดตัว 9000A เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมาที่ บ. ไฮไฟ ทาวเวอร์ ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายและเปิดเสียงสาธิต ในวันนั้นได้ทดลองจับ 9000A ขับลำโพง Mission รุ่น 700 ด้วย ปรากฏว่า 9000A สามารถควบคุม Mission 700 ได้เต็มที่ ผลทางเสียงโดยรวมออกมาเป็นที่น่าพอใจ (Mission 700 ราคาคู่ละ 55,900 บาท) สนามเสียงแผ่ออกมาได้เต็มห้อง เสียงกลางเด่นเป็นพิเศษตามสไตล์ลำโพงแบรนด์นี้ ซึ่งตรงกับแนวทางของ Audiolab ซึ่งเป็นแอมป์ที่เด่นเสียงกลางเหมือนกัน เลยไปกันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย ใครชอบฟังเสียงร้องมากเป็นพิเศษ แนะนำให้ลองพิจารณา Audiolab 9000A + Mission 700 คู่นี้ดู (รีวิว Mission 700) แต่ถ้าอยากได้ความเนียนสะอาดของเสียงที่ดีกว่า Mission 700 ขึ้นไปอีกระดับโดยยังคงโทนเสียงไว้แนวเดิม แนะนำให้ลองฟัง 9000A ขับลำโพง Mission รุ่น 770 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น Made in England (ราคาแสนกลางๆ) แม้ว่า 9000A จะยัง “ขุด” คุณภาพของ Mission 770 ออกมาได้ไม่หมด แต่ถ้าเป็นเพลงที่มีดนตรีไม่ซับซ้อน เน้นไดนามิกคอนทราสน์มากหน่อยถือว่าผ่าน 9000A + Mission 770 ให้เสียงร้องของ Sarah Vaughan ในอัลบั้มชุด Sing For Lovers ออกมามีชีวิตชีวามาก นอกจากเนื้อเสียงจะเนียนสะอาดแล้ว ยังรับรู้ได้ถึงมวลแอมเบี้ยนต์บางๆ ที่ห่อหุ้มอยู่โดยรอบด้วย
ผมทดลองเปลี่ยนลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One ที่ผมใช้อ้างอิงอยู่เข้าไปจับคู่กับ 9000A ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่า The One เป็นลำโพงที่ค่อนข้างโหลดแอมป์อยู่พอสมควร ถ้ามองที่ราคา (ราคาลำโพงสูงกว่า 9000A เกือบ 50%) แต่ถ้าพิจารณาจากตัวเลขกำลังขับของ 9000A ที่แจ้งไว้กับโหลด 4 โอห์ม (ซึ่งตรงกับโหลดอิมพีแดนซ์ปกติของ The One) มันทำได้ 160W แสดงว่ามีกำลังสำรองอยู่ประมาณ 60% ซึ่งเป็นตัวเลขกำลังขับที่ “สูงกว่า” กำลังขับสูงสุดที่ The One แจ้งไว้ในสเปคฯ อ่าา.. แบบนี้ 9000A ก็น่าจะขับ The One ได้อยู่นะ.. ถือว่าเป็นการทดสอบ “กำลังสำรอง” ของ 9000A ไปในตัว
อ๊ะ.. เสียงของ 9000A + The One ออกมาดีกว่าที่คาดแฮะ.! กับเพลงช้าๆ ที่ไม่ได้มีภาคดนตรีซับซ้อนมากอย่างเพลง Danny Boy จากเสียงเป่าแซ็กโซโฟนของ Ben Webster ในอัลบั้มชุด King Of Tenors ต้องบอกว่าออกมาดีเลยแหละ.. เสียงแซ็กฯ มีมวลเข้มและหนา คอนทราสน์ไดนามิกดีเลย การเคลื่อนไหวระหว่างตัวโน๊ตมีการรับ–ส่งกันได้อย่างแนบเนียน เผยอารมณ์ของเพลงออกมาให้สัมผัสได้เต็มๆ เอนหลังฟังแทรคนี้แล้วเพลินมาก ผมให้ 9000A + The One สอบผ่านสำหรับเพลงแนวนี้
ข้ามไปฟังเพลงที่มีความสลับซับซ้อนของดนตรีมากขึ้นอย่างเพลง Afrolise (Beethoven’s Fur Elise) ของ Klazz Brothers & Cuba Percussion จากอัลบั้มชุด Classic Meets Cuba พบว่า 9000A มีพลังมากพอในการสกัดเอารายละเอียดของหัวโน๊ตของเปียโนให้กระจายตัวออกมาลอยเด่นอยู่เต็มห้อง และตอนถึงช่วงไฮไล้ท์ของเพลงนี้คือท่อนที่มีเสียงกลองชุดโซโล่ขึ้นมานั้น ถือว่าเป็นหลักฐานพยานสำคัญที่บ่งชี้ว่า 9000A สามารถควบคุม The One ได้..
