หลังจากได้มีโอกาสทดสอบลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF รุ่น KC92 ไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (REVIEW) ผมก็เฝ้ารอลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่น Kube 10 MIE ของ KEF รุ่นนี้มาตลอด (ตอนนั้นทางบริษัทตัวแทนคือ Vgadz แจ้งว่าของไม่มี ต้องรอสั่งเข้ามา) เพราะหลังจากผมพิจารณาจากสเปคฯ และราคาขายของรุ่น Kube 10 MIE ตัวนี้ดูแล้ว ผมว่ามันอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากสำหรับคนที่อยากจะเพิ่มซับวูฟเฟอร์กับชุดฟังเพลงระดับกลางๆ ราคาทั้งชุดไม่เกิน 3 แสนบาท เพราะรุ่น Kube 10 MIE ราคาตัวละสามหมื่นนิดๆ เท่านั้น ใช้สองตัวก็ตกหกหมื่นนิดๆ ถือว่าไม่โหดเหมือนรุ่น KC92 ที่มีราคาสูงกว่าเยอะ ใช้สองตัวก็เกือบสองแสนเข้าไปแล้ว.!!
KC92 ไม่ดีเหรอ.? ดีครับ.. ดีมากด้วย แต่ก็อย่างที่ผมบอก เนื่องจากราคาของ KC92 มันโหดไปนิด ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบตัว KC92 ผมพบว่า ใช้ซับวูฟเฟอร์ 2 ตัวแยกซ้าย–ขวาให้ผลลัพธ์ทางเสียงออกมาดีกว่าใช้ตัวเดียวอย่างมาก สมดุลของเสียงออกมาดีกว่าและปรับจูนให้ลงตัวได้ง่ายกว่าด้วย ซึ่งราคาของ KC92 รวมกันสองตัวประมาณสองแสน น่าจะเหมาะกับซิสเต็มที่ใช้ลำโพงหลักคู่ละ 3 – 5 แสนบาทขึ้นไป ในขณะที่ซิสเต็มระดับกลางๆ ที่ใช้ลำโพงหลักคู่ละ ไม่เกิน 2 แสนบาท ถ้าจะจับกับ KC92 สองตัวมันก็ดูจะสูงเกินลำโพงหลักไปหน่อย ซึ่งผมมองว่า ลำโพงหลักคู่ละไม่เกิน 2 แสนบาท จับกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีราคา ไม่เกิน 1 แสนบาท (สองตัว) ผมว่ากำลังดี.! (*แต่ถ้าคุณไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณและไม่อยากคาใจจะกระโดดไป KC92 สองตัวก็ไม่ว่ากัน.!!)
และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง..!!
ทางบริษัท Vgadz ซึ่งเป็นตัวแทนผู้นำเข้าลำโพงแบรนด์ KEF นำส่งลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่น Kube 10 MIE ถึงบ้านผมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผมรีบแกะกล่องและนำเข้าไปติดตั้งในห้องฟังทันที เพราะก่อนหน้านั้นผมได้ทำการเซ็ตอัพลำโพง KEF รุ่น Q Concerto Meta คู่ที่ผมทดสอบไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมา (REVIEW) ไว้แล้วเพื่อรอจับคู่กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE ในการทดสอบครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลของ Kube 10 MIE ที่ผมเข้าไปดูมาก่อนหน้านี้พบว่า รุ่นนี้ใช้ไดเวอร์ขนาด 10 นิ้ว แค่ดอกเดียว ในขณะที่รุ่น KC92 ใช้ไดเวอร์ดีไซน์พิเศษที่เรียกว่า Uni-Core ซึ่งใช้ไดเวอร์ขนาด 9 นิ้ว จำนวนสองตัวติดตั้งหันหลังชนกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลักดันอากาศ ด้วยเหตุที่ KC92 และ Kube 10 MIE ใช้ไดเวอร์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ตัวตู้ของ KC92 กับ Kube 10 MIE มีขนาดสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมาก ซึ่งผมว่ากำลังดีสำหรับการติดตั้ง 2 ตัวในห้องฟังขนาดกลางๆ วางลงไปแล้วดูไม่รกตามากและไม่เกะกะสนามเสียงด้วย
ส่วนสัดกำลังดี..
ตัวตู้ของ Kube 10 MIE มาในทรงลูกบาศน์แบบเดียวกับ KC92 ทว่าสัดส่วน กxลxส ของรุ่น Kube 10 MIE จะใหญ่กว่าตัวตู้ของ KC92 อยู่นิดนึง
Kube 10 MIE เป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบ front-firing คือติดตั้งไดเวอร์ไว้บนแผงหน้าของตัวตู้ในลักษณะที่ยิงคลื่นเสียงขนานไปกับพื้นห้อง ซึ่งต่างจากรุ่น KC92 ที่เป็นแบบ side-firing คือยิงคลื่นเสียงออกทางด้านข้างซ้าย–ขวาของตัวตู้ ขนานไปกับพื้น เมื่อติดตั้งใช้งานตามสภาพปกติ ไดเวอร์ของรุ่น Kube 10 MIE จะยิงคลื่นความถี่ออกมาด้านหน้าเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังลักษณะเดียวกับไดเวอร์ของลำโพงหลัก ในขณะที่ไดเวอร์ของรุ่น KC92 ยิงคลื่นความถี่อัดเข้าผนังห้องและยิงเข้าหากัน
รอบๆ ตัวตู้มีผ้ากรุบางสีดำหุ้มห่อไว้ทั้ง 4 ด้าน คือซ้าย–ขวา, หน้า–หลัง ส่วนด้านบนของตัวตู้จะมีแผ่นกระจกสีดำแผ่นสี่เหลี่ยมที่มีสัดส่วน กว้างxลึก เท่ากับสัดส่วนของตัวตู้ปิดทับอยู่ซึ่งบนแผ่นกระจกมีโลโก้แบรนด์ KEF พิมพ์ไว้ด้วย ที่ฐานล่างของตัวตู้ทั้งสี่มุมมีจุกยางติดตั้งอยู่ (ศรชี้ในภาพข้างบน) ทำหน้าที่เป็นขาตั้งเตี้ยๆ เพื่อยกตัวตู้ให้ลอยขึ้นจากพื้น และขายางทั้งสี่ขานั้นยังมีหน้าที่ลดแรงสั่นที่เกิดขึ้นบนตัวตู้ไม่ให้ถ่ายเทลงบนพื้นห้อง แต่จะถูกดูดกลืนไว้กับตัวขาตั้งทั้งสี่ และในทางกลับกัน ขาตั้งยางทั้งสี่ยังทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้คลื่นความสั่นสะเทือนจากพื้นห้องย้อนขึ้นไปรบกวนการทำงานของตัวซับฯ อีกด้วย
ช่องต่อสัญญาณ กับปุ่มปรับตั้งค่าต่างๆ
ถูกติดตั้งอยู่ที่แผงด้านหลังของตัวตู้ทั้งหมด ซึ่งเป็นฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับด้านที่ติดตั้งไดเวอร์นั่นเอง..
