รีวิว Cambridge Audio รุ่น CXA61 & CXA81 อินติเกรตแอมป์ที่มี Bluetooth และอินพุต USB ในตัว

เครื่องเสียงที่ดีสมัยก่อนโน้นเน้นที่เรื่องของ คุณภาพเสียงเป็นใหญ่ เพราะนักเล่นฯ สมัยโน้นมอง ฟังท์ชั่นเป็นรอง ยิ่งมีฟังท์ชั่นน้อยเท่าไรก็จะยิ่งมีความเป็นไฮเอ็นด์มากเท่านั้น เข้าทางเจ้าของแบรนด์ไฮเอ็นด์เลย ลดต้นทุนได้เพียบ ไม่ใช่ตั้งใจเอากำไรเยอะๆ นะ แต่เอามาโป๊ะเป็นค่าออกแบบวงจรภายในให้มันสุดติ่งกระดิ่งแมวกันจริงๆ น่ะ (เชื่อเถอะ.!)

นั่นมันในอดีต แต่สำหรับปัจจุบันแล้ว เครื่องเสียงที่ดีต้องถึงพร้อมทั้ง หน้าตาต้องปัง + ฟังท์ชั่นต้องครบ + ต้องจบเรื่องเสียง

Cambridge Audio CXA61 & CXA81
หน้าตาปัง+ฟังท์ชั่นครบ+จบเรื่องเสียง

แคมบริดจ์ ออดิโอเผยโฉม CXA60 กับ CXA80 ออกมาครั้งแรกเมื่อ ปี 2015 ซึ่งในตอนนั้น CXA60 ถูกวางตัวให้อยู่ในระดับรองจาก CXA80 อยู่ 2 จุด ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับอินติเกรตแอมป์ จุดแรกคือเป็นรองทางด้าน กำลังขับซึ่ง CXA60 ให้กำลังขับต่ำกว่า CXA80 อยู่ 25% หรือคิดเป็น 20W ต่อข้าง จุดที่สองเป็นรองด้าน อินพุตคือ CXA80 มีอินพุต XLR สำหรับสัญญาณอะนาลอกอินพุต ในขณะที่ CXA60 ไม่มี ส่วนอินพุตดิจิตัล CXA80 มีขั้วต่อ USB-B สำหรับรับสัญญาณไฟล์เพลงจากคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ CXA60 มีแต่ขั้วต่อ Optical และ Coaxial ไม่มีอินพุต USB

มาถึงเวอร์ชั่นปัจจุบันปี 2020 รุ่น CXA60 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น CXA61 ส่วน CXA80 ถูกเปลี่ยนเป็น CXA81 ทางด้าน กำลังขับก็ยังคงเท่าเดิมทั้งคู่ รวมถึงหน้าตาภายนอก, ปุ่มปรับ และขั้วต่อต่างๆ แต่ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเวอร์ชั่นเดิมเยอะมากที่สุดก็คือภาค DAC ที่อยู่ภายในตัวของทั้ง CXA61 และ CXA81

ภาค DAC สดใหม่, ไฉไลกว่าเก่า.!

แกนหลักของภาค DAC ภายในตัวของ CXA60 และ CXA80 คือชิป DAC ของค่าย Wolfson Microelectronics เบอร์ WM8740 ซึ่งได้ถูกเปลี่ยนย้ายค่ายมาเป็นชิปของ ESS Technology เบอร์ ESS Sabre ES9010K2M

ชิป Wolfson WM8740 ที่ใช้อยู่ใน CXA60 และ CXA80 มีความสามารถรองรับความละเอียดสัญญาณดิจิตัลอยู่ที่ 24-bit, sampling rate สูงสุดที่ 192kHz ในขณะที่ ES9010K2M ที่ใช้อยู่ใน CXA61 และเบอร์ ES9016K2M ในรุ่น CXA81 สามารถรองรับความละเอียดของสัญญาณได้ถึง 32-bit, sampling rate สูงสุดอยู่ที่ 768kHz จะเห็นว่า สเปคฯ ของชิป DAC ที่ใช้ใน CXA61 และ CXA81 มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ใช้ในรุ่น CXA60 และ CXA80 ขึ้นไปมากถึงสองขั้น.! อันนี้คือต้นเหตุสำคัญของ คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิม

ยุคสมัยของไฟล์เพลงเริ่มต้นจากไฟล์ MP3 ซึ่งอยู่ในยุค “Lossyคือสัญญาณเสียง PCM ที่อยู่ในแพ็คเกจ MP3 จะมีคุณสมบัติ ด้อยกว่าต้นฉบับของมัน ถัดมาก็เป็นยุค “CD Qualityเป็นการริปสัญญาณเสียงในแผ่นซีดีออกมาเป็นสัญญาณ PCM ที่มี bit-depth อยู่ที่ 16-bit มีอัตราแซมปลิ้งข้อมูลอยู่ที่ 44.1kHz ถัดมาจึงเริ่มเข้าสู่ยุค “Hi-Res Audioที่เริ่มต้นเจนเนอเรชั่นแรกด้วยสเปคฯ ของ bit-depth ที่ระดับ 24-bit และใช้อัตราแซมปลิ้งข้อมูลที่ระดับ 96kHz ก่อนจะขยับมาเป็นเจนเนอเรชั่นที่สองด้วยสเปคฯ 24/192 เข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่สามด้วยสเปคฯ 32/384 ในยุคปัจจุบัน และเรากำลังจะย่างเข้าสู่ยุคของ Hi-Res Audio เจนเนอเรชั่นที่สี่ด้วยสเปคฯ 32/768 โดยมีอินติเกรตแอมป์ Cambridge Audio ของอังกฤษตัวนี้เป็นหัวหอกตัวแรกที่มีให้หาซื้อกันได้แล้ว.!

ผู้บริโภคได้อะไรจากเจนเนอเรชั่นที่สูงขึ้น.? เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาค DAC มีความสำคัญสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงโดยตรง เพราะภาค DAC ทำหน้าที่แปลงสัญญาณ digital ให้ออกมาเป็นสัญญาณ analog นั่นเอง และกลไกหลักที่ทำหน้าที่นี้ก็คือชิป DAC ซึ่งเทียบเคียงได้กับ CPU หรือหน่วยประมวลผลรวมของคอมพิวเตอร์ เมื่อสเปคฯ สูงขึ้น (รองรับและประมวลผลข้อมูลที่มีปริมาณได้มากขึ้น) เนื้องาน (สัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุต) ที่ผ่านกระบวนการแปลงสัญญาณที่มีสเปคฯ สูงกว่าจะให้ คุณภาพ (เสียง)” ที่สูงกว่า อันนี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับโลกของดิจิตัล

รูปร่างหน้าของ CXA61 และ CXA81

รูปร่างหน้าตาของ CXA61 และ CXA81 ไม่ต่างจากเวอร์ชั่นเก่าเลย เหมือนกันมาก แทบจะเป็นตัวถังเดียวกัน ทางผู้ผลิตจึงใช้กลเม็ดในการปรับเปลี่ยนสีของแผงหน้าปัดของรุ่นใหม่ให้ออกมาเป็นสีเทา (Lunar grey) สีเดียว ในขณะที่เวอร์ชั่นเก่าจะทำเป็นสองสีคือดำกับบรอนซ์เงิน