9000A คุม The One ได้เต็มที่มั้ย.? หลังจากฟังเพลงที่มีเกนขยายต่ำๆ อย่างเพลง Dolphin Dance ของ Sekou Bunch ซึ่งเป็นงานบันทึกเสียงของค่าย VITAL หรือ VTL โดย David Manley ในห้องบันทึกเสียงที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษ เป็นอัลบั้มที่บันทึก gain ของสัญญาณมาค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางของค่ายไฮเอ็นด์ฯ นัยว่าเพื่อให้ได้ไดนามิก คอนทราสน์ที่ดีที่สุด และป้องกันไม่ให้พีคของไดนามิกทรานเชี้ยนต์มีอาการ clip ในการมิกซ์และมาสเตอร์ของค่ายไฮเอ็นด์เหล่านี้จึงมักจะเหลือไดนามิกเฮดรูมเอาไว้เยอะๆ เพื่อให้ผู้ฟังสามารถขยายเฮดรูมด้วยวอลลุ่มของแอมป์ ซึ่งจะทำให้ได้ไดนามิกเร้นจ์ของเสียงที่สวิงกว้างโดยที่พีคไม่แตก แต่กระนั้น.. การที่จะเริ่งวอลลุ่มเพื่อ “ดัน” ไดนามิกเร้นจ์ของเพลงนี้ให้สวิงขึ้นไปจนเต็มสเกลได้จึงต้องอาศัย “กำลังสำรอง” ของแอมป์มากเป็นพิเศษ ซึ่งผมพบว่า 9000A ยังทำงานกับแทรคนี้ได้ไม่ดีพอ เทียบกับตอนจับกับลำโพง Klipsch RP-500M II แล้วจะรู้สึกได้ชัดว่า 9000A ดันไดนามิกเร้นจ์ของเพลงนี้ออกมาได้เต็มที่มากกว่าตอนจับกับ The One
9000A สามารถแสดงเวทีเสียงของเพลง Dolphin Dance ออกมาให้เห็นได้ดีพอสมควร แต่เนื้อเสียงของแต่ละเครื่องดนตรีจะออกมาบาง ไม่อิ่มเข้ม และน้ำหนักของแรงปะทะก็ไม่หนักแน่นอย่างที่ควร สรุปคือ สำหรับแทรคนี้ 9000A ยังไม่ผ่านถ้าจับกับ The One แต่ถ้าเป็นเพลงที่มิกซ์ gain มาสูงหน่อย ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วไปก็จะไม่มีปัญหา ขับได้สบาย (กับเพลงของค่าย Sheffield Labs ก็มีอาการเสียงออกมาไม่เต็มแบบนี้เหมือนกัน)
ลองขับ Totem Acoustic รุ่น Element ‘FIRE’ v2 โดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ผลที่ออกมาดีเกินคาด แม้รู้ว่ายังไม่เต็มที่สำหรับ Element ‘FIRE’ v2 แต่คงเป็นเพราะอิมพิแดนซ์ของ Element ‘FIRE’ v2 มันอยู่ที่ 8 โอห์ม กับความไวที่ 88dB จึงขับง่ายกว่า The One นิดหน่อย กลาง–แหลมออกมาดีพอสมควร แต่ย่านทุ้มยังไม่แน่นพอ
ทดลองใช้ช่อง Pre-Out + โหมด Integrated กับการเล่น Bi-amp
แผงหลังของ 9000A มีช่องเอ๊าต์พุต Pre-Out มาให้ (ศรชี้) เมื่อคุณปรับ MODE การทำงานของ 9000A ไว้ที่ตำแหน่ง ‘Integrated’ สัญญาณจากภาคปรีแอมป์ในตัว 9000A จะถูกส่งไป 2 ทางพร้อมกัน ทางแรกคือส่งไปที่ภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว 9000A เอง ส่วนอีกทางคือส่งไปที่เอ๊าต์พุต Pre-Out นั่นก็หมายความว่า ขณะที่คุณดึงสัญญาณจากช่อง Pre-Out ไปเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ภายนอก ที่ขั้วต่อสายลำโพงของตัว 9000A ก็จะยังคงมีสัญญาณที่ถูกขยายส่งออกไปพร้อมกัน
