Hi-Res Audio ตอนที่ ๕ : โปรแกรมที่ใช้เล่นไฟล์เพลงผ่านคอมพิวเตอร์

ไม่ว่าคุณจะใช้คอมพิวเตอร์ Mac ของแอ๊ปเปิ้ล หรือ Windows PC ของไมโครซอฟท์เป็นทรานสปอร์ตสำหรับเล่นไฟล์เพลง และไม่ว่าไฟล์เพลงที่คุณต้องการเล่นจะเป็นไฟล์ไฮเรซฯ ฟอร์แม็ตใด หรือจะแค่ระดับ CD quality ปัจจัยที่ 5 ที่คุณต้องมี นอกจาก

(1) ไฟล์เพลง
(2) คอมพิวเตอร์
(3) external DAC และ
(4) สาย USB แล้ว

สิ่งนั้นก็คือ “ซอฟท์แวร์โปรแกรม” หรือแอพลิเคชั่นที่ใช้ในการเล่นไฟล์เพลงนั่นเอง..

หน้าที่ของโปรแกรม หรือแอพลิเคชั่น ที่ใช้เล่นไฟล์เพลง

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงต่างๆ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “หน้าที่” ของโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงกันก่อน ซึ่งโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงระดับพื้นๆ ทั่วไปจะมีหน้าที่หลักๆ อยู่ 2 ประการแรก นั่นคือ

1. เล่นไฟล์เพลง กับ
2. จัดการกับข้อมูลจำเพาะ (metadata) ของไฟล์เพลง

ในขณะเดียวกัน “โปรแกรม” หรือแอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงระดับไฮเอ็นด์ฯ มักจะบรรจุความสามารถมากขึ้นไปอีกหลายส่วน อาทิ ฟังท์ชั่นท์ที่ใช้ปรับตั้งการทำงานของคอมพิวเตอร์ให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด (Optimazation) ไปจนถึงระดับที่มีวงจร DSP ฝังเข้ามาในโปรแกรมซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถพิเศษอื่นๆ เข้าไปให้กับตัวโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงนั้นๆ อาทิเช่น ฟังท์ชั่นที่ใช้ในการปรับจูน/ชดเชยสภาพอะคูสติกของห้องฟัง (Room Correction Optimizer) เป็นต้น

1: เล่นไฟล์เพลง

ความหมายของคำว่า “เล่นไฟล์เพลง” สำหรับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลง อธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คือ ความสามารถของโปรแกรมที่จะ “รู้จัก” กับไฟล์เพลงรูปแบบต่างๆ และความสามารถในการ “ดึง” ไฟล์เพลงที่อยู่บนแหล่งเก็บไฟล์เพลงต่างๆ เข้ามาเล่นบนโปรแกรมนั้นๆ ซึ่งแต่ละโปรแกรมมีความสามารถไม่เท่ากัน โปรแกรมที่ดีกว่าก็คือโปรแกรมที่รู้จักกับรูปแบบของไฟล์เพลงมากกว่า และสามารถดึงไฟล์เพลงรูปแบบต่างๆ มาเล่นได้มากกว่านั่นเอง

ภาษาทางการเขาว่า โปรแกรมที่ดี ก็คือโปรแกรมที่ compatible กับรูปแบบของไฟล์เพลงได้มากกว่า ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า ครอบคลุมการเล่นไฟล์เพลงได้มากกว่า

ไฟล์เพลงดิจิตัลทุกรูปแบบที่คุณรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น WAV, FLAC, ALAC, MP3 ฯลฯ ไปจนถึง DSF แท้จริงแล้ว ตัวย่อเหล่านั้นไม่ใช่ประเภทของสัญญาณเสียง แต่เป็น แพ็คเก็จหรือพูดง่ายๆ ก็คือ “กล่อง” หรือ “หีบ” สำหรับใส่สัญญาณเสียงดิจิตัล PCM และ DSD นั่นเอง

ทำไมต้องมีกล่องหรือแพ็คเก็จ.?