แผงหน้ากับบั้นท้ายของรุ่นพี่ CXA81

แผงหน้ากับบั้นท้ายของรุ่นน้อง CXA61

A = ปุ่มเปิดใช้งาน
B = รูเสียบแจ็คหูฟังขนาดมินิ 3.5 ..
C = อินพุตอะนาลอก 4 ช่อง (A1 – A4)
D = ปุ่มกดเลือกเอ๊าต์พุตของภาคขยายระหว่าง Speaker A กับ Speaker B
E = อินพุตดิจิตัลทั้งหมด
F = ปุ่มวอลลุ่ม
G = เต้ารับสำหรับเสียบสายไฟเอซี
H = ช่องเชื่อมต่อกับรีโมทจากภายนอก
I = ขั้วต่อสายลำโพงชุด A และชุด B
J = ขั้วต่อสัญญาณไลน์ อะนาลอก เอ๊าต์พุตสำหรับแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์และปรีเอ๊าต์
K = ขั้วต่อสัญญาณไลน์ อะนาลอก อินพุต
L = ขั้วต่อสำหรับสัญญาณดิจิตัล อินพุต
M = ขั้วต่อเสาอากาศ Bluetooth
N = ช่องต่อสัญญาณไลน์ อะนาลอก อินพุต แบบมินิ 3.5 ..

ในแง่ของฟังท์ชั่นใช้งานระหว่างรุ่น CXA61 กับรุ่น CXA81 จะเห็นว่า รุ่น CXA61 ไม่มีช่องอินพุต XLR สำหรับรองรับสัญญาณอะนาลอก ในขณะที่รุ่น CXA81 มีมาให้หนึ่งช่อง แต่บนหน้าปัดของ CXA61 มีช่องอินพุต mini 3.5 mm สำหรับรองรับสัญญาณอะนาลอกจากเครื่องเล่นไฟล์เพลงแบบพกพา ในขณะที่รุ่น CXA81 ไม่มีอินพุตช่องนี้มาให้

พิจารณาจากช่องอินพุตทั้งสองรูปแบบนี้แล้ว ผมเดาว่า ทางผู้ผลิตอาจจะอยากจัดกลุ่มเป้าหมายของอินติเกรตแอมป์ทั้งสองรุ่นนี้แยกออกจากกันให้ชัดเจนมากขึ้นก็ได้ คือเดาว่ารุ่น CXA81 อาจจะตั้งใจออกแบบมาสำหรับคนเล่นเครื่องเสียงมากหน่อย จึงให้กำลังขับมาสูงกว่า และตัดช่องอินพุต mini 3.5 mm ออกไป ใส่อินพุตบาลานซ์ XLR เข้ามาให้แทนกัน การควบคุมสั่งงานทุกหน้าที่สามารถสั่งงานผ่านรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ได้ หรือจะกดสั่งงานจากปุ่มกดบนหน้าปัดก็ได้

รองรับการสตรีมเพลงแบบไร้สายผ่าน Bluetooth

ให้เสาอากาศรับคลื่น Bluetooth มาด้วย

ทั้ง CXA61 และ CXA81 รองรับ aptX-HD (24/48) โดยที่ปุ่มกดเพื่อเลือกอินพุต USB กับ Bluetooth ใช้ปุ่มเดียวกัน ถ้าต้องการใช้งานอินพุต Bluetooth ให้กดที่ปุ่มนี้แค่ครั้งเดียว ตรงข้างปุ่มจะมีสัญลักษณ์ Bluetooth สว่างขึ้นมาเป็นสีฟ้า ถ้าต้องการใช้งานอินพุต USB ให้กดที่ปุ่มเดียวกันนี้ค้างไว้สองวินาที สัญลักษณ์ USB จะสว่างขึ้นมาแทนเป็นสีแดง คุณสามารถกดสลับไป/มาระหว่างสองอินพุตนี้ได้ตลอดเวลา (ไม่สามารถใช้พร้อมกันได้)

การเชื่อมต่อทำได้ง่ายมาก แค่กดที่ปุ่มอินพุต Bluetooth บนรีโมทไร้สาย แล้วเข้าไปดูที่อุปกรณ์ไร้สายที่ต้องการใช้งานร่วมกัน กดเชื่อมต่อไปที่ชื่อ Other Devices = CXA61 (หรือ CXA81) แค่นั้นเอง จากนั้นก็เล่นเพลงบนอุปกรณ์พกพาของคุณ เสียงเพลงก็จะไปดังออกลำโพง และสามารถปรับความดังผ่านวอลลุ่มบนแอพฯ ที่ใช้เล่นไฟล์เพลงบนอุปกรณ์พกพาได้เลยโดยตรง หรือจะใช้การปรับผ่านรีโมทไร้สายของ CXA61/CXA81 ก็ได้ ผมทดลองใช้แอพ Onkyo HF Player เล่นไฟล์เพลงบน Iphone 7 ของผมส่งไปที่ CXA61 เสียงออกมาดีมาก ไม่แค่ฟังเล่นๆ ฟังเอาจริงยังได้เลย.!

