ขึ้นชื่อว่า “อัพเกรด” ความหมายของมันก็คือการปรับปรุงให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งหากมีการตั้งคำถามว่า อัพเกรดที่จุดไหนของซิสเต็มแล้วให้ผลลัพธ์ของเสียงโดยรวมในแนวทางที่ “ดีขึ้น” ออกมาให้เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คุณคิดว่าอัพเกรดตรงจุดไหน..??
ฟิวส์..??
อือมม.. เดี๋ยว! ตกลงว่า “ฟิวส์” เป็น “อุปกรณ์เสริม” หรือ “อุปกรณ์หลัก” เอาให้ชัดๆ ก่อน.? ส่วนตัวผมว่า ถ้ามองจากมุมของ “หน้าที่” ของมันก็ต้องถือว่าฟิวส์เป็นอุปกรณ์หลัก เพราะถ้าขาดมันไปซิสเต็มหลักก็ทำงานไม่ได้ เนื่องเพราะ “ฟิวส์” เป็นส่วนประกอบพื้นฐานอยู่ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ต้องทำงานโดยอาศัยไฟฟ้าที่ดึงมาจากปลั๊กบนผนังห้องด้วย
ส่วนตัวผมยอมรับว่าใหม่มากกับการอัพเกรดฟิวส์ ที่ผ่านมาผมไม่เคยเปลี่ยนฟิวส์เครื่องเพื่ออัพเกรดเลย เหตุผลไม่มีอะไรมาก เพราะผมมองว่าราคามันสูง และที่ผ่านๆ มาก็ยังไม่มีผู้นำเข้าเจ้าไหน (หลวมตัว) ส่งฟิวส์มาให้ผมทดสอบสักราย จะให้ซื้อมาทดลองเองก็ยอมรับว่าใจยังไม่ถึงเพราะยังไม่รู้ว่ามันจะช่วยให้เสียงดีขึ้นสักกี่มากน้อย คุ้มมั้ยกับการลงทุน ยิ่งพักหลังๆ มีฟิวส์สายโหดราคาโดดๆ ออกมาเยอะ ยิ่งทำให้ต้องคิดหนักถ้าจะซื้อมาลองเอง..!!
เอาจริงๆ แล้ว มันก็คือ “สะพานไฟ” นี่เอง..!!
หลังจากได้รับฟิวส์ยี่ห้อ HiFi-Tuning จากบริษัท Clef Audio ที่ (หลวมตัว) ส่งมาให้ทดสอบ เลยเป็นภาคบังคับให้ผมต้องนั่งพิจารณาอุปกรณ์เล็กๆ ตัวนี้อย่างจริงๆ จังๆ
อือมม.. จากที่ไม่เคยให้ความสนใจกับมัน เพราะปกติฟิวส์มันจะถูกติดตั้งอยู่ภายในตัวเครื่อง แอบซ่อนอยู่ในที่เก็บอย่างมิดชิด แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่การทำงานของมันแล้ว ทำให้ค่อยมองเห็นถึงประเด็นที่มันน่าจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับข้องกับ “เสียง” ของอุปกรณ์ชิ้นนั้นได้ชัดเจนมากขึ้น พอรู้แล้วก็อดที่จะตำหนิตัวเองไม่ได้ว่าทำไมที่ผ่านมาถึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้เลย
เพราะฟิวส์มันทำหน้าที่เป็นเหมือน “สะพานไฟ” ที่ทอดตัวให้กระแสไฟจากปลั๊กบนผนัง “ไหลผ่าน” ตัวมันเข้าไปในตัวเครื่องเสียง ถ้าไม่มีมัน ไฟฟ้าจากภายนอก็จะไม่สามารถผ่านเข้ามาที่ภาคจ่ายไฟของอุปกรณ์เครื่องเสียงได้ อ้าวว.. แล้วจะเอาฟิวส์มาขวางไว้ทำไม..?? ทำไมไม่ต่อไฟตรงเข้าภาคจ่ายไฟของเครื่องไปเลย เสียงอาจจะดีกว่าผ่านฟิวส์มั้ย..?? ทำแบบนั้นถ้าไฟกระชากเกินโวลต์ที่เครื่องรับได้ก็พังเลยซิ.. หน้าที่ของฟิวส์ก็เพื่อป้องกันตรงนี้นี่แหละ คือถ้ามีกระแสไฟทะลักเข้ามาเกินโวลต์ที่เครื่องรับได้ ฟิวส์จะขาดก่อนที่กระแสไฟนั้นจะทะลุเข้าไปถึงตัวเครื่อง เรียกว่าเป็นด่านหน้าที่ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องเครื่องเสียงเอาไว้ ถ้าไม่มีฟิวส์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาเครื่องเสียงราคาแพงของเราไปล่อไฟตรงๆ ซึ่งเสียงอาจจะดีกว่าผ่านฟิวส์ก็ได้ (มั้ง? ยังไม่เคยลอง) แต่ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่กล้าเสี่ยง
HiFi-Tuning
ผู้ผลิตฟิวส์เกรดออดิโอจากประเทศเยอรมนี
ฟิวส์ทั้งสองตัวที่ Clef Audio ส่งมาให้ผมทดสอบนี้เป็นผลิตผลของแบรนด์ HiFi-Tuning จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเท่าที่ค้นๆ ข้อมูลดูพบว่าแบรนด์นี้ไม่ค่อยมีอะไรให้ศึกษามากนัก ตัวเจ้าของแบรนด์คือคุณ Bernd Ahne แกมองเห็นโอกาสในการพัฒนาฟิวส์ที่มีคุณภาพในการส่งผ่านกระแสไฟได้ดีกว่าฟิวส์สามัญทั่วไปซึ่งเขามั่นใจว่ามันจะต้องส่งผลดีต่อคุณภาพเสียงอย่างแน่นอน นั่นเป็นที่มาของการพัฒนาฟิวส์ระดับออดิโอเกรดที่มีชื่อแบรนด์ว่า HiFi-Tuning ขึ้นมา
