รีวิว Wattson Audio รุ่น Emerson DIGITAL

อุปกรณ์ที่นำมาทดสอบครั้งนี้มีขนาดเล็กแค่ฝ่ามือ ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ ‘Network Bridgeถ้าไม่รู้จักและสงสัยว่า Network Bridge คืออะไร.? ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่ามันคือ อุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการสตรีมไฟล์เพลงให้กับ DAC ที่ไม่มีฟังท์ชั่นสตรีมเมอร์ในตัวนั่นเอง (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.allabout.in.th/what-is-network-bridge-and-how-it-work-in-a-audio-system/) ส่วนคำถามที่ตามมาก็คือ ใครบ้างที่ต้องการใช้อุปกรณ์ประเภทนี้.?

กลุ่มแรกที่ Network Bridge ช่วยได้มากก็คือ คนที่ใช้ DAC ที่เกิดก่อนยุคมิวสิค สตรีมมิ่ง ซึ่งจะไม่มีช่องเชื่อมต่อกับสายแลน และไม่มีภาครับคลื่น Wi-Fi ในตัว ส่วนกลุ่มที่สองก็คือคนที่ใช้แอมปลิฟายประเภท All-in-One ที่มีภาค DAC ติดตั้งมาในตัวแต่ไม่มีช่องเสียบสายแลนและไม่มีภาครับคลื่น Wi-Fi ในตัว

Wattson Audio เป็นใคร.??

ย้อนเวลากลับไปช่วงที่ source ที่ใช้เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณหลักของวงการเครื่องเสียงเริ่มเปลี่ยนจาก physical medias มาเป็น streaming ใหม่ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เคยโลดแล่นทำธุรกิจอยู่ในวงการไฮไฟฯ แบบดั้งเดิมกำลัง ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านเน็ทเวิร์คอย่างมาก ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นั่นก็คือโอกาสที่เปิดกว้างให้กับคนนอกวงการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ IT ที่จะเข้ามา เติมเต็มให้กับความขาดแคลนนั้น

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ใน ปี 2003 Florian Cossy ซึ่งเก่งทางด้านดิจิตัล ออดิโอและแอมปลิฟายได้ก่อตั้งบริษัทที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้นมา ชื่อว่าบริษัท ABC PCB หลังจากนั้นใน ปี 2004 Alexandre Lavanchy ซึ่งเก่งทางด้านคอมพิวเตอร์ เน็ทเวิร์คก็เข้ามาร่วมทีมกับ Florian Cossy จนถึงปี 2009 ฟลอเรี่ยน คอสซี่ก็ออกจาก ABC PCB ไปก่อตั้งแบรนด์ CH Precision โดยให้ Alexandre Lavanchy ดูแลงานที่ทั้งหมดของ ABC PCB ต่อไป ซึ่งภายหลังอเล็กซ์ได้เปลี่ยนชื่อ ABC PCB มาเป็น Engineered SA ใน ปี 2015

Engineered SA ทำหน้าที่เป็น design consultants หรือที่ปรึกษาในการออกแบบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดิจิตัล ออดิโอและคอมพิวเตอร์ เน็ทเวิร์คให้กับแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับแนวหน้าในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ด้วยเหตุที่แบรนด์เหล่านั้นเป็นเครื่องเสียงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ เจ้าของแต่ละแบรนด์มีทุนทรัพย์เยอะ พวกเขา (วิศวกรของ Engineered SA) จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับงานออกแบบระดับที่ไม่อั้นต้นทุนจำนวนมาก นั่นถือว่ามีส่วนช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ระดับสูงให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี

ชื่อของ Wattson Audio ถือกำเนิดขึ้นใน ปี 2019 ด้วยจุดประสงค์ของ Alexandre Lavanchy กับทีมวิศวกรของ Engineered SA ที่ต้องการทำผลิตภัณฑ์ประเภทดิจิตัล สตรีมมิ่งที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่พวกเขามีอยู่ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงที่มีราคาอยู่ในระดับที่นักเล่นระดับกลางๆ สามารถจับต้องได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในซีรี่ย์ Emerson ที่เป็นซีรี่ย์รองจาก Madison ก็สามารถสร้างความสนใจให้กับนักเล่นฯ ในระดับกลางๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ตลาดระดับกลางขึ้นไปถึงกลางสูงเริ่มให้การต้อนรับแบรนด์ Wattson Audio มากขึ้น

CH Precision ซื้อ Wattson Audio..!!!

เหตุการณ์นี้ปรากฏต่อสาธารณะเมื่อ เดือนเมษายน ปี 2024 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งก่อนหน้านี้ Wattson Audio ก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบบอร์ด network interface (‘บอดร์ดแดงในตำนาน!) ให้กับแบรนด์ CH Precision ของฟลอเรี่ยน คอสซี่อยู่แล้ว หลังจาก CH Precision ซื้อ Wattson Audio เข้ามาแล้ว จากข้อตกลงล่าสุด ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ชื่อแบรนด์ Wattson Audio ก็จะยังคงมีอยู่ (อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของบางรุ่น) แต่มีข้อดีก็คือ ภาคการผลิตทั้งหมดจะถูกย้ายมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือในโรงงานของ CH Precision ซึ่งข้อดีที่ผลิตภัณฑ์ของ Wattson Audio ได้รับก็คือ ทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางด้านฮาร์ดแวร์มีมาตรฐานที่สูงขึ้น และข้อดีข้อที่สองก็คือ ผลิตภัณฑ์ของ Wattson Audio ทั้งหมดจะได้รับการอัพเกรดคุณภาพในส่วนของภาค analog output ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของวิศวกรของ CH Precision ที่มีโนฮาวในการออกแบบภาคแอมปลิฟายที่เหนือกว่าวิศวกรของ Wattson Audio นั่นเอง..!!!

