เพิ่ม “ลำโพงซับวูฟเฟอร์” เข้ามาใน “ชุดฟังเพลง สเตริโอ 2 แชนเนล” ตอนที่ 2 : การเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมกับลำโพงหลัก

เนื่องจากหน้าที่หลักของลำโพงซับวูฟเฟอร์ก็คือ สร้างความถี่เสียงในย่านต่ำ ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มตั้งแต่ 120Hz ลงไปจนถึงต่ำกว่า 20Hz แต่ก็มีลำโพงซับวูฟเฟอร์บางส่วนที่ถูกออกแบบมาให้สร้างความถี่สูงกว่า 120Hz ขึ้นไป บางตัวสูงถึง 200Hz ก็มี..

เพราะเหตุใด ลำโพงซับวูฟเฟอร์จึงถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเฉพาะความถี่ต่ำ.? ก็เพราะความถี่ต่ำมีลักษณะของความยาวคลื่นที่กว้างกว่าความถี่ในย่านกลางและแหลมมาก ความถี่ยิ่งต่ำ – ความยาวคลื่นก็จะยิ่งกว้าง ซึ่งการที่จะออกแบบลำโพงให้สามารถตอบสนองความถี่ตั้งแต่ระดับสูงคือ 20kHz หรือ สองหมื่นเฮิร์ตลงไปจนถึงความถี่ต่ำที่ระดับ 20Hz ที่มีความดังเท่ากัน ให้อยู่ภายในลำโพงคู่เดียวกันนั้น ในทางปฏิบัติต้องใช้ไดเวอร์ที่มีขนาดต่างกันเยอะมากระหว่างทวีตเตอร์, มิดเร้นจ์ และวูฟเฟอร์ ที่จะเอามาใช้ออกแบบให้ช่วยกันสร้างความถี่เสียงตลอดทั้งย่านออกมา ความยากในการออกแบบอยู่ที่การปรับจูนให้ไดเวอร์แต่ละส่วนทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนมากที่สุด ซึ่งความถี่ส่วนที่เป็นปัญหาในปรับจูนให้กลมกลืนกับความถี่อื่นๆ มากที่สุดก็คือ ความถี่ต่ำนี่เอง

วิธีที่จะทำให้ ลำโพงคู่หนึ่งสามารถถ่ายทอดเสียงที่มีความกลมกลืนกันตั้งแต่เสียงแหลมลงมาถึงเสียงทุ้มได้ก็คือ ลดความดังของความถี่ต่ำให้ค่อยๆ เบาลง ซึ่งจะทำให้ผู้ออกแบบลำโพงสามารถจัดการกับความถี่ในย่านกลางกับแหลมที่มีคุณภาพได้เต็มที่มากขึ้น ถ้าผู้ออกแบบต้องการทำให้ลำโพงของเขาสามารถสร้างความถี่ต่ำที่มีความดังสูงๆ เขาต้องจัดการกับแรงสั่นของตัวตู้ให้ดี เพื่อไม่ให้แรงสั่นของตัวตู้ที่เกิดจากการขยับตัวสร้างความถี่ต่ำที่ระดับความดังสูงๆ ของวูฟเฟอร์แผ่กระจายมารบกวนการทำงานของตัวมิดเร้นจ์และทวีตเตอร์ มิฉนั้นจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของเสียงกลางและเสียงแหลม ด้วยเหตุนี้ ลำโพงที่ให้เสียงทุ้มที่ดีมากๆ (ลงได้ลึก และมีความดังมากพอ) จึงมักจะเป็นลำโพงที่มีตัวตู้ขนาดใหญ่ น้ำหนักเยอะ (เพราะตู้ต้องแกร่ง) และสุดท้ายจะส่งผลไปถึงราคาที่สูงมาก.!!