1. Expansion port ช่องสำหรับติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณแบบไร้สาย (wireless adaptor)
2. ช่องรับสัญญาณ trigger 12V
3. สวิทช์เลือกโหมดที่ใช้ควบคุมการเปิดใช้งาน
4. สวิทช์เลือกเฟสสัญญาณ
5. สวิทช์เลือกรูปแบบ EQ
6. สวิทช์หมุนเพื่อปรับตั้งจุดตัดความถี่
7. สวิทช์หมุนเพื่อปรับตั้งวอลลุ่ม
8. เมนสวิทช์สำหรับเปิด/ปิดไฟเข้าเครื่อง
9. เต้ารับไฟเอซีจากภายนอก
10. ช่องเสียบสัญญาณอินพุตจากแอมป์ผ่านทางสายลำโพง (High Level)
11. ช่องเสียบสัญญาณอินพุตจากแอมป์ผ่านทางสายสัญญาณ (Line Level)
การเชื่อมต่อสัญญาณจากแอมปลิฟายมาที่ Kube 10 MIE ทำได้ 2 ทาง คือ ทางสายลำโพง (speaker input) กับทางสายสัญญาณ (Line input) ซึ่งช่องอินพุตที่ใช้เชื่อมต่อจะติดตั้งอยู่ที่มุมขวาล่างของแผงหลัง
การเชื่อมต่อผ่านทางสายลำโพงในกรณีที่แอมป์ของคุณไม่มีช่อง Pre-out หรือช่อง Sub-out มาให้ ซึ่งในการเชื่อมต่อต้องใช้อะแด๊ปเตอร์ (ศรชี้ในภาพข้างบน) ที่แถมมาให้ในกล่องเข้ามาช่วย ซึ่งการเชื่อมต่อจะมีความยุ่งยากอยู่หน่อย เพราะช่องต่อสายลำโพงค่อนข้างเล็ก ต้องใช้สายลำโพงเส้นเล็กๆ โดยเชื่อมต่อด้วยวิธีปลอกปลายสายให้เปลือยลงไปถึงเส้นทองแดง แล้วเสียบเส้นทองแดงลงไปในช่องบนตัวอะแด้ปเตอร์ ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบให้มั่นใจว่าสายลำโพง + กับ – ติดตั้งไว้ถูกต้อง มิฉนั้นอาจจะเกิดปัญหาสัญญาณกลับเฟสได้
วิธีเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างแอมปลิฟายกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF รุ่น Kube 10 MIE ที่ดีที่สุด ง่ายและให้ผลลัพธ์ของเสียงที่ดีก็คือการเชื่อมต่อผ่านทางอินพุตแบบ Line Level ด้วยขั้วต่อสัญญาณ RCA ซึ่ง Kube 10 MIE แต่ละตัวจะมีขั้วต่อสัญญาณ Line Level มาให้ 2 ช่อง ช่องแรกเป็นช่อง L สำหรับรองรับสัญญาณแชนเนลซ้าย (Left channel) กับช่อง R สำหรับรองรับสัญญาณแชนเนลขวา (Right channel) ในขณะเดียวกัน ที่ช่อง L ยังมีตัวหนังสือ ‘LFE’ กำกับอยู่ด้านบนด้วย ซึ่งแสดงให้รู้ว่า ช่องอินพุต L นี้ยังสามารถใช้รองรับสัญญาณ Low Frequency Effect (LFE) ที่มาจากเอ๊าต์พุต .1 ของปรีโปรเซสเซอร์ หรือเอวี เซอร์ราวนด์ของระบบโฮมเธียเตอร์ หรือมาจากเอ๊าต์พุตที่ผ่านวงจรโลวพาสฟิลเตอร์ (LPF) ของอุปกรณ์ประเภท active crossover ภายนอกได้ ส่วนช่อง R ที่ด้านบนจะมีตัวอักษรที่ทำเป็นโลโก้ ‘SmartConnect’ พิมพ์กำกับไว้ด้วย ซึ่งอินพุตนี้จะมีวงจรพิเศษที่ช่วยปรับ gain หรืออัตราขยายของภาคขยายของเพาเวอร์แอมป์ในตัว Kube 10 MIE ให้ทำงานอยู่ในระดับที่ “เต็มที่” ตลอดเวลา เสมือนกับว่ามีสัญญาณป้อนเข้าไปที่อินพุต Line Level ของ Kube 10 MIE ตลอดเวลาไม่ว่าจริงๆ แล้วสัญญาณขาเข้าจะเข้ามาแค่ช่องเดียว (L หรือ R) หรือสองช่อง (L + R) พร้อมกัน
กรณีที่ใช้ Kube 10 MIE สองตัวเชื่อมต่อกับแอมป์ฟังเพลงระบบ stereo โดยใช้เอ๊าต์พุต Pre-out ของแอมป์ผ่านสายสัญญาณ RCA ให้เชื่อมต่อสัญญาณจากช่อง Pre-out ของแอมป์เข้าทางอินพุต SmartConnect ของ Kube 10 MIE ทั้งสองตัวจะทำให้ได้ gain ของภาคขยายในตัว Kube 10 MIE ออกมาเต็มที่ตลอดเวลาเหมือนต่อสัญญาณเข้าที่ Kube 10 MIE ทั้งสองช่องพร้อมกันโดยไม่ต้องพึ่ง Y-adapter เลย แต่ถ้าแอมป์มีวงจร Low-pass filter สำหรับกำหนดจุดตัดของสัญญาณจากช่อง Pre-out กรณีนี้ให้เชื่อมต่อสัญญาณจากช่อง Pre-out ของแอมป์ตัวนั้นไปที่อินพุต LFE ของ Kube 10 MIE ตามตัวอย่างในภาพข้างบน
ภาพชาร์ตด้านบนนี้ แสดงให้เห็นถึงวิธีเชื่อมต่อสัญญาณจากแอมปลิฟายไปที่อินพุต Line Level ของ Kube 10 MIE ในกรณีที่ใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE ในระบบแค่ตัวเดียว ภาพทางซ้าย (A) เป็นการเชื่อมต่อสัญญาณจากช่องเอ๊าต์พุต LFE ของเอวี รีซีฟเวอร์ ซึ่งเป็นการใช้งาน Kube 10 MIE ในระบบเสียงของชุดโฮมเธียเตอร์ ส่วนภาพขวา (B) นั้นเป็นการเชื่อมต่อสัญญาณจากแอมป์ฟังเพลงระบบสเตริโอที่มีช่องเอ๊าต์พุต Pre-out ที่แยกซ้าย–ขวามาให้ วิธีต่อเชื่อมที่ถูกต้องก็คือ ใช้สายสัญญาณ 2 เส้น แยกกันเชื่อมต่อระหว่างช่อง L / R ของ Pre-out ไปเข้าที่ช่อง L / R อินพุตของ Kube 10 MIE
ฟังท์ชั่นที่ใช้ปรับแต่งเสียง
พื้นที่ส่วนบนของแผงหลังเป็นที่รวบรวมปุ่มหมุนและสวิทช์โยกสำหรับควบคุมการทำงานของฟังท์ชั่นต่างๆ ที่ใช้ในการปรับแต่งเสียงของ Kube 10 MIE ตัวนี้ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ตรงหมายเลข 1 ในภาพข้างบนเป็นตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์เสริมรุ่น KW1 Wireless Subwoofer Adapter Kit ซึ่งเป็นอ๊อปชั่นสำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างแอมป์กับ Kube 10 MIE ผ่านทางระบบไร้สาย ส่วนหมายเลข 2 นั้นให้ไว้สำหรับการเชื่อมต่อกับสัญญาณ trigger ที่ส่งมาจากแอมป์ ซึ่งเป็นอ๊อปชั่นที่ทำให้ตัว Kube 10 MIE ถูกกระตุ้นให้เปิดขึ้นมาทำงานหลังจากคุณเปิดแอมป์ ซึ่งฟังท์ชั่นนี้จะไปสัมพันธ์กับฟังท์ชั่น MODE ที่ตำแหน่ง 3 ซึ่งเป็นสวิทช์โยก 3 ตำแหน่ง ระหว่าง 1) Always ON คือเปิดตลอด, 2) Auto Wake Up คือ จะเปิดทำงานเมื่อมีสัญญาณเข้ามาที่อินพุต และ 3) 12V จะลิ้งค์กับแอมป์คือ Kube 10 MIE จะเปิดขึ้นมาทำงานหลังจากแอมป์เปิดทำงาน
ตำแหน่ง 4 – 7 จะเป็นฟังท์ชั่นที่ใช้ในการปรับแต่งเสียงโดยตรง เริ่มจากหมายเลข 4 คือ PHASE ซึ่งมีไว้ให้เลือกองศาเฟสของสัญญาณเอ๊าต์พุตที่ส่งออกไปจาก Kube 10 MIE ผ่านสวิทช์โยกอันเล็กๆ ที่มีอ๊อปชั่นให้เลือกสองอย่างระหว่าง 0 กับ 180 องศา
ฟังท์ชั่นปรับ EQ
ตรงตำแหน่งหมายเลข 5 คือฟังท์ชั่น EQ ที่ถูกปรับตั้งแบบสำเร็จรูปอยู่ในตัว Kube 10 MIE ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1) In-Room, 2) Wall / Cabinet และ 3) Corner
เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า การวางซับวูฟเฟอร์ไว้ในแต่ละตำแหน่งภายในห้องจะส่งผลให้เสียงทุ้มที่ออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ตัวนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเอ็ฟเฟ็กต์ที่เกิดจาก response ของห้องที่ทำให้คลื่นเสียงจากลำโพงซับวูฟเฟอร์มีลักษณะที่เบี่ยงเบนไป วิธีแก้ปัญหานี้ก็คือการใช้ EQ เข้ามาช่วยปรับจูนเพื่อชดเชยปัญหาของเสียงที่เกิดขึ้นจาก response ของห้องที่เข้ามารบกวน