ซึ่งมองแล้ว การซื้อ Wattson Audio เข้ามาร่วมกับ CH Precision ครั้งนี้ถือว่าเป็นผลดีทั้งกับ CH Precision เอง คือทางฝั่ง CH Precision ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือนอกจากจะได้ทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเน็ทเวิร์ค สตรีมมิ่งเข้ามาเสริมทีมแบบ ผูกขาดไว้กับแบรนด์ CH Precision ที่เดียวแล้ว ยังเป็นการปิดประตูสำหรับแบรนด์อื่นที่จะเข้ามาใช้บริการปรึกษาการออกแบบไปโดยเด็ดขาด (Engineered SA ก็คงยุบไป) และเป็นผลดีกับทีมงานของ Wattson Audio ด้วยที่เข้ามาอยู่ในอ้อมอกของแบรนด์ที่แข็งแรงกว่า ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลต่อความมั่นคงในอนาคตมากกว่าเดิม

Wattson Audio
Emerson DIGITAL

ในขณะนี้ ผลิตภัณฑ์ของ Wattson Audio นั้น ถ้าแบ่งตามหมวดหมู่ (categories) ของผลิตภัณฑ์จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คืออุปกรณ์ประเภท ‘Network Bridgeซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 2 รุ่น คือรุ่น Emerson DIGITAL กับรุ่น Emerson ANALOG ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้อยู่ในซีรี่ย์ ‘Emersonซึ่งเป็นซีรี่ย์เล็ก ส่วนผลิตภัณฑ์อีกประเภทคือ external DAC ซึ่งมีอยู่รุ่นเดียวคือ Madison (*เดิมมีอยู่ 2 เวอร์ชั่น คือ Madison กับ Madison ‘Lounge Edition’ แต่อนาคตจะเหลือแต่เวอร์ชั่น Madison ‘Lounge Edition’ อย่างเดียว แต่ชื่อรุ่นจะตัดคำว่า Lounge Editionออกไปให้เหลือแต่ชื่อรุ่น Madison เฉยๆ ป้องกันความสับสน) ให้จำง่ายๆ ว่า Emerson คือ network bridge ส่วน Madison คือ external DAC

ภาพบนสุดคือรูปร่างหน้าตากับส่วนสัดสัณฐานของรุ่น Emerson DIGITAL จะเห็นว่าตัวถังของ Emerson DIGITAL มีขนาดเล็กกระทัดรัด วางบนฝ่ามือได้เลย แต่กระนั้น งานสรรสร้างตัวถังก็ต้องเรียกว่าขั้นเทพ ทั้งเนื้อทั้งตัวประกอบขึ้นมาด้วยวัสดุแค่สองชิ้น เริ่มจากชิ้นแรกที่เป็นตัวถังหลักทำมาจากก้อนอะลูมิเนียมที่ขุดขึ้นรูปด้วย CNC (ภาพกลาง) กับชิ้นที่สองเป็นแผ่นปิดด้านล่างซึ่งก็ทำมาจากโลหะอะลูมิเนียมเช่นเดียวกัน

ฝั่งที่เป็น input ของ Emerson DIGITAL เป็นขั้วต่อ Ethernet ที่รองรับสัญญาณเน็ทเวิร์คที่ระดับ 100Mbit/s ลักษณะขั้วต่อที่มองเห็นด้วยตาก็ดูแน่นหนาแข็งแรงดี ข้างๆ ขั้วต่อ Ethernet ยังมีช่องเสียบแจ็คสำหรับรองรับไฟเลี้ยงที่ส่งมาจากตัว AC Adapter ที่แถมมาให้อีกหนึ่งช่อง

อีกฝั่งที่อยู่ตรงข้ามมีขั้วต่อสำหรับสัญญาณดิจิตัล ขาออก 2 ช่อง ช่องแรกเป็นเอ๊าต์พุต Coaxial สำหรับส่งออกสัญญาณดิจิตัลฟอร์แม็ต S/PDIF ผ่านทางขั้วต่อ RCA 75 โอห์ม ตัวขั้วต่อที่ใช้แค่ดูก็รู้ว่าของดี เพราะนอกจากจะแข็งแรงแล้ว ยังเคลือบผิวนอกเป็นสีทองอร่ามตา ส่วนอีกช่องที่เป็นขั้วต่อบาลานซ์ XLR นั้นเป็นช่องเอ๊าต์พุตสำหรับส่งออกสัญญาณดิจิตัลฟอร์แม็ต AES/EBU ซึ่งตัวขั้วต่อ XLR ที่ใช้ก็ดูแข็งแรงและมีคุณภาพดี

ข้างๆ ขั้วต่อ RCA และ XLR ถัดลงมาด้านล่างมี LED เล็กๆ อยู่ข้างละดวง ซึ่งใช้แสดงสถานะต่างๆ ของตัวเครื่อง ดวงที่อยู่ใกล้กับขั้วต่อ XLR ถูกกำหนดให้ใช้แสดงสภาวะของเครื่อง 2 สถานะ อย่างแรกคือแสดง สภาวะการเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คซึ่งไฟดวงนี้จะสว่างขึ้นมาเป็นสีแดงเมื่อมีไฟเลี้ยงเข้ามาที่ตัวเครื่อง กรณีที่ไฟแดงดวงนี้มีลักษณะกระพริบช้าๆ เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าตัวเครื่องกำลังอยู่ในสภาวะเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค เมื่อเชื่อมต่อสำเร็จไฟ LED ดวงนี้จะสว่างเป็นสีแดงแบบนิ่งๆ แต่ถ้าไม่มีไฟเลี้ยงเข้ามาไฟดวงนี้ก็จะดับลง ซึ่งจะทำให้ Emerson DIGITAL ตัวนี้หลุดจากการเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค อีกหน้าที่ของไฟดวงนี้คือแสดงสถานะการ อัพเดตเฟิร์มแวร์คือถ้าไฟดวงนี้มีอาการกระพริบเร็วๆ เป็นการบอกให้รู้ว่าตัวเครื่องกำลังอยู่ในขั้นตอนอัพเดตเฟิร์มแวร์ เมื่ออัพเดตเสร็จแล้วไฟดวงนี้จะสว่างเป็นสีแดงแบบนิ่งๆ