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้ผลิตลำโพงส่วนใหญ่จึงมักจะลดระดับความสามารถในการสร้างความถี่ต่ำลงไปบางส่วน เพื่อไม่ให้ต้นทุนในการออกแบบและผลิตลำโพงถีบตัวสูงมากเกินไปและไม่ให้กระทบกับคุณภาพของเสียงในย่านกลางกับแหลม สำหรับคนที่อยากได้ลำโพงที่สามารถถ่ายทอดความถี่ต่ำที่มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับความถี่ในย่านกลางและแหลม แต่ไม่สามารถซื้อลำโพงไฮเอ็นด์ตัวใหญ่ๆ ได้ พวกเขาจะหันมาใช้วิธีหาลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริมกับลำโพงหลักที่มีขนาดปานกลางแทน นี่คือเหตุผลที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ถูกกำหนดให้ทำงานเฉพาะในย่านความถี่ต่ำมากๆ ตามชื่อของมัน.!!

การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ากับชุดฟังเพลง มีได้มีเสีย..!!

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การนำลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริมเพิ่มเติมในชุดฟังเพลง 2 แชนเนลนั้น ผลลัพธ์นั้นมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ทางแรกคือ ได้เสียงโดยรวมที่ ดีมากขึ้น” หรืออีกทางก็คือ อาจจะทำให้เสียงโดยรวมของซิสเต็มเดิมของคุณ “แย่ลง” ก็เป็นไปได้.!

แม้ว่า โดยพื้นฐานแล้ว การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้าไปในชุดฟังเพลง 2 แชนเนล ถ้าคุณทำทุกอย่างถูกต้อง (เลือกซับวูฟเฟอร์ดี + ปรับจูนได้ลงตัว) จะทำให้คุณได้ยินความถี่ต่ำในส่วนที่ลำโพงหลักให้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมา แต่ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้อง ทำให้ความถี่ต่ำที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์สร้างขึ้นมานั้น ไม่ผสมกลมกลืนกับความถี่ในย่านกลางและแหลมของลำโพงหลักจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว สุดท้าย ความถี่ต่ำที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์สร้างขึ้นมานั้น แทนที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพ แต่จะกลับกลายเป็นไปทำลายคุณภาพของความถี่ในย่านกลางและแหลมที่ลำโพงหลักสร้างออกมาให้แย่ลงไปได้ ซึ่งถ้าหลังจากคุณเอาลำโพงซับวูฟเฟอร์มาเพิ่มในซิสเต็มแล้ว เมื่อไรก็ตามที่คุณพบว่า ตอน “ปิดซับวูฟเฟอร์” แล้วเสียงของซิสเต็มออกมา “ดีกว่า” ตอน “เปิดซับวูฟเฟอร์” นั่นก็แสดงว่า มีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นซะแล้ว.!

หลังจากที่คุณได้ลำโพงซับวูฟเฟอร์มาแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือหาตำแหน่ง จัดวางและทำการ ปรับจูนลำโพงซับวูฟเฟอร์นั้นให้ทำงานลงตัวกับลำโพงหลัก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีโอกาสที่แม้จะได้ทำการปรับจูนอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลลัพธ์ของเสียงที่ได้มาก็อาจจะไม่ดีได้เหมือนกัน ถ้าลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่คุณเลือกมานั้นมีคุณสมบัติที่ ไม่เหมาะสมกับลำโพงหลักที่คุณใช้อยู่ ความหมายก็คือว่า ความไม่เหมาะสมระหว่างลำโพงซับวูฟเฟอร์กับลำโพงหลักที่เกิดขึ้นนั้น จะไม่สามารถใช้การปรับจูนเข้ามาชดเชยได้ แม้ว่าตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์จะมี เครื่องมือที่ใช้ในการปรับจูนติดตั้งมาให้ก็ตาม นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเอาลำโพงซับวูฟเฟอร์มาเสริมกับชุดฟังเพลง

ระหว่าง “ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ vs ลำโพงขนาดเล็ก+ซับวูฟเฟอร์
ควรจะเลือกแนวทางไหน.? ถ้าต้องการอัพเกรดคุณภาพของเสียงทุ้ม