เนื่องจากว่า ระบบปฏิบัติการณ์ของคอมพิวเตอร์ ทั้ง Windows และ OS X ต่างก็ไม่รู้จัก PCM และ DSD ที่อยู่ในรูปของสัญญาณเสียง คือถ้าเอาสัญญาณ PCM หรือ DSD ป้อนเข้าไปในคอมพิวเตอร์ตรงๆ คอมพิวเตอร์จะมองไม่เห็นสัญญาณดิจิตัลเหล่านั้น ซึ่งคุณก็จะไม่สามารถดึงสัญญาณดิจิตัลเหล่านั้นมาเล่นให้เป็นเพลงได้ เหตุผลที่มีการออกแบบกล่องหรือแพ็คเก็จบรรจุสัญญาณ PCM และ DSD ออกมาก็เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์สามารถมองเห็นสัญญาณ PCM และ DSD ผ่านทางกล่องหรือแพ็คเก็จเหล่านี้นี่เอง

*ดูเรื่อง ไฟล์เพลง (format) ต่างๆตอนที่ 3 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมที่ลิ้งค์นี้ | Link

หน้าที่หลักของโปรแกรม หรือแอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงอย่างแรกก็คือ ทำการ แตก” (แบบเดียวกับการ unZip นั่นแหละ) เจ้ากล่องหรือแพ็คเก็จที่หุ้มห่อสัญญาณ PCM/DSD ออกไป ให้เหลือแต่สัญญาณ PCM/DSD เพียวๆ แล้วจัดส่งออกไปทางเอ๊าต์พุตของคอมพิวเตอร์เพื่อให้ DAC ทำหน้าที่แปลงสัญญาณ (decode) ดิจิตัล PCM/DSD นั้นให้ออกมาเป็นสัญญาณเสียงอะนาลอกที่มนุษย์เราสามารถรับฟังได้ต่อไป

2: จัดการกับข้อมูลเพลง (metadata)

สิ่งที่บรรจุอยู่ในกล่องหรือแพ็คเก็จที่เก็บสัญญาณเสียงดิจิตัลแต่ละไฟล์จะประกอบด้วย

1) สัญญาณ PCM หรือ DSD กับ
2) ข้อมูลที่กำกับมากับไฟล์เพลงนั้นๆ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า metadata

นอกจากตัวโปรแกรม หรือแอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงจะมีหน้าที่แตกแพ็คเก็จไฟล์ต่างๆ แล้ว มันยังมีหน้าที่ในการดึงเอาข้อมูลจำเพาะ หรือ metadata ของไฟล์แต่ละไฟล์ออกมาแสดงด้วย ซึ่งข้อมูล metadata ที่อยู่ในแพ็คเก็จแต่ละไฟล์จะประกอบไปด้วย ชื่อเพลง (song title), ชื่อศิลปิน (artist name), ชื่ออัลบั้ม (album name), ลำดับของเพลง (track no.) และความยาวของเพลงนั้น (แสดงเป็น นาทีที่ตามด้วย วินาทีทศนิยมสองตำแหน่ง)

ลักษณะการทำงานของโปรแกรมเล่นไฟล์เพลง


เมื่อไฟล์เพลงที่ดึงเข้าไปในโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงถูก “แตก” แพ็คเก็จออกมา ส่วนที่เป็นสัญญาณ PCM/DSD ก็จะไปผ่านขั้นตอนการส่งไปที่เอ๊าต์พุต โดยตรง (native transfer) หรืออาจจะถูกดึงเข้าไปผ่านขั้นตอนปรับแต่งด้วย DSP ตามที่ผู้ใช้ปรับตั้งไว้ที่โปรแกรมก่อนส่งออกไป พร้อมๆ กันนั้น ข้อมูลจำเพาะส่วนที่เป็น metadata ที่กำกับมากับสัญญาณนั้นก็จะถูกนำไปแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ ณ ตำแหน่งที่โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงแต่ละตัวออกแบบหน้าตาหลอกๆ (skin) เอาไว้ ทำให้เรารู้ว่าตัวโปรแกรมกำลังเล่นแทรคไหน เล่นไปถึงนาทีที่เท่าไรแล้ว เพลงที่เหลือที่รอเล่นอยู่ใน playlist มีอีกกี่แทรค ภาพหน้าปกของอัลบั้มที่กำลังฟังมีหน้าตาเป็นอย่างไร ฯลฯ