ส่วน LED อีกดวงที่อยู่ใกล้กับขั้วต่อ RCA นั้นถูกใช้แสดงสถานะการส่งออกของสัญญาณทางช่อง Coaxial และ AES/EBU ซึ่งไฟดวงนี้จะสว่างขึ้นเมื่อมีสัญญาณเอ๊าต์พุตถูกส่งออกไปจากขั้วต่อเอ๊าต์พุตทั้งสองช่อง คือหลังจากคุณสั่งเล่นไฟล์เพลงแล้ว ตัวเครื่องได้รับไฟล์เพลงเข้ามาทางอินพุตและจัดการกับไฟล์เพลงนั้นจนได้ออกมาเป็นสัญญาณเสียง PCM แล้วส่งออกไปทางขั้วต่อ Coaxial และ AES/EBU ไฟดวงนี้จะสว่างแดงขึ้น เมื่อคุณกด pause บนแอพฯ ที่ใช้เล่นไฟล์เพลงเพื่อสั่งหยุดเล่นไฟล์นั้นค้างไว้ ไฟดวงนี้จะกระพริบถี่ๆ (เฟิร์มแวร์ 2023.01.24 ได้เพิ่มหน้าที่ให้กับไฟดวงนี้อีกอย่าง คือมันจะกระพริบช้าๆ เพื่อเข้าสู่โหมดประหยัดไฟ หรือ low power ถ้าคุณไม่ได้สั่งเล่นไฟล์เพลงในเวลา 30 นาที)

กรณีที่กำลังทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ ถ้าพบว่าไฟทั้งสองดวงกระพริบสลับกันไปมา แสดงว่าการอัพเดตล้มเหลว คุณต้องเริ่มอัพเดตใหม่ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ Emerson

ดีไซน์ภายใน

ไส้ในของรุ่น Emerson DIGITAL

หลังจากสั่งสมประสบการณ์มานานพอ เมื่อมีโอกาส พวกเขาจึงได้รวบรวมเอาประสบการณ์เหล่านั้นมากอปรขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง นั่นคือที่มาของแบรนด์ Wattson Audio ซึ่งผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Wattson Audio ในช่วงแรก และถือว่าเป็น หัวใจหลักของแบรนด์ก็คือ บอร์ด network interface (กรอบสีเขียว ในภาพข้างบน) ซึ่งเป็นแหล่งที่รวบรวม Know How ทางด้านมิวสิค สตรีมมิ่ง ที่พวกเขาพัฒนาและสั่งสมขึ้นมาในช่วงที่ร่วมพัฒนาให้กับแบรนด์อื่นๆ ก่อนหน้านี้

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ network interface ของ Wattson Audio มีความโดดเด่นเหนือกว่า network interface ที่แบรนด์อื่นทำออกมา.? คำตอบก็คือ network interface ของ Wattson Audio เป็นผลรวมที่เกิดจากการปรับจูนทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เข้าหากันได้อย่าง ลงตัวมากที่สุดสำหรับหน้าที่ที่ถูกกำหนดมาให้จัดการกับสัญญาณดิจิตัล ออดิโอ คือพวกเขาไม่ได้ไปหยิบเอาฮาร์ดแวร์ network interface ที่ใช้อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์ ไอที มาปรับจูนและกำหนดค่า (configure) ด้วยซอฟท์แวร์เฉยๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ไม่สามารถปรับจูนได้อย่างเต็มที่ เพราะฮาร์ดแวร์ network interface เหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้จัดการกับสัญญาณดิจิตัล ออดิโอ โดยตรงนั่นเอง

ระบบเน็ทเวิร์ค สตรีมมิ่งของ Wattson Audio ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีโปรเซสเซอร์ Sitara ARM Processor ของ TI เป็นศูนย์กลาง..

The Time Domain > Unlocking Jitter-Free Precision
ขจัดจิตเตอร์ได้อย่างแม่นยำด้วยการรักษาไทมิ่ง..

จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Wattson Audio แสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของ noise หรือสัญญาณรบกวนอย่างมาก มีการใช้เทคนิคลด noise ทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น มีการใช้ isolate transformer เข้ามาช่วยลด electrical noise ที่ขั้วต่อของสัญญาณเอ๊าต์พุต coaxial และ AES/EBU ด้วย ในขณะเดียวกัน ในระบบ playback ที่ใช้เล่นไฟล์เพลง พวกเขาก็ยึดถือแนวทางการเล่นไฟล์แบบอุดมคติคือ bit-perfect playback ซึ่งการที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ในอุดมคติแบบนั้นขึ้นมาได้ จำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับการ ส่งผ่าน” (transfer) สัญญาณเสียงที่ดีพอ ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะในความเป็นจริงนั้น สัญญาณเสียงต้องวิ่งผ่านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์หลายชั้นมาก