เหตุที่ผู้ผลิตกำหนดการทำงานของ 9000A ไว้ลักษณะนั้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ 9000A สามารถเซ็ตอัพการทำงานของระบบแอมปลิฟายให้เป็น Bi-amp ได้ด้วยการเพิ่มเติมเพาเวอร์แอมป์สเตริโอจากภายนอกเข้ามาทำงานร่วมกับภาคขยายในตัว 9000A อีกหนึ่งตัว
ผมทดลองใช้ลำโพง Usher Audio รุ่น ML-801 ซึ่งเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ทดสอบการทำงานของ 9000A ในลักษณะ Bi-amp โดยเพิ่มเพาเวอร์แอมป์ของ Audiolab รุ่น 8300XP (ข้างละ 140W ที่ 8 โอห์ม, 230W ที่ 4 โอห์ม) เข้ามาเสริม โดยรองรับสัญญาณจากช่อง Pre-Out ของ 9000A เข้ามาขยายเพื่อขับวูฟเฟอร์ของ ML-801 และใช้เอ๊าต์พุตที่ขั้วต่อสายลำโพงของ 9000A ขับกลาง–แหลมของ ML-801 ส่วนแหล่งต้นทางผมเปลี่ยนไปใช้การเล่นไฟล์เพลงด้วย Roon nucleus+ แล้วส่งสัญญาณออกจากช่อง USB ไปที่ตัว D-to-D converter ของ Denafrips รุ่น GAIA เพื่อให้แปลงไปออกทางเอ๊าต์พุต I2S เพื่อป้อนให้กับ external DAC รุ่น Wavedream DAC ของ Rockna
ผมใช้เพาเวอร์แอมป์ 100W ต่อข้างในตัว 9000A ขับกลาง–แหลมของ ML-801 ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยเชื่อมต่อระหว่างขั้วต่อสายลำโพงของ 9000A กับขั้วต่อสายลำโพงคู่บนของ ML-801 ทั้งสองข้างด้วยสายลำโพงรุ่น FS-301 ของ Furutech และใช้กำลังขับ 140W ต่อข้างของเพาเวอร์แอมป์ 8300XP ขับทุ้มของ ML-801 ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยเชื่อมต่อขั้วต่อสายลำโพงของ 8300XP เข้าที่ขั้วต่อสายลำโพงคู่ล่างของ ML-801 ทั้งสองข้างด้วยสายลำโพงรุ่น FS-301 ของ Furutech นั่นก็เท่ากับว่า ทั้งระบบใช้สายลำโพงรุ่นเดียวกันทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโทนเสียงและเฟสที่ไม่กลืนกัน ส่วนสัญญาณอินพุตสำหรับเพาเวอร์แอมป์ 8300XP ต่อมาจากช่อง Pre-Out ของ 9000A ผ่านสายสัญญาณ RCA มาเข้าที่อินพุตของ 8300XP
อ๊ะ… เวิร์คแฮะ! น่าจะเป็นเพราะเพาเวอร์แอมป์ที่เอามาเสริมเป็นยี่ห้อเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีกำลังขับเท่ากัน แต่ความดังของเสียงย่านกลาง–แหลม และทุ้มที่ออกมาก็ฟังดูกลมกลืนกันดี ไม่รู้สึกว่าความถี่ใดล้ำหน้า และด้วยเหตุที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน เลยทำให้โทนเสียงที่ออกมาไม่แปลกแยก มีแนวทางออกไปในทิศทางเดียวกัน