หน้าตา (skin) ของโปรแกรม roon บนจอคอมพิวเตอร์

หน้าตา (skin) ของโปรแกรม A+ บนจอคอมพิวเตอร์


นอกจากนั้น โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบางตัวยังสามารถเพิ่มเติมฟังท์ชั่นอื่นๆ เข้าไปได้อีก อาทิ เพิ่มฟังท์ชั่นที่ช่วยค้นหาเพลง หรือจัดกลุ่มของเพลงแยกตามคุณลักษณะต่างๆ ฯลฯ

Sample Rate Conversion

โปรแกรม หรือแอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงระดับไฮเอ็นด์ฯ มักจะมีความสามารถในการ เปลี่ยนแปลงอัตราแซมปลิ้งเรตของสัญญาณอินพุต” (ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า Sample Rate Conversion) ให้ออกมาเป็นสัญญาณที่มีอัตราแซมปลิ้งเรตสูงขึ้นกว่าต้นฉบับ (เรียกว่า Up Sample Rate) หรือต่ำลงกว่าต้นฉบับ (เรียกว่า Down Sample Rate) ก่อนจัดส่งออกไปทางเอ๊าต์พุตให้กับ DAC โดยเหตุผลก็เพื่อปรับเปลี่ยนให้ไฟล์เพลงนั้นสามารถใช้งานร่วมกับ DAC ตัวนั้นๆ ได้ เนื่องจาก DAC แต่ละตัวมีความสามารถในการรองรับสัญญาณเพลงได้ไม่เท่ากัน อาทิเช่น DAC บางตัวรองรับสัญญาณได้สูงสุดแค่ 24/96 ในขณะที่บางตัวรองรับได้สูงถึง 32/384 และโดยมากแล้ว แต่ละอินพุตของ DAC ตัวเดียวกัน ก็อาจจะมีความสามารถในการรองรับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน อาทิเช่น ทางช่อง Coaxial อาจจะรองรับได้สูงสุดแค่ 24/96 ในขณะที่ช่อง USB อาจจะรองรับได้สูงถึง 24/192 อย่างนี้เป็นต้น

สมมุติว่า ที่ช่องอินพุต USB ของ DAC ตัวหนึ่งรองรับสัญญาณได้แค่ 24/96 ในขณะที่ตัวสัญญาณ PCM ที่อยู่ในไฟล์เพลงมีสเปคฯ สูงถึง 24/192 กรณีนี้ ตัวโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่ดีจะทำการ Down Sample สัญญาณต้นฉบับ 24/192 ให้ลงมาเป็นสัญญาณ 24/96 ก่อนที่จะส่งออกไปให้กับ DAC

การส่งผ่านสัญญาณเสียง
(Data Transfer)

นอกจากนี้ โปรแกรม หรือแอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงบางตัว ยังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งพ่วงมาด้วย นั่นคือ จัดการรูปแบบของ “การลำเลียงสัญญาณ” PCM/DSD จากคอมพิวเตอร์ไปที่ DAC ในลักษณะที่ทำให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุด

เนื่องจากภายในคอมพิวเตอร์มีส่วนประกอบของคอมโพเน้นต์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่อยู่ในรูปของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และที่อยู่ในรูปของซอฟท์แวร์ และเนื่องจาก คอมพิวเตอร์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เล่นไฟล์เพลงแบบเน้นคุณภาพเสียงตั้งแต่ต้น ลักษณะการลำเลียงสัญญาณ PCM ไปบนฮาร์ดแวร์โดยการควบคุมของซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์จึงมักจะมีส่วนทำให้คุณภาพของไฟล์เพลงด้อยลง เพื่อจัดการกับปัญหานี้ จึงได้มีการออกแบบซอฟท์แวร์พิเศษขึ้นมาประเภทหนึ่ง เรียกว่า ASIO (Audio Stream Input/Output) เพื่อทำให้โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงสามารถส่งสัญญาณ PCM ไปที่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เป็น sound card (ถ้าใช้ DAC ที่แยกมานอกคอมพิวเตอร์ก็เรียกว่า external DAC) ได้โดยตรง สัญญาณเสียงที่ส่งไปถึง DAC ก็จะยังคงเหมือนกับต้นฉบับที่อยู่ในไฟล์เพลงทุกประการ ไม่ต้องไปผ่านการจัดการของระบบปฏิบัติการณ์ภายในคอมพิวเตอร์ (kernels mixer) ที่ทำหน้าที่ปรับแต่งเสียงจากโปรแกรมต่างๆ ก่อนจะส่งออกไปที่ซาวนด์การ์ด (DAC)

กระบวนการทางเทคนิคที่ใช้โปรแกรม ASIO เข้ามาควบคุมลักษณะการส่งผ่านสัญญาณเข้าสู่ DAC แบบนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Asynchronous data transfer โดยมี Clock เป็นเครื่องมือสำคัญ

(ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Sparkfun.com)


ซึ่งเทคนิค Asynchronous data transfer นี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า bit-perfect นั่นคือ ทำให้ bit ข้อมูลสัญญาณดิจิตัลจากแหล่งเก็บไฟล์เพลง ถูกลำเลียงจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ไปถึง DAC โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย คุณภาพของสัญญาณดิจิตัลจึงเหมือนกับต้นฉบับมากที่สุด เป็นการส่งผ่านสัญญาณเสียงที่มีปัญหา jitter ต่ำที่สุด และเป็นเทคนิคที่วงการคอมพิวเตอร์ ออดิโอระดับไฮเอ็นด์ยอมรับโดยทั่วกันในปัจจุบัน

* ลิ้งค์แนะนำการทำให้โปรแกรมเล่นไฟล์เพลง Foobar2000 เล่นไฟล์เพลงในลักษณะที่เป็น bit-perfect | Link

ตัวอย่างโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้กัน

ในโลกนี้มีโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงจำนวนมาก แต่ที่นิยมใช้กันจริงๆ มีอยู่ไม่มากนัก โปรแกรมใหม่ๆ มักจะใช้งานง่ายกว่าโปรแกรมเก่าๆ ที่ไม่ได้พัฒนามาเรื่อยๆ

โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงต่างๆ ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย


iTunes

เป็นโปรแกรมพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ Mac ซึ่งแอ๊ปเปิ้ลออกแบบมาให้ใช้ฟรี มีทั้งเวอร์ชั่นที่รองรับระบบปฏิบัติการณ์ของ OS X, iOS และเวอร์ชั่นที่รองรับระบบปฏิบัติการณ์ Windows ด้วย

ข้อดีของโปรแกรม iTunes นอกจากฟรีก็คืออินเตอร์เฟซสวย ใช้ง่าย มีฟังท์ชั่นริปเพลงจากแผ่นซีดีในตัว ส่วนข้อด้อยที่สาหัสสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ก็คือ ไม่รองรับไฟล์เพลง FLAC กับ DSD และยังมีข้อจำกัดในการรองรับสัญญาณที่มีแซมปลิ้งเรตสูงกว่า 48kHz อีกด้วย

Foobar2000

มีแต่เวอร์ชั่นที่ใช้บน Windows อย่างเดียว เป็น freeware ที่มีกลุ่มนักพัฒนาโปรแกรมช่วยกันพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ฟรี

อินเตอร์เฟซอาจจะไม่สวย โดยรวมๆ ยังดูเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ตัวโปรแกรมก็ใช้ไม่ยากมากถ้าผู้ใช้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง มีฟังท์ชั่นพิเศษให้เลือกใช้มาก ผู้ใช้สามารถเลือก component หรือฟังท์ชั่นพิเศษเข้ามาเสริมได้ตามต้องการ ซึ่งมีคอมโพเน้นต์ใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ

JRiver Media Center (JRMC)

เป็นหนึ่งในโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่มีคนนิยมใช้มากที่สุด มีทั้งเวอร์ชั่นที่ใช้กับ Windows, Mac และ Linux แต่บน Mac ไม่ค่อยได้รับความนิยม ไม่ใช่โปรแกรมฟรี ต้องซื้อในราคา 39.98 เหรียญยูเอส ถึง 69.98 เหรียญยูเอส แล้วแต่เงื่อนไข

ข้อดีของโปรแกรมตัวนี้คือมีฟังท์ชั่นให้ปรับใช้มากมายและหลากหลาย จัดการคอนเท็นต์ได้ทุกประเภท ทั้งภาพนิ่ง, วิดีโอ และเสียง มีความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงได้หลายประเภททั้งสเตริโอและมัลติแชนเนล รวมถึงเล่นได้ทุกฟอร์แม็ต ทั้งตระกูล PCM และ DSD ทั้งไฟล์บีบอัดคุณภาพต่ำไปจนถึงไฟล์ Lossless คุณภาพสูง และที่ถูกใจมากสำหรับคนที่ชอบเล่นไฟล์ DSD ก็คือว่า เมื่อใช้งานโปรแกรม JRMC ตัวนี้บนคอมพิวเตอร์ Windows จะมีอ๊อปชั่นให้เล่นไฟล์ DSD แบบเนทีฟ (bitstream) มาให้ด้วย นอกเหนือจากการเล่นด้วยมาตรฐานของกรรมวิธีแบบ DoP (DSD over PCM)

Roon

มีทั้งเวอร์ชั่นที่รองรับ Mac, Windows และ Linux พร้อมแอพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา Android กับ iOS ให้ใช้ฟรี ไม่ใช่โปรแกรมฟรี มีให้ลองเล่น 14 วัน ราคาค่าใช้อยู่ที่ 120 เหรียญยูเอสแบบรายปี หรือ 499 เหรียญยูเอสแบบตลอดชีพ

เป็นโปแกรมเล่นไฟล์เพลงที่เขียนโดยผู้ให้กำเนิด Sooloos ที่มีความเชี่ยวชาญมากทางด้านระบบจัดการกับข้อมูลเพลง จึงทำให้โปรแกรม Roon ตัวนี้มีความแตกต่างไปจากโปรแกรมเล่นเพลงบนคอมพิวเตอร์ตัวอื่นค่อนข้างมากในแง่ของการแสดงข้อมูลของไฟล์เพลงที่เล่น คือนอกจากตัวโปรแกรมจะแสดงชื่อเพลง, ชื่อศิลปิน, ชื่ออัลบั้ม, ภาพปกอัลบั้ม และความยาวของเพลงอย่างที่โปรแกรมตัวอื่นๆ ส่วนใหญ่ทำอยู่แล้ว เมื่อคุณใช้งานโปรแกรม Roon ตัวนี้ขณะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต มันยังไปเซิร์สหาข้อมูลส่วนที่เป็นเนื้อเพลงที่คุณกำลังฟัง, บทวิจารณ์เพลงที่คุณกำลังฟัง รวมถึงประวัติของศิลปินเจ้าของบทเพลงที่คุณกำลังฟัง และอื่นๆ เหล่านี้มาให้คุณคลิ๊กอ่านบนจอไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งเป็นฟังท์ชั่นที่ถูกอกถูกใจนักฟังเพลงประเภทมิวสิคเลิฟเวอร์อย่างมาก นอกจากนั้น โปรแกรมตัวนี้ยังมีอ๊อปชั่นในการปรับตั้งเพื่อใช้งานร่วมกับ external DAC ให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีมากๆ อีกด้วย

โปรแกรม Roon รองรับการเล่นไฟล์ได้หลากหลายฟอร์แม็ตและครบทั้งตระกูล PCM และ DSD

Audirvana Plus

เรียกย่อๆ ว่า A+ มีเฉพาะเวอร์ชั่นที่ใช้กับ OS X เท่านั้น ไม่ใช่โปรแกรมฟรี ค่าใช้จ่ายตลอดชีพเท่ากับ 74 เหรียญยูเอส