เพื่อให้บรรลุผลของการเล่นไฟล์เพลงแบบ bit-perfect อย่างเต็มที่ พวกเขาได้นำเอาระบบการส่งผ่านข้อมูลสัญญาณ (data) ด้วยโหมด asynchronous transmission มาใช้ เพื่อขจัดปัญหา jitter ที่เกิดจากความผิดพลาดทางด้านไทมิ่งของการส่งผ่านข้อมูลสัญญาณออกไปจากระบบ ซึ่งผลลัพธ์ของคุณภาพเสียงที่ได้มาในขั้นตอนสุดท้ายจึงเป็นผลรวมที่มาจากระบบการเล่นไฟล์แบบ bit-perfect และผลที่เกิดจากการขจัดปัญหา jitter ได้อย่างเด็ดขาดนั่นเอง

การเชื่อมต่อ Emerson DIGITAL เข้ากับชุดเครื่องเสียง

ฝั่งอินพุตของ Emerson DIGITAL ที่เป็นขั้วต่อ Ethernet นั้นมีไว้สำหรับเชื่อมต่อกับ router โดยตรงหรือจะผ่าน Network Switch เพื่อลด noise ในระบบเน็ทเวิร์คก็ได้ จุดประสงค์ก็คือดึงไฟล์เพลงเข้ามาเล่น ส่วนการเชื่อมต่อทางฝั่งเอ๊าต์พุตที่เป็นขั้วต่อ RCA (coaxial) กับ XLR (AES/EBU) นั้นไว้เชื่อมต่อกับ DAC ซึ่งก็มีได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ DAC ที่จะไปเชื่อมต่อ

การเชื่อมต่อแบบแรกคือใช้งาน Emerson DIGITAL ร่วมกับภาค DAC ที่อยู่ในตัวอินติเกรตแอมป์ ซึ่งช่วงหลังๆ จะมีอินติเกรตแอมป์ลักษณะนี้ออกมามากขึ้นตามเทรนด์ simply the best หรือ เรียบง่ายคือดีซึ่งเป็นแนวทางของนักเล่นรุ่นใหม่ๆ ที่ถูกบังคับทางอ้อมด้วยขนาดของที่พักอาศัยที่เล็กลงกับราคาเครื่องเสียงแยกชิ้นที่พุ่งสูงขึ้นไปมาก

DAC ในตัวแอมป์ฯ ของแถมหรือเปล่า.? เมื่อก่อนอาจจะใช่.. แต่ปัจจุบัน ถ้าพิจารณาจากภาค DAC ที่ติดตั้งมาในตัวอินติเกรตแอมป์ส่วนใหญ่ที่ออกมาช่วงหลังๆ นี้ จะพบว่า ทั้งทางด้าน สเปคฯ และฟังท์ชั่นที่ให้มา ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดาเลย บางยี่ห้อนั้นใส่มาให้ระดับที่สามารถชนกับผลิตภัณฑ์ประเภทเพียว DAC ของแบรนด์อื่นได้เลย แบบนี้เห็นทีจะเรียกว่า ของแถมคงจะไม่ได้แล้ว ความเห็นส่วนตัวผมอยากจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่ามันเป็น กลยุทธในการทำ value added ให้กับผลิตภัณฑ์มากกว่า

อีกอย่าง แทนที่จะมองว่าเป็นของแถม แต่จริงๆ แล้ว ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า การผนวกเอาภาค DAC เข้าไปไว้ในตัวอินติเกรตแอมป์มีข้อดีหลายอย่าง คือนอกจากจะทำให้ราคาของภาค DAC ลดต่ำลง (คือได้ของดีโดยไม่ต้องจ่ายแพง) เพราะตัดต้นทุนเรื่องตัวถังและภาคจ่ายไฟออกไปได้แล้ว การเอาภาค DAC เข้าไปรวมอยู่ในอินติเกรตแอมป์ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถ ปรับจูนการทำงานของภาค analog output ของภาค DAC นั้นให้แม็ทชิ่งกับภาคปรีแอมป์และภาคขยายในส่วนของเพาเวอร์แอมป์ได้อย่างแนบเนียนมากที่สุด ซึ่งส่งผลถึงประสิทธิภาพของเสียงจากภาค DAC ที่ออกมาได้อย่างเต็มที่ด้วย

ในการทดสอบภาคแรกนี้ ผมใช้อินติเกรตแอมป์ของ Audiolab รุ่น 9000A (REVIEW) เป็นตัวอย่างในการทดลองฟัง ซึ่งภาค DAC ในตัว 9000A นั้นถือว่าจัดเต็มมาก ใช้ชิป 32-bit ของ ESS Technologies เบอร์ ES9038PRO โดยให้อินพุตมา 2 ช่อง คือ coaxial กับ optical อย่างละสองช่อง ผมใช้สายดิจิตัลโคแอ็คเชี่ยลของคิมเบอร์ เคเบิ้ล รุ่น Illuminati D70 ในการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างเอ๊าต์พุตของ Emerson DIGITAL กับอินพุตของ 9000A ทางช่องโคแอ็กฯ