เพื่อเคลียร์ปัญหาข้างต้นนั้น วิศวกรของ KEF ได้ทำการติดตั้ง EQ ที่ผ่านการปรับตั้งมาจากโรงงานไว้ให้ผู้ใช้ Kube 10 MIE เลือกใช้ในสถานะการณ์ต่างๆ จำนวน 3 ตัวเลือก ตัวแรกคือ ‘In-Room’ ซึ่งเป็น EQ ที่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่คุณวาง Kube 10 MIE ไว้บริเวญกลางห้อง ห่างออกมาจากผนังแต่ละด้านและห่างออกมาจากมุมห้อง ส่วน EQ ตัวที่สองคือ ‘Wall / Cabinet’ ตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อชดเชยกรณีที่คุณวาง Kube 10 MIE เข้าไปชิดผนังด้านใดด้านหนึ่งของห้อง หรือนำเอา Kube 10 MIE ไปฝังซ่อนไว้ในตู้ที่อยู่ในผนังห้อง และ EQ ตัวที่สามคือ ‘Corner’ ถูกออกแบบมาเพื่อชดเชยกรณีที่คุณวาง Kube 10 MIE ซุกไว้ที่มุมห้องหรือใกล้กับมุมห้อง
ฟังท์ชั่นปรับจุดตัด (crossover) และปรับวอลลุ่ม
ในสเปคฯ ระบุว่า Kube 10 MIE ให้เร้นจ์ของความถี่ตอบสนองอยู่ระหว่าง 24Hz – 140Hz (+/-3dB) ผ่านออกมาทางไดเวอร์ไดนามิกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ที่ติดตั้งอยู่ในตัวตู้ที่ปิดมิดชิด (sealed cabinet) โดยมีวงจรโลวพาสฟิลเตอร์สำหรับให้ผู้ใช้เลือกจุดตัดความถี่ได้ตั้งแต่ 40Hz – 140Hz ผ่านปุ่มหมุนแบบลิเนียร์ (ปุ่มซ้ายมือในภาพข้างบน) ซึ่งถ้าหมุนปุ่มนี้ไปทางขวาในทิศทางตามเข็มนาฬิกาเลยจุดตัด 140Hz ไปจนสุดสเกลตรงตำแหน่งที่มีตัวอักษร LFE กำกับไว้นั้นก็เท่ากับเป็นการปิดการทำงานของวงจรโลวพาสฟิลเตอร์ลง ซึ่งเป็นอ๊อปชั่นที่มีไว้สำหรับรองรับความถี่จากภายนอกที่ป้อนเข้ามาทางช่องอินพุต LFE ซึ่งจะไม่ผ่านวงจรตัดแบ่งความถี่ในตัว Kube 10 MIE
ถัดไปทางขวาคือปุ่มวอลลุ่ม ซึ่งจะถูกใช้เพื่อกำหนด “ความดัง” ของความถี่ต่ำที่ปล่อยออกไปทางเอ๊าต์พุตของ Kube 10 MIE
ดีไซน์ภายใน
นอกจากประสิทธิภาพของไดเวอร์ขนาด 10 นิ้วในตู้ปิดที่ผนึกมาอย่างแน่นหนาแล้ว บนแผงวงจรภายในตัวตู้ของ Kube 10 MIE ยังได้ฝังเทคโนโลยีพิเศษที่วิศวกรของ KEF ออกแบบขึ้นมาไว้ด้วย เป็นวงจรที่สร้างขึ้นเพื่อทำให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF สามารถใช้งานร่วมกับลำโพงหลักของระบบเสียง stereo ได้อย่างกลมกลืนกันมากที่สุด ซึ่งประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่วงการเครื่องเสียงมานาน เป็นอุปสรรคที่ทำให้การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ากับลำโพงฟังเพลงในระบบ stereo ที่ผ่านๆ มาไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ทุกคนต้องการ
เทคโนโลยีพิเศษที่ว่านี้มีชื่อว่า Music Integrity Engine (MIE) ซึ่งเป็น software-base technology ที่วิศวกรของ KEF คิดค้นขึ้นมาในแล็ปและได้ทำการปรับจูนให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์สามารถทำงานกลมกลืนไปกับลำโพงหลักได้อย่างสมบูรณ์แบบ จากนั้นก็นำเอาข้อมูลการปรับจูนทั้งหมดมาเขียนเป็นโค๊ดอัลกอริธึ่มแล้วฝังลงไปบน DSP (Digital Signal Processing) ซึ่งอัลกอริธึ่มบนชิป MIE ที่อยู่ในตัว Kube 10 MIE จะทำการวิเคราะห์สัญญาณอินพุตด้วยสปีดที่เร็วมากๆ จากนั้นก็ไปควบคุมการทำงานของวงจรขยายในภาคเพาเวอร์แอมป์ให้สนับสนุนสัญญาณอินพุตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยเข้าไปปรับจูนในส่วนของ phase ด้วยฟีเจอร์ phase correction เพื่อจัดคุณสมบัติทางด้าน timing ของสัญญาณเอ๊าต์พุตให้ตรงกับเฟสของสัญญาณต้นทางเอาไว้ให้คงที่ตลอดเวลา
‘phase’ และ ‘timing’ เป็นคุณสมบัติสำคัญ (นอกเหนือจากความถี่และความดัง) ที่ทำให้เสียงจากซับวูฟเฟอร์ผสมไปกับเสียงจากลำโพงหลักได้อย่างกลมกลืน ถ้าลำโพงซับวูฟเฟอร์ไม่มีตัวช่วย (ซอฟท์แวร์ MIE) ในเรื่องนี้ก็ยากที่จะสร้างความกลมกลืนให้เกิดขึ้นระหว่างลำโพงซับวูฟเฟอร์และลำโพงหลัก เพราะระยะเวลาที่สัญญาณอินพุตต้องวิ่งผ่านวงจรปรับจุดตัด, วงจรปรับวอลลุ่ม และวงจรปรับเฟส ไปถึงเพาเวอร์แอมป์และต่อไปที่ไดเวอร์ มันค่อนข้างนาน กว่าสัญญาณเสียงจะออกมาจากไดเวอร์ของซับฯ ก็มีโอกาสที่เกิดปัญหา “เฟสเคลื่อน” (phase shift) ไม่ตรงกับตอนที่เข้าไปทางอินพุตของซับฯ ซึ่งนั่นคือต้นตอของปัญหาเสียงที่ไม่กลืนกัน ถามว่า จะใช้วิธีแมนน่วลค่อยๆ ขยับหาตำแหน่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ไปทีละนิดเพื่อชดเชยเฟสจะสามารถทำได้มั้ย.? ก็ได้แต่บอกเลยว่ายาก.! ซึ่งหน้าที่ของซอฟท์แวร์ MIE ในตัว Kube 10 MIE คือช่วยจัดการให้คลื่นเสียงทุ้มที่ส่งออกไปมีเฟสที่ตรงกับสัญญาณอินพุตที่รับเข้ามามากที่สุดด้วยการ “ชดเชย” เฟสของสัญญาณช่วงที่ยังเดินทางอยู่ในวงจรต่างๆ ของซับฯ นั่นเอง ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำให้การขยับหาตำแหน่งเพื่อปรับจูนเสียงของ Kube 10 MIE ให้กลืนกับลำโพงหลักทำได้ง่ายมาก..
ส่วนภาคเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้อยู่ในตัว Kube 10 MIE เป็นแอมป์ที่ใช้ภาคขยาย class-D จึงวางใจได้ในแง่ของสปีดในการตอบสนองกับสัญญาณอินพุตที่น่าจะฉับไวพอ แถมมีพลังมากถึง 300W ต่อตัวซะด้วย แทบจะไม่ต้องกังวลกับพลังเบสเลย..!
การเซ็ตอัพ Kube 10 MIE เข้ากับชุดฟังเพลงเพื่อการทดสอบ
คอนเซ็ปต์ของการ “เพิ่ม” ลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาในชุดฟังเพลงที่ใช้ระบบเสียง stereo 2 ch ก็เพื่อ “ขยาย” ขีดความสามารถในการตอบสนองความถี่เสียงของชุดฟังเพลง stereo 2 ch เดิมให้เปิดกว้างออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านความถี่ต่ำ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าทำสำเร็จ เราก็จะได้ชุดฟังเพลง stereo 2 ch ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้ยินรายละเอียดของเสียงเปิดเผยออกมามากขึ้นโดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ แต่ทว่า.. อุปสรรคที่จะทำให้การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบฟังเพลงแล้วได้ผลลัพธ์ออกมา “ไม่เป็น” ไปตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้ก็คือ “ความไม่กลมกลืนกัน” ระหว่างความถี่เสียงที่ออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เพิ่มเข้ามากับความถี่จากลำโพงหลักที่มีอยู่เดิม
เรารู้มาว่า คุณสมบัติทางด้าน phase คือตัวการสำคัญที่จะทำให้เสียงที่มาจากสองแหล่งกำเนิด (ลำโพงหลักกับลำโพงซับวูฟเฟอร์) สามารถผสมกลมกลืนกันได้ดีแค่ไหน ซึ่งสัญญาณเสียงที่มาจากต้นกำเนิด (คือจาก source) เป็นสัญญาณ full range ที่มีแบนด์วิธเต็มตามเพลงที่บันทึกมาก เมื่อสัญญาณนั้นถูกส่งมาถึงแอมป์เพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้นมันก็ยังคงเป็นสัญญาณ full range อยู่ แต่จะเริ่มถูก “ตัดทอน” ให้หดแคบลงเมื่อถูกส่งไปที่วงจรเน็ทเวิร์คของลำโพง เพราะวงจรเน็ทเวิร์คของลำโพงถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ในการจัดสรรความถี่ให้เหมาะสมกับความสามารถของไดเวอร์ที่อยู่บนตัวลำโพงนั้นๆ นั่นเอง (ยิ่งลำโพงหลักมีขนาดเล็ก ความถี่เสียงจากต้นทางก็จะยิ่งเหลือน้อยลง)