นี่เป็นแง่มุมหนึ่งที่ควรพิจารณาเมื่อพบว่าคุณมีความต้องการ อัพเกรดคุณภาพของเสียงทุ้มจากลำโพงที่คุณใช้อยู่เดิมให้ดีขึ้น

สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนจะออกไปหาลำโพงซับวูฟเฟอร์มาเสริมเบส นั่นคือ ตรวจสอบ สเปคฯ ของลำโพงที่คุณใช้งานอยู่ว่ามีขนาดเล็กไป, ใหญ่ไป หรือพอดีๆ แล้ว ซึ่งวิธีง่ายๆ ในการประเมินก็ให้ดู ขนาดของตัวลำโพงที่คุณใช้อยู่ เทียบกับ ขนาดพื้นที่ห้องที่คุณใช้งานลำโพงคู่นั้น ถ้าวิธีนี้ยังไม่มั่นใจผลการประเมิน ก็ให้ใช้วิธีเปิดเพลงอะไรก็ได้ที่คุณชอบฟังแล้วเร่งวอลลุ่มที่แอมป์ให้ได้ความดังในระดับที่คุณฟังปกติ จากนั้นให้ตอบตัวเองให้ได้ว่า เสียงของลำโพงหลักที่ได้ยิน ณ จุดนั้น คุณพอใจกับ ปริมาณของเสียงทุ้ม” ของมันแล้วยัง.? ถ้าคำตอบของคุณคือ ยังไม่พอใจความเป็นจริง ณ ตอนนั้นเป็นไปได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือลำโพงที่คุณใช้อยู่มี ขนาดเล็กเกินไปกับอีกอย่างก็คือ ลำโพงที่คุณใช้อยู่มีขนาด พอดีกับห้องแล้วแต่รสนิยมของคุณชอบเสียงทุ้มที่มีปริมาณมากกว่านั้น แต่ถ้าคุณฟังแล้วตอบตัวเองว่า ฉันพอใจกับปริมาณเสียงทุ้ม ณ ตอนนี้แล้วทุกอย่างก็จบ คุณไม่ต้องไปขวนขวายทำอะไรเพิ่ม แต่ถ้าคำตอบของคุณคือ รู้สึกว่า เสียงทุ้มมากเกินไป อยากจะลดปริมาณเสียงทุ้มลง วิธีแก้ปัญหาสำหรับกรณีนี้ก็คือ เปลี่ยนลำโพงที่มีขนาดเล็กลง

กรณีที่คุณพบว่า ลำโพงที่ใช้อยู่มีขนาดเล็กเกินไป ถ้าต้องการเพิ่ม ปริมาณของเสียงทุ้มให้มากขึ้น ในทางปฏิบัติแล้ว คุณมีทางเลือก 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ เปลี่ยนไปใช้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น เปลี่ยนจากลำโพงวางหิ้งขนาดเล็กไปเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ กับอีกแนวทางก็คือ เลือกหาลำโพงซับวูฟเฟอร์มาใช้งานร่วมกับลำโพงเล็กคู่เดิมของคุณเพื่อเพิ่มความถี่ต่ำให้มากขึ้น

ความแตกต่างของทั้งสองทางเลือกนี้ คืออะไร.?