การเชื่อมต่อแบบที่สอง ในกรณีที่ใช้งาน Emerson DIGITAL กับ external DAC ที่มีอินพุต coaxial หรือ AES/EBU ซึ่งส่วนตัวผมมี external DAC ยี่ห้อ Assemblage รุ่น DAC-2.6 เก็บอยู่ตัวหนึ่ง เป็น DAC รุ่นเก่าที่ออกมาตั้งแต่ ปี 2000 เหตุที่ผมเก็บตัวนี้ไว้ก็เพราะว่ามันเป็น DAC ที่ใช้ชิปของ Burr-Brown เบอร์ PCM 1704 ซึ่งเป็นชิป DAC ที่มีเรโซลูชั่น 24-bit แบบเนทีฟ ไม่ใช่ชิปกระเทยแบบ 1-bit ที่ใช้เทคนิค Delta/Sigma ในการทำให้เป็น 24-bit มีผลให้เสียงของ DAC ที่ใช้ชิป PCM 1704 ตัวนี้มีลักษณะของมวลเนื้อที่เข้มข้น ไม่บางๆ ใสๆ เหมือน DAC ที่ใช้ชิป Delta/Sigma ทั่วไป แต่หลังจากทดลองฟังเทียบกับภาค DAC ในตัวอินติเกรตแอมป์ Audiolab9000Aซึ่งใช้ชิป ES9038PRO แล้ว (ใช้อินพุต coaxial เทียบกัน) โดยรวมนั้น เสียงที่ได้จากชิป ES9038PRO แม้ว่าเนื้อเสียงจะบางกว่า (นิดหน่อย) แต่ก็ได้เปรียบ PCM 1704 ในแง่ไดนามิก คอนทราสน์ที่ทอดปลายเสียงได้ลื่นไหลต่อเนื่องมากกว่า โดยรวมออกมาผ่อนคลายกว่า

DAC-2.6 ให้อินพุตมาครบทั้ง coaxial, optical และ AES/EBU ผมจึงได้โอกาสทดสอบเอ๊าต์พุต AES/EBU ของ Emerson DIGITAL ไปในตัว โดยใช้สายดิจิตัล XLR ของแถมเชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตของ Emerson DIGITAL กับอินพุตของ DAC-2.6 ทางช่อง AES/EBU

ควบคุมการเล่นไฟล์เพลง และปรับตั้งค่าของ Emerson DIGITAL

การเล่นไฟล์เพลงผ่าน Emerson DIGITAL ต้องทำผ่านแอพลิเคชั่น ซึ่งมีให้เลือกอยู่ 2 ระดับเมื่อคำนึงถึง คุณภาพเสียง

แบบแรก : ใช้แอพฯ ฟรี

เพราะระบบเน็ทเวิร์คที่ใช้กับ Emerson DIGITAL ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้มาตรฐาน UPnP/DLNA จึงสามารถรองรับการดึงไฟล์เพลงและเล่นไฟล์เพลงผ่านมาที่ Emerson DIGITAL ด้วยแอพลิเคชั่นที่พัฒนาโดย third party ได้ ทุกตัวไม่ว่าจะเป็น Mconnect, 8player ฯลฯ รวมถึงแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ‘Wattson Musicที่นักพัฒนาโปรแกรมของวัตสัน ออดิโอสร้างขึ้นมาด้วย

แอพฯ Wattson Music เป็นแอพฯ ที่เรียบง่าย ตอนนี้มีให้ใช้เฉพาะเวอร์ชั่นบน iOS บนหน้าหลักหลังจากกดเข้ามาแล้ว (ภาพล่างสุด) ตัวแอพฯ จะพามาที่หน้าเมนูที่ชื่อว่า Musicซึ่งเป็นที่รวมแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่คุณสามารถเลือกดึงมาเล่นได้ ทั้งจากผู้ให้บริการแบบบอกรับเป็นสมาชิกรายเดือน (services) และไฟล์ที่ดึงมาจากฮาร์ดดิสบนเน็ทเวิร์คที่คุณเก็บไว้เอง (media servers)

เมื่อดึงไฟล์มาเล่น บนหน้าแอพฯ จะโชว์รายละเอียดของไฟล์เพลงที่เล่นตามภาพข้างบน ส่วนหน้าเมนูที่ให้เข้าไปปรับตั้งค่าจะอยู่ที่ด้านล่าง ชื่อว่า ‘Emerson

หลังจากกดเข้ามาแล้วที่หน้านี้จะมี รูปฟันเฟือง อยู่ที่มุมบนด้านขวา (ศรชี้) ซึ่งในนั้นจะมีฟังท์ชั่นให้ปรับตั้งแค่อย่างเดียว นั่นคือปรับเลือกว่าจะควบคุมความดังของเพลงผ่านทางแอพฯ Wattson Music หรือจะตั้งให้ปล่อยความดังออกไปแบบ fixed คือปล่อยออกไปเต็ม 100% กรณีที่คุณต้องการปรับวอลลุ่มที่ปรีแอมป์

ทดลองใช้แอพฯ Mconnect ควบคุมการดึงไฟล์เพลงจาก NAS เข้ามาเล่น ก็เล่นได้ราบลื่นดี แต่จะไม่สามารถปรับตั้งค่าได้ ส่วนเรื่องของคุณภาพเสียงที่ออกมาจะเห็นความแตกต่างชัดเลยว่า เล่นด้วยแอพ Wattson Music ให้เสียงออกมาดีกว่า ไทมิ่งของเพลงมีความถูกต้องมากกว่า คือสังเกตได้ว่าแอพ Mcoonect ให้เสียงที่หน่วงช้า ไดนามิกสวิงได้ไม่เต็มสเกล ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนตอนเล่นผ่านแอพ Wattson Music

แบบที่สอง : เล่นแบบเสียตังค์

เนื่องจาก Emerson DIGITAL ได้รับการรับรองจาก Roon Labs ให้มีคุณสมบัติเป็น Roon Ready คือ สามารถรองรับการเล่นไฟล์จากแพลทฟอร์มของ Roon ได้ด้วย ซึ่งการที่จะสามารถใช้คุณสมบัติข้อนี้ได้ คุณจะต้องมี Roon Core (ฮาร์ดแวร์ + ซอฟท์แวร์) อยู่ในระบบเน็ทเวิร์คเดียวกับ Emerson DIGITAL ด้วย นั่นคือต้องเสียเงินค่าแอคเคาต์ Roon นั่นเอง