จากรูปข้างบนจะเห็นว่า ผมเลือกใช้อินติเกรตแอมป์ที่มีภาค Pre-out เป็นศูนย์กลางของระบบแทนที่จะเป็นชุดปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ว่า ซิสเต็มที่มีความซับซ้อนมากจะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เฟสของสัญญาณต้นทางเกิดความเบี่ยงเบนไปได้มากกว่าซิสเต็มที่เรียบง่าย ซึ่งส่งผลต่อความไม่กลมกลืนของเสียงที่ออกมาจากลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์
ผมเลือกใช้อินติเกรตแอมป์ 9000A ที่มีกำลังขับข้างละ 100W ขับลำโพงหลักคือ Q Concerto Meta ของ KEF เพราะตอนทดสอบลำโพง Q Concerto Meta ผมก็เคยใช้อินติเกรตแอมป์ 9000A ตัวนี้ขับ Q Concerto Meta มาแล้ว จึงมั่นใจว่าแอมป์กับลำโพงคู่นี้ไปด้วยกันได้แน่นอน ส่วนเหตุผลที่ผมตั้งใจเลือกใช้ลำโพงของแบรนด์ KEF มาทำหน้าที่เป็นลำโพงหลักของระบบ ทั้งนี้ก็เพราะต้องการควบคุมตัวแปรที่มีโอกาสจะทำให้มีปัญหาเรื่อง phase ออกไปจากระบบให้มากที่สุด (ด้วยความคิดเชิงคอมม่อนเซ้นต์ที่ว่า ลำโพงหลักกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เป็นแบรนด์เดียวกัน “น่า” จะมีปัญหาเรื่องเฟสน้อยกว่าลำโพงหลักกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เป็นแบรนด์ต่างกัน)
จากนั้นก็ใช้สายสัญญาณ RCA ต่อสัญญาณ Line Level จากช่องเอ๊าต์พุต Pre-out ของตัว 9000A ไปเข้าที่ช่องอินพุต SmartConnect ของลำโพงซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE โดยเลือกใช้สายสัญญาณของ Nordost ที่มีประสิทธิภาพโดดเด่นในการตอบสนองสปีดของเสียงที่รวดเร็ว ไม่หน่วงสัญญาณไว้ในตัวสาย ผมใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์แยกซ้าย–ขวาสองตัว ด้วยเหตุนี้ สัญญาณจากอินพุตของ 9000A ที่มาจากแหล่งต้นทาง Ayre Acoustic ‘QB-9 DSD Twenty’ หลังผ่านวงจรปรีแอมป์มาแล้วได้ถูกจัดการออกมาเป็น 2 ชุด ที่เหมือนกันทุกประการ ชุดแรกส่งไปให้กับภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว 9000A ที่มีกำลังขับ 100W ต่อข้างทำการขยายเพื่อส่งออกไปขับลำโพง KEF ‘Q Concerto Meta’ ส่วนสัญญาณชุดที่สองถูกส่งออกไปทางช่อง Pre-out นั่นเอง (*สัญญาณทั้งสองชุดยังคงถูกควบคุมความดังด้วยวอลลุ่มบนตัว 9000A)
การเชื่อมต่อข้างต้นเป็นวิธีที่เรียบง่าย จุดประสงค์เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปัญหากับ phase ของสัญญาณต้นทางให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้คลื่นเสียงความถี่ต่ำที่ออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์มีเฟสที่ “ใกล้เคียง” กับความถี่เสียงที่ออกมาจากลำโพงหลัก แม้ว่าอาจจะมีเฟสเคลื่อนไปบ้างอันเนื่องจากสายสัญญาณที่ใช้เชื่อมต่อซับวูฟเฟอร์, จากสายลำโพง และจากตำแหน่งการวางลำโพงหลักกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่อยู่คนละตำแหน่งกัน เหล่านี้ แต่ถ้ามีการแม็ทชิ่งสายเชื่อมต่อกับพยายามจัดตำแหน่งวางซับวูฟเฟอร์ไม่ให้ไกลไปจากตำแหน่งของลำโพงหลักมาก ความเหลื่อมของเฟสก็จะน้อยลง ไม่มากพอให้หูสามารถจับได้..
การปรับจูนระบบ
ภาคปฏิบัติในการปรับจูนระบบสำหรับการเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้าไปในชุดฟังเพลงสเตริโอ 2 แชนเนลมีอยู่ 2 ขั้นตอน หลักๆ ขั้นตอนแรก คือทำการเซ็ตอัพหาตำแหน่งของลำโพงหลักให้ลงตัวซะก่อน ซึ่งเป้าหมายหลักในการเซ็ตอัพก็คือ พยายามดึงประสิทธิภาพเสียงที่เป็นตัวตนของลำโพงหลักออกมาให้ได้มากที่สุด “อย่างที่มันควรจะเป็น” คือไม่ต้องเซ็ตแบบเน้นกลาง–แหลมแล้วปล่อยทุ้มบางๆ เผื่อเติมซับฯ พยายามทำให้ได้เสียงออกมาตามบุคลิกของลำโพงหลักให้มากที่สุด ซึ่งส่วนตัวผมใช้หลักการเซ็ตอัพที่ผมใช้ประจำคือเริ่มต้นด้วยการวางลำโพงทั้งสองข้างไว้ที่ตำแหน่งซ้าย–ขวาห่างกันเท่ากับ 180 ซ.ม. โดยวัดจากกึ่งกลางของห้องออกไปทางซ้าย–ขวาด้านละ 90 ซ.ม. จากนั้นก็ดึงลำโพงทั้งสองข้างให้ห่างผนังหลังออกมาเท่ากับ “ความลึกของห้อง หารด้วย 3” โดยวัดจากผนังด้านหลังมาถึงแผงหน้าของลำโพง จากนั้นก็ทดลองฟังโดยกำหนดจุดนั่งฟังไว้ที่จุด sweet spot แล้วค่อยๆ ทดลองขยับตำแหน่งลำโพงซ้าย–ขวาให้ชิดกันและถ่างห่างจากกันเพื่อจูนหาจุดที่เฟสของลำโพงทั้งสองข้างซ้อนทับกันสนิทที่สุด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้ได้ “โฟกัส” ของเสียงที่คมชัดที่สุด หลังจากนั้นก็ทำการขยับลำโพงทั้งสองข้างให้ถอยลงไปชิดผนังด้านหลังทีละนิดเพื่อควบคุมโทนัลบาลานซ์และขยายอัตราสวิงไดนามิกให้เปิดกว้างมากที่สุด กับทำให้รูปวงมีความเป็นสามมิติที่แสดงเลเยอร์ในด้านลึกออกมาได้เต็มที่ตามความสามารถที่ลำโพงหลักจะทำได้
จากชาร์ตข้างบน
A = เส้นกึ่งกลางห้องตามแนวยาว
B = เส้นความลึกของห้อง หารด้วย 3
C = เส้นความลึกของห้อง หารด้วย 5
ห้องฟังของผมกว้าง 360 ซ.ม. x ลึก 660 ซ.ม. แต่ผมใช้ตัวเลขความลึก = 540 ซ.ม. ที่สัมผัสกับความกว้าง 360 ซ.ม. ในการคำนวน ดังนั้น เส้น B จึงห่างผนังหลังขึ้นมาเท่ากับ 180 ซ.ม. หลังจากขยับลำโพง Q Concerto Meta เพื่อไฟน์จูนเสียงจนลงตัวแล้ว ผมได้ระยะห่างซ้าย–ขวาของ Q Concerto Meta อยู่ที่ 156 ซ.ม. โดยวัดจากกึ่งกลางของแผงหน้าลำโพงเข้าหากัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้ได้โฟกัสที่คมชัดมากที่สุดสำหรับลำโพงหลักคู่นี้ ส่วนระยะห่างผนังหลัง หลังจากทดลองขยับดันลำโพงถอยหลังลงไปผมพบว่าตำแหน่งที่ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของโทนัลบาลานซ์, ไดนามิก และรูปวงเวทีเสียงที่น่าพอใจมากที่สุดอยู่ที่ 170.5 ซ.ม. โดยวัดจากผนังหลังขึ้นมาถึงแผงหน้าของลำโพง (ดูภาพประกอบข้างบนเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น)
หลังจากได้ตำแหน่งของลำโพงหลักที่ลงตัวมากที่สุดแล้ว ผมจึงค่อยนำเอาลำโพงซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE ทั้งสองตัวเข้าไปเสริม ด้วยการวางลำโพงซับวูฟเฟอร์แต่ละตัวให้อยู่ในแนวเดียวกับลำโพงหลัก (เส้นสีฟ้าในภาพข้างบน) หันด้านที่ติดตั้งไดเวอร์ยิงออกมาทางฝั่งที่นั่งฟังซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับการกระจายเสียงของลำโพงหลัก ณ จุดเริ่มต้นก่อนการขยับจูนตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ ผมกำหนดให้แผงหน้าของลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั้งสองข้างอยู่ห่างจากผนังห้องด้านหลังขึ้นมาเท่ากับ ความลึกของห้อง (5.4 เมตร) หารด้วย 5 นั่นคือ 1.08 เมตร (เส้น C ในภาพข้างบน)
จากนั้นก็ทำการปรับตั้งค่าที่แผงหลังของตัว Kube 10 MIE ไว้คร่าวๆ ด้วยการกำหนด
– CROSSOVER = ตั้งไว้ที่ ‘48Hz’
– VOLUME = ตั้งไว้ตรงกลาง (ตำแหน่ง 12 นาฬิกา)