สิ่งที่คุณ Bernd Ahne ทำลงไปเพื่อปรับปรุงคุณภาพเสียงของฟิวส์ก็คือทดลองเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำชิ้นส่วนต่างๆ ของฟิวส์มาตรฐานจากที่เราเห็นทั่วไปอย่างแรกก็คือลองเปลี่ยนเส้นตัวนำที่ทำหน้าที่เป็นสะพานไฟจากที่ฟิวส์ทั่วไปที่ใช้วัสดุเกรดธรรมดาๆ ราคาถูกมาเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำกระแสไฟได้ดีกว่า ไปจนถึงตัวกระบอกที่ใช้ห่อหุ้มเส้นตัวนำซึ่งทั่วไปมักจะเป็นแก้วใสๆ มาเป็นเซรามิกที่มีเรโซแนนซ์ต่ำ นอกจากนั้น เขายังได้ลองใช้เทคนิคแด้มปิ้งเข้ามาช่วย รวมถึงเทคนิคแช่เย็น cryogenics ก็มา เรียกว่าขนสารพัดรเทคนิคเอามาใช้โดยตั้งเป้าหมายไปที่ “คุณภาพเสียง” เป็นสำคัญ
Supreme3 – Diamond & Silber/Gold
ฟิวส์ของ HiFi-Tuning ที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้มีอยู่ 2 รุ่น คือ Supreme3 – Daimond ตัวซ้ายมือในภาพ กับรุ่น Supreme3 – Silber/Gold ตัวขวามือในภาพ ซึ่งทั้งสองตัวนี้เป็นขนาดมาตรฐานสำหรับฟิวส์ทรงกระบอกขนาดเล็กสุด คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 5 ม.ม. และยาว 20 ม.ม. (5 x 20 mm) ซึ่งมักจะพบว่าใช้อยู่ในเครื่องเสียงของทางฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น (*ฟิวส์ของ HiFi-Tuning มีอยู่ 3 ขนาด ถัดจากขนาดเล็กสุดนี้ขึ้นไปจะเป็นขนาดกลางคือ 6.3 x 32 mm ซึ่งมักจะพบว่าใช้กันอยู่ในอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนขนาดใหญ่สุดคือ 10.3 x 38 mm เป็นฟิวส์ที่ใช้ในตู้เมนจ่ายไฟขนาดใหญ่)
เส้นตัวนำไฟฟ้าที่ขึงอยู่ในกระบอกฟิวส์ทั้งสองรุ่นนี้ทำมาจาก โลหะเงิน 99% ส่วนอีก 1% ที่ผสมอยู่ในนั้นเป็นโลหะทอง เหมือนกันทั้งสองรุ่น ตัวบอดี้ที่เป็นทรงกระบอกทำมาจากเซรามิกสีดำเข้ม มีพิมพ์โลโก้ลายเส้นสีทองประทับอยู่บนผิว ซึ่งถ้าเป็นรุ่น Supreme3 – Diamond ตรงโลโก้ยี่ห้อจะมีเพชรเม็ดเล็กๆ ติดฝังอยู่บนกระบอกเซรามิกด้วย (ศรชี้ในภาพข้างบน) ซึ่งไม่ใช่ติดมาเพื่อความสวยงามนะ แต่เป็นเทคนิคพิเศษในการปรับจูนเสียงที่ผู้ผลิตทำไว้..!! หืออมม.. จูนด้วยเพชรเนี่ยนะ.? ได้ด้วยเหรอ..?? สายมูรึเปล่า..??? ตอนได้ยินทีแรกผมก็รู้สึกแบบนั้น แต่พอลองค้นๆ เรื่องนี้ดูพบว่า วงการเครื่องเสียงของเราในอดีตก็มีการทดลองค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างผลึกแร่คริสตัลที่ส่งผลกับกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ อย่างพวกสัญญาณเสียงมานานแล้ว ซึ่งกลุ่มคนที่ทดลองต่างก็ยืนยันว่า การเอาผลึกแร่พวกคริสตัลไปวางไว้ใกล้ๆ ตัวนำไฟฟ้าจะส่งผลกับการไหลเวียนของกระแสไฟฟ้า (หรือสัญญาณเสียง) ไปในทิศทางที่ทำให้เสียงดีขึ้น ประมาณว่าผลึกเหล่านั้นสามารถลด noise ในกระแสไฟได้ ซึ่งคุณ Bernd Ahne แกก็เอาวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นอโลหะจำพวกผลึกคริสตัลหลายๆ ชนิดมาทดลองติดตั้งบนกระบอกฟิวส์ของแกจนมาลงตัวที่เพชรอย่างที่เห็น ซึ่งเม็ดเพชรที่ติดอยู่บนกระบอกฟิวส์นั้นไม่ได้ทะลุลงไปแตะสัมผัสกับเส้นตัวนำไฟฟ้าที่ขึงอยู่ด้านในนะ แค่เข้าไปใกล้ๆ เส้นตัวนำเท่านั้น ซึ่งแกเคลมว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับกระแสไฟที่วิ่งผ่านเส้นตัวนำในกระบอกฟิวส์นั้น อธิบายได้ด้วยหลักควอนตัมฟิสิกส์ (อือมม.. จบ! แยกย้าย.. ใครจะกล้าเถียง.??)