ภาพด้านบนเป็นการใช้งาน Roon ร่วมกับ Emerson DIGITAL โดยให้ Roon ดึงไฟล์เพลง FLAC 24/192 จาก TIDAL มาเล่นแล้วส่งผ่านสัญญาณ PCM 24/192 ให้กับ Emerson DIGITAL ส่งออกไปทางเอ๊าต์พุตของ Emerson DIGITAL ให้กับอินพุต coaxial ของ Audiolab9000Aโดยที่ DSP volume ในตัว Emerson DIGITAL ไม่ทำงาน (bypass) เพื่อรักษาความเป็น bit-perfect ของสัญญาณดิจิตัลต้นฉบับเอาไว้

เสียเงินเล่นไฟล์เพลงด้วย Roon กับ Emerson DIGITAL แล้วได้อะไร.? สำหรับคนที่ใช้งานแพลทฟอร์ม Roon ในการเล่นไฟล์เพลงอยู่จะรู้ดีว่าคุณจะได้อะไรจากการเล่นไฟล์เพลงด้วย Roon คนที่คุ้นเคยกับ Roon อยู่แล้วจะรู้ว่านอกจากคอนเท็นต์ของเพลงที่ Roon นำมาเสนอเพื่อช่วยเปิดโลกในการฟังเพลงแล้ว ประโยชน์ในทางเทคนิคอีกอย่างของการเล่นไฟล์เพลงผ่าน Roon มาที่ Emerson DIGITAL ก็คือ Roon จะช่วย แปลงไฟล์เพลงที่ Emerson DIGITAL ไม่สามารถรองรับได้ อย่างเช่นไฟล์เพลง PCM ที่มีสเปคฯ สูงกว่า 24/192 และไฟล์เพลง DSD ให้ออกมาเป็นรูปแบบที่ Emerson DIGITAL รองรับได้ ซึ่งถ้าลองเข้าไปดูลักษณะของการแปลง (conversion) DSD ให้เป็น PCM ที่ Roon จัดการให้กับ Emerson DIGITAL (ภาพข้างบน ในกรอบสีเขียว) จะเห็นว่า Roon เลือกแปลงให้ลงมาอยู่ในระดับสูงสุดที่ Emerson DIGITAL สามารถรับได้คือ PCM 24/176.4 ซึ่งเป็นการแปลงจากสัญญาณ DSD ลงมาเป็นสัญญาณ PCM แบบ หารลงตัวคือ ลดลงมา 16 เท่า จากระดับแซมปลิ้ง 2.8224MHz ลงมาอยู่ที่ 176.4kHz โดยที่ใช้ฐาน clock ที่ 44.1kHz ร่วมกัน เสียงที่ได้จึงออกมาดีมาก เนื้อมวลหนาและแน่น เพราะเป็นการแปลงจากไฟล์ที่ใหญ่กว่าลงมาเป็นไฟล์ที่เล็กกว่า

ทดลองฟังเสียงของ Emerson DIGITAL

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเพลงที่ฟังจนชินหู แทบจะรับรู้ได้ถึงทุกการเคลื่อนไหวของโน๊ตทุกตัวในเพลงนั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเพลงนั้น แม้เพียงเล็กน้อย คุณจะรับรู้ได้ทันที.!!

หัวใจของ ความเป็นดนตรีที่เรารับรู้จากเพลงที่ฟังไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากความถี่ของโน๊ตที่เกิดจากการบรรเลงของชิ้นดนตรี แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิด “ความเป็นดนตรี” ขึ้นมาในเพลงที่ฟังมาจาก มูพเม้นต์ของตัวโน๊ตทั้งหมดในเพลงนั้น “ขยับเคลื่อน” ไปตาม “จังหวะของเพลง” ได้อย่างลงตัว เข้าล็อคกันได้อย่างเหมาะเหม็ง ซึ่งนักดนตรีเก่งๆ จะทำให้โน๊ตทั้งหมดในเพลงนั้นมีมูพเม้นต์ที่ดำเนินไปแบบ มีลีลา” ที่ชวนฟังและดึงดูดให้อินไปกับอารมณ์ของเพลง ส่วนคนฟังจะสามารถซึมซับ “ความเป็นดนตรี” ที่ละเอียดอ่อนเหล่านั้นเข้ามาได้มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า ชุดเครื่องเสียงที่ใช้เล่นเพลงนั้นมีความสามารถในการรักษา ไทมิ่งในการเพลย์แบ็คที่ถูกต้องตามสัญญาณต้นทางได้แม่นยำมากแค่ไหน

ส่วนประกอบหลักๆ ของชุดเครื่องเสียงมีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่

1. แหล่งต้นทางสัญญาณ
2. ภาคขยาย (แอมปลิฟาย)
3. ลำโพง

ซึ่งทั้งสามส่วนนั้นมีผลกับ คุณภาพของความเป็นดนตรีที่ซิสเต็มนั้นๆ ปลดปล่อยออกมา แต่ถ้าพิจารณาด้วยหลักของเหตุผลแล้ว พบว่า แหล่งต้นทางหรือ source จะส่งผลต่อ คุณภาพของความเป็นดนตรีมากกว่าแอมป์และลำโพง ซึ่งบทบาทของ Emerson DIGITAL เมื่อเข้าไปอยู่ในชุดเครื่องเสียง ก็ถือว่ามันทำหน้าที่อยู่ในส่วนของแหล่งต้นทางสัญญาณซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด

หลังจากทดลองใช้งาน Emerson DIGITAL ติดต่อกันมานานร่วมสองอาทิตย์ ผมพบว่า คุณสมบัติเด่นของ Emerson DIGITAL ตัวนี้คือ ความเป็นดนตรีที่มันถ่ายทอดออกมานี่เอง..