– EQ = ตั้งไว้ที่ตำแหน่ง ‘In-Room’
– PHASE = ตั้งไว้ที่ตำแหน่ง ‘0 องศา‘
– MODE = ตั้งไว้ที่ ‘Always On’
เหตุผลที่ผมเลือกตั้งจุดตัดบนตัว Kube 10 MIE ไว้ที่ 48Hz (เล็งๆ เอา) ก็เพราะว่าสเปคฯ frequency response ของลำโพงหลักคือ Q Concerto Meta ระบุไว้ที่ 48Hz – 20kHz (+/-3dB) หลังจากนั้นก็เปิดเบิร์นฯ ทั้งระบบไปจนถึง 70 ชั่วโมง จึงเริ่มต้นทำการขยับตำแหน่งของลำโพงซับวูฟเฟอร์เพื่อไฟน์จูนเสียง และเมื่อลำโพงซับวูฟเฟอร์ผ่านการเบิร์นฯ ไปถึง 100 ชั่วโมง จึงค่อยมาทดลองไฟน์จูนละเอียดอีกรอบเป็นการสรุป
มีจุดเรฟเฟอเร้นซ์ที่สำคัญจุดหนึ่ง นั่นคือ “เร้นจ์ของวอลลุ่ม” ของ 9000A ที่ใช้ขับลำโพง Q Concerto Meta ให้ได้เสียงออกมาดีที่สุด คือเพลงทั้ง 20 เพลง ที่ผมเลือกไว้ทดสอบครั้งนี้แต่ละเพลงจะมี gain ของเสียงที่ต่างกัน หลังจากทดลองฟังเพลงเหล่านี้กับ Q Concerto Meta ซึ่งขับโดย 9000A โดยที่ยังไม่มีซับวูฟเฟอร์ ผมพบว่า เร้นจ์ของวอลลุ่มบน 9000A ที่ใช้กับเพลงเหล่านี้เพื่อให้ได้ “ความดัง” ของแต่ละเพลงออกมาเท่ากันจะอยู่ระหว่าง -20dB ถึง -12dB [*เร้นจ์วอลลุ่มของ 9000A เริ่มตั้งแต่ -78dB (เบาสุด) ขึ้นไปจนถึง 0dB (ดังสุด)] ในการปรับจูนเอ๊าต์พุตของซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE ก็ต้องยึดเร้นจ์วอลลุ่มนี้ด้วย
ผลการปรับจูนซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE เข้ากับลำโพงหลัก Q Concerto Meta
ช่วงชั่วโมงแรกๆ ของการเบิร์นฯ ผมพบว่า เสียงของ Kube 10 MIE ออกมากระชับเก็บตัวเร็ว ต้องเบิร์นฯ ทิ้งไว้เกือบยี่สิบชั่วโมงจึงรู้สึกได้ว่ามันเริ่มคายมวลของเสียงทุ้มออกมามากขึ้น ฐานเบสเริ่มแผ่ตัวออกไปกว้างขึ้น และเริ่มรู้สึกว่าเสียงกลางมีความหนามากขึ้น แต่ในแง่ “ไทมิ่ง” ของเสียงยังรู้สึกว่ามันเคลื่อนไหวไปในลักษณะที่ยังไม่สอดคล้องกันกับเสียงของลำโพงหลัก ซึ่งผมใช้วิธีปิด/เปิดซับวูฟเฟอร์แล้วฟังเทียบกัน
พอเปิดเบิร์นฯ ไปถึงชั่วโมงที่ 30 อาการที่เสียงไม่กลืนกันทั้งในแง่ของความถี่และสปีดฯ ก็ยิ่งปรากฏออกมาชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถามว่าฟังออกง่ายมั้ย.? ก็ไม่ง่ายนัก แค่รู้สึกว่าเสียงมันไม่ลื่นไหลและโฟกัสของเสียงมันเบลอ ไม่คม โดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำที่อยู่ใกล้ๆ กับจุดตัดที่ตั้งไว้ ซึ่งวิธีที่ฟังง่ายคือต้องเปิด/ปิดซับวูฟเฟอร์แล้วฟังเทียบกัน ซึ่งผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง คือแม้ว่าจะรู้สึกว่าเสียงจากซับฯ กับลำโพงหลักมันยังไม่กลืนกัน แต่ผลลัพธ์ของเสียงโดยรวมที่ออกมามันไม่ได้เลวร้ายมากชนิดที่ว่าฟังไม่ได้ คือมันแค่ยังฟังไม่ดีเท่านั้น เบสก็ยังมีลักษณะของหัวเสียงที่มีความคมชัดและหางเสียงเบสก็ไม่ได้ฟุ้งและรุ่มร่ามมาก นี่อาจจะเป็นเพราะวงจรครอสโอเวอร์ของ Kube 10 MIE ใช้สโลปออเดอร์ที่ 4 ที่มีการลาดชันของความดัง ณ จุดตัดลดลงที่ระดับ 24dB ต่ออ็อกเตรป ทำให้เสียงจากซับฯ มีลักษณะที่เก็บตัวเร็ว ไม่รุ่มร่าม
ผมปล่อยให้ Kube 10 MIE เบิร์นฯ ไปจนถึงชั่วโมงที่ 50 พบว่าอาการหางเสียงทุ้มที่เบลอและอาการที่มูพเม้นต์ของเสียงไม่ลื่นไหลก็ยังคงอยู่ ส่วนที่ดีขึ้นคือหัวเสียงเบสเร็วขึ้นและอาการฟุ้งๆ ของเสียงในย่านต่ำลดลงไปมาก มีผลให้พื้นเสียงใสกระจ่างขึ้น รายละเอียดในย่านกลาง–แหลมลอยตัวออกมามากขึ้น แต่หลังจากทดลองเปิด–ปิด Kube 10 MIE เพื่อลองฟังเทียบก็ทำให้รู้ว่า เสียงทุ้มจากซับวูฟเฟอร์ยังไม่กลืนกับเสียงของลำโพงหลักเป๊ะๆ เพราะพอเปิด Kube 10 MIE ขึ้นมาพบว่าได้มวลเสียงทุ้มเพิ่มขึ้น ได้ความหนาของเสียงกลางมากขึ้น เสียงแหลมมีลักษณะที่ลอยตัวขึ้นมามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โฟกัสของแต่ละเสียงมีลักษณะที่แย่ลงเล็กน้อย ทรานเชี้ยนต์ของหัวเสียงแย่ลงรู้สึกได้ และพื้นเสียงก็มีความขุ่นมากขึ้นเล็กน้อย รวมๆ แล้ว พอเปิด Kube 10 MIE ขึ้นมามีผลให้เสียงโดยรวมแย่ลงประมาณ 10-15% ในขณะเดียวกัน ก็ได้ข้อดีในแง่มวลเสียงและแรงปะทะในย่านเสียงทุ้มที่ดีขึ้นมากชดเชยกันไป เนื้อเสียงหนาขึ้นทุกความถี่ลดหลั่นกันไป ซึ่งคราวนี้ผมพบว่า มิติเสียงมีความนิ่งขึ้นและได้ไทมิ่งที่ผ่อนคลายมากขึ้นด้วย เป็นข้อดีที่ออกมาต่างจากตอนฟังชั่วโมงแรกๆ
ผมเริ่มต้นทดลองปรับจูนค่าต่างๆ บนแผงหลังของ Kube 10 MIE หลังจากเบิร์นฯ เลยชั่วโมงที่ 60 ไปแล้ว ซึ่งสิ่งแรกที่ทดลองปรับจูนคือ “จุดตัดความถี่” โดยที่ยังคงลำโพงไว้ในตำแหน่งเดิม วอลลุ่มยังคงเท่าเดิมคืออยู่ที่ระดับ 12 นาฬิกา เฟสก็ยังไว้ที่ 0 องศา หลังจากผมทดลองปรับจุดตัดไปทั้งทิศทางที่ต่ำกว่าและสูงกว่า 48Hz ซึ่งเป็นจุดตัดที่ตั้งไว้ตั้งแต่ชั่วโมงแรก ผลคือ พอขยับจุดตัดให้สูงกว่า 48Hz ขึ้นมาทีละนิด ผมพบว่า เสียงโดยรวมเริ่มดีขึ้น รู้สึกได้ชัดว่าอาการเบลอของเสียงลดลง โดยเฉพาะในย่านทุ้มที่มีโฟกัสดีขึ้น มีพลังดีดตัวมากขึ้น มีแรงปะทะที่รุนแรงมากขึ้น ผมทดลองเพิ่มความถี่ของจุดตัดขึ้นไปทีละนิดจนถึงจุดหนึ่งเสียงกลับมาเบลอ ความคมของหัวเสียงเบสลดลง ผมก็เปลี่ยนมาเป็นค่อยๆ ลดจุดตัดลงทีละนิดจนมากลับมาได้จุดที่ได้เสียงดีที่สุดอยู่ใกล้ๆ กับ 60Hz คะเนจากสายตาน่าจะอยู่ราวๆ 58 – 59Hz ประมาณนี้ (ปุ่มปรับจุดตัดเป็นแบบลิเนียร์) ซึ่งจุดนี้ได้เสียงออกมาน่าพอใจมากที่สุดโดยที่ค่าอื่นๆ ยังคงอยู่ ณ จุดเดิม
ผมปล่อยให้ Kube 10 MIE ทำงานไปเรื่อยๆ จนถึงชั่วโมงที่ 100 ในอีกสามวันต่อมา ผมจึงทดลองปรับจูนอีกรอบด้วยการทดลองเปลี่ยนจุดตัดอีกทีผลลัพธ์ก็ยังคงอยู่ที่ความถี่ 58 – 59Hz เท่ากับตอนที่ผมปรับจูนไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับความถี่จุดตัดที่ให้ค่าเฉลี่ยผลรวมของเสียงออกมาลงตัวมากที่สุด ซึ่งพอเบิร์นฯ มาถึงชั่วโมงที่ 100 ผมพบว่ามีข้อดีเพิ่มเติมขึ้นมาอีกบางส่วน คือรู้สึกได้ถึง “ความเป็นตัวตน” ของแต่ละเสียงที่ยิ่งแยกตัวออกมาได้ชัดขึ้น ความคลุมเครือที่เคยรู้สึกเหมือนมีม่านหมอกปกคลุมบางๆ จางหายไปมาก ในขณะเดียวกัน เสียงทุ้มก็มีความสะอาดมากขึ้น มีการควบคุมตัวเองดีขึ้น ช่วงไหนหยุดก็หยุดได้ทันท่วงที ช่วงไหนของเพลงที่เสียงทุ้มลากยาวมันก็แสดงให้เห็นว่าเสียงทุ้มนั้นมีลีลาไปทางไหน มีการผ่อนคลายปลายเสียงทุ้มแบบไหน อากัปกิริยาของเสียงทุ้มเหล่านี้ฟังดีขึ้นมา ทำให้เห็นถึงลีลาของเสียงทุ้มที่ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ “ตั้งใจ” มิกซ์มันเข้ามาในเพลงได้ชัดขึ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของเสียงแต่ละเสียงไปได้ตลอด รู้สึกได้ว่าแต่ละเสียงมันมี “ความนิ่ง” และ “ลอยตัว” อยู่ในเวทีเสียงได้อย่างมั่นคงมากขึ้น.. อ่าา ดีกว่านี้จะเป็นยังไง? เดาไม่ถูกเลย..!!