ฟังท์ชั่น Auto Power Down

กรณีเปิดเครื่องทำงานแต่ไม่มีสัญญาณเข้านานเกิน 20 นาที ฟังท์ชั่น APD (Auto Power Down) จะทำงานเองอัตโนมัติ ซึ่งเป็นแอ๊คชั่นที่ปรับตั้งมาจากโรงงาน เป็นการประหยัดพลังงาน ถ้าไม่ต้องการใช้งานฟังท์ชั่นนี้สามารถปิดได้ ด้วยการกดที่ปุ่ม Speaker A/B ค้างไว้

ต่อลำโพงแบบ Bi-Amp ได้!

ไฮไล้ท์ที่ถือว่าเป็นทีเด็ดของ CXA61 และ CXA81 ก็คือความสามารถในการเชื่อมต่อกับลำโพงแบบ Bi-Amp ผ่านขั้วต่อสายลำโพงด้านหลังที่ให้มา 2 ชุด บวกกับปุ่มกด Speaker A/B ให้ทำงานพร้อมกัน (A+B) ซึ่งจะทำให้ภาคขยายในตัว CXA61/CXA81 จ่ายกำลังแยกขับลำโพงออกเป็นข้างละ 2 ชุดซึ่งให้ประสิทธิภาพในการควบคุมลำโพงสูงกว่าการต่อเชื่อมระหว่าง CXA61/CXA81 กับลำโพงแบบไบไวร์ฯ

ยกตัวอย่างเช่น CXA61 ให้กำลังขับเท่ากับ 60W ที่โหลด 8 โอห์ม และขยับเป็น 90W ที่โหลด 4 โอห์ม ถ้าลำโพงของคุณมีอิมพีแดนซ์ปกติอยู่ที่ 8 โอห์ม และให้ขั้วต่อสายลำโพงมาเป็นแบบแยก 2 ชุดต่อข้าง กรณีนี้ ถ้าคุณเชื่อมต่อสายลำโพงระหว่าง CXA61 กับลำโพงของคุณโดยใช้สายลำโพงแบบ single wire จำนวน 2 ชุดแยกกันเด็ดขาด และกดเลือกปุ่ม Speaker A/B ไปที่ตำแหน่ง “A+Bเอ๊าต์พุตของ CXA61 จะมองเห็นโหลด (อิมพีแดนซ์ของลำโพง) ที่เอ๊าต์พุตลดลงเหลือแค่ 4 โอห์ม ทำให้ภาคขยายในตัว CXA61 จัดกำลังส่งไปทางขั้วต่อสายลำโพงแต่ละขั้วต่อเท่ากับ 45W