ผมทดลองฟังเพลงเดียวกันจากแผ่นซีดีที่เล่นด้วยเครื่องเล่น CD/SACD ของ Arcam รุ่น CD27s แล้วป้อนสัญญาณดิจิตัลจาก CD27s ไปเข้าที่อินพุต COAX 2 ของ Audiolab9000Aเปรียบเทียบกับการฟังเสียงของไฟล์ WAV 16/44.1 ที่ริปมาจากซีดีแผ่นนั้นด้วยการสตรีมด้วย Roon ผ่าน Emerson DIGITAL แล้วป้อนสัญญาณดิจิตัลจากช่องเอ๊าต์พุต coaxial ของ Emerson DIGITAL ไปเข้าที่อินพุต COAX 2 ของ 9000A ช่องเดียวกัน

ผลคือ เสียงที่ได้จากสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ของ CD27s กับเสียงที่ได้จากสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ของ Emerson DIGITAL มีลักษณะที่แตกต่างกันไม่มากนัก ที่ชัดเจนมากที่สุดมีอยู่ 2 ประเด็น อย่างแรกคือ เสียงจาก CD27s ให้มวลเนื้อของแต่ละเสียงที่มี ความหนาแน่นมากกว่าเสียงจาก Emerson DIGITAL เล็กน้อย ในขณะที่เสียงจาก Emerson DIGITAL ให้ ไดนามิก คอนทราสน์หรือช่วงสวิงของความดังที่เปิดกว้างกว่า รับรู้ได้จากเสียงร้องของนอร่า โจนส์ที่มีลักษณะการทอดเอื้อนที่ชัดเจนมากกว่าเสียงร้องที่ได้จาก CD27s ซึ่งถ้ามองในแง่ของความน่าฟังถือว่าสูสีกัน ไม่ดีด้อยไปกว่ากันมาก

แต่ข้อดีของ Emerson DIGITAL ก็คือมันสามารถเล่นไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ สูงกว่า 16/44.1 ได้ด้วย และสามารถรองรับไปได้สูงสุดถึงระดับไฮเรซฯ คือ 24/192 เมื่อผมทดลองเปลี่ยนเป็นสตรีมอัลบั้มเดียวกันคือ Come Away With Me ของ Norah Jones จาก TIDAL ที่เป็นเวอร์ชั่น FLAC 24/96 และเวอร์ชั่น FLAC 24/192 เข้ามาลองฟัง ปรากฏว่าเสียงของทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นมันให้คุณภาพที่ก้าวกระโดดไปอีกขั้น.! ในลักษณะที่ผ่อนปรนมากขึ้น เนื้อเสียงมีอาการควบแน่นและมีความนวลเนียนมากกว่า และโทนเสียงก็เปลี่ยนไปเลย

ช่วงท้ายผมก็ทดลองฟังเสียงของ Emerson DIGITAL เพียวๆ โดยต่อสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์จาก Emerson DIGITAL ไปเข้าที่อินพุต COAX 2 ของ Audiolab9000Aหลังจากทดลองฟัง Emerson DIGITAL แบบเพียวๆ มาสักพัก ผมรู้สึกสะดุดหูกับ อาการผ่อนคลายของเสียงที่ได้ยินจากเน็ทเวิร์ค บริดจ์ตัวนี้เป็นพิเศษ ซึ่งตอนแรกฟังดูคล้ายๆ ว่าเสียงที่ได้ยินจาก Emerson DIGITAL มันจะออกมาช้ากว่าปกตินิดๆ แต่พอตั้งใจฟังเทียบกันจริงๆ แล้วพบว่า มันไม่ได้ช้าอย่างที่คิด แต่เป็นเพราะ ไทมิ่งในการเพลย์แบ็คไฟล์ของ Emerson DIGITAL มันคลี่คลาย สปีดของเพลงออกมาได้ถูกต้องตรงตามจังหวะเพลงมากกว่า ทำให้ผมสามารถติดตามฟังความเคลื่อนไหวของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นในเพลงได้ครบถ้วนมากกว่า ชิ้นไหนเล่นช้า ชิ้นไหนเล่นเร็ว ผมรับรู้ได้ครบทุกชิ้น ได้ยินหมดทุกโน๊ต และที่สำคัญคือได้ยิน “กระจ่างชัดลงไปถึงรายละเอียดของแต่ละเสียงในระดับ inner detail ซะด้วย ไม่ได้ออกมามัวๆ นัวๆ เหมือนตอนฟังจากเครื่องเล่นซีดี

อัลบั้ม : Guitar Solo (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Finaz
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/24739600?u)