เตรียมขยับตำแหน่ง Kube 10 MIE เพื่อไฟน์จูนเสียงของซับฯ ให้กลืนกับเสียงจากลำโพงหลักให้มากที่สุด
การขยับเคลื่อนลำโพงซับวูฟเฟอร์ไปยังตำแหน่งต่างๆ ภายในห้องก็คือการปรับจูนพารามิเตอร์หลักๆ ของเสียง ได้แก่ Phase, EQ และ Volume (โดยอ้างอิงกับตำแหน่งนั่งฟัง) ที่ออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ตัวนั้นด้วยวิธีแมนน่วลนั่นเอง ซึ่งเป็นวิธีที่มีประโยชน์สำหรับซับวูฟเฟอร์ของ KEF รุ่นนี้ เนื่องจากฟังท์ชั่นปรับ Phase ของ Kube 10 MIE ให้มาเป็นสวิทช์โยกที่มีอ๊อปชั่นให้เลือกแค่ 0 กับ 180 องศา ไม่ใช่แบบที่ปรับจูนเฟสแบบลิเนียร์ ดังนั้น การเคลื่อนตำแหน่งของ Kube 10 MIE ไปทีละนิดภายในห้องจะช่วยไฟน์จูนเฟสของเสียงที่ออกมาจากซับฯ ได้ละเอียดขึ้น
เริ่มด้วยการทดลองขยับตำแหน่งของลำโพงซับวูฟเฟอร์ไปใน 4 ทิศทาง ตามลูกศรสีแดงกับสีฟ้าในภาพข้างบน แนะนำให้ทดลองขยับตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ไปในทิศทางซ้าย–ขวา (แนวลูกศรสีฟ้า) ก่อน เพื่อค้นหาตำแหน่งที่เสียงทุ้มจากซับวูฟเฟอร์ซ้อนกันสนิท (in-phase กัน) ซึ่งขั้นตอนนี้ ถ้าสามารถปิดเสียงจากลำโพงหลักลงได้จะช่วยให้การปรับจูนตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ซ้าย–ขวาให้กลืนกันได้ง่ายขึ้น
เมื่อได้ระยะห่างซ้าย–ขวาของลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่คุณรู้สึกว่าเฟสเสียงของซับฯ ซ้อนกันสนิทแล้ว ก็ให้ทดลองขยับตำแหน่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั้งสองข้างไปในทิศทางลูกศรสีแดง โดยพิจารณาในแง่ “โทนัลบาลานซ์” ตลอดทั้งย่าน โดยฟังดูว่า เสียงทุ้มจากซับฯ กับเสียงกลาง–แหลมจากลำโพงหลักมีปริมาณที่สมดุลกันหรือเปล่า.? วิธีไฟน์จูนเพื่อหาจุดลงตัวในขั้นตอนนี้ให้ใช้วิธีปรับระดับวอลลุ่มของซับฯ ขึ้นๆ ลงๆ ทีละนิดจนได้ระดับวอลลุ่มของซับฯ ที่ฟังดูกลมกลืนกับปริมาณกลาง–แหลมที่ออกมาจากลำโพงหลักมากที่สุด เปลี่ยนเพลงแล้วก็ยังคงมีความสมดุลอยู่ คือจะทุ้มมากหรือทุ้มน้อยก็เป็นไปตามเพลง คือรู้สึกได้เลยว่าแต่ละเพลงมีปริมาณเสียงทุ้มไม่เท่ากัน หลังจากนั้นให้ทดลองปรับ “จุดตัดความถี่” ที่ซับฯ ดูอีกที โดยเพิ่ม/ลดจากจุดเดิมละนิดแล้วลองฟังดูเพื่อหาจุดที่ปริมาณของเสียงทุ้มจากซับฯ กับกลาง–แหลมของลำโพงหลักมีความสมดุลกันมากที่สุด ได้เสียงทุ้มที่คมเป็นตัวและให้แรงปะทะมากที่สุด ซึ่งขั้นตอนนี้จะช่วยทำให้ “โทนัลบาลานซ์” ระหว่างความถี่จากซับฯ และความถี่จากลำโพงหลักมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยเพิ่มคุณสมบัติทางด้าน “โฟกัส” ของเสียงที่ดีขึ้นด้วยโดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ ถือว่าเป็นขั้นตอนการไฟน์จูนอย่างละเอียด
ขั้นตอนไฟน์จูนนี้ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างยากในการฟัง แต่ถ้าเคยมีประสบการณ์ปรับจูนอะไรแบบนี้มาก่อน เมื่อได้มาลองปรับจูนลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF รุ่น Kube 10 MIE ตัวนี้แล้ว คุณจะรู้สึกเลยว่ามันจูนง่ายกว่าลำโพงซับวูฟเฟอร์สมัยก่อนเยอะเลย เหมือนกับว่าเสียงของซับฯ มันเข้าไปกลืนกับเสียงของลำโพงหลักได้ง่ายๆ ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ ต้องเริ่มด้วยการเซ็ตอัพลำโพงหลักให้ลงตัวก่อน จากนั้นก็เอาลำโพงซับวูฟเฟอร์ลงไปวางในตำแหน่งตามชาร์ตที่ผมลงไว้ข้างบนนั้น จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับลำโพงซับฯ เพื่อจูนเสียงและปรับตั้งค่าบนตัวซับฯ ไปด้วย
ผลของเสียงที่ได้หลังจากไฟน์จูนลงตัวแล้ว
ช่วงที่ทำการไฟน์จูนตำแหน่งและปรับตั้งค่าบนตัว Kube 10 MIE นั้น ผมใช้เพลงทั้ง 20 เพลงที่เตรียมไว้วนไปวนมา ซึ่งผมทำเป็น playlist ไว้ที่ TIDAL (https://tidal.com/browse/playlist/04ea5d2f-05a2-4445-b5e0-ae67d0e22964) หลังจากได้ตำแหน่งของลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ลงตัวมากที่สุดแล้ว ผลทางเสียงที่ได้ยินจากการเพิ่มซับวูฟเฟอร์ KEF ‘Kube 10 MIE’ ทั้งสองตัวเข้าไปทำงานร่วมกับ KEF ‘Q Concerto Meta’ นั้น จะปรากฏออกมาให้ได้ยินมาก–น้อยแค่ไหน ผมพบว่า คุณสมบัติทางด้าน gain ของตัวเพลงที่เอามาเล่นมีส่วนอยู่มากทีเดียว ยกตัวอย่างจาก playlist ข้างต้นนั้น ผมพบว่า เพลง The Rose ของ Amanda McBroom ที่ผมเลือกมา 2 เวอร์ชั่น ให้เสียงออกมาต่างกันมหาศาล.! เวอร์ชั่นที่ค่าย Sheffield Labs ทำเอาไว้เมื่อปี 1980 บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด Growing Up In Hollywood Town ซึ่งใน TIDAL จะถูกรวมอยู่ในอัลบั้มที่ชื่อว่า The Amanda Album นั้น เป็นเวอร์ชั่นที่มี gain ต่ำมาก เมื่อนำมาเปิดผ่านซิสเต็มที่ปรับจูนซับวูฟเฟอร์เสร็จแล้ว ปรากฏว่า ตอนเปิดเพลงนี้ ผมต้องเร่งวอลลุ่มของ 9000A ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดของเร้นจ์ที่ใช้ในการปรับจูนเสียงของซับฯ ให้กลืนกับเสียงของลำโพงหลัก นั่นคือ -12dB จึงได้ยินรายละเอียดในเพลงนี้ออกมาครบ แต่หลังจากไปทดลองเปิด–ปิด Kube 10 MIE แล้วฟังเทียบกัน ผมพบว่า กับเพลงนี้ซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย เปิดหรือปิดซับฯ เสียงแทบจะไม่ต่างกัน แสดงว่า gain สัญญาณของเพลงนี้ต่ำมาก ยิ่งเป็นความถี่ต่ำๆ ก็ยิ่งเบามากลงไปอีก
อัลบั้ม : The Amanda Albums (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Amanda McBroom
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/52418817?u)
อัลบั้ม : Portraits – The Best Of Amanda McBroom (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Amanda McBroom
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/64064193?u)