ส่วนกระบอกโลหะตัวนำที่ปิดหัวปิดท้าย (เรียกว่า cap) ก็ทำมาจากโลหะเงิน 99% ผสมทอง 1% เพื่อช่วยให้มีความสามารถในการนำไฟฟ้าได้ดี
ก่อนทดลองใช้งาน
จริงๆ แล้ว วิธีการเปลี่ยนฟิวส์อันใหม่เข้าไปแทนที่ฟิวส์อันเก่าที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์เครื่องเสียงมันไม่ได้ยาก แต่ที่ต้องระวังคือ “สเปคฯ” ของฟิวส์ที่จะเอาเข้าไปเปลี่ยน ซึ่งจะต้องมีสเปคฯ ที่ “ตรงกัน” มิฉนั้นอาจจะทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียงเกิดความเสียหายได้
ปกติแล้ว สเปคฯ ของฟิวส์ที่ใช้อยู่ในอุปกรณ์เครื่องเสียงจะระบุไว้ 2 ที่ คือพิมพ์ไว้บนปลอกโลหะที่ปิดหัวปิดท้ายบนตัวฟิวส์ หรือผู้ผลิตบางเจ้าอาจจะพิมพ์สเปคฯ ของฟิวส์ไว้บนตัวถังเครื่องก็มี ยกตัวอย่างเช่นอินติเกรตแอมป์ของ Audiolab รุ่น 9000A ที่ผมจะใช้เป็นหนูทดลองในการทดสอบประสิทธิภาพของฟิวส์ HiFi-Tuning ทั้งสองตัวนี้ ในภาพข้างบนที่วงสีแดงไว้นั้นคือสเปคฯ ของฟิวส์ที่บรรจุอยู่ในตัวเครื่อง 9000A มาจากโรงงาน ซึ่งระบุไว้ว่า FUSE T3.15AL 250V วิธีอ่านค่าให้ดูจากด้านหลังย้อนไปด้านหน้า ซึ่งในนั้นมีความหมายแยกออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
L 250V = แสดงให้รู้ว่าฟิวส์ตัวนี้ถูกออกแแบบมาให้ทนรับกับ “แรงดันไฟ” ไหลผ่าน ไม่เกิน 250 โวลต์ คือถ้าเกิน 250V เส้นตัวนำในกระบอกฟิวส์จะขาด ตรงนี้ที่ต้องระวังคือ ต้องไม่ใช้ฟิวส์ที่ระบุอัตราทนแรงดันที่ “สูงกว่า” 250V ขึ้นไปกับเครื่องเสียงชิ้นนี้เป็นอันขาด เพราะเส้นตัวนำในกระบอกฟิวส์จะไม่ตัดเมื่อแรงดันไฟเกิน 250V ไหลผ่านเข้ามา ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียงเกิดความเสียหาย กับอีกอย่างคือ ถ้าเลือกใช้ฟิวส์ผิดที่ทำไว้สำหรับไฟ 100V หรือ 110V กับเครื่องเสียงที่ใช้ไฟ 220V ฟิวส์ก็จะขาดทันทีที่เปิดสวิทช์เครื่อง.!