อัลบั้มนี้เป็นงานบันทึกเดี่ยวกีต้าร์ เล่นบรรเลงคนเดียว จุดเด่นอยู่ที่สปีดในการเล่นที่เร็วแต่ชัดเคลียร์และเต็มไปด้วยไดนามิกทุกโน๊ต เพลงแรกคือ Tango นั้น เขาดีดสายกีต้าร์ไปพร้อมกับใช้ฝ่ามือตบลงไปบนบอดี้ของกีต้าร์ในลักษณะที่ทั้งรัวและเร็ว ซึ่ง Emerson DIGITAL ทำให้ผมได้ยิน ทุกเสียงที่เกิดขึ้นในเพลงนั้น ได้ยิน “ทุกอากัปกิริยา” ที่นักกีต้าร์คนนี้ตั้งใจบรรเลงลงไปบนกีต้าร์ของเขา ความแม่นยำทางด้านไทมิ่งในการเล่นไฟล์เพลงของ Emerson DIGITAL ทำให้ได้ โฟกัสที่คมเป๊ะ ส่งผลให้ผมรับรู้และแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า เสียงไหนเป็นเสียงของสายกีต้าร์ที่โดนนิ้วดีด และเสียงไหนเป็นเสียงที่เกิดจากฝ่ามือตบลงไปบนบอดี้ของกีต้าร์ เสียงทั้งหมดที่ได้ยินนั้นมีสปีดที่เร็วและกระชับอย่างมากแต่ไม่มีเสียงไหนที่แตกแถวหลุดออกไปจากการรับรู้ของหูเลย ทุกเสียงมีความชัด มีน้ำหนัก ไม่เบลอมัว และมีตำแหน่งที่นิ่งตรึง ไม่วูบวาบ ซึ่งนั่นยืนยันให้เห็นว่า Emerson DIGITAL เล่นไฟล์ในลักษณะ bit-perfect จริงๆ เพราะมันสามารถตอบสนองกับ ไทมิ่งของแซมปลิ้งเรตของสัญญาณอินพุตได้อย่างแม่นยำ ไม่เคลื่อน และจัดระเบียบให้เสียงทั้งหมดหลั่งไหลออกมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ นิ่งสนิทตลอดทุกเสี้ยวเวลาที่เพลงดำเนินไป

อัลบั้ม : Fleda Sidor AV Samma Man (TIDAL MQA/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Peter Joback
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/552462?u)

Peter Joback เป็นนักแสดงและนักร้องชาวสวีเดน โทนเสียงของเขาจะออกไปทางแหลมเรียว ถ้าใครฟังเพลง Always On My Mind ในอัลบั้มชุดนี้ครั้งแรกแล้วคิดว่าเป็นเสียงของนักร้องหญิง แสดงว่าชุดเครื่องเสียงนั้นให้โทนเสียงที่มีความเพี้ยนสูงในย่านกลางสูง.! ซึ่งจริงๆ แล้ว เพลง Always On My Mind ที่เวอร์ชั่นเขาเอามาร้องคัฟเวอร์นี้ถือว่าบันทึกเสียงมาได้ดี จัดโทนัลบาลานซ์มาได้เสมอกัน ซึ่ง Emerson DIGITAL ถ่ายทอดเสียงร้องและเสียงเชลโลในเพลงนี้ออกมาได้อย่างมีอารมณ์ดนตรีสุดๆ แสดงให้เห็นว่า เพลงช้าๆ ที่ฟังแล้วได้อารมณ์ลึกซึ้ง นุ่มนวล มีชีวิตชีวา จะต้องเป็น อารมณ์ที่เกิดขึ้นจาก performance หรือความสามารถในการแสดงออกของศิลปินเอง ไม่ใช่ความนุ่มนวลที่เกิดจากการเล่นไฟล์ที่ให้เอ๊าต์พุตหน่วงช้า ดึงสปีดของเพลงให้ผิดไปจากไฟล์เพลงต้นฉบับ ซึ่งการทำแบบนั้นจะมีผลให้เสียงออกมาในลักษณะที่นุ่มสบายหูก็จริง แต่จะออกไปทางนุ่มนิ่ม ยวบยาบ ขาดไดนามิก ฟังแล้วจะไม่ได้ความรู้สึกถึงความสดเหมือนฟังของจริง ทำให้เพลงไม่มีชีวิตชีวา

สรุป

สำหรับคนที่ยังไม่มี streamer อยู่ในซิสเต็ม แต่มี external DAC คุณภาพสูงอยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็น DAC รุ่นเก่าที่ไม่มีอินพุตสตรีมมิ่งในตัว แต่ถ้าคุณพอใจน้ำเสียงของ DAC ตัวนั้นอยู่แล้วเพราะว่ามันแม็ทชิ่งกับแอมป์และลำโพงที่คุณใช้อยู่ กรณีนี้ ถ้าต้องการเพิ่มเติมความสามารถในการสตรีมไฟล์เพลงจากเน็ทเวิร์คเข้ามาเพิ่มเติมในซิสเต็มของคุณ ผมขอแนะนำ Emerson DIGITAL ตัวนี้ไว้ให้พิจารณา มันคือ ตัวช่วยที่จะเติมเต็มความสามารถในการสตรีมไฟล์เพลงให้กับซิสเต็มของคุณแบบง่ายๆ แต่ได้คุณภาพที่น่าพอใจ

สำหรับคนที่ใช้อินติเกรตแอมป์ที่มีภาค DAC ติดตั้งมาในตัว ขออย่าได้มองว่าภาค DAC ที่ให้มานั้นเป็นของแถมที่ไร้ค่า แต่อยากให้หาโอกาสทดลองฟังเสียงของภาค DAC ตัวนั้นดูก่อน ซึ่งถ้าเป็นอินติเกรตแอมป์รุ่นใหม่ๆ ส่วนมากแล้ว ภาค DAC ที่ใส่มาให้มักจะมีคุณภาพที่ดีมากพอ ซึ่ง Emerson DIGITAL ตัวนี้จะช่วยทำให้คุณได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของภาค DAC ในอินติเกรตแอมป์ของคุณ..!!

 

*** HIGHLY RECOMMENDED!!! ***
สำหรับ
Network Bridge ระดับราคา “ไม่เกิน 60,000 บาท

—————————–
ราคา : 60,000 บาท / ตัว
—————————–
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: DECO2000Thailand

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า