ผมใช้ลำโพงวางขาตั้งของ Monitor Audio รุ่น Silver 100 กับ Totem Acoustic รุ่น Skylight ทดลองต่อแบบไบแอมป์ กับ CXA61/CXA81 ปรากฏว่าได้เสียงออกมา ดีกว่าต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์และแบบไบไวร์พอสมควร ที่เด่นๆ คือ ความนิ่งและการแยกแยะรายละเอียดเสียงของความถี่ตลอดทั้งย่านดีกว่ามาก และรู้สึกได้ว่า เสียงทั้งย่านมีลักษณะที่เปิดโล่งออกมาในระดับเดียวกัน คือเทียบกับตอนต่อแบบไบไวร์ ในช่วงที่เพลงโหมดังขึ้นมามากๆ เสียงกลางแหลมจะโด่งขึ้นมาล้ำหน้าทุ้มอย่างชัดเจน ในขณะที่ตอนต่อแบบไบแอมป์ฯ (กดเลือก A+B) โทนัลบาลานซ์ของเสียงจะนิ่งกว่า ไม่มีอาการวูบวาบทั้งในตอนแผ่วเบาและตอนโหมกระหน่ำ และรู้สึกว่าต่อแบบไบแอมป์เสียงจะไม่พุ่งเหมือนต่อแบบไบไวร์ด้วย ส่วนการต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์นั้นได้เสียงที่มีความต่อเนื่องที่ดีแต่จะสูญเสียรายละเอียดปลายๆ เสียงแหลมลงไปบางส่วนเมื่อต่อสายจากแอมป์ไปที่ขั้วต่อคู่ล่างของลำโพง และในทางกลับกัน จะสูญเสียรายละเอียดและน้ำหนักของเสียงทุ้มบางส่วนเมื่อต่อสายลำโพงจากแอมป์ไปที่ขั้วต่อคู่บนของลำโพง

สรุปแล้ว ถ้าลำโพงของคุณให้ขั้วต่อสายลำโพงมา 2 ชุด และถ้าคุณเลือกใช้อินติเกรตแอมป์ CXA61 หรือ CXA81 แนะนำให้ทดลองต่อสายลำโพงระหว่างแอมป์กับลำโพงด้วยวิธีนี้

มีปรีเอ๊าต์ และต่อลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้

ทั้ง CXA61 และ CXA81 ให้ขั้วต่อสัญญาณไลน์ Pre-Out สำหรับอัพเกรดภาคขยายด้วยเพาเวอร์แอมป์จากภายนอกได้ และให้ช่องต่อสัญญาณไลน์ Sub-Out สำหรับอัพเกรดเพิ่มขยายความถี่ต่ำของระบบด้วยการต่อเชื่อมกับลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ได้อีกด้วย

เซ็ตอัพซิสเต็มเพื่อทดสอบเสียงของ CXA61/CXA81

ผมเลือกใช้ roon nucleus+ เวอร์ชั่นเก่า พร้อมลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลายของ Nordost รุ่น QSource กับตัวแปลงสัญญาณ LAN เป็น Optic ของ E Discreation รุ่น Fiber Box II ทำหน้าที่เป็นชุดทรานสปอร์ตในการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คและสตรีมไฟล์จาก TIDAL แล้วส่งสัญญาณเสียงจากการเล่นไฟล์เพลงไปที่ช่องอินพุต USB ของ CXA61/CXA81 และทดลองใช้เครื่องเล่นซีดี Roksan รุ่น K3 CD Di CD Player เล่นแผ่นซีดีแล้วส่งสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์ไปที่ช่องอินพุต Analog Input ของ CXA61/CXA81 พร้อมกันนั้น ผมก็ใช้สายดิจิตัล โคแอ็กเชี่ยลรุ่น Illuminati DV75 เชื่อมต่อช่องดิจิตัล เอ๊าต์ (coaxial) ของ K3 Di CD Player ไปเข้าที่ช่องอินพุต D3 (Coaxial) ของ CXA61/CXA81 เพื่อทดสอบภาคอินพุตดิจิตัล S/PDIF ของ CXA61/CXA81 ไปพร้อมกันด้วย เสียงออกมาดีมาก ใครที่ยังคงใช้เครื่องเล่นซีดีเป็นแหล่งต้นทางหลักของซิสเต็มก็อาศัยช่องอะนาลอกอินพุต และช่องดิจิตัลอินพุตของ CXA61/CXA81 เป็นช่องทางเชื่อมต่อสัญญาณที่เชื่อใจได้ในคุณภาพเสียง (ถ้าเครื่องเล่นซีดีของคุณมีช่อง coaxial out แนะนำให้ทดลองฟังเทียบกับช่อง analog out ด้วย)