3.15A = ค่านี้บอกให้รู้ว่า เส้นตัวนำที่อยู่ฟิวส์ตัวนี้ยอมให้ “กระแสไฟ” ไหลผ่านได้ “สูงสุด” เท่ากับ 3.15 แอมแปร์ ซึ่งลักษณะของแรงดันไฟจะไม่คงที่ กรณีถ้ามีกระแสไฟไหลผ่านเข้ามา “สูงกว่า” ค่าที่ระบุไว้บนฟิวส์แค่ช่วงสั้นๆ ไม่แช่อยู่นานๆ เส้นตัวนำในกระบอกฟิวส์ก็อาจจะทนรับได้ ค่ากระแสนี้จะไม่ซีเรียสเท่ากับแรงดัน ซึ่งผู้ผลิตมักจะแนะนำให้ใช้ฟิวส์ที่มีค่า “แอมแปร์” ที่สูงกว่าที่ฟิวส์กำหนดไว้ขึ้นไป 2-3 เท่า กรณีที่ใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภท “แอมปลิฟาย” ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการอั้นของกระแสช่วงที่แอมปลิฟายกระชากไฟสูงๆ แบบฉับพลัน และเพื่อไม่ให้ฟิวส์ขาดง่ายเกินไป ยกตัวอย่างเช่น 9000A ซึ่งเป็นแอมปลิฟายที่มีภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว ผู้ผลิตแอมป์ระบุแอมแปร์ของฟิวส์ที่ติดมาจากโรงงานอยู่ที่ 3.15A คุณก็สามารถเปลี่ยนฟิวส์ที่มีสเปคฯ สูงกว่า 3.15A ขึ้นไปสองหรือสามเท่า นั่นคือ 6.3A หรือ 9.45A ได้
T = มาจากคำว่า ‘Time delay’ ซึ่งเป็นโค๊ดที่ใช้กำกับให้รู้ถึงพฤติกรรมของฟิวส์ตัวนั้นว่าเป็นฟิวส์แบบ ‘Slow Blow’ คือขาดช้า หรือเป็นแบบ ‘Fast Blow’ คือขาดเร็ว ซึ่งกำกับมาด้วยตัวอักษร F แบบขาดช้าก็ประมาณว่าเมื่อมีแรงดันไฟเกิน 250V ไหลเข้ามาไม่มากและไม่แช่อยู่ที่ระดับนั้นนานมากมันก็จะไม่ขาดง่าย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะรับมือกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับแอมปลิฟายเป็นประจำอยู่แล้วช่วงที่สัญญาณอินพุตมีอัตราสวิงไดนามิกอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ภาคขยายในตัวแอมป์กระชากไฟเข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างฉับพลัน ซึ่งกรณีนี้ฟิวส์แบบ Slow Blow จะไม่ขาดทันที แต่ถ้าเอาฟิวส์แบบ ‘Fast Blow’ มาใช้กับแอมปลิฟายจะทำให้ฟิวส์ขาดบ่อย ไม่เข้ากับลักษณะการใช้งานจริง
บนกล่อง HiFi-Tuning จะมีพิมพ์สเปคฯ ของฟิวส์ตัวนั้นเอาไว้ 3 ค่า (ภาพข้างบน ในวงรีสีแดง) โดยที่ค่าแรก (จากซ้ายไปขวา) คือ “แอมแปร์” จากภาพตัวอย่างแสดงว่าฟิวส์ตัวนี้ยอมให้กระแสไหลผ่านได้มากถึง 8A ซึ่งอยู่ในระดับเกือบ 3 เท่าของฟิวส์ที่ติดตั้งอยู่ใน 9000A มาจากโรงงาน ส่วนสเปคฯ ตัวที่สองคือ “ขนาด” เส้นผ่าศูนย์กลาง x ความยาว ของฟิวส์ และสเปคฯ ที่อยู่ทางขวามือสุดระบุประเภทของฟิวส์ว่าเป็นแบบ Time delay (ซึ่งก็คือแบบเดียวกับ Slow Blow) ส่วนสเปคฯ ที่ระบุระดับแรงดัน (voltage) สูงสุดที่รับได้มักจะพิมพ์อยู่บน cap ของตัวฟิวส์ ซึ่งฟิวส์ที่ใช้ในประเทศไทยจะอยู่ที่ 250V ซึ่งผู้นำเข้าจะเลือกมาให้เราแล้วเพราะประเทศไทยเราใช้ไฟที่มีแรงดัน 220V
“ลองเปลี่ยน” ฟิวส์ของ HiFi-Tuning
Supreme3 – Diamond & Supreme3 – Silber/Gold
อุปกรณ์เครื่องเสียงรุ่นเก่าๆ จะติดตั้งฟิวส์ไว้บนแผงวงจรด้านในตัวเครื่อง เวลาจะเปลี่ยนฟิวส์ก็ต้องแกะฝาครอบเครื่องออกมา แต่เครื่องเสียงยุคใหม่ๆ จะเอาฟิวส์มาติดตั้งไว้ใกล้ๆ กับเต้ารับเพื่อให้ฟิวส์แอ๊คชั่นได้เร็วขึ้นเพราะอยู่ใกล้ชิดกับตำแหน่งที่กระแสไฟเข้าเครื่อง และยังมีการออกแบบกล่องใส่ฟิวส์ที่สามารถแกะเอาฟิวส์ออกมาเปลี่ยนได้ง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องเปิดฝาครอบเครื่องเลย แค่กดสวิทช์ปิดเครื่อง – ดึงสายไฟเอซีออก – แล้วใช้ไขควงปากแบนงัดเอากล่องใส่ฟิวส์อออกมา แค่นี้เอง.!