แต่พอผมทดลองเปลี่ยนมาฟังเพลง The Rose ที่เป็นเวอร์ชั่นที่บันทึกใหม่ในปี 1986 บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด Dreaming (ใน TIDAL อยู่ในอัลบั้มชุด Portraits – The Best Of Amanda McBroom) ผมต้องลดวอลลุ่มของ 9000A ลงมาอยู่ที่ -15dB จึงได้เสียงของเพลงนี้ออกมาดีที่สุด ได้ไดนามิกของเสียงที่เปิดกว้างกว่าเวอร์ชั่นที่อยู่ในอัลบั้ม The Amanda Albums มาก และคราวนี้เมื่อทดลองเปิด–ปิดซับวูฟเฟอร์ฟังเทียบกันจะรู้สึกได้เลยว่า ซับวูฟเฟอร์มีส่วนช่วยเสริมฐานเสียงของเพลงนี้ให้แน่นและมั่นคงขึ้นอย่างชัดเจน
จากปรากฏการณ์ที่พบนี้ ทำให้รู้ว่า การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้าไปในซิสเต็ม 2 แแชนเนลแทบจะไม่มีผลกับเพลงเก่าๆ ที่มี gain ต่ำๆ เลย เพราะแอมป์สมัยใหม่จะออกแบบให้มีอัตราขยายต่ำเพื่อลดความเพี้ยนในการขยายสัญญาณลง เนื่องจากสัญญาณต้นทางที่เป็นสัญญาณดิจิตัลในปัจจุบันมี gain ที่แรงกว่าสัญญาณอะนาลอกมาก จึงเห็นว่า ถ้าเป็นเพลงเก่าที่มี gain ต่ำ มักจะถูกนำไป Remastered ใหม่เพื่อ gain ที่สูงขึ้น เมื่อผมทดลองฟังจากเพลงยุคใหม่ๆ ที่บันทึกมาในยุคดิจิตัล อย่างเช่นเพลง Tap Out ของ Shenseea, เพลง DMPB ของ Yung Gravy, เพลง Birds ของ Dominique Fils-Aime และเพลง Dive ของ Ed Sheeran ผมพบว่า แค่ใช้เร้นจ์วอลลุ่มของ 9000A อยู่ระหว่าง -18dB ถึง -15dB ก็ได้เสียงที่มีพลังไดนามิกที่สวิงได้กว้างมากและได้ความดังออกมาเต็มห้อง ซึ่งลำโพงซับวูฟเฟอร์ Kube 10 MIE ที่เสริมเข้ามามีส่วนยกระดับคุณภาพเสียงให้กับเพลงเหล่านี้อย่างชัดเจน.!!
อัลบั้ม : Never Get Late Here (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Shenseea
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/363827176?u)
อัลบั้ม : Serving Country (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Yung Gravy
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/377520733?u)
อัลบั้ม : Nameless (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Dominique Fils-Aime
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/82811590?u)
อัลบั้ม : Divide (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Ed Sheeran
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/70891469?u)
เพลงใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะบันทึก gain มาแรง และจัดเต็มทั้งทางด้าน “ความถี่” และ “ไดนามิก” ซึ่งถ้านำเพลงเหล่านี้ไปเล่นบนซิสเต็มที่ใช้มาตรฐาน Hi-Fi ยุคเก่าที่อ้างอิงกับความถี่ 20Hz – 20kHz ภายใต้ไดนามิกเร้นจ์ไม่เกิน 85dB ถ้าเปิดดังๆ มักจะมีอาการโอเวอร์โหลดเกิดขึ้นกับลำโพง ถ้าเป็นลำโพงขนาดใหญ่อาการอาจจะไม่รุนแรง แค่รู้สึกว่าเสียงมันอัดๆ ดันๆ ตื้อๆ ไม่ผ่อนคลาย แต่ถ้านำมาฟังผ่านซิสเต็มยุคใหม่ๆ ที่ออกแบบมารองรับมาตรฐาน Hi-Res จะได้โทนเสียงออกไปอีกแบบ คือ จะได้ยินเสียงที่เปิดกว้างมากๆ ความถี่แผ่ออกไปได้สุดทั้งด้านแหลมและทุ้ม โดยเฉพาะย่านทุ้ม ยกตัวอย่างเพลง DMPB ของ Yung Gravy นั้น มีช่วงที่เสียงเบสลงไปต่ำมากๆ ซึ่งการเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้าไปเสริมช่วยทำให้ Q Concerto Meta สามารถถ่ายทอดความถี่ต่ำของเพลงนี้ออกมาให้ได้ยินแบบเต็มๆ ซึ่งจากการทดลองปิดซับวูฟเฟอร์เพื่อฟังเทียบกัน พบว่า พอปิดซับฯ ความถี่ต่ำที่ว่าหายไปเยอะเลย.!! เรียกว่าถ้าจะฟังเพลงนี้ให้ออกมาเหมือนที่ศิลปินตั้งใจนำเสนอจริงๆ ระบบลำโพงก็ต้องสามารถถ่ายทอดความถี่ต่ำออกมาได้ลึกจริงๆ และที่สำคัญคือ นอกจากจะต้องลงได้ลึกแล้ว ความถี่ต่ำนั้นจะต้องมีพลังดีดตัวด้วย ซึ่งเสียงทุ้มของเพลงนี้ที่ฟังผ่าน Kube 10 MIE มันมีทั้งความแน่น ลึก และขมวดตึง เก็บหัวเก็บหางเรียบร้อย ไม่มีอาการรุ่มร่ามแม้แต่น้อย
อีกเพลงที่ฟังแล้วขนลุกคือเพลง Dive ของ Ed Sheeran ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ยินเสียงทุ้มของเพลงนี้ที่รู้สึกกระชับ หนักและรุนแรงแล้ว แต่วันนี้พอมี Kube 10 MIE เข้ามาเสริม ผมพบว่าเสียงทุ้มของเพลงมันมีน้ำหนักมากขึ้น เสียงมันมีน้ำหนักและพลังงานที่กระแทกออกมาหนักหน่วงมาก ฟังแล้วรู้สึกเหมือนใครทุ่มกระสอบข้าวสารลงไปบนพื้น.! พอลองปิดซับฯ ปรากฏว่า น้ำหนักของเสียงทุ้มที่ว่ามันแผ่วลงไปทันที คือก่อนนี้ที่ยังไม่มีซับวูฟเฟอร์คู่นี้เข้ามาเสริม ก็ฟังดีแล้วนะ เสียงร้องก็ใส่อารมณ์แบบดิบๆ ยิ่งได้ซับวูฟเฟอร์คู่นี้เข้ามาเสริม ผมรู้สึกได้ว่า Ed ใส่อารมณ์เข้าไปกับเสียงร้องมากขึ้น texture ของเสียงร้องมันดิบมากขึ้น ให้อารมณ์เหมือนคนร้องจริงๆ มากขึ้น พอมีซับวูฟเฟอร์คู่นี้มาเสริม ผมรู้สึกได้ว่าทุกเสียงในเพลงนี้มันมีมวลที่เข้มข้นมากขึ้น และลีลาการเคลื่อนไหวของแต่ละเสียงก็ดูนิ่งและมั่นคงมากขึ้นด้วย ตรงนี้อาจจะไม่เยอะมากแต่รู้สึกได้
อัลบั้ม : MEGAN (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Megan Thee Stallion
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/372011425?u)
เสียงทุ้มที่ดีขึ้นมากๆ เมื่อเปิดซับวูฟเฟอร์สองตัวนี้ขึ้นมาก็คือเสียงทุ้มในเพลง Tap Out ซึ่งเป็นเสียงทุ้มที่มีรายละเอียดเยอะ คือมีทั้งความสูง–ต่ำของตัวโน๊ตเบสที่หลากหลายและลีลาของการเคลื่อนไหวของเสียงเบสที่แปรเปลี่ยนไปหลากมูพเม้นต์ ไม่ใช่เสียงทุ้มที่แช่อยู่แค่ย่านความถี่เดียว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความแม่นยำในการถ่ายทอดความถี่ต่ำของ Kube 10 MIE ได้เป็นอย่างดี เพลงนี้ปิดซับฯ แล้วแทบจะไม่อยากฟังเลย ฐานด้านล่างหายไปเยอะ.!!
แต่เสียงทุ้มที่ทำให้หูผึ่งจริงๆ เป็นเสียงทุ้มของเพลง Otaku Hot Girl ของ Megan Thee Stallion ซึ่งเป็นเสียงทุ้มที่ทั้งลงลึกและมีพลังมหาศาล ขนาดที่เปิดเพลงอยู่ในห้องที่ปิดประตูมิดชิด แต่เสียงทุ้มต่ำๆ ของเพลงนี้ยังแผ่ออกไปเขย่าโต๊ะอาหารตัวใหญ่ๆ ที่อยู่นอกห้องได้.. สุดมาก.!! ซึ่งแน่นอนว่า Kube 10 MIE ทั้งสองตัวมีส่วนช่วยเสริมอย่างชัดเจนในเพลงนี้..