ส่วนลำโพงที่ผมเลือกใช้ในการทดสอบ CXA61/CXA81 สลับกันอยู่ 3 คู่คือ Monito Audio รุ่น Silver 100, Totem Acoustic รุ่น Skylight และ KEF รุ่น LS50 meta โดยใช้สายลำโพง Kimber Kable รุ่น Carbon 8 และ Life Audio รุ่น LD-3 MK II เป็นตัวเชื่อม

เสียงของ CXA61 & CXA81

เคยได้ยินคนเขาพูดกันแว่วมาเข้าหูอยู่ประโยคหนึ่งว่า “ไม่ชอบเล่นไฟล์เพลง เพราะว่ามันชัดเกินไป..!!เอาจริงเด๊ะ..? เป็นอะไรที่ผมรู้สึกงงมากๆ หลังจากได้ยินประโยคนี้ครั้งแรก ถ้าไม่ชอบความชัด ก็หมายความว่าชอบความไม่ชัดมากกว่า.? แต่หลังจากได้พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันแล้ว ผมก็คิดว่าเป็นเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน บวกกับประสบการณ์ที่ไม่ถูกต้องมากกว่า คือสื่อดิจิตัลอย่างพวกไฟล์เพลงมันเด่นที่ รายละเอียดกับความ คมชัดของอิมเมจ ที่เรียกกันว่า โฟกัสนั่นแหละ ยิ่งไฟล์ที่มีสเปคฯ สูงๆ อย่างพวกไฟล์ไฮเรซฯ ทั้งหลาย รายละเอียดก็ยิ่งออกมาเยอะ ทีนี้ปัญหามันก็เลยไปอยู่ที่กระบวนการ แม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูนที่ต้องมีความเข้าใจและให้ความละเอียดในแต่ละขั้นตอนให้มากขึ้นจึงจะทำให้ รายละเอียดทั้งหมดจากไฟล์เพลงมันเข้ามาผนึกรวมตัวกันเป็น อิมเมจ” หรือตัวตนของเสียงที่มี โฟกัสที่มีความคมชัดและเนื้อมวลที่แน่นหนา สำคัญมากๆ ก็คือการเซ็ตอัพลำโพงกับปรับสภาพอะคูสติก ถ้าเซ็ตอัพไม่ลงตัวจะทำให้รายละเอียดของเสียงที่ได้มาจากการเล่นไฟล์เพลงที่พุ่งออกมาจากลำโพงซ้ายขวามันกระจัดกระจาย ไม่รวมตัวกัน (เฟสไม่ผสานกลืนกัน) แทนที่จะได้ภาพของเสียง (image) ที่คมชัด ก็เลยกลายเป็นธุลีเสียงที่ฟุ้งกระจัดกระจายเป็นขยะเสียงเต็มไปหมด ฟังแล้วจับตัวตนไม่ได้ น่ารำคาญ

ถ้าคุณมีความเข้าใจและมีทักษะในการ แม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูนที่ดีแล้ว คุณจะจัดการกับเสียงของไฟล์เพลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณจะยิ่งรักและชอบเสียงของมันแบบหัวปักหัวปำ ถ้านึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงการเปลี่ยนยุคของทีวีก็ได้ ลองนึกย้อนไปในอดีตแล้ววกกลับมาดูปัจจุบันคุณจะเข้าใจได้ชัดแจ้ง… วงการไฮไฟฯ ของเราก็เป็นเช่นนั้น

อัลบั้ม : DR Classics – DR 10th Anniversary Best Recording Gala (MQA-CD 24/88.2)
ศิลปิน : Various Artists
ค่าย : CRA China Recording Association

เพลงในอัลบั้มนี้ใช้ทดสอบประสิทธิภาพเสียงของซิสเต็มได้ดีมากในด้านไดนามิก, โฟกัส, ซาวนด์สเตจ และรายละเอียด ขึ้นอยู่กับว่าจะฟังแทรคไหน อย่างแทรคแรกเด่นมากทางด้านไดนามิกและซาวนด์สเตจ ซึ่งทั้ง CXA61 และ CXA81 ก็สามารถแสดงความมหัศจรรย์ของเวทีเสียงจากแทรคนี้ออกมาให้ได้ยินแบบจะจะ เสียงเพอร์คัสชั่นกระจายตัวแผ่ออกไปเต็มพิ้นที่ ทั้งซ้ายขวา, หน้าหลัง โดยเฉพาะมิติทางด้านลึกที่ทะลุเลยระยะของผนังด้านหลังห้องลงไปไกล