ปกติแล้ว ในกล่องใส่ฟิวส์จะมีฟิวส์อยู่ 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นตัวที่ใช้งานจริง ส่วนอีกตัวเป็นฟิวส์สำรอง ซึ่งจากรูปข้างบนนั้น ตัวที่ใช้งานจริงคือตัวที่ศรชี้ ส่วนตัวที่อยู่ในกล่องมิดชิดนั้นเป็นสแปร์พาร์ต
เปรียบเทียบฟิวส์ของ HiFi-Tuning รุ่น Supreme3 – Diamond (ตัวล่าง) กับฟิวส์ในตัว 9000A ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน โหงวเฮ้งมันผิดกันจริงๆ ..!!
“ลองฟัง” ฟิวส์ของ HiFi-Tuning
Supreme3 – Diamond & Supreme3 – Silber/Gold
ซิสเต็มที่ผมเตรียมไว้ทดลองฟังประสิทธิภาพของฟิวส์ HiFi-Tuning ทั้งสองตัวนี้เป็นชุดฟังเพลง 2 แชนเนลที่มีการเสริมซับวูฟเฟอร์ โดยอาศัยอินติเกรตแอมป์ของ Audiolab รุ่น 9000A (REVIEW) เป็นศูนย์กลางของซิสเต็ม คือผมใช้ภาคขยาย 100W ในตัว 9000A ขับลำโพงหลักคือ Audio Physic รุ่น Classic 8 (REVIEW) ที่ผมใช้เป็นลำโพงอ้างอิงส่วนตัวอยู่ และอาศัยสัญญาณ Line Level จากช่อง Pre-Out ของ 9000A ไปป้อนเป็นอินพุตให้กับลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ของ KEF รุ่น Kube 10 MIE (REVIEW) แยกซ้าย–ขวาข้างละตัว ส่วนแหล่งต้นทางสัญญาณหรือ source เนื่องจากในตัวอินติเกรตแอมป์ 9000A มีภาค DAC อยู่ในตัว และเพราะผมไม่ต้องการให้พื้นฐานของซิสเต็มที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้มีความซับซ้อนมากเกินไปซึ่งจะทำให้ยากต่อการประเมินบุคลิกเสียงของฟิวส์ที่นำมาทดสอบ ผมจึงอาศัยสัญญาณ digital out จากตัว network bridge ของ Wattson Audio รุ่น Emerson DIGITAL เข้ามาเป็นสัญญาณดิจิตัลอินพุตให้กับภาค DAC ของ 9000A โดยส่งเข้าทางอินพุต coaxial ของ 9000A
สายลำโพง, สาย LAN ที่ใช้ในซิสเต็มนี้เป็นของ Purist Audio Design รุ่น Jade (สายลำโพง) และ CAT7 (สายแลน) ส่วนสายไฟเอซีของอินติเกรตแอมป์เป็นของ Life Audio รุ่น Signature 1, สายไฟของลำโพงซับวูฟเฟอร์ใช้สายแถมมากับลำโพง, สายสัญญาณซับวูฟเฟอร์เป็นของ Nordost รุ่น White Lightning ยาวข้างละสองเมตร
หลังจากทดลองเปลี่ยนฟิวส์ของ HiFi-Tuning เข้าไปแล้วทดลองเปิดฟังเสียงเลย พบว่า เสียงมันเปลี่ยนไปฟังออกชัด แทบจะไม่ต้องรอเบิร์นฯ เลย ผมทดลองฟังต่อเนื่องไปประมาณ 2 นาที แล้วกดเพลงหยุด จากนั้นก็ปิดแอมป์ ดึงสายไฟเอซีออก แล้วใช้ไขควงแงะกล่องใส่ฟิวส์ออกมา เอาฟิวส์ออกมาสลับขั้ว จากนั้นก็ยัดกล่องฟิวส์กลับเข้าไปในตัวเครื่อง เสียบสายไฟเอซีแล้วกดสวิทช์เปิดแอมป์ เสร็จแล้วก็เปิดเพลงเดิมฟังท่อนเดิม ผมพบว่า เสียงออกมาไม่เหมือนกัน.! เพื่อความชัวร์ ผมเปลี่ยนเพลงแล้วทดลองฟังเปรียบเทียบการสลับขั้วของฟิวส์อีก 2-3 รอบ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังคงเหมือนเดิม คือ พอสลับขั้วของฟิวส์แล้ว เสียงจะออกมาต่างกัน ด้านหนึ่งเสียงโดยรวมจะออกมาห้วนๆ โฟกัสของตัวเสียงเหมือนจะคมกว่า แต่หางเสียงไม่ค่อยทอดกังวาน พอเปลี่ยนไปอีกด้าน เสียงจะเปิดโปร่งกว่า หางเสียงทอดยาวและกังวานกว่า