ตัวแปรที่ใช้พิจารณาในการเลือกว่าควรจะใช้แนวทางไหน ระหว่างทั้งสองแนวทางข้างต้นก็คือ ขนาดของห้องฟังกับ รสนิยมความชอบส่วนตัวซึ่งจะขอพูดถึงกรณีของขนาดห้องก่อน คือถ้าห้องฟังของคุณมีขนาดใหญ่ แต่ลำโพงที่ใช้อยู่เดิมมีขนาดเล็กเกินไป เสียงทุกย่านที่ออกมามีลักษณะที่บาง ไม่อิ่มหนา สาเหตุก็เพราะว่าลำโพงไม่สามารถปั๊มเสียงทุกความถี่ให้ออกมาแผ่เต็มห้องได้ พอเปิดดังมากเพื่อให้ได้เสียงออกมาเต็มห้อง เสียงที่ออกมาก็จะมีลักษณะที่แผดจ้าไม่น่าฟัง สาเหตุเพราะลำโพงรับความดังของเสียงระดับนั้นไม่ไหว กรณีนี้คุณต้องเลือกวิธีแรก คือเปลี่ยนไปใช้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้เหมาะสมกับขนาดของห้องฟังซะก่อน ในทางกลับกัน ถ้าห้องของคุณมีขนาดเล็ก ลำโพงที่เหมาะสมก็จะมีขนาดเล็กตามขนาดห้อง ซึ่งลำโพงขนาดเล็กจะให้คุณสมบัติทางด้านมิติเวทีเสียงและความกังวานของหางเสียงกลางแหลมที่ดีน่าพอใจ แต่เนื่องจากตัวบอดี้ของลำโพงมีขนาดเล็ก ไดเวอร์ก็เล็ก จึงมีผลให้เนื้อเสียงในย่านกลางลงมาทุ้มขาดความอิ่มแน่น กรณีนี้ถ้าคุณต้องการเพิ่มความอิ่มแน่นของเสียง แนะนำให้ใช้ทางเลือกที่สอง คือหาลำโพงซับวูฟเฟอร์มาเสริม..

ทำไมจึงไม่แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ลำโพงที่ใหญ่ขึ้น กรณีที่ห้องมีขนาดเล็ก.?

เหตุผลก็เพราะว่า ลำโพงที่ใหญ่ขึ้นจะให้เสียงในย่านกลางลงมาทุ้มที่มีมวลหนาแน่นมากขึ้นก็จริง แต่เนื่องจากห้องที่มีขนาดเล็ก ผนังห้องแต่ละด้านจะอยู่ใกล้ชิดกัน ในขณะลำโพงใหญ่จะให้พลังงานของความถี่ในย่านกลางลงมาทุ้มที่มากกว่าลำโพงเล็ก เมื่อคุณเปิดวอลลุ่มที่ระดับความดังใกล้เคียงกับที่ฟังจากลำโพงเล็กคู่เดิม เพื่อดีงไดนามิกเร้นจ์ของเสียงให้เปิดกว้างเท่าที่เคยฟัง นั่นทำให้ความถี่ในย่านกลางลงไปถึงทุ้มแผ่ไปสะท้อนกับผนังห้องและเด้งไปมาอยู่ภายในห้อง กลายเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่สั่นค้างอยู่ในห้อง ไปรบกวนความถี่อื่นๆ พอคุณลดวอลลุ่มลงเพื่อลดปริมาณของความถี่ในย่านทุ้มที่แผ่จากลำโพงลงเพื่อแก้ปัญหาเสียงทุ้มที่ล้นห้อง ปัญหาของคลื่นย่านต่ำสั่นค้างลดลงก็จริง แต่ก็จะส่งผลกระทบทำให้ไดนามิกเร้นจ์ของเสียงกลางและแหลมสวิงได้ไม่เต็มที่ เสียงโดยรวมจะมีอาการอั้น ไม่เปิดกระจ่างออกไปเต็มที่ มีผลต่อเนื่องถึงอรรถรสของเพลงที่แย่ลง จะใช้วิธีเซ็ตตำแหน่งลำโพงให้ห่างผนังข้างเยอะๆ เพื่อหลบไม่ให้เสียงจากวูฟเฟอร์ไปสะท้อนผนังเยอะ ก็จะไปส่งผลกระทบกับเรื่องของโฟกัสและเวทีเสียงอีก ซึ่งการอัพเกรดเสียงทุ้มด้วยการเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาในกรณีนี้จะทำให้สามารถขยับหาตำแหน่งวางซับฯ ที่หนีผนังข้างได้อิสระกว่า และยังสามารถปรับจูนวอลลุ่มของซับฯ ให้ได้ความดังของเสียงทุ้มออกมาเหมาะสมกลมกลืนกับความดังของเสียงกลางและแหลมที่ออกมาจากลำโพงหลักที่คุณใช้อยู่ได้ด้วย