ความโดดเด่นอีกข้อของ CXA61/CXA81 คือพื้นเสียงที่ใสแจ๋ว เมื่อฟังอัลบั้มนี้ผ่านอินพุต USB ของมันคุณจะได้ยินเสียงที่จะแจ้ง ลอยเด่น ผุดขึ้นมาในอากาศแบบไม่มีอมพะนำ นั่นทำให้สามารถติดตามความเป็นไปของแต่ละเสียงที่ปรากฏต่อหน้าได้อย่างชัดเจน เมื่อลองฟัง แทรคที่ 3 เพลง “Percussion Imaginationซึ่งเป็นการดวลกันระหว่างเสียงเครื่องเขย่ากับกลองที่ตีด้วยมือ ผมได้ยินเสียงเครื่องเขย่าที่วิ่งไปมาระหว่างลำโพงซ้ายและขวาอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันเมื่อเสียงกลองเริ่มดังขึ้น ผมก็รับรู้ถึงตำแหน่งเสียงของแต่ละครั้งที่มือกลองตีลงไป อินติเกรตแอมป์สองตัวนี้ (CXA61/CXA81) แยกตำแหน่งเสียงได้ชัดมาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ roon ในการเล่นไฟล์เพลงอัลบั้มนี้ผ่านเข้าทาง USB ของ CXA61/CXA81 เพราะอินติเกรตแอมป์ทั้งสองตัวนี้มีคุณสมบัติเป็น roon ready ดังนั้น เมื่อเล่นไฟล์ MQA ด้วยโปรแกรม roon ตัวโปรแกรมจะทำการถอดรหัส MQA ของอัลบั้มนี้ออกมาให้ และส่งสัญญาณ PCM 24/88.2 ไปให้ CXA61/CXA81 พร้อมข้อมูล MQA signal (ข้อมูลที่เป็น MQA signal จะไม่ถูกถอดเพราะในตัว CXA61/CXA81 ไม่มีดีโค๊ดเดอร์ MQA)

อัลบั้ม : The Singles 1969 – 1973 (MQA-CD 24/352.8)
ศิลปิน : Carpenters
ค่าย : A&M Records

เนื่องจาก CXA61/CXA81 ไม่มีดีโค๊ดเดอร์ MQA ในตัว ถ้าคุณเล่นไฟล์เพลง MQA ด้วยโปรแกรม Audirvana Plus หรือ roon ตัวโปรแกรมจะทำการคลี่สัญญาณ MQA ให้หนึ่งชั้น คือไม่ว่าตัวต้นฉบับ MQA จะเป็นเท่าไร โปรแกรมเล่นไฟล์ทั้งสองจะส่งสัญญาณ PCM ไปให้ช่องอินพุต USB ของ CXA61/CXA81 ที่ระดับ 24/88.2 ซึ่งให้เสียงออกมาดีกว่าฟอร์แม็ต 16/44.1 อย่างชัดเจน

อัลบั้ม : Opus3 DSD Showcase No.3 (DSF128)
ศิลปิน : Various Artists
ค่าย : Opus3 Records

อัลบั้ม : The Royal Ballet Gala (DSF256)
ศิลปิน : Ernest Ansermet / Orchestra of the Royal Opera House
ค่าย : Stereo Sound Reference Records

ผมทดลองเล่นไฟล์เพลง DSD128 และ DSD256 ด้วยโปรแกรม roon บน nucleus+ ผ่านเข้าที่อินพุต USB ของ CXA61/CXA81 ปรากฏว่า อินพุต USB ของ CXA61/CXA81 รองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดทั้งสองระดับแบบไม่ต้องลดรูปเลย (แต่ครอบด้วยฟอร์แม็ต DoP)