แต่เนื้อเสียงจะบางกว่าอีกด้านหนึ่งนิดหน่อย เมื่อคำนึงถึงคุณสมบัติทางด้าน ไทมิ่ง ที่ทำให้แต่ละเสียงในเพลงมีลักษณะ “ให้ตัว” ขยับเคลื่อนไปตามลีลาของเพลงได้ลงตัวมากที่สุด เสียงร้องมีลักษณะที่ต่อเนื่องลื่นไหลมากที่สุด ได้สปีดของแต่ละชิ้นดนตรีที่แยกกันชัด ผมพบว่า ต้องติดตั้งฟิวส์ให้อยู่ในทิศทางตามภาพที่เห็น คือตอนใส่เข้าเครื่องลูกศรจะชี้ไปทางขวา (ยืนหันหน้าเข้าหาแผงหน้าของแอมป์) ซึ่งเสียงจะเปิดโปร่ง ไทมิ่งถูกต้อง แยกแยะสปีดของแต่ละเสียงในเพลงเดียวกันออกมาได้ชัดกว่า และเสียงโดยรวมจะออกไปทางผ่อนคลายมากกว่า (ไม่แน่ใจว่าเครื่องเสียงตัวอื่นๆ จะใช้ทิศเดียวกันรึเปล่า ฉนั้น แนะนำให้ทดลองสลับทิศแล้วฟังดู)
หลังจากเลือกขั้วของฟิวส์ได้แล้ว ผมก็ทดลองฟังเปรียบเทียบกับฟิวส์ที่ติดตั้งมากับ 9000A พบว่า เมื่อเปลี่ยนฟิวส์ของ HiFi-Tuning ตัวนี้เข้าไปแล้ว เสียงของซิสเต็มมันเปลี่ยนไปในแนวทางที่คนที่เคยลองมาก่อนเขาว่ากันนั่นแหละ คือรู้สึกได้ว่าเสียงโดยรวมมันออกมา “แผ่เต็ม” มากขึ้น เด้งดึ๋งมากขึ้น ในขณะที่บางคนเคลมว่าเหมือนเปลี่ยนแอมป์ที่มีวัตต์เยอะขึ้น ซึ่งผมก็รู้สึกคล้ายๆ แบบนั้นแต่ไม่ถึงขนาดเปลี่ยนแอมป์ เพียงแค่รู้สึกว่า หลังจากเปลี่ยนฟิวส์ Supreme3 – Diamond เข้าไปแล้ว มันทำให้ตัวเสียงมี “ความเข้ม” มากขึ้น เวทีเสียงแผ่เต็มมากขึ้น กับเพลงที่มีแอมเบี้ยนต์เบาๆ แผ่รองอยู่ด้านหลังของเวทีเสียงจะรับรู้ได้ถึงความเข้มของมวลแอมเบี้ยนต์ที่คงอยู่ตลอด
นอกจากความรู้สึกว่าเสียงแผ่เต็มมากขึ้น และมวลเสียงเข้มมากขึ้นแล้ว ในแง่อื่นๆ ยอมรับเลยว่าฟังความแตกต่างได้ยากเหมือนกัน น่าจะเป็นเพราะฟิวส์มันไม่ได้ไปทำให้โทนเสียงเดิมของซิสเต็มเปลี่ยนไปก็เป็นได้ หลังจากปล่อยทิ้งให้มันเบิร์นฯ ต่อไปจนถึงชั่วโมงที่ 50 ผมก็ทดลองเปรียบเทียบกับฟิวส์ที่มากับเครื่องอีกที พบว่าลักษณะของเสียงที่แผ่เต็ม และความเข้มของมวลเสียงมันมีความเด่นชัดมากขึ้น และคราวนี้ผมก็รู้สึกถึงความ “นวลเนียน” ของน้ำเสียงที่ดีกว่าฟิวส์ที่มากับตัวเครื่อง ซึ่งตอนฟังเทียบกันชั่วโมงแรกๆ ผมไม่รู้สึกตรงนี้ มันเป็น “ความนวลเนียน” ที่เกิดจากเนื้อเสียงที่สะอาดมากกว่า ไม่ได้เกิดจากไทมิ่งของเสียงที่หน่วงช้าลง เพราะโทนเสียงของซิสเต็มไม่ได้เปลี่ยนไป
หลังใช้งานผ่านชั่วโมงที่ 50 มาแล้ว ผมรู้สึกว่าความแผ่เต็มของเสียงที่ดีขึ้นจากการเปลี่ยนมาใช้ฟิวส์ของ HiFi-Tuning ตัวไดม่อนด์นี้มันทำให้รู้สึกว่าเวทีเสียงมีความสมดุลมากขึ้นด้วย คือที่ผ่านมาตอนสุ่มฟังจาก TIDAL ผมรู้สึกว่า บางเพลงเวทีเสียงมันเอียงๆ คล้ายว่า ความเข้มของพื้นเสียงสองข้างไม่เท่ากัน แต่หลังจากเปลี่ยนมาใช้ฟิวส์ Supreme3 – Diamond ของ HiFi-Tuning ตัวนี้แล้ว ความรู้สึกที่ว่านั้นมันลดน้อยลงไปมาก แม้ว่าในบางเพลงที่มิกซ์เสียงหนักไปข้างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฟังแล้วรู้สึกว่าอีกข้างมันหายไปเลย คือรับรู้ได้ว่ามันยังอยู่ แค่ว่ามันเบากว่าอีกข้างนิดนึงเท่านั้น
เวอร์ชั่น Diamond vs. เวอร์ชั่น Silber/Gold