แต่สิ่งที่ว้าว.. ก็คือ “คุณภาพเสียง” ที่ออกมาดีอย่างที่รู้สึกได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากการขับด้วยแอมป์สเตริโอตัวเดียวอย่างชัดเจน สิ่งแรกคือ “ความนิ่ง” ของเสียงแต่ละเสียงที่ปรากฏอยู่ในสนามเสียง ยกตัวอย่างเช่นเสียงร้องของ Billie Eilish ในเพลง Oxytocin ที่ไม่มีอาการวูบวาบเลย แม้ว่าจะมีเสียงเบสหนักๆ ที่ซ้อนอยู่ด้านหลังกำลังโหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วง แต่เสียงร้องของเธอก็ยังคงลอยตัวอยู่เหนือเสียงเบสนั้นได้อย่างมั่นคง ความแตกต่างนี้รู้สึกได้ชัดเมื่อเทียบกับตอนฟังด้วย 9000A ตัวเดียวซึ่งเสียงร้องจะมีอาการวูบวาบ
อีกอย่างที่ดีกว่าใช้แอมป์สเตริโอตัวเดียวขับมากก็คือ การ “แยกแยะรายละเอียด” ซึ่งระบบ Bi-amp ช่วยทำให้รายละเอียดของเสียงที่มีอยู่ในเพลงถูกเปิดเผยออกมาให้ได้ยินชัดขึ้นมาก นอกจากนั้น “น้ำหนักเสียง” ก็ดีขึ้นมาก การย้ำเน้นของหัวโน๊ตเด่นขึ้นมาก สุดท้ายคือ “โฟกัส” ของตัวเสียงที่คมชัดมาก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความถูกต้องทางเฟสที่ดีขึ้นนั่นเอง
ปกติแล้ว ถ้าใช้แอมป์สเตริโอตัวเดียวขับลำโพงที่มีขั้วต่อสายลำโพง 2 ชุดแบบนี้ เรามีทางเลือกในการเชื่อมต่อระหว่างแอมป์กับลำโพงแค่ 3 ทาง ทางแรกคือใช้สาย Bi-wire เชื่อมต่อขั้วต่อของลำโพงทั้งสองชุดเข้ากับขั้วต่อที่แอมป์โดยปลดลิ้งค์ที่ขั้วต่อของลำโพงออก ทางที่สองคือ ใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์เชื่อมต่อระหว่างขั้วต่อที่ลำโพงและที่แอมป์ ซึ่งสามารถสลับเสียบที่ขั้วต่อของลำโพงได้ถึง 4 รูปแบบ ให้เสียงต่างกัน ส่วนแบบที่สามคือใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลในการเชื่อมต่อเหมือนแบบที่สอง แต่เปลี่ยนเอาลิ้งค์ที่ลำโพงออกแล้วใช้จั๊มเปอร์ที่ออกแบบมาพิเศษมาใช้เชื่อมแทนลิ้งค์ที่ลำโพงแถมมาให้
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีเชื่อมต่อระหว่างแอมป์กับลำโพงแบบไหนทั้งสามแบบข้างต้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังไม่ดีเท่ากับการเชื่อมต่อด้วยวิธี Bi-amp เพียงแต่ว่า การเชื่อมต่อแบบไบ–แอมป์จะใช้ทรัพยากรสูงกว่ามาก คือต้องเพิ่มแอมป์สเตริโอเข้ามาอีกตัว สายสัญญาณกับสายลำโพงอีกอย่างละชุด ซึ่งสายลำโพงก็ควรจะต้องเป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน ในขณะที่เพาเวอร์แอมป์ด้วยถ้าทำได้ แต่จากการทดลองของผมพบว่า ใช้เพาเวอร์แอมป์ต่างยี่ห้อกัน แต่ถ้าเป็นแอมป์โซลิดสเตทด้วยกันจะส่งผลเสีย “น้อยกว่า” ใช้สายลำโพงต่างกัน