ต้องเลือกลำโพงหลักที่ให้ เสียงกลางและ เสียงแหลมที่ดีที่สุดก่อน

ความเข้าใจที่ว่า ลำโพงซับวูฟเฟอร์สามารถเข้าไปช่วยเกื้อหนุนให้เสียงกลางมีความอิ่มหนามากขึ้นนั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง.. แต่การทำให้ได้ผลลัพธ์แบบนั้นโดยไม่มี ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ออกมาด้วยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก คือเมื่อคำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ดีในอุดมคติ ก็ต้องยอมรับว่า ความหนาของมวลเนื้อเสียง เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ ดีต่อใจเมื่อได้ยิน แต่จะดีจริงๆ ก็ต่อเมื่อความหนาของมวลเสียงกลางนั้นเกิดจากการห่อหุ้มของฮาร์มอนิก (harmonic) ที่แผ่ขยายออกมาจากหัวโน๊ต (fundamental) ด้วยไทมิ่งที่สอดคล้องกันไปตามธรรมชาติ ซึ่งดีที่สุดก็คือ ฮาร์มอนิกของเสียงกลางที่แผ่ออกมาจาก ไดเวอร์ตัวเดียวกันที่สร้างหัวโน๊ตของเสียงกลางนั้นออกมานั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ การหวังพึ่งให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ช่วยสร้างฮาร์มอนิกในย่านเสียงกลางขึ้นมาเพื่อเอาไป พอกให้กับหัวโน๊ตของเสียงกลางที่สร้างขึ้นโดยมิดเร้นจ์ของลำโพงหลักจึงอาจจะมีปัญหาในแง่ของ “ไทมิ่ง” ที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้พื้นเสียงขุ่น ความโปร่งใสของเวทีเสียงจะแย่ลง

ถ้าถามว่า มีความเป็นไปได้มั้ยที่จะทำการปรับจูนหางเสียงกลางต่ำจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้ขึ้นไปกลืนกับหัวเสียงและบอดี้ของเสียงกลางที่สร้างขึ้นมาโดยมิดเร้นจ์บนตัวลำโพงหลัก.? คำตอบคือ เป็นไปได้.. “ถ้าความถี่ในย่านกลางต่ำที่สร้างขึ้นโดยลำโพงซับวูฟเฟอร์มัน กลืนกันได้พอดีกับความถี่ย่านกลางตอนล่างที่ไดเวอร์มิดเร้นจ์บนตัวลำโพงหลักสร้างออกมา ในทางปฏิบัตินั้น แม้ว่า.. ในแง่ความถี่อาจจะมีการ เหลื่อมซ้อน” (overlap) กันบ้างแต่ถ้า ความดังรวมของความถี่ช่วงที่ซ้อนกันไม่โด่งขึ้นมามากเกินความดังเฉลี่ยของความถี่ตลอดทั้งย่าน และส่วนที่ซ้อนทับกันเป็นมุมเฟสเดียวกัน ไทมิ่งที่เกิดขึ้นไม่เหลื่อมกันมากจนหูจับจุดกำเนิดได้ แบบนี้คือเป็นไปได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าในทางปฏิบัติแล้วมันยาก เพราะแหล่งกำเนิดเสียงของความถี่กลางต่ำที่มาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ กับความถี่ในย่านกลางตอนล่างที่มาจากไดเวอร์มิดเร้นจ์บนตัวลำโพงหลักมันอยู่กันคนละจุด ต้องค่อยๆ จูนให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ยิ่งห่างกันมากก็จะยิ่งจูนยากมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า ไม่ควรกำหนดให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ทำงานที่ระดับความถี่ สูงเกินไปจนเข้าไปใกล้กับความถี่ของหัวโน๊ตและฮาร์มอนิก (หางเสียง) ของเสียงในย่านกลาง ไม่ควรจะเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาในชุดฟังเพลงด้วยความคาดหวังให้ลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้าไปช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับเสียงกลาง ซึ่งคุณภาพของเสียงตั้งแต่ย่านกลางขึ้นไปจนถึงแหลม ควรจะมาจากไดเวอร์มิดเร้นจ์และทวีตเตอร์ของลำโพงหลัก ทั้งหมดในทางปฏิบัติก็คือ แนะนำให้เลือกใช้ลำโพงหลักที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความถี่ในย่านกลางขึ้นไปถึงแหลมอยู่ในระดับที่คุณพอใจมากที่สุดก่อน ซึ่งลำโพงสองทางหรือสามทางแบบวางบนขาตั้งที่ตอบสนองความถี่ด้านสูงขึ้นไปได้มากกว่า 20kHz ในปัจจุบันก็มีออกมาเยอะ ส่วนความถี่ด้านต่ำที่ลงไปได้ถึง 40 – 50Hz ก็ถือว่าเพียงพอที่จะสามารถสร้างเสียงในย่านกลางขึ้นไปถึงแหลมที่มีคุณภาพสูงมากๆ ได้แล้ว ถ้าคุณต้องการคุณภาพของเสียงกลางขึ้นไปถึงแหลมที่ดีมากๆ เพราะชอบฟังฮาร์มอนิกของเสียงกลางและแหลมที่ทอดกังวาน ลากปลายหางเสียงออกไปได้ยาวๆ พลิ้วๆ หวานๆ เวทีเสียงกว้างๆ เปิดโปร่งมากๆ มิติเสียงคมชัด เลเยอร์รูปวงแผ่เป็นสามมิติ แนะนำให้เลือกซื้อลำโพงสองทาง หรือสามทางแบบวางบนขาตั้งขนาดปานกลางที่มีราคาสูงที่สุดที่คุณสามารถจ่ายได้ เพื่อให้ได้เสียงกลางและแหลมที่ดีมากๆ ไปเลย ส่วนความถี่ที่อยู่ ต่ำกว่าที่ลำโพงคู่หลักของคุณทำได้ ก็ค่อยหาลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริมทีหลัง

วิธีพิจารณาเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้เหมาะสมกับลำโพงหลัก

การเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์มาใช้สำหรับการฟังเพลง ต้องเอาสเปคฯ ของลำโพงหลักมาพิจารณา ซึ่งประเด็นที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษมีอยู่ 2 ประเด็น คือ ขนาดของวูฟเฟอร์หรือมิด/วูฟเฟอร์ที่ลำโพงหลักใช้ กับอีกประเด็นคือ ความถี่ต่ำสุดที่ลำโพงหลักสามารถให้ออกมาได้ ซึ่งคุณสมบัติทั้งสองประเด็นนี้คุณสามารถหาได้จากข้อมูลสเปคฯ ของลำโพงหลัก

ขนาดกับ ความถี่ต่ำสุด

ขนาดวูฟเฟอร์หรือมิด/วูฟเฟอร์ของลำโพงหลัก กับ ความถี่ต่ำสุดที่ลำโพงหลักสามารถให้ออกมามีผลอย่างไรต่อการเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์.?

มีผลทางด้าน ความกลมกลืนระหว่าง ความถี่ต่ำสุดที่ลำโพงหลังปล่อยออกมากับ ความถี่สูงสุดที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ปล่อยออกมา เพราะว่าโดยปกติแล้ว เราจะกำหนดจุดตัดความถี่ของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้ ซ้อนขึ้นไปทับคร่อมกับความถี่ต่ำสุดที่ลำโพงหลักปล่อยออกมานิดๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความถี่ต่ำสุดที่ลำโพงหลักปล่อยออกมาอยู่ที่ 40Hz จุดตัดความถี่ของวงจรโลว์พาสฟิลเตอร์บนตัวซับวูฟเฟอร์ที่ลงตัวกันมักจะถูกตั้งอยู่ในช่วง 50 – 60Hz ทำให้มีความถี่ต่ำช่วง 40 – 60Hz ที่ออกมาซ้ำซ้อนกันระหว่างลำโพงหลักกับซับวูฟเฟอร์ ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นประเด็น..!!