ฟิวส์ตัว Supreme3 – Silber/Gold ที่ได้รับมาพร้อมกันมีสเปคฯ แทบจะเหมือนกับรุ่น Supreme3 – Diamond ทุกประการ ต่างกันแค่มีเพชรกับไม่มีเพชร แต่พอเอามาฟังเทียบกัน บนซิสเต็มเดียวกัน ผมพบว่า เสียงของมันมีความแตกต่างกัน ช่วงแรกๆ ของการฟังเทียบ ผมได้ยินว่าฟิวส์ตัว Silber/Gold มันทำให้เสียงของซิสเต็มออกมาเด้งดึ๋งมากกว่าตัว Diamond ซะอีก..! คือถ้าจะพูดว่า เปลี่ยนฟิวส์แล้วรู้สึกได้พลังเสียงที่บรรเจิดมากขึ้นเหมือนเปลี่ยนแอมป์ที่ใหญ่ขึ้น ผมว่าฟิวส์ตัว Silber/Gold ทำให้รู้สึกแบบนั้นได้มากกว่ารุ่น Diamond ซะอีก คือถ้าเทียบเสียงของ Silber/Gold กับฟิวส์ที่แถมมาในตัว 9000A แล้วมันต่างกันเยอะมาก หลังจากเปลี่ยนเอา Silber/Gold เข้าไปแทนฟิวส์เดิมแล้ว รู้สึกได้เลยว่าเสียงมันพุ่งเปิดออกมาอย่างชัดเจน แต่พอจับเอา Diamond มาฟังเทียบกับ Silber/Gold แบบตัวต่อตัว ยกแรกๆ ผมให้คะแนนตัว Silber/Gold มากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะผมรู้สึกว่า Silber/Gold มันดันเสียงออกมามากกว่า Diamond แต่หลังจากเปลี่ยนเพลงไปหลายๆ เพลงและฟังเทียบหลายรอบมากขึ้น ผมเริ่มรู้สึกว่า Diamond มันให้เสียงที่มีลักษณะของการ “ควบคุม” ที่ดีกว่า ฟังเสียงรวมๆ แล้วให้ความรู้สึกสงบกว่า ไม่มีอาการพุ่งพล่าน จนมาถึงจุดหนึ่งผมก็จับได้ว่า ตัว Diamond ให้ dynamic contrast ที่ต่อเนื่อง ลื่นไหลมากกว่า ซึ่งมาตัดสินกันที่ “เสียงร้อง” กับเพลงช้าๆ นี่เอง ซึ่งตัว Diamond เข้าถึงอารมณ์เพลงมากกว่า ละมุนกว่า
คุณสมบัติทางด้าน dynamic contrast ของ Diamond ที่ทำได้ดีกว่า ต่อเนื่องและลื่นไหลมากกว่า Silber/Gold ส่งผลโดยตรงต่อ “ความเป็นดนตรี” ที่ลึกซึ้งมากกว่า จะเห็นความต่างได้ชัดเมื่อฟังเพลงที่มีความละเอียดละมัยสูง อย่างเช่นเพลงคลาสสิก เพลงร้องหรือเพลงบรรเลงของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่ใช้วิธีสีด้วยคันชัก และเครื่องเป่า
สรุป
จริงๆ แล้ว เสียงของฟิวส์ออดิโอเกรดอย่าง HiFi-Tuning กับเสียงของฟิวส์มาตรฐานที่แถมมากับเครื่องมันมีความแตกต่างกันไม่เยอะมากถึงขนาดเปลี่ยนเครื่องหรอก และถ้าฟังเปรียบเทียบแค่ช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะฟังความแตกต่างได้ยาก เหตุผลก็เพราะว่าระดับความแตกต่างมันไม่ได้เยอะมากอย่างที่บอกตั้งแต่ตอนต้น แต่ถ้าฟังผ่านซิสเต็มที่มีการเซ็ตอัพลงตัวจะฟังออกได้ง่ายขึ้น และเมื่อคุณสามารถฟังจับความแตกต่างของเสียงระหว่างฟิวส์มาตรฐานทั่วไปกับฟิวส์ระดับ audio grade ได้แล้ว คุณจะได้ยินแบบนั้นตลอดไป
ทีแรกผมคิดว่าจะทดลองเปลี่ยนเอาฟิวส์ HiFi-Tuning สองตัวนี้ไปใช้กับอุปกรณ์อย่างอื่นดูบ้าง อย่างพวก external DAC กับสตรีมเมอร์ที่ผมมีอยู่ก็คือ Audiolab รุ่น 7000N กับ Ayre Acoustic รุ่น QB-9 DSD Twenty แต่พอเช็คสเปคฟิวส์ของอุปกรณ์ทั้งสองตัวนั้นดูแล้ว พบว่าฟิวส์ที่ติดเครื่องมารองรับกระแสได้แค่ระดับ “มิลลิแอมป์” (mA) เท่านั้นเอง (ตัว QB-9 DSD Twenty รองรับได้ 125mA ในขณะที่ตัว 7000A รองรับได้ 630mA ในขณะที่ฟิวส์ทั้งสองตัวที่ผมได้รับมาทดสอบมันทนกระแสได้สูงถึง 8A แต่โวลต์ตรงกันคือ 250V ถามว่าถ้าจะเอามาใช้กับ ext.DAC และสตรีมเมอร์สองตัวนี้ได้มั้ย.. ก็น่าจะใช้ได้ แต่ก็เดาไม่ถูกว่า ฟิวส์ที่ทนกระแสได้ “สูงกว่า” สเปคฯ ของฟิวส์ที่เครื่องเสียงตัวนั้นใช้อยู่ขึ้นไปเยอะๆ จะเกิดอะไรขึ้น.? ทั้งทางด้านเสียงและการทำงานของตัวเครื่อง