วิธีการออกแบบโหมดการทำงานที่ 9000A ทำไว้มีส่วนช่วยให้การเล่น Bi-amp ทำได้ง่ายขึ้นมาก และด้วยกำลังขับในตัว 9000A ที่มากถึง 100W ต่อข้างก็ช่วยให้การเล่น Bi-amp มีผลลัพธ์ที่ดี อย่างตอนจับกับเพาเวอร์แอมป์ 8300XP ทำให้ได้กำลังขับที่มากถึง 100 + 140 = 240W ต่อข้าง มากพอที่จะขับลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่อย่าง Usher Audio รุ่น ML-801 ได้สบายๆ
อินพุต Bluetooth
เกือบลืมไปเลยว่า 9000A มีอินพุต Bluetooth ด้วย การเชื่อมต่อก็ง่ายมาก แค่กดเลือกที่ 9000A ไปที่อินพุต Bluetooth จากนั้นก็เข้าไปที่หัวข้อ Bluetooth ในเมนู Settings ของสมาร์ทโฟนแล้วกดเชื่อมต่อกับ 9000A เมื่อมีชื่อ ‘audiolab 9000A xxx’ ปรากฏขึ้นมา (ศรชี้ในภาพตัวอย่าง) จากนั้นก็เล่นไฟล์เพลงที่คุณเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนตัวนั้น หรือสตรีมจาก TIDAL แล้วส่งสัญญาณผ่าน Bluetooth มาที่ 9000A จากการทดลองฟังพบว่า คุณภาพเสียงอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ ฟังเล่นๆ เพลินๆ ได้ แต่ถ้าเน้นคุณภาพจริงๆ ฟังผ่านทางอินพุตดิจิตัลหรืออินพุตอะนาลอกจะให้เสียงดีกว่ามาก
สรุป
ไม่เสียแรงที่พวกเขาตั้งใจทำ ซีรี่ย์ 9000 ให้ออกมาเป็นซีรี่ย์สูงสุดระดับเรือธงของแบรนด์ จากการทดสอบผมพบว่า 9000A มีประสิทธิภาพสูงทั้งในแง่ของฟังท์ชั่นใช้งานและคุณภาพเสียง สูงกว่า ซีรี่ย์ 6000 ที่เคยทำชื่อเสียงให้กับแบรนด์ขึ้นไปอีกระดับ
ตัวถังที่แบนบางน่าจะเป็นจุดอ่อนอย่างเดียวของ 9000A ที่ทำให้ดูแล้วไม่น่าจะมีกำลังเยอะ แต่ถ้าได้ลองเข้าไปยกเครื่องดูถึงจะรู้ว่าข้างในตัวถังแบนๆ บางๆ นั้นได้ซ่อนขุมพลังที่ประกอบด้วยหม้อแปลงขนาดใหญ่เอาไว้ ตัวเลขกำลังขับ 100W ที่ 8 โอห์ม และ 160W ที่ 4 โอห์ม ของ 9000A ตัวนี้ใช้ได้ผลจริง มันสามารถขับลำโพงยากๆ อย่าง Totem Acoustic รุ่น The One และ Element ‘FIRE’ v2 ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ภาค DAC ในตัวที่ให้มาก็มีประโยชน์มาก ไม่ใช่ของแถมแต่เป็นภาค DAC ที่มีคุณภาพ ปรับจูนมากับภาคขยายในตัว 9000A ได้อย่างลงตัว สามารถใช้งานได้จริง
9000A มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะใช้เป็น “ศูนย์กลาง” ของชุดเครื่องเสียงระดับกลางๆ ได้อย่างสบาย ถือว่าเป็นตัวเลือกสำหรับอินติเกรตแอมป์ระดับกลางสูง (mid-end) ที่โดดเด่นมากตัวหนึ่งในปัจจุบัน.!!!
********************
ราคา : 79,900 บาท (ราคาโปรโมชั่น)
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บ. HiFi Tower
โทร. 02-881-7273-5
facebook: @hifitowerShop
LineID: @hifitower