เสียงที่ได้ออกมาดีกว่าทุกครั้งที่ผมเคยฟังสองอัลบั้มนี้ที่ผ่านมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหาเป็นที่ความสามารถของภาค DAC นี่เอง เสียงของภาค DAC ในตัว CXA61/CXA81 ที่ส่งผ่านภาคขยายของมันออกมาที่ลำโพง Monitor Audio รุ่น Silver 100 มันออกมาดีมาก (ต่อสายลำโพงแบบ Bi-amp) เวทีเสียงแผ่กว้าง ปลายเสียงละเอียด ไดนามิกมาเต็ม ไม่มีอั้น

เสียงโดยรวมของ CXA61/CXA81 ยังคงมาแนวเดิมคือ เปิดกระจ่าง ติดสด ไดนามิกดี แต่เวอร์ชั่น 61/81 ตัวใหม่ทั้งสองตัวนี้มีดีมากขึ้นกว่านั้นคือเนื้อเสียงที่อิ่มเต็มมากขึ้น เนียนมากขึ้น ช่องไฟที่อยู่ระหว่างชิ้นดนตรีมีความสงัดมากขึ้น แบ็คกราวนด์พื้นเสียงมีความใสและสะอาดมากขึ้น ด้วยความสามารถในการรองรับความถี่เสียงที่เปิดกว้างมากตั้งแต่ 5Hz ขึ้นไปจนถึง 60kHz ส่งผลให้รายละเอียดที่ระดับความดังต่ำๆ ปรากฏตัวออกมามากขึ้น และที่เด่นมากๆ อีกอย่างคือท่วงจังหวะของเพลงที่แม่นยำและมั่นคงมากขึ้น ทั้งเร็วและช้า เนื่องจากภาค DAC ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก ส่งผลให้เพลงที่ฟังมีความถูกต้องของจังหวะ (rhythm) มากขึ้น ฟังแล้วได้อรรถรสของเพลงมากขึ้น ได้อารมณ์เพลงที่ลึกซึ้งมากขึ้น

สรุป

ในแง่ลักษณะเสียงของ CXA61 และ CXA81 ออกมาทางเดียวกัน แต่ CXA81 ให้กำลังขับสูงกว่า CXA61 อยู่ 20W ถ้าเปิดดังๆ คุณจะพบว่า CXA81 ให้ไดนามิกเร้นจ์ที่เปิดกว้างและให้ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ได้หนักหน่วงกว่า CXA61 โดยเฉพาะเมื่อจับกับลำโพงที่กินกำลังสูงๆ และยังให้เบสที่กระชับเก็บตัวดีกว่าเมื่อขับลำโพงที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า CXA61 กับ CXA81 ตัวไหนดีกว่ากัน.? จึงไปตกอยู่ที่ลำโพงที่คุณเลือกใช้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ อีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็คือความดังที่ฟังปกติ ถ้าเป็นคนที่ชอบฟังดัง ชอบไดนามิกที่สวิงได้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แนะนำให้ไปทาง CXA81 จะมีโอกาสจบสวยกว่า ในขณะที่ CXA61 นั้นก็ถือว่าเพียบพร้อมสำหรับลำโพงระดับกลางๆ ที่มีความไว 88dB ขึ้นไป

ต้องไม่ลืมเน้นว่า ภาค DAC ในตัว CXA61/CXA81 คือเพชรเม็ดงาม เป็นมาตรฐานใหม่ที่ส่งผลให้คุณภาพเสียงของอินติเกรตแอมป์สองตัวนี้ขยับขึ้นไปจากมาตรฐานเก่าอย่างมาก เป็นดาวเด่นสำหรับคนที่กำลังมองหาอินติเกรตแอมป์ระดับกลางๆ ที่มีคุณภาพเสียงดีมากๆ ในขณะนี้..!! /

********************
ราคา CXA61 = 33,900 บาท
ราคา CXA81 = 43,900 บาท
********************
สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่
facebbook: @CambridgeAudioThailand

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า