จุดเด่นของโปรแกรม A+ ตัวนี้อยู่ที่ยูสเซอร์ อินเตอร์เฟซที่เรียบง่าย สะอาดตา และออกแบบ+จัดวางเมนูไว้ในที่ที่ค้นหาง่าย เข้าถึงได้เร็ว ไม่ซับซ้อน มีความสามารถเล่นไฟล์เพลงได้ครบทั้ง

ตระกูล PCM และ DSD ครบทุกระดับเรโซลูชั่นของไฟล์ และมีฟังท์ชั่นให้ปรับแต่งเพื่อเน้นคุณภาพเสียงมาด้วย

ปัจจุบัน โปรแกรม Audirvana Plus มีแอพฯ รีโมทบน iDevice ที่ใช้ควบคุมสั่งงานการเล่นไฟล์เพลงมาให้ ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการเล่นไฟล์เพลงจาก iPad/iPod หรือ iPhone ได้โดยไม่ต้องควบคุมผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกต่อไป เพิ่มความสะดวกในการใช้งานขึ้นมาอีกเยอะ (โหลดแอ๊พฯ จาก App Store)

Amarra

เป็นโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่พัฒนาโดยบริษัทที่ออกแบบซอฟท์แวร์สำหรับสตูดิโอบันทึกเสียงที่ชื่อว่าบริษัท Sonic Studio รองรับเฉพาะ OS X เช่นเดียวกับ A+ ไม่ใช่โปรแกรมฟรี มีเวอร์ชั่นให้เลือกถึง 4 เวอร์ชั่น เรียงจากเล็กไปหาใหญ่คือ Amarra HiFi, Amarra, Amarra Symphony และ Amarra sQ และกำลังจะมีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเวอร์ชั่น นั่นคือ Amarra สำหรับ TIDAL แต่ละเวอร์ชั่นต่างกันที่ความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงและฟังท์ชั่นที่ให้มา ค่าใช้จ่ายจึงมีอยู่ 4 ระดับ ไล่ตั้งแต่ 29.99 เหรียญยูเอสสำหรับเวอร์ชั่นต่ำสุด ไปจนถึงเวอร์ชั่นสูงสุดที่มีราคา 649 เหรียญยูเอส

จุดเด่นของโปรแกรม Amarra อยู่ที่ฟังท์ชั่นที่ให้มาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฟังท์ชั่นที่ใช้กับเสียงเป็นหลัก ถอดแบบมาจากฟังท์ชั่นปรับแต่งที่ใช้ในสตูิดิโอนั่นเอง ในเวอร์ชั่นสูงๆ จะมีฟังท์ชั่นสำหรับใช้ในการปรับจูนเสียงที่สัมพันธ์กับห้องฟังมาให้ด้วย เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ถอดแบบมาจากโปรแกรมที่ใช้ในสตูดิโอสำหรับมืออาชีพ หน้าตาของโปรแกรมจึงยังดูคล้ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การจัดวางเมนูใช้งานค่อนข้างซับซ้อน สามารถผูกติดกับ Library ของ iTunes ได้เพื่อให้การค้นหาเพลงมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

จริงๆ แล้วยังมีโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงอีกมาก แต่ทั้ง 6 โปรแกรมที่ยกมาแนะนำข้างต้นนี้เป็นโปรแกรมที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของวงการ /
***************
ย้อนกลับไปอ่าน –
Hi-Res Audio ตอนที่ ๑ : เทรนของการฟังเพลงด้วยไฟล์ดิจิตัล
Hi-Res Audio ตอนที่ ๒ : ทำความรู้จักกับ “ไฮ-เรโซลูชั่น ออดิโอ”
Hi-Res Audio ตอนที่ ๓ : ไฟล์เพลงรูปแบบ (Format) ต่างๆ
Hi-Res Audio ตอนที่ ๔ : การฟังเพลงด้วยไฟล์ผ่านคอมพิวเตอร์

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า