จากกรณีข้างต้น ถ้าความถี่ช่วง 40 – 60Hz ที่ซ้อนทับกันนั้น เกิดจากไดเวอร์ 2 ตัวที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ ต่างกันมากๆ จะมีผลให้บุคลิกของเสียงในย่านนั้นออกมาต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ความถี่ช่วง 40 – 60Hz จากตัวมิด/วูฟเฟอร์ขนาด 5 นิ้ว ของลำโพงหลักจะมีความกระชับตึงตัวมากกว่าความถี่ช่วง 40 – 60Hz ที่เกิดจากไดเวอร์ขนาด 12 นิ้ว ของลำโพงซับวูฟเฟอร์ แต่ถ้าไดเวอร์บนซับวูฟเฟอร์มีขนาดไม่ต่างจากไดเวอร์ขับทุ้มบนตัวลำโพงหลักมากนัก อย่างเช่น ของลำโพงหลักใช้ 5 นิ้ว กับลำโพงซับวูฟเฟอร์ใช้ 8 นิ้ว จะทำให้ความถี่ที่ซ้อนทับกันมีบุคลิกที่กลมกลืนไปด้วยกันมากกว่านั่นเอง

เมื่อพิจารณาจากประเด็นนี้จะพบว่า ลำโพงซับวูฟเฟอร์จะมีประโยชน์ น้อยลงถ้าลำโพงหลักที่คุณใช้มีขนาดใหญ่และตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ลึกๆ อยู่แล้ว

กำลังขับ + ความดังสูงสุด

คุณสมบัติทางด้านความสามารถในการให้ ความดังเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่จำเป็นต้องพิจารณาในการเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์มาใช้งาน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงกับความสามารถในการปั๊ม ความดังของลำโพงซับวูฟเฟอร์ก็คือ กำลังขับของภาคแอมปลิฟายที่ฝังอยู่ตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์นั่นเอง

โดยปกติแล้ว ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่ จะให้ความดัง “มากกว่า” ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดเล็ก ยกตัวอย่างเช่น ลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF ซีรี่ย์ Kube MIE ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 รุ่น ตามภาพด้านบนนั้น จะเห็นว่า Kube 15 MIE ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่สุด ใช้ไดเวอร์ขนาด 15 นิ้ว สามารถตอบสนองความถี่ลงไปได้ลึกถึง 20Hz (-3dB) ภาคขยายในตัวเป็นแอมป์ class-D ที่มีกำลังขับ 300W (RMS) สามารถปั๊มความดังของความถี่ต่ำออกมาได้สูงสุดถึง 116dB ในขณะที่รุ่นเล็กสุดในซีรี่ย์นี้คือรุ่น Kube 8 MIE ใช้ไดเวอร์ขนาด 8 นิ้ว มีความสามารถในการตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ลึกสุดอยู่ที่ 34Hz (-3dB) ภาคขยายในตัวเป็นแอมป์ class-D ที่มีกำลังขับ 300W (RMS) สามารถปั๊มความดังของความถี่ต่ำออกมาได้สูงสุดอยู่ที่ 105dB ซึ่งเบากว่ารุ่น Kube 15 MIE ถึง 11dB ทั้งๆ ที่แอมป์ในตัวมีกำลังขับเท่ากัน