อัลบั้ม : Killing Me Softly With His Song (TIDAL MAX/FLAC-24/192)
ศิลปิน : Roberta Flack
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/68711203?u)
สิ่งหนึ่งที่การเสริมซับวูฟเฟอร์เข้ามาในชุดฟังเพลง 2 แชนเนล “ต้อง” ไม่เข้าไปทำลาย แต่ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ก็คือ “รูปวง–เวทีเสียง” ของเพลงเดิม ยกตัวอย่างเพลง Killing Me Softly With His Song เวอร์ชั่นของ Roberta Flack นี้บันทึกเสียงเมื่อปี 1972 (ปล่อยออกมาตอนต้นปี 1973) มีจุดสังเกตอยู่จุดหนึ่ง คือเพลงนี้จะบันทึกเสียงกระแทกกระเดื่องกลองที่มีลักษณะเป็นเสียงทุ้มหนักๆ ทึบๆ ลงไปที่แชนเนลขวา ซึ่งชัดเจนมากและย้ำอยู่นานด้วย หลังจากเสริม Kube 10 MIE เข้าไปแล้วจัดการเซ็ตอัพ+ปรับจูนจนลงตัว พอฟังเพลงนี้ด้วยการเปิด–ปิดซับฯ แล้วฟังเทียบ พบว่า ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดซับฯ เสียงกระเดื่องกลองหนักๆ ที่ว่านั้นก็ยังคงรักษาตำแหน่งตรึงตัวอยู่ที่แชนเนลขวาได้อย่างมั่นคง และพบว่า ตอนเปิดซับฯ ผมได้ยินเสียงกระเดื่องที่มีน้ำหนักเน้นย้ำมากขึ้น มีพลังกระแทกกระทั้นมากขึ้นด้วย
อัลบั้ม : Identity Crisis (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Matt Simons
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/227052931?u)
สิ่งที่สำคัญและต้องให้ความระมัดระวังมากที่สุดในการเสริมซับวูฟเฟอร์เข้ากับชุดฟังเพลง 2 แชนเนลก็คือ ต้องพยายามรักษา “คุณภาพของเสียงกลางและแหลม” ที่ออกมาจากลำโพงหลักเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ในการปรับจูนต้องทำให้เสียงกลาง–แหลมของซิสเต็มเดิมถูกกระทบน้อยที่สุด และถ้าจะกระทบก็ต้องให้ผลลัพธ์ออกมาเชิงบวกเท่านั้น
ผมมีเพลงที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการทดสอบในประเด็นนี้อยู่เพลงหนึ่ง ชื่อว่า The Boxer ของ Simons & Garfunkel แต่เป็นเวอร์ชั่นคัฟเวอร์โดยนักร้องรุ่นใหม่ชื่อว่า Matt Simons ซึ่งลีลาของเพลงนี้ครึ่งแรกจะมีแต่เสียงพิคกิ้งกีต้าร์กับเสียงร้องที่มีลีลาคล้ายกับเวอร์ชั่นออริจินัล เวลา 1:56 นาที ของช่วงต้นที่เพลงดำเนินไปไม่มีเสียงทุ้มเข้ามายุ่งเลย เสียงกีต้าร์และเสียงร้องลอยเด่นขึ้นมาในสนามเสียง (มีเสียงเปียโนโผล่เข้ามาแซมเล็กน้อย) พอถึงนาทีที่ 1:57 จะมีเสียงทุ้มต่ำๆ เสริมเข้ามารองเป็นฐานล่างของเพลง ซึ่งเป็นเสียงทุ้มที่อวบหนา มีพลังกระแทกกระทั้น แผ่กว้างแต่มีขอบเขตและหยุดตัวลงได้ตามจังหวะลีลาของเพลง ตอนทดลองปิดซับฯ จะรู้สึกได้ว่าเสียงทุ้มต่ำๆ ที่ว่านี้มีลักษณะที่บางเบาลง ความกระชับลดลง เนื้อมวลจางลงพร้อมกับน้ำหนักกระแทกกระทั้นก็ลดลงด้วย ซึ่งตอนปิดซับฯ vs เปิดซับฯ ผมไม่พบว่ามันกระทบกับ “ไทมิ่ง” ของเพลงแต่อย่างใด แสดงว่าซับฯ Kube 10 MIE คู่นี้ให้สปีดในการตอบสนองกับสัญญาณอินพุตได้ฉับไวมาก ไม่มีอาการหน่วงช้าให้รู้สึกเลย (น่าจะเป็นอิทธิฤทธิ์ของโปรเซสเซอร์ MIE แน่ๆ)
อัลบั้ม : Winter Songs (Ice Music) (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Terje Isungset
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/3343903?u)
อัลบั้ม : Liberty (TIDAL MAX/FLAC-24/48)
ศิลปิน : Anette Askvik
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/5761228?u)
เพลงยุคใหม่ที่บันทึกเน้นแอมเบี้ยนต์กว้างๆ แนวเวิ้งว้างอย่างเพลง Fading Sun ในอัลบั้มชุด Winter Songs (Ice Music) ของ Terje Isungset กับเพลง Liberty จากอัลบั้มชื่อเดียวกันของ Anette Askvik สองเพลงนี้ได้รับประโยชน์จากการเสริมซับวูฟเฟอร์เข้าไปเต็มๆ คือพอเปิดซับฯ ทั้งสองตัวขึ้นมาทำงาน มันทำให้มวลของแอมเบี้ยนต์มีความเข้มข้นมากขึ้น แผ่คลุมอาณาบริเวณภายในห้องได้กว้างขวางมากขึ้น และที่สำคัญคือมันทำให้รายละเอียดเบาๆ ที่แทรกอยู่ในสองเพลงนี้มีโฟกัสที่คมขึ้น สามารถรับรู้ตำแหน่งได้ชัดขึ้น และรับรู้ถึงการมีตัวตนของแต่ละเสียงได้ดีขึ้น แม้ว่าแต่ละเสียงจะมีความดังที่ต่ำมากก็ตาม แต่พอเปิดใช้ซับฯ มันทำให้รับรู้ได้ว่ารายละเอียดเสียงเบาๆ เหล่านั้นมันเวียนว่ายอยู่ในสนามเสียงตลอด ไม่ได้หายไปไหน ไม่มีรอยโหว่เกิดขึ้นในเวทีเสียงเหมือนตอนปิดซับวูฟเฟอร์
สรุป
ตลอดเวลาสิบกว่าวันที่ผมทดลองเล่นกับ Kube 10 MIE คู่นี้ โดยส่วนตัวหลังจากเซ็ตอัพ+ปรับจูนจนทำงานร่วมกับ Q Concerto Meta ลงตัวแล้ว ผมพบว่า การเสริม Kube 10 MIE เข้ามาในชุดฟังเพลง 2 แชนเนลที่มี Q Concerto Meta เป็นลำโพงหลักครั้งนี้ มันให้ประสบการณ์ที่ดีกับเสียงที่ผมได้ยิน มากบ้าง–น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับเพลงที่ฟัง และผมพบว่า กับเพลงเก่าๆ ที่มี gain ต่ำๆ (เบา) ตัวซับวูฟเฟอร์จะช่วยอะไรไม่ค่อยได้ เข้าใจว่าเป็นเพราะสัญญาณความถี่ต่ำของเพลงเหล่านั้นน่าจะเบามากอยู่แล้ว ส่วนเพลงใหม่ๆ (ส่วนใหญ่ที่บันทึกออกมาช่วงยุค ’80 ขึ้นมา) จะได้ประโยชน์จากการเสริมซับวูฟเฟอร์อย่างชัดเจน
“ขนาดของลำโพงหลัก” มีส่วนมั้ย.? นี่ก็เป็นความคิดที่คาใจของผมอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมตั้งใจไว้ว่าจะทำการทดลองเปลี่ยนลำโพงหลักจาก Q Concerto Meta ไปเป็นลำโพงที่มีขนาดเล็กกว่านั้น ที่ผมตั้งใจไว้ก็คือ PSB รุ่น Alpha P3 ซึ่งเป็นลำโพงสองทางที่ใช้วูฟเฟอร์ขนาดเล็กแค่ 4 นิ้ว ตอบสนองความถี่ 57Hz – 21000Hz (+/-3dB) ผมตั้งใจจะเอาลำโพง PSB คู่นี้เข้าไปแทนที่ Q Concerto Meta แล้วจูนดูว่าจะไปกับ Kube 10 MIE ได้มั้ย.? อีกแนวทางที่อยากลองคือเอาลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางๆ เข้ามาแทน Q Concerto Meta แล้วลองจูนดูว่าจะไปกับ Kube 10 MIE ได้มั้ย.? ซึ่งลำโพงตั้งพื้นที่ผมตั้งใจว่าจะเอามาทดลองก็คือ Focal รุ่น THEVA No.3 (REVIEW) ถ้าทางตัวแทนไม่เรียกคืนกลับไปซะก่อน แต่ผมจะขอแยกรายงานผลการทดลองทั้งสองกรณีข้างต้นออกไปเป็นอีกบทความหนึ่ง เพื่อไม่ให้รีวิวตัวนี้มันยืดยาวมากเกินไป..
***********************
ราคา : 34,900 บาท / ตัว
***********************
ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ติดต่อที่
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
โทร. 02-692-5216
Line ID: @kefthailand