จากข้อมูลที่ทางบริษัท Clef Audio ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟิวส์ของ HiFi-Tuning ให้มาข้างบนนั้น จะเห็นว่า ทั้งสองรุ่นมีระดับของความสามารถในการรองรับกระแส (แอมแปร์) ให้เลือกหลายระดับ ซึ่งไม่เกี่ยวกับราคาของฟิวส์ตัวนั้น ส่วนหลักการเลือกก็คือ ถ้านำไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทที่บริโภคไฟเยอะๆ และมีโอกาสจะกระชากไฟสูงๆ อย่างพวกแอมปลิฟาย ก็ควรจะเลือกใช้ฟิวส์ที่มีสเปคฯ ของ “แอมแปร์” (A) ให้ “สูงกว่า” ที่เครื่องใช้อยู่สัก 2-3 เท่าตัวก็น่าจะพอ เพื่อไม่ให้ฟิวส์ขาดง่าย เพราะเส้นตัวนำที่ใช้ในฟิวส์ระดับออดิโอเกรดอย่าง HiFi-Tuning ทำด้วยวัสดุที่หลอมละลายง่ายกว่าวัสดุที่ใช้ทำเส้นตัวนำในฟิวส์มาตรฐานทั่วไป แต่ถ้านำไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้กระแสไม่เยอะ อย่างพวกอุปกรณ์ต้นทางสัญญาณเช่น DAC, โฟโนสเตจ, สตรีมเมอร์ ฯลฯ ให้เลือกใช้ฟิวส์ที่รองรับกระแสได้สูงกว่าสเปคฯ ที่เครื่องตัวนั้นใช้อยู่สัก 1 เท่าตัวก็พอ เพราะอุปกรณ์เหล่านั้นไม่มีพฤติกรรมกระชากกระแสสูงเหมือนแอมป์
ตอนนี้ฟิวส์ทั้งสองตัวถูกใช้งานมาเกิน 80 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งผมพบว่า หลังจากชั่วโมงที่ 50 มาแล้ว เสียงของมันไม่ได้เปลี่ยนไปมาก หลังจากนั่งฟังมาหลายชั่วโมง ผมพบว่า ข้อดีที่ฟิวส์ของ HiFi-Tuning ทั้งสองตัวนี้มันส่งผลต่อเสียงโดยรวมของซิสเต็มมันมีอยู่หลายประเด็น รวมๆ แล้วก็ถือว่าเป็นระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุนมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าผมเอางบ 5,990 บาทที่ซื้อฟิวส์ตัว Diamond ไปซื้อสายไฟเอซีมาเปลี่ยนแทนสายแถมโดยยังใช้ฟิวส์ที่แถมมากับตัวเครื่องอย่างเดิม ผมก็จะไม่มีโอกาสสัมผัสกับประสิทธิภาพของสายไฟเอซีเส้นนั้นอย่างเต็มที่อยู่ดี เพราะกระแสไฟที่สายไฟเอซีเส้นนั้นส่งมาที่เครื่องเสียงจะถูก drop ลงด้วยฟิวส์คุณภาพต่ำที่ขวางทางอยู่ เหมือนเป็นคอขวดของระบบ เมื่อกระแสไฟผ่านไปเข้าเครื่องไม่เต็มที่ ผลเสียที่เกิดกับเสียงก็จะส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพเสียงโดยรวมของทั้งซิสเต็มในที่สุด เมื่อมองจากมุมนี้ จะเห็นได้ชัดว่า จริงๆ แล้ว เราควรจะให้ความสำคัญกับฟิวส์ก่อนที่จะอัพเกรดอะไรอย่างอื่นซะด้วยซ้ำไป..!!!
********************
ราคา HiFi-Tuning
รุ่น Supreme3 – Silber/Gold = 2,990 บาท / ตัว
รุ่น Supreme3 – Diamond = 5,990 บาท / ตัว
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Clef Audio
โทร. 02-932-5981