เมื่อเทียบกับรุ่น KC92 ซึ่งเป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ของ KEF ซึ่งเป็นแบรนด์เดียวกัน แต่อยู่ในซีรี่ย์ที่สูงกว่า โดยที่รุ่น KC92 ใช้ไดเวอร์ขนาด 9 นิ้ว จำนวน 2 ตัว หันหลังชนกัน ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษของการออกแบบที่เรียกว่า ‘force-cancellingภายในใช้ภาคขยาย class-D ที่มีกำลังขับสูงถึง 1000W มากกว่าภาคขยายที่ใช้ในซีรี่ย์ Kube MIE ทุกรุ่นถึงกว่า 3 เท่า.!! แต่กลับให้ความดังสูงสุดแค่ 110dB เท่านั้น สรุปคือ ตัวเลขกำลังขับของภาคขยายในตัวซับวูฟเฟอร์ อาจจะไม่ได้สะท้อนถึง ความดังสูงสุดที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ตัวนั้นสามารถทำได้เสมอไป ในขณะที่ ขนาดของไดเวอร์+ตัวตู้มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความดังสูงสุดที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ตัวนั้นทำได้ คือ ตัวใหญ่เปิดได้ดังกว่า ดังนั้น ถ้าอยากได้ ความดังจากซับวูฟเฟอร์เยอะๆ ก็ต้องเลือกลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดตู้ใหญ่ๆ ไว้ก่อน 

ห้องที่มีขนาดใหญ่ ต้องการซับวูฟเฟอร์ที่เปิดได้ดัง มากพอที่จะทำให้ได้เสียงทุ้มที่ครอบคลุมพื้นที่ภายในห้องได้เต็ม ตารางด้านบนนั้นสามารถใช้ประเมินถึง ขนาดของซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมกับ ขนาดห้องได้คร่าวๆ

จำนวน

ถ้าต้องการเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาในชุดเครื่องเสียง stereo 2 ch ที่ใช้ฟังเพลง แนะนำให้ใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ เหมือนกันจำนวน 2 ตัว แยกสำหรับแชนเนลซ้ายและแชนเนลขวา ข้างละตัวจะให้ผลลัพธ์ทางเสียงที่ดีที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ ระดับคุณภาพของซับวูฟเฟอร์ไม่สำคัญเท่ากับ จำนวนสรุปคือ ใช้ซับวูฟเฟอร์แพงๆ ตัวเดียว เสียงสู้ใช้ซับวูฟเฟอร์ระดับต่ำกว่าแต่แยก 2 ตัวไม่ได้..!!

ทิศทาง

ลำโพงซับวูฟเฟอร์มีรูปแบบในการกระจายความถี่ต่ำอยู่ 3 ทิศทาง สังเกตได้จากลักษณะการติดตั้งไดเวอร์ แบบแรกเรียกว่า ‘front-firingคือยิงเสียงทุ้มออกมาทางด้านหน้า ขนานกับพื้นห้อง ยิงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง ตัวไดเวอร์จะถูกติดตั้งไว้ที่ผนังตู้ด้านหน้า ณ จุดนั่งฟังเราจะมองเห็นไดเวอร์, แบบที่สองเรียกว่า ‘side-firingคือยิงเสียงทุ้มออกทางด้านข้าง ขนานกับพื้นห้อง ยิงเข้าหาผนังห้องและยิงเข้าหากันเอง ซึ่งโดยมากจะใช้ไดเวอร์ 2 ตัวติดตั้งไว้ที่ด้านข้างซ้ายขวาของผนังตู้ และแบบที่สามเรียกว่า ‘down-firingซึ่งจะติดไดเวอร์ไว้ที่ผนังด้านล่างของตัวซับวูฟเฟอร์ ยิงความถี่ต่ำลงพื้น ซึ่งแต่ละรูปแบบมีลักษณะเสียงที่แตกต่างกัน

ลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบที่เหมาะสำหรับใช้งานร่วมกับลำโพงฟังเพลงในระบบเสียง stereo คือลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ติดตั้งไดเวอร์แบบ ยิงเสียงออกมาทางด้านหน้า (front-firing) กับแบบที่ยิงเสียงเข้าหาผนังและยิงเข้าหากันเอง (side-firing)

——————–
ตอนที่ 1 : แนวคิดในการเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์ เข้ามาในชุดฟังเพลง 2 แชนเนล
——————–
ตอนที่ 3 : เทคนิคการเซ็ตอัพและปรับจูนลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้กลมกลืนไปกับเสียงของลำโพงหลัก (coming